วันอาทิตย์, 13 ตุลาคม 2567

พระอาจารย์บัณฑิต (พระหมอ) สุปัณฑิโต วัดป่าตอสีเสียด อ.เมือง จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์บัณฑิต (พระหมอ) สุปัณฑิโต

วัดป่าตอสีเสียด
ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

พระอาจารย์บัณฑิต (พระหมอ) สุปัณฑิโต วัดป่าตอสีเสียด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

พระอาจารย์บัณฑิต (พระหมอ) สุปัณฑิโต พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง แห่งวัดป่าตอสีเสียด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

ท่านพระอาจารย์บัณฑิต สุปัณฑิโต ได้บวชกับองค์หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี หลังจากที่บวชแล้วมีโอกาสเข้าศึกษาธรรมกับหลวงปู่บุญ จันทร์ กมโล, หลวงปู่หล้า เขมปัตโต , หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงปู่ลี กุสลธโร ,พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสฺสโก เป็นต้น

(กลาง)พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)
(ขวา)พระอาจารย์บัณฑิต สุปณฺฑิโต

◎ ชาติภูมิ
พระอาจารย์บัณฑิต สุปณฺฑิโต นามเดิมชื่อ บัณฑิต นามสกุล สงวนแก้ว ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๐ โยมบิดาชื่อ นายสุข สงวนแก้ว ภายหลังอุปสมบทจึงเรียกว่า “หลวงปู่สุข” และโยมมารดาชื่อ รุวณี สงวนแก้ว ท่านพระอาจารย์บัณฑิตมีพี่น้องร่วมบิดามารดา จำนวนทั้งหมด ๓ คน โดยมีพี่สาว ๑ คน และน้องสาว ๑ คน

◎ การศึกษาและอุปสมบท
พระอาจารย์บัณฑิต สุปณฺฑิโต ท่านเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่นที่ ๑๐๓ และจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.๒๕๓๔

หลังจากจบการศึกษา ท่านได้เริ่มต้นชีวิตราชการ ณ โรงพยาบาลโนนสะอาด และย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลไชยวาน ซึ่งที่นี่เอง ท่านได้มีโอกาสฟังธรรม ปฏิบัติธรรม กับพระอาจารย์บุญจันทร์ กมโล วัดปาสันติกาวาส อ.ไชยวาน ทำให้ท่านมีศรัทธาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่วแน่

พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล)
วัดป่าสันติกาวาส ต.ไชยวาน อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี

ช่วงก่อนปี พ.ศ.๒๕๓๘ ซึ่งเป็นปีอุปสมบท ท่านกำลังจะเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางที่จุฬาฯ แต่ท่านพระอาจารย์บุญจันทร์ กมโล ได้กล่าวไว้กับท่านว่า.. “วิชาทางโลกเรียนเท่าใดก็ไม่รู้จบ แต่วิชาทางธรรมนั้นเรียนจบ” จึงเป็นเหตุให้ท่านหักเหชีวิตเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นต้นมา

ก่อนบวชท่านได้ย้ายมาอยู่ประจำ ณ โรงพยาบาลนายูง และลาออกจากราชการเพื่ออุปสมบท ณ วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี โดยมีพระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เป็นองค์อุปัชฌาย์ของท่าน โดยความเป็นผู้มีกตเวทิตาคุณต่อองค์อุปัชฌาย์ ท่านได้มีโอกาสถวายงานมาโดยตลอด ทั้งเป็นเลขาฯ สมุห์บัญชี และแพทย์ประจำของท่านได้เป็นหลักสำคัญในการสร้างเจดีย์ สร้างโรงพยาบาล และในหลวงก็พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมสร้างโรงพยาบาลผ่านท่านหมอ ๒๒ ล้านบาท

พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) วัดโพธิสมภรณ์

ท่านพระอาจารย์บัณฑิต เป็นผู้ที่ใฝ่ใจในการศึกษาเล่าเรียนมาแต่เล็ก การเล่าเรียนทางโลกท่านเข้าเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ท่านสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ จากนั้นท่านได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลของ อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี

ชีวิตในวัยเยาว์ของท่านเนื่องจากบิดาของท่านมีศรัทธาในองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน จึงทำให้ท่านมีโอกาสใกล้ชิดกับหลวงตาท่านมาแต่เด็ก ต่อมาวันหนึ่งบิดาของท่านตั้งใจจะให้ลูกได้บวชเณรอยู่กับองค์พระหลวงตามหาบัว แต่ปรากฏว่าองค์หลวงตาไม่รับพร้อมทั้งบอกว่าโน้นให้ไปโน้น ไปหาหลวงปู่เกล้า ปมุตโต วัดถ้ำเกีย จ.อุดรธานี เมื่อพ่อของท่านพาท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่เกล้า หลวงปู่เกล้าก็ทักท่านว่า อดีตชาติเป็นหลานของหลวงปู่มาก่อน ส่วนแม่ของท่านเคยเป็นลูกสาวขององค์หลวงปู่และพ่อของท่านก็เคยเป็นลูกเขยมาแต่อดีตชาติ

ในตอนที่ท่านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ อ.ไชยวาน มีโอกาสเข้ากราบหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล แห่งวัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี คราวนั้นหลวงปู่บุญจันทร์กล่าวกับท่านว่า “ดูซิพ่อแม่ครูอาจารย์มีแต่ละสังขารลงไปทุกวัน น้อยลงไปทุกที ทางโลกสร้างเท่าไหร่ไม่จบ ให้มาสร้างทางธรรม ตบท้ายที่ว่าให้อาจารย์หมอมาออกบวชมาสร้างทางธรรมซะ”

ประโยคนี้ทำให้ท่านอาจารย์หมอบัณฑิตในขณะนั้นรู้สึกตื้นตันในหัวอกแต่ก็ยังไม่ตัดสินใจที่จะออกบวช ท่านเล่าให้ผมฟังว่าจิตใจมันเหมือนมีหอกมาปักคาอกไว้ วันที่คิดปลงได้ว่า “เราจะบวช” เหมือนกับว่าหอกเล่มนั้นหลุดจากอก

ท่านพระอาจารย์บัณฑิต สุปัณฑิโต ได้บวชกับองค์หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี หลังจากที่บวชแล้วมีโอกาสเข้าศึกษาธรรมกับหลวงปู่บุญ จันทร์ กมโล, หลวงปู่หล้า เขมปัตโต , หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงปู่ลี กุสลธโร ,พระอาจารย์อินทร์ถวาย เป็นต้น

ในพรรษาที่สามหลังจากที่ท่านได้ปฏิบัติภาวนามาอย่างยิ่งแล้ว ในเช้าวันหนึ่งท่านได้เทศนาธรรมให้โยมมารดาของท่านฟัง โยมมารดาของท่านนึกว่าท่านธรรมแตก ถึงกับร้องห่มร้องไห้รีบโทรแจ้งพระอาจารย์อินทร์ถวาย เช้าวันนั้นพระอาจารย์อินทร์ถวายรีบมาโดยยังไม่ได้ฉันเช้าเพราะเป้นห่วงพระอาจารย์บัณฑิตเข้าไปสอบอารมณ์อยู่นาน พอพระอาจารย์อินทร์ถวายสอบอารมณืเสร็จก็บอกกับโยมแม่ของพระอาจารย์ว่า ลูกโยมนะผ่านแล้วมีแต่โยมแหละที่ยังบ้าอยู่ !

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระอาจารย์บัณฑิต มีโอกาสปรนนิบัติรับใช้องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนอย่างใกล้ชิดรวมทั้งองค์หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป ท่านเป็นผู้ดูแลการสร้างพระธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์ และยังเป็นผู้ดูแลโครงการหอผู้ป่วยวิกฤติ ของโรงพยาบาลอุดรธานีอีกด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาท่านได้ประพฤติพรหมจรรย์ได้อย่างเยี่ยมยอดเป็นครูบาอาจารย์ที่ดี เป็นผู้ที่มีเมตตาและให้คติเตือนใจแก่ทุกคนเสมอ

◎ มรณภาพ
เกิดเหตุเศร้าสลดกับชาวพุทธ เมื่อท่านพระอาจารย์บัณฑิต สุปัณฑิโต หรืออดีตนายแพทย์บัณฑิต สงวนแก้ว เจ้าอาวาสวัดป่าตอสีเสียด ถูกคนร้ายรอบยิงจากด้านหลังขณะกลับจากบิณฑบาต ก่อนถึงทางเข้าวัด ๑ กิโลเมตร บิดาท่าน ซึ่งก็บวชเป็นพุทธบุตรเช่นกัน “หลวงปู่สุข” เมื่อทราบข่าว พระลูกชายถูกคนใจร้ายดักยิงมรณภาพคาถนน ท่านก็รีบไปดู…เห็นผ้าเหลืองชุ่มเลือดห่มร่างพระลูกชายไร้ชีวิตพระ ผู้เป็นพ่อ อุ้มช้อนร่างลูก ใครจะเข้าใจความรู้สึกของคนเป็นพ่อเท่า “พ่อ” และพ่อคนไหนจะเป็นได้เท่า “หลวงปู่สุข” เห็นจะยากนักแล้ว สมแล้วที่ท่านเป็นนักรบธรรม ในทัพพุทธศาสน์! ก็ในขณะ “ศพ” พระลูกชายแนบอก ด้วยใจอันชุ่มแล้วด้วยยางแห่งธรรมจากโอษฐ์พระพุทธองค์ ด้วยสติระลึกรู้ – ตั้งมั่น และด้วยการเคี่ยวกรำในธรรมปฏิบัติสู่วิมุตติ พ่อพระผู้เป็นพ่อ กล่าวกับทุกคน และทุกตำรวจที่รายล้อมว่า.. “ในทางพระ ขออโหสิกรรมให้คนร้ายที่ยิงลูกชาย พระขออโหสิกรรม ไม่ขอจองเวร ขอให้จบกันในชาตินี้ ถือว่าชดใช้เวรกรรมแล้ว” ท่านพระอาจารย์บัณฑิต สุปัณฑิโต มรณภาพภายใต้ผ้ากาสาวพัสตร์ สิริอายุ ๔๘ ปี ๒๐ พรรษา โดยมีหลวงปู่สุข ซึ่งเป็นพระภิกษุผู้เป็นบิดานั่งกำมือของพระลูกชายอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางชาวบ้านจำนวนมากที่ทราบเรื่องเดินทางมามุงดู และต่างร้องไห้ด้วยความเสียใจ (คัดลอกจากข่าว…โดย เปลว สีเงิน)

ผลการชันสูตรเบื้องต้น พบว่า ถูกยิงด้วยปืนไม่ทราบขนาดเข้าที่แผ่นหลังขวา ๑ นัด กระสุนฝังใน และแผ่นหลังซ้าย ๑ นัด กระสุนทะลุหน้าท้อง

◎ จากคำบอกเล่าของลูกศิษย์ใกล้ชิด
ท่านพระอาจารย์บัณฑิต สุปัณฑิโต ท่านรู้องค์ล่วงหน้าก่อนมรณภาพ โดยพิจารณาจากเหตุการณ์หลายๆ อย่าง ดังนี้
๑. คืนก่อนท่านสิ้น ท่านเทศน์เรื่องกรรมยาวมาก ประมาณว่าผู้ใดทำกรรมใดไว้ ผู้นั้นจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
๒. เช้าวันเกิดเหตุ ท่านจับ “เจ้าเสือ” สุนัขที่วัดใส่กรง ไม่ให้ตามท่านไปออกรับบิณฑบาต
๓. ก่อนถึงจุดเกิดเหตุ ท่านบอกให้ลูกศิษย์ที่ปกติเดินตามหลังท่าน ให้เดินล่วงหน้าไปก่อน
๔. ปกติท่านจะให้ยาโยมแม่ อาทิตย์ต่ออาทิตย์ แต่ครั้งสุดท้ายท่านให้ยาโยมแม่ไว้สำหรับกินทั้งปี

◎ โอวาทธรรมท่านพระอาจารย์บัณฑิต สุปณฺฑิโต

“อย่าประมาท”
“..ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไป เทคโนโลยี่จะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม แต่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันไม่เปลี่ยน ไม่เคยมีสิ่งใดหยุดยั้งมันได้ เพราะสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความทุกข์ ความพลัดพราก พวกเราได้ยินอย่างนี้เข้าใจมากแค่ไหน คนที่ไม่รู้ ไม่สนใจแค่ฟังผ่านๆไป อาภัพนะ เพราะอยู่ท่ามกลางธรรมะแต่ไม่เห็นคุณค่าของมัน ปล่อยจิตปล่อยใจให้วุ่นวายกับเรื่องของโลกภายนอก วิ่งหาที่พึ่งวัตถุภายนอก คิดว่ามันเป็นความสุข ซึ่งโง่ที่สุด ในทางธรรมถือว่าไม่ฉลาด การใช้ชีวิตที่ไม่ฉลาด ไม่มีธรรมะมาเทียบเคียง ซึ่งผู้ฉลาดทั้งหลายเขาเอาธรรมะมาเทียบเคียงว่าโลกกับธรรมต่างกันแค่ไหน อะไรเด่นกว่า หรืออะไรด้อยกว่า เอามาเทียบเคียงกัน จะเห็นได้ว่าพระธรรมมีคุณค่ามากกว่าสิ่งอื่นใดในโลก เห็นได้จากโลกบอกว่ามีความทุกข์ ธรรมะบอกว่าไม่มีความทุกข์ เพราะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ พวกเราคิดดูโลกบอกไม่มีที่พึ่ง ไปไหนก็วุ่นวาย ธรรมะบอกมีที่พึ่งเป็นหลักได้จริงๆ โลกบอกว่ามาเกิด มาแก่ เจ็บตาย แต่ธรรมะบอกไม่ต้องมาเกิดอีกแล้ว ไม่มีเจ็บและไม่มีตาย นี่คือวิชาธรรมะก็เทียบดูว่ามีค่าขนาดไหน แล้วทำไมถึงจะปล่อยปละละเลย

มาเอาธรรมเข้าไปอีก ธรรมะสูงส่งมากนะทำงานทางโลกก็ต้องเอาธรรมะเข้าไปกำกับ ทำอย่างไรจึงจะมีศีล มีธรรมะและพัฒนาให้ได้มากขึ้น พระพุทธเจ้าท่านล้วนสร้างบารมีกับโลกนะ ไม่เคยสร้างนอกโลก เพียรสร้างทุกวัน วันแล้ววันเล่า ๔ อสงไขยแสนมหากัป จนบรรลุธรรม ชี้ทางสั่งสอนแก่พวกเรา ยากแค่ไหนกว่าจะประกาศธรรมะขึ้นมาได้ พวกเราได้ยินได้ฟังแค่นี้คิดว่ามันง่ายนักหรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พวกเราฟังสบายๆ หรือเปล่า กว่าจะได้มาไม่ใช่ของง่ายนะ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านพากเพียรพยายาม ลำบากลำบนแค่ไหน วงกรรมฐานของเราท่านลำบากแค่ไหน เพียรแค่ไหน กว่าจะพิสูจน์ให้แจ้งเพื่อความสุขของพวกเรา ส่วนท่านสบายแล้วละ ลำบากปกปักรักษาไว้เพื่อความสงบร่มเย็น ก็หวังว่าพวกเราจะเข้ามารับสิ่งเหล่านั้น ดังนั้นพวกเราก็เร่งรีบเข้า อย่าอยู่บนโลกจนลืมตัวลืมตน อย่าประมาท..”

“ให้ความต้องการพ้นทุกข์ปักลงในจิตใจ”
“..พวกเราก็ต้องฝังลึกเข้าไปในใจ ให้ลึกที่สุด ว่าจะอย่างไรก็จะไป จะออก จะพ้นทุกข์ให้ได้ เมื่อมีโอกาสเมื่อไร ก็จะออกจะไป ยังไงก็ต้องออกให้ได้ มันต้องปักลงไปในจิตในใจ การอธิษฐาน เปรียบเหมือนการตั้งเข็มทิศ ควรทำทุกครั้งเพื่อตอกย้ำการตัดสินใจ ให้อธิษฐานให้ถึงความสิ้นทุกข์จากวัฏสงสาร

ทางธรรมนั้น ท่านว่าทำคุณงามความดีนั้นมันจะถึงกันหมด แต่พวกเราติดสมมุติกัน จึงคิดว่าอยากทำตรงโน้น อยากทำตรงนี้ คนละที่ คนละตอนกัน พวกเรายังติดซ้ายติดขวา ไม่อยู่ตรงกลาง อยู่ตรงนี้ก็คิดถึงตรงนั้น พอออกจากตรงนี้ไปแล้ว ก็ยังคิดถึงตรงนี้อยู่ “ให้อยู่กับปัจจุบัน” ให้ได้ พวกเรายังโลเล อย่างนั้นก็จะเอา อย่างนี้ก็จะเอา ไม่ทำจริงๆจังๆ แต่เมื่อปักใจแล้ว ก็ต้องทำไปด้วยความหนักแน่น เอาจริง ไม่ต้องห่วงซ้ายพะวงขวา เมื่อเราพิจารณาแล้วว่าอันนี้ดี ก็ทำลงไป ให้เราเห็นธรรมชาติของธรรมเปรียบเสมือนท่อนไม้อยู่ในแม่น้ำ ถ้าไม่ติดฝั่งซ้าย ฝั่งขวา (รัก ชัง) ถ้าไม่จม (ตาย) หรือ ไม่มีใครหยิบออกไปเสียก่อน (มีอุบัติเหตุให้ออกจากทาง) แม่น้ำย่อมไหลไปสู่มหาสมุทรฉันใด การปฏิบัติของเราก็เป็นฉันนั้น

ให้เราดูตัวอย่างครูบาอาจารย์ ท่านยอมตายกันทั้งนั้น อย่างหลวงปู่ชอบที่ท่านเจอเสือทั้งข้างหน้าข้างหลัง แล้วท่านก็จิตรวม ท่านรู้ว่าธรรมนั้นเป็นที่พึ่ง ท่านจะรู้เลยว่าไม่มีอะไรจะสามารถทำอะไรท่านได้แน่ พวกเรารู้กันบ้างไหมว่าเรามานั่งฟังเทศน์กันอย่างนี้กี่ภพกี่ ชาติแล้ว ชาตินี้ให้ปฏิบัติให้จิตรวมให้ได้ อย่าเอาคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์มาทำเสียที่เรา ต้องทำให้มาก ให้อยู่เหนือโลก ออกจากโลก (วัฏสงสาร)ให้ได้..”

“วิธีการทำใจให้สงบ”
ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านสวดมนต์ พวกเราฟังประวัติของท่าน อย่างหลวงปู่มั่นท่านสวดเป็นชั่วโมง สูตรต่าง ๆ ท่านจะยกขึ้นมาหมุนเวียนกันไป บางทีสูตรยาวๆ ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรอย่างนี้ มหาสมัย รตนสูตรอย่างนี้ สูตรยาว ๆ กาลามสูตร ท่านก็สวด เป็นชั่วโมง เราคงเคยได้ยินหลวงตาท่านเล่า ว่าท่านไปแอบฟังหลวงปู่มั่นท่านสวดมนต์ ท่านสวดของท่านเสียงของท่านก็ดังออกมา เป็นชั่วโมง ท่านถึงหยุดนั่นนะดูสิ ครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรมอันเลิศ ท่านก็ทำส่วนตัวของท่าน สูตรไหนบทไหนที่ท่านสบาย ท่านชอบท่านจะท่องบ่นและก็สาธยายให้ลึก จิตมันก็อยู่กับบทนั้นนะ บทธรรมอันนั้นนะ เสร็จแล้วท่านก็มาทำจิตทำใจ ท่านก็มานั่งภาวนา มันเสมือนเด็กน้อยได้รับการกล่อม กล่อม เสียงเห่กล่อมของบิดาของมารดา ไกวหูกไกวเปล แม่จะกล่อมเห่ไปตะล่อม เด็กก็หลับสบายเพราะเสียงกล่อม เสียงกล่อมนี้ก็เหมือนกันจิตใจที่ได้รับความกล่อมเกลาจากบทสวดมนต์ทั้งหลาย กล่อมจิตกล่อมใจ จิตใจมันก็สงบระงับมันไม่ฟุ้งซ่าน จากนั้นเราก็นั่งภาวนา กำหนดบริกรรมภาวนา จะเป็นบทไหนที่เราชอบก็ตาม ก็ตั้งสติให้อยู่กับคำบริกรรม อย่าให้พลั้งเผลอออกไป

อันไหนที่เราทำแล้วมันถูกกับเรามันสบาย ก็ตั้งใจทำจริงๆ ระลึกๆอยู่กับคำบริกรรมอันนั้น ไม่ให้จิตมันส่งออกไปต่างๆ มันส่งออกไปก็ดึงมันมา ส่งออกไปก็รู้จัก รู้จักเรื่อง มันไปแล้วนะ อย่าไปเพลินกับมัน อย่าไปตามกับมัน ถ้ามันส่งออกไปข้างนอก นอกธรรมะ นอกคำบริกรรมที่เราตั้งเอาไว้นะ มีสติจดจ่อตลอด คำว่าสติก็คือความเอาใจใส่ ความจดจ่อตั้งใจ เอาใจไปตั้งเอาไว้ ใจคือความรู้ ผู้รู้ รู้สึกนี่แหละ เรารู้อยู่ รู้ ได้ยินในความรับรู้ร้อนหนาว เอาความรู้ไปตั้งไว้ ตั้งไว้กับคำบริกรรม ตั้งไว้กับบทธรรมอันนั้น อาศัยสติประคองเอาไว้ ประคองความรู้นั้นไว้ด้วยความเอาใจใส่ ตอนที่เราประคองความรู้อันนั้น อาการอันนั้นแหละท่านให้ชื่อว่าสติ ถ้าเราไม่ประคองความรู้อันนั้นไว้ ความรู้ไป แล้วแต่มันจะรู้ไง อาการของความรู้มันแล้วแต่มัน นั่นแหละลักษณะของความรู้ ไปรู้ตรงไหนแล้วแต่มัน เรื่องของมันฟุ้งออกไปเรื่อย ถ้าเราไม่มีสติดึงไว้ ท่านว่าเผลอสติ ท่านว่าเผลอสติ ไม่มีสติ พุ่งออกไปตามที่ต่างๆสารพัด ไม่รู้เรื่องรู้ราว พลั้งเผลอ เคยคิดเคยปรุงเคยอะไรต่างๆ มันก็ปรุงไปเรื่อยๆ ไม่รู้ถูกรู้ผิดไม่รู้เรื่องรู้ราว ทั้งที่เหตุปัจจุบันที่เราทำอยู่คือต้องการความสงบ ต้องการให้อยู่กับบริกรรม มันก็พุ่งออกไป

อะไรที่มันผลักดันอยู่ในใจ นั่นแหละท่านให้ชื่อว่ากิเลส ตัวผลักดันนี่แหละ ตัวมันปรุงแต่ง ตัวมันพาเราคิดไปในที่ต่างๆ ทั้งหมดทั้งมวลที่เดือดร้อนอยู่นี้ ก็คือสิ่งนี้ที่มันผลักดันอยู่ในใจเรา รวมย่อลงสั้นๆ ท่านว่า โลภ โกรธ หลง มันจะคิดไปร้อยแปดพันเก้าก็ตามที ก็คือบริวารของความโลภ ความโกรธ ความหลง มันฝังอยู่ในใจเรามาเนิ่นนานจนคล่องชำนาญ เพราะเราเคยทำอย่างนี้มาหลายภพหลายชาติติดต่อกันเรื่อย ฉะนั้นการที่อยู่ดีๆ เราจะมาฝึกให้มันหยุดให้มันนิ่ง ก็เลยเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทำง่าย เป็นสิ่งที่ต้องฝืน ต้องสู้ ต้องอดทนจริงๆ ต้องตั้งใจจริงๆ เท่านั้น ต้องทำจริงๆ เห็นความสำคัญจริงๆ ของการประพฤติปฏิบัติของธรรมะที่เราจะระลึก เห็นคุณค่าจริงๆ เอาใจใส่ จะยากก็ทำ จะเหนื่อยก็ตามเถอะ ลำบากก็จะฝืนสู้ ไม่ปล่อยใจให้มันร่อนเร่ไปเหมือนเดิม เพราะรู้แล้วว่า ความคิดอ่านที่เราเคยคิดมานะมันไม่ได้เกิดประโยชน์หรอก มันไม่ใช่ที่พึ่งเราหรอก หรือคิดไปร้อยแปดพันเก้ามันฉลาดเฉลียวแค่ไหนว่ามันจะรู้เรื่องรู้ราวต่างๆ แค่ไหน มันก็เรื่องสังขาร เป็นเรื่องที่เราเอาจริงเอาจังไม่ได้ เป็นเรื่องที่ไม่น่าไว้ใจ เป็นเรื่องที่พกโทษก่อเกิดให้เราทั้งสิ้น

ฉะนั้นต่อจากนี้ไป เราจะไม่ไปตามใจมันเหมือนเก่า และจะไม่ปล่อยจิตให้มันร่อนเร่ไปเหมือนว่าวขาด เชือกขาด พวกเราจงเห็น ถ้าสายว่าว ถ้าเชือกขาดมันเคว้งไปหมด แล้วแต่ลมจะพัดไปไหน นั่นแหละคือคนที่ขาดสติ ก็คนที่มีสตินั้นเหมือนสายว่าวประคองไว้ตลอด มันอยู่ในมือนะ ถึงมันจะพลิกไปพลิกมาตรงไหน ก็อยู่กับมือเรา นี่ว่าวตัวนั้นก็ไม่ไปไหน โต้ลมอยู่นั่นแหละ จิตเหมือนกัน ถ้ามีสติประคองอยู่กับธรรมะ อาศัยสติประคองไว้นี่ มันก็ต้องอยู่กับธรรมะ พอลมตีขึ้นเบื้องบนพอได้ระดับมันก็โต้ลมอยู่นั่น ไม่ตกนั่นแหละว่าวมันไม่ตก ติดลมบน ภาษาเขาว่าติดลมบน ไม่ตกแล้ว จิตเหมือนกัน ประคองอยู่กับบทธรรมเรื่อยๆ เรื่อยๆเข้า จิตก็สงบระงับตัวไปเรื่อยไปเรื่อย จากเดิมที่ฟุ้งซ่านจากเดิมที่วุ่นวาย อารมณ์ก็น้อยลงเรื่อยๆ ความเยือกเย็นก็เข้ามา อาการของความสุขความเบา อาการของความสบายทั้งหลายจะเกิดขึ้น ตอนนั้นให้รู้จัก อาการต่างๆมันจะเกิดขึ้นมายังไงก็รู้จักไว้ อย่าไปตื่นเต้นกับมัน อย่าไปหลงกับมัน มันจะเหาะเหินเดินฟ้า มันจะดำดินบินวน มันจะใหญ่เล็ก มันจะอะไรต่างๆให้รู้จัก ให้รู้จักเรื่องมันทั้งหมด เกิดขึ้นก็ให้รู้จัก รู้จักแล้วก็อย่าไปให้ความสำคัญอะไรหน้าที่เราคือเราจะเอาอยู่กับคำบริกรรม อยู่กับบทธรรมเราไป อย่าไปส่งอยู่กับอาการเหล่านั้น..”

ปกิณกะธรรม ๔๘
• ความละอายเกรงกลัวต่อบาปเป็นเครื่องส่อแสดงให้เห็นถึงความสะอาดของศีล ท่านใช้คำว่า หิริโอตตัปปะ

• กรรมที่ใครทำลงไปแล้วจึงเป็นสิ่งที่เปิดเผยตลอด มันเปิดเผยอยู่ในใจของเจ้าของนั่นแหละ ระลึกได้ก็ตาม ระลึกไม่ได้ก็ตาม มันก็ฝังไว้ในใจแล้ว

• วันคืนที่ผ่านไป อายุเราน้อยลงไปเรื่อยสั้นลงไปเรื่อย เวลาเรามีจำกัดทุกคนนะ ฉะนั้นขณะที่เราจะทำประโยชน์ส่วนตน ส่วนตนได้ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องเตือนเจ้าของตลอดว่าไม่ประมาท วันหนึ่งคืนหนึ่งของผู้ปฏิบัติแล้วจึงเป็นวันที่มีคุณค่ามาก

• ถ้าเรายังไม่มีที่พึ่งสำหรับตนเอง ครูบาอาจารย์ที่เราศรัทธาเลื่อมใส ท่านที่จะเป็นหลักให้กับเราได้ เราต้องรีบยึดเอาคำสอนท่านมาปฏิบัติให้ได้จริงๆ องค์ใดก็ตามที่เราเลื่อมใสท่าน นี่ก็ยังระลึกถึงความคุ้นเคย ยังอยู่ก็ดี เคยอาศัยก็ดี

ขออนุโมทนาบุญกับข้อธรรมคำสอนที่บันทึกและโพสต์เผยแผ่จากเฟสบุ๊คเพจ : รอยธรรม สุปณฺฑิโต

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง