วันจันทร์, 14 ตุลาคม 2567

หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม พระอริยสงฆ์ผู้ทรงเมตตาธรรม แห่งวัดป่าแก้วชุมพล

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม

วัดป่าแก้วชุมพล บ้านชุมพล
อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม วัดป่าแก้วชุมพล

◎ ชาตภูมิ
หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม พระอริยสงฆ์ผู้ทรงเมตตาธรรม แห่งวัดป่าแก้วชุมพล บ้านชุมพล ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ท่านถือกำเนิดเมื่อวันพุธที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๒ ตรงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ ณ บ้านศรีฐาน ต.กระจาย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นตำบลศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร) โยมบิดาชื่อ บุญหนา โยมมารดาชื่อ บุปผา ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน เป็นชาย ๓ คน เป็นผู้หญิง ๔ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๖

การศึกษา
อายุได้ ๗ ปี หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ท่านเข้ารับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านศรีฐาน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เรียนอยู่ ๕ ปี เพราะสมัยนั้นมีการเรียนชั้นมูลด้วย จึงจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ครั้นจบแล้วท่านได้ช่วยบิดามารดาทำนาอยู่หนึ่งปี

หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม

การบรรพชาอุปสมบท
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ อายุ ๑๓ ปี ท่านได้เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีฐานใน บ.ศรีฐาน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร บรรพชาพร้อมกันกับหลวงพ่อคำพอง ปัญญาวุโธ วัดป่านานาชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ครั้นบรรพชาแล้วได้เรียนนักธรรมอยู่ ๒ ปี และสอบได้นักธรรมชั้นโท จากนั้นเดินทางติดตามหลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร ซึ่งเป็นหลวงลุงไปอยู่ที่วัดป่าแก้วชุมพล ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านสอบได้นักธรรรมชั้นเอก ที่สำนักเรียนวัดเจริญสมณกิจ บ.บางงั่ว ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งท่านบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๗ ปี ในขณะที่เป็นสามเณรอยู่นั้น ท่านได้อยู่ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู เป็นต้น

หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม วัดป่าแก้วชุมพล

หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ท่านเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ ณ วัดศรีมงคลเหนือ ต.มุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร โดยมีพระมุกดาหารโมลี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์คำ คัมภีรญาโณ วัดศิลาวิเวก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ ขนานนามฉายาให้ว่า “ฐิตธัมโม” แปลว่า “ผู้ดำรงอยู่ในธรรม” โดยท่านอุปสมบทพร้อมกันกับหลวงพ่อคำพอง ปัญญาวุโธ วัดป่านานาชาติ รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นทั้งญาติและเพื่อนสนิท ซึ่งหลวงพ่อคำพอง เป็นนาคขวา ท่านเป็นนาคซ้าย

รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านได้พำนักที่วัดป่าแก้วชุมพล บ้านชุมพล ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เป็นการถาวร อยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร ผู้มีฐานะเป็นหลวงลุง และเป็นพระอาจารย์ ครั้นหลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ท่านจึงได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร ผู้เป็นบูรพาจารย์ โดยได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๓ จากนั้น ท่านได้นำคณะศิษย์สร้างพิพิธภัณฑ์หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร เพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุ อัฐบริขาร ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้สักการะบูชา

กตัญญูต่อพ่อแม่ครูอาจารย์
หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ผู้มีเมตตาธรรมต่อสานุศิษย์ทั้งบรรพชิตแลฆราวาส และท่านเป็นกำลังหลักสำคัญในการช่วยชาติไทยองค์หนึ่ง ซึ่งได้ถวายเงินบาทไทย ทองคำ เงินดอลลาร์ เงินตราสกุลต่างประเทศ เป็นจำนวนมากเข้าโครงการช่วยชาติ แด่ องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ผู้เป็นบูรพาจารย์ นอกจากนั้น หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ท่านยังเมตตาสงเคราะห์โลก ด้วยการสร้างหอพักสงฆ์อาพาธโรงพยาบาลสว่างแดนดิน มอบรถยนต์ให้กับโรงพยาบาลในเขตจังหวัดสกลนคร มอบเงินเพื่อสร้างอาคารโรงเรียนต่างๆ มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน รวมทั้งให้การช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ และศาสนสงเคราะห์ จึงนับได้ว่า หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาแลสังคมส่วนรวมมากองค์หนึ่ง

หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

นอกจากนั้น หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ยังแสดงความกตัญญูต่อองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งถือเป็นพระบูรพาจารย์ของท่านองค์หนึ่ง ด้วยการถวายเงินสบทบทุนสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี, ถวายเงินเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน โดย หลวงปู่ลี กุสลธโร ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี, ถวายเงินสร้างพุทธมหาเจดีย์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าภูผาแดง ต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เป็นต้น

หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

แม้วาระสุดท้ายก่อนละสังขาร หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ท่านมีจิตศรัทธา นำคณะศิษย์หล่อพระพุทธรูปทองคำ น้ำหนัก ๔๒ กิโลกรัม หน้าตัก ๑๒ นิ้ว เพื่อประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ในวันพุธที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ แต่นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าแก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า ท่านมาละสังขารจากไปก่อนทำพิธีหล่อพระพุทธรูปทองคำสองวัน ซึ่งก่อนละสังขารนั้น เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ท่านได้มอบหมายงานหล่อพระพุทธรูปทองคำครั้งนี้ ให้หลวงพ่อสุธรรม สุธัมโม วัดป่าหนองไผ่ อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นผู้ดำเนินการแทนท่านทั้งหมด เหมือนท่านรู้ล่วงหน้าว่า ท่านจะละขันธ์แล้ว

◎ เหตุการณ์สำคัญก่อนมรณภาพ
เช้าวันอังคารที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ช่วงเช้าก่อนพระสงฆ์ออกรับบิณฑบาตรนั้น ท้องฟ้าแจ่มใสทั่วอาณาบริเวณ แต่แปลกที่มีฟ้าร้องเสียงดังมากหลายครั้งตรงหัวศาลาวัดป่าแก้วชุมพล ทั้งที่ไม่มีเค้าว่าฟ้าฝนจะตกเลย เหมือนกับจะเป็นลางของเทวดามาบอกเหตุว่าองค์หลวงปู่จะละสังขารแล้วในเร็ววันนี้

และเวลา ๑๐.๐๐ น. หลวงปู่อุ่นหล้า องค์ท่านได้พูดกับพระลูกศิษย์ว่า

“วันนี้เราจะละสังขารแล้วนะ”

พระลูกศิษย์เมื่อได้ยินถึงกับตกใจจึงรีบกราบเรียนท่านว่า “ยังไงก็ขอนิมนต์หลวงพ่อให้อยู่จนกว่าจะเสร็จพิธีเททองหล่อพระก่อนไม่ได้หรือ” แล้วองค์ท่านก็เงียบไม่พูดอะไร ซึ่งพระทั้งหลายแทบไม่น่าเชื่อว่าท่านจะมรณภาพจริงๆ เพราะอาการอาพาธขององค์ท่านดีขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว

อีกเหตุการณ์หนึ่งก่อนที่จะมรณภาพนั้น หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ได้ทำการสั่งกำชับโยมป้าของท่านว่า “ถ้าเราไม่อยู่แล้วขอให้ทุกคนดำเนินการหล่อพระพุทธรูปทองคำให้เรียบร้อยนะ อย่าให้มีอะไรขาดตกบกพร่อง” รวมทั้งมอบหมายงานต่างๆ ในการหล่อพระพุทธรูปทองคำครั้งนี้ ให้กับครูบาอาจารย์ ทั้งพระสงฆ์ แลฆราวาส

◎ การมรณภาพ
หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ท่านอาพาธมาเป็นระยะเวลาหลายปี และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น มาโดยตลอด เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ท่านออกจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น เดินทางกลับวัดป่าแก้วชุมพล เพื่อเตรียมเดินทางไปร่วมพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทองคำ ที่วัดป่าบ้านตาด แต่แล้วองค์หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ท่านได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ตามกฎแห่งธรรมชาติ เมื่อวันอังคารที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เวลา ๑๕.๒๐ น. ณ กุฏิวัดป่าแก้วชุมพล บ้านชุมพล ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี ๑๑ เดือน ๒๙ วัน ๕๘ พรรษา

รูปเหมือน หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ณ วัดป่าแก้วชุมพล สกลนคร
อัฐิธาตุหลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
เจดีย์ หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

การมรณภาพของหลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ถือเป็นการสูญเสียพระมหาเถระผู้เป็นเสาหลักพระป่ากรรมฐานองค์สำคัญของประเทศไทย นำความอาลัยมาสู่สานุศิษย์ทุกหมู่เหล่า

หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีศีลาจาริยวัตรที่งดงาม เป็นพระผู้มักน้อย สันโดษ สมถะ เรียบง่าย มีเมตตาต่อพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า ท่านปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งมวล แล้วท่านนำธรรมมาสอนสาธุชนทั้งหลาย บำเพ็ญประโยชน์ส่วนตน แลสังคมส่วนรวม ด้วยความสมบูรณ์อย่างยิ่ง นอกจากนั้น ท่านยังได้รับสมญานามจากพระป่ากรรมฐานทั้งหลายว่า “เป็นพระที่สวดมนต์ สวดพระปาฎิโมกได้ไพเราะ ถูกต้องตามอักขระฐานกร
หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ท่านถือเป็น
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาต้อนรับ
เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน
เป็นผู้ควรแก่การกราบไว้
เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ขอน้อมถวายความอาลัย แด่องค์หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

กราบขอบพระคุณข้อมูลการจาก พระอาจารย์มลฑล อมโร (อ.สิน) วัดป่าบ้านหนองไฮ จ.อุดรธานี

ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณ ตะวัน-อุไรวรรณ คำสุจริต

◎ โอวาทธรรม หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม

“…คนเราส่วนมาก ถ้าอยู่เป็นสุขสบาย มีกินมีใช้ ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ไม่จนตรอกจนมุมชอบจะประมาท ไม่แสวงหาที่พึ่ง เวลาถึงคราวจนตรอกจนมุม จึงจะหาที่พึ่ง ปรกติส่วนมากจะเป็นอย่างนั้น มันไม่ค่อยทัน

ให้เราเตรียมตัวเอาไว้ก่อน พึ่งทาน พึ่งศีล พึ่งพุทโธ ธัมโม สังโฆ แหละใจจะได้มีที่เกาะ อย่างทานอย่างศีลนี้ ถ้าเราได้ทำไว้แล้ว ระลึกได้เมื่อไหร่จะเย็นใจ ไม่เหมือนทำความชั่ว ซึ่งคิดแล้วเศร้าใจไม่สบาย

ถึงเราจะภาวนาไม่เป็น แต่ถ้าว่าเราได้ให้ทานเอาไว้ รักษาศีลของเราให้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะศีลห้า ใจเราก็ไม่เดือดร้อน ถ้าไม่อะไรเสียเลย ถึงคราวจำเป็นมาจะไม่มีที่เกาะ เหนือนว่าเชือกขาด แล้วแต่ลมจะพาไป…”

” ..ธรรมะฟังมาเยอะแล้ว เหลือแต่การปฏิบัติ
อย่าเที่ยวขอธรรมะแล้วไม่ปฏิบัติ มันจะฟุ้งซ่าน..”

“..คนไม่ผิด คือ คนที่ไม่เคยทำอะไรเสียเลย
แต่รู้ว่าผิดแล้วแก้ไข เป็นบัณฑิต
รู้ว่าผิดแล้วยังฝืนทำ เรียกว่า “คนพาล..”