วันอาทิตย์, 13 ตุลาคม 2567

หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต พระอริยสงฆ์ผู้ยินดีในธรรมอันเกษม

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต

วัดถ้ำกลองเพล
อ.เมือง จ.หนองบัวลําภู

หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล

หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต พระอริยสงฆ์ผู้ยินดีในธรรมอันเกษม ท่านเป็นธรรมทายาทหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหลวงปู่ขาว อนาลโย

หลวงปู่บุญเพ็ง เคยได้อยู่รับใช้ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น เป็นเวลารวม ๔ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านได้กล่าวถึงสิ่งที่ภาคภูมิใจก็คือ ได้อยู่ปรนนิบัติท่าน ได้อยู่ใกล้ชิดท่าน เมื่อติดขัดในปัญหาอันใดก็จะสามารถถามแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ยิ่งในวัยชราของท่าน อาตมาและหมู่คณะได้ปรนนิบัติท่านพยายามเยียวยารักษาท่าน เพราะท่านเป็นพ่อแม่ที่ให้สิ่งที่มีคุณค่าทั้งสิ้น ไม่เคยสอนให้เสียคน ท่านคอยกล่าวตักเตือน ท่านว่า “เวลาไม่รอใคร ความตายอยู่เบื้องหน้า จงอย่าประมาทเลย”

หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต นามเดิม บุญเพ็ง จันใด ท่านถือกำเนิดตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๒ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเส็ง ณ บ้านศรีฐาน ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

โยมบิดาชื่อ นายคูณ และโยมมารดาชื่อ นางมา จันใด โดยองค์ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้อง ๖ คน ครอบครัวมีอาชีพทำนา ท่านศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนศรีฐาน ซึ่งเป็นโรงเรียนวัด จึงทำให้ท่านมีความผูกพันกับศาสนา ครั้นอายุ ๑๒ ปี บวชเป็นผ้าขาวเพื่อศึกษาและปฏิบัติข้อวัตรของผู้ทรงศีล และบรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดศรีธรรมาราม อ.เมืองยโสธร จ.อุบลราชธานี (ในเวลาต่อมา ได้เปลี่ยนเป็นอำเภอเมือง จังหวัดยโสธร)

หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล

ท่านเข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๒ ที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร โดยมีพระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตโต (ศิษย์หลวงปู่มั่น) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านพระอาจารย์มหาไพบูลย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมาภิรโต” แปลว่า “ผู้ยินดีในธรรมอันเกษม

หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต

อาจาริยธรรม
หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต ในขณะที่ท่านเป็นสามเณรอายุ ๑๖ ปีท่านได้เดินทางด้วยเท้าพร้อมด้วยท่านพระอาจารย์สอ และสามเณรลี จากวัดศรีธรรมาราม จังหวัดยโสธร ไปบ้านหนองผือนาใน ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ใช้เวลาในการเดินทางเป็นระยะเวลา ๑๕ วัน และท่านพร้อมคณะได้พักอยู่ห่างจากวัดป่าบ้านหนองผือ ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร โดยผลัดกันครั้งละรูป เดินทางเข้ามากราบ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถระ เพราะถ้าไปพร้อมๆ กันเกรงว่าจะไม่งาม อาจจะมีความวุ่นวายและขาดความสงบได้ โดยหลวงปู่บุญเพ็ง เป็นรูปแรกที่ท่านเข้าไปก่อน ท่านได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเข้าไปนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่นว่า…

“..แรกๆ นะตัวเย็นเฉียบเลยนะ หยิกไม่รู้เรื่อง มันตื่นเต้นมาก เพราะเคยได้ยินกิตติศัพท์ของท่านพระอาจารย์มั่น ว่ามีระเบียบ เรียบร้อยมาก เป็นพระผู้มีความเคร่งครัดต่อพระวินัยมาก..”

ครั้งนั้นอาตมายังจำได้ดีว่ามันตื่นเต้นมาก เมื่อเข้ากราบนมัสการ ก็เห็นความเป็นพระผู้มีปฏิปทาสูงมาก ยากที่จะมีใครทำได้เช่นท่าน

“งามจริงๆ แม้ท่านจะนั่งอยู่ในที่อันควรแล้ว ผิวพรรณของท่านเปล่งปลั่ง มองไม่เบื่อ เพราะเราไม่เคยเห็นอย่างนี้ สมกับคำล่ำลือจริงๆ”

ท่านพระอาจารย์มั่นท่านนั่งเฉยอยู่ มองพิจารณาอยู่ครู่หนึ่งท่านจึงเอ่ยขึ้นว่า

“พอบอกได้สอนได้”

หลังจากนั้นก็มีพระนำไปที่พัก ชึ่งก็เป็นป่าดงไม้ไผ่และรอบๆ บริเวณนั้นแหละ จิตใจของอาตมานั้นปีติดีใจมาก คิดว่า

“นี้เป็นโอกาสของเราแล้ว เราจะปฏิบัติศึกษาให้เกภูมิปัญญามากเท่าที่จะมากได้ทีเดียว”

เมื่อหลวงปู่บุญเพ็ง ได้เข้ามาอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ สมความตั้งใจแล้ว ได้รับหน้าที่อันเป็นกิจวัตรประจำวัน คือคอยดูแลและทำความสะอาดกุฏิ จัดสิ่งต่างๆ ภายในกุฏิของท่านพระอาจารย์มั่น และต่อมาได้อยู่ใกล้ชิด โดยได้รับหน้าที่ปรนนิบัติช่วยครูบาอาจารย์ในยามชรา ชึ่งในเวลานั้นท่านพระอาจารย์มั่นท่านชราภาพแล้ว หลวงปู่บุญเพ็งท่านเล่าว่า นับเป็นลาภของอาตมาที่ได้มีโอกาสอันสำคัญนี้ และเป็นช่วงที่ได้อยู่ปรนนิบัติท่านด้วย อย่างไรก็ตามการได้อยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ชึ่งในครั้งนั้นได้มีครูบาอาจารย์มาอยู่จำพรรษามากองค์ด้วยกัน และแต่ละองค์ก็ล้วนแล้วแต่มีคุณวิเศษมีข้อวัตรปฏิบัติธรรมอย่างละเอียดอ่อน เป็นกำลังในกองทัพธรรมเจริญรุ่งเรืองในกาลต่อมา ครูบาอาจารย์พระเถระแต่ละองค์นั้น การปฏิบัติของท่านเป็นอย่างชนิดทุ่มเท หมั่นเพียร ยอมมอบกายถวายชีวิตพ่อพระรัตนตรัย และมีอารมณ์สงบ เยือกเย็น พูดน้อย เวลาจะถามความสงสัยในธรรม ก็ตอบได้อย่างแจ่มแจ้ง เข้าใจง่าย อันนี้อาตมาคิดว่า “เหมาะสม” คือสถานที่ดี ครูบาอาจารย์พรั่งพร้อมที่จะสอนธรรม จึงเหมาะแก่การภาวนาธรรมในครั้งกระโน้นจริง ๆ

ลูกศิษย์ทั้งหลายย่อมรู้จักปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่นได้ดี ไม่ใช่จะยกเทิดทูนจนเกินเลย เป็นความจริง ที่ไม่เชื่อเพราะมิได้ศึกษา นี้เป็นอย่างนี้น่ะ เมื่อได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ก็เป็นผลในการประพฤติปฏิบัติมาก ก็น่าอัศจรรย์ อาตมาเคยได้พบประสบมาแล้วอย่างนี้ วันหนึ่งขณะที่กำลังนั่งคิดอยู่ว่า

“อะไรหนอ การปฏิบัติของเรา มันติดขัดอับจนปัญญา พิจารณาไม่ออกจิตใจฟุ้งซ่าน ทำอะไรๆ ก็ไม่สงบ”

ก็คิดในใจว่า “เย็นนี้จะต้องขอกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์ใหญ่เพื่อเปิดจิตใจให้สว่างเสียที ”

ครั้งพอตกเวลาเย็น อาตมาก็ได้ไปปรนนิบัติต้มน้ำร้อนน้ำดื่มถวายท่าน บีบนวดบ้างในบางคราว พอทำกิจของตนเสร็จก็เข้าไปนั่งรวมกับหมู่คณะ ท่านพระอาจารย์ใหญ่ก็เทศน์คำสอนให้อุบายธรรมะที่กำลังติดขัดอยู่นั้นแหละ ท่านบอกแก้ไขให้โดยไม่ได้เอ่ยขอกราบเรียนเลย อย่างนี้ละคิดอย่างไร วาระจิตของท่านสงบมากแค่ไหน ทำไมท่านถึงรู้ได้อย่างแจ่มแจ้งเช่นนั้น คนเราสมัยนี้พอพูดถึงปาฏิหาริย์บ้าง เรื่องฤทธิ์บ้าง มันชอบใจ ติดหลงไปไม่รอด กำลังไม่พอแต่อยากเหาะได้นะ เอาเป็นว่าท่านพระอาจารย์มั่น ท่านดักใจได้ถูก แล้วท่านยังได้สอนธรรมะให้คลายสงสัยได้ยอดเยี่ยมอีกด้วย

สำหรับหลักธรรมอันเป็นอุบายในการปฏิบัติ ท่านพระอาจาย์มั่น ท่านสอนมากในเรื่องภาวนาพิจารณาสกลร่างกายเรานี้ เพราะกัมมัฏฐานก็คือธาตุ ดังนั้นจึงควรพิจารณาร่างกายนี้แยกออกให้เป็นส่วน ๆ เมื่อมีความชำนาญคล่องแคล่วก็จะเห็นได้ชัดว่า ร่างกายเรานี้มันเป็นแต่เพียงธาตุ ไม่ใช่ของเราหรือของของเขาเลย เพื่อพิจารณาเห็นจริงเช่นนี้ก็ให้ตั้งสติ ให้รู้สภาพความเป็นจริง ความเป็นจริงก็คือธรรมะ

ครั้งแรก ๆ ท่านพระอาจารย์มั่นว่า “สติเป็นสิ่งสำคัญ ต้องน้อมพิจารณาส่วนใดก็ได้ ของร่างกายเมื่อมันหมดความลุ่มหลงร่างกายของตนแล้ว ต่อให้ร่างคนอื่น ๆ จะแต่งแต้มแค่ไหน มันก็จะไม่มีอาการลุ่มหลงเคลิบเคลิ้มต่อไป เพราะความรู้เท่าทันของจิตใจ พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านก็พิจารณากายนี้เอง ไม่ได้นั่งหลับตาพิจารณาอย่างอื่น

อาตมาเคยได้อยู่รับใช้ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น เป็นเวลารวม ๔ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๙ ถึง พ.ศ.๒๔๙๒ สิ่งที่ภาคภูมิใจก็คือ ได้อยู่ปรนนิบัติท่าน ได้อยู่ใกล้ชิดท่าน เมื่อติดขัดในปัญหาอันใดก็จะสามารถถามแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ยิ่งในวัยชราของท่าน อาตมาและหมู่คณะได้ปรนนิบัติท่านพยายามเยียวยารักษาท่าน เพราะท่านเป็นพ่อแม่ที่ให้สิ่งที่มีคุณค่าทั้งสิ้น ไม่เคยสอนให้เสียคน ท่านคอยกล่าวตักเตือน ท่านว่า

“เวลาไม่รอใคร ความตายอยู่เบื้องหน้า จงอย่าประมาทเลย”

ปีสุดท้ายคือ พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านอาพาธ อาการเจ็บป่วยนั้นแรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ คณะศิษย์ทุกคนก็พยายามกันมาก ช่วยกันดูแลจัดเวรยาม คอยดูแลอาการเจ็บป่วยท่านพระอาจารย์ใหญ่ด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ภายหลังจากท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพและถวายเพลิงศพท่านไปแล้ว คณะศิษย์ทั้งหลายต่างแยกย้ายกันออกไป ในระยะ ๔ ปี อาตมาคิดว่าได้เหตุผลในทางธรรม ได้รับจากหลวงปู่ครูบาอาจารย์มากมายพอควรทีเดียว

หลวงตามหาบัวกับหลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต
ระยะนั้นเป็นพรรษาที่ ๑๖ ในชีวิตการบวชของท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน และเป็นปีที่ ๙ แห่งการออกปฏิบัติกรรมฐาน บนหลังเขาวัดดอยธรรมเจดีย์ลูกนี้ของคืนเดือนดับแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ด้วยความอดทนพากเพียรพยายามติดต่อสืบเนื่องตลอดมานับแต่เริ่มออกปฏิบัติอย่างเต็มเหนี่ยว รวมเวลาถึง ๙ ปีเต็ม

“คืนแห่งความสำเร็จระหว่างกิเลสกับธรรมภายในใจของท่านก็สามารถตัดสินกันลงได้ในเวลา ๕ ทุ่มตรง” ดังนี้ ..

รุ่งเช้า องค์พระอาจารย์มหาบัว ท่านก็ลงจากวัดดอยธรรมเจดีย์มาถึงวัดป่าสุทธาวาส เพื่อเข้ากราบบูชาสังเวชนียสถานระลึกบุญคุณหลวงปู่มั่นผู้มีพระคุณสูงสุดของท่าน และที่วัดป่าสุทธาวาสแห่งนี้เป็นสถานที่แรกที่ท่านเปิดเผยความเสร็จสิ้นกิจทางโลกแก่พระผู้ร่วมบำเพ็ญสมณธรรมมาด้วยกัน ตั้งแต่ครั้งอยู่กับหลวงปู่มั่น ที่วัดบ้านหนองผือ ดังนี้ ..

“ท่านเพ็งนี้เอง คือผู้ที่เราบอกเป็นคนแรก เมื่อเราพ้นจากสมมุติทั้งปวงแล้ว”

ที่ท่าน “ให้ความเมตตาต่อพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เช่นนี้ก็เนื่องจากติดสอยห้อยตามมานาน” และในระยะที่หลวงปู่มั่นยังมีชีวิตอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านพระอาจารย์บุญเพ็งยังเป็นสามเณรอยู่ มีความขยันขันแข็งอดทนและใส่ใจในการงานดี ท่านจึงคิดสงสารว่า..

“หากมีโอกาสได้ฟังธรรมอัศจรรย์ครั้งนี้ จะเป็นกำลังใจให้ขันแข็งในการบำเพ็ญเพียรยิ่งขึ้น และจะเป็นที่แน่ใจตายใจว่ามรรคผลนิพพานนั้นมีจริง” ด้วยเมตตาเช่นนี้ท่านจึงเรียกมาแล้วค่อยเปิดเรื่องว่า..

“นี่! จะเล่าอันหนึ่งให้ฟังนะ ท่านเคยติดสอยห้อยตามผมมาเป็นเวลานานแล้ว แล้วคำที่ผมจะพูดเวลานี้ท่านเคยได้ยินได้ฟังไหม? ” จากนั้นท่านก็เล่าเรื่องบนวัดดอยธรรมเจดีย์ในคืน ๑๔ ค่ำให้ฟังจนจบแล้วจึงพูดขึ้นว่า..

“พอฟังแล้วเป็นยังไงคำนี้ ท่านเคยอยู่กับผมมาเป็นเวลานาน เคยได้ยินไหม? ผมเคยพูดให้ฟังไหม? ” พระอาจารย์บุญเพ็งตอบด้วยความตื่นเต้นปีติในใจเป็นล้นพ้นว่า “โห กระผมไม่เคยฟังอย่างนี้มาก่อนเลย”

หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล

จากนั้นท่านเมตตาสอนพระอาจารย์บุญเพ็งต่อไปว่า..

“นั่นละ ให้ตั้งใจหนา อย่างนี้ละธรรมพระพุทธเจ้าเป็น อกาลิโก” มีเป็นพื้นฐานประจำตลอดเวลา เป็นปัจจุบัน เอาให้จริงนะ นี่ได้เห็นเสียแล้ว หายสงสัยทุกอย่าง “หายสงสัยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หายหมดเลย เป็นอันเดียวกันหมด”

แล้วเราว่าอย่างนี้ “เราไม่สงสัยพระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหน ๆ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ตรงไหน จิตกับธรรมนี้เป็นอันเดียวกันแล้ว กับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอันเดียวกันแล้ว ไม่แยก ไม่มีแยก เป็นอันเดียวกัน”

ต่อมาภายหลัง “พระอาจารย์บุญเพ็งผู้ฟังธรรมครั้งสำคัญ” เปิดเผยถึงความรู้สึกในอดีตขณะที่ฟังนั้นว่า..

“ตั้งใจรับฟังด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงสุด ถึงแม้ว่าในระยะนั้นจะยังไม่เข้าใจในอรรถธรรมที่ลึกซึ้งละเอียดลออได้ตลอดก็ตามที แต่ก็ได้เก็บคำสอนที่ออกมาจากเมตตาธรรมของท่านไว้เป็นข้อระลึกและเป็นกำลังใจในการบำเพ็ญสมณธรรมอย่างมิรู้ลืมตลอดมา.. “

หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล
 (ซ้าย) หลวงปู่จันทา (กลาง) หลวงปู่ท่อน (ขวา) หลวงปู่บุญเพ็ง
หลวงปู่วิไลย์ หลวงปู่บุญเพ็ง หลวงปู่จันทา
หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล

ปี พ.ศ.๒๕๐๐ องค์ท่านเข้ามอบตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ขาว อนาลโย ณ วัดป่าแก้วชุมพล บ้านชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร และขอโอกาสจากองค์หลวงปู่ออกธุดงค์หาประสบการณ์บริเวณเทือกเขาป่าภูพาน

ปี พ.ศ.๒๕๐๓ เดินทางไปกราบหลวงปู่ขาว ขณะองค์หลวงปู่กำลังสร้างวัดถ้ำกลองเพล อ.เมืองหนองบัวลำภู โดยรับภาระดูแลการก่อสร้าง และอยู่รับใช้หลวงปู่ขาวในเวลาเดียวกัน จนท่านละสังขาร

หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู มรณภาพตรงกับวันอังคารที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑ เวลา ๐๑.๕๗ น. ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น สิริอายุ ๘๘ ปี ๔ เดือน ๕ วัน ๖๘ พรรษา

เจดีย์ หลวงปู่ขาว อนาลโย ณ วัดถ้ำกลองเพล

โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต
“..คนเรามีแต่กระดูก ให้พิจารณากระดูก ให้ดูรูปกระดูก แล้วภาวนาให้เห็นกระดูก ถ้ายังไม่เห็นให้ลืมตาดู แล้วหลับตา แล้วภาวนาอีกทำไปเรื่อยๆ จนเห็นกระดูกได้ตลอดเวลา เราจะได้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดคลายโลภโกรธ หลง เพราะสมบัติในโลกไม่มีอะไร รูปร่างก็มีแต่กระดูก สมบัติต่างๆก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีอะไรเป็นของเราสักอย่าง..”

“..การทําความดีคนดีทําได้ง่าย
การทําบาปคนชั่วทําได้ง่าย..”

“..การปฏิบัติไม่ว่าจะปฏิบัติอยู่บ้านหรืออยู่วัดก็ให้ผลเเก่ผู้ปฏิบัติได้เหมือนกัน ขอให้ปฏิบัติเถอะ..”

“..เพราะพื้นฐานของจิตคือ ศีล ตัวจิตที่เเท้ก็คือจิตใจของเรานี่เอง ถ้าเราไม่มีเจตนางดเว้นความชั่วจะเป็นศีลได้ยังไง..”

“..ถ้าจิตใจมันถึงธรรมะเเล้ว มันก็ไม่รู้จะไปโกรธให้ใครเพราะเราไม่มี ของเราไม่มี มีเเต่ธรรมะ..”

“..ผู้เสียสละโลก ผู้นั้นชื่อว่าผู้พ้นโลก
ผู้จูงอยู่ต่ำ ผู้ค้ำอยู่กลาง..”

“..พวกเราถูกแต่กิเลสหลอกลวง มันจึงไม่ไปหน้ามาหลัง…
เพราะฉนั้นทางดำเนินที่จะให้ถึงชึ่ง ความหลุดพ้นจากความทุกข์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมลงที่ ศีล สมาธิ ปัญญา
ความสำรวม กาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยเรียกว่าศีล
ความตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่เกาะเกี่ยวนิวรณ์ทั้งห้าคือสมาธิ
ความรอบรู้ในกองสังขารเรียกปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นสภาวะธรรม เป็นนิยยานิกธรรมนำบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติพ้นจากความทุกข์ ให้มีความสุข ความทุกข์นั้นคืออบายภูมิ เป็นต้น..”

ขอเชิญร่วมทอดผ้าป่าสามัคคี สมทบทุนโครงการสร้างพระเจดีย์อัฐบริขารเขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู

ขอเชิญร่วมสมทบทุนโครงการสร้างพระเจดีย์อัฐบริขารเขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู
องค์พระเจดีย์ฯที่จัดสร้าง จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปและพระบรมสารีริกธาตุบรรจุด้านบนของพระเจดีย์ รูปเคารพและอัฐบริขารหลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต บรรจุด้านล่างของพระเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา

หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต พระกรรมฐานซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นผู้กำหนดสถานที่ไว้เพื่อให้เป็นที่ประชุมเพลิงสรีระสังขาร และเป็นสถานที่สร้างเจดีย์อัฐบริขารเขมาภิรโต เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อีกทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจ น้อมนำการประพฤติปฏิบัติอันบริสุทธิ์ เพื่อเข้าถึงซึ่งพระรัตนตรัยของพุทธศาสนิกชน สืบต่อไป