วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

ยาถ่านมหาผ่อง สะมาเลิก วัดองค์ตื้อ มหาวิหาร นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์ใหญ่ ยาถ่านมหาผ่อง สะมาเลิก

วัดองค์ตื้อ มหาวิหาร
นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

พระอาจารย์ใหญ่ ยาถ่านมหาผ่อง สะมาเลิก วัดองค์ตื้อมหาวิหาร สปป.ลาว

พระอาจารย์ใหญ่ ยาถ่านมหาผ่อง สะมาเลิก อริยสงฆ์สองแผ่นดิน หรือสองฝั่งโขง เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๙ ที่ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย ได้บรรพชา และ อุปสมบท ที่วัดโพธิ์ศรี อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๙ และได้เข้ามาอยู่วัดชนะสงคราม บางลำพู กรุงเทพฯ

โดยญาติพี่น้องได้สำทับว่า หากไม่ได้เป็นมหาเปรียญ อย่าได้กลับ จ.อุบลราชธานี ยาถ่านมหาผ่อง ท่านจึงทุ่มเทเรียนปริยัติธรรม ที่วัดชนะสงครามอย่างเต็มที่ จนสามารถสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค เข้ารับพระราชทานพัดเปรียญจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) ในปี พ.ศ.๒๔๘๙

จากนั้นได้ทำหน้าที่สอนพระปริยัติธรรม ที่วัดชนะสงครามอีก ๖ ปี รวมเวลาที่เป็นนักเรียน และ ครูที่วัดชนะสงคราม ๑๖ ปี หลังจากนั้นได้เข้าร่วมขบวนปลดปล่อยประเทศลาวอย่างเต็มตัว และอยู่ฝั่ง สปป.ลาว นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้นมา

จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๙๘ จึงได้รับอาราธนาให้ไปสอนหนังสือที่ วัดองค์ตื้อมหาวิหาร นครหลวงเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ จึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองโพนทอง ครั้น พ.ศ.๒๕๑๕ จึงได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะแขวงจำปาศักดิ์

หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ณ วัดองค์ตื้อมหาวิหาร สปป.ลาว

ก่อนที่จะเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ลาว ท่านได้เคลื่อนไหวร่วมกับเสรีไทยช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เพื่อต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น ต่อมาได้เดินทางไปภาคอีสาน พบกับสมเด็จเจ้ามหาอุปราชเพชรราช รัตนวงศา มหาเสนาบดีลาว (วีรบุรุษของลาว ผู้จัดตั้งรัฐบาลลาวอิสระปลดแอกจากการปกครองของฝรั่งเศส) เมื่อ ค.ศ.๑๙๔๖ หรือ พ.ศ.๒๔๘๙ ในช่วงนั้นได้พบกับโฮจิมินห์ หรือประธานโฮ เมื่อเจ้าเพชรราชไปช่วยประธานโฮที่ถูกจับที่ จ.หนองคาย ท่านประธานโฮ ถามว่าท่านมหาผ่องเป็นใคร สมเด็จเจ้าเพ็ชรราชว่าเป็นลูกชาย และเป็นที่ปรึกษาในฐานะพระครูหลวง ประธานโฮ บอกว่า ถ้าอย่างนั้นต้องเป็นลูกชายโฮด้วย ซึ่งหลวงปู่มหาผ่อง บอกว่าคือ เป็นบุตรบุญธรรมร่วมอุดมการณ์ ตอนนั้นพระมหาผ่องอายุ ๓๕-๓๖ ปี

ลุงโฮ หรือประธานโฮจิมินห์ เคยอยู่ทางอีสานของไทยเป็นเวลา ๘ ปี พูดภาษาไทยได้ เคยบวชพระที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่คนรู้จักในนามลุงจิ้น ก่อนจะไปทำสงครามปลดปล่อยเวียดนามจากฝรั่งเศส ต่อสู้กับการยึดครองของอเมริกาที่เวียดนามใต้ จนได้รับชัยชนะเวียดนามกลายเป็นประเทศเดียว ตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๗๕ ที่อนุสรณ์สถานหรือสุสานลุงโฮ กรุงฮานอย มีชื่อลูกบุญธรรมที่ชื่อ พระมหาผ่อง จารึกอยู่ด้วย

ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๘๙ ได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้กู้ชาติกับรัฐบาลสมเด็จเจ้ามหาอุปราช เพ็ชรราช รัตนวงศา ในประเทศไทย แต่ในปี พ.ศ.๒๔๙๕-๒๔๙๘ ต้องกลับจากประเทศไทยเพื่อไปเคลื่อนไหวทางการ เมืองที่แขวงจำปาสัก ในฐานะเป็นครูสอนที่โรงเรียนมัธยมสงฆ์วัดหลวง เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว

ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๙๘ – ๒๕๐๐ ได้ขึ้นไปเคลื่อนไหวอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ในฐานะที่เป็นครูสอนและเป็นเลขาธิการองค์การปกครองสงฆ์ ปี พ.ศ.๒๕๐๐ กลับจากนครหลวงเวียงจันทน์ ลงไปเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ทางแขวงจำปาสักในฐานะเป็นเจ้าคณะเมือง เมืองโพนทอง และเป็นเจ้าคณะแขวงจำปาสัก ในปลายปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้เข้าร่วมขบวนการยึดอำนาจอยู่ที่แขวงจำปาสัก

หลังจากนั้น ทางศูนย์กลางฯ ได้เรียกขึ้นมานครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเข้าร่วมการจัดตั้งชั่วคราวและทางการได้มอบ ภารกิจให้กลับลงไปจำปาสักเพื่อรวบรวมพระสงฆเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตามแนวนโยบายของพรรคและรัฐที่ถูกต้องเป็นธรรมและสอดคล้องกับ ลักษณะที่แท้จริงของศีลธรรมทางพุทธศาสนา โดยการรวบรวมเต้าโฮมพระสงฆเถรานุเถระผู้ทรงคุณวุฒิ ในทั่ว ๓ แขวงภาคใต้ ขณะที่รับผิดชอบศาสนกิจทางภาคใต้เขต เมืองโพนทอง แขวงจำปาสักนี้ ได้จัดตั้งเจ้าอธิการทุกวัดอย่างทั่วถึง และมีการประชุมใหญ่ประจำปี ปีละ ๑ ครั้ง และได้ออกเผยแผ่อบรมทั้งภิกษุสามเณร และญาติโยมทั้งในเขตและนอกเขตรับผิดชอบของตนเอง อีกทั้งยังได้จัดตั้งและนำแนวทางของพรรคและรัฐ ร่วมกับองค์การเผยแผ่ไปทั่วประเทศอย่างมิขาดสาย

ครั้นปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะแขวงจำปาสัก แต่ก็ยังไม่ละทิ้งบทบาทด้านการกู้ชาติ ทำงานทั้งด้านการปกครอง ศาสนา และฝ่ายบ้านเมือง จนวันที่ ๒ ธันวาคม ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ฝ่ายศาสนา มีพระมหาผ่องเพียงรูปเดียวที่อยู่บนเวทีประกาศยึดอำนาจ และเป็นพระสงฆ์รูปเดียวที่เป็นกรรมการพรรคขณะยึดอำนาจ โดยมีจุดยืนสำคัญคือ พระพุทธศาสนาต้องไปกับทุกระบบการปกครอง แต่ไม่ร่วมหัวจมท้ายกับระบบการปกครองใดการปกครองหนึ่ง พุทธศาสนาจะเป็นกำลังขับเคลื่อนนำสันติสุขมาสู่ประชาชน

หลังจบความวุ่นวายทางการเมืองทั้งหลาย พระอาจารย์ใหญ่ยังได้สร้างผลงานอันโดดเด่นในโลกพระพุทธศาสนา กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ ท่านได้รับนิมนต์ให้ไปดำรงตำแหน่งรองประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ประจำ ณ วัดพระเจ้าองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์ และประสานงานรอมชอมพระสงฆ์ ๒ นิกาย อันได้แก่ มหานิกายและธรรมยุตินิกาย ซึ่งแตกแยกมานานให้สมานฉันท์ ยินยอมพร้อมใจกันรวมนิกายเข้าเป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งยุบเลิกสมณศักดิ์และตำแหน่งทั้งปวง พระสงฆ์ลาวทั้งสองนิกายพร้อมใจกันทำสังฆสามัคคีอุโบสถณ นครหลวงเวียงจันทน์ ในวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก (ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ ๑ เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.๒๕๒๓) ณ บัดนี้ ไม่มีนิกายสงฆ์ในลาวอีกต่อไปแล้ว มีแต่ “พระสงฆ์ลาว” เท่านั้น

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓ ญาท่านพระมหาวิจิตร วีรญาโณ (สิงหะราช) ประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว รูปที่ ๓ ได้ถึงแก่มรณภาพลง ญาท่านพระมหาผ่อง ปิยธีโร (สมาเลิก) จึงได้รับการยกย่องขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว เป็นรูปที่ ๔ ซึ่งตำแหน่งนี้เทียบเท่ากับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชของไทย

นอกจากพระมหาผ่องจะเป็นพระสงฆ์ที่เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แก่ผู้พบเห็น ท่านยังทำงานหนักในด้านการก่อสร้างสาธาณูปการ ทั้งยังมีงานการรจนาประพันธ์หนังสือธรรมะและสารคดีประวัติ เช่น
๑.หนังสือประวัติพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
๒.ประวัติหลวงปู่สมเด็จลุน
๓.ประวัติพระอาจารย์สุกาว ญาณวุฑโฒ (วิปัสสนาจารย์)
๔.ประวัติพระลูกแก้ว คูนมณีวง และหนังสืออานิสงส์เทศนา
๕.ประวัติย่อพระอาจารย์ใหญ่มหาผ่อง สะมาเลิก
๖.พุทธทำนายความฝัน ๑๖ ข้อ ของพระเจ้าปเสนทิโกสล
๗.หนังสือสวดมนต์และรวมบทเทศน์อานิสงส์เทศนา

ช่วงบั้นปลายชีวิต พระอาจารย์ใหญ่ยังคงเทศนาสั่งสอนให้ผู้คนรักในแผ่นดินเกิด ดังเช่นคำกล่าวในงานบุญนมัสการพระธาตุหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๖ ความตอนหนึ่งว่า

“ผืนแผ่นดินลาวนี้ บ่ได้ยืมไผมา บ่ได้ตบตียาดแย่งเอาจากไผมา มันแม่นทรัพย์สมบัติที่มีมาแต่ดั้งเดิมที่บรรพบุรุษลาวได้ปกปักรักษา ต่อสู้หวงแหนมายาวนาน จึงสามารถพร้อมกันปกป้องรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้ให้ยาวนานตลอดไป”

ศาสนกิจสุดท้ายของท่านพระมหาผ่องคือเดินทางไปร่วมงานเสวนา “พุทธพลิกสุวรรณภูมิ : สามัคคีธรรม แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” จัดโดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐ และมูลนิธิวีระภุชงค์ ที่โรงแรมโซพิเทล อังกอร์ โภคีธรา กอล์ฟ @ สปา รีสอร์ท จ.เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ ๙-๑๓ กันยายนที่ผ่านมา มีคณะสงฆ์อาเซียน ๕ ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว เข้าร่วม โดยท่านเป็นประธานกล่าวเปิดงานและแนะนำพระธรรมทูตว่า การเผยแผ่ธรรมะของคณะสงฆ์ ๕ ประเทศ จะสำเร็จสู่เป้าหมายโดยเร็วต้องละสังโยชน์ ๓ ประการ ได้แก่

๑. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นเชื่อผิดในตัวตน
๒. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในพระรัตนตรัย และ
๓. สีลัพพตปรามาส คือ ความถือมั่นในข้อบังคับและข้อปฏิบัติที่ทำตามกันมาอย่างงมงาย

หากละ ๓ สิ่งนี้ได้อย่างสมบูรณ์ถือว่าบรรลุขั้นโสดาบันแล้ว

ทั้งหมดคือเรื่องราวชีวิตอันน่าเลื่อมใสยิ่ง ของพระสงฆ์ผู้อยู่ในใจของทั้งชาวลาวและอีสาน ไม่ใช่เพียงเพราะตำแหน่งอันเทียบเท่าพระสังฆราช หากแต่ด้วยวัตรปฏิบัติและประโยชน์นานัปการที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้พระพุทธศาสนา อันจะมั่นคงสืบไป

ຊ້າຍຫາຂວານັ່ງ
1 ຍາທ່ານມະຫາເວດ ມະເສນັຍ ວັດສີສະເກດ
2 ຍາທ່ານມະຫາບົວຄຳ ສາບີບຸດ ວັດຂົວຫລວງ
3 ຍາທ່ານມະຫາຄຳຕັນ ວໍລະບຸດ ວັດດົງປ່າລານ
4 ຍາທ່ານມະຫາຜ່ອງ ສະມາເລິກ ວັດອົງຕື້ມະຫາວິຫານ
5 ຍາທ່ານມະຫາງອນ ດຳລົງບຸນ ວັດທາດຫລວງເຫນືອ
6 ຍາທ່ານມາຫາຊາລີ ກັນຕະສີໂລ ວັດປ່ານາຄູນນ້ອຍ
พระอาจารย์ใหญ่มหาผ่อง สะมาเลิก วัดองค์ตื้อมหาวิหาร สปป.ลาว มรณภาพ

นับเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงสำหรับพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขง เมื่อพระอาจารย์ใหญ่ ยาถ่านมหาผ่อง ปิยะทีโร (สะมาเลิก) ประธานศูนย์กลางการพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (อพส) พระสังฆราชลาวรูปที่ ๔ เจ้าอาวาสวัดองค์ตื้อ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ละสังขารลงเมื่อเวลา ๑๗.๑๑ น. วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๘ หลังจากมีอาการอาพาธ และ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สิริรวมอายุ ๑๐๐ ปี ๖ เดือน ๘๑ พรรษา

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ https://www.bangkokbiznews.com