วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน ดุสิต กรุงเทพฯ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด

วัดอัมพวัน
ดุสิต กรุงเทพฯ

หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน
หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน

หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน พระเกจิผู้แก่กล้าวิชาอาคม หนังเหนียว อดีตขุนโจรขมังเวทย์ ผู้สร้างตำนานยันต์เก้ายอดอันลือลั่น

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน นามเดิมชื่อ “หรุ่น ใจภารา” เกิดเมื่อราวปี พ.ศ.๒๓๙๐ พื้นเพเป็นคนเกิดในตำบลเชียงราก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาซื่อ “นายน้อย ใจภารา” และมารดาซื่อ “นางคำ ใจภารา” ซึ่งตั้งรกรากทำนามาแต่บรรพบุรุษในตำบลเชียงรากนั่นเอง

นายหรุ่นไม่เคยสนใจในการทำนาและไม่เคยช่วยบิดามารดาทำงานเลย สนใจแต่เพียงว่ามีพระเกจิอาจารย์องค์ใดที่เก่งกล้าในวิชาอาคมทางไสยศาสตร์อยู่ที่ไหน เป็นต้องหนีออกจากบ้านไปครั้งละหลายวัน บางครั้งก็เป็นเดือน เพื่อขอร่ำเรียนวิชาต่างๆ ทำความอิดหนาระอาใจให้แก่นายน้อยและนางคำเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอยู่ต่อมาบิดาและมารดาเห็นว่าจะเลี้ยงลูกคนนี้ไว้ไม่ได้แล้ว จึงได้ปรึกษากันและกล่าวว่า ถ้าเอ็งไม่ช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ข้าทั้งสองก็เห็นจะเลี้ยงเอ็งต่อไปไม่ได้ เพราะเอ็งเอาแต่เที่ยวเตร่อย่างเดียว นายหรุ่นเป็นคนที่ทิฐิมานะแรงกล้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงก้มลงกราบพ่อแม่แล้วพูดว่า ถ้าชีวิตยังไม่ตายเสียก่อน จะกลับมาสนองพระคุณพ่อแม่ให้ได้ต่อไป พร้อมทั้งรวบรวมเสื้อผ้าข้าวของที่มีอยู่ใส่ในย่ามและลงเรือหายสาบสูญไปเป็นเวลานานโดยไม่มีข่าวและวี่แววอีกเลย

จนกระทั้ง พ.ศ๒๔๒๕ “เสือหรุ่น ใจภารา” ปรากฏตัวขึ้น โดยปล้นและฆ่าเจ้าทรัพย์มานับเป็นร้อยๆราย ตลอดทุกตำบลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลอื่นๆ ไม่มีใครที่จะปราบเสือหรุ่นลงได้ แม้แต่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเสือหรุ่นผู้นี้แก่กล้าวิชาอาคมสามารถผูกหุ่นลวงให้เจ้าหน้าที่ยิงและจับมานับครั้งไม่ถ้วน และตัวเองก็สามารถหลบหนีจากเงี้ยมมือของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในสมัยนั้นไปได้ทุกครั้ง ทำความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่เจ้าหน้าที่ไปตามๆ กั นทางการสมัยนั้นยังไม่รุ่งโรจน์พอ เครื่องมืออาวุธยุทธภัณฑ์ก็ล้าสมัย เจ้าหน้าที่ก็มีน้อย อีกทั้งยานพาหนะก็ไม่เคยปรากฏว่ามีกันเลย จนถึงพูดกันในสมัยนั้นว่า นักเลงโตกว่าตำรวจ

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่สามารถปราบเสือหรุ่นได้ กิตติศัพท์ของเสือหรุ่นในสมัยนั้นเลื่องลือไปจนกระทั้งชาวบ้านทุกๆ ตำบลของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พากันนอนไม่หลับ

จนกระทั้งนายอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เขียนประกาศปิดไว้ในที่ต่างๆ ให้เสือหรุ่นเข้าพบ โดยมีข้อแม้ว่าให้เสือหรุ่นมาเพียงคนเดียว และห้ามพกอาวุธ พบกันที่บ้านพักนายอำเภอ จะได้เจรจากันเพื่อเข้ารับราชการต่อไป โดยจะไม่เอาผิดในครั้งที่แล้วๆ มา

เมื่อ “เสือหรุ่น” ได้ทราบหนังสือประกาศของนายอำเภอแล้วจึงรีบเดินทางมาพบนายอำเภอทันที เพื่อมอบตัวหวังกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี แต่เสือหรุ่นติดกับนายอำเภอเสียแล้ว เพราะนายอำเภอจัดเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน พร้อมทั้งอาวุธปืนรายล้อมบริเวณนั้นไว้อย่างหนาแน่น เสือหรุ่นได้เดินทางมายังบ้านพักนายอำเภอ เพื่อหวังเจรจากัน เมื่อใกล้ถึงบ้านพัก เสือหรุ่นได้ยินเสียงนายอำเภอตะโกนมาว่า เสือหรุ่นจงหยุดอยู่กับที่ และยอมมอบตัวเสียแต่โดยดี มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่และชาวบ้านที่รายล้อมอยู่รอบตัวเสือหรุ่นจะยิงทันทีเสือหรุ่นเมื่อรู้ตัวว่าถูกลวง ก็มิได้สะทกสะท้านแต่ประการใด นึกแค้นใจนายอำเภอเป็นที่สุดจึงสำรวมใจเป็นสมาธิแล้วภาวนาคาถาที่ได้ร่ำเรียนมา ผูกหุ่นลวงนายอำเภอไว้ และหนีฝ่าวงล้อมรอดไปได้

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เสือหรุ่นได้ทวีการปล้นฆ่าหนักยิ่งขึ้น จนเจ้าเมืองพระนครศรีอยุธยาได้เรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลต่างๆ มาพบและปรึกษาหารือกันว่าเสือหรุ่นนี้ยากแก่การปราบปราม อยากจะเกลี้ยกล่อมให้เสือหรุ่นกลับใจเข้ารับราชการเสีย

จึงเขียนประกาศด้วยตัวของเจ้าเมืองเองให้เสือหรุ่นมาพบกับท่านโดยตรงโดยท่านจะไม่เอาโทษทัณฑ์กับเสือหรุ่นเลยเพราะทางการต้องการคนดีใว้ใช้ต่อไปเมื่อเสือหรุ่นทราบเรื่อง ครั้งแรกก็ยังลังเลใจอยู่ เพราะเคยถูกนายอำเภอต้มมาหนหนึ่งแล้ว แต่ใจหนึ่งก็คิดว่าตัวเองได้ก่อกรรมทำเข็ญสร้างเวรกรรมไว้มากแล้ว คิดจะกลับตัวกลับใจเลิกเป็นโจรเสียที จึงตัดสินใจเขียนจดหมายถึงเจ้าเมืองพระนครศรีอยุธยาว่า ตนยินดีที่จะพบกับท่านเจ้าเมืองทุกเวลาแต่มีข้อแม้ว่าให้ท่านเจ้าเมืองมาเพียงคนเดียว เสือหรุ่นรับรองในความปลอดภัย และให้พบได้ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ลานนวดข้าวหลังโรงสีเวลา ๒ ทุ่มตรง

ครั้นถึงเวลานัด เจ้าเมืองได้มาถึงที่ลานนวดข้าวก่อน พอได้เวลาเสือหรุ่นจึงเดินแหวงพุ่มไม้ออกมาพบ ท่านเจ้าเมืองจึงพูดขึ้นว่าหรุ่นเอ๊ยสิ่งใดที่ผ่านมาขอให้ลืมมันเสีย จงกลับตัวกลับใจเสียใหม่ ทางราชการยังขาดคนดีมีฝีมือเช่นเจ้าอยู่ ฉะนั้นข้าจะแต่งตั้งให้เอ็งเป็นกำนันปกครองคนในตำบลเชียงรากบ้านเดิมต่อไป เสือหรุ่นได้ฟังดังนั้นก็ตื่นตันใจ จึงทรุดตัวลงนั่งยกมือไหว้ท่านเจ้าเมืองและกล่าวว่าจะพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด

นับแต่นั้นมาเสือหรุ่นก็ได้ทำหน้าที่อย่างดีตลอดมาประมาณ ๓ ปี จึงได้พระราชทานยศเป็น “ขุนภาวิจล ใจภารา

หลังจากได้รับพระราชทานยศเพียง ๑ ปี ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก คือ “เสืออุ่น” ได้มาปรากฏตัวขึ้นในตำบลนั้น “ขุนภาวิจล” จึงเรียก เสืออุ่น เข้ามาพบแล้ว ท่านกำนันตำบลเชียงรากหรือเสืออหรุ่นจึงอบรมสั่งสอนให้เสืออุ่นให้ประพฤติแต่สิ่งดีงาม ขอให้เลิกทำความชั่วเสียเพราะได้เคยสร้างเวรสร้างกรรมไว้มาก

ส่วน “เสืออุ่น” นั่งฟังอยู่ก็มิได้รับคำแต่ประการใด กับนึกในใจว่า ขุนการวิจลเห่อยศศักดิ์จนลืมเพื่อนเก่าๆ เสียสิ้น จึงรีบลา “ขุนภาวิจล” กลับไป

เมื่อเสืออุ่นลา “ขุนภาวิจล ใจภารา” กลับมา ด้วยความไม่พอใจเสืออุ่นเริ่มปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์คนแล้วคนเล่า แล้วเมื่อปล้นฆ่าแล้วทุกๆ ราย “เสืออุ่น” จะเอ่ยซื่อ “เสือหรุ่น” ปล้นฆ่าทุกครั้ง ความทราบถึงเจ้าเมืองพระนครศรีอยุธยาให้มีความสงสัยจึง มีหนังสือถึงขุนกาวิจลให้เข้ามาพบด่วน

ฝ่ายขุนกาวิจลได้รับหนังสือแล้วคิดว่าการครั้งนี้ เราคงมีความผิดแน่ๆ เพราะเจ้าเสืออุ่นถูกจับได้ซัดทอดมาถึง และอีกประการหนึ่ง ใครๆ ก็ย่อมรู้ว่าเสืออุ่นคือ สมุนมือขวาของขุนกาวิจลมาก่อน คงจะรู้เห็นเป็นใจกันแน่จึงได้หลบหนีหายเข้ามาในกรุงเทพฯ แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามล่าตัวอยู่ตลอดเวลา ขุนกาวิจลเห็นว่าถ้าขืนอยู่ในกรุงเทพต่อไป มิวันใดก็วันหนึ่งต้องถูกจับจนได้ จึงหนีย้อนกลับขึ้นไปบวชอยู่ที่วัดลำลูกกานั้นเอง

◉ อุปสมบท
อุปสมบท ประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๑ โดยมี พระญาณไตรโลก (สะอาด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งยังเป็นที่ “พระธรรมราชานุวัตร” เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์นั้น เป็นที่ถกเถียงกัน บ้างก็ว่าเป็นพระวัดลำลูกกา บ้างก็ว่าเป็นวัดกลางนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บ้างก็ว่าเป็นพระวัดสามไห แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดลำลูกกามากกว่า

ภายหลังจากอุปสมบทได้หลายพรรษาแล้ว ท่านจึงเริ่มเดินธุดงค์ ก่อนหน้านั้นนอกจากจะได้ศึกษาพระธรรมวินัยแล้ว ยังได้ร่ำเรียนด้านวิปัสสนากรรมฐานด้วย ภายหลังได้ธุดงค์มาปักกลดในบริเวณข้างวัดอัมพวัน ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ชาวบ้านได้เห็นถึงกิจวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด และมีคาถาอาคมแก่กล้าจึงได้นิมนต์ท่านมาพำนักที่วัดอัมพวันตั้งแต่บัดนั้น

ในช่วงเวลานั้นมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เพราะกิติศัพย์ยันต์เก้ายอดอันลือชื่อ กล่าวกันว่าในยุคนั้น ไม่มีใครดังใครเหนียวเท่าก๊ก “เก้ายอด

ซึ่งในยุคนั้นเมืองกรุงเทพ หรือจังหวัดพระนครในสมัยนั้น มีก๊กนักเลงอยู่หลายก๊กด้วยกัน ที่ขึ้นชื่อก็มี ลูกศิษย์หลวงพ่อโม วัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยาราม) มีถิ่นอยู่แถวเยาวราช-วงเวียน ๒๒ กรกฎาฯ แถววรจักร ก็มีศิษย์หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร บางขุนพรม มีอาวุธประจำกายคือ ไม้ตะพดของหลวงปู่ภู หรือที่เรียกว่านิ้วเพชรพระอิศวร ว่ากันว่าหากใครโดนหัวไม้ตะพดตีนั้น อาจถึงแก่ชีวิต หลวงปู่ภูท่านจึงบอกศิษย์อยู่เสมอว่าอย่าใช้หัวไม้ตีใคร มันจะบาปตัวท่านเองด้วยและที่ขึ้นชื่อลือชาด้านความเหนียวอยู่ยงคงกระพันไม่เป็นสองรองใครก็คือ แก๊งเก้ายอด ลูกศิษย์ของหลวงพ่อหรุ่น ใจภารา วัดอัมพวัน ราชวัตร กรุงเทพมหานคร

หลวงพ่อหรุ่น ท่านสำเร็จเรื่องยันต์เก้ายอด และมักสักยันต์เก้ายอดให้แก่ศิษย์ ต่อมาภายหลังจึงได้มอบวิชานี้ให้กับอาจารย์ภู่ ซึ่งถือว่าเป็นศิษย์เอกที่ใด้รับวิชาสักนี้ไป หลวงพ่อหรุ่น ท่านมีบุตรชายคนโตชื่อ นายเสงี่ยม ใจภารา มีตำแหน่งเป็นทหารม้ารักษาพระองค์ภายหลังใด้เป็นมหาดเล็กใน เสด็จเตี่ย (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) สมัยก่อนแก๊งเก้ายอดนี้มีถิ่นอยู่แถวนางเลิ้งไปจนถึงดุสิต

เรื่องราวเล่าขานของเสือหรุ่นหรือหลวงพ่อหรุ่นเก้ายอดเป็นที่น่าเกรงขาม แม้แต่เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ ยังทรงยกย่องยอมรับ พอเลิกจากการเป็นเสือได้หันหน้าเข้าหาพระธรรม ตอนหลังเป็นพระอาจารย์ชื่อดังขึ้นชื่อเรื่องการสักยันต์เก้ายอดให้ลูกศิษย์ ใครที่มียันต์เก้ายอดติดกายเข้ารณรงค์สงครามลูกปืนมาเป็นห่าฝน มีดดาบคมกริบไม่เคยระคายผิว

กล่าวสำหรับ วัดอัมพวัน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ราว พ.ศ.๒๓๘๕ โดยพระยาราชชนะสงคราม (วัน) เป็นผู้สร้างเพื่ออุทิศแก่มารดาของท่านชื่อ “อ่ำ” จึงได้รับการขนานนามวัดว่า “วัดอ่ำวัน” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอัมพวัน” เพื่อให้มีความหมายดีขึ้น

หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน
หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน

◉ มรณภาพ
หลังจากมาจำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวันได้ไม่นานนัก หลวงพ่อหรุ่นก็ได้อาพาธกระเสาะกระแสะเรื่อยมา ด้วยโรคอัมพาต ในที่สุด หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน ท่านได้ถึงกาลมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ณ.วัดอัมพวัน นั่นเอง ภายในกุฏิหลังโบสถ์ปัจจุบันนี้ สิริอายุรวมได้ ๘๑ ปี พรรษา ๓๕

◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน ท่านสร้างวัตถุมงคลแค่ ๔ ชนิดคือ
๑.เหรียญรูปใข่ครึ่งองค์ หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน รุ่นแรก
๒.ตะกรุดโทน ยาวประมาณ ๒ องคุลีนิ้ว (ประมาณ ๕-๖นิ้วฟุต)
๓.ตะกรุดกระดูกห่าน จารอักขระขอม ยาวประมาณ ๑ องคุลีนิ้ว (ประมาณ ๒นิ้วครึ่ง-๓นิ้วฟุต)
๔.แหวนพิรอดเก้ายอด ของมงคลทุกอย่างที่เอ่ยมาของท่านสร้างไว้น้อยมากๆ

เหรียญ หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน รุ่นแรก ยันต์ใหญ่
เหรียญ หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน รุ่นแรก ยันต์ใหญ่
เหรียญ หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน รุ่นแรก ยันต์เล็ก
เหรียญ หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน รุ่นแรก ยันต์เล็ก
ตะกรุด กระดูกห่าน หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน
ตะกรุด กระดูกห่าน หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน

คำว่า ๙ ยอด คือ ยอดของยันต์ ที่มีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ๙ ทาง ดังจะผูกเป็นวลี ๙ ทางดังนี้ ชาตรี , แคล้วคลาด , กันภัย ,มหาระงับ, ดับทุกข์ , สุขล้น , พ้นสงสาร , การงานรุ่ง, พยุงดวง
“ยอดที่ ๑ ชาตรี” โดนของหนัก ของเบา ของแหลม ของคม ไม่ระคายผิว
“ยอดที่ ๒ แคล้วคลาด” ศัตรูหมู่มารเหตุเพศภัยอันใดแคล้วคลาดผ่านพ้นจากเราไปหมด
“ยอดที่ ๓ กันภัย ” ภัยจากทิศทั้ง ๔ บนบก บนน้ำ บนอากาศ ทำอันตรายเรามิได้
“ยอดที่ ๔ มหาระงับ” ดับเรื่องร้อนเลวร้ายขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นความเป็นคดีระงับดับหมดทุกเรื่อง
“ยอดที่๕ ดับทุกข์” ทุกข์ภัยที่เกิดกับตัวลำบากยากจนหน้าดำคล้ำหมอง หายจืดจางไป
“ยอดที่ ๖ สุขล้น” ทวีความผาสุก เกษมสำราญ ทั้งสุขภาพจิต สุขภาพใจ
“ยอดที่ ๗ พ้นสงสาร” จิตเกาะเกี่ยวกับธรรมคุณความดีงามละชั่วประพฤติเลว ทำดีตลอดไป
“ยอดที่ ๘ การงานรุ่ง” หน้าที่การงานเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เจ้านายรักลูกน้องหนุน เพื่อนร่วมงานดี
“ยอดที่ ๙ พยุงดวง” แก้ทุกข์ภัยจากการกระทำของดวงตก ดวงไม่ดี เคราะห์เวรกรรม บรรเทาลงโดยพลัน

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากหนังสือ 108 พระคณาจารย์แดนสยาม โดย คุณพยัพ คำพันธุ์