วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ วัดบางพัง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ

วัดบางพัง
อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ วัดบางพัง ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ วัดบางพัง ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ วัดบางพัง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พระนักปฏิบัติที่มีความเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากัมมัฏฐานในยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเป็นผู้คงแก่เรียน จนทำให้ชื่อเสียงระบือไกล

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๘ บิดาชื่อ “สิน” และมารดาชื่อ “ขลิบ” ตอนเด็กๆ ท่านเป็นคนที่มีลักษณะผิวพรรณงาม บิดาจึงตั้งชื่อว่า “แฉ่ง

◉ ปฐมวัย
ในปีพ.ศ.๒๔๔๓ บิดา-มารดาได้นำไปบรรพชาเป็นสามเณร ขณะมีอายุได้ ๑๒ ปีที่วัดสลักเหนือ ๑ พรรษา ก็สึกออกมาช่วยบิดามารดาทำงานเป็นหัวแรงสำคัญของครอบครัว ท่านเป็นคนขยัน รักสงบไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ต่อมามีเหตุให้ท่านต้องไปอยู่ทางภาคเหนือ

◉ อุปสมบท
ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ พอบวชแล้วท่านก็ศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนเรียนพุทธาคมจากพระอาจารย์อีกหลายองค์ จากนั้นท่านก็ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ในป่าเขาลำเนาไพร แถบภาคเหนือ ภาคอีสาน เลยเข้าไปถึงประเทศลาว เขมร พม่า ท่านธุดงค์นานถึง ๑๕ ปี จึงย้อนกลับมาภูมิลำเนาเดิม ที่บ้านวัดสลักเหนือ มาจำพรรษาอยู่ที่วัดบางพัง ชาวบ้านในแถบนั้นจำท่านแทบไม่ได้

ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิทยาคมจากพระเกจิชื่อดังหลายรูปและได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชา อาทิ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย (คลองด่าน), หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน, หลวงปู่ฉาย วัดพนัญเชิง คณาจารย์สายหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นต้น

หลวงพ่อแฉ่ง ให้ความเคารพนับถือ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา มากเป็นพิเศษ ในฐานะลูกศิษย์และสหายธรรมรุ่นน้อง จึงได้รับอิทธิพลในการจัดสร้างพระพิมพ์ทรงสัตว์ต่างๆ มาจากหลวงพ่อปานด้วย

วัดบางพังขณะนั้นมีพระอธิการเจริญ เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งอยู่ในวัยชรามาก บริหารงานภายในวัดไม่ไหว เสนาสนะต่างชำรุดมาก จึงเป็นภาระของหลวงพ่อแฉ่งรับภาระบูรณปฏิสังขรณ์อย่างแข็งขัน ร่วมกับชาวบ้านในแถบนั้น จนวัดเจริญขึ้น ด้วยชาวบ้านศรัทธาในตัว หลวงพ่อแฉ่ง

ครั้นหลวงพ่อเจริญมรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้หลวงพ่อแฉ่ง เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน เป็นที่ยินดีของชาวบ้าน เนื่องจากท่านเป็นที่พึ่งของชาวบ้านเสมอมา วิชาอาคมต่างๆ ที่ท่านได้ร่ำเรียนมาจากการออกธุดงค์ ได้นำมาช่วยชาวบ้านที่ถูกของ ถูกคุณไสยต่างๆ ทั้งวิชาแพทย์แผนโบราณท่านก็มีความชำนาญเป็นอย่างยิ่ง ช่วยรักษาโรคให้ชาวบ้านหายไปทุกราย น้ำมนต์ของท่านก็ขลังนัก ดื่ม อาบ พรม เป็นสิริมงคลรักษาโรคภัยได้

สมัยหลวงพ่อแฉ่ง ยังมีชีวิตอยู่ วัดบางพังในอดีตคึกคักกว่าวัดอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง แต่ละวันมีผู้คนมากหน้าหลายตาเดินทางมาจากถิ่นต่างๆ มาฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชากับหลวงพ่อแฉ่ง บ้างมาขอรับวัตถุมงคล บ้างมารักษาโรค ด้วยทุกคนเชื่อมั่นว่าหลวงพ่อแฉ่งช่วยได้

หลวงพ่อแฉ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังผู้ทรงพุทธาคมรูปหนึ่งในอดีต ได้เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลดังๆ เช่น พิธีที่วัดราชบพิธ พ.ศ.๒๔๘๑ พิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในการพุทธาภิเษกพระกริ่งในเจ้าคุณศรีฯ วัดสุทัศน์ จะต้องนิมนต์พระหลวงพ่อแฉ่งร่วมปลุกเสกทุกครั้ง

หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ วัดบางพัง ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ วัดบางพัง ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพั มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๐ สิริอายุ ๗๒ พรรษา ๕๒

สังขารของท่าน สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฏกษัตริยาราม โปรดให้เคลื่อนไปพระราชทานเพลิงอย่างสมเกียรติ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๐๑ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพ

หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ วัดบางพัง ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ วัดบางพัง ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

◉ ประวัติวัดบางพัง
วัดศรีรัตนาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันทั่วไปว่า ‘วัดบางพัง’ ตั้งอยู่เลขที่ ๓๙ บ้านคลองบางพัง ซอยสวัสดี หมู่ที่ ๒ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สังกัดมหานิกาย วัดบางพังเป็นวัดเก่าแก่ เป็นวัดโบราณสร้างครั้งสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวปี พ.ศ.๒๓๐๕ ไม่ทราบนามผู้สร้างชัดเจน เหตุที่ชื่อวัดบางพังก็เนื่องจากวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งพังเข้ามาเรื่อยๆ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “วัดบางพัง” ชื่อเป็นทางการว่า “วัดศรีรัตนาราม” เจ้าอาวาสที่มีชื่อเสียงโด่งดังก็คือ หลวงพ่อแฉ่ง

ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดบางพัง ตามท้องที่ที่ตั้งไว้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี สาเหตุที่ชื่อวัดบางพังนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากัดเซาะพื้นดินริมตลิ่งแถบบริเวณนั้นพังมากเป็นบริเวณกว้างมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว จึงได้เรียกกันว่าตลิ่งพังแล้ว และกลายมาเป็นบางพังในที่สุด

วัดบางพังขณะนั้นมีพระอธิการเจริญเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งอยู่ในวัยชรามาก บริหารงานภายในวัดไม่ไหว เสนาสนะต่างชำรุดมาก จึงเป็นภาระของหลวงพ่อแฉ่งรับภาระบูรณปฏิสังขรณ์อย่างแข็งขัน ร่วมกับชาวบ้านในแถบนั้น จนวัดเจริญขึ้น ด้วยชาวบ้านศรัทธาในตัวหลวงพ่อแฉ่ง ครั้นหลวงพ่อเจริญมรณภาพทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้หลวงพ่อแฉ่งเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน เป็นที่ยินดีของชาวบ้าน เนื่องจากท่านเป็นที่พึ่งของชาวบ้านเสมอมา วิชาอาคมต่างๆ ที่ท่านได้ร่ำเรียนมาจากการออกธุดงค์ ได้นำมาช่วยชาวบ้านที่ถูกของ ถูกคุณไสยต่างๆ ทั้งวิชาแพทย์แผนโบราณท่านก็มีความชำนาญเป็นอย่างยิ่ง ช่วยรักษาโรคให้ชาวบ้านหายไปทุกราย น้ำมนต์ของท่านก็ขลังนัก ดื่ม อาบ พรม เป็นสิริมงคลรักษาโรคภัยได้

◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคล หลวงพ่อแฉ่ง มีมากมาย ทั้งพระเนื้อผงพิมพ์ทรงสัตว์ต่างๆ มีหลายประเภททั้งพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์สามเหรียญ เนื้อผง พระรอด ตะกรุด ผ้ายันต์ธง ทรายเสก พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ พระประจำวัน นางกวัก พระพุทธกวัก สามเหลี่ยม พระสีวลีชนิดบูชา-คล้องคอ เนื้อหามีทั้ง ดิน ผงน้ำมัน ผงพุทธคุณ แต่ที่ได้รับความนิยมมากๆ คือ ชนิดผงน้ำมัน เพราะเนื้อหาดูง่าย เนื้อจัด หนึกนุ่ม ส่องแล้วสบายตา ราคาสบายใจไม่แพงมาก

แรงจูงใจในการจัดสร้าง บรรดาศิษย์และผู้ใกล้ชิดที่ศรัทธาพร้อมใจกันขอให้หลวงพ่อสร้างอิทธิวัตถุ เพื่อเป็นของที่ระลึกและคุ้มครองป้องกันภัย ประกอบกับในระยะนั้นสงครามมีท่าทีเกิดขึ้น ผู้คนเริ่มเสาะแสวงหาวัตถุมงคลไว้คุ้มกัน ตัว และเพื่อตอบแทนชาวบ้านที่มาร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด หลวงพ่อแฉ่งได้สร้างวัตถุมงคลในปี พ.ศ.๒๔๘๔ แจกให้ศิษย์และชาวบ้านที่ศรัทธา

จำนวนจัดสร้างวัตถุมงคลสร้างขึ้นมีจำนวนเท่าไร ไม่มีใครทราบ เพราะมิได้มีการจดบันทึกไว้ เป็นการทยอยสร้างทยอยปลุกเสก พอสร้างได้จำนวนมากพอสมควรแล้วท่านก็จะทำพิธีปลุกเสกสักครั้งหนึ่ง เป็นการปลุกเสกเดี่ยว จากนั้นจึงนำมาแจกเสียคราวหนึ่ง จำนวนพระทั้งหมดสันนิษฐานกันว่าประมาณหนึ่งหมื่นองค์เศษๆ วัตถุมงคลที่ท่านสร้างนั้น แจกฟรี ไม่มีการให้เช่าบูชา

ดีด้านไหน วัตถุมงคลที่หลวงพ่อสร้างและปลุกเสก มีประสบการณ์โจษขานในยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งโดดเด่นด้านแคล้วคลาดจากภยันตรายต่าง ๆ ด้านเมตตามหานิยมก็ไม่เป็นรองใคร นอกจากนี้ยังใช้เป็นพระหมอแบบ พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ได้อีกด้วย

ลักษณะและสีเนื้อพระ พระเนื้อผงที่ หลวงพ่อแฉ่ง สร้างขึ้นเป็นเนื้อประเภทปูนปั้นไม่ได้เผาไฟ ส่วนผสมหลักคือปูนขาวจากเปลือกหอยและน้ำมันตังอิ๊ว นอกนั้นก็เป็นผงวิเศษ ๕ ประการ คือ ผงอิธะเจ ผงปถะมัง ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และผงตรีนิสิงเห นอกนั้นก็มีเกสรดอกไม้ที่ชื่อเป็นมงคลนาม ทรายเสก และข้าวสุก เป็นต้น กรรมวิธีใช้โขลกตำเนื้อพระและส่วนผสมตลอดจนการกรองผงมีความประณีตบรรจงมาก เนื้อละเอียดเนียนเข้ากันสนิท การผสมน้ำมันตังอิ๊วก็พอดี เนื้อพระแลดูนุ่มตาฉ่ำใส สีเหลืองเข้มกว่าสีของเนื้อพระกรุวัดคู้สลอดเล็กน้อย (กรณีไม่บรรจุกรุ) เรียกขานกันว่าเนื้อเทียนชัย เพราะสีของเนื้อพระแลดูคล้ายเทียนขี้ผึ้งสีเหลืองนั่นเอง แต่แลดูฉ่ำใส มีความซึ้งมากกว่าเทียน สามารถแลเห็นส่วนผสมภายในที่ลึกลงไปได้ด้วยแว่นขยาย

แยกพิมพ์ทรง พระเนื้อผงที่หลวงพ่อสร้างมีกี่แบบกี่พิมพ์ไม่มีใครตอบได้ ทางวัดก็ไม่เก็บข้อมูลไว้ ส่วนใหญ่ก็รู้เท่าที่ตัวเองมีอยู่ และหนังสือลงข้อมูลกันไว้ หากจะแยกย่อยออกไปจริง ๆ น่าจะมีมากกว่า ๓๐ พิมพ์ แม้ว่าพิมพ์หลัก ๆ จะมีอยู่ประมาณ ๑๐ พิมพ์ แต่ในพิมพ์หลัก ๆ นั้นก็ยังแยกย่อยออกไปอีก ยกตัวอย่างเช่น พิมพ์ทรงหนุมานไม่ถือพระขรรค์ ถือพระขรรค์ข้างซ้าย ถือพระขรรค์ข้างขวา มีครอบแก้ว ไม่มีครอบแก้ว เป็นต้น แต่จะหาผู้ที่เก็บรวบรวมได้ครบจริง ๆ ยังไม่เคยเห็น ยิ่งปัจจุบันเข้าสนามว่าหาของแท้ของท่านยากแล้ว ให้แท้และสวยยิ่งยากเป็นเท่า ๆ ตัว เพราะพระของท่าน เนื้อค่อนข้างเปราะ แตกหัก ชำรุดง่าย ผู้ที่มีควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

รูปหล่อโบราณหลวงพ่อแฉ่ง วัดศรีรัตนาราม (วัดบางพัง) จ. นนทบุรี (เกี๊ยก ทวีทรัพย์ เจ้าของพระ)
รูปหล่อโบราณหลวงพ่อแฉ่ง วัดศรีรัตนาราม (วัดบางพัง) จ. นนทบุรี (เกี๊ยก ทวีทรัพย์ เจ้าของพระ)

 รูปหล่อโบราณหลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง จัดสร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๘ นับว่าเป็นรูปหล่อรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่ทันหลวงพ่อแฉ่ง เป็นรูปเหมือนขนาดเล็ก (องค์เท่ากันรูปเหมือนสมเด็จพุฒาจารย์ โต รุ่น ๑๐๐ ปีวัดระฆัง)ไม่มีรายละเอียดบ่งบอก เป็นเพียงรูปเหมือนหลวงพ่อนั่งขัดสมาธิราบ นายช่างฟุ้งเป็นนายช่างเทหล่อ มีเนื้อทองผสมเพียงเนื้อเดียว เป็นพระเทหล่อตันเมื่อแล้วเสร็จนายช่างทำการเจาะรูใต้ฐานบรรจุผงพุทธคุณและเทียนชัย และผ่านการรมน้ำยาดำ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก khaosod.co.th