วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเสือ
วัดไผ่สามกอ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

หลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

หลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ สุดยอดอมตะเถราจารย์แห่งเมืองแปดริ้ว ผู้ที่มีพลังจิตรอันแก่กล้ามากและมีวิชาอาคมเข้มขลังหาใดเทียม

● ชาติภูมิ
หลวงพ่อเสือ วิรุฬฺหผโล อดีตเจ้าอาวาสวัดไผ่สามกอ ต.สิบเอ็ดศอก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เกิดที่บ้านวัดหลวง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๑ บิดาชื่อ “นายแสวง ยิ้มอยู่” และมารดาชื่อ “นางเปลี่ยน ยิ้มอยู่

ครอบครัวประกอบอาชีพชาวไร่ และดำรงชีพอย่างสัมมาทิฐิ กล่าวคือมีนิสัยใจคอและมีใจเป็นกุศล เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เมื่อไปวัดนำพาบุตรไปวัดเพื่อฝึกอบรมให้พบเห็นขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามเสมอๆ

ครั้นเมื่ออายุ ๑๖ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดหลวง หรือวัดประสาทโสภณ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้าน

จากนั้นได้ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์อยู่ราว ๓ เดือน ก่อนแยกทางกับอาจารย์ ก็ได้ย้ายกลับมาวัดบ้านเดิม (วัดหลวง) ซึ่งท่านได้ธุดงค์เพียงลำพังไปเรื่อยๆ ในแถบภาคอีสาน ภาคเหนือจนทะลุเข้าสู่เขตแดนพม่า ไปพบวัดโชติการาม ซึ่งดูเหมือนเป็นวัดรกร้าง แต่ภายในวัดกลับเต็มไปด้วยสรรพตำราทั้งภาษาพม่า อังกฤษ เยอรมัน เป็นตำราสอนทั้งปริยัติและการปฏิบัติสมาธิ ซึ่งภายในวัดนี้ท่านได้พบพระอาจารย์โชติ กะธัมมจริยะ เมตตาให้คำแนะนำชี้ทางปฏิบัติธรรมให้เป็นพิเศษ ประกอบกับช่วงนั้นท่านมีอายุครบบวช จึงขออุปสมบทกับพระอาจารย์โชติ และอยู่ศึกษาปฏิบัติเป็นเวลา ๖ เดือน ก็กราบลากลับสู่วัดหลวง ให้พระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้อีกครั้ง

เมื่ออุปสมบทแล้วท่านก็ธุดงค์กลับไปที่พม่าอีกครั้ง ปักกลดอยู่ที่วัดซันคยองวิหาร ถึง ๒ ปี ได้รับการอุปถัมภ์บำรุง แนะแนวการปฏิบัติ จากท่านเลตีสยาตอมหาเถระ ปราชญ์ทางศาสนาที่เลื่องลือในยุคนั้น ศึกษาอยู่พอสมควร ก็เดินทางต่อไปยังอินเดีย เพื่อนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง และต่อไปยังลังกาเพื่อศึกษาสรรพความรู้ในคัมภีร์พุทธศาสนา โดยมี ท่านญาณโปนิกมหาเถระ ให้คำชี้แจงแนะนำ

เมื่อกลับจากลังกาได้ธุดงค์กลับมาทางภาคเหนือปฏิบัติธรรมอยู่ที่ถ้ำเชียงดาว ๓ ปี แล้วเดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ ดั้นด้นมาจนถึง “ดอยปุย” อยู่ช่วยสงเคราะห์ชาวเขา อาทิ แม้ว มูเซอ สอนธรรมะ และรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับชาวเขาให้พ้นจากภูตผีและมนต์ดำ นานถึง ๙ ปีเต็ม จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ชาวแม้วชาวภูเขาที่เป็นผู้ใหญ่เรียกท่านว่า “เจ้าพ่อเสือ” ส่วนเด็กๆ เรียกท่านว่า “ปู่เทพ” และเมื่อท่านจากไป ชาวเขาดอยปุยก็ตั้งศาลเป็นที่ระลึกโดยสร้างเป็นศาลทรงไทย ใช้เสา ๔ ต้น บันได ๗ ขั้น แถมยังมีรูปปั้นเป็นของหลวงพ่อเสือ ในท่านั่งสมาธิสูง ๓ ฟุต ตั้งไว้สักการะ มีโซ่ล้อมรอบ และตาลปัตรวางไว้ข้างๆ

หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับมาบ้านเกิด ที่เมืองชลบุรี โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะมาช่วยเหลือชาวบ้านทั้งการให้ธรรมะและช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งขณะนั้นท่านอายุได้ ๔๕ ปี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแถบจังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา

ต่อมามีชาวบ้าน ต.สิบเอ็ดศอก อ.บ้านโพธิ์จ.ฉะเชิงเทรา ได้ร่วมใจกันสร้างกุฏิเล็กๆ และนิมนต์ให้ท่านอาศัยอยู่จนในที่สุดสร้างเป็นวัดขึ้น ให้ชื่อว่า “วัดไผ่สามกอ” ตามสัญญลักษณ์ที่มีต้นไผ่เหลืองที่ขึ้นอยู่ ๓ กอหน้ากุฏิของท่านที่ชาวบ้านปลูกถวายนั่นเอง มีเรื่องเล่าว่า…

หลวงพ่อเสือไม่เคยสรงน้ำเลยแต่ทุกวันเวลาท่านอยู่ในห้องผู้ที่อยู่ใกล้เคียงจะได้ยินเสียน้ำเหมือนไหลจากฝักบัวและร่างกายของหลวงพ่อก็เปียกเอง ทั้งยังมีกลิ่นหอมเหมือนดอกลำเจียก เมื่อถึงวันเกิดของท่านผู้คนจะหลั่งไหลมาสรงน้ำท่าน เวลาท่านเดินลงจากกุฏิ ฝนจะตกลงมาพอดีทุกครั้งท่านจึงได้ฉายาว่า “พระวิรุฬหผล

หลวงพ่อเสือ ท่านเป็นผู้ที่มีจิตรกล้าแกร่งมากได้รับการเลือกเป็นผู้นำพระออกลุขมูลในสายแปดริ้ว รับช่วงต่อจาก หลวงพ่อเหลือวัดสาวชะโงก สุดยอดเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังด้าน ปลัดขิกของเมืองแปดริ้ว ชาวบ้านแถบวัดเล่าให้ฟังว่า..

สมัยนั้นคนที่เป็นบ้าวิกลจริต ซึ่งไม่ได้เป็นแต่กำเนิด อาจถูกของคุณไสย์ จะถูกพามาหาท่านให้ท่านรักษาให้ ภายใน ๓-๗ วันก็จะหายดี คนถูกผีเข้า โดนของ ท่านจะใช้พลังจิตรช่วยขับไล่ปัดเป่า จนหายดีทุกคนไป เป็นที่พึ่งของชาวบ้านเสมอมา

ซึ่งท่านเก่งทำน้ำมนต์มาก น้ำมนต์ของท่านนั้นชงักนัก คนโดนผีเข้าโดนคุณไสย แรงแค่ใหนเห็นเป็นต้องออกทุกรายไป แม่ค้าแม่ขายมาขอน้ำมนต์จากท่านไปพรม ร้านค้า ขายของดีเป็นเทน้ำเทท่าเลย และยิ่งด้วยพลังจิตรของท่านที่แก่กล้ามาก ขนาดญาติผู้ป่วยไม่สามารถพาคนป่วยมาได้ มาบอกกล่าวท่านให้ช่วย ท่านยังสามารถ ส่งกระแสจิตไปช่วยปัดเป่าให้คนป่วย นั้นหายดีจนได้

● มรณกาล
หลวงพ่อเสือ ท่านได้อยู่เป็นมิ่งขวัญแก่ชาวบ้านมาจนอายุเกือบ ๘๐ ปี ช่วงก่อนมรณภาพ หลวงพ่อรู้ล่วงหน้าท่านจึงได้เตรียมตัวพร้อม โดยเรียกลูกศิษย์มาถ่ายรูปของท่านไว้ ให้ทำความสะอาดศาลาและเรียกมาประชุมฟังธรรม หลังจากนั้นท่านก็เริ่มป่วยมีไข้ทวีขึ้นทั้งวันทั้งคืน เมื่อถึงวันโกนท่านก็ลุกขึ้นจากที่นอนสั่งให่ช่วยกันปลงผม ซึ่งชาวบ้านก็พูดเตือนว่าคนเป็นไข้เขาห้ามตัดผมแต่ท่านก็พูดให้คติว่า “คนเราถ้าถึงเวลาตายแล้วถึงจะปล่อยให้ผมยาวเพียงไหน ชีวิตก็ยาวต่อไปไม่ได้”

หลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

ก่อนมรณภาพ ๔ วัน หลวงพ่อเสือ ได้สั่งว่าท่านจะทำสมาธิ เจริญวิปัสสนาอยู่ในห้อง ๔ วัน ห้ามไม่ให้ใครมารบกวน ครั้นครบ ๔ วันตามที่ท่านสั่งแล้ว ลูกศิษย์ (คือ หลวงตาเผย) ได้เคาะประตูห้องเมื่อไม่ได้ยินเสียงตอบ ลูกศิษย์จึงเข้าไปดู พบว่า หลวงพ่อครองผ้าไตรจีวรครบถ้วนเหมือนเวลาที่มีพิธีกรรมทางศาสนามีตาลปัตรตั้งไว้ด้านขวา มีข้อความเขียนไว้ที่ผ้าสังฆาฏิว่า “เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา” ท่านนอนตะแคงขวาเหมือนหลับ สีหน้าสงบปราศจากความเศร้าหมอง ทุกคนก็ทราบทันทีว่า ท่านได้มรณภาพแล้ว วันนั้นตรงกับวันศุกร์ที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๘

● ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อเสือ วัดสามกอ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ท่านเป็นสุดยอดเกจิ แห่งเมืองแปดริ้ว ผู้มี ฌาณสมาบัติขั้นสูง มีพุทธาคมเข้มขลัง แก่กล้า โด่งดังมากในเรื่อง ของน้ำมนต์ ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ สมัยท่านมีชีวิตอยู่ ละแวกนั้นและพื้นที่เขตจังหวัดใกล้เคียง เช่น ชลบุรี ฯลฯ หากมีพิธี ปลุกเสกใดๆ มักจะนิมนต์ท่านเข้าร่วมเสมอ สมัยก่อน ใครที่เป็นบ้า เป็นบอ ถูกคุณไสย์ หรือโดนกระทำใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด นำมาล่ามไว้ที่วัดไผ่สามกอ ๓ วัน ๗ วัน หายเป็นปลิดทิ้ง ทุกรายไป วัตถุมงคล ของท่านเด่นดัง ด้านมหาอุต คงกระพันชาตรีอย่างมาก ท่านเป็นเกจิอาจารย์ ยุคเดียวกับ หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว, หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก, หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อคง วัดซำป่าง่าม ร่วมปลุกเสกพิธีเดียวกันเสมอๆ พุทธาคมแก่กล้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย และ ท่านยังเป็น พระภิษุสงฆ์รูปเดียวในสมัยนั้น ที่มีตาลปัตรเป็นรูปเสือ

ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ช่วงสงครามอินโดจีน ทางราชการได้นิมนต์พระผู้มีคุณวิเศษ ๑๐๙ รูป เพื่อกระทำการปลุกเสกเครื่องมงคลที่เรียกว่า “แหวนมงคล” ที่วัดราชบพิธ เพื่อแจกจ่ายแก่ทหารหาญที่ถูกเกณฑ์ไปรับใช้ชาติ และ ๑ ใน ๑๐๙ รูปก็มีหลวงพ่อเสืออยู่ด้วย

และเป็นหนึ่งในเกจิที่ร่วมปลุกเสก หลวงพ่อโสธร รุ่นสองหน้าปี พ.ศ.๒๔๙๗ อันโด่งดังที่มีประสบการณ์เล่าขานตั้งแต่สมัยก่อนจวบจนถึงปัจจุบัน ส่วนวัตถุมงคลของท่านก็สร้างปฏิหารย์ให้คนที่บูชาเสมอมา เช่น เรื่องที่ผู้ใหญ่บ้าน ท่านหนึ่ง แขวนเหรียญรุ่นแรกของท่านแล้วโดนผู้ร้ายไล่ยิงจนวิ่งไปจนมุม จึงอารธนาถึง หลวงพ่อเสือ ให้ช่วยแล้วกลั้นใจเดินฝ่าวงล้อมโจรออกมาเฉยๆๆ รอดพ้นออกมาโดยที่ไม่มี โจรคนใหนเห็นเลยเหมือนท่านช่วยบังตาไว้ … และยังมีเรื่องไม้เท้าของท่าน ที่ทิ้งไว้ที่ถ้ำเชียงดาวซึ่งเคยเป็นสถานปฏิบัติธรรมของท่าน ชาวบ้านแถวนั้นเล่าให้ฟังว่าเคยมีพระธุดงค์ชื่อ เสือ ได้มานั่งปฏิบัติธรรม แล้วทิ้งไม้เท้าไว้เมื่อถ่ายรูปไม้เท้าไว้เป็นที่ระลึก ก็ปรากฏว่า เกิดมีรัศมีขึ้นในภาพนั้นเป็นวงล้อมรอบไม้เท้าของท่าน

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ ปี ๒๔๙๒
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ ปี ๒๔๙๒

วัตถุมงคลของท่านเด่นดังด้านมหาอุด คงกระพันชาตรีอย่างมาก อย่างเช่น เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก สร้างปี พ.ศ.๒๔๙๒ มีประสบการณ์ มากมาย ปัจจุบันหาสภาพสวยๆ ยาก และมีราคาเล่นหาสูง

เหรียญหลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ ปี ๒๔๙๓
เหรียญหลวงพ่อเสือ วัดไผ่สามกอ ปี ๒๔๙๓

เหรียญรุ่นสองออกปี พ.ศ.๒๔๙๓ ในงานผูกพัทธสีมา วัดแก้วศิลาราม(หนองขวาง) อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี หายากเหมือนกัน เหรียญรูปเหมือนใบโพธิ์ หลังนางกวัก

เหรียญหลวงพ่อเสือวัดสามกอ พิมพ์ใบโพธิ์เล็ก หลังแม่นางกวัก
เหรียญหลวงพ่อเสือวัดสามกอ พิมพ์ใบโพธิ์เล็ก หลังแม่นางกวัก
เหรียญใบโพธิ์ใหญ่ หลวงพ่อเสือ วัดสามกอ ปี ๒๔๙๕
เหรียญใบโพธิ์ใหญ่ หลวงพ่อเสือ วัดสามกอ ปี ๒๔๙๕

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ ชีวประวัติของสุดยอดเกจิอาจารย์ อีกท่านหนึ่งของ แปดริ้ว ที่มีวิชาอาคมและพลังจิตที่แก่กล้าอย่างมาก ซึ่งไม่โด่งดังมากมายเพราะท่านไม่ชอบคุยโว โอ้อวดใดๆ แต่ท่านนั้น เก่งจริง เก่งเงียบ ที่เล่ามาข้างต้น จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของศาสนา ความเชื่อ และความศรัทธา

ตลอดจนความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเสือที่กล่าวขวัญและเลื่องลือจนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชุมชนบ้านสามกอ ตลอดจนตำบลและอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง และทุกภูมิภาคของประเทศไทย ให้เป็นที่ปรากฏอย่างชัดเจนมาจนถึงปัจจุบันนี้ สำหรับรูปเหมือนองค์หลวงพ่อเสือ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วิหารหลวงพ่อเสือ วัดสามกอ และมีขนาดเท่าองค์จริง ส่วนงานนมัสการองค์หลวงพ่อเสือจัดงานประเพณีวัฒนธรรมประจำปีของวัดสามกอ ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์

วัดสามกอ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
วัดสามกอ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

สำหรับวิหารหลวงพ่อเสือเปิดให้พุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาได้กราบนมัสการหลวงพ่อเสือได้ทุกวัน โดยไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ น. ถึงเวลา ๑๘.๐๐ น