วันอังคาร, 8 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อห้อม อมโร วัดคูหาสุวรรณ อ.เมือง จ.สุโขทัย

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อห้อม อมโร

วัดคูหาสุวรรณ
อ.เมือง จ.สุโขทัย

พระราชพฤฒาจารย์ (หลวงพ่อห้อม อมโร) วัดคูหาสุวรรณ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย
พระราชพฤฒาจารย์ (หลวงพ่อห้อม อมโร) วัดคูหาสุวรรณ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย

พระราชพฤฒาจารย์ (หลวงพ่อห้อม อมโร) พระเกจิดังแห่งวัดคูหาสุวรรณ อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อห้อม อมโร นามเดิมชื่อ “ห้อม” บิดาชื่อ “นายเรือง” และมารดาชื่อ “นางมาลัย ครุฑนาค” ปู่ชื่อ “นายครุฑ” ย่าชื่อ“นางพลึง” ตาชื่อ “นายติ่ง” ยายชื่อ “นางปราง” อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน คือบ้านคลองตะเคียน หมู่ที่ ๑๒ ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ปู่เป็นผู้ใหญ่บ้าน

พ่อ-แม่ อยู่บ้านปู่ย่าจึงคลอดที่บ้านปู่ คลอดวันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีวอก วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๑ เวลาประมาณ ๕ โมงเย็น เวลาคลอดมีคนมาเยี่ยมกันมาก ปู่จึงถือนิมิตนี้ ตั้งชื่อให้ว่า ห้อม เมื่อคลอดแล้วคงอยู่ที่บ้านปู่ ย่า ต่อมาพ่อถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นทหารเข้าประจำการที่พิษณุโลก เมื่อถึงกำหนดปลดประจำการ ถูกระดมไปในราชาภิเษกรัชกาลที่ ๖ ขึ้นครองราชย์ เมื่อกลับมาถึงกองประจำการแล้วอยู่คอยรับใบกองหนุน เวลาเที่ยงคืนลงท้อง (ท้องเสีย) อย่างแรง เข้าใจว่าเป็นอหิวาตกโรค พอสว่างก็ขาดใจตาย เขาเอาศพไปฝังไว้ที่ป่าช้าวัดยาง พิษณุโลก ตายเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๕๔ เดือน ๔

นายเต่า ครุฑนาค พี่ชายคนโต (ของพ่อ) ได้ไปขุดศพขึ้นมาเผาเก็บอัฐิธาตุมาให้ อัฐิธาตุนี้ได้เอาใส่ไว้หลุมนิมิต (หลุมลูกนิมิต) หลุมกลางรวมทั้งปู่ย่าด้วยในวันผูกพัทธสีมาวัดฤทธิ์ พ.ศ.๒๔๗๖ นายรอด คงเนียม (พ่อของท่านพระสุธรรมธีรคุณ (เจ้าคุณดำรง พทฺธญาโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยชุมพล) เป็นลูกพี่ลูกน้องกันไปเป็นทหารอยู่ด้วยกัน แต่เป็นทหารหลัง ๑ ปี เล่าว่า ได้เอาใจใส่พยายามรักษาอย่างเต็มที่ เวลาตายก็นอนตายในตักของแกเอง หลังจากพ่อตายแล้ว ตายายก็รับเอามาเลี้ยงส่วนแม่ก็มีสามีต่อไป

พ.ศ.๒๔๕๕ ถึง พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นคุดทะราด คือเป็นแผลตามใบหน้าตามัวแขนขาแทบทั้งตัว ต้องรักษาอยู่ ๓ ปี จึงหายได้

พ.ศ.๒๔๕๘ เดือน ๗ ฝนตกน้ำขังในคลองแคน้อย ซึ่งห่างจากบ้านตา ประมาณ ๕ เส้น ได้ไปลงเล่นน้ำ ไปคนเดียว เดินลงไปถึงหลุมที่ขุดไว้จึงตกลงไปมิดหัวต้องกินน้ำเสียหลายกลืน นายแจ้ง ดีร่อง สักว่าเป็นอา เอาควายไปลงน้ำเห็นเข้า จึงได้เอาขึ้นมาได้

พ.ศ.๒๔๕๙ นายจ่าง พุ่มมั่น ซึ่งเป็นน้าออกจากทหารมาบวชจำพรรษาอยู่วัดศิริราฎร์เจริญธรรม(ฤทธิ์)เข้าไปอยู่วัดด้วย หลวงน้าให้เรียนหนังสือ เดิมหัดเขียน ก.ข.๔ น้อย ซึ่งมี ๓๕ ตัว อักษรมีมีตัวอักษรดังต่อไปนี้ ก.ข.ค.ฆ.ง.
จ.ฉ.ช.ฌ.ญ. ด.ต.ภ.ท.ธ.ฒ.พ.บ.ป.ผ.ฝ.ภ.ม.ย.ล.ร.ว.ส.ห.ฬ.อ.ฮฯ ใช้ไม้กระดานยาวประมาณ ๒ ศอกกว้างประมาณ ๑๕นิ้ว เอาดินหม้อมาผสมข้าวสุกทา เอาดินเหนียวมาปั้นเป็นดินสอเขียนหนังสือลงในกระดาน

พ.ศ.๒๔๖๑ ไปเข้าโรงเรียนประชาบาล วัดคุ้งยางใหญ่ ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เรียนอยู่ ๒ ปีอ่านหนังสือแบบเรียนเร็วเล่ม ๑ได้เพียงครึ่งเล่ม พอบวกลบได้ที่เรียนได้น้อยนั้น เพราะปีหนึ่งได้เรียนเพียง ๓ เดือน คือเข้าเรียน ๓ เดือนนอกนั้นต้องออกไปเลี้ยงควายอยู่ทุ่งนา

พ.ศ.๒๔๖๕ ไปอยู่เลี้ยงควายให้นายชุ่ม นางพลับ ปั้นสำรี สักเป็นยายซึ่งเป็นพี่ของยาย บ้านวงฆ้อง ตำบลเกาะตาเลี้ยง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เดือนอ้ายหนาวจัด ๓ โมงเช้าจึงเห็นดวงอาทิตย์ เล่นปืนก้านร่ม เอาก้านร่มที่เป็นเหล็ก มาตัดทำเป็นปืนใช้ยิงนกเล็กๆ ขอดินปืนจากตาชุ่มใส่ขวดเล็กไว้ใช้ เอามาใช้เวลาเช้ามืด ข้างขวดเย็นเป็นน้ำ จึงเอาขวดที่ใส่ดินปืนมาอังไฟ(ลนไฟ) ไฟแลบเข้าขวดดินปืนในขวดจึงระเบิดแตกกระเด็นใส่ตาข้างซ้ายถึงกับหงายท้อง ต้องรักษาตาอยู่เดือนจึงหาย ไปเลี้ยงควายเขาให้ข้าว ๔๐ ถัง นัดให้แม่เอาล้อ(เกวียน)มาลาก แม่ไม่ไปลากตามกำหนด เขารื้อครัวเข้า ข้าวกองอยู่ในลานนาบึง รุ่งวันไปดูขโมยลักขนเอาไปหมด ในปีนั้นไม่ได้ค่าแรง

พ.ศ.๒๔๖๗ นายจ่อง พุ่มอิ่ม ไปทำไม้ที่บึงหญ้า ตำบลสามพวง อำเภอคีรีมาศ ในสมัยนั้นยังเป็นอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย มาขอให้ไปขับล้อ(เกวียน)ลากไม้จากบึงหญ้ามาลงที่โตนดทิ้งไม้ที่หน้าวัดวาลุการาม ไปอยู่แต่เดือน ๓ ถึงเดือน ๖ รวม ๔ เดือน ไม่ได้ค่าแรงเลย

พ.ศ.๒๔๖๙ ไปอยู่เลี้ยงควายให้นายพลอย นางตาล สุวรรณโรจน์ ได้ข้าว ๑ เกวียน
พ.ศ.๒๔๗๑ เดือน ๑๐ เป็นไข้หนักถึงกับลืมตัว ได้หมอชวน อยู่ทอง รักษา เป็นหมอโบราณ เมื่อหายแล้วผมร่วง
มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๔ คน แต่ต่างบิดากัน คือ
๑. นายห้อม บุญมี
๒. นางจันทร์ ขำแจง
๓. นางถ้วน อยู่ทอง
๔. นายถนอม บุญมี

หลวงพ่อห้อม อมโร วัดคูหาสุวรรณ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย
หลวงพ่อห้อม อมโร วัดคูหาสุวรรณ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย

◉ ชีวิตในเพศบรรพชิต
เข้าบวชที่พัทธสีมาวัดคุ้งยางใหญ่ ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองจังหวัดสุโขทัย (พระราชประสิทธิคุณ พระอุปัชฌาย์) มีพระครูวินัยสาร (ทิม ยสทินฺโน) เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย ต่อมาท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย นามสมณะศักดิ์ว่าพระครูวินิจฉัยพุทธบัญญัติ และต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย มีสมณะศักดิ์ว่าพระราชประสิทธิคุณเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสังฆรักเจ๊ก เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการแป๊ะ เจ้าอาวาสวัดคุ้งยางใหญ่เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เข้าอุปสมบทในวันพฤหัสบดี แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง วันที่๑๙ มีนาคม ๒๔๗๑ มีผู้เข้าร่วมอุปสมบทด้วยกันทั้งสิ้น ๒๗ คน เข้าโบสถ์เวลาเช้ามืด เข้าสวดญัตติคู่ที่ ๑ มีพร้อมกัน ๓ คน ๑.นายแล เรืองโต ๒.นายห้อม บุญมี ๓.นายยาค เกตุเอี่ยม สำเร็จญัตติ เวลา ๙.๐๐ น.ได้นามฉายา “อมโร

ประเพณีการบวชที่ ต.บ้านสวน ในสมัยนั้น ยังต้องไปแต่งตัวเป็นนาคที่วัดก่อนบวช วันแรม ๓ ค่ำ ตอนบ่ายจึงไปโกนหัวอาบน้ำแต่งตัวรับศีลเป็นนาคที่วัดคุ้งยางใหญ่ แล้วขึ้นคานหาม แห่ไปพักที่ร่มโพธิ์ทุ่งนาบ้านคลองแคใหญ่ เต้นรำกันพอสมควรแล้วขึ้นคานหาม แห่เข้าบ้าน ตอนเย็นทำขวัญนาค ได้นายแว่ว เป็นหมอทำขวัญ กลางคืนมีเพลง บวชแล้วมีเพลงฉลองอีก ๑ คืน ในงานนี้ได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างมาก คือ
๑. นายพลอย-นางตาล สุวรรณโรจน์ ช่วยผ้าไตร ๑ ไตร
๒. นายไม้-นางพวง นักเพลงที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น อยู่บ้านแสงดาว พิษณุโลก มีศักดิ์เป็นน้า มาเล่นเพลงช่วย ๒ คืน
๓. นายทอง นายเที่ยง บ้านเกาะไม้แดง อ.ศรีสำโรง เอากลองยาวมาแห่ให้
๔. นายหนาบ บ้านวัดบอน เอาพิณพาทย์มาตีให้
๕. พวกญาติไปหาปลาในบึงมากันหลายหาบและที่บ้านก็เลี้ยงหมูไว้ด้วย
๖. บางพวกก็ทำเหล้า-น้ำขาว (สาโท) มาช่วยหลายโอ่ง

ในงานบวชครั้งนี้จึงไม่ได้กู้ยืมเงินใครมาใช้เลย เมื่อบวชแล้วจึงมาอยู่จำพรรษาที่วัดฤทธิ์ศิริราษฎร์เจริญธรรม โดยมีหลวงพ่อฤทธิ์ เทวะ เป็นเจ้าอาวาส มีพระอาจารย์โป่ง เป็นรองเจ้าอาวาส

พระราชพฤฒาจารย์ (หลวงพ่อห้อม อมโร) วัดคูหาสุวรรณ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย
พระราชพฤฒาจารย์ (หลวงพ่อห้อม อมโร) วัดคูหาสุวรรณ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย

◉ ศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐาน
พระเดชพระคุณหลวงพ่อห้อม ได้สนใจใฝ่ศึกษามาตั้งแต่เป็นวัยเด็กโดยมีตาของท่านเป็นผู้มีวิชาอาคมเป็นที่อัศจรรย์ ท่านเล่าว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งมีไก่ตัวผู้ซึ่งเป็นไก่ที่ตีเก่งและมันไปติดตัวเมียไม่ยอมกลับบ้าน ท่านจึงจะ ออกไปตามหาแต่ตาของท่านบอกว่าไม่ต้องไปหรอกประเดี๋ยวจะเรียกมันกลับมาเอง ตอนนี้ให้ไปหาข้าวให้ตากินก่อน ท่านจึงไปจัดหาข้าวให้ตากิน ต่อมาเวลาพลบค่ำตาท่านก็เรียกท่านมาหาบอกว่าไก่มาแล้ว และท่านก็เห็นตาท่านอุ้มไก่อยู่ในมุ้งแล้วก็ส่งให้หลวงพ่อ ซึ่งหลวงพ่อเล่าว่ามันน่าอัศจรรย์ใจมากเพราะตาของท่านไม่สามารถเดินไปไหนได้ ดวงตาท่านมองไม่เห็น(ตาบอด)แต่สามารถใช้วิชาเรียกไก่มาได้ และทุกๆวันจะเห็นคนมาขอสีผึ้ง ขอแป้งเสก จากตาท่านจำนวนมาก ทำให้หลวงพ่อสนใจที่จะศึกษาวิชาด้านนี้ ต่อมาระหว่างไปเลี้ยงควายได้พบกับลุงอีกคนหนึ่งชื่อว่าลุงช่วยเป็นคนบ้านสวน หลวงพ่อเล่าว่า ระหว่างเลี้ยงควายด้วยกันลุงก็จะใช้ให้ไปย้ายควายกินหญ้าบ้าง ให้เอาควายไปกินน้ำบ้าง โดยลุงช่วยบอกว่าจะสอนวิชาให้

แล้ววันหนึ่งลุงช่วยก็เรียกท่านมาแล้วบอกว่าให้ลองเอามีดแทงที่แขนซิ ก็ปรากฏว่าไม่เข้า ทำให้ท่านตื่นเต้นมากและลุงช่วยก็สอนให้แก่ท่านลุงช่วยบอกว่าเป็นวิชาของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร ซึ่งลุงช่วยเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ซึ่งหลวงพ่อเงินสมัยนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ซึ่งต่อมาพระเดชพระคุณหลวงพ่อห้อมได้นำวิชานี้มาเป็นคาถาในการปลุกเศกวัตถุมงคลเพื่อให้มีผลในทางคงกระพัน ซึ่งท่านเล่าว่าก่อนที่จะนำไปปลุกเศกเหรียญหรือวัตถุมงคล ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าคาถายังใช้ได้ดีอยู่ หลวงพ่อจึงลองปลุกเศกตะกรุดและนำตะกรุดดังกล่าวไปใส่ในปลาช่อนซึ่งตายแล้วและเห็นว่าแม่ครัวกำลังจะทำอาหารถวายพระใน วัดคูหาสุวรรณนั่นเอง

โดยท่านใช้กุศโลบายว่า ให้แม่ครัวนั้นไปเอาของให้หน่อยและท่านก็เอาตะกรุดซึ่งลงอักขระยันต์ดังกล่าวใส่ปากปลาช่อนนั้น ต่อมาแม่ครัวก็กลับมาเพื่อทำปลาแต่ก็ปรากฏว่าไม่ว่าจะใช้มีดฟันไปที่ปลาช่อนตัวนั้นไปกี่ครั้งก็ไม่เข้า เมื่อเห็นดังนั้นท่านจึงบอกแม่ครัวให้ไปเอาของอีกครั้งหนึ่งและเอาตะกรุดดอกนั้นออกเสียและก็ใช้ พระคาถานั้นมาปลุกเศกวัตถุมงคลของท่านเพื่อให้เกิดผลในทาง คงกระพัน นับแต่นั้นมา

◉ หลวงพ่อห้อม อมโร ขณะบวชได้ ๒ พรรษา
ในวัยเด็ก-วัยหนุ่มของหลวงพ่อจึงได้ศึกษาวิชา-อาคมมาบ้างแล้ว ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าว่าครั้งหนึ่งท่านเป็นเด็กหนุ่มได้เดินทางไปเที่ยวถึงวัดบ้านซ่าน อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ไปกับเพื่อน ๒-๓ คน เมื่อขณะกำลังจะเดินทางกลับก็มีวัยรุ่นแถวบ้านซ่าน หลายคนทำท่าจะมาหาเรื่อง ท่านบอกว่าท่านไม่ได้รู้สึกกลัวเลย เฉยๆ ท่านบอกให้เพื่อน ท่านเดินอ้อมไปก่อนส่วนตัวท่านสูบบุหรี่อย่างเต็มที่ทั้งบริกรรมคาถา แล้วก็เดินผ่านไปกลางวัยรุ่นกลุ่มนั้นแล้วพ่นบุหรี่ไป ปรากฏว่าวัยรุ่นกลุ่มนั้นก็ตีกันเองจ้าละหวั่น ส่วนท่านก็กลับบ้านโดยปลอดภัย ท่านเรียกว่าวิชา(อาพัดบุหรี่) ซึ่งเหตุการณ์อย่างนี้ก็เกิดหลายครั้งแต่ท่านก็ปลอดภัยทุกครั้ง

เมื่อท่านถึงเวลาอุปสมบทท่านไปอยู่วัดฤทธิ์หรือวัดน้อย เนื่องด้วยมีความเคารพรักและศรัทธาในตัวหลวงพ่อฤทธิ์เป็นอย่างมากเฉกเช่นเดียวกับชาวบ้านทั้งตำบลบ้านสวน และต้องการเรียนรู้วิปัสสนากรรมฐานและคาถา-อาคมกับหลวงพ่อฤทธิ์ เทวะ ซึ่งท่านเจ้าอาวาสวัดฤทธิ์ฯนี้ หลวงพ่อฤทธิ์นั้นเดิมท่านเป็นคนบ้านคลองตะเคียน ต.บ้านสวนนี่เอง ต่อมาท่านได้อุปสมบทและเมื่อครั้งกิตติคุณชื่อเสียงของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังษี แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม โด่งดังมาก ท่านจึงได้ชักชวนเพื่อนสหธรรมมิกของท่านคือหลวงพ่อเจ็ก วัดหัวฝาย และหลวงพ่อแป๊ะ เจ้าอาวาสวัดคุ้งยางใหญ่ เดินทางไปเรียนศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรมรังสี เจ้าอาวาสวัดระฆัง ที่บางกอก(สมัยนั้นเรียกกรุงเทพว่าบางกอก) เมื่อเรียนอยู่ที่นั่น ๖ พรรษา สำเร็จจึงเดินทางกลับมาบ้านและเป็นเจ้าอาวาสวัดฤทธิ์ศิริราษฎรเจริญธรรม และมีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น

◉ หลวงพ่อสัมฤทธิ์ เทวะ
หลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อห้อม ได้มาพำนัก ณ วัดฤทธิ์ศิริราษฏร์เจริญธรรมแล้ว ท่านก็เริ่มศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อฤทธิ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ทันที ท่านต้องท่องหนังสือหรือต่อหนังสือจากพระรุ่นพี่ซึ่งหลวงพ่อห้อม มีความรู้น้อยมาก ท่านเล่าว่าการต่อหนังสือก็โดยการให้พระรุ่นพี่ท่องให้ฟังแล้วท่านก็หัดท่องตามซึ่งเรียกกันว่าต่อหนังสือ ท่านท่องจนได้ ในพรรษานี้ท่านเริ่มทำสมาธิอย่างจริงๆจังๆและท่านก็ได้เล่าให้ฟังว่า ตอนทำสมาธิใหม่ๆเมื่อจิตเกิดความสงบขึ้นในจิตใจ ก็ปรากฏว่าในนิมิตของท่านมีงูตัวใหญ่มากมาฉกกัดท่าน แต่ท่านก็ไม่ได้รู้สึกกลัว ท่านบอกว่าคงเป็นเทวดามาแกล้งทดลองใจ ท่านทำสมาธิได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ในวัดฤทธิ์ก็ปรากฏว่ามีแขกของหลวงพ่อฤทธิ์ เทวะ รวมทั้งชาวบ้านมาหาอย่างมากมายในแต่ละวัน

หลวงพ่อสัมฤทธิ์ เทวะ วัดบ้านสวน ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.สุโขทัย
หลวงพ่อสัมฤทธิ์ เทวะ วัดบ้านสวน ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.สุโขทัย

แม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยในสมัยนั้นคือพระยาวิเชียรปราการ ก็นำเรือมาทางแม่น้ำยมและเลี้ยวเข้าทางบางคลองเข้ามาเทียบท่าที่วัดฤทธิ์เพื่อกราบนมัสการหลวงพ่อฤทธิ์ รวมทั้งนำอาหารมาถวายอย่างมากมาย หลวงพ่อเล่าว่าการเดินทางสมัยนั้นทางเรือเป็นทางที่สะดวกที่สุดเพราะว่าทางบกต้องเดิน หรือใช้เกวียนซึ่งต้องใช้เวลา ท่านอยู่ที่วัดฤทธิ์อย่างมีความสุข และนอกจากชาวบ้านแขกเหรื่อแล้ว ก็ยังมีพระเถระต่างๆมาเยี่ยมเยียนหลวงพ่อฤทธิ์จำนวนมากไม่ว่าทั้งใกล้และไกล เท่าที่ท่านจำได้ก็มีหลวงพ่อแป้น วัดเสาธงใหม่ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดอยุธยา ก็เป็นพระสหธรรมมิกกับหลวงพ่อฤทธิ์ เทวะด้วย ซึ่งหลวงพ่อแป้นมาที่วัดฤทธิ์นี้บ่อยมาก หลวงพ่อห้อมเล่าว่าท่านเดินทางมาศึกษาวิชาทำพระเนื้อชินจากหลวงพ่อฤทธิ์ ซึ่งวัดฤทธิ์หรือวัดน้อยในสมัยนั้นยังเป็นศูนย์รวมสรรพวิชา ไม่ว่าจะยาสมุนไพร หรือยากลั่นหรือยาเปรี้ยว ซึ่งต่อมาพระเดชพระคุณหลวงพ่อห้อมก็มาใช้รักษาคนถูกหมาบ้ากัดหรือถูกงูกัด หรือแก้อาการปวดท้อง พระเดชพระคุณหลวงพ่อห้อมอยู่ที่วัดฤทธิ์นี้ได้ ๑ พรรษา หลวงพ่อฤทธิ์ได้เรียกท่านมาหาแล้วบอกให้ท่านไปเรียนศึกษาต่อที่ในจังหวัดสุโขทัยเพื่อให้มีความรู้มากขึ้น ซึ่งท่านก็ได้มาอยู่ที่วัดราชธานี แต่เนื่องจากในสมัยนั้นมีพระอยู่จำนวนมาก จึงต้องไปนอนในวิหารวัดราชธานีซึ่งปรากฏว่าในวิหารเย็นมากและกลางคืนก็หนาว ซึ่งอยู่ที่วัดราชธานีได้ไม่กี่วันหลวงพ่อดับ(ประดับ)เจ้าอาวาสวัดคูหาสุวรรณก็ได้เดินทางมาที่วัดราชธานี เพื่อชวนหลวงพ่อห้อม ให้ไปอยู่ด้วยกันที่วัดคูหาสุวรรณ ซึ่งหลวงพ่อดับก็เป็นคนบ้านสวนเหมือนกัน เมื่อหลวงพ่อดับบอกว่าถึงที่วัดคูหาสุวรรณ มันจะคับแคบแต่ก็อยากให้ไปอยู่ด้วยกัน ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อดับท่านจึงข้ามฝั่งมาอยู่วัดคูหาสุวรรณ นับแต่นั้นมา คือวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๓

พ.ศ.๒๔๗๔ ท่านเข้าเรียนนักธรรมสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.๒๔๗๖ สอบได้นักธรรมชั้นโท พ.ศ.๒๔๗๗ สอบได้นักธรรมชั้นเอก ในสำนักเรียนวัดราชธานี พ.ศ.๒๔๘๗ สมัครเข้าสอบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ที่โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคมสอบได้มัธยมศึกษาปีที่ ๖ มีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก

โดยลูกศิษย์ของท่านที่เป็นเถราจารย์ในชั นหลังต่อมา เช่น หลวงพ่อทองดี มหาวีโร อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองตะเคียน ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๙-๒๕๔๑ ที่ได้วิชาในการทำยากลั่น หรือยารักษาพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นตำรับยาโบราณที่เคยมีในอดีต การทำมวลสาร พระผงพุทธคุณ การจานตระกรุด เป็นต้น

เหรียญรุ่นแรก ของหลวงพ่อห้อม อมโร
เหรียญรุ่นแรก ของหลวงพ่อห้อม อมโร
รูปเหมือนบูชา พระราชพฤฒาจารย์ (หลวงพ่อห้อม อมโร) วัดคูหาสุวรรณ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย
รูปเหมือนบูชา พระราชพฤฒาจารย์ (หลวงพ่อห้อม อมโร) วัดคูหาสุวรรณ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อห้อม อมโร วัดคูหาสุวรรณ มรณภาพลงเมื่อ วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๑ สิริอายุรวมได้ ๙๐ ปี