ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อไปล่ ฉันทสโร
วัดกำแพง
เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ
หลวงพ่อไปล่ ฉนฺทสโร วัดกำแพง พระเกจิอาจารย์ชื่อดังฝั่งธนบุรี เป็นที่เคารพและเลื่อมใสศรัทธาของเหล่าพุทธศาสนิกชนตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อไปล่ ฉันทสโร วัดกำแพง เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ เป็นบุตรเป็นบุตรนายเมฆ และนางเหม นามสกุล “ทองเหลือ” เป็นชาวบ้าน ต.บางบอนใต้ อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี นายเมฆนั้นเป็นคนเมืองตากได้นำยาเหนือ (ยาเส้น) มาขายที่หมู่บ้านบางบอนเป็นประจำจึงได้รู้จักแต่งงานกับอำแดงเหม มีบุตรชายหญิง ๕ คน คือ
๑. นายพุ่ม อ่อนทรัพย์ (ใช้นามสกุลทางภรรยา)
๒. หลวงพ่อไปล่ ฉนฺทสโร (ทองเหลือ)
๓. นางคร้าม พลับทอง
๔. นายมั่น ทองเหลือ
๕. นายกิ๊ว ทองเหลือ
นายเมฆเมื่อได้แต่งงานอยู่กินกับอำแดงเหมแล้วไม่นาน จึงได้เลิกทำการค้าขายยาเหนือ หันมาประกอบอาชีพทำนาตามอย่างภรรยา ซึ่งได้ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวได้รับความสุขตามสมควร
เมื่อนายพุ่มได้แต่งงานไปแล้ว นายไปล่จึงทำหน้าที่พี่คนโตอยู่ในบ้านแทน ต้องช่วยพ่อแม่ดูแลการทำไร่ไถนา ตลอดจนงานบ้านการครัว นายไปล่ก็มีความสามารถไม่แพ้ผู้หญิง กล่าวกันว่ามีความถนัดในการใช้กระด้งตะแกรงได้เป็นอย่างดี เช่นการผัด การร่อน การกระทก และกระทาย เป็นต้น รวมทั้งการดูแลพวกน้องๆ เป็นหูเป็นตาแทนพ่อแม่ได้เป็นอย่างดี
ด้วยนายไปล่มีนิสัยสุภาพอ่อนโยน และเลื่อมใสศาสนามาตั้งแต่เยาว์ เมื่อครั้งที่หลวงพ่อคง มาบูรณปฏิสังขรณ์ ท่านได้เปิดสำนักเรียนขึ้นสอนหนังสือให้กับผู้ที่มีความประสงค์จะบรรพชาอุปสมบทและเด็กชายที่อยู่ในหมู่บ้านบน บ้านล่าง นายไปล่มีอายุพอที่จะเรียนหนังสือได้แล้ว นายเมฆผู้เป็นพ่อจึงได้นำมาฝากเรียนหนังสือกับหลวงพ่อคง แต่ทว่าไปเรียนเฉพาะวันที่ว่างจากการช่วยเหลือพ่อแม่ทำไร่ทำนาเท่านั้น แต่ด้วยนายไปล่เป็นคนฉลาดสามารถเรียนได้ไม่แพ้ผู้ที่เล่าเรียนอยู่กินนอนประจำทุกวัน ด้วยความฉลาดเฉลียวของนายไปล่ จึงเป็นที่รักใคร่ถูกอัธยาศัยของหลวงพ่อคงเป็นอันมาก
สมัยวัยรุ่นท่านเป็นคนมีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญ ทรหดอดทน มีเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นชาวบ้านบางบอนใต้เป็นแดนนักเลงหัวไม้ เวลาวัดมีงานมักจะนัดตีกันเป็นประจำ ตัวท่านถูกพรรคพวกยกย่องให้เป็น “ลูกพี่” ทำให้บิดามารดาเกรงว่าจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีหรือคนพาล จึงขอร้องให้บวชพระสัก ๑ พรรษา ท่านก็ไม่ขัดข้อง โดยได้รับการอุปสมบทที่วัดกำแพง เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๖ อายุ ๒๓ ปี โดยมี พระอาจารย์ทัต วัดสิงห์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์พ่วง วัดกก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์ดิษฐ์ เจ้าอาวาสวัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “ฉนฺทสโร”
หลังบวชแล้วท่านได้สนใจศึกษาทางพุทธธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ท่องบทสวดมนต์จนจบทุกบททุกคัมภีร์ จดจำได้แม่นยำ จนเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง เมื่อครบกำหนด ๑ พรรษาแล้ว ท่านไม่ยอมสึก พอเข้าพรรษาที่ ๒ ท่านได้ตั้งใจศึกษาธรรมะอย่างเต็มที่จนสามารถท่องพระปาฏิโมกข์ได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งการเรียนรู้ด้านวิปัสสนากรรมฐาน และวิปัสสนาธุระกับพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางนี้
ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาและวิทยาการต่างๆ จนมีความเชี่ยวชาญและแตกฉาน ทั้งด้านกรรมฐานวิปัสสนาธุระ จากพระอุปัชฌาย์ ด้านกรรมวิธีทำผงอิทธิเจ ๑๐๘ และการทำสีผึ้ง จากพระกรรมวาจาจารย์ นอกจากนี้ยังได้ฝากตัวเป็นศิษย์และศึกษาวิชาด้านไสยเวท จาก พระอาจารย์คง วัดบางกระพี้ พร้อมทั้งศึกษาวิทยาการเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อเก้ายอด วัดบางปลา จ.สมุทรสาคร ซึ่งล้วนเป็นพระเกจิผู้ทรงพุทธาคมมีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้นทั้งสิ้น
หลวงพ่อไปล่ รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกำแพง ต่อจาก พระอาจารย์ดิษฐ์ ผู้เป็นพระอนุสาวนาจารย์ จากนั้นไม่ยอมรับสมณศักดิ์ใดๆ ทั้งสิ้น จากความเป็นผู้ทรงคุณที่รักสมถะ เคร่งในวัตรปฏิบัติ และทรงเมตตาธรรม จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านและประชาชนทั้งใกล้ไกล ที่เดินทางมากราบนมัสการและฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหามากมาย
แม้จะมีวิชาอาคมเก่งกล้าขนาดไหนก็ตาม แต่ท่านก็ไม่เคยคุยโม้โอ้อวด หรือข่มเหงใคร ชอบดำรงตนแบบสมถะ ไม่ทะเยอทะยานในลาภยศ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ กวาดกุฏิเอง ของส่วนตัวทำเองหมด ไม่เคยใช้ให้ใครทำ นอกจากนี้ท่านยังขยันในการทำวัตรสวดมนต์อย่างเคร่งครัด ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชอบความมีระเบียบเรียบร้อย
ต่อมาหลวงพ่อไปล่ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตบางขุนเทียน และด้วยปฏิปทาอันน่าศรัทธาเลื่อมใสของท่านนี้เองทำให้ชาวบ้านมีความเคารพนับถือท่านมาก ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกำแพง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๑ จนถึงมรณภาพ
◉ มรณภาพ
หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๘๒ สิริอายุรวมได้ ๗๙ ปี แม้จะมรณภาพไปแล้ว แต่เนื้อหนังของท่านก็ยังเหนียว พวกสัปเหร่อเอามีดตกแต่งศพก็เฉือนไม่เข้า ต้องจุดธูปจุดเทียนบอกกล่าวขอขมาก็ยังเฉือนไม่เข้า จนสรีระของท่านแห้งไปเฉยๆ ไม่มีกลิ่นเน่าเหม็นแต่ประการใด
หลวงพ่อไปล่ เป็นพระนักพัฒนาผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สมถะ ไม่นิยมสะสมลาภยศเงินทอง ท่านส่งเสริมการศึกษาพระธรรมวินัยพระ สามเณร ตั้งสำนักเพื่อการเรียนการสอนหนังสือเด็กวัด มี ๓ ระดับ รวมทั้งสอนวิชาชีพและวิชาช่างให้กับชาวบ้าน ริเริ่มประเพณีพายเรือตีกลองบิณฑบาตข้าวเปลือก จึงเป็นที่เคารพรักใคร่ ศรัทธาของชาวบ้านฝั่งธนบุรี เป็นอย่างยิ่ง
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง ท่านมีลูกศิษย์ ลูกหามากมาย ในสมัยก่อนผู้คนต่างก็กล่าว กันว่าลูกศิษย์หลวงพ่อไปล่นั้นหนังดีมาก อยู่ยงคงกระพันชาตรี ในปีพ.ศ.๒๔๗๘ คณะศิษย์ร่วมกันทำบุญฉลองอายุให้ท่าน ในงานนี้ก็ได้ขออนุญาตหลวงพ่อไปล่จัดสร้างเหรียญหล่อรูปท่านเพื่อแจกเป็นที่ระลึก ในงานฉลองอายุครบ ๗๕ ปี มี ๒ พิมพ์คือ เหรียญจอบ และเหรียญรูปไข่ เนื้อโลหะผสมทองเหลือง โดยเฉพาะเหรียญจอบได้รับความนิยมสูง ลักษณะเป็นเหรียญรูปจอบ มีหูห่วงใหญ่ ด้านหน้าเหรียญตรงกลางเป็น รูปเหมือนหลวงพ่อไปล่นั่งขัดสมาธิอยู่ภายในซุ้มประตู ด้านหลังเหรียญมีข้อความว่า “ที่ระฤก ๒๔๗๘” มี นายพุ่ม อ่อนทรัพย์ เป็นผู้แกะแบบและควบคุมการเททอง ตบแต่งให้เรียบร้อย


ในพิธีก็เกิดปาฏิหาริย์สายสิญจน์ห้อยมาถูกเทียนชัยจี้อยู่ตลอดจนเสร็จพิธีก็ไม่ไหม้ไฟ ในพิธีนี้หลวงพ่อไปล่ปลุกเสกเดี่ยว เหรียญรุ่นนี้เมื่อมีผู้นำไปห้อยคอก็เกิดประสบการณ์มากมาย ใครที่เคยมีเรื่องตีรันฟันแทงก็ไม่เคยมีใครเลือดตกยางออกเลย ต่างก็โจษจันกันมากว่าเหนียวจริงๆ ปืนผาหน้าไม้ต่างก็ยิงไม่ออกยิงไม่เข้า เลื่องลือกันมากในสมัยนั้น