วันอาทิตย์, 13 ตุลาคม 2567

หลวงปู่พระมหาโส กัสสโป วัดคำแคนเหนือ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่พระมหาโส กัสสโป

วัดคำแคนเหนือ
อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น

หลวงปู่พระมหาโส กัสสโป วัดคำแคนเหนือ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น

หลวงปู่มหาโส ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๘ (เวลาตีสอง) ณ บ้านก่อ ต.หนองไข่นก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี (บ้านเดียวกับพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ, พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม, และ หลวงปู่พระมหาสีทน กาญจโน) นามสกุลเดิมของท่านคือ ดีเลิศ

โยมบิดาชื่อ เคน โยมมารดาชื่อ ค้ำ มีอาชีพทำนา ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๙ คน คือ
๑. นางพิมพา
๒. นางทุมมา
๓. นางสีทา
๔. นางสีดา
๕. นางทองสา
๖. หลวงปู่พระมหาโส กัสสโป
๗. นายพรหมมา อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านก่อ
๘. นางวรรณา
๙. นายสง่า ดีเลิส อดีตสหกรณ์อำเภอม่วงสามสิบ

บรรพชา
ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ หลวงปู่มหาโส เมื่อมีอายุ ๑๙ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรกับหลวงปู่อุปัฌชาย์อ่อน ที่วัดบ้านก่อ (บ้านเกิดท่าน) เป็นการบวชหน้าไฟให้โยมมารดาซึ่งถึงแก่กรรมลง ตั้งใจจะบวชเพียง ๓ พรรษา แต่เมื่อได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ครบกำหนดแล้ว ก็ธรรมทำความรู้ในพระธรรมวินัยด้านปริยัติแตกฉาก จนสอบได้ นักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก ติดต่อกันมาทุกปี จนทำให้มีศรัทธาบวชต่อ

ลุถึงปี พ.ศ.๒๔๗๘ อายุครบ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา โดยมีพระอุปัชฌาย์อ่อน เป็นพระอุปัฌชาย์ที่วัดบ้านเกิดนั่นเอง และได้จำพรรษาอยู่ที่นั่น

หลวงปู่พระมหาโส กัสสโป วัดป่าคำแคนเหนือ อ. มัญจาคีรี. จ ขอนแก่น
หลวงปู่พระมหาโส กัสสโป วัดป่าคำแคนเหนือ อ. มัญจาคีรี. จ ขอนแก่น

หลวงปู่มหาโส กัสสโป ท่านไม่เคยพบกับหลวงปู่มั่นโดยตรง แต่ก็มีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูมพันธุโล) วัดป่าโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี เป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐาน และเป็นพระอุปัฌชาย์ผู้ญัตติเป็นธรรมยุติให้หลวงปู่ด้วย และท่านก็ยังมีท่านพระอาจารย์มหาสีทน กาญจโน พระวิปัสสนากรรมฐานผู้เป็นเสาหลักใหญ่ของจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้น คอยสอนกรรมฐานให้หลวงปู่มหาโส เมื่อครั้งพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม พาหมู่คณะพระกรรมฐานมาจำพรรษาเพื่อเผยแผ่ธรรมะในจังหวัดขอนแก่น ระยะประมาณ พ.ศ.๒๔๗๒ – ๒๔๗๕ พระอาจารย์มหาสีทน ก็ได้ฝากหลวงปู่มหาโส และ หลวงปู่สิงห์ สุขปัญโญ (พระวิจิตรธรรมภาณี) อดีตเจ้าคณะ จ.อุบลราชธานี เป็นศิษย์พระอาจารย์สิงห์ด้วย

ล่วงเข้าปี พ.ศ.๒๔๘๐ ท่านได้กราบลาพระอุปัฌชาย์อ่อน ออกเดินทางติดตามพระอาจารย์มหาสีทน กาญจโน (ซึ่งเป็นญาติกันด้วย) โดยมีจุดหมายปลายทางที่ จ.อุดรธานี เมื่อเดินทางถึง จ.อุดรธานี

หลวงปู่พระมหาสีทน ได้นำท่านไปเปลี่ยนยัตติเป็นพระธรรมยุต ในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๐ ณ วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี ท่านเจ้าคุณพระเทพกวี (จูม พันฺธุโล) ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมเจดีย์ เป็นพระอุปัฌชาย์ มีพระครูสาสนูปกรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อญัตติแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์

หลวงปู่พระมหาโส เป็นพระผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยปฏิบัติตามคำสอนขององค์ศาสดามาโดยตลอด ท่านแสวงธรรมทั้งในด้าน ปฏิยัติ (แสวงหาความรู้) ปฏิบัติ (แสวงธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า) ปฏิเวธ (แสวงหาธรรมด้วยปัญญาของตนเองเพื่อแสวงหาวิโมกติสุข)

ถึงเวลาต่อมาในพรรษาที่ ๑๒ ท่านก็ได้แตกฉากบาลี จนสอบเปรียญธรรมสนามหลวงเป็น “พระมหา” ได้สำเร็จ และในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสที่วัดศรีหมากหญ้า อ.เมือง จ.อุดรธานี ด้วย แต่เป็นเจ้าอาวาสอยู่ได้เพียง ๔ ปี หลวงปู่มหาโส ก็สละตำแหน่งเจ้าอาวาส และออกธุดงค์ต่อเพื่อแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า “พ้นจากวัฏสงสาร” อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาต่อไป

หลวงปู่พระมหาโส กัสสโป วัดคำแคนเหนือ มรณภาพ
หลวงปู่พระมหาโส กัสสโป วัดคำแคนเหนือ มรณภาพ
อัฐิธาตุ หลวงปู่พระมหาโส กัสสโป วัดป่าคำแคนเหนือ อ. มัญจาคีรี. จ ขอนแก่น

หลวงปู่มหาโส กัสสโป แห่งวัดป่าคำแคนเหนือ ตำบลคำแคน อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ท่านละสังขารลงเมื่อวันอังคารที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ เมื่อเวลา ๑๒.๒๐ น.

สิริอายุ ๑๐๐ ปี ๓ เดือน ๘ วัน พรรษา ๗๙ (นับจากญัตติธรรมยุต)

หลวงปู่มหาโส กัสสโป “พระมหาเถระผู้บำเพ็ญสมณะธรรมกรรมฐานอยู่กลางป่าเป็นนิจ” แห่งวัดป่าคีรีวันอรัญเขต (วัดป่าคำแคนเหนือ) ตำบลคำแคน อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยความเคร่งครัด และ ยังเป็นผู้มีนิสัยเคร่งขรึมและเด็ดเดี่ยวยิ่ง การที่ท่านได้สละพันธะทางโลกซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติทั้งปวงที่มีอยู่ ท่านจึงได้ดำรงชีวิตในเพศพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย มีความสันโดษเป็นที่ตั้ง ยึดมั่นในพระธรรมคำสอนแล้วนำมาประพฤติปฏิบัติด้วยชีวิตและจิตใจยากที่บุคคลทั่วไปจะเสมอเหมือน หลวงปู่มหาโส กัสสโปท่านเป็นศิษย์ในสายธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และ เป็นศิษย์ผู้พี่ของหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต (ผู้คนส่วนใหญ่จะคิดว่าท่านเป็นศิษย์หรือสหธรรมิกของหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตโต) แต่ที่จริงไม่ใช่เพราะถ้านับพรรษาหลวงปู่มหาโส ท่านมีพรรษามากกว่าหลวงปู่ผาง ถึง ๑๐ ปี ในขณะที่ผู้คนรู้จักชื่อเสียงของหลวงปู่ผาง หลวงปู่มหาโสยังคงธุดงธ์แสวงวิเวกอยู่ในป่า

ท่านนับเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอีกรูปหนึ่งชึ่งผู้คนยังไม่ค่อยรู้จักท่านเท่าใด เพราะปฏิปทาท่านชอบบำเพ็ญหาความสงบทางจิตในป่ามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว นับตั้งแต่อายุ ๗๐ ปี หลวงปู่พระมหาโส ก็ไม่เคยออกจากวัดป่าคำแคนเหนือ สู่งสังคมทางโลกอีกเลยจนถึงปัจจุบัน สมัยก่อนท่านธุดงค์บำเพ็ญเพียรที่หุบเขาต่างๆ เช่น ภูพาน ภูผาแดง ภูเม็งฯลฯ และตั้งสำนักสงฆ์ที่หุบเขาภูเม็ง แต่ด้วยอุบาสกอุบาสิกาที่ไปถือศีลเป็นไข้ป่า ต่อมาเมื่อท่านจึงตัดสินใจย้ายลงมาอยู่ที่เชิงเขาภูเม็งจนถึงปัจจุบันท่านก็ได้มาปักหลักสร้างวัดป่าคีรีวันอรัญเขต (วัดป่าคำแคนเหนือ) ต.คำแคน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น

เจดีย์บูรพาจารย์( เจดีย์เต่า) วัดป่าคำแคนเหนือ
หลวงปู่พระมหาโส กัสสโป วัดคำแคนเหนือ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น