วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

หลวงพ่อเชื้อ สุกกวัณโณ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเชื้อ สุกกวัณโณ

วัดใหม่บำเพ็ญบุญ
อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

พระครูสุชัยบุญญาคม (หลวงพ่อเชื้อ สุกกวัณโณ) วัดใหม่บำเพ็ญบุญ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท
พระครูสุชัยบุญญาคม (หลวงพ่อเชื้อ สุกกวัณโณ) วัดใหม่บำเพ็ญบุญ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

พระครูสุชัยบุญญาคม (หลวงพ่อเชื้อ สุกกวัณโณ) วัดใหม่บำเพ็ญบุญ พระเกจิอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคกลาง เรืองวิทยาคม สหธรรมิกที่สนิทกับ หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม

◉ ชาติภูมิ
พระครูสุชัยบุญญาคม (หลวงพ่อเชื้อ สุกกวัณโณ) วัดใหม่บำเพ็ญบุญ นามเดิมชื่อ “เชื้อ ปานขวัญ” เกิดเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ปีมะโรง ณ บ้านห้วยกรด หมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยกรด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา บิดาชื่อ “นายไปล่” และมารดาชื่อ “นางมี ปานขวัญ” มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๘ คน คือ
๑.นางเผื่อน ปานขวัญ
๒.นายนาก ปานขวัญ
๓.หลวงพ่อเชื้อ สุกวัณโณ
๔.นางฟื้น ปานขวัญ
๕.นางชั้น ปานขวัญ
๖.นางหมา ปานขวัญ
๗.นางกลม ปานขวัญ
๘.นางกริม ปานขวัญ

◉ ปฐมวัย
หลวงพ่อเชื้อ ท่านเป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยโยมบิดา-โยมมารดา ทำไร่ทำนา ฐานะทางครอบครัวอยู่ในฐานะพอมีพอกิน ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยเรียบง่าย สุภาพเรียบร้อย ในวัยเยาว์นับว่าท่านเป็นผู้อยู่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนาตั้งแต่ตัวเล็กๆ ท่านคอยปรนนิบัติ รับใช้พระอยู่เสมอ พอท่านอายุได้ ๑๐ ปี มีพระซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มาเยือน วัดบำเพ็ญบุญ ชื่อว่าพระอาจารย์แสวง เมื่อพระอาจารย์แสวงได้พบเด็กชายเชื้อ ก็เกิดความรักความเมตตา อยากจะอุปการะจึงไปขอจากนายไปล่ และนางมี ผู้เป็นบิดามารดา ก็ยินยอมให้ไปโดยหวังว่าจะได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนหนังสือต่างๆ เด็กชายเชื้อจึงได้ไปอยู่ที่วัดผักไห่ จังหวัดอยุธยา และได้ศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉาน แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปได้ ๕ ปี พระอาจารย์แสวงก็ลาสิกขาบท

เด็กชายเชื้อซึ่งเริ่มจะเป็นหนุ่มจึงต้องกลับสู่ตำบลห้วยกรด บ้านเกิดอีกครั้งหนึ่ง และด้วยความเคยชินที่อยู่กับพระที่วัดมาโดยตลอด ทำให้เด็กชายเชื้อเข้ามาคลุกคลีอยู่ในวัดใหม่บำเพ็ญบุญ และได้มีโอกาสปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อคง ยสถิโร ที่วัดใหม่บำเพ็ญบุญอีกด้วย

◉ อุปสมบทครั้งแรก
ครั้นเมื่ออายุครบบวช พ่อไปล่ และแม่มี ก็จัดการอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมาวัดใหม่บำเพ็ญบุญ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ โดยมี พระสมุห์คง ยสถิโร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เตี้ย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์พรหม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุกฺกวณฺโณ” แปลว่า “สุกสดใสประดุจกับทองคำ

ในระหว่างที่บวชอยู่นั้น ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรม และความรู้ต่าง ๆ ด้วยความสนใจ แต่ท่านบวชอยู่ได้เพียง ๕ พรรษา ท่านก็ได้ลาสิกขาบทไปสู่เพศฆารวาส เพราะไม่มีคนช่วยบิดามารดา ทำนาเนื่องด้วยพี่น้องของท่าน ๘ ที่มีด้วยกันทั้งหมดนั้น เป็นผู้ชายเพียง ๒ คน ซึ่งก็คือ พี่ชายของท่าน และตัวหลวงพ่อเชื้อเอง แต่เมื่อท่านลาสิกขาบทแล้ว ไม่นานท่านก็ล้มป่วยลงอย่างหนัก ซึ่งหมอต่าง ๆ ก็ไม่สามารถรักษาท่านได้ แต่ด้วยบุญกุศลท่านยังมีอยู่ จึงไปหาหลวงพ่อโม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทนาราม (วัดห้วยกรด) สมัยนั้น เพื่อให้หลวงพ่อโมช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของท่าน และท่านได้ตั้งจิตอธิฐานปวารณาตัวต่อหลวงพ่อโมว่า หากตนหายจากอาการป่วยไข้ และแข็งแรงดีแล้วท่านจะบวชพระให้ ๑ พรรษา และนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ไม่นานอาการป่วยไข้ของท่านก็หายเป็นปกติด้วยการรักษาพยาบาลของหลวงพ่อโม

◉ อุปสมบทครั้งที่สอง
เมื่อสุขภาพแข็งแรงดีแล้ว ซึ่งขณะนั้นท่านอายุได้ ๒๗ ปี ท่านจึงเข้าสู่การอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๗๓ ณ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ โดยมี หลวงพ่อคง ยศถิโร เป็นพระอุปฌาชย์ พระอาจารย์โม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์พรหม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุกฺกวณฺโณ” แปลว่า “สุกสดใสประดุจกับทองคำ

เหมือนครั้งแรกนั้นเอง แม้ว่าการอุปสมบทครั้งที่สอง จะเป็นการอุปสมบทเพื่อแก้บนที่ท่านหายจากอาการป่วยไข้ก็ตาม แต่พระเชื้อก็ได้พยายามศึกษาหาความรู้ทั้งทางธรรมะ และทางแพทย์แผนโบราณ จนเป็นที่เลื่อมใสของอุบาสกอุบาสิกา ครั้นเมื่อครบ ๑ พรรษา ท่านก็คิดจะลาสิกขาบทอีก แต่ยังไม่ทันลาสิกขาบทก็เกิดอาการป่วยไข้ขึ้นมาอีก ร่างกายที่เคยแข็งแรง กลับเจ็บป่วยต้องล้มหมอนนอนเสื่ออีกครั้ง ขณะที่ท่านนอนป่วยนั้นภวังค์จิตของท่านเกิดความคิดขึ้นมาว่า ตัวท่านนั้นคงเกิดมาเพื่อครองเพศบรรพชิตเท่านั้น เพราะเมื่อคอดจะลาสิกขาบทเมื่อใดก็มีอันล้มป่วยลงทันที เมื่อท่านคิดได้ดังนี้แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจ และตั้งปณิธานว่า จะขอบวชเป็นสง์เช่นนี้โดยไม่คิดลาสิกขาบทอีกต่อไป อยู่มาไม่นานท่านก็หายป่วย และมีสุขภาพแข็งแรงดีเช่นเดิม

เมื่อท่านได้ตั้งปณิธานว่าจะบวชไม่สึก และหายจากอาการป่วยไข้แล้ว หลวงพ่อเชื้อท่านก็หันมาตั้งใจปฏิบัติธรรม ศึกษาหาความรู้ใส่ตน ในปีต่อมาท่านได้ศึกษาปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี

ในพรรษาที่ ๒ ได้ย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ สำนักศรัทธาราษฏร์ ประตูท่าแห อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท จนสอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านได้กลับมาอยู่ ณ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ และได้ศึกษาทางด้านวิปัสนาธุนะและไสยเวทย์จากหลวงพ่อคง วัดใหม่บำเพ็ญบุญ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ นอกจากนี้หลวงพ่อเชื้อยังได้ถือธุดงค์เป็นกิจวัตรแสวงหาความสงบในที่ต่างๆ อีกหลายแห่งจนถึงประเทศลาว มีสานุศิษย์ทางภาคอีสาน และฝั่งเวียงจันทร์ระหว่างธุดงค์อยู่ได้พบปะกับพระอาจารย์อีกหลายรูป บางรูปก็ขอแลกวิชากัน หลังจากนั้นได้มาศึกษาวิชาอาคมต่อกับ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ เจ้าตำรับมีดหมอและสิงห์งาแกะ ซึ่งต่อมาหลวงพ่อได้ทำมีดหมอชื่อ มีดเทพศาสตรา จนปรากฏชื่อเสียง เป็นพระปฏิบัติที่ได้ชื่อว่ามีเมตตาสูงผู้หนึ่ง หลวงพ่อมีจริยวัตรที่น่าเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่ง แก่ผู้ที่พบเห็นอยู่

ครั้นเมื่อ หลวงพ่อคง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่บำเพ็ญบุญมรณภาพลง พระมหาโชติได้เป็นเจ้าอาวาสแทน และหลวงพ่อเชื้อได้เป็นรองเจ้าอาวาส ต่อมาพระมหาโชติได้ลาสิกขาบทไป อุบาสกอุบาสิกาได้อาราธนาให้ หลวงพ่อเชื้อ สุกกวัณโณ เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา หลวงพ่อเชื้อเป็นพระที่มีพรหมวิหาร ปกครองพระลูกวัดด้วยความเมตตากรุณา อนุเคราะห์อุบาสกอุบาสิกา ในการรักษาพยาบาลด้วยวิชาแพทย์แผนโบราณที่ท่านได้เล่าเรียนมา แม้ผู้ป่วยบางรายมาหาท่านที่วัดไม่ได้ ท่านก็อุตส่าห์ไปให้การรักษาถึงที่บ้านทั้งกลางวันและกลางคืน ค่ำมืดดึกดื่นอย่างไรท่านก็ไปรักษาให้ ถ้าใครทุกข์กายมาหาท่าน ท่านก็รักษาให้ หากใครทุกข์ใจมาหาท่าน ท่านก็ให้ธรรมะรักษาจิตใจ ท่านเป็นพระที่เปี่ยมล้นด้วยเมตตากรุณา จนเป็นที่เคารพรักและนับถือของประชาชนทั่วไป

หลวงพ่อเชื้อ ท่านไม่สะสมปัจจัยทุกอย่างที่มีคนมาถวายตามศรัทธา หลวงพ่อจะนำมาใช้ประโยชน์ในทางบำรุงพระพุทธศาสนา จึงมีชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ตามแบบพระสงฆ์ที่ควรกราบไหว้ ทั่วไป หลวงพ่อชอบสันโดษ สมถะแม้แต่การฉันหรือการอยู่อาศัย ได้มีผู้ศรัทธาสร้างกุฏิใหญ่โต สะดวกสบายทุกอย่าง แต่หลวงพ่อกลับไม่สนใจ หลวงพ่อได้อาศัยมุมหนึ่งของศาลาวัดเป็นที่จำวัตร หลวงพ่อให้เหตุผลว่าที่ชอบนอนศาลาวัดก็เพราะว่า สบายดี แจ้งโล่งดี ใครไปมาหาสู่ก็พบเห็นง่าย ใครไปหาเมื่อใดก็พบเมื่อนั้นนอกเสียจากท่านติดกิจนิมนต์

◉ หน้าที่การงานและสมณศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ สอบได้นักธรรมชั้นตรี
ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ สอบได้นักธรรมชั้นโท
ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นเจ้าอาวาส วัดบำเพ็ญบุญ
ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตำบลห้วยกรด
ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นพระสมุห์ฐานานุกรมของเจ้าคณะอำเภอ
ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นพระครูชั้นประทวน
ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตร พระครูสุชัยบุญญาคม

หลวงพ่อเชื้อ เป็นผู้สร้างความเจริญรุ่งเรือง ให้แก่วัดใหม่บำเพ็ญบุญเป็นอย่างมาก ท่านเป็นประธานจัดสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ สร้างซ่อมแซมกุฏิสงฆ์ ปฏิสังขรพระอุโบสถ และที่สำคัญท่านเป็นผู้ดำริ และเป็นประธานสร้าง เมรุ และศาลาธรรมสังเวช ซึ่งนับเป็นแห่งแรกของตำบลห้วยกรด

◉ อาพาธ
หลวงพ่อเชื้อ ท่านเป็นเจ้าอาวาส วัดใหม่บำเพ็ญบุญตลอดมา จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต สุขภาพของท่านก็เริ่มทรุดโทรม เมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๔ หลวงพ่อเชื้อ เริ่มอาพาธ อาการอาพาธของท่านไม่ดีขึ้นเลย แม้บรรดาศิษย์จะช่วยกันรักษาพยาบาลอย่างไร อาการมีแต่ทรุดลงๆ

◉ มรณภาพ
จนกระทั่งเมื่อ เวลา ๑๘.๔๖ นาฬิกา ของ วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๕ หลวงพ่อเชื้อ สุกกวัณโณ ได้มรณภาพลงอย่างสงบ ดุจท่านได้หลับไป แต่เป็นการหลับที่ไม่มีการตื่นขึ้นมาอีกแล้ว สร้างความสลดโศกเศร้าให้แก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้ชิด ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป ที่เลื่อมใสศรัทธาหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง สิริอายุรวมได้ ๗๘ ปี ๒๒ วัน พรรษา ๕๗ โดยอุปสมบทครั้งแรก ๕ พรรษา และครั้งหลังอีก ๕๒ พรรษา

หลังจาก หลวงพ่อเชื้อ สุกกวัณโณ มรณภาพลงแล้ว บรรดาศิษยานุศิษย์ ร่วมกันจัดสวดพระอภิธรรมหน้าศพเป็นเวลา ๑๕ วัน และบรรจุสรีระสังขารไว้ในโลงแก้ว และตั้งไว้ ณ ศาลาการเปรียร วัดบำเพ็ญบุญ เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ได้สักการบูชา และได้ร่วมกันจัดงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อ วันที่ ๒๕-๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๙ โดยทำพิธีพระราชทานเพลิง เวลา ๑๖.๓๐ น. ของวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๙

◉ การสร้างพระเครื่องวัตถุมงคล
วัตถุมงคลของท่าน หลวงพ่อเชื้อ ส่วนมากแล้วจะเน้นทางด้านวิชาเมตามหานิยม สังเกตุได้ว่ายันต์ต่างๆ ที่หลวงพ่อเชื้อ ท่านใช้เป็นประจำนั้น ส่วนมากแล้ว เน้นเมตตาหมหานิยมแทบทั้งสิ้น การบูชาพระเครื่องวัตถุมงคลของท่านจึงมีจุดมุ่งหมายไปในทางเดียวกันคือ สร้างความรักและเมตตาต่อกัน ไม่ให้เบียดเบียนกันเป็นวิชาที่มุ่งสันติธรรม จึงไม่เป็นเดรัจฉานวิชา เพราะเมตตาคือสัจจธรรม หลวงพ่อก็มีเมตตาธรรมเป็นประจำใจ จนกลายเป็นนิสัย นั่นคือการสงเคราะห์ แก่บุคคลทั่วๆไป น้ำพระพุทธมนต์ของหลวงพ่อเชื้อนั้น นอกจากส่งเสริมความเมตตาปราณี ต่อกันแล้วยังป้องกันภูตผีปีศาจ และคุณไสย์ เช่นบ้านใดครอบครัวใดมีความเดือดร้อนทะเลาะวิวาทกันจนเป็นประจำ เมื่อขอน้ำพระพุทธมนต์ของท่าน ไปประพรมภายในครอบครัว ก็มีความรักสมัครสมานสามัคคีกันดี ไม่มีการทะเลาะวิวาท ไม่ค่อยเจ็บป่วยทำมาหากินก็เจริญรุ่งเรือง หากแต่เรื่องเล่าและประสบการณ์ต่างๆ จากพระเครื่อง และวัตถุมงคลของท่านส่วนมากแล้ว จะได้ยินได้ฟังทางด้านคงกระพันมหาอุตม์เป็นส่วนใหญ่ เพราะเรื่องคงกระพันแคล้วคลาด เป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ต้องสังเกตุใดๆ ก็สามารถรับรู้ได้โดยตาเนื้อ แต่เรื่อง เมตาตาโชคลาภ เมตตามหานิยมนั้น ผู้ห้อยบูชาต้องมีการสังเกตุตัวเอง และบุคคลรอบข้างอยู่ตลอดเวลา หากไม่สังเกตุ ก็น้อยคนนักที่จะเห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น แสดงให้เห็นว่าพระเครื่องวัตถุมงคลของหลวงพ่อเชื้อ มีพุทธคุณครอบคลุมทุกๆ ด้าน จริงๆ

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเชื้อ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ ปี๒๕๐๖
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเชื้อ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ ปี๒๕๐๖

เหรียญหลวงพ่อเชื้อ สุกกวัณโณ รุ่นแรก จัดสร้างในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ลักษณะเป็นเหรียญกลม มีหูห่วง ด้านหน้าตรงขอบเหรียญด้านในเป็นจุดไข่ปลาล้อมรอบ ตรงกลางเป็นรูปเหมือน ใต้ฐานรูปเหมือนเขียนคำว่า “หลวงพ่อสมุห์เชื้อ วัดบำเพ็ญบุญ” ด้านข้างซ้ายเขียน คำว่า “ครั้งที่ ๑” ด้านข้างขวาเขียนคำว่า “๒๕๐๖” ด้านหลังเหรียญ ยกขอบ ตรงกลางเป็นอักขระยันต์ จัดเป็นเหรียญดังอีกเหรียญของชัยนาท

เหรียญ รุ่น๒ ฝรั่งดอง หลวงพ่อเชื้อ วัดบำเพ็ญบุญ ชัยนาท ปี๒๕๑๑
เหรียญ รุ่น๒ ฝรั่งดอง หลวงพ่อเชื้อ วัดบำเพ็ญบุญ ชัยนาท ปี๒๕๑๑
เหรียญหลวงพ่อเชื้อ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ ชัยนาท รุ่น3 ปี ๒๕๑๓
เหรียญหลวงพ่อเชื้อ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ ชัยนาท รุ่น๓ ปี ๒๕๑๓
เหรียญนาคคู่ หลวงพ่อเชื้อวัดใหม่บำเพ็ญบุญ จ.ชัยนาท ปี๒๕๑๘
เหรียญนาคคู่ หลวงพ่อเชื้อวัดใหม่บำเพ็ญบุญ จ.ชัยนาท ปี๒๕๑๘
พระผงจันทร์ลอย หลวงพ่อเชื้อ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ จ.ชัยนาท ปี๒๕๑๘
พระผงจันทร์ลอย หลวงพ่อเชื้อ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ จ.ชัยนาท ปี๒๕๑๘