วันพุธ, 1 พฤษภาคม 2567

หลวงปู่คำตา ทีปังกโร วัดป่าภูคันจ้อง บ้านคำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่คำตา ทีปังกโร
วัดป่าภูคันจ้อง บ้านคำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

หลวงปู่คำตา ทีปังกโร วัดป่าภูคันจ้อง บ้านคำด้วง ต.คำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คำตา ทีปังกโร วัดป่าภูคันจ้อง บ้านคำด้วง ต.คำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

หลวงปู่คำตา ทีปังกโร วัดป่าภูคันจ้อง บ้านคำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี พระป่าสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

◎ ชาติภูมิ
หลวงปู่คำตา ทีปังกโร นามเดิมชื่อ “คำตา ศรบัว” เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๐ ตรงกับปีเถาะ ที่บ้านโนนชาด ต.นาดี อ.สุวรรณคูหา จ.อุดรธานี บิดาชื่อ “นายผง” และมารดาชื่อ “นางผา ศรบัว” มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา เดียวกัน ๕ คน เป็นชาย ๒ คน เป็นหญิง ๓ คน ท่านเป็นลูกคนสุดท้อง

เมื่ออายุ ๒๑ ปี ได้รับคัดเลือกเป็นทหารเกณฑ์ เมื่อเป็นทหารจนครบกำหนดแล้วตามประเพณีทางภาคอีสานจะต้องบวชเสียก่อนค่อยแต่งงาน ส่วนมากสมัยก่อน พออายุครบ ๒๐ ปี ก็ต้องบวชอย่างน้อย ๑ พรรษา

พออายุครบ ๒๑ ปี ผ่านการคัดเลือกทหารแล้ว หากถูกคัดเลือกเป็นทหารก็ต้องไปเป็นทหารก่อนค่อยแต่งงาน สำหรับหลวงปู่หลังจากที่ปลดประจำการ หลวงปู่ท่านได้ อุปสมบทโดยบวชเป็นพระฝ่ายมหานิกาย ๑ พรรษา

เมื่ออายุประมาณ ๒๓ ปี เมื่อลาสิกขาแล้วท่านได้แต่งงานกับ “นางสาวจันทร์ นามลี” มีบุตรธิดาด้วยกัน ๙ คน เป็นหญิง ๗ คน เป็นชาย ๒ คน ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ทั้งหมด

หลวงปู่เล่าให้ฟัง สมัยเมื่อหลวงปู่เป็นฆราวาส ท่านได้ชักชวนหมู่เพื่อนและญาติพี่น้องสร้างวัดสำหรับพระกัมมัฏฐานขึ้นที่ผาด้วง ซึ่งมีพระกัมมัฏฐานมาพักภาวนาอยู่เป็นประจำ หลวงปู่ท่านได้ไปอุปัฏฐากและฟังเทศน์ จนเกิดความเลื่อมใสในการปฏิบัติภาวนาของพระธุดงค์ หลวงปู่ได้รับการฝึกหัดการปฏิบัติตามกฎของพระธุดงค์อย่างชำนิชำนาญตามนิสัย พระธุดงค์บางรูปท่านอยู่นาน บางองค์ท่านก็อยู่ไม่นาน

ต่อมาไม่มีพระอยู่จำพรรษา หลวงปู่ท่านซักชวนญาติพี่น้องไปนิมนต์พระเพื่อมาอยู่จำพรรษาโดยเดินทางไปที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน จังหวัดเลย ซึ่งมีหลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นประธานสงฆ์

การไปนิมนต์พระไม่ได้พระ แต่ได้ข้อคิดโดยหลวงปู่ชอบ ท่านได้ให้โอวาทว่า “การหาพระไปอยู่วัดมันยากสู้เราบวชเองไม่ได้ สร้างเราให้เป็นพระ เมื่อฝึกใจของเราให้เป็นพระโดยสมบูรณ์แล้ว เราก็ไม่ต้องไปหาพระภายนอกให้ลำบากอีกต่อไป พวกเรามันโง่ แสวงหาแต่พระภายนอกให้พากันบวชเอา แล้วไปอยู่วัด”

หลังจากกลับมาซึ่งตอนนั้น หลวงปู่ท่านยังไม่อยากบวช เนื่องจากมีภาระในการเลี้ยงดูลูก ๆ ซึ่งยังเล็กอยู่และต้องสร้างฐานะครอบครัวให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง พร้อมกับการให้ทานรักษาศีล ประกอบกันไปตามความเหมาะสม การภาวนาก็พยายามทำเมื่อมีโอกาส โดยภาวนาบริกรรมพุทโธเป็นหลัก

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ช่วงไหนงานทำนาเร่งเพื่อให้เสร็จเร็ว ท่านไม่ได้ไปวัด พอถึงวันอุโบสถ ตอนเช้าทำวัตร สวดมนต์เสร็จก็สมาทานรักษาศีลเองโดยตั้งใจจะรักษาศีลเอง โดยตั้งใจจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง พอทานอาหารเช้าแล้วก็ออกไปทำงานตามปกติ เนื่องจากวัดไม่มีพระจำพรรษา และต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว เนื่องจากมีลูกหลายคน แต่หลวงปู่ท่านไม่ละความพยายามในการภาวนาหลวงปู่เล่าว่า

บางครั้งขณะไถนาจิตร่วมลงสู่ความสงบ ควายพาไถออกแปลงนา จิตก็ถอนออกจากสมาธิ ท่านก็พาควายกลับเข้ามาไถนาอีกต่อไป โดยท่านภาวนาตลอดเวลาไม่ว่าอิริยาบถใด ไถนา ถอนกล้า ดำนา จนจิตของท่านมีความชำนาญในการทำสมาธิมากการทำนาไม่มีความเหนื่อยล้า เนื่องจากจิตของท่านมีความสงบร่มเย็นด้วยอำนาจของสมาธิ
หลวงปู่เริ่มเห็นคุณค่าของการทำสมาธิตอนนั้นเริ่มมีความอยากบวชในพระพุทธศาสนาตามลำดับ

วันหนึ่งไปเลี้ยงควาย ภาวนาไปด้วยเวลานั่งเฝ้าถวายก็ภาวนาบางครั้งจิตสงบลงจนควายไปไกล พอจิตถอนจากสมาธิท่านก็ลุกตามควายไปพอตามทันก็นั่งสมาธิอีก ทำอยู่อย่างนั้นตลอดวัน
บางครั้งเฝ้าควายอยู่กำลังสูบบุหรี่ พอสูบเข้าไปท่านมองเห็นควันบุหรี่เข้าไปในปอด มองดูเห็นหน้าอกเห็นหมด พวกตับ ไต ไส้พุงต่าง ๆ ท่านเลยนั่งกำหนดดูจนควายกินหญ้าไปไกล พอออกจากสมาธิแล้วตามควายไป จากนั้นท่านก็มีความอยากบวชเป็นกำลัง เนื่องจากการเป็นฆราวาสมีเวลาน้อยยุ่งยากไม่สะดวก

◎ อุปสมบท
ท่านจึงเริ่มแสวงหาครูบาอาจารย์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ขณะนั้นวัดเทพธารทองมีชื่อเสียงมากในการปฏิบัติ ท่านจึงได้มอบทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดให้แก่ภรรยาและลูก ๆ ทุกคน ซึ่งสามารถเลี้ยงชีวิตโดยไม่ลำบากจึงตัดสินใจลาออกบวช โดยมุ่งหน้าสู่วัดเทพธารทอง หลวงปู่ได้เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์ ขอบวชในพระพุทธศาสนากับพระอาจารย์บัวไล ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้รับฝึกหัดขานนาคจนชำนาญจึงอนุญาตให้บวช

อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๑๗ เมื่ออายุ ๔๘ ปี ณ วัดเทพธารทอง ต.แก้งไก่ อ.สังคม จ.หนองคาย โดยมี พระครูศีลขันธ์สังวร (หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ) วัดพระงามศรีมงคล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูญาณปรีชา (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) วัดอรัญบรรพต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวินัยธร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยได้รับฉายาว่า “ทีปังกโร” ซึ่งแปลว่า “ชื่อของพระพุทธเจ้าทีปังกร

เมื่อบวชแล้วได้อยู่จำพรรษาที่วัดเทพธารทอง ด้วยความไม่ประมาทหลวงปู่ท่านสอนตัวเองเสมอว่า เราบวชตอนแก่จะต้องทำความเพียรเต็มความสามารถไม่ว่าอิริยาบถใด ท่านทำความสงบได้ไม่ยาก

กติกาวัดเทพธารทอง วันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ห้ามไม่ให้นอนนั่งภาวนาร่วมกันที่ศาลาจนสว่าง ทั้งพระเณรและฆราวาส ที่ไปปฏิบัติธรรมที่วัดต้องถืออย่างเคร่งครัด สำหรับหลวงปู่ท่านมีความพอใจในการปฏิบัติแบบนี้ เพราะจะได้ทรมานกิเลสตัวที่เห็นแก่หลับแก่นอน จิตของหลวงปู่สงบง่ายท่านบอกว่าไม่ต้องทรมานเหมือนคนอื่น แม้แต่เวลาอยู่กันหลายองค์ กำลังพูดคุยกันอยู่ก็ยังสงบ บางทีปล่อยให้สงบจนพระที่อยู่ด้วยกันท่านคิดว่านั่งหลับท่านบอกว่าพระเณรพูดกันได้ยินหมด แต่ไม่สนใจ จนจิตถอนออกจากสมาธิแล้วคุยกับพระเณรต่อ พระถามท่านว่านั่งหลับหรือ ท่านไม่พูดเพียงแต่ยิ้ม ๆ เพราะเขาไม่รู้ วันหนึ่งท่านนั่งสมาธิอยู่บนกุฏิเกิดนิมิตเห็นเพื่อนของท่าน เดินขึ้นมาบนกุฏิ มาหาท่านเขาตัดผมใหม่ เขาบอกว่าเขาตายแล้วและขออนุญาตหลวงปู่จะไปอยู่วิมานหลวงปู่ถามว่า ทำไมไม่ไปอยู่ เขาบอกว่าอยู่ไม่ได้ต้องขออนุญาตจากหลวงปู่ก่อน เพราะท่านออกค่าใช้จ่ายมากกว่า หลวงปู่เลยบอกว่า เรายกให้เลย เรายกให้ทั้งหมด เราไม่เอา เขากราบลาแล้วลงจากกุฏิด้วยความยินดี หลวงปู่เล่าว่า สมัยยังไม่บวกไปสร้างกุฏิด้วยกันโดยหลวงปู่ ออกเงินค่าใช้จ่ายมากกว่า ฉะนั้นท่านจึงมีสิทธิมากกว่าเขาถ้าตายก็ต้องอยู่ด้วยกัน เขาก็ต้องไปเกิดเป็นบริวาร เพราะบุญน้อยกว่า แต่หลวงปู่ท่านสละทานให้ เพราะบวชแล้ว และเป็นการสงเคราะห์เพื่อน พอต่อมาไม่นานมีญาติมาเยี่ยมท่าน จึงถามข่าวถึงเพื่อนเขาบอกว่าตายแล้ว ท่านก็หมดความสงสัยในความรู้ที่เกิดขึ้นความรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปฏิบัติ ตั้งแต่เริ่มภาวนาใหม่ ๆ ความเชื่อและศรัทธามีความแน่นหนามั่นคงตามลำดับ ถึงสมาธิของท่านจะแน่นหนามั่นคงขนาดไหน พอมีช่องว่างกิเลสก็เข้าแทรกทันทีวันหนึ่งเกิดคิดถึงบ้านคิดถึงลูกยังเล็ก ๆ อยู่ คงจะลำบากเกิดความสงสาร คิดอยากจะสึกเต็มกำลัง ภาวนาอย่างไรก็ไม่สงบ มีแต่ความฟุ้งซ่านรำคาญ ทนไม่ได้ก็เลยหยุดภาวนา เลยเดินไปบริเวณวัด พอดีไปเจอสามเณรน้อยนั่งอยู่คนเดียว เลยนั่งคุยกับสามเณรว่าอยากสึกไหม สามเณรตอบท่านว่า ไม่อยากสึก ขี้เกียจไปเลี้ยงควาย ไม่ไปก็ไม่ได้แม่จะตีเอา เวลาไปเลี้ยงควายริ้นมันกัดหัวกัดหูไม่อยากสึกพอสามเณรพูดจบ หลวงปู่ท่านได้สติทันที ท่านพูดกับตนเองว่าขนาดสามเณรยังรู้ว่าเลี้ยงควายมันลำบาก แต่เราแก่ขนาดนี้ยังไม่รู้ว่ามันเป็นทุกข์ ยังจะมาอวดดีหรือว่าตนเองฉลาด หลังจากนั้นพอกลับจากกุฏินั่งภาวนาจิตก็รวมสู่ความสงบ พอจิตถอนจากสมาธิแล้วท่านจึงเริ่มพิจารณาถึงเหตุที่ทำให้จิตเสื่อมจากสมาธิ เพราะความประมาทหลงติดสุขในสมาธิไม่ยอมพิจารณาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ท่านจึงเริ่มพิจารณาตั้งแต่สมัยท่านแต่งงานใหม่ๆ ต้องทำบาปเพราะหาเลี้ยงชีวิตเพราะความยึดมั่นในตัวภรรยาว่าเป็นของเรา แล้วเกิดความหึงหวงเหมือนประหนึ่งว่าจะไม่ตายจากกันจะไปไหนก็ไม่ได้จิตมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความอาลัยอาวรณ์ เวลาไม่สบายก็ต้องดูแลกันเป็นทุกข์เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย พออยู่มาไม่นานก็มีลูกทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชาย ยิ่งต้องทำบาปทำกรรมหนักขึ้นไปอีก แทบจะหาบุญไม่เจอไม่ทำก็ไม่มีกิน เพราะลูกๆ ตาดำๆ ให้เขากินอะไร ท่านถึงกับพูดว่า คนเราทุกข์เพราะการกิน เมื่อท่านพิจารณาอย่างละเอียดตามหลักความจริงแล้ว ถึงแม้จะรักจะหึงหวงภรรยาของเราขนาดไหน สุดท้ายก็ต้องพลัดพรากตายจากกันไป แม้แต่ลูกๆ ก็เหมือนกันไม่มีใครในโลกจะสามารถยับยั้งสิ่งเหล่านี้ได้ ทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ด้วยกัน หลวงปู่เคยพูดเสมอเมื่อลูกศิษย์ไปกราบท่าน พูดเป็นภาษาอีสานว่า

ฮักลูกพอปานเชือกผูกคอฮักหลานพอปานปอผูกศอกฮักข้าวของเงินทองพอปานปอกมัดขา

ท่านว่ามัดสามประการนี้แหละจึงออกจากบ้านจากเรือนมาอยู่วัดไม่ได้เมื่อท่านพิจารณาเห็นตามหลักของความจริง จิตก็มีแต่ความสงบร่มเย็น การภาวนาก็ก้าวหน้าหมดความอาลัยในการที่จะลาสึกอีกวันหนึ่งตอนกลางคืนกำลังเดินจงกรม จิตมีความสงบเกิดแสงสว่างทั่วสุดทางจงกรมและมีโครงกระดูกลอยอยู่ข้างหน้า ท่านก็เดินจงกรมตามไปพอสุดทางจงกรม พอจะเลี้ยวกลับท่านคิดว่ามันจะมาข้างหลังหรือ พอหันกลับมาก็เจอโครงกระดูกอีก แต่ท่านตั้งสติ และเดินจงกรมเรื่อยๆ พอไม่นานโครงกระดูกก็หายไป ท่านได้พิจารณาดูแล้ว เห็นว่าคนเราหลงโครงกระดูกที่มีเครื่องประดับประกอบด้วยของปฏิกูลต่างๆ ประกอบไปด้วยอาการ ๓๒ ประการ อันได้แก่ เนื้อ หนัง เอ็น กระดูก เมื่อรวมกันแล้วเรียกว่า คนแล้วก็ยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนลืมเนื้อลืมตัว ยึดมั่นถือมั่นในตนเองมีสมบัติมากลืมเนื้อลืมตัว มีบริษัทบริวารมากลืมเนื้อลืมตัว มียศถาบรรดาศักดิ์มากลืมเนื้อลืมตัว ยิ่งพิจารณายิ่งเห็นความน่าเบื่อหน่ายของกิเลสตัณหาไม่ว่าเขาไม่ว่าเรา ถ้าไม่มีธรรมเข้าครอบครองหัวใจแล้วเป็นได้ทั้งนั้น นี้แหละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ในวัฏสงสาร หลงทำกรรมอันชั่วลามกก็เพราะความลืมตัวลืมตน หยิ่งยโส นำมาซึ่งความตกต่ำ เกิดมาก็อดๆ อยากๆ มีอำนาจวาสนาน้อยเพราะการกระทำของตนเอง คนเราทุกข์เพราะความหลงในร่างกายอันเป็นของไม่เที่ยงเกิดขึ้นมาแล้วก็รอแต่การแตกสลายในที่สุด เราควรจะรีบเร่งทำความเพียร เพื่อจะออกจากทุกข์ เพื่อละความยึดมั่นในสิ่งทั้งหลายดีกว่า

◎ หลวงปู่ท่านมีความรู้เกี่ยวกับพวกกายทิพย์
ท่านเล่าว่าวัดเทพธารทองมีพวกภูมิยักษ์แสดงอิทธิฤทธิ์ให้ท่านดู เขายืนทีกลางแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงลึกเพียงแค่หน้าแข้ง ตัวเขาใหญ่มากเขาแสดงให้ท่านดู ท่านเร่งภาวนาอย่างหนัก ทั้งอดนอนทั้งอดอาหารสลับกัน ท่านสอนตนเองเสมอว่า “ท่านบวชตอนแก่ ต้องทำความเพียรแข่งกับความตาย ซึ่งไม่รู้วันไหนจะตายจากโลกนี้” ท่านมีความเด็ดเดี่ยวมากในการทำความเพียร บางคืนนั่งภาวนาจนสว่าง

บางคืนเดินจงกรมตลอดคืน ช่วงหลังการภาวนาไม่สะดวก เนื่องจากญาติโยม – พระเณรมีจำนวนมากขึ้น เพราะสมัยนั้นวัดเทพธารทองกำลังโด่งดังมากในเรื่องการปฏิบัติภาวนา หลวงปู่ท่านจึงตัดสินใจลา

พ่อ-แม่ครูอาจารย์ออกเที่ยวธุดงค์ เพื่อแสวงหาที่สงบในการที่จะทำลายกิเลสตัณหาที่ยังบังคับจิตใจ แทบจะหาความสุขแทบจะไม่มีประมาณ พ.ศ.๒๕๒๒ หลวงปู่ได้ธุดงค์ภาวนาหลายที่ท่านเล่าว่า ท่านไปภาวนาอยู่ทางสกลนคร ท่านว่าวัดอยู่กลางทุ่งเป็นวัดร้างไม่มีพระอยู่ การภาวนาสงบทั้งกลางวันกลางคืน บางคืนเดินจงกรมจนสว่าง มีแต่ความสงบเยือกเย็น บางคืนนั่งภาวนาตลอดคืนจิตมีแต่ความดื่มด่ำไม่อยากหยุด จิตหมุนตลอดเวลาในการทำความเพียรภาวนา ที่วัดนั้นมีเปรตเป็นมิจฉาทิฐิ พอนั่งภาวนาเขาขึ้นมาหาตอนแรกไม่ยอมกราบท่านจึงอบรมเทศนาให้ฟังถึงบาปบุญทั้งคุณและโทษ ที่ตัวเขากระทำ จึงได้มารับบาปกรรมที่ตนเองก่อในที่สุดเขาก็ยอมรับและกราบท่าน ที่วัดนั้นมีสระน้ำ หน้าแล้งน้ำแห้งท่านนิมิตเห็นพระพุทธรูปทองคำอยู่ในสระ ตอนเช้าท่านออกไปดูแด่ไม่เจอมีแต่โคลนตมเพราะควายลงไปนอนโคลนมีแต่ตมเต็มไปหมด คืนหนึ่งท่านภาวนาจิตมีความสงบเกิดนิมิตขึ้นเกิดมีห้องนอน ๔ ห้อง ๓ ห้องว่างเปล่า อีกห้องมีผ้าขาวอยู์ในห้อง พร้อมมีเสียงพูดว่า ขอนิมนต์ท่านเข้าพักห้องนี้ หลวงปู่ท่านพยายามพิจารณาอย่างไรก็พิจารณาไม่ออกว่ามันแปลว่าอะไร จะถามใครหนอเพราะตอนนั้นท่านอยู่องค์เดียว ท่านเกิดความวิตกว่าจะมีเหตุใดหนอ จึงตัดสินใจเดินจากที่นั่นทั้งที่เสียดายเพราะภาวนาดีมากท่านกะว่าจะไปถามครูบา-อาจารย์ ให้ท่านแก้ปัญหาให้เสียก่อนค่อยจะกลับมาภาวนาต่อ ท่านได้เดินทางไปหลายสำนักเพื่อกราบเรียนถามท่านตอบมาก็รู้สึกไม่ค่อยลงใจ ท่านไปหาครูบา-อาจารย์หลายองค์ ตอบไม่เหมือนกัน และยิ่งทำให้ไม่สบายใจ พอดีนึกขึ้นได้ว่า หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง บ้านหนองกอง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี หลวงปู่จึงได้เดินทางมาที่วัดป่าหนองกอง เพื่อกราบขออยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านหลวงปู่เพียร วิริโย เมื่อมีโอกาส หลวงปู่จึงกราบเรียนถามท่านเกี่ยวกับนิมิตที่ปรากฏ เมื่อกราบเรียนถามท่าน หลวงปู่เพียร ท่านก็แก้ว่า ห้องนอน ๔ ห้อง หมายถึง หัวใจของคนมี ๔ห้อง ส่วนผ้าขาวที่อยู่ห้องนั้นหมายถึงความบริสุทธิ์ของใจ พอหลวงปู่เพียร พูดจบหลวงปู่เข้าใจทันที ท่านว่าหากเราไม่หนีจากที่นั้น หากเร่งทำความเพียรจะต้องเห็นธรรมของจริง ท่านเฉยดายมาก จากนั้นมาไม่เคยได้กลับไปอีกเลย เมื่อมาอยู่วัดป่าหนองกอง จิตมีความสงบร่มเย็น เนื่องจากอยู่กับอาจารย์ที่ทรงอรรถทรงธรรม หลวงปู่ได้รับอุบายอย่างต่อเนื่อง การภาวนายิ่งเจริญบงอกงามตามลำดับ แต่ท่านไม่ประมาทรีบเร่งขวนขวาย ท่านว่าที่ป่าหนองกองมีลาภสักการะมากงานนิมนต์ก็มากทำให้ไม่สะดวกในการทำความเพียรขั้นแตกหัก พออยู่ครบ ๕ พรรษา แล้วจึงขออนุญาต หลวงปู่เพียร ออกธุดงค์ เพื่อหาที่เหมาะสมในการจะกำจัดกิเลสตัวฉกาจที่ยังอยู่ในหัวใจ เมื่อหลวงปู่เข้าไปขอโอกาสเพื่อขอออกธุดงค์ หลวงปู่เพียรท่านได้พูดกับหลวงปู่เป็นเชิงห้ามโดยพูดว่า

มีนาเฟืองแล้ว ซ่างอยากดำนาซ่าว เข้า (ข้าว) กะมีอยู่เล้า ซ่างไปส้นป่ากอย” ความหมายแปลว่า หลวงปู่มีคุณธรรมพอรักษาตัวเองได้ทำไมจะต้องไปแสวงหาที่อื่นอีก พอหลวงปู่เพียรพูดจบ ท่านก็นึกในใจว่า หลวงปู่เพียร พูดก็ถูกของท่าน เพราะหลวงปู่เพียรท่านทามากจนพอแล้ว แต่ตัวเรายังไม่ทันหมดสิ้นจากกิเลส เราจะต้องพยายามทำที่สุดแห่งทุกข์ให้ได้ หากกิเลสยังไม่หมดจากใจจะไม่ลงจากภูเขาโดยเด็ดขาด หลังจากลาหลวงปู่เพียรเรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางสู่เทือกเขาภูพาน เพื่อบำเพ็ญภาวนาหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้ดั่งตั้งใจจนธุดงค์มาถึงถ้ำแก้ว บ้านนาหลวงรู้สึกชอบมาก เพราะไกลจากหมู่บ้านมาก สงบทั้งกลางวันและกลางคืนการบิณฑบาตก็พอได้ฉัน โดยบิณฑบาตกับชาวบ้านที่ไปทำไร่ประมาณ ๑๐ หลังคาเรือน สัปปายะมาก

◎ ความเพียร
การทำความเพียรของท่านหนักขึ้นตามลำดับ บางครั้งเดินจงกรมโซซัดโซเซ ถึงกลับนอนหลับบนก้อนหินที่ขรุขระได้พอรู้สึกตัวตามด้านข้างของท่านเป็นหลุม ๆ เพราะหินเป็นปุ่ม ๆ ท่านว่ามันน่าเบื่อหน่ายในสังขาร พอตั้งสติก็ต่อสู้กับกิเลสอีกต่อไปไม่อาลัยในชีวิต ทุกข์เราก็ทุกข์มาตั้งแต่เกิด ทุกข์เพราะการอยู่การกินทุกข์เพราะการขับถ่าย ทุกข์เพราะต้องชำระร่างกาย ทุกข์เพราะความเจ็บไข้ ทุกข์เพราะความคับแค้นจิตใจ ทุกข์เพราะร้อนเพราะความเกิด เพราะความเจ็บป่วย ทุกข์เพราะความชราภาพ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของความทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์เพราะการภาวนาถึงจะหนักขนาดไหน เราก็ต้องอดทนจะตายก็ขอให้ฝ่ายในการภาวนาดีกว่าตายเพราะการทำความชั่ว หลวงปู่ท่านปลุกใจตนเองให้สู้กับกิเลสตัวพาให้จิตใจอ่อนแอ ท้อแท้ส่วนมากท่านอยู่องค์เดียว การภาวนาของท่านจึงเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ขาดวรรคขาดตอน ที่ถ้ำแก้วท่านเล่าว่ามีแก้วจริงๆ ภูมิเทวดาเขาเอาลูกแก้วมาถวายท่าน แต่ท่านไม่รับ ท่านบอกเขาว่าท่านมาบำเพ็ญภาวนาไม่ต้องการอะไรต้องการชำระกิเลสเท่านั้น อาตมาไม่เอาเก็บไว้เถิด ท่านว่าลูกแก้วใหญ่ประมาณเท่าแขน มีหลายสีสวยงาม แต่ท่านไม่อยากได้ตอนนั้น ท่านป่วยเป็นไข้มาลาเรีย บางวันจับไข้นอนป่วยอยู่องค์เดียว กำหนดภาวนาจิตสงบนิ่งไม่กระดุกกระดิก เวทนาหายหมดเหมือนไม่มีอะไร มีแต่ความรู้เดินอยู่พอเราพลิกตัวเวทนาก็เข้ามาอีกพอเรานิ่ง ๆ จิดนิ่งเวทนาก็เหมือนไม่มี ท่านเลยนอนนิ่ง ๆ ตั้งสติอยู่กับความสงบจนไข้สร่าง จึงลุกขึ้นนั่งภาวนาเดินจงกรมสลับกันไป ความรู้เกิดขึ้นกับท่านหลายอย่างครั้งหนึ่งท่านนิมิตว่าได้ไปบนบ้านหลังหนึ่งสวยงามอยู่ใกล้กับถ้ำที่ท่านอยู่

พอตอนเช้าไปดูพบว่าเป็นต้นไม้ใหญ่ท่านว่าเป็นรุกขเทวดาเขาอยู่ตามหน้าผาบริเวณวัดถั้าแก้วเป็นที่อยู่ของภูมิเทวดา การรู้การเห็นสิ่งเหล่านี้ ทำให้ท่านได้รู้เห็นกรรมของสัตว์ที่ท่องเที่ยวในวัฏสงสาร การเกิดย่อมมีแก่สัตว์ทั้งหลายคืนหนึ่งท่านนิมิตว่าได้ขึ้นไปเที่ยวบนสวรรค์ แต่ไม่รู้ว่าชั้นไหนเลยไปพบกับภรรยาเก่าของท่านแต่ชาติก่อน พอไปเจอหน้าก็รู้สึกคุ้นเคยเขาแสดงความสนิทสนมประหนึ่งว่าอยู่ร่วมกันใหม่ๆ ท่านก็รู้สึกว่าที่เขาอยู่สะอาดสะอ้านน่าอยู่ ท่านรู้สึกละอายใจมาก เขานิมนต์ให้ท่านอยู่ด้วยแต่ท่านไม่อยู่ ตอนนั้นใกล้สว่างนึกถึงผ้าครองกลัวผิดวินัย จึงรีบกลับลงมา พอรู้สึกตัวท่านรู้สึกว่าตัวเองนี้โง่มากเป็นผู้ชายแท้ๆ ยังแพ้ผู้หญิงเขาไปเกิดเป็นเทวดา เสวยทิพย์วิมานมีความสุขทั้งกลางวันกลางคืน ส่วนเรามาเกิดเป็นมนุษย์มีแต่ทุกข์ตลอด แหมเราช่างหน้าอายผู้หญิง ท่านพูดกับตัวเองว่าเราจะต้องให้ได้ดีกว่าเขาเพราะเราเป็นผู้ชายจะไม่ยอมเสียเปรียบผู้หญิง เราจะต้องไปสูงกว่าเขาท่านยิ่งเร่งภาวนาหนักกว่าเดิม ตอนแรกท่านอยู่ถ้ำต่อมามีศรัทธาสร้างกุฏิถวายท่านและศาลาหลังเล็กๆ และจำพวกถังน้ำต่างๆ แท็งก์น้ำ เนื่องจากขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง มีศรัทธาเริ่มรู้จัก ภายในถ้ำแล้วมีบ่อน้ำเล็กๆ ไม่แห้ง แต่ไม่มากมีเฉพาะเอาไว้ฉันและล้างหน้า พระเณรเริ่มรู้จักท่าน มีพระขึ้นไปอบรมกับท่านคราวละรูปสองรูป เนื่องจากไม่มีที่พักอีกทั้งยังขาดแคลนน้ำและอาหาร ท่านตั้งใจว่าจะอยู่ที่วัดถ้ำแล้วตลอด แต่ต้องจำใจจากวัดถ้ำแล้วอันแสนวิเวก สงบสงัด เพราะทางราชการได้ให้ชาวบ้านที่ทำไร่ลงมาอยู่บ้านนาหลวง เพราะเขาถือว่าชาวบ้านทำลายป่า หลวงปู่เลยต้องย้ายจากวัดถ้ำแล้วลงมากับญาติโยม

หลวงปู่จำพรรษาวัดถ้ำพระนาหลวง มีพระขึ้นไปจำพรรษากับหลวงปู่ มีพระ ๕ รูป สามเณร ๔ รูป รวม ๙ รูปทั้งหลวงปู่ความเป็นอยู่มีความลำบากมาก เพราะจำพรรษาด้วยกันหลายองค์หลวงปู่ท่านให้พระ-เณรถือธุดงค์หมดทุกรูป

โดยท่านเน้นหนักมากคือ การเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร วันไหนไม่ได้บิณฑบาตวันนั้นก็ไม่ฉัน ฉันหนเดียวเป็นวัตร ฉันภาชนะเดียวเป็นวัตร โดยอาหารจัดลงเฉพาะในบาตรทั้งหวานทั้งคาว การถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือมีผ้าสังฆาฏิ-สบง-จีวร ซึ่งถือเป็นผ้าครองเท่านั้น ส่วนวันพระถือการไม่นอน นั่งภาวนารวมกันที่ศาลาจนสว่าง ซึ่งสมัยนั้นข้อวัตรในการปฏิบัติของท่าน ตอนประมาณ ๑๙.๐๐ น. พระเณร และญาติโยมรวมกันที่ศาลา ถ้าเป็นวันพระ ๑๕ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ท่านจะพาพระภิกษุลงปาติโมกข์ก่อน สามเณรและอุบาสก-อุบาสิกา ก็ร่วมฟังด้วยและทำวัตรเย็นต่อจนจบ หลังจากเสร็จท่านให้พักเพื่อปล่อยหนัก ปล่อยเบา เสร็จแล้วก็รวมกันอีกครั้งหนึ่ง โดยหลวงปู่ท่านเทศน์อบรมถึงการปฏิบัติโดยให้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัด ถึงแม้จะอดอยากสักปานใดก็ต้องต่อสู้ เมื่อตั้งสัจจะสิงใดแล้ว ต้องพยายามอดทน แม้ตายก็ไม่ควรเสียดายชีวิต ความกลัวตายเป็นเรื่องของกิเลส พวกท่านบวชน้อยเพียงหนึ่งพรรษา ฉะนั้นต้องภาวนาทำความเพียรให้มากถึงจะคุ้มค่ากับการบวช ให้พวกท่านตั้งใจภาวนาไม่ต้องทำอะไร ให้บริกรรมภาวนาอยู่กับพุทโธเท่านั้น วันนี้ผมจะพานั่งภาวนาจนสว่างค่อยเลิกกัน นี้ท่านเรียกว่า เนสัชชิธุดงค์ พระพุทธเจ้ากล่าวว่าได้บุญได้อานิสงส์มากหากทำได้ เมื่อพูดจบก็แนะนำการนั่ง ขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายให้ตรง ตั้งสติอยู่กับลมหายใจเข้าออกโดยบริกรรมพุทโธ เพราะตอนนั้นมีแต่ลูกศิษย์บวชใหม่

ตั้งใจบวชแค่หนึ่งพรรษาเท่านั้น จะมีพระเก่าก็เพียงท่านกับพระองค์รองจากท่าน พรรษา ๕ เท่านั้น หลังจากนั้นก็นั่งภาวนา ความเงียบความวังเวงประหนึ่งว่านั่งอยู่คนเดียว สมัยนั้นการนั่งสมาธิก็นั่งเลยไม่มีเปิดเทปให้ฟัง เพียงจุดตะเกียงไว้เท่านั้น นั่งแต่ ๓ ทุ่ม ถึง ๖ ทุ่ม ท่านก็กระแอมและบอกให้พักเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ แต่หลวงปู่ท่านยังนั่งอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่เหยียดขา แขน นิดหน่อยท่านไม่ค่อยพูดหลังจากนั้นเวลา ๐๑.๐๐ น. ท่านก็พานั่งต่ออีกจนถึงเวลา ๐๔.๐๐ น. ท่านก็ให้ไปล้างหน้าทำกิจธุระส่วนตัวเสร็จก็ทำวัตรสวดมนต์ ทำวัตรเช้าเสร็จทำกิจวัตรตั้งที่ฉันเสร็จแล้วเตรียมออกไปบิณฑบาตตามปกติที่ในหมู่บ้านนาหลวง หลวงปู่ท่านนำบิณฑบาตไม่เคยขาด ประหนึ่งว่าท่านไม่เหนื่อย ทั้งที่ไม่นอนตลอดทั้งคืน ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์ ไม่เคยแสดงความอ่อนแอท้อแท้ให้ปรากฏ ในพรรษามีพระป่วย ๓ รูป ป่วยหนักมากเพราะเป็นไข้ ยารักษาไม่มี หาสมุนไพรมาต้มฉันกัน หลวงปู่ท่านสั่งให้ชาวนาอย่างเดียวไม่ต้องกลัว สมัยนั้นถนนลำบากมากรถก็ไม่มีแม้แต่เงินกลางสงฆ์ก็แทบไม่มี สบู่ ยาสีฟัน ยาแก้ไข้ แก้ปวดก็หายากและอยู่กันหลายองค์ แต่ก็รอดตายกันทุกองค์ หลวงปู่ท่านทำความเพียรของท่านอย่างหนักหาผู้เทียบยากเท่าที่เคยเห็นมาพอออกพรรษาแล้วไม่มีกฐิน ผ้าป่า ต่างองค์ต่างแยกย้ายกันคงเหลือแต่ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดที่ติดตามท่าน พอออกพรรษานานพอสมควรแล้วท่านได้พาลูกศิษย์ออกธุดงค์หลายที่ จากนั้นท่านได้ไปจำพรรษาที่ บ้านนาเก็น อ.น้ำโสม จ.อุดรธานีในพรรษานี้มีพระเณรจำพรรษาประมาณ ๑๐ กว่ารูป เหตุที่จำพรรษา เพราะต้องการสงเคราะห์ญาติโยมบ้านนาเก็นที่เคยขึ้นไปอุปัฏฐาก สมัยที่จำพรรษาที่ภูถ้ำแก้ว

ทำให้ท่านนึกถึงอุปการคุณที่ญาติโยมได้ช่วยกันบริจาคสิ่งของต่างๆ ในดอนท่านเร่งภาวนาให้ได้รับความสะดวกสบายในการทำความเพียรภาวนา การปฏิบัติก็เหมือนที่ท่านเคยทำมา คืนวันพระนั่งภาวนาตลอดคืนถือการไม่นอนนั่งภาวนารวมกันที่ศาลา การปฏิบัติแบบนี้ท่านทำมาตั้งแต่วันบวช ไม่มีว่าในพรรษา-นอกพรรษา เพราะท่านถือว่า “กิเลสไม่มีพรรษา-นอกพรรษา การทำความเพียรจึงไม่เกี่ยวพรรษา-นอกพรรษาจุดมุ่งหมายคือการทำลายกิเลสตัวก่อภพก่อชาติ ตอนท่านอยู่องค์เดียวของท่าน ก็ทำมาตลอด ท่านพูดว่าผมพาพวกท่านทำเพราะความสงสารท่าน ไม่ใช่ผมบังคับ กลัวว่าท่านจะประมาทไม่ภาวนาการภาวนามีแต่คุณไม่มีโทษ การขี้เกียจภาวนามีแต่โทษไม่มีคุณตามปกติผมก็ทำของผมอยู่แล้ว ในพรรษานั้นท่านพูดกับลูกศิษย์รูปหนึ่งของท่านว่า พระองค์นั้นบวชตั้งนานไม่ภาวนาหรือ กระดูกคือดำแท้ คืนหนึ่งท่านนิมิตว่าท่านเดินตามถนนไปรอบข้างมีตมแต่โคลนเปรอะเปื้อนจีวร ท่านพิจารณาดูรู้ว่าพระบางรูปก็ศีลไม่บริสุทธิ์ทาผิดพระวินัย ทำให้ผู้มีศีลบริสุทธิ์เปรอะเปื้อนไปด้วย ทำให้ท่านเกิดความสลดสังเวชใจ มีแต่อยากปลีกตัวหาที่สงบไกลจากหมู่บ้านความเจริญทางด้านวัตถุทำให้เหินห่างจากธรรม ลืมพระธรรมวินัยอันพระบรมศาสดาทรงสั่งสอน พอออกพรรษาแล้ว เมื่อหมดเขตกฐินหลวงปู่ได้ลาญาติโยมเดินธุดงค์ขึ้นสู่ภูคันจ้อง บ.คำด้วง ต.คำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ภูคันจ้อง ลักษณะเป็นภูเขาสูงโดดเด่นอยู่บนเทือกเขาภูพานซึ่งมีหินลักษณะเหมือนร่มกันฝนอยู่บนยอดเขา ภาษาชาวบ้านเรียกว่าจริงสำหรับกันฝน บางคนก็เรียกภูจ้อง บนยอดภูมีเพิงหินและถ้ำสามารถอยู่ภาวนาโดยไม่ต้องทำกุฏิ หลวงปู่ได้เดินสำรวจดูแล้วรู้สึกว่าถูกใจมาก เพราะอยู่ไกลจากหมู่บ้านห่างไกลความเจริญเหมาะสำหรับทำความเพียรภาวนาฆ่ากิเลสเป็นที่สุด ท่านให้ญาติโยมทำแคร่ในถ้ำบนยอดเขา เพื่อเป็นที่อยู่ของท่าน สวนพระเณรลูกหลาน ก็หาอยู่ตามเพิงหินและถ้าตามแต่ความต้องการ ญาติโยมชาวบ้านคำด้วงคอยให้ความสะดวกในการตกแต่งที่อยู่อาศัย ภูคันจ้องไม่มีแหล่งน้ำฉัน เพราะเป็นเขาสูง น้ำฉันน้ำใช้ญาติโยมต้องช่วยกันหลับไปถวาย ถนนลำบากมากรถยนต์ไม่สามารถไปถึง ส่วนมากใช้รถอีแต๊ก ซึ่งดัดแปลงจากรถไถนาเดินตาม เป็นรถลากถึงจะขึ้นไปได้ ต่อมามีญาติโยมศรัทธาในตัวท่าน จึงช่วยกันเลื่อยไม้สร้างศาลาหลังเล็ก ๆ มุงสังกะสี เพื่อรองรับน้ำฝน ญาติโยมได้ช่วยกันซื้อโอ่งสำหรับใส่น้ำมันขึ้นไปถวายท่าน ช่วงตั้งวัดใหม่ ๆ ญาติโยมที่ไปวัดต้องตกน้ำไปด้วย เพราะบนเขาไม่มีน้ำ แต่ก็เหมือนโชคช่วยหลวงปู่ท่านได้ให้ญาติโยมขุดบ่อน้ำช่วงตีนเขา ปรากฏว่ามีน้ำพอได้อาบได้ใช้ห่างจากศาลาประมาณ ๕๐๐ เมตร ช่วงแรก ๆ มีพระเณรขึ้นไปศึกษากับท่านประมาณ ๗-๘ รูป พระเณรต้องทำที่พักตามถ้ำไม่มีกุฏิ เพราะวัดซึ่งตั้งใหม่และหลวงปู่ท่านไม่ให้ทำ ท่านได้อบรมพระเณรที่ขึ้นไปศึกษากับท่าน ท่านว่า การที่ผมมาอยู่ที่นี่ไม่ได้มาสร้างวัด แต่ผมมาเพื่อภาวนาทำความเพียรตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งองค์ทรงสรรเสริญการอยู่ป่าตามถ้ำเงื้อมผาฉะนั้น ผมจึงให้ญาติโยมทำแคร่ พอพักอาศัยเท่านั้น เพิงหินและถ้ำก็กันฝนได้แล้วที่สำคัญทางเดินจงกรม จะต้องมีทุกรูป ท่วมก็ขุดหลุมทำเป็นส้วมปล่อยก็พอ เพราะการอยู่ในสภาพนี้ทำให้จิตใจของเราตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่ประมาทในการทำความเพียรในการทำสมาธิ เพื่อทำสัญญาให้แจ้งในขันธ์ทั้งหลาย การบิณฑบาตระยะทางประมาณนี้ ผมว่าพอดีสำหรับพระหนุ่ม ๆ ซึ่งเป็นการฝึกหัดไปในตัว เวลาบิณฑบาตขอให้ทุกองค์ตั้งใจว่า เรากำลังเดินจงกรมภาวนาอย่าคุยกัน เดินห่างกันพอประมาณ องค์ไหนภาวนาพุทโธก็กำหนดในใจว่าเราจะตั้งใจไว้ พุทโธทั้งไปและกลับ องค์ไหนภาวนาอานาปานุสติ ก็ตั้งใจไว้ที่ลมหายใจเข้าออก ไม่ให้ใจส่ายแสไปไหน หรือองค์ไหนจะทบทวน ปาติโมกข์ก็ให้นึกในใจ เพราะการท่องออกเสียงจะทำให้รบกวนคนอื่นทุกอิริยาบถการไป การมาขอให้เป็นการภาวนาจึงจะไม่เสียเวลา ในการขึ้นมาอยู่บนเขาเมื่อพวกท่านตั้งใจมาศึกษา ผมก็พร้อมที่จะแนะนำสั่งสอนเต็มความสามารถ หลวงปู่เข้มงวดมากในข้อวัตรปฏิบัติ ถ้ำที่หลวงปู่พักอยู่บนยอดเขาห่างจากศาลาประมาณ ๑ กิโลเมตร พระเณรก็อยู่รอบ ๆ ท่าน ตอนเช้าประมาณตี ๔ หลวงปู่ท่านก็จะเดินลงมาจากยอดเขาท่านมักจะใช้โคมเทียน ส่วนไฟฉายนานๆ ก็จะใช้ทีหนึ่ง ส่วนพระเณรก็ต้องลงมาแต่เช้า เพื่อจัดที่ฉันอาหารที่ศาลา พอเสร็จก็นั่งภาวนาอยู่ไม่ให้คุยกัน หลวงปู่พอท่านลงมาถึงศาลา หลังจากกราบพระประธานท่านก็จะนั่งภาวนา พอสว่างได้อรุณท่านก็ห่มผ้าจีวรช้อนด้วยสังฆาฏิ ส่วนพระเณรก็เหมือนกันค่อยเดินจากศาลามุ่งเข้าสู่หมู่บ้าน ต่างองค์ต่างเดิน ส่วนหลวงปู่ท่านก็จะเดินตามท้าย ๆ พอบิณฑบาตออกมาพ้นหมู่บ้าน พระเณรก็รับบาตร เดินก่อนต้องเปลี่ยนกันครึ่งทาง เพราะระยะทางไกล วัดห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๖ กิโลเมตร ไปกลับก็ประมาณ ๑๒ กิโลเมดร ใช้เวลาประมาณ ๓ ซั่วโมงไปกลับ นับว่าต้องอดทน โดยเฉพาะหน้าร้อนยิ่งต้องอดทนเป็นอย่างมากพอกลับมาถึงวัดหลังจากผึ่งผ้าแล้วเมื่อหลวงปู่มาถึงพักนิดหน่อย แล้วก็จัดอาหารใส่บาตรด้วยความระมัดระวัง อาหารทุกอย่างจัดลงในบาตร ส่วนฝาบาตรก็ใส่น้ำไวสำหรับล้างมือ หลวงปู่ท่านจะคอยสังเกตดูว่าเสร็จหรือยัง การฉันอาหารท่านจะฝันเงียบมาก แทบจะไม่มีเสียงทุกอย่างท่านทำด้วยสติไม่ยอมให้เผลอไม่ว่าอิริยาบถใดหลังจากฉันเสร็จแล้ว ล้างบาตรเสร็จช่วยกันทำข้อวัตร ปัดกวาดเช็ดบริเวณศาลาให้สะอาด แล้วค่อยกลับที่อยู่ของตน ตอนเย็น ประมาณ ๑๕.๐๐ น. พระเณรปัดกวาดจากที่พักของตนลงมาที่ศาลา ส่วนหลวงปู่ท่านก็ปัดกวาดลงมาที่ศาลา และฉันน้ำปานะร่วมกันเท่าที่มี บางครั้งก็ต้มน้ำยาสมุนไพรที่ญาติช่วยกันหามาให้ หลวงปู่ท่านไม่ค่อยฉัน นาน ๆ จะฉันน้ำยาสมุนไพรครั้งหนึ่ง ท่านบอกว่าการฉันน้ำร้อน น้ำชา กาแฟมาก ๆ รบกวนเวลาภาวนา เดี๋ยวก็ปวดเบาบ่อย ๆ รำคาญ หลังจากฉันน้ำปานะเสร็จ ก็ไปสรงน้ำที่บ่อน้ำร่วมกัน หลวงปู่ท่านก็ไปด้วย ถึงแม้พระเณรญาติโยมจะนิมนต์ท่านไม่ต้องลงมาสรงน้ำที่บ่อก็ได้ จะตักน้ำไปไว้ให้สองที่ถ้ำท่านก็ไม่ยอม ท่านบอกว่ายังช่วยตัวเองได้อยู่ หลวงปู่ท่านไม่ต้องการให้ลูกศิษย์กังวลใจการให้ลูกศิษย์กังวลใจกับท่านหลังจากสรงน้ำเสร็จ ทุกองค์จะต้องหิ้วน้ำองค์ละ ๒ แกลลอน เพราะเอาไว้ล้างบาตรของตนเองในวันพรุ่งนี้ต้องช่วยเหลือตนเอง และอีก ๑ แกลลอนก็ต้องเอาไปที่พักของตนเอง เพื่อเอาไว้ข้างหน้า บ้วนปาก แปรงฟันและเอาไว้ล้างเท้าหลังจากเดินจงกรมเสร็จ หลวงปู่ท่านก็ทำเหมือนกัน โดยทำให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ลูกศิษย์ พอถึงวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำท่านก็พานั่งภาวนารวมกันที่ศาลาจนสว่าง พอสว่างก็จัดที่ฉัน ท่านก็พาพระเณรลงรับบิณฑบาตที่หมู่บ้านตามปกติ หลวงปู่ท่านไม่แสดงความอ่อนแอท้อแท้ให้ปรากฏ ถึงแม้จะภาวนาอดหลับอดนอนทั้งคืนมาแล้ว ทั้งที่ท่านอายุก็มากแล้ว แต่ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในการปฏิบัติภาวนา ทำให้บรรดาลูกศิษย์มีกำลังใจในการปฏิบัติหลวงปู่ท่านทำเสมอต้นเสมอปลายไม่มีมารยา พูดอย่างไรปฏิบัติอย่างนั้น ตามปกติหลวงปู่พูดน้อย เวลาพูดก็พูดเรื่องธรรมะปฏิบัติ เรื่องโลก เรื่องสงสารการบ้านการเมือง หลวงปู่ไม่พูดให้ลูกศิษย์ฟังเลย พูดแต่เรื่องอรรถเรื่องธรรมเท่านั้น

ในปีแรกของหลวงปู่ท่านฝึกหัดบรรดาพระเณรที่เป็นลูกศิษย์อย่างเต็มที่ โดยท่านทำเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าการนั่งภาวนา หรือการเดินจงกรมในหนึ่งวันนั้นการปฏิบัติของท่านตอนเช้าหลังฉันเสร็จ ล้างปากชำระฟันเสร็จ พระเณรเก็บผ้า เก็บบาตรของท่านที่บนถ้ำที่ท่านอยู่ พอท่านกลับถึงถ้ำกราบพระเสร็จท่านจะนั่งพิจารณาอาหารก่อนว่าที่เราฉันวันนี้มีอะไรบ้าง ตอนแรกมีลักษณะอย่างไร ท่านก็จะพิจารณาตามหลักของความเป็นจริง หลังจากเราเคี้ยวแล้วเป็นอย่างไร เมื่อกลืนลงท้องแล้วมีลักษณะอย่างไรท่านว่าเมื่อเราพิจารณาดูตามหลักของความเป็นจริงแทบจะฉันอาหารไม่ลง เพราะอาหารความจริงคือของปฏิกูลโดยแท้ อาหารที่ ว่าดีมีความสะอาดพอมาเคี้ยวกินเป็นอาหาร เวลาเราคายออกมาแล้วแม้แต่เราก็กลืนไม่ลง แล้วถ้าคนอื่นจะขนาดไหน การพิจารณาอย่างนี้ ท่านว่าเพื่อตัดความโลภในอาหาร จิตใจจะไม่ปรุงแต่งในเรื่องอยู่เรื่องกิน เมื่อเห็นตามหลักของความเป็นจริงแล้ว อาหารก็เป็นเพียงเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายพอเป็นไป ถึงเราหามาบำรุงขนาดไหน ร่างกายอันนี้ ก็คงจะถาวรไปไม่ได้ การกินอาหารก็เพียงระงับเวทนาไม่ให้เกิดขึ้นนั่นเอง หลวงปู่ท่านระวังมากในเรื่องอาหารสิ่งไหนผิดกับโรคในร่างกายของท่านจะไม่ฉันเด็ดขาด ถึงแม้อาหารนั้นจะดีเลิศขนาดไหนก็ตาม หลังจากพิจารณาอาหารเสร็จท่านก็เดินจงกรมก่อน ท่านจะไม่นอน ท่านจะเดินจงกรมจนถึงเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ท่านจึงจะหยุดพักผ่อนแล้วประมาณ ๑๓.๐๐ น. ท่านก็จะออกมาเดินจงกรมจนถึงเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. ท่านก็หยุดพักเพื่อทำกิจวัตรประจำวันไม่เคยขาด หลังจากสรงน้ำเสร็จเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ท่านก็จะเดินจงกรมอีกจนค่ำ ท่านจึงจะพักหลังจากทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านก็จะนั่งภาวนาอย่างน้อย ๔ ทุ่ม จึงจะพักผ่อน ตอนเช้าประมาณ ตี ๓ ท่านก็จะลุกทำวัตรสวดมนต์นั่งภาวนาจนถึงเวลาใกล้บิณฑบาตท่านก็จะไปที่ศาลา หลวงปู่ท่านปฏิบัติของท่านมาตั้งแต่วันบวชโดยบังคับตัวของท่านเอง ปีแรก ๆความเป็นอยู่ก็ลำบาก แต่ท่านก็อยู่ได้โดยไม่กังวล พอปีต่อมาศรัทธาญาติโยมเริ่มรู้จักท่านด้วยเกียรติคุณในการปฏิบัติ ได้มีญาติโยมถวายจตุปัจจัยสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นที่บนยอดเขาหนึ่งแห่งและที่ข้างศาลาอีกหนึ่งแห่งเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และทำฝายกั้นน้ำเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งตอนแรกก็พอใช้เนื่องจากญาติโยมที่รู้จัก ท่านยังมีน้อย ส่วนมากพระภิกษุสามเณรที่มาศึกษากับท่านไม่เคยขาดไม่ว่าหน้าแล้งหรือหน้าพรรษา ซึ่งหลวงปู่ท่านก็รับไว้ด้วยความเมตตา ซึ่งท่านพูดเสมอว่าพระผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจริง ๆ รู้สึกจะมีน้อยมากในขณะนี้ ส่วนมากจะเน้นหนักในการก่อสร้างวัดถุภายนอก ซึ่งไม่ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าปัจจุบันนี้ก็มีแต่หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาดเท่านั้นทีเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของพระกรรมฐานแทบทั้งหมดที่สมควรเอาเป็นแบบอย่างเป็นที่เกาะทียึดไม่ว่าขั้นไหนภูมิไหน หลวงปู่ท่านไม่ค่อยเทศน์นอกจากว่ามีพระเณรหรือฆราวาสปฏิบัติไม่ถูกต้อง ท่านถึงจะพูดเพื่อเตือนสติ วันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ หลังจากทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านก็ให้เปิดเทปเทศน์ให้พระเณรฟัง โดยจะเปิดแต่เทศน์ของหลวงตามหาบัวเท่านั้น ท่านบอกกับบรรดาลูกศิษย์เสมอว่า

“หลวงตามหาบัวท่านเทศน์แต่เรื่องการปฏิบัติเท่านั้น ไม่มีเรื่องของโลกเข้ามายุ่งเกี่ยว มีแต่ธรรมเพื่อชำระกิเลสโดยแท้ ขอให้ท่านฟังแต่เทศน์ของหลวงตามหาบัวเท่านั้นก็พอแล้ว ขอให้พวกท่านตั้งใจปฏิบัติตามแบบฉบับของท่าน ส่วนตัวผมก็ปฏิบัติตามอย่างท่านเทศน์อะไรออกมาหาที่ค้านไม่ได้เลย แม้แต่ตัวของผมก็ปฏิบัติมาแบบเดียวกัน”

◎ ประวัติอาการอาพาธของหลวงปู่คำตา ทีปังกโร
ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ นั้น หลวงปู่จะหยิบยกเรื่องของหลวงปู่ชอบอยู่เสมอ คือท่านบอกว่าดูอย่างหลวงปู่ชอบท่านเป็นพระอรหันต์กรรมยังไม่เว้น กรรมตามให้ผลแค่ร่างกาย แต่จิตของท่านหลุดพ้นไปแล้ว หลวงปู่พูดเรื่องนี้สามครั้งและยังย้ำว่าต่อไปก็จะไม่พูดไม่สอนไม่พาน่งภาวนาอย่างนี้อีก ให้ทำเองพาทำมานานแล้ว อยู่ที่บ้านก็ทำ เองวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕ ตอนเช้าวันนั้นหลวงปู่ไม่ออกบิณฑบาต พอพระเณรกลับจากบิณฑบาต มีพระรูปหนึ่งเข้าไปกราบเรียนถามเพราะเห็นลักษณะผิดปกติ แขนด้านขวามีรอยถลอกพระรูปนั้นถามหลวงปู่ว่าล้มหรือครับ หลวงปู่ตอบว่าใช่ไม่เป็นไรพร้อมยกแขนขึ้นให้ดูพร้อมกับรอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยเมตตา หลังจากฉันข้าวเสร็จ หลวงปู่กราบพระแล้วลุกไม่ขึ้น พระเณรต้องพยุงกลับกุฏิ พอตกตอนเย็นก็ขยับตัวลุกไม่ขึ้น พระเณรต้องผลัดเปลี่ยนกันเข้าเวรคอยดูแล คราวละ ๒ รูป ต้องคอยอยู่ข้างตลอดรุ่ง ถึงจะลำบากขยับไม่ได้ ลูกไม่ได้ เพราะครึ่งหนึ่งเป็นอัมพาตไม่มีแรงยกเลย แต่หลวงปู่ก็นั่งโดยเอาหมอนรองด้านหลังและข้างถ้านั่งนานบางครั้งช่วงแรก ก็ ๑ ชั่วโมง ในหนึ่งวันก็จะมีพระหนึ่งรูปเข้าเวรพอถึงตอนเย็น ๖ โมงก็เข้ากุฏิเพราะอากาศหนาว วันหนึ่งหลวงปู่จะนั่งตั้งแต่ ๖ โมงเย็นถึง ๓ ทุ่ม พอจะพักก็บอก พอตีสองหลวงปู่ก็จะเรียกพระเพราะปวดเบา พระจะถามหลวงปู่ว่าหนาวไหมครับหลวงปู่ ปวดขาไหม หลวงปู่บอกว่าหนาวอยู่ ปวดขาอยู่ แต่ก็แค่นั้นแหละ พอตี ๓ หลวงปู่ก็นั่งภาวนาต่อจนถึง ๖ โมงเช้า ถึงหลวงปู่จะพูดไม่ชัด แต่ก็แสดงธรรมด้วยการปฏิบัติให้เห็นถึงความอาจหาญไม่หวั่นไหว สองสามเดือนแรกก็พอขยับได้แต่ต้องพยุง หลังจากนั้นก็เดินได้แต่ต้องอาศัยไม้เท้าช่วยเดิน ไม่ใช้รถเข็นโยมนำมาถวายหลวงปู่ก็ยังเดินขึ้นลงศาลาและกุฏิอยู่อย่างนั้น ก่อนเข้าพรรษา๑ เดือนหลวงปู่ลงอุโบสถด้วย วันนั้นถามหลวงปู่ว่า นั่งรถเข็นนะครับหลวงปู่และเอารถเข็นเข้ามา หลวงปู่ยิ้มแล้วพูดว่าเอามาลองดูซิ หลังจากนั้นก็นั่งขึ้นลงศาลาเป็นประจำ ในวันเข้าพรรษาตอนเช้าท่านพูดกับพระเณรที่คอยปฏิบัติว่า ช่วงนี้เหนื่อยมากไม่พ้นพรรษานี้หรอกหลังจากฉันข้าวเสร็จ คณะลูกศิษย์ที่มาจากกรุงเทพฯและชาวบ้านได้ตามไปที่กุฏิ หลวงปู่ก็บอกว่าเหนื่อยมากคงไม่พ้นพรรษานี้ แล้วอาการป่วยก็ทรุดลง มีไข้เป็นบางวัน พอวันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นวันอุโบสถ หลวงปู่ก็มาประชุมฟังเทศน์ โดยเปิดเทปม้วนหลักใจของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนเพราะส่วนมากก็ฟังแต่หลวงตาบ้านตาด ฟังเทศน์จบหลวงปู่ก็ถามญาติโยมว่าต่ออีกไหมฟังเทศน์เข้าใจไหมไม่ฟังก็เลิกกัน พอหลังจากนั้นก็เอารถเข็ญมารับหลวงปู่ขึ้นกุฏิ พอรุ่งขึ้นวันใหม่อาการของหลวงปู่ก็ทรุดหนัก หลังจากอาหารเสร็จหลวงปู่ก็นั่งตัวโก่ง ฉันข้าวไม่ได้จนผิดสังเกต มีพระกราบนิมนต์หลวงปู่ฉันข้าว หลวงปู่ก็บอกว่าไม่ฉัน แล้วโยมก็นิมนต์หลวงปู่ให้ฉันก็ตอบเหมือนเดิมว่าไม่ฉัน ถ้าหลวงปู่ไม่ฉันข้าวก็ขอนิมนต์หลวงปู่ขึ้นไปพักผ่อนที่กุฏิก่อนขอรับ หลวงปู่ก็ตอบว่าไปตั้งแต่วันนั้นมาหลวงปู่ก็ฉันข้าวลดลงเรื่อย ๆ ร่างกายก็อ่อนเพลียมีไข้เป็นระยะ พอตกตอนเย็นก็จะมีไข้หนักตัวร้อนและสั่น อาการของหลวงปู่เป็นอย่างนี้ได้ ๖-๗ วัน

คณะศิษย์ได้ปรึกษาหารือกันว่านิมนต์หลวงปู่ไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชอำเภอท่าบ่อ ซึ่งคณะศิษย์ได้ติดต่อกับทางโรงพยาบาลแล้ว คณะศิษยานุศิษย์ได้เข้าไปกราบเรียนหลวงปู่ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่ออาหารจะดีขึ้น หลวงปู่ทานก็นิ่งเฉยไม่พูดอะไร พอกราบเรียนเป็นครั้งที่ ๒ หลวงปู่ก็ตอบว่า “อื้อ” ทางโรงพยาบาลได้นำรถมารับหลวงปู่อยู่ที่วัด หลวงปู่ท่านพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลหกวัน ขณะหลวงปู่ได้รับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น อาการของหลวงปู่ก็ดีขึ้นตามลำดับ ในวันที่ ๒๕ หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าบ้านหนองกองได้ไปเยี่ยมหลวงปู่ที่โรงพยาบาล

หลวงปู่คำตา ทีปังกโร วัดป่าภูคันจ้อง บ้านคำด้วง ต.คำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คำตา ทีปังกโร วัดป่าภูคันจ้อง บ้านคำด้วง ต.คำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ตอนเช้าวันที่ ๒๖ หลวงปู่ ก็กลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่วัด เมื่อกลับมาอยู่วัดอาการของหลวงปู่ก็กำเริบอีกมีแต่ทรงกับทรุด คณะศิษย์ได้นิมนต์หลวงปู่ไปรักษาตัวอีกครั้งแรกหลวงปู่ก็นิ่งเฉย ครั้งที่ ๒ หลวงปู่จึงบอกว่าไป และอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลหนองคาย ๓ วัน อาการก็ยิ่งทรุดลงทุกวันวันที่ ๒ กันยายนตอนเช้าก็สุดความสามารถของหมอ หลวงปู่ออกจากโรงพยาบาลมาอยู่วัด เวลา ๑๓.๐๐ น. จนถึงเวลา ๑๔.๑๔ น. หลวงปู่ก็มรณภาพ ตรงกับวันอังคารที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๖ สิริอายุ ๗๖ ปี พรรษา ๓๐