ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม
วัดป่าห้วยกุ่ม
อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ
หลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม เดิมชื่อ “สายทอง คำมิสา” เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ที่หมู่บ้านดอนสำราญใต้ กิ่ง อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ของครอบครัว “คำมิสา” เป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนบุตร ๑๑ คน บิดาชื่อ นายพุธ และมารดาชื่อ นางพา ประกอบสัมมาอาชีพ ทำไร่ ทำนา เลี้ยงครอบครัวด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
หลวงพ่อสายทอง ท่านเล่าว่า… เมื่อมีอายุเข้าเกณฑ์การศึกษา ผู้ปกครองจึงได้นำไปฝากเรียนที่โรงเรียนบ้านดอนสำราญใต้ จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ได้ดำเนินชีวิตตามท้องไร่ท้องนาประกอบอาชีพตามวิถีชีวิตชนบท หลังจากนั้นก็ได้บวชเป็นเณรอยู่ ๒ ปี แล้วสึก จนอายุ ๓๒ ปี ญาติผู้ใหญ่จึงได้จัดหาคู่ครองให้ อยู่กินกับภรรยาจนมีบุตรหญิงด้วยกัน ๑ คน ด้วยความยากจนและการทำมาหากินที่ฝืดเคือง จึงตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขับรถแท็กซี่ จนมาวันหนึ่ง ท่านถูกผู้โดยสารหลอกให้ไปส่งในที่เปลี่ยว แล้วโจรในคราบผู้โดยสารก็แสดงตัวขึ้นปล้นจะเอารถแท็กซี่ เครื่องมือทำมาหากินเลี้ยงชีพอย่างเดียวของท่านไป ท่านได้ถูกคนร้ายตีเสียจนน่วมไปทั้งตัว แล้วโยนทิ้งลงแม่น้ำข้างทาง ท่านนอนสลบอยู่ตัวไปติดกอผักตบเกาะไว้อยู่อย่างนั้น ก่อนฟื้นได้ยินเสียงพูดก้องหูว่า “โลกนี้หาความซื่อสัตย์ยาก ผ้ากาสาวพัสตร์นั้นจะช่วยเธอได้”
เมื่อภายหลังจากที่ท่านมาสร้างวัดป่าห้วยกุ่มแล้ว ท่านเล่าได้เล่าว่า พระที่มาช่วยท่านขึ้นจากการหมดสติในคราวเป็นฆราวาสนั้น คือ หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค ซึ่งตอนนั้นท่านไม่รู้จัก มาจำได้ก็ตอนที่มีโยมนำรูปเหมือนท่านมาถวายที่วัด พอเห็นใบหน้าพระองค์นั้นจึงจำได้ว่า องค์นี้มาช่วยเราไว้ ฝ่ายโยมผู้นำพระรูปเหมือนหลวงพ่อปาน มาถวายเองนั้นก็เล่าว่า หลวงพ่อปานมาเข้าฝัน บอกให้ทำรูปเหมือนมาถวายที่วัดป่าห้วยกุ่ม จ.ชัยภูมิ ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่รู้จักวัดนี้หรือแม้แต่หลวงพ่อสายทองมาก่อนเลยด้วยซ้ำ
หลังจากรักษาร่างกายอยู่นาน พอหายจึงได้ออกบวชโดยไม่ยอมบอกใครเลย เข้าบวชเป็นนาคตาปะขาว นานประมาณ ๑ เดือน จากนั้นจึงได้เข้าสู่เพศบรรพชิตด้วยวัย ๓๕ ปี ณ วัดป่ากุง อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๗ เวลา ๒๑.๐๐ น. โดยมีท่านเจ้าคุณภัทรมุณี (เลื่อน) วัดเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ มีหลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ คอยอบรมสั่งสอนเรื่อยมา
จากนั้นท่านจึงออกรุกขมูลไปศึกษาธรรมกับพ่อแม่ครูอาจารย์ และไปยังป่าเขาลำเนาไพรในสถานที่ ที่จะเรียกสติและกำลังใจได้ดี นั่นคือตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ สมัยที่ท่านออกไปธุดงค์อยู่ตามป่าเขา ท่านเคยโดนผีมาหลอก โดยขวักไส้ ขวักลูกตาโบ๋ แลบลิ้นปริ้นตามาหลอกท่าน ท่านตอบผีไปว่า โอ๊ย ไม่กลัวหลอก ไส้เราก็มี แถวยังดีกว่าด้วย ไม่เน่าอย่างนั้น ตาก็ดียังใช้การได้อยู่ ที่แสดงมานั่น ไม่กลัวหรอก ไม่ต้องมาหลอกหรอก
การปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม นั้นคือเอาตายเข้าแลก คือยอมหักแต่ไม่ยอมงอ ท่านปฏิบัติอย่างจริงจัง ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนจิตท่านฟุ้งซ่านง่วงหงาวหาวนอน ท่านแก้กิเลสด้วยการไปเดินจงกลมในน้ำ เดินกลับไปกลับมาอย่างนั้น ถ้าหลับก็ให้จมลงไปเลย การอดอาหารภาวนาก็ช่วยได้อย่างหนึ่ง ท่านเคยอดอาหารภาวนาติดต่อกันยาวนานถึง ๔๕ วัน เพื่อเร่งความเพียร โดยองค์ท่านให้เหตุผลว่า การงดฉันอาหารช่วยให้กายเบาจิตเบา ถึงแม้จะมีความหิวเกิดขึ้นมากมายขนาดไหนก็ตาม ล้วนเป็นอุปการะคุณต่อการปฏิบัติจิตตภาวนาทั้งสิ้น คือ จิตสงบละเอียด ปัญญาเฉียบคมเป็นพิเศษ และอีกสิ่งหนึ่งซึ่งถือเป็นปฏิปทาของหลวงพ่อสายทอง ที่เด็ดเดี่ยวไม่แพ้การอดอาหาร สิ่งนั้นคือการเดินจงกรม
การเดินจงกรมเป็นการเดินภาวนาอย่างหนึ่ง พระกัมมัฏฐานใช้ในการเปลี่ยนอริยาบถ สลับกับการนั่งภาวนา ภาวนา “พุท-โธ” พร้อมกับรับรู้ไปกับการเดิน การเคลื่อนไหว ผู้รู้จริงๆ นั้นเอาไว้จุดไหนก็ได้ภายในร่างกายของเรา มันจะขยับไปไหนรู้หมด มันมีแต่ผู้รู้ เพราะจิตมันละเอียดมันไม่ปล่อยพุทโธ พุทโธไม่มีแล้ว เวลานี้มันเป็นของมันอัตโนมัติ
แต่ก่อนไปหยิบมั่วเลย ใจดวงนี้ ไอ้นั่นก็จะเอา ไอ้นี่ก็จะเอา…นั่นดูซิ ถึงบอกว่าถ้าเราฝึกดีแล้ว อันนั้นไม่เอา อันนี้ไม่เอา อันนี้ไม่ใช่ มันอด รู้ว่าของร้อนมันไม่ไปแตะ มันเป็นอย่างนั้น ถ้าสติดีมันเกิดขึ้นไม่ได้นะภายในจิต มีเท่าไหร่ดับหมด เกิดดี ไม่ดี ับมันรู้ รู้เท่าทันไม่ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใด มันก็อยู่เป็นเอกเทศซิ เอกเทศก็หมายถึง เอโกธัมโม จิตเป็นหนึ่ง เอาหล่ะซิ ใครจะมาบังคับจิตได้ในโลกอันนี้ ความอยากทั้งหลายทั้งปวง เรื่องของโลกจะมาบังคับจิตไม่ได้ มันเป็นอัตโนมัติ แม้แต่ตัวเองทำผิดมันยังดุ ธรรมภายในจิตเวลามันออกมา น่ากลัว แม้แต่นั่งอยู่คนเดียวมันยังด่าตัวเอง ไปทำผิออะไรมา พอมันตรวจตรา ทำอย่างนี้ใช้ได้เรอะ ?
สำหรับหลวงพ่อสายทอง ท่านชอบการเดินจงกรมมากเป็นพิเศษ ครั้งแรกที่เดิน ครั้งนั้นอดอาหารภาวนาอยู่ ๙ วัน พอออกจากที่นั่งสมาธิก็มาเดินจงกรม เดินได้ครึ่งวันรู้สึกแรงมันหมด เอ้า…เดินไม่ได้ก็นั่ง พอวันที่สองก็เอาอีก เดินถึงเก้าโมงแรงหมดไม่มีเลยเพราะไม่ได้ฉัน เดินไปก็หกล้ม เลยนั่ง เอ้า…วันที่สามลุกขึ้นมาเดิน ยังไม่ทันสองชั่วโมงไม่ถึงแปดโมงเลยแรงหมดหกล้ม
“อย่างนี้ใช้ไม่ได้ การฝึกของเรานี้อ่อนมาก ต้องฝึกใหม่” ครบ ๙ วันก็ฉันตามปกติ แต่คราวนี้ฝึกใหม่ คือฉันเสร็จเข้าทางจงกรมเลยไม่ให้พักผ่อน เดินไปเรื่อยถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง บางทีก็ข้ามคืน รู้สึกว่าแข็งแกร่งขึ้น เดินครั้งแรกมีเจ็บปวดบ้าง พอพิจารณามันก็หาย บางทีลงทางจงกรมใหม่ๆ เหมือนเราจะเดินไม่ได้ มันเจ็บมันปวด พอเดินไปชั่วขณะหนึ่งเดินตัวเบาหวิว เวลาเดินทางจงกรมแล้วไม่อยากออก มันอยากจะเดินอยู่อย่างนั้น มันสบายมีความรื่นเริง
หลวงพ่อสายทอง ท่านเคยเดินจกรมติดต่อกันได้ยาวนานถึง ๑๓ วัน ภายในถ้ำมโหฬาร อ.หนองหิน จ.เลย ท่านเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน หยุดยืนพักภาวนาชั่วขณะคราวเหนื่อยอ่อน เดินไปฝ่าเท้าร้อนเหมือนเดินบนกองเพลิง เนื้ออ่อนของฝ่าเท้าสุดทานทนต่อการสัมผัสดินอย่างไม่หยุดหย่อน จนฉีกขาดเลือดไหลทะลัก ต้องใช้ผ้าพันแผลแล้วเดินต่อ ทุกขเวทนาก่อตัวรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั้งเป็นมหาทุกข์ คล้ายร่างกายจะระเบิด ทุกข์นี้เป็นเครื่องทดสอบจิตใจ ไหวพริบสติปัญญา ว่าจะสามารถผ่านพ้นทุกข์ – สมุทัย ไปสู่นิโรธได้หรือไม่
มันนอนไม่ได้ ถ้ามานั่งอย่างนี้ไม่ได้ เป็นไฟไปเลยภายในร่างกาย จะอยู่ได้เฉพาะในทางจงกรม จากนั้นมาวันที่ ๑๓ อุปาทานขันธ์ความยึดมั่นถือมั่นมันวางประมาณบ่ายสองโมงกว่า พอทุกข์มันดับลงแล้วก็ไม่รู้ตัว เดินไปอย่างนั้น ไม่รู้ว่ามืดเมื่อไหร่ พอจิตถอนขึ้นมาอีกที เขาจุดไฟกันแล้ว แต่ความรู้สึกมันเหมือนกับแสงเทียนลอยไปลอยมาอยู่ท่ามกลางทางจงกรม
ท่านว่า “ต้องอยู่ในสนามรบ ทุกข์มันเกิดขึ้น ถ้าใจเราไม่แข็งจริงๆ แล้วไปไม่ได้ มันต้องตัดสินใจลงไปว่า ทุกข์มันจะแสนสาหัสขนาดไหน เราก็จะเป็นเพียงผู้รู้ผู้เห็น ถ้าทุกข์ไม่ดับให้เห็นไปกับตาของเรา เราจะไม่ออกจากทางจงกรม กี่วันก็ย่าง(เดิน) กี่คืนก็ย่าง ให้จิตมันหยั่งลงไป ถ้าเดินไม่ได้เราจะคลานลงไป ถ้าคลานไม่ได้เราจะนอนกลิ้งลงไป ทุกข์นี่มันจะดับไหม พอจิตมันหยั่งลงไปในความสงบ ทุกข์ดับมันก็รู้
เมื่อทุกข์มากๆ มันไม่มีเรื่องอื่น มีแต่เรื่องใจกับเวทนา พูดอย่างนั้นเลย รูปมันก็ตั้งอยู่อย่างนั้น ปัญญานั่นแหละห่ำหั่นความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า ตัวนี้หล่ะมันแรง ยึดไม่มีประมาณ อันนี้ก็เป็นของเรา มือไม้อะไรยึดเอาหมด มันว่าเป็นของเรา ไม่ยอมปล่อย เหนียวแน่นยิ่งกว่าอะไรเสียอีก ถ้ามันจนตรอกจนมุมจริง มันไม่ยอมปล่อย จนตรอกจนมุมในที่สุด ตายก็ตายตัดพรึ่บแค่นั้น !
พอทุกข์ดับลงเราก็รู้นะ เวทนามันไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เวลามันปล่อยวางอุปาทานขันธ์มันเป็นอย่างนี้แหละ จากนั้นจะให้มันยึดอีกมันก็ไม่ยึดละ ถ้าเป็นนักมวยเอาชนะกันสักครั้งหนึ่ง โอ้โฮ กำลังใจดีมากเลยในการต่อสู้ มาตอนหลังเวลาล้มป่วย หลวงพ่อไม่เคยให้ยา…ปล่อย ไอ้การปล่อยตัวนี้แหละก็คือว่า เอ้า…มันจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยมันหล่ะ ไม่เสียดายละ มันจะแตกคืนนี้ก็แตก มันจะแตกพรุ่งนี้หรือเวลาไหนก็เป็นเรื่องของมัน แต่ก็ไม่แตกดับ มันยังไม่ถึงวาระมันก็ยังไม่ตาย จากนั้นมาถึงคราวล้มป่วยลงยิ่งสบาย จิตมันรวมเข้ามา ไม่ได้กำหนดอะไรยากเลย มันเป็นของมันอัตโนมัติเลย
ปัญญานี่แหละ ที่ใช้อบรมจิตใจให้มันคลายจากความยึดมั่น พิจารณาอยู่เป็นนิจ ทุกข์เกิดจุดไหนก็พิจารณา จุดนี้หล่ะสำคัญ “ปัญญา” แสงสว่างใดจะเสมอเหมือนด้วยปัญญาไม่มี ในธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็รวมลงมาในจุดนี้ นัตถิ ปัญญา สมาอาภา คำสั่งสอนทั้งหลายรวมลงมาจุดนี้ สมาธิทำให้จิตใจสงบมีอยู่อารมณ์เดียวนั่นแหละ นอกจากนั้นปัญญาห่ำหั่นแยกแยะออก ในที่สุดมันก็จะขาดพรึ่บลง กองทุกข์ทั้งหลายจิตมันปล่อย พูดง่ายๆ ทุกข์ทั้งหลายมันปล่อย ปล่อยขันธ์ ความยึดมั่นถือมั่นมันปล่อยลงพรึ่บนี่มันก็เบาๆ เหมือนกับนุ่นที่มันลอยไปลอยมานี่ละ นั่น…เบาถึงขนาดนั้น เดินเหินไปไหนมาไหนปกติทุกอย่าง เป็นอย่างนั้น เป็นคนละส่วนไปเลย ทุกวันนี้เดินทั้งวันทั้งคืนมันก็ไม่ยึดทุกข์…อยู่ได้
การฝึกสอนตนไม่ใช่ของง่ายนะ ฝึกตนให้ดี ฝึกตนให้มีความตั้งมั่น ฝึกตนให้อยู่ในความมักน้อย ฝึกตนไม่ให้ไปรังแกคนอื่น แล้วในที่สุด ใจดวงนี้ฝึกได้แล้ว มันจะเป็นที่พึ่งของใคร มันจะเป็นที่พึ่งของคนอื่นก็ได้ แล้วมันก็ย่นเข้ามาเป็น อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน เห็นไหม ประกาศออกมาเลย มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ
หลวงพ่อสายทอง ท่านเล่าอีกว่า ท่านได้นิมิตเห็นหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มาหามาเยี่ยมและไตร่ถามว่า เธอจะเป็นพระแบบไหน ท่านจึงตอบหลวงปู่มั่นไปว่า ผมจะยึดพระแบบหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นแบบอย่างครับ คือเมื่อตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเองได้ก่อนแล้ว ก็เป็นที่พึ่งแห่งโลก สงเคราะห์โลกแบบองค์หลวงตามหาบัว ที่ท่านพาดำเนิน ภายหลังจากนั้นหลวงพ่อสายทอง ท่านก็เมตตาสงเคราะห์โลก เกื้อกูลโลก โดยช่วยสร้างสาธารณะประโยชน์ให้แก่สังคม เช่น ปลูกสร้างตึกโรงพยาบาลผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ในอำเภอต่างๆ โรงเรียน สถานีตำรวจ เรือนจำ เป็นต้น
ในส่วนของพระภิกษุสงฆ์ที่มาอบรมศึกษาธรรมกับท่านที่วัดป่าห้วยกุ่ม ท่านก็เคร่งครัด ในข้อธรรมข้อวินัย อีกทั้งยังห้ามไม่ให้พระสงฆ์อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือ หากท่านพบเห็นก็จะหยิบโยนเข้าป่าไปเลย จริงๆ แล้วที่วัดป่าห้วยกุ่มก็ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์อยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นข้อดีที่หลวงพ่อท่านชอบ แต่ทำไมหลวงพ่อสายทองท่านจึงเคร่งครัดเรื่องนี้นัก เช่น มีอยู่ครั้งนึงท่านเล่าให้ฟังว่า มีพระบวชจากที่อื่น มาขอภาวนาอบรมธรรมอยู่กับท่าน พระรูปนี้แอบพกมือถือ พอท่านทราบก็เรียกเขามาคุย บอกให้เอามือถือออกมา หลวงพ่อสายทองท่านเองใช้มือถือไม่เป็น แต่ก็ชี้บอกให้เขาเข้าเมนูต่างๆ ไล่ไป ไล่ไป จนไปเจอภาพโป๊ในเครื่อง ท่านจึงสั่งพระให้ลบทิ้งเสีย ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ให้อยู่อีกต่อไป หลวงพ่อท่านบอกเห็นมั้ยๆ เราถึงไม่อยากให้พระใช้มือถือเลย ทั้งนี้เพราะท่านไม่ต้องการให้พระภิกษุสงฆ์ส่งจิตออกไปภายนอก ให้พระสงฆ์ตั้งใจฝึกฝนอบรมหันเข้ามาดูภายในจิตในใจตนเองมากกว่า
ปัจจุบัน หลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๗๒ ปี พรรษา ๓๗ (๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๓)
โอวาทคำสอนหลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม
“…หลักธรรมะของพระพุทธเจ้าคืออยากให้ภาวนา การทำบุญให้ทานได้บุญอย่างเต็มที่สุดจิตสุดใจ มาทำบุญแต่ละครั้งมันเกิดขึ้นที่จิตที่ใจ ถ้าใจไม่เกิดขึ้น มาไม่ได้นะ นี่มันเป็นอย่างนี้ จึงอยากให้ภาวนา อยากให้รู้ อยากให้เห็นบ้าง เพราะวาระสุดท้าย เราจะได้พึ่งตัวเองได้ เป็นอัตตาหิ อัตตโน นาโถ..”
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน