วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

หลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม อ.คำตากล้า จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ

วัดไตรสิกขาทลามลตาราม
อ.คำตากล้า จ.สกลนคร

หลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม
หลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม

◎ ชาติภูมิ
หลวงพ่อสมภพ หรือ พระอาจารย์สมภพ โชติปญฺโญ นามเดิมชื่อ สมภพ ยอดหอ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖) ณ บ้านแพด ตําบลแพด อําเภอคําตากล้า จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อ นายจูม ยอดหอ และมารดาชื่อ นางสอน ยอดหอ มีพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน ทั้งหมด ๑๒ คน ท่าน เป็นบุตรคนที่ ๕ ในจํานวน ๑๒ คน ครอบครัวของท่านมีต้นกําเนิดที่บ้านนายาง อําเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ ครอบครัวประสบกับภาวการณ์หาเลี้ยงชีพที่ขัดสน บิดาและมารดาของท่านจึงได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บ้านวังชมพู ตําบลแพด อําเภอคําตากล้า จังหวัดสกลนคร

◎ ปฐมวัย
ครั้นเมื่อเติบโตถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน ก็ได้รับการศึกษาเล่าเรียนจนจบชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๔ ตามกฎหมายการศึกษาภาคบังคับในขณะนั้น เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ได้ทํางานช่วยบิดามารดา แต่บิดาเห็นว่าอยากให้ลูกตัวเองได้บวชเพื่อศึกษาเล่าเรียน จึงนําไป ถวายหลวงปู่เพื่อฝากเป็นลูกศิษย์วัด จากนั้นจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคําสอน ณ วัดสระแก้ววารีราม อําเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร โดยมี พระครูคัมภีร์ปัญญาคม เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อสามเณรสมภพ ยอดหอ ได้ศึกษาหลักคําสอน และฝึกหัดเทศน์ไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับท่องบทสวดมนต์ เจ็ดตํานาน สิบสองตํานาน และ ยังศึกษาเล่าเรียนการปฏิบัติกรรมฐาน

เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรได้ ๔ ปี ท่านก็ได้ลาสิกขาบทเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ ขณะนั้น อายุ ๑๗ ปี เพื่อไปประกอบอาชีพโดยได้ไปทํางานยังต่างประเทศ เช่น แอฟริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง รวมประมาณ ๑๓ ประเทศ นายสมภพ ยอดหอ รับผิดชอบเป็นหัวหน้ารับเหมาก่อสร้างถนนและสนามบิน และนายสมภพ ยอดหอ ยังได้ทําหน้าที่รับผิดชอบเป็นทนายความจําเป็นให้กับคนไทยที่ไปทํางานยังต่างประเทศ เมื่อเพื่อนสมาชิกที่เดือดร้อน ท่านก็จะคอย ช่วยเหลือเจือจุนเพื่อนอยู่ตลอดเวลา จนเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนร่วมงานด้วยกัน

เมื่อทํางานอยู่ต่างแดน ก็มีโอกาสได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ด้วย จนมีความรู้ความสามารถ กล่าวกันว่า ท่านจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบาทหลวง แต่เมื่อท่านจะเข้าพิธีล้างบาปเพื่อเป็นบาทหลวง ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นคือ น้ำที่จะใช้ในการประกอบพิธีได้เดือดแห้ง ถึงสามครั้ง ทําให้ท่านหวลคิดพิจารณาถึงเหตุการณ์ในคราวครั้งนี้ จนทําให้ฝันเห็นพ่อแม่ของตน ในฝันนั้นบอกว่า พ่อแม่ของท่านมาหาแล้วได้นําผ้าไตรสีเหลือง อันเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์ มามอบให้แก่ท่าน เมื่อท่านตื่นขึ้นมา ทําให้ท่านได้พิจารณาโดยถ่องแท้ว่า การจะได้รับการแต่งตั้งเป็นบาทหลวงในคราวครั้งนี้เป็นหนทางที่ไม่ใช่และไม่เหมาะกับตนเอง จึงเริ่มหันชีวิตกลับเข้า มาสู่พระพุทธศาสนาอีกครั้ง

◎ อุปสมบท
เมื่อมีอายุ ๓๖ ปี ก็เกิดความคิดขึ้นว่า การที่เราลงทุนไปสร้างวัดจะให้ได้ประโยชน์มากเราจะต้องบวช จึงได้เดินทางกลับมาสู่มาตุภูมิแล้วก็ไปอุปสมบทที่วัดเนินพระเนาว์ ตําบลโพธิ์ชัย อําเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ โดยมี พระครูภาวนาปัญญาภรณ์ (หลวงปู่บุญส่ง โกวิโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “โชติปญฺโญ” แปลว่า “ผู้มีปัญญาอันโชติช่วง ประดุจดวงประทีป

พระครูภาวนาปัญญาภรณ์ (หลวงปู่บุญส่ง โกวิโท) วัดเนินพระเนาว์
พระครูภาวนาปัญญาภรณ์ (หลวงปู่บุญส่ง โกวิโท) วัดเนินพระเนาว์

หลังจากอุปสมบท ก็ได้เข้าปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลา ๑ ปี โดยไม่พูดคุยกับใคร นั่งสมาธิปฏิบัติกรรมฐานตลอดเวลา เดิมแรกท่านตั้งใจว่าจะปฏิบัติอย่างน้อย ๓ ปี แต่ก็ไม่ได้ตามความประสงค์ พอครบปี พระอุปัชฌาย์ก็ได้เรียกไปแปลธรรมะภาคภาษาอังกฤษและ เริ่มเทศน์ให้ชาวต่างชาติฟัง หลังจากนั้นก็ได้รับเป็นภารธุระเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับพระอุปัชฌาย์ ในสถานที่ต่างๆ กลายเป็นพระนักเทศน์ผู้ทรงความรู้ เป็นที่พึ่งแก่ญาติธรรมผู้ใฝ่ในการปฏิบัติธรรมเป็นลําดับสืบต่อมา เมื่อเหตุการณ์ล่วงเลยพ้นผ่านไป พระอาจารย์สมภพ โชติปญฺโญ จึงได้ขอลาพระอุปัชฌาย์ มาอยู่จําพรรษายังบ้านเกิดของตน

◎ การจำพรรษา
พรรษาที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จำพรรษาที่วัดเนินพระเนาว์ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
พรรษาที่ ๒-๑๘ พ.ศ. ๒๕๒๙ – ๒๕๔๐ จำพรรษาที่วัดนิพเพธพลาราม อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ ๑๙-ปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ – ปัจจุบัน จำพรรษา ณ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร

พระอาจารย์สมภพ โชติปญฺโญ หลังจากได้อุปสมบทแล้วได้ทดแทนพระคุณของบิดาด้วยการสอนวิปัสสนากรรมฐาน ให้แก่บิดา โดยบิดาของท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ คือ หลวงพ่อจูม สุจิตโต ซึ่งหลวงพ่อจูม ก็ได้ทําตามคําแนะนําของพระอาจารย์สมภพ โชติปญฺโญ ด้วยการดําเนินชีวิตในบั้นปลายที่พอเพียงกับสมณวิสัย เป็นคนพูดน้อย สันโดษ ตั้งใจบําเพ็ญกรรมฐานอย่างมุ่งมั่น จนถึงกระทั่งวันมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่วัดนิพเพธพลาราม ตําบลแพด อําเภอคําตากล้า จังหวัดสกลนคร โดยอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของพระอาจารย์สมภพ โชติปญฺโญ ซึ่งเป็นทั้งประธานสงฆ์และบุตรชาย ส่วนโยมมารดา คือ แม่สอน ยอดหอ ก็ได้ดําเนินชีวิตเฉกเช่นสามีและบุตรชายมีการทําบุญตักบาตร รักษาศีลอุโบสถ และปฏิบัติธรรม ตามสมควรแก่โอกาส นับแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ ได้เริ่มประกาศตนเองในการเป็นผู้นําปฏิบัติและ เผยแผ่พระธรรมคําสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างจริงจัง ในประมาณปี ๒๕๒๙ โดยท่าน ได้ดําเนินตามรอยบาทพระศาสดาอย่างน่าอนุโมทนา ท่านยอมละทิ้งความสุข ความสบาย ที่ได้รับอย่างพรั่งพร้อมในชีวิตฆราวาส โดยไม่มีความอาลัยในสิ่งเหล่านั้น ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่น หวังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สํานักแรกที่ท่านหลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ ได้เริ่มการ เผยแผ่ คือวัดนิพเพธพลาราม ในเขตหมู่บ้านแพด บนเนื้อประมาณที่ ๕๐ ไร่ ซึ่งเป็นป่าและเต็ม ไปด้วยไม้นานาชนิด มีทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงทั่วไป เช่น ไก่ป่า นกยูง ลิง เป็นต้น ศาสนสถาน ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ก่อกําเนิดเกิดขึ้นได้ด้วยน้ําพักน้ําแรงจากค่าจ้างในการทํางานของท่านเอง

หลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม
หลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม

ด้วยเหตุผลนี้เอง ท่านจึงได้ก่อตั้ง สํานักไตรสิกขาทลามลตาราม ขึ้นโดยการปลูกป่าตามอุดมการณ์เนื้อที่ผืนป่าที่ปลูกแล้วกว่า ๔๐๐ไร่ ฉ่ำชื่นด้วยผืนป่าให้สมกับชื่อที่เป็น ภาษาบาลีว่า “ไตรสิกขาทลามลตาม” อันแปลว่า อารามอันทรงไว้ซึ่งความสดชื่น ด้วยอุดมการณ์ที่ว่า

“เพียงแมกไม้ฉ่ำชื่นในผืนป่า
เพียงธาราเจิ่งขังทั้งเย็นใส
เพียงเสียงสัตว์เริงร้องก้องพงไพร
เพียงเพื่อให้ผองมวลมิตรใกล้ชิดพุทธธรรม”

ทุกวันนี้ วัดไตรสิกขาฯ บนที่ดินซึ่งแห้งแล้ง มีแต่หินลูกรัง กลายเป็นป่าอันอุดม ด้วยการปลูกและสร้างสรรค์เป็นแหล่งปฏิบัติธรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของภาคอีสาน สําหรับผู้บําเพ็ญไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) และได้กําหนดตารางกิจวัตรประจําวันของวัด ดังนี้

เวลา ๐๓.๓๐ น. สัญญาณระฆัง ทําภารกิจส่วนตัว เข้าลานธรรมเจริญสมาธิภาวนา
เวลา ๐๔.๐๐ น. ทําวัตรเช้า
เวลา ๐๔.๓๐ น. บรรยายธรรม “ธรรมะก่อนฟ้าสาง”
เวลา ๐๘.๐๐ น. ออกรับบิณฑบาต / ฉันอาหารมื้อเดียว
เวลา ๑๓.๐๐ น. ปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา
เวลา ๑๗.๐๐ น. ทําวัตรเย็น แสดงธรรม “ธรรมะก่อนฟ้าสนธยา”
เวลา ๒๑.๐๐ น. จําวัด

หลวงพ่อสมภพ โชติปญฺโญ เป็นพระนักปฏิบัติที่มีผลงานมากมายหลายประการ แต่ผลงานที่เด่น คือ การแสดงธรรม โดยนําประสบการณ์ที่เกี่ยวกับหลักปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ มาเผยแผ่ให้ประชาชนในอีสาน ภูมิภาคอื่น และต่างประเทศ ได้เข้าใจและปฏิบัติ ตามได้อย่างถูกต้องด้วยการสื่อด้วยภาษาอีสานและภาษาแต่ละพื้นที่ ทําให้ประชาชนรู้จักท่าน เพราะท่านได้ทุ่มเทกําลังในการแสดงธรรมเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งถือได้ว่าเป็นงาน หลักของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จะต้องกระทําเพื่อให้สัทธรรมของศาสนาแพร่หลาย หลวงพ่อสมภพ โชติปญฺโญ ได้ยึดมั่นในการเผยแผ่จนมีผู้เคารพ เลื่อมใส ศรัทธา ในพระรัตนตรัย น้อมนําเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ ตนเองและสังคม

ในด้านการเผยแผ่นับได้ว่า หลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ ประสบผลสําเร็จอย่างสูง เพราะท่านมีหลักการและวิธีการในการเผยแผ่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน แต่ยืนอยู่บนหลักแห่งพุทธธรรม โดยท่านมักจะสอดแทรกบทผญาลงเนื้อหาของหลักธรรม ซึ่งท่านจะทําให้ดูอยู่ เพื่อให้เห็น เย็นร้อนให้รู้สัมผัส และท่านมีวิธีการอธิบายธรรมได้อย่างแจ่มแจ้งในสิ่งที่แสดง ทําให้ผู้ฟังตรึงตราได้ข้อคิดและนําไปปฏิบัติได้จริง จนทําให้ผลงานของท่านปรากฏเป็นรูปธรรม ด้วยการบันทึกเป็นแผ่นสียง (CD,VCD ,MP3) และเทปคาสเสทมากมาย

◎ การอาพาธ
๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐ หลวงพ่อสมภพ ป่วยเส้นเลือดฝอยแตกในสมองด้านขวา ในระหว่างการแสดงธรรมที่บ้านบะหว้า อำเภออากาศอำนวย สกลนคร
๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ หลวงพ่อสมภพเส้นเลือดฝอยในสมองแตกด้านซ้าย ในระหว่างแสดงธรรมวันพระใหญ่ (วันอุโปสถ)
๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ หลวงพ่อสมภพเส้นเลือดอุดตันในสมองด้านขวา ในขณะพูดธรรมะว่าด้วยอานิสงส์ของการสร้างพระปฏิมากรและปิดทองพระปฏิมากร และในการนิมนต์ของคุณหมอให้ไปตรวจสุขภาพส่องกล้องปกติ ที่โรงพยาบาลธนบุรี ๒

หลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม
หลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม

ปัจจุบัน หลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ ท่านจำพรรษา ณ วัดไตรสิกขาทลมลตาราม ตำบลแพด อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร ท่านอาพาธเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก มีอาการอัมพาตไปครึ่งซีกทั้งตัว ช่วยตัวเองเกือบไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็นและมีศิษย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด