วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต วัดประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต

วัดศรีประจันตคาม
อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี

พระครูวิมลศีลาจารย์(หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต) วัดประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี
พระครูวิมลศีลาจารย์(หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต) วัดประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี

พระครูวิมลศีลาจารย์ (หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต) วัดศรีประจันตคาม เกจิอาจารย์ที่มีวิชาอาคมเก่งกล้าและมีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดปราจีนบุรี

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๐ ตรงกับวันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๒ ปีระกา ณ บ้านเมืองใหม่ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี บิดาชื่อ “ขุนปราบพลการ (เคน)” และมารดาชื่อ “นางทองสี ระวังป่า

◉ อุปสมบท
เข้าพิธีอุปสมบท ในพระบวรพุทธศาสนาเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ณ วัดทัพช้าง (เมืองใหม่) โดยมี พระครูพิพัฒน์ปัจจันตเขต (สิงห์) เจ้าคณะแขวงปัจจันตคาม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “พุทฺธปาลิโต

หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อพุก วัดพระยาทำ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และ หลวงปู่สิงห์ วัดบ้านโนน

หลังอุปสมบทได้ศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดจนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๕ สอบได้นักธรรมชั้นเอก จากนั้นท่านจึงย้ายไปเป็นครูสอนพระปริยัติที่วัดท่าเรือ

ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส และพระปลัดวิมล ฐานานุกรมของพระครูพิพัฒน์ปัจจันตเขต,ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะตำบลประจันตคาม สมณศักดิ์สุดท้ายเป็นที่ “พระครูวิมลศีลาจารย์” พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี และเจ้าอาวาสวัดศรีประจันตคามหรือวัดประจันตคาม

วัดประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี
วัดประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี

หลวงพ่อเส็ง เป็นพระที่เคร่งในวัตรปฏิบัติ มีศีลาจารวัตรอันงดงาม เพียบพร้อมด้วยเมตตาธรรม เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน พุทธาคมของท่านที่เป็นที่เลื่องลือมาก คือ “วิชาเรียกทรัพย์” ที่เล่ากล่าวกันว่า ทุกครั้งเมื่อทางวัดศรีประจันตคามมีงานหรือจำเป็นต้องหาทุนทรัพย์มาก่อสร้างหรือบูรณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หลวงพ่อเส็ง ท่านไม่เคยไปเรี่ยไรบอกบุญที่ไหน แต่จะให้ลูกศิษย์นำเอาธงพระสีวลีไปปักไว้บนต้นพิกุลต้นใหญ่ใกล้พระอุโบสถ จากนั้นท่านก็จุดธูปนมัสการพระประธานในพระอุโบสถ แล้วท่านก็ออกมาบริกรรมคาถาใต้ต้นพิกุลต้นนั้น เมื่อธูปไหม้หมดท่านก็จะจุดธูปดอกใหม่อีก และเมื่อควันธูปลอยไปทางทิศใดก็จะมีผู้คนจากทิศนั้น แห่กันมาทำบุญถวายปัจจัยและสิ่งของเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีคนมาทำบุญแน่นทุกงานและมีปัจจัยมาทำการตามที่ประสงค์ได้สำเร็จทุกครั้งไป

สำหรับต้นพิกุลต้นนี้มีอายุยืนยาวมาก ชาวบ้านเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์มีเทวดาและนางไม้สถิตอยู่นอกจากหลวงพ่อเส็ง จะเลือกใช้เป็นที่ปักธงสีวลีและนั่งบริกรรมคาถาเพื่อเรียกคนมาทำบุญแล้ว วัตถุมงคลของท่านทุกรุ่นก็จะใช้โค้ตรูป “ดอกพิกุล” ตอกเป็นสัญลักษณ์เอาไว้ด้วยเสมอ เสมือนกับว่าเป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคล

พระครูวิมลศีลาจารย์ หรือ หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต วัดศรีประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นพระเกจิคณาจารย์ยุคปัจจุบันที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เคารพเลื่อมใส โดยเฉพาะชาวเมืองปราจีนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง สมัยสงครามอินโดจีน กิตติคุณของหลวงพ่อเส็งก็ไม่ด้อยไปกว่าหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบาเลยทีเดียว

พระครูวิมลศีลาจารย์(หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต) วัดประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี
พระครูวิมลศีลาจารย์(หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต) วัดประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต วัดศรีประจันตคาม ท่านมรณภาพในวันเสาร์ที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๗ สิริอายุ ๖๗ ปี พรรษา ๔๗

พระครูวิมลศีลาจารย์ ( เส็ง ) วัดศรีประจันตคาม
พระครูวิมลศีลาจารย์ ( เส็ง ) วัดศรีประจันตคาม

◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลของท่านที่ออกมาทุกรุ่น ทั้งเหรียญ พระกริ่ง พระสังกัจจายน์ ธงพระฉิม ผ้ายันต์ ฯลฯ ล้วนเป็นที่นิยมสะสมของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา และผู้ประจักษ์ในพุทธคุณที่ปรากฏ รวมทั้งในแวดวงนักนิยมสะสมเหรียญคณาจารย์จนถึงปัจจุบัน

สำหรับ เหรียญหลวงพ่อเส็ง รุ่นแรก เป็นเหรียญที่บรรดาลูกศิษย์และชาวบ้านขออนุญาตสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในงานทำ บุญวันเกิดของท่าน เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ เรียกกันว่า “เหรียญรุ่นแซยิด” ซึ่งตอนนั้นหลวงพ่อเส็งมีอายุ ๔๕ ปี เท่านั้น เทียบกับพระเกจิอาจารย์ท่านอื่นเมื่อออกเหรียญรุ่นแรกส่วนมากมักจะมีอายุ อย่างน้อยก็ ๖๐ ปีขึ้นไป

การที่หลวงพ่อเส็งมีอายุเพียง ๔๕ ปี แต่มีชาวบ้านศรัทธาขออนุญาตสร้างเหรียญขึ้นเป็นที่ระลึกและนำไปบูชาเพื่อ คุ้มครองป้องกันอันตรายก็ต้องแสดงว่า หลวงพ่อเส็ง ท่านมีความศักดิ์สิทธิ์เป็น ที่ประจักษ์แก่ชาวบ้านมาตั้งแต่ยังหนุ่มๆ แล้ว

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต วัดประจันตคาม ปี พ.ศ.๒๔๘๕
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเส็ง พุทธปาลิโต วัดประจันตคาม ปี พ.ศ.๒๔๘๕

ลักษณะ เหรียญ รุ่นแรก หลวงพ่อเส็ง วัดประจันตคาม เป็นเหรียญปั๊มรูปใบเสมาเนื้อทองแดง และมีเนื้อเงินจำนวนเล็กน้อย ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อเส็งครึ่งองค์หันหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างเป็นตัวหนังสือไทยว่า “พระปลัดวิมล” ระบุปีที่สร้าง พ.ศ.๒๔๘๕ ด้านหลังเป็นยันต์อิติปิโสแปดทิศ

เหรียญหลวงพ่อเส็ง รุ่นแรก มีประสบการณ์มากมายทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาด และคงกระพัน หลายคนห้อยเหรียญรุ่นนี้รถยนต์คว่ำ แต่กลับรอดมาได้โดยไม่มีบาดแผลแม้แต่น้อย หลายคนโดนยิงไม่ถูกหรือถูกแต่ไม่เข้า พุทธคุณในเหรียญรุ่นนี้เด่นทาง เมตตามหานิยม

นอกจากนี้ยังมี “เหรียญโภคทรัพย์” เป็นเหรียญที่หลวงพ่อเส็งสร้างขึ้นเป็นรุ่นที่ ๓ เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่มีการปลูกต้นโพธิ์ตรัสรู้ “พันธุ์พุทธคยา” ที่วัดประจันตคาม ชื่อเหรียญ “โภคทรัพย์” นั้น ก็เนื่องด้วยพิมพ์ด้านหน้าของเหรียญเป็นรูป “นางกวัก” ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ในด้านการค้าขาย หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นการกวักเรียกผู้คนมาอุดหนุนร้าน ให้เงินทองไหลมาเทมา

เหรียญโภคทรัพย์ หลวงพ่อเส็ง วัดประจันตคาม ปี ๒๔๙๙
เหรียญโภคทรัพย์ หลวงพ่อเส็ง วัดประจันตคาม ปี ๒๔๙๙

นางกวัก” เป็นตำนานที่เล่าขานต่อกันมาว่า นางกวักเป็นลูกสาวคนเดียวของปู่เจ้าเขาเขียว ซึ่งเป็นเพื่อนกับท้าวอุณาราช ในเรื่อง “รามเกียรติ์” ที่ถูกพระรามปักตรึงอยู่ในถ้ำเขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรี ปู่เจ้าเขาเขียวจึงให้นางกวักมาอยู่เป็นเพื่อนนางศรีประจันต์ลูกสาวของท้าวอุณาราช ซึ่งคอยปรนนิบัติพระบิดาอยู่ นางศรีประจันต์นั้นเดิมมีแต่คนเกลียดชัง แต่เมื่อนางกวักมาอยู่ด้วยผู้คนที่เคยเกลียดชังก็คลายความเกลียดและกลับมารักใคร่นางศรีประจันต์” ตำนานดังกล่าวกลายเป็นความเชื่อถือและเลื่อมใสสืบมา ต่อมาจึงเริ่มมีการสร้างรูปเคารพ “นางกวัก” ขึ้นเพื่อขอพรให้ช่วยเหลือด้านเมตตามหานิยม โดยเฉพาะเรื่องการค้าขาย

เหรียญโภคทรัพย์ เป็นเหรียญทรงกลม ไม่มีหู ด้านหน้าเป็นรูปนางกวักนั่งหันข้างเต็มรูป ด้านหน้ามีถุงเงิน ๓ ถุง แต่ละถุงมีตัวเลขกำกับ ด้านบนเป็นอักขระขอมอ่านว่า “สิริโภคา นะมาสะโย วัชชะทะนัง” ด้านล่างเป็นอักษรไทยว่า “เหรียญโภคทรัพย์” ต่อจากอักษรจะเป็นจุดกลมโดยรอบขอบเหรียญรวม ๓๖ จุด ส่วนด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์รูปใบโพธิ์ จารึกอักขระขอมอ่านว่า “อุอากะสะ นะชาลีติ เยสิทธิลาภา” โดยรอบเหรียญเป็นอักษรไทยว่า “เหรียญโภคทรัพย์ในพิธีปลูกโพธิ์ตรัสรู้พันธุ์พุทธคยา วัดศรีประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี พ.ศ.๒๔๙๙”

ผู้ครอบครอง “เหรียญโภคทรัพย์” ปรากฏในพุทธคุณแห่งเมตตามหานิยม โชคลาภ ทำมาค้าขึ้นกันถ้วนหน้า