วันศุกร์, 28 มีนาคม 2568

ตำนาน หลวงพ่อองค์แสน วัดพระธาตุเชิงชุม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองสกล

ตำนาน หลวงพ่อองค์แสน

วัดพระธาตุเชิงชุม
ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

หลวงพ่อองค์แสน (พระเจ้าใหญ่องค์แสน) วัดพระธาตุเชิงชุม
หลวงพ่อองค์แสน (พระเจ้าใหญ่องค์แสน) วัดธาตุศาสดาราม เมืองสกลนคร
ก่อนบูรณะ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๐

หลวงพ่อองค์แสน เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ วัสดุก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๒ เมตร สูงจากฐานถึง พระเมาลี ๓.๒๐ เมตร ศิลปะเชียงแสน เป็นที่เคารพสักการะของชาวสกลนครคู่มากับพระธาตุเชิงชุม

ประดิษฐานเป็น พระประธานอยู่ใน พระวิหาร วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร ประทับบนแท่น สูง ๑.๓๕ เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศ ตะวันออก หันพระปฤษฎางค์เข้าหาองค์พระธาตุเชิงชุม

ตํานานเล่าขานว่า หลวงพ่อพระองค์แสน สร้างขึ้นราวพุทธศักราช ๑,๘๐๐ เพื่อแทน หลวงพ่อสุวรรณแสนองค์จริงที่เป็นทองคําทั้งองค์ (สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๓) คือในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เกิดศึกสงครามหลายครั้ง จึงย้ายเมืองไปอยู่ที่นครธม ก่อนย้ายได้นําพระสุวรรณ แสนทองคําไปซ่อนไว้ในน้ำ ไม่สามารถนําไปได้ ด้วยเหตุว่ากลัวข้าศึกจะมาแย่งชิงในระหว่างทาง พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้สร้างหลวงพ่อพระองค์แสน (องค์ปัจจุบัน แทนไว้ให้ทําด้วยเหล็กเส้นชนิดสี่เหลี่ยมเป็นโครง (ผูกลวด) แล้วฉาบด้วยทรายผสมปูนขาวแช่น้ำเปลือกไม้ (ยางบง) น้ำแช่หนัง-มะขาม-น้ำอ้อย และเถาผักกรูด ลงรักปิดทอง มีพุทธลักษณะเท่าเดิมให้ นามว่า “หลวงพ่อพระองค์แสน”เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาก ซึ่งต่อมามีการบูรณะซ่อมแซมอยู่หลายครั้ง (ครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ โดยกรมศิลปากร)

หลวงพ่อองค์แสน (พระเจ้าใหญ่องค์แสน) วัดพระธาตุเชิงชุม
หลวงพ่อองค์แสน (พระเจ้าใหญ่องค์แสน) วัดพระธาตุเชิงชุม

ในอดีตเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๙๙ องค์หลวงพ่อองค์แสน เดิมนั้นเกิดชำรุดหนักเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่ก่ออิฐถือปูน พอโดนน้ำหรือความชื้นมากๆ เข้า ก็ทำให้องค์พระชำรุดไปตามกาลเวลา เมื่อมีการเฉลิมฉลองสมโพธิ์ราชธานีครบ ๒๐๐ ปีตามประกาศรัฐบาล จะมีการบูรณะปฎิสังขรณ์ขยายโบสถ์ และองค์หลวงพ่อองค์แสน เกิดการชำรุด ก็เลยมีการจะสร้างหลวงพ่อองค์ใหม่มาแทนที่ เมื่อการบูรณะเริ่มขึ้นช่างชาวญวนพยามทุบองค์พระ และพยามลอกทองที่หุ้มออกแต่พอทุบไปครั้งใด ก็ได้ยินแต่เสียงหัวเราะดังกังวานออกมา จนภายหลังถึงกลับต้องล้มป่วยไป (ผู้รับเหมาคนที่จะรื้อพระคือ นายชุน ศรีดามา นักธุระกิจชาวเวียดนามรุ่นบุกเบิกสกลนคร หลังจากคนงานชาวญวนทุบพระจนแขนขวาร้าวหลวงพ่อยิ้มให้คนงานโดดหนีร้องตระโกนตลอดทางว่า ฝะหยิ้ม (ออกสำเนียงแบบไม่ชัด) ซึ่งต่อมาองค์ชุน หรือนายชุน ศรีดามา ก็ได้เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำแขนหัก คนเมืองสกลฯ รุ่นเก่าๆ จึงเรียกองค์ชุนว่า องค์ชุนฝะหยิ้ม) ด้วยเหตุนี้จึงต้องล้มเลิกการบูรณะเอาหลวงพ่อองค์แสนออก จากเหตุดังกล่าวเมื่อท่านมาสักการะ หลวงพ่อพระองค์แสน จะเห็นมีหลวงพ่อซ้อนกันอยู่ ๒ องค์ องค์หน้าคือหลวงพ่อองค์เดิม ส่วนองค์หลังเป็นองค์ใหม่ที่จะสร้างขึ้นมาแทนนั่นเอง

หลวงพ่อองค์แสน (พระเจ้าใหญ่องค์แสน) วัดพระธาตุเชิงชุม
หลวงพ่อองค์แสน (พระเจ้าใหญ่องค์แสน) วัดพระธาตุเชิงชุม (องค์เดิมก่อนบูรณะ)

จากประวัติหลวงพ่อองค์แสน หลายอย่าง ในสมัยก่อนเคยมีพระมอญ ที่เคยมาบำเพ็ญศีลภาวนาที่วัดพระธาตุเชิงชุม แล้วพอจะกลับก็บอกพระที่วัดไว้ว่า หลวงพ่อองค์นี้เป็นองค์ปลอม แต่เป็นองค์ปลอมที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ปู่ย่าตายายชาวสกลนครและหลายๆ คน คงเคยได้ยินตำนานเล่าต่อกันมาว่า บริเวณกลางหนองหารนั้น จะมีจุดที่ลึกมากกว่าปกติ อยู่หลายแห่ง ซึ่งชาวประมงหนองหารจะเรียกว่า ขุม หรือหลุมนั้นเอง และจะมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น ขุมใหญ่ ขุมเต่าฮาง ขุมก้านเหลือง ซึ่งขุมนี้จะลึกประมาณ ๑๕-๒๐ เมตรทีเดียวเชื่อกันว่าในสมัยก่อนเมื่อพระยาขอม (พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗) จะย้ายเมืองอพยพผู้คนไปอยู่เขมรนั้น พระองค์ได้เอา หลวงพ่อพระสุวรรณแสน องค์เดิมมาซ่อนไว้ที่ขุมลึกกลางหนองหารชาวประมงจะเรียกจุดนี้ว่า ขุมใหญ่ ซึ่งเป็นขุมที่ลึกที่สุด

ชาวบ้านที่อยู่โดยรอบหนองหาร ส่วนใหญ่เป็นชาวนาและมีอาชีพเสริมคือชาวประมง บ่อยครั้งที่ชาวบ้าน (เชื่อว่าต้องเป็นผู้มีบุญ) บังเอิญไปหาปลาแถวนั้น และแหหรืออวนไปติดกับอะไรบางอย่างใต้น้ำ เมื่อดำลงไปก็เห็นองค์พระสีทององค์ใหญ่จมอยู่บริเวณนั้น แต่เมื่อทางราชการมาสำรวจนำนักประดาน้ำมาค้นหา ก็ไม่พบแต่อย่างใด ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าเป็นปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อที่จะอยู่ ณ ตรงนั้น เพื่อรอวันที่ผู้มีบุญวาสนามากพอมาเชิญหลวงพ่อขึ้นมา หรือจนกว่าจะมีพระพุทธเจ้าองค์ที่ห้า หรือพระศรีอาริยะเมตไตรมาประทับรอยพระพุทธบาทที่พระธาตุเชิงชุมนั้นเอง

ในปัจจุบันเวลาผ่านมาหลายปี อาจจะเป็นเพราะ สาหร่าย วัชพืชน้ำ ตะกอนต่างๆ ทับถมกันสูงขึ้นทุกวัน จึงไม่มีคนพบเห็นอีก ด้วยเหตุนี้ชาวสกลนครจึงถือว่าหนองหาร เป็นหนองน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดด้วย

หลวงพ่อองค์แสน วัดพระธาตุเชิงชุม
หลวงพ่อองค์แสน วัดพระธาตุเชิงชุม (องค์จำลอง)

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ https://sites.google.com/site/phrathatucheingchumwrwihar