วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล วัดป่าแสนสำราญ จ.อุบลราชธานี

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล

วัดป่าแสนสำราญ
อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล วัดป่าแสนสำราญ
พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล วัดป่าแสนสำราญ

ท่านหลวงปู่มหาปิ่น ปัญญาพโล ท่านเป็นพระอนุชาคู่บัลลังก์ธรรมโดยแท้ ดังเหมือนว่า ท่านได้สร้างวาสนาบารมีมาแต่อดีต ที่ควบคู่มากับพระผู้พี่ชาย คือ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ขุนพลแห่งกองทัพธรรม

มาในชาตินี้ ท่านได้สละเพศฆราวาส มาสู่เพศแห่งพรหมจรรย์

เมื่อได้ศึกษาหาความรู้ทางด้านพระปริยัติธรรม จนมีความสามารถแตกฉานในพระไตรปิฎกแล้ว ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ยังมีความรอบรู้แจ้งเห็นจริง ในทางประพฤติปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน แตกฉานในธรรมอีกด้วย

ในอดีตที่ผ่านมา ประชาชนในภาคอีสาน แตกตื่นชื่นชมกันมากว่า

“พระมหาเปรียญธรรมหนุ่ม จากเมืองบางกอกได้ออกฝึกจิต ดําเนินชีวิตสมณเพศ ตัดบ่วง ไม่ห่วงอาลัยในยศถาบรรดาศักดิ์ ออกป่าดงเดินธุดงคกรรมฐาน ฝึกสมาธิภาวนาเป็นองค์แรกในสมัยนั้น คือ ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล องค์นี้เอง จนชื่อเสียงหอมฟุ้งทวนลมไปไกล”

พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ (พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม)
วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

บทบาทสําคัญในกองทัพธรรมนั้น ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ท่านได้ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ กับท่านพระอาจารย์สิงห์ และหมู่คณะกรรมฐานทุกองค์ เข้าฟันฝ่ากับ อุปสรรคนานาประการ จนนับไม่ถ้วน ทุกครั้งที่เข้าราวีกับกิเลสมาร กองทัพธรรม จะเป็นฝ่าย ได้รับชัยชนะทุกครั้ง

ในการสู้รบตบมือกับกองทัพกิเลสมาร ท่านมีอาวุธอันวิเศษ แหลมคมภายใน เข้าต่อสู้ นั่นคือ

“ธรรมปัญญา”

ท่านพระบรมครูเจ้าทรงตรัสรู้ “อะไรในโลกที่ชื่อว่า อาวุธ แล้วไม่สามารถจะนํามาต่อสู้กับกิเลสได้เลย นอกเสียจากธรรมะและปัญญาเท่านั้น”

ดังนั้นผู้ที่จะมีอาวุธวิเศษเช่นนี้ได้ แล้วรักษาให้อยู่กับตัวได้แล้ว ต้องอาศัยหลักรักษาเสมอด้วยชีวิต นั้นคือ ต้อง มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เท่านั้น ซึ่งจะรวมมาอยู่ที่จิตใจภายในของเรา เป็นคลัง อาวุธ

ดังนั้นกิเลสมารที่ฉลาดแหลมคม จึงมักแอบเข้ามาเผาจิตใจ คือที่เก็บคลังอาวุธนี้เสีย เพราะมันเกรงกลัวนัก

บุคคลที่เร่าร้อนกระวนกระวาย ทุกข์ยากลําบากลําเค็ญอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็เพราะถูกกิเลสมารแอบเข้ามาเผาจิตใจได้นั่นเอง ไฟกิเลสนี้ยากนักหนาที่จะดับมันได้ ถ้าไม่ได้พระธรรมคําสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าสู่จิตใจ

พระพุทธเจ้าและพระสาวกเจ้าทั้งหลาย ทรงเตือนว่า “ให้มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม จงรีบเร่งลงมือปฏิบัติฝึกฝนจิตใจให้แก่กล้าด้วย ศีล สมาธิ และปัญญาเสียแต่บัดนี้ จึงจะไม่เสียทีกิเลสทั้งภายนอกและภายใน”

พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล
(จากซ้าย) พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ผู้มอง เห็นทุกข์ภัย จึงตั้งหน้ามุ่งหาอรรถธรรมความรู้จริงของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจนพบ และได้ ละวางสิ่งที่ร้อยรัดจิตใจออกได้ อย่างสิ้นสงสัย

กาลนั้น ท่านได้นําความจริงในการปฏิบัติออกเผยแพร่สู่ประชาชน ให้ได้ปฏิบัติตามคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้ระบือลือลั่นไปทั่วสารทิศใน “กองทัพธรรม

ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล นามเดิมว่า ปิ่น บุญโท เกิดที่บ้านหนองขอน ต.หัวทะเล อ.อํานาจเจริญ จ.อุบลราชธานี

บิดาชื่อ เพี้ยอัครวงศ์ (อ้วน) มีตําแหน่งข้าราชการหัวเมืองฯ มารดาชื่อหล้า นามสกุล บุญโท

ฐานะทางครอบครัวดี อาชีพ ทํานาข้าราชการ ในตระกูลของท่านนั้น ส่วนมากจะเป็นผู้มีความรู้ เช่น พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ก็เป็นครูสอนโรงเรียนวิสามัญเป็นต้น

ในสมัยชีวิตฆราวาส ท่านมีความประสงค์ที่จะศึกษาเล่าเรียนมากที่สุด

ดังนั้น เมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ท่านได้มาอยู่จําพรรษาที่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามที่ได้ตั้งใจไว้

ณ ดินแดนนักปราชญ์ราชบัณฑิตนี้ ท่านได้ศึกษาธรรมบาลี ได้ขั้นมหาเปรียญ

ทางด้านการประพฤติปฏิบัติ ท่านพระอาจารย์สิงห์ผู้เป็นพี่ชายได้แสดงชี้เหตุผล ในการครองชีพสมณะ แม้ว่าได้บวชมาในพระบวรพุทธศาสนานับว่าดีประเสริฐ แต่ถ้ามีการปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้งในธรรมเป็นหนทางออกเสียซึ่ง ทุกข์ ก็จะเป็นสิ่งดีเลิศประเสริฐล้ำ

ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระสงฆ์ที่มีสติปัญญาพิจารณาปฏิปทาข้อวัตร ปฏิบัติธรรมของท่านพระอาจารย์สองท่านกระทําเป็นเยี่ยงอย่าง คือ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

พระอาจารย์ทั้งสองเป็นนักปฏิบัติธรรมขั้นสูง นิสัยติดตัวมาแต่เดิม คือ รู้จักนอบน้อมถ่อมตน ระวังตัวด้วยกาย วาจา ใจ ไม่คุยโม้โอ้อวดว่าตนเองได้ธรรมขั้นสูง

ธรรมะเป็นสมบัติอันล้ําค่าของนักปราชญ์มาประจําแผ่นดิน ซึ่งควรระมัดระวัง ให้สมกับผู้มีภูมิธรรมในใจ

ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ท่านได้พิจารณาด้วยเหตุผลแล้ว จึงรีบเตรียมบริขาร ออกติดตามพระอาจารย์สิงห์ไปในทุกแห่ง ทนต่อสู้กับอุปสรรคยากไร้ ท่ามกลางป่าเขามุ่งหาความจริงในธรรมะ จนสามารถรอบรู้ธรรมด้วยสติปัญญาของท่านในกาลต่อมา

ผู้ปฏิบัติเมื่อรู้ธรรมอันควรแล้ว มักจะมองย้อนมาดูตัวเองที่เคยนําชีวิตผ่านมา ทําให้เกิดความสงสารสลดใจในสิ่งที่ผ่านมา

แท้จริงแล้วความทุกข์ร้อนวุ่นวายใจ มันเกิดจากสิ่งภายในใจเราทั้งสิ้น คือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน มันก่อขึ้นภายในใจ จนต้องดิ้นรนอย่างน่าเวทนายิ่ง

กิเลสนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นภายในจิตใจเราแล้ว ไม่มีอะไรจะรักษามันได้ นอกเสียจากต้องรักษาด้วยธรรมที่เกิดจากความเพียร ตามแบบอย่างของศากยบุตรพุทธสาวกทั้งหลายที่ท่านเคยกระทำมาแล้ว ในสมัยพุทธกาล

ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล หรือพระคณาจารย์องค์อื่นๆก็ดี ท่านจะถือครูบาอาจารย์เคารพครูบาอาจารย์มากเป็นชีวิตจิตใจ เพราะเรียนธรรมจากใจของพระอาจารย์มาเป็นของตน เรียกว่า ถอดจากใจหนึ่งมาอีกใจหนึ่ง ก็คงไม่ผิด ดังนั้นปฏิปทาข้อวัตรจึงดูลักษณะเดียวกันหมด

พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล

พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ดําเนินชีวิตด้วยการออกเดินธุดงคกรรมฐานไปเสียส่วนมาก และเป็นที่เคารพนับถือในหมู่พระภิกษุสามเณรด้วยกันมาก วิสัยของท่านเป็นผู้รักความสงบ รักษา ป่าดงพงไพร มีกาย วาจา ใจ อ่อนโยนเมตตาปรานี

จิตใจที่เข้มแข็งแก่กล้านี้ ท่านได้เป็นกําลังในกองทัพธรรมใน สายพระธุดงคกรรมฐานของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต องค์หนึ่งในยุคนั้น

พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ ณ วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

อัฐิและผงอังคารได้แปรเปลี่ยนเป็นพระธาตุ