วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

วัดดอยแม่ปั๋ง
อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง

ชาติกําเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เดิมชื่อ ญาณ หรือ ยาน รามศิริ

เกิดวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๐ วันจันทร์ขึ้น ๓ ค่ํา ปีกุน ณ บ้านนาโป่ง บ้างก็ว่าบ้านหนองบอน ตําบลหนองใน (ปัจจุบันเป็นตําบลนาโป่ง) อําเภอเมือง จังหวัดเลย

เป็นบุตรคนที่ ๒ (คนสุดท้อง) ของนายใส หรือ สาย นางแก้ว รามศิริ ซึ่งมีพี่สาวร่วมท้องเดียวกัน ๑ คน

เมื่อหลวงปู่อายุประมาณ ๕ ขวบ พอจําความได้บ้าง มารดาถึงแก่กรรม ท่านจึงตกเป็นภาระของตากับยายขุนแก้วต้องเลี้ยงดูต่อมา ท่านเกิดมาในตระกูลช่างตีเหล็กเมื่อมารดาถึงแก่กรรม บิดาไปแต่งงานใหม่อีกถึง ๓ คน ก่อนมารดาจะเสียชีวิตได้เรียกให้ลูกชายคนเดียวของท่านเข้าไปหาใกล้ ๆ จับมือลูกชายแน่นแล้วกล่าวกับลูกชายว่า

“ลูกเอ๋ย แม่ยินดีต่อลูก สมบัติใดๆ ในโลกนี้ จะเป็นกี่ล้านกี่โกฏิก็ตามแม่ก็ไม่ยินดี แม่จะยินดีมากถ้าลูกจะบวชให้แม่ เมื่อลูกบวชแล้วให้ตายกับผ้าเหลืองไม่ต้องสึกออกมามีเมียมีลูกนะ”

คําพูดของแม่ครั้งนั้นเป็นเหมือนพรสวรรค์คอยเตือนสติอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดท่านก็ได้ออกบวชตามความประสงค์ของมารดา แม้จะมีอุปสรรคใด ๆ เข้ามาจะขัดขวางก็มีอันพ่ายแพ้พลังแห่งความปรารถนาของมารดา มันเป็นคําสั่งที่ก้องอยู่ในความทรงจํามิรู้เลื่อน

อนึ่งยายของหลวงปู่ได้ฝันว่า ได้เห็นหลานชายคนนี้ไปนั่งไปนอนอยู่ในดงขมิ้นจนเนื้อตัวเหลืองอร่ามน่ารักน่าเอ็นดูยิ่งนัก จึงได้มาขอให้หลานชายบวชแล้วไม่สึกตลอดชีวิตหลานชายก็รับปากกับยายทําให้ยายชื่นชมยินดีอย่างมาก ยายมีหลานชายอีกคนหนึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงปู่ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า ยายก็ได้ขอให้บวชเช่นกัน ดังนั้นยายจึงได้นําหลานทั้ง ๒ คน ไปถวายตัวต่อพระอุปัชฌาย์ที่วัดโพธิ์ชัย (มหานิกาย) ในหมู่บ้านนาโป่งเพื่อฝึกหัดขานนาคทําการบรรพชาเป็นสามเณรต่อไป

วิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

หลวงปู่แหวน ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๙ มีอายุได้ ๕ ปี ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านนาโป่ง ตําบลนาโป่ง อําเภอเมืองเลย มีพระอาจารย์คํามา เป็นพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์อ้วน เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย เป็นพระพี่เลี้ยง เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้วจึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “แหวน” ได้อยู่จําพรรษาที่วัดโพธิ์ชัยนั้นเอง พอเข้าพรรษาได้ประมาณ ๒ เดือน สามเณรที่มีศักดิ์เป็นน้าที่บวชพร้อมกันเกิดอาพาธหนักถึงแก่มรณภาพไปทําให้สามเณรแหวนสะเทือนใจมาก

วัดโพธิ์ชัย ไม่มีการศึกษาเล่าเรียนเพราะขาดครูสอน สามเณรแหวนจึงอยู่แบบตามสบาย คือ สวดมนต์ไหว้พระบ้าง เล่นบ้างตามประสาเด็ก ต่อมาได้ถูกพระพี่เลี้ยงส่งให้ไปเรียนมูลกัจจายน์ ที่วัดสร้างก่อ อําเภอหัวสะพาน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในสมัยนั้นจังหวัดอุบลราชธานี มีสํานักเรียนที่มีชื่อเสียง มีครูอาจารย์สอนกันเป็นหลักเป็นฐานหลายแห่งเช่น สํานักเรียนบ้านไผ่ใหญ่ บ้านเค็งใหญ่ บ้านหนองหลัก บ้านสร้างก่อ ทั่วอีสาน ๑๕ จังหวัด (ในสมัยนั้น) ใครต้องการศึกษาหาความรู้ ต้องมุ่งหน้าไปเรียนมูลกัจจายน์ตามสํานักดังกล่าว ผู้เรียนจบหลักสูตรได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ เพราะ เป็นหลักสูตรที่เรียนยากมีผู้เรียนจบกันน้อยมาก ภายหลังสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ดังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทําให้การเรียนมูลกัจจายน์ ถูกลืมเลือน

สามเณรแหวน ได้อยู่ศึกษาเล่าเรียนที่สํานักนี้หลายปี จนอายุครบบวชพระจึงได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกายที่วัดสร้างก่อนอก อําเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอาจารย์แว่น เป็นพระอุปัชฌาย์ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๑ ในระยะที่เรียนหนังสืออยู่นั้นพระภิกษุแหวน สุจิณโณ เกิดความว้าวุ่นใจ เพราะท่านอาจารย์อ้อน อาจารย์เอี่ยม ครูผู้สอนหนังสือเกิดอาพาธด้วยโรคนอนไม่หลับ พระภิกษุแหวนจึงแนะนําให้ลาสิกขาบทโรคอาจหายได้ ถ้ายังอาลัยในสมณเพศ ได้โอกาสจึง กลับมาบวชใหม่อีก พระอาจารย์ทําตามปรากฏโรคหายดี ไม่นานนักปรากฏว่า พระผู้เป็นอาจารย์สอนหนังสือคือ อาจารย์ชม อาจารย์ชาลี และท่านอื่น ๆ ลาสิกขาบทไปหมด ต่างไปมีครอบครัว สํานักเรียนหยุดชงักลง

ในที่สุดพระภิกษุแหวนเกิดความรู้สึกขึ้นว่า บรรดาครูอาจารย์เหล่านั้นสึกออกไปล้วน เพราะอํานาจของกามทั้งสิ้น ตกอยู่ในอํานาจของกาม สัตว์ทั้งหลายยอมตายเพราะกามนี้มามากต่อมากแล้ว เมื่อถูกกามครอบงําจิตแล้วไม่รู้สึกสําคัญผิดคิดว่าดีจึงยอมตัวลงบํารุงบําเรอจนถอนตัวไม่ขึ้น ประกอบกับคําเตือนของแม่และยายก็มาคอยย้ําเตือนให้ระลึกอยู่เสมอ ความคิดอีกอย่างหนึ่งได้เกิดขึ้นมาว่า การออกปฏิบัติเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะทําให้บวชอยู่ได้ตลอดชีวิตเหมือนครูบาอาจารย์ ทั้งหลายได้ออกปฏิบัติอยู่กันแต่ตามป่าตามเขาไม่ได้อาลัยอาวรณ์อยู่กับหมู่คณะ จึงทําให้นึกถึงครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นว่ามีอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ เมืองท่าอุเทน นครพนม เมืองสกลนคร และได้ตัดสินใจไปหาอาจารย์ที่เมืองสกลนคร

ดังนั้นท่านจึงได้ตั้งสัจจาธิษฐานขออุทิศชีวิตพรหมจรรย์แด่พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ วันนั้นตลอดทั้งคืนหลังตั้งจิตอธิษฐานแล้ว ท่านมีความรู้สึกปลอดโปร่ง เบากายเบาใจ อยู่มา ๒-๓ วัน โยมอุปัฏฐาก ได้มาบอกว่า พระอาจารย์จวง วัดธาตุเทิง อําเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ได้ไปกราบญาคูมั่นจึงกลับมา พระภิกษุแหวนจึงรีบไปนมัสการพระอาจารย์จวงที่วัดบ้านธาตุเทิง เพื่อขอทราบที่อยู่ของพระอาจารย์มั่นเมื่อได้รับฟังกิตติศัพท์ความเก่งกล้าสามารถของหลวงปู่มั่นจาก พระอาจารย์จวงแล้วยิ่งทําให้ท่านเพิ่มความศรัทธาเป็นทวี

จากนั้นพระภิกษุแหวน สุจิณโณ ก็ได้ออกธุดงค์มุ่งสู่สํานักของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต โดยผ่านม่วงสามสิบ คําเขื่อนแก้ว ยโสธร เลิงนกทา มุกดาหาร คําชะอี นาแก สกลนคร พรรณานิคม สว่างแดนดิน หนองหาน อุดรธานี บ้านผือ นับเป็นการเดินทางไกลและยาวนานเป็นครั้งแรก ได้เข้าพบหลวงปู่มั่น ที่ดงมะไฟบ้านค้อ ถามไถ่พอรู้ว่ามาจากอุบลราชธานี คําแรกที่หลวงปู่มั่นสั่งสอนก็คือ

“ต่อไปนี้ภาวนา ความรู้ที่เรียนมาให้เอาใส่ตู้ไว้ก่อน”

ท่านรู้สึกยินดีอย่างมากต่อคําสอนนี้ เพราะตนได้บรรลุสิ่งที่ต้องการที่ตั้งใจเอาไว้หลังจากมาอยู่ที่นี่ได้ ๔ วัน วันที่ ๕ พี่เขยและน้าเขยก็มาหาตาม ให้กลับไปเยี่ยมโยมพ่อที่จากมาเป็นเวลา ๑๐ ปีเศษแล้วไม่เคยกลับไปเยี่ยมท่านเลย

ครั้นได้ตัดสินใจกลับไปเยี่ยมโยมพ่อ จึงเข้ากราบลาพระอาจารย์หลวงปู่มั่นท่านว่า “ไปแล้วให้รีบกลับมา อย่าอยู่นานประเดี๋ยวเสียท่าเขา ถูกเขามัดไว้แล้วจะดิ้นไม่หลุด”

แล้วท่านก็ ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านเกิดไปเยี่ยมโยมพ่อได้

รุ่งขึ้นเช้าวันหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ท่านก็ได้เดินทางกลับถึงบ้าน พักที่วัดโพธิ์ชัยการกลับ มาเยี่ยมบ้านในครั้งนี้ ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ประจําบ้านนาโป่งและหมู่บ้านใกล้เคียงอื่น เพราะท่านจากบ้านไปเรียนหนังสือเมืองอุบลฯ แล้วไปอยู่ในป่าในเขาปนอยู่กับหมู่ช้าง เสือ เป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี ไม่เคยมาเยี่ยมบ้านและไม่เคยได้รับอันตรายจากสัตว์ร้าย เป็นเหตุทําให้ประชาชนหลั่งไหลมาเยี่ยมมาถามข่าว อย่างไม่ขาดสายประดุจมีงานมหกรรมประจําปีของหมู่บ้าน จนทําให้ท่านพักผ่อน ไม่เพียงพอเกิดล้มป่วย ญาติพี่น้องก็ไม่ได้สนใจให้การรักษาพยาบาลเท่าที่ควร ก็ทําให้ได้สติว่า ถ้าเราอยู่ที่นี่ต่อไปก็ไม่ได้ประโยชนย์อะไรเพราะเขาไม่สนใจใยดีในยามป่วยไข้ ที่วัดโพธิ์ชัย เองขณะนั้น ก็มีพระเพียง ๒ รูปนอกนั้นก็ลาสิกขากันหมด ถ้าอยู่ที่นี้ตนเองก็อาจจะลาสิกขาบทบ้าง ประกอบกับคําสั่งว่า

“อย่าอยู่นานให้รีบกลับมาภาวนา”

“แม่ยินดีมากถ้าลูกจะบวชให้แม่ แล้วก็ให้ตายกับ ผ้าเหลือง”

ของอาจารย์และแม่คอยย้ําเตือนอยู่เสมอ

นับเวลาได้เดือนเต็มที่กลับมาเยี่ยมบ้าน อาการอาพาธก็หายพอมีกําลังแต่ความคิดยังสับสนว่าจะกลับไปเรียนหนังสือที่อุบลฯ ตามที่พระอาจารย์เอี่ยมมีจดหมายมาถึง หรือจะกลับไปฝึกหัดภาวนาที่หลวงปู่มั่น ในที่สุดก็ได้ตัดสินใจเดินทางจากวัดโพธิ์ชัยมุ่งหน้าสู่ดงมะไฟ บ้านค้อหา หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อยู่รับการอบรมแล้วได้แยกไปหาที่วิเวกบําเพ็ญสมาธิภาวนาตามความเหมาะสมกับจิตของตน เมื่อถึงวันอุโบสถจึงได้ถือโอกาสเข้านมัสการถามปัญหาข้อข้องใจในการปฏิบัติจากพระอาจารย์จน เป็นที่เข้าใจแล้ว จึงกลับสู่ที่ปฏิบัติของตนสถานที่เหล่านี้ล้วนมีอันตรายรอบด้าน เพราะมีเสือร้องคํารามผ่านไปมามากมาย หลวงปู่มั่นเตือนผู้อยู่ในที่เช่นนั้นเสมอว่า ให้ตั้งใจภาวนาอย่าได้ประมาท ให้มีสติอยู่ทุกเมื่อ จงอย่าเห็นแก่การพักผ่อนหลับนอนให้มากนัก

ในระยะแรกออกปฏิบัตินี้ก็ไม่ได้ร่วมทําสังฆกรรมฟังการสวดปาติโมกข์เพราะยังไม่ได้ญัตติเป็นธรรมยุต ท่านให้พระมหานิกายออกไปให้พ้นเขตที่ท่านกําหนด เมื่อท่านสวดปาติโมขก์เสร็จแล้ว จึงให้พระมหานิกายมาบอกปาริสุทธิจากนั้นจึงแสดงธรรมอบรม พระมหานิกายที่รับการอบรมจากท่านหลวงปู่มั่น ครั้นนั้นมีหลายรูปเมื่ออยู่ไปนาน ๆ ได้เห็นความไม่สะดวกในการประกอบ สังฆกรรมดังกล่าวจึงไปกราบขออนุญาตญัตติเป็นพระธรรมยุต บางรูปก็อนุญาต บางรูปก็ไม่อนุญาต

สําหรับรูปที่ท่านไม่อนุญาตให้ญัตติเป็นธรรมยุต หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านให้เหตุผลว่า

“ถ้าพากันมาญัตติเป็นพระธรรมยุตเสียหมด แล้วฝ่ายมหานิกายจะไม่มีใครมาแนะนําในการปฏิบัติ มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกาย แต่มรรคผลขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนําสั่งสอนไว้แล้ว ละในสิ่งที่ควรละเว้นในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่นแหละคือทางดําเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน”

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๔ หลวงปู่แหวน ได้ออกแสวงหาพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทางการเทศน์ และการปฏิบัติธรรม ก็เห็นพระเถระที่มีชื่อเสียงด้านนี้ หลวงปู่มั่นเคยเล่ายกย่องอยู่เสมอคือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ คราวที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เดินมาตรวจการคณะสงฆ์ในภาคอีสานท่านก็ได้พบและทําให้ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปนมัสการท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ หลวงปู่แหวน จึงออกเดินทางจากอุดรธานี ผ่านป่าดงมายังนครราชสีมา แล้วต่อรถไฟเข้ากรุงเทพฯ จนถึงหัวลําโพงเดินจากหัวลําโพงไปวัดบรมนิวาส เข้านมัสการท่านเจ้าอุบาลีฯ ได้พํานักและศึกษาฟังธรรมอยู่หลายวัน

หลังจากที่หลวงปู่แหวนได้รับฟังธรรมและเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย พม่า และเชียงตุง จากท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ก็ได้จาริกไปพม่า อินเดียโดยผ่านออกทางแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก ข้ามแม่น้ําเมยขึ้นฝั่งพม่าต่อไปยังขลุกขลิกมะละแหม่ง ข้ามฟากไปถึงเมาะตะมะ ขึ้นไปพักที่คอยศรีกุตระกลับมามะละแหม่ง โดยสารเรือไปเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย แล้วต่อรถไฟ ไปเมืองพาราณสี เที่ยวนมัสการปูชนียสถานต่าง ๆ แล้วจึงกลับโดยเส้นทางเดิมถึงฝั่งไทยที่อําเภอ แม่สอดเดินเที่ยวอําเภอสามเงา

ปีต่อมาเดือนตุลาคม หลวงปู่ได้จาริกธุดงค์ไปเชียงตุง เชียงรุ้งในเขตพม่าโดยออกเดินทางไปด่านอําเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผ่านหมู่บ้านชาวเขาพักตามป่าเขาจารึกผ่านเชียงตุง จาริกต่อไปทางเหนือ อันเป็นถิ่นชาวเขา เช่น จีนฮ่อ ซึ่งอยู่ตามเมืองแสนทวี ฝีฝ่า หนองแส บางเมืองตั้งอยู่ ริมแม่น้ําโขง พอฝนตกชุกจวนเข้าพรรษาก็กลับเข้าเขตไทย สมัยเมื่อยังเป็นหนุ่มหลวงปู่แหวน ท่านชอบเที่ยวธุดงค์จาริกไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ส่วนใหญ่หลวงปู่จะพํานักอยู่ใน เขตจังหวัดอุบลฯ และอุดรฯ ตั้งใจจะไปให้ถึงสิบสองปันนา สิบสองจุไท แต่ทหารฝรั่งเศสห้ามเอาไว้จึงไปถึงวัดใต้หลวงพระบางแล้วก็กลับพร้อมกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมโม

ทางภาคเหนือ หลวงปู่ได้มุ่งเดินทางไปค่ําไหนนอนนั่น จากอําเภอท่าลี่จังหวัดเลยออกไป อําเภอด่านซ้าย ผ่านอําเภอน้ําปาด อําเภอนครไทย อําเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ตัดไปอําเภอ นาน้อย แพร่ หมู่บ้านชาวเข้า อําเภอสูงเม่น อําเภอเด่นชัย ลําปาง เชียงใหม่เที่ยวดูภูมิประเทศโดย รอบเขาดอยสุเทพ

ตลอดเวลาหลวงปู่แหวน ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระอุปาลีคุณูปมาจารย์ ด้วยดีตลอดมา ภายหลังจากได้เข้ากรุงเทพฯ ไปนมัสการสนทนาธรรมกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลี แล้วได้ ๖ ปีต่อมา (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๐) ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เห็นว่าหลวงปู่แหวน เป็นผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติมีวิริยะอุตสาหะ ปรารภความเพียรสม่ําเสมอไม่ท้อถอย มีข้อวัตรปฏิบัติดี มีอัธยาศัยไมตรีไม่ขึ้นลง คุ้นเคยกันมานานเห็นสมควรจะได้ญัตติเสีย

หลวงปู่แหวน จึงตัดสินใจเป็นพระธรรมยุตที่พัทธสีมา วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระนพีสิ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ต่อมาหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ซึ่งเคยเป็นสหธรรมิกร่วมธุดงค์กันก็ได้ญัตติเป็นธรรมยุตเหมือนกัน

ในระหว่างที่จาริกแสวงหาวิเวกอยู่ทางภาคเหนือนั้น หลวงปู่ได้พบกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย และได้แยกย้ายกันจําพรรษาตามป่าเขา หลวงปู่แหวนได้แยกเดินทางออกมาทางทุ่งบวกข้าว จนถึงป่าเมี่ยงขุนบึง พอออกพรรษาหลวงปู่มั่น พระอาจารย์พร สุมโน ได้มาสมทบที่ป่าเมี่ยงขุนบึง ขณะนั้นพระอาจารย์เทศก์ เทสรังสี พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ มาร่วมสมทบอีก เมื่อทุกท่านได้รับโอวาทจากหลวงปู่มั่นแล้วต่างก็แยกย้ายกันไป หลวงปู่แหวนพร้อมหลวงปู่ขาว พระอาจารย์พร ไปที่ดอนมะโมหรือดอยน้ํามัว ส่วนหลวงปู่มั่นอยู่ที่กุฏิชั่วคราวที่ชาวบ้านสร้างถวายที่ป่าเมี่ยงขุนบึงนั่นเอง

ภายหลังหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เดินทางกลับอีสานแล้ว หลวงปู่แหวนยังคงจาริกแสวง วิเวกบําเพ็ญธรรมอยู่ป่าเมี่ยงแม่สาย หลวงปู่เล่าว่าอากาศทางภาคเหนือถูกแก่ธาตุขันธ์ดี ฉันอาหารได้มาก ไม่มีอาการอึดอัด ง่วงซึม เวลาภาวนาจิตก็รวมลงสู่ฐานสมาธิได้เร็วนับว่าเป็นสัปปายะ

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ขณะที่หลวงปู่แหวนปฏิบัติธรรมอยู่ที่เชียงใหม่ ได้ทราบข่าวว่า ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ประสบอุบัติเหตุ ขณะขึ้นธรรมาสน์เพื่อแสดงธรรมถึงขาหักจึงเดินทางจากเชียงใหม่ลงกรุงเทพฯ มากราบเรียนให้หลวงปู่มั่นทราบที่อุตรดิตถ์ แล้วเดินทางโดยรถไฟถึง โกรกพระ นครสวรรค์ ลงเดินเลียบแม่น้ําเจ้าพระยามาถึงวัดคุ้งสําเภาพักค้างคืนหนึ่งแล้วจึงลงเรือล่องมาถึงกรุงเทพฯ เฝ้าพยาบาลท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ นานหนึ่งเดือนจึงกราบลาไปจําพรรษาที่เชียงใหม่

ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ หลวงปู่จําพรรษาที่วัดบ้านปง อําเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เกิดอาพาธ แผลที่ขาอักเสบ ทรมานมาก ท่านจําพรรษาอยู่รูปเดียว ชาวบ้านก็ไม่ค่อยเอาใจใส่เท่าที่ควร ได้ท่านพระอาจารย์หนู สุจิตโต วัดดอยแม่ปั๋ง อําเภอพร้าว พาหมอจี้ (อดีตทหารเสนารักษ์) มาทํา การผ่าตัดโดยไม่ได้ฉีดยาชาหรือกรรมวิธีใดๆ ตามแบบวิธีการผ่าตัดในปัจจุบันโดยใช้มีดผ่าตัดเล่มเดียว ท่านมีความอดทนให้กระทําจนสําเร็จและหายไปในที่สุด

อีกหลายปีต่อมาพระอาจารย์หนูเห็นว่า หลวงปู่แก่มากแล้ว ไม่มีผู้อุปัฏฐาก จึงได้ชักชวนญาติโยมไปนิมนต์ให้ท่านมาจําพรรษาที่วัดดอยแม่ปั๋ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในฐานะเป็นพระผู้เฒ่า ทําหน้าที่ปฏิบัติธรรมอย่างเดียวไม่ขอเกี่ยวข้องกับภาระหน้าที่อื่นใดอีก และท่านยังได้ตั้งสัจจะว่า ต่อไปนี้จะไม่รับนิมนต์ ไม่ขึ้นรถ ไม่ลงเรือ แม้ที่สุดจะเกิดอาพาธหนักเพียงใดก็จะไม่ยอมเข้านอนโรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่ แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติตามที่ตั้งใจไว้ได้

นับตั้งแต่ท่านขึ้นไปภาคเหนือแล้วท่านก็ไม่เคยไปจําพรรษาที่ภาคอื่นอีกเลย ท่านเคยอยู่บนดอยสูงกับชาวเขาเกือบทุกเผ่าอยู่ในป่าเขาภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลําปาง ภาคเหนือตอนล่าง เช่น แพร่ น่าน ตาก กําแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ท่านเคยจาริกไปเป็นครั้งคราว วัดดอยแม่ปั๋งเป็นสถานที่หลวงปู่อยู่จําพรรษาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ติดต่อ กับมาจนกระทั่งมรณภาพ

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ มีโรคประจําตัวอยู่อย่างหนึ่งไม่ทราบว่าเป็นมาตั้งแต่เมื่อไร รักษาไม่เคยหาย โรคที่ว่านี้ได้แก่ แผลเรื้อรังที่กันกบยาวประมาณ ๑ ซม. มีอาการคันถ้าอักเสบก็จะเจ็บปวดมาก และอีกโรคหนึ่งคือเป็นต้อกระจกนัยน์ตาด้านซ้าย เป็นต้อหินนัยน์ตาด้านขวา หมอได้เข้าไปให้การรักษาเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ สุขภาพก็ยังแข็งแรงตามวัย ครั้นปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ร่างกายซูบผอม อ่อนเพลีย ฉันได้น้อย ขาทั้ง ๒ ข้างเป็นตะคิวบ่อย ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๐ สุขภาพค่อนข้างซูบ เหนืออ่อน เวียนศีรษะถึงกับเคยเซล้มลง ฉันได้น้อย มีอาการไม่สบายเรื่อยมา และ ท่านได้รับอุบัติเหตุหกล้มขณะครองผ้าจีวรในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นวันที่ทางวัดจัดงานผูกพัทธสีมา ทําให้เจ็บบั้นเอวกระดูกสันหลัง ลุกไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับที่รักษาอยู่เดือนหนึ่งก็หายเป็นปกติ เนื่องจากหลวงปู่อายุมากแล้ว จึงมีอาการอาพาธมาโดยตลอดและคณะแพทย์ก็คอยให้การรักษาด้วยดีตลอดมา

ครั้นวันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เวลา ๒๑.๕๓ น. การหายใจครั้งสุดท้ายก็มาถึง หลวงปู่ท่านได้ละร่างอันเป็นขันธวิบากไปด้วยอาการอันสงบ สิริรวมอายุได้ ๙๔ ปี

ธรรมโอวาท

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ท่านได้แสดงธรรมโอวาทหลายเรื่อง เช่น

“การต่อสู้กามกิเลสเป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนักมันมาทุกทิศทุกทาง พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงก็ถอนได้”

“กามกิเลสนี้แหละ เป็นบ่อเกิดแห่งการฆ่ากันตาย ชิงดีชิงเด่น กิเลสตัวเดียวทําให้ การต่อสู้แย่งชิงกัน ความรักความชังจะพึงเกิดขึ้นในจิตในใจก็เพราะกาม”

“ตัดอดีต อนาคตลงให้หมด จิตนิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน ทําใน ปัจจุบัน เเจ้งอยู่ในปัจจุบัน”

“ของเก่าปกปิดความจริง”

“ของเก่าซึ่งไม่จีรังยั่งยืน จะต้องผุ เน่าเปื่อยไปในที่สุด”

“ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีความเพียร ไม่มีความสําเร็จ”

เรื่อง ของเก่าปกปิดความจริง

การพิจารณาก็ต้องน้อมเข้ามาสู่ภายใน พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้วมันก็วางเอง คูบาญาปู่มั่น ท่านว่า

“เหตุก็ของเก่านี้แหละแต่ไม่รู้ของเก่า”

ของเก่านี่แหละมันบังของจริงอยู่นี้ มันจึงไม่รู้ ถ้ารู้ของเก่านี้มันก็ไม่ต้องไปคุย มีแต่ของเก่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ของเก่านี่แหละ ขา แขน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ของเก่านี่ เวลามาปฏิบัติภาวนาก็พิจารณาอันนี้แหละ ให้มันรู้แจ้งเห็นจริง

ให้มันรู้แจ้งออกมาจากภายใน มันจึงไปนิพพานได้ นิพพานมันหมักอยู่ในของสกปรกนี่ มันจึงไม่เห็น พลิกของสกปรกออกดูให้เห็นแจ้ง นักปราชญ์ท่านไม่ละความเพียรเอาอยู่อย่างนั้นแหละ

เอาจนรู้จริงเห็นจริงรู้แจ้งเห็นแจ้งที่นี้มันไม่มาเล่นกับก้อนสกปรกนี้อีกพิจารณาไปพิจารณาเอาให้ นิพพานใสอยู่ในภายในนี้ให้มันอ้อ นี่เองถ้ามันไม่แจ้งมันไม่อ้อหนาเอาให้มันถึงอ้อจึงใช้ได้

ครั้นถึงอ้อแล้วสติก็ดี ถ้ามันยังไม่ถึงแล้ว เต็มที่สังขารตัวนี้ พิจารณาให้มันรู้แจ้งเห็นจริง ในของสกปรกเหล่านี้แหละ ครั้นรู้แจ้งเข้ารู้แจ้งเข้ามันก็เป็นผู้รู้พระนิพพานเท่านั้นที่มันหมักอยู่กับ ของสกปรกนี้หนา…จะไปเอาที่ไหนก็เอามันมีอยู่นี่แหละ ตา ๑ หู ๑ ตาดูรูปเป็นหญิงก็ดีเป็นชายก็ดี หรือเป็นรูปต่างๆ ก็ดี พอมันเกิดมันเกิดมาแต่ที่ไหน คนนั้นว่าอย่างนั้น คนนี้ว่าอย่างนี้ ว่าอย่างไร ก็ตามมันก็อันเดียวนี่แหละ จําไว้ดี ๆ ถ้าไม่จําไว้ดีๆ มันก็คุบของเก่าอดีตอนาคตนี่แหละมันสําคัญ อตีตา ธมมา อนาคตา ธมมา อดีตอนาคตเป็นตัวเหตุ เอาเข้ามามันก็หอบเอา ๆ แหละ ไม่รู้เท่ามัน

หลวงปู่มั่น ท่านว่า เอาที่นี่หนาจะไปเอาที่ไหนมากมาย เก็บเอาหอบเอาไม่ได้หนา ประเดี๋ยว ไฟนรกไหม้ คุยไปคุยมามันก็ของเก่านั่นแหละ เอาแต่มันให้รู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรม อันเป็นพระนิพพาน มันจึงเป็น มันจึงถึงพระนิพพานจึงเป็นผู้เบื่อหน่ายต่อโลกทั้งหลายคือกิเลสนั่นแหละ ผู้ที่คุบของเก่าก็คบอยู่นั่นแหละมันก็เป็นของเก่าอยู่นั่นแหละ ตั้งจิตให้ถึงพระนิพพาน มันก็ของเก่า นั่นแหละพิจารณาให้แน่หนา นักปฏิบัติแท้ๆ ก็ยังไปคุบเอาของเก่าหนา ว่าอย่างไร มันก็ไม่ยอมละ มันเคยยึดมานานแล้ว

แยกแยะออกไปให้มันเห็นเป็นของสกปรก อย่างนั้นหรือ ?

ไม่ต้องไปแยกมันหรอก มันก็สกปรกอยู่นั่นแหละ อย่างเราถ่ายออกมามันก็เหม็นอยู่นั่น มันรู้แจ้งแล้วมันก็วางหมด ให้มันรู้แจ้งเห็นแจ้ง รู้จริงเห็นจริง มันก็มีเท่านี้แหละหลวงปู่มั่นท่านว่า มันจะไปหาเอาที่ไหน จะไปหาบไปหามเอาที่ไหน ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น กาย นี้ใจ นี่ จําเอาของเก่านี้ หลงของเก่านี้ หลวงปู่มั่นท่านดุเอาเอ็ดเลย จําหลักให้มันแน่วแน่ ว่าอย่างไรมันก็ของเก่า มันไม่รู้ของ เก่ามาแต่นานแล้ว อดีตอนาคต ไม่ต้องว่ามาก เอามันอยู่ปัจจุบันนี้แหละ จะไปที่ไหน จะไปหอบไป หาบเอาที่ไหน มันมีเท่านี้หนาตา นี้ ตา ก็รักษาให้ดี ตา เห็นรูปเกิดความพอใจไม่พอใจ มันก็เกิด อยู่นี้แหละ ความพอใจไม่พอใจก็ดี เอาตรงนี้จะไปเอาที่ไหนล่ะ

ผม ขน เล็บ เล็บมือ เล็บเท้า เป็นมรรคผ่นเข้า ๆ มันเป็นไฟลุกไหม้อยู่นี่ผู้ปฏิบัติต้องเอาหลักอันนี้ อันนี้ก็รูป อันนั้นก็รูป มันมาจากไหน เต็มแผ่นดินมันมากับพวกนี้แหละเราสมมติมันต่างหาก จําหลักอันนี้ให้แม่น ๆ เพียรก็พิจารณาอยู่ในหลักอันนี้แหละ จะไปคุบเอาอย่างอื่นมา ไม่ได้แหละ

นักปฏิบัติต้องยนเข้ามาหาหลักมัน มันไม่ได้มาแต่ที่ไหน มันก็มาจากอดีตของเรานั่นแหละ ทําไป ๆ มันคอยจะง่วงมันคอยจะหลับเรื่อยครับ ?

จําหลักให้มันแม่น ๆ มันไม่ไปที่ไหนหละ พระนิพพาน ครั้นเห็นนิพพานได้แล้วมันจึง เบื่อโลก เวลาทําก็เอาอยู่นี่แหละ ใครจะว่าไปที่ไหนก็ตามเขา ละอันนี่แหละทําความเบื่อหน่ายกับอันนี้แหละ ทั้งก้อนนี้หละ นักปฏิบัติต้องพิจารณาอยู่นี่แหละ ชี้เข้าไปที่ผมขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ให้ พิจารณากาย พิจารณาใจ ให้เห็นให้เกิดความเบื่อหน่าย

ญาปู่ดูอาจารย์มั่น จริง ๆ ผู้เฒ่า จะไปเอาที่ไหน จะออกจากกายจากใจไปที่ไหน เอา ขนาดนั้นมันก็ยังไม่ค่อยจะเอาหนาจิตนี่ ความหลงไม่ใช่น้อยหนาจําจริงๆ เอาอยู่อย่างนั้น เอาเข้า ๆ

มันมีหลายตัวหนา กิเลส กิเลสความพอใจ ความไม่พอใจ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นแหละ ทั้ง ๒ หู ๒ ตา ๒ แขน ๒ ขา ลิ้น กาย ของดี มันอยู่นี่แหละ ผู้ปฏิบัติต้องน้อมเข้าหาสมมติให้เกิดเป็นวิมุตติ พิจารณา ให้รู้แจ้งสมมติให้เกิดวิมุติของเก่านั่นแหละ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เทศนาโปรดพุทธเวไนยสัตว์ พระองค์ก็ตรัสรู้อันนี้แหละ พระองค์จะตรัสรู้พระสัพพัญญเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อโปรดพุทธเวไนยสัตว์ทั้งหลายก็มีเพียงเท่านี้แหละ

การสวดมนต์ว่าไปก็ทําให้ใจสบาย ตาเห็นผ่านมาแล้ว ของเก่านั่นแหละมันเก็บมา ๆ จําให้แน่น ๆ เอาอันมีอยู่นี่และ มีอยู่เท่านี้ ที่อื่นมันก็มี แต่มันมีเรื่องจําได้อยู่ถ้า อตีตธรรมเมา อนาคตาธรรมเมา อันนี้แหละมันเมาอยู่นี้ ของเก่านั่นแหละ เอามันอยู่นี่แหละจะไปหอบเอาอะไรที่ไหนเอาให้มันแน่ ๆ เวลาฟังมันก็แน่อยู่ จี้มันอยู่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมทั้งหลาย มันเกิดขึ้นจากนี้แหละ มันดับไปจากนี่แหละ ได้

นักปฏิบัติของเราต้องเอาให้หนักกว่าธรรมดา ทําใจของตนให้แน่วแน่ มันจะไปสงสัยที่ไหน สงสัยมันก็สงสัยอันนี้แหละ ของเก่านี่แหละ เอาเข้า ๆ กิเลสมันปรุงขึ้น โอ.ความพอใจไม่พอใจมัน อยู่นี่แหละมันเกิดขึ้นนี่แหละ มันเกิดมันดับอยู่นี้ แหละไม่รู้เท่ามัน ถ้ารู้เท่ามันก็ดับไป มันเกิดขึ้นมาแล้ว เกิดดีเกิดชั่ว เกิดผิดเกิดถูกมันก็ดับไป ถ้ารู้เท่าทันมัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย แขน ขา มันก็อยู่นี่แหละ มันจะไปที่ไหน ปัจจุบันจะมีอยู่ที่ตนนักปฏิบัติความหลง ความโลภ มันก็เกิดอยู่นี่แหละ ราคะ โมหะ มันก็เกิดอยู่นี่แหละความโกรธ ความหลงความโลภ มันก็เกิดอยู่นี่ ถ้าจี้มันอยู่อย่างนี้ มันก็ค่อยได้กําลัง ของเก่านั่นแหละ คิดถึงคูบาญาปู่มั่นท่านว่า มันอยู่นี่ จะไปหาที่ไหนจะไปหอบไปหาบเอาที่ไหน มันอยู่นี่อยู่ในตัวเรานี่ร้องใส่อย่างนี้แล้ว ก็หัวหนาผู้เฒ่า แต่ก่อนผู้เฒ่าปรารถนาพุทธภูมิ ผู้เฒ่าตัดออกหมด ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ในภายใน รู้ภายนอกภายใน หมดแล้วมันก็หยุด มันก็สบาย

ปัจฉิมบท

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นพระมหาเถระ ซึ่งได้ดําเนินชีวิตของท่านอยู่ในเพศของ บรรพชิตมาตั้งแต่อายุเยาว์วัย เป็นพระนักศึกษาและนักปฏิบัติธรรมมาโดยตลอดเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร ทั้งที่เมื่อยังเป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและเป็นฝ่ายธรรมยุตแล้วดังที่หลวงปู่มั่นเคย แสดงเหตุผลว่า “มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกาย”

หลวงปู่เป็นผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาบารมีธรรม เป็นปูชนียบุคคลชาวพุทธให้ความเคารพสักการะอย่างมาก เมตตาบารมีธรรมของหลวงปู่ยังผลให้กุลบุตรกุลธิดาใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรม สืบสร้างความมั่นคงให้แก่พระศาสนา ทําให้เกิดมีการก่อสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น โรงพยาบาล วัด อาคาร อํานวยคุณประโยชน์ต่างๆ แก่สังคมสืบมาจนถึงปัจจุบัน ชีวิตร่างกายของท่านได้ดับสลายไป แต่คุณงามความดีของท่านยังตรึงแน่นอยู่ในจิตสํานึกของพุทธศาสนิกชนอย่างไม่มีวันเสื่อมคลายเพราะท่านเป็นพระผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบในฐานะพุทธชิโนรส เป็นเนื้อนาบุญ ของผู้ต้องการบุญในโลกนี้