วันจันทร์, 28 ตุลาคม 2567

ญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล) วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ประวัติและปฏิปทา
พระธรรมบาล (ผุย)

วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย)
อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล)

◎ ชาติภูมิ
พระธรรมบาล (ผุย) นามเดิม ผุย วัน เดือน ปี เกิดและนามบิดา มารดาไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ทราบเพียงว่า มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านขุมปูน ตำบลคำไฮใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี มีลักษณะรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาวสะอาดสง่างาม ฟันคงทนถาวรไม่โยกคลอนตลอดอายุขัย

◎ การศึกษาบรรพชาและอุปสมบท
พระธรรมบาล (ผุย) ได้รับการศึกษาเบื้องต้นอย่างไรก็ไม่มีหลักฐาน แต่สันนิษฐานว่าคงได้ศึกษาเล่าเรียนด้านตัวอักษรในสมัยนั้นคืออักษรธรรมและอักษรไทยน้อย จากพระอาจารย์วัดใดวัดหนึ่งมาบ้าง พอเป็นพื้นฐานในการศึกษาเล่าเรียนขั้นต่อไป

การบรรพชาและอุปสมบท ได้บรรพชาเป็นสามเณรมาก่อนหรือไม่ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อใดใครเป็นพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด ก็ไม่ปรากฏหลักฐานเช่นกัน ทราบเพียงแต่ว่าเป็นสิทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ของท่านพรหมสโร (พรหมมา) แห่งวัดหนองยาง (ปัจจุบันเป็นวัดร้างที่ตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคมและตลาดสดเทศบาล) เมืองอุบลราชธานีและได้ศึกษาเล่าเรียนมูลกัจจายน์ที่สำนักวัดหลวง มีศิษย์ร่วมสำนักหลายองค์ ที่สำคัญมากองค์หนึ่งคือ พระธรรมบาล (ทุย) แห่งสำนักวัดยางขี้นก แขวงเขื่องใน

สำนักวัดหลวงเป็นสำนักสอนมูลกัจจายน์แห่งแรกของเมืองอุบลราชธานี อำนวยการสอนโดยพระมหาราชครูท่านหอแก้วและท่านหอเทพ เป็นเจ้าคณะเมืองอุบลราชธานีองค์แรกและองค์ที่ ๒ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระประทุมราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าเมืองมีพระสงฆ์ต่างบ้านต่างเมืองมาศึกษาเล่าเรียนจำนวนมาก เมื่อเรียนจบแล้วก็กลับไปตั้งสำนักที่วัดของตน สำนักวัดหลวงจึงเป็นศูนย์กลางการเรียนมูลกัจจายน์ในยุคแรก มีตำรับตำราคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลี

◎ ปฏิปทาจริยวัตร
พระธรรมบาล (ผุย) เป็นคนขยันขันแข็งเอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียนมาก กล่าวกันว่ามีเวลาว่างอยู่ ๒ เวลาคือ เวลาฉันกับเวลานอน เวลานอกจากนั้นอุทิศให้แก่การศึกษาทั้งหมด ถ้าไม่สอนลูกศิษย์ก็จะเปิดพระคัมภีร์ เวลาลูกศิษย์เข้าไปเรียนชุดละ ๖ – ๙ องค์ จะใช้หูฟัง ใครแปลผิดก็จะทักทันที ส่วนมือก็จะใช้จาร (เขียน) หนังสือใบลานด้วยเหล็กจารจนนิ้วหัวแม่มือเป็นบาดแผลถึงกับมีหนอนเจาะไช ส่วนตาก็จะจ้องมองทั้งลูกศิษย์และการจารหนังสือ นอกจากเป็นผู้เชี่ยวชาญทางคันถธุระ มีสติปัญญาเป็นเลิศและไหวพริบเฉียบแหลมในการแปลพระปริยัติธรรม ตัดใจความทั้งโดยอรรถและพยัญชนะให้เข้าใจได้ง่าย เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาศิษย์แล้ว ยังเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย อันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บรรดาศิษย์และชุมชนโดยทั่วไปและห่มจีวรสีแก่นขนุนเป็นอาจิณอีกด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ ครองเมืองอุบลราชธานีมีความศรัทธาเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของพระธรรมบาล (ผุย) มากทรงอาราธนาไปรับบิณฑบาตในวังอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาแนวการปฏิบัติพระธรรมวินัยตลอดจนวัตรปฏิบัติไปด้วย ถึงกลับทรงเปล่งวาจาชมเชยพระธรรมบาล (ผุย) ว่า “ในเมืองอุบลมีแก้ววิเศษ” พร้อมทั้งได้เชิญชวนอันโตชนและบริวารชน เสด็จมาสรงน้ำที่วัดและประทานอัฐบริขารพร้อมสัญญาบัตรพัดยศ ที่พระอริยวงศาจารย์ฯ (สุ้ย) เคยใช้มาในงานราชพิธี (พิธีหลวง) เมืองอุบลราชธานีตลอดมา

◎ หน้าที่การงาน
เนื่องจากวัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อยเดิม) เป็นศูนย์กลางการศึกษาเล่าเรียนของคณะสงฆ์มาก่อน ซึ่งอาจมีมาก่อนหรือเกิดพร้อมกับสำนักวัดหลวง การศึกษาสงฆ์ที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมนั้นสืบทอดมาจากเวียงจันทน์เป็นส่วนใหญ่ ดร.ปรีชา พิณทอง ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ ตัวหนังสือเมืองอุบลและการศึกษาของคณะสงฆ์เมืองอุบล บางตอนว่า

“…ตัวหนังสือเมืองอุบลกับของเวียงจันทน์เหมือนกัน คือเป็นตัวลาว (ธรรม) และ ตัวไทยน้อย ตัวหนังสือทั้ง ๒ แบบนี้ได้แบบมาจากประเทศอินเดีย ตัวลาวได้แบบมาจากอินเดียฝ่ายใต้ ตัวบาลี ตัวไทยน้อยได้แบบมาจากอินเดียฝ่ายเหนือ คือ ตัวสันสกฤต

เมื่อลาวนำเอาแบบตัวหนังสือมาจากอินเดียแล้ว ก็มาปรับปรุงเป็นตัวหนังสือลาว คือตัวธรรมและตัวไทยน้อย ตัวธรรมเป็นหนังสือที่พระสงฆ์ใช้ศึกษาเล่าเรียน ตัวไทยน้อยเป็นหนังสือที่คฤหัสถ์ใช้ศึกษาเล่าเรียน

ตัวธรรม ที่พระสงฆ์ใช้ศึกษาเล่าเรียนนั้น ได้แก่ มนต์น้อย มนต์กลาง สัททา ปาฏิโมกข์มูลกัจจายน์ คือ สนธิ นาม สมาส ตัทธิต อาขยาต กิตก์ การก พระไตรปิฎก คือ พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ชาดก อรรถกถา กีฎา อนุฎีกา หรือพูดรวมก็ได้แก่ ความรู้ทางพระพุทธศาสนาอันเกิดมาจากคาสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์จะต้องศึกษาเล่าเรียน เพื่อให้เกิดความรู้และนำไปใช้ปฏิบัติสั่งสอนบุคคลอื่นด้วย

ตัวไทยน้อย ที่คฤหัสถ์ใช้ศึกษาเล่าเรียนได้แก่ หนังสือก้อม หนังสือผูก หนังสือมัด ชนิดเป็นนิทาน เช่น กาฬเกษ ศิลป์ชัย ศรีธน มโนรา เป็นต้น และหนังสือที่จดเวทย์มนต์ คาถา ตำรายา ศิลปะวิทยาการทุกชนิด…”

“…พระสงฆ์ชาวเมืองอุบลสมัยโบราณ เมื่อเรียนจบชั้นต้นแล้ว ก็ต้องเรียนชั้นต่อไป…เป็นการศึกษาของพระสงฆ์ที่มั่นคงในพระพุทธศาสนาหรือบวชแล้วไม่สึก…เรียกว่า ศาสนทายาท การเรียนแบบดั้งเดิมนี้โบราณเรียก เรียนหนังสือใหญ่ หรือเรียนมูลกัจจายน์ เรียนรากเหง้า แก่น เปลือก กิ่งใบ หนังสือแต่ละตัว…”

พระธรรมบาล (ผุย) ตั้งสำนักเรียนมูลกัจจายน์ที่วัดมณีวนาราม จนมีชื่อเสื่อโด่งดังมีพระภิกษุสามเณรจากจังหวัดต่าง ๆ มาศึกษาเล่าเรียนจำนวนมาก เป็นผู้มีความขยันเอาใจใส่ในการสอนเป็นอย่างมาก ทั้งเวลาเช้าและเวลาบ่าย นอกจากสอนแล้วยังศึกษาค้นคว้าเป็นกิจวัตรประจำวัน พลิกหนังสือคัมภีร์ใบลานจนง่ามมือพุพองเป็นแผล นั่งอ่านหนังสือบนขากะเยียไม่ไหว ต้องทำห่วงสำหรับห้อยหนังสือแล้วนอนอ่าน เมื่ออ่านคัมภีร์ใดจบแล้วหากมีเนื้อความเกี่ยวกับพระธรรมวินัยที่พึงนำไปปฏิบัติ ก็จะนำไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังอยู่เสมอ ภายหลังจากทำวัตรสวดมนต์หรือมีการประชุมสงฆ์เสร็จแล้ว สมัยนั้นหนังสือพระธรรมวินัยที่มีผู้รู้แปลไว้หายากมาก ผู้ที่ไม่ได้เรียนอรรถบาลีหรือมูลกัจจายน์จะไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ได้อย่างลึกซึ้ง จึงจำเป็นต้องจดจำเรื่องราวข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ มาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังอยู่เสมอ

เนื่องจากอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านจากการศึกษาตามแบบดั้งเดิม เป็นแบบปรับปรุงใหม่ตามแบบอย่างเมืองหลวง (กรุงเทพฯ) โดยที่พระอริยวงศาจารย์ฯ (สุ้ย) หรือพระธรรมบาล (สุ้ย) เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานี องค์แรกและเจ้าอาวาสวัดมณีวนารามเป็นผู้นามาเผยแพร่ และตั้งมั่นในเมืองอุบลราชธานีกว่า ๓๐ ปีก่อนหน้านั้น มีลูกศิษย์หลายองค์ที่มีสติปัญญาที่ดีในการศึกษาเล่าเรียน แต่ยังไม่เป็นที่พอใจจึงส่งไปสอบไล่พระปริยัติแบบปรับปรุงใหม่ที่กรุงเทพฯ และเพื่อเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง จึงได้ส่งพระลูกศิษย์ไปพำนักอยู่จำพรรษาเล่าเรียนที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ๓ องค์ แต่เนื่องจากการเดินทางระหว่างเมืองอุบลราชธานีและกรุงเทพฯ ระยะทางไกลและลำบากต้องเดินด้วยเท้าเป็นส่วนใหญ่ ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะถึงกรุงเทพฯ เมื่อถึงแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่เพียงปีกว่า แปลหนังสือธรรมบท ยังไม่ได้เข้าสอบสนามหลวง (สนามสอบความรู้คณะสงฆ์) ก็อาพาธด้วยไข้พิษจนถึงแก่มรณภาพทั้ง ๓ องค์ เลยไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์

นอกจากเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านทักษะการพูด การอ่านและการเขียนแล้ว ทักษะที่สาคัญ คือ “การฟัง” พระธรรมบาล (ผุย) จะมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษดังได้กล่าวแล้วว่า ขณะมอบให้ลูกศิษย์แปลหนังสือ จะใช้มือและตาจดจ่ออยู่กับการจาร (เขียน) หนังสือใบลาน หูจะใช้ฟังลูกศิษย์ “แปล” หากแปลผิดก็จะทักทันทีให้แปลใหม่ มีผู้รู้กล่าวว่าทักษะการฟังเสมือน “หูทิพย์” รู้กระทั่งภาษานก คราวหนึ่งขณะฉันอาหารเช้าร่วมกับลูกศิษย์ท่ามกลางบรรดาญาติโยมผู้นำภัตตาหารมาถวายบนหอแจก (ศาลา) พอดีมีนกน้อยสองตัวมาเกาะที่กิ่งไม้ใกล้ๆ ที่ฉัน นกคู่นั้นก็ร้องจ๊อกแจ๊กตามประสานก เมื่อพระธรรมบาล (ผุย) ได้ฟังแล้วจึงพูดขึ้นว่า นกคู่นั้นมันชวนกันไปหากินที่อื่นทางโน้นพร้อมชี้มือไปพอพูดจบนกคู่นั้น ก็บินไปทางนั้นจริงจึงเป็นเรื่องแปลก จะโดยบังเอิญหรือเป็นจริงตามที่พูดก็เป็นเรื่องเกินกว่าที่จะคาดเดา (ผู้เขียน)

พระธรรมบาล (ผุย) นับได้ว่าเป็นผู้รักตำรับตาราเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อทราบว่าบ้านใดหรือวัดใดเป็นแอ่งหรือแหล่งการเรียนรู้อรรถบาลีมาก่อน หากท่านอาจารย์บ้านนั้นหรือวัดนั้นตายหรือมรณภาพไปก็จะให้ลูกศิษย์รวบรวมตำรับตำราเหล่านั้นมาเก็บไว้ จำเป็นต้องสร้างตู้ใส่ตำราเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

พระธรรมบาล (ผุย) ครองวัด (เจ้าอาวาส) วัดมณีวนารามเป็นลำดับที่ ๔ ต่อจากพระอริยวงศาจารย์ฯ (สุ้ย) ซึ่งครองวัดอยู่ราว พ.ศ.๒๓๙๐ – ๒๔๑๐ (๒๐ ปี) ท่านจันทรังสี (จันลา) ครองวัดอยู่ราว พ.ศ.๒๔๑๑ – ๒๔๒๗ (๑๖ ปี) และท่านสุวัณโณ (คำ) ครองวัดอยู่ราว พ.ศ.๒๔๒๘ – ๒๔๓๖ (๘ ปี) และดำรงตำแหน่งสุดท้ายคือเจ้าคณะเมืองอุบลราชธานี ระยะเวลาครองวัดอยู่ราว พ.ศ.๒๔๓๗ – ๒๔๖๗ (๓๐ ปี)

ในด้านสาธารณูปการ สมัยพระธรรมบาล (ผุย) ไม่ได้ให้ความสำคัญในการก่อสร้างเสนาสนะมากนัก คงรักษาสภาพเดิมที่ได้ก่อสร้างมาก่อนแล้ว แต่ให้ความสนใจมากที่สุดคือด้านการศึกษาดังกล่าวแล้ว ถึงกระนั้นก็ยังมองการณ์ไกลซึ่งคล้ายคลึงกับพระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) คือการปลูกต้นไม้ซึ่งเป็นไม้สำหรับใช้สอยในการก่อสร้างเสนาสนะในอนาคต หลังจากนำบรรดาศิษย์สร้างรั้วรอบวัดจนมั่นคงเรียบร้อยแล้ว จึงให้นากล้าไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ไม้ยาง (ยางนา) ตะเคียนทอง แดง เต็ง รัง พยุง สัก ฯลฯ ปลูกเพิ่มเติมแซมในที่ว่างบริเวณวัด จากวันนั้นถึงวันนี้จะเห็นว่าภายในวัดมณีวนารามเต็มไปด้วยต้นไม้มีค่าขนาดใหญ่เหล่านั้นมากมาย

เมื่ออายุเข้าสู่วัยชราภาพ เนื่องจากใช้สายตาเพ่งมองจาร (เขียน) อ่านตำรับตำราและการบอกหนังสือ (สอน) แก่ลูกศิษย์มาก จนทำให้จักษุพิการมองแทบไม่เห็น จึงมอบภารธุระการสอนและงานกิจวัตรอื่น ๆ ให้ลูกศิษย์ผู้มีความสามารถทำหน้าที่แทนตามความรู้ ความสามารถของแต่ละคน การเดินทางไปมาไม่สะดวกโดยเฉพาะเดินทางไปวัดบ้านคำไฮใหญ่อันเป็นบ้านเกิด ผู้มานิมนต์มักให้ขึ้นแคร่หามไปมาอยู่เสมอว่า “อย่าบ่นว่าหนักเลย คิดเสียว่าอุตส่าห์หามตู้หนังสือไปเถิด” มีอยู่คราวหนึ่งพระธรรมบาล (ผุย) ขึ้นแคร่หามไปวัดบ้านคำไฮใหญ่และกลับทางเรือตามลำเซบก แวะพักฉันเพลระหว่างทาง เมื่อฉันเพลเสร็จจะเดินทางต่อบังเอิญมีอาการปวดศีรษะมากจึงขอให้ญาติโยมชาวบ้านดงบัง ช่วยกันหามแคร่เดินทางลัดเลาะมาถึงวัดมณีวนาราม ภายในวันนั้นอาการอาพาธได้กำเริบมากขึ้นกลายเป็นโรคสันนิบาต แพทย์แผนโบราณสมัยนั้นได้เยียวยารักษาสุดความสามารถ จนโรคทุเลาลงและหายเป็นปกติ แต่สายตากลับทรุดลงจนมองไม่เห็นแล้วตาบอดในที่สุด การไปมาต้องใช้คนหาม ฉันอาหารต้องใช้คนป้อนอยู่เสมอ การอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ก็ทำได้อย่างจำกัดจะด้วยเหตุผลใดก็ไม่มีใครทราบในจิตใจ ได้ขอไปจำพรรษาที่บ้านคำไฮใหญ่หลายพรรษา แต่ลูกศิษย์และญาติโยมผู้ที่เคารพเลื่อมใส ก็แวะเวียนไปกราบสักการะและถวายปัจจัยสี่มิได้ขาด

◎ สมณศักดิ์
พระธรรมบาล (ผุย) ได้รับแต่งตั้งเป็นตาแหน่ง “พระธรรมบาล” ในฐานะเทียบเท่าเจ้าคณะเมืองในรุ่นเดียวกับพระธรรมบาล(สุ้ย) หรือพระอริยวงศาจารย์ฯ (สุ้ย) และพระธรรมบาล (ทุย) เจ้าสานักวัดยางขี้นก แขวงเขื่องใน ซึ่งพระปทุมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๘๘ – ๒๔๐๖) เป็นผู้แต่งตั้ง ส่วนสมณศักดิ์จากทางการกรุงเทพฯ มิได้รับการแต่งตั้ง แม้จะเป็นเจ้าคณะเมืองอุบลราชธานีองค์ที่ ๕ ต่อจากพระอริยวงศาจารย์(สุ้ย) ก็ตาม

◎ มรณภาพ
พระธรรมบาล (ผุย) มรณภาพด้วยโรคชรา ที่กุฏิแดง (ตำหนักแดง) วัดมณีวนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ขณะดารงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนีเจ้าคณะมณฑลอุบลเป็นประธานจัดงานฌาปนกิจ ซึ่งจัดทำเมรุแบบนกหัสดีลิงค์ บำเพ็ญกุศล ๗ วัน ๗ คืน แล้วเคลื่อนไปทำพิธีฌาปนกิจที่วัดแจ้ง อำเภอเมืองอุบลราชธานี บรรจุอัฐิไว้ในเจดีย์พระอริยวงศาจารย์ฯ และเจ้าอาวาสองค์อื่น ๆ ในวัดมณีวนารามจนตราบเท่าทุกวันนี้สิริรวมอายุ ๘๘ ปีพรรษา ๖๘

สหธรรมิกที่มาช่วยงานศพท่าน รูปสำคัญ ได้แก่ พระครูสีทันดรคณาจารย์ (โชติปาโล ทา) ผู้ก่อตั้งวงศ์ธรรมยุติที่เมืองโขง ประเทศลาว (คำบอกเล่าของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร)  แล้วจึงนำอัฐิมาบรรจุไว้ในธาตุใหญ่กลางวัด พร้อมรื้อธาตุของอาชญาท่านจันลา และอาชญาท่านคำ มาบรรจุรวมกันด้วย

พระธรรมบาล (ผุย) เป็นพระคันถธุระที่มีความขยันหมั่นเพียร มุ่งมั่นในการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมเป็นเลิศ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรธรรม อักษรไทย ตลอดจนอักษรโบราณอื่น ๆ อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บรรดาสานุศิษย์และสาธุชนทั่วไป และอุทิศชีวิตให้แก่การศึกษาจนกระทั่งตัวเองพิการทางสายตา นับว่าได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ สำนักเรียน วัดมณีวนาราม และคณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานีให้ขจรขจายออกไปทั่วสารทิศจนเป็น ศูนย์กลางการศึกษาสงฆ์จากอดีตมาจนถึงทุกวันนี้ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “ปราชญ์” ของเมืองอุบลราชธานีอย่างแท้จริง

 เมรุรูปนกหัสดีลิงค์ (นกสักกะไดลิง) ท่านพระธรรมบาล (ผุย) ญาท่านหลักคำเมือง
(เจ้าคณะเมือง) เมืองอุบลฯ และเจ้าอาวาสวัดป่าน้อย
โดยท่านธรรมบาล (ผุย) ถึงแก่มรณะภาพ ในราวปี พ.ศ.๒๔๔๘
กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ สั่งให้สร้างเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ถวาย

◎ บรรณานุกรม
กิ่งธรรม. โดยเสด็จพระราชกุศลในการออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมเสนานี(กิ่ง มหปฺผลเถร) กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, ๒๕๓๘.
คณะศิษยานุศิษย์. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูอาทรกิจโกศล (ทอน กนฺตสีโล จันทป). อุบลราชธานี : รุ่งศิลป์การพิมพ์ออฟเซท, ๒๕๔๒.
คณะกรรมการจัดทาหนังสือ. อุบลราชธานี ๒๐๐ ปี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนการพิมพ์, ๒๕๓๕.
ศิลปากร,กรม. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔.
ธรรมรัตนวิสุทธิ์,พระ (บุญมา ทีปธมฺโม), และพระเทพประสิทธิมนต์(ประสิทธิ เขมงฺกโร), อนุสรณ์ต้อนรับพระธรรมเสนานี. กรุงเทพฯ : บริษัท จี เอ กราฟิคอาร์ต จากัด, ๒๕๓๖.