วันพุธ, 13 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย อ.เมือง จ.ชุมพร

ประวัติ หลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย อ.เมือง จ.ชุมพร

หลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จ.ชุมพร

หลวงพ่อสงฆ์ เป็นนามที่ชาวกรุงเทพมหานครเรียกชื่อท่านด้วยความเคารพเลื่อมใส ท่าน เป็นพระคณาจารย์สมถวิปัสสนา ที่ชาวจังหวัดชุมพรและชาวกรุงเทพฯ ภูมิใจเป็นหนักหนา

หลวงพ่อสงฆ์ ท่านมีความเมตตาปรานีแก่ทุกๆ คนไม่เลือกชั้นวรรณะ ถ้าแม้บุคคลใดไปขอพรจากท่านแล้วจะได้รับความสมหวังอย่างมั่นคง ด้วยทุกคนเชื่อว่าท่าน หลวงพ่อสงฆ์ มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

หลวงพ่อสงฆ์ ท่านเป็นคนชาวจังหวัดชุมพรโดยกําเนิด ท่านเกิดที่หมู่บ้านวิสัยเหนือ อ.สวี จ. ชุมพร

เมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ํา ปีขาล พ.ศ.๒๔๓๓

บิดาชื่อ นางแดง มารดาชื่อ นางนัย มีอาชีพทํานา ไร่สวน อายุได้ ๑๘ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดสวี อันเป็นวัดใกล้ ๆ บ้านของท่าน

เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัย อยู่ ๒ ปี จึงได้ลาสึกออกไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทํางาน ท้องนาและไร่สวน

ครั้นอายุครบอุปสมบท ท่านได้มาฝากตัวแก่พระอุปัชฌาย์ ที่ วัดสวี ขอบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ได้รับความเมตตาจาก พระอาจารย์ชื่น เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ฉายา ว่า “จันทสโรภิกษุ

หลังจากบวชเป็นพระแล้ว ท่านได้ไปอยู่จําพรรษาที่วัดควน อ.สวี จ.ชุมพร ๑ พรรษา ในระหว่างพรรษาท่านได้ศึกษา พระธรรมวินัยเพิ่มเติม จนพอรู้แนวทางการดําเนินชีวิตในเพศพรหมจรรย์

หลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จ.ชุมพร

ออกพรรษาแล้ว ท่านมีความสนใจทางสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน แต่ในจังหวัดชุมพรไม่มีพระอาจารย์สอนทางด้านนี้เลย ท่านจึงกราบลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ออกจากจังหวัดชุมพร มุ่งหาพระอาจารย์สอนกรรมฐานในถิ่นอื่นๆ

โดยได้ออกเดินทางไปท่ามกลางป่าเขาอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง เพราะท่านยังไม่รู้จักคําว่า “เดินธุดงค์” ในสมัยนั้น

แต่หลวงพ่อสงฆ์มีความแน่ใจว่า การเดินทางอยู่ในป่าดงพงไพรนี้ จะต้องพบกับพระผู้ปฏิบัติบ้าง เพราะพระกรรมฐานชอบอยู่ป่าดงมากกว่าอยู่วัดวาอาราม

หลวงพ่อสงฆ์ รอดพ้นจากอันตรายรอบด้าน เช่น สัตว์ป่า ไข้ป่าอันดุร้ายไปได้ ก็เพราะแรงใจที่มุ่งปฏิบัติธรรม กับพระอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่ง เมื่อพบก็จะมอบ ตัวเป็นศิษย์ขอฝึกอบรมด้วยเท่านั้น

หลวงพ่อสงฆ์ประสบความสมหวัง เมื่อได้ทราบว่า…พระอาจารย์รอด วัดโต๊ะแซหรือตอแซ เป็นพระอาจารย์ที่ทรงฌานสมาบัติสูงองค์หนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ท่านจึงได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ ขอฝึกอบรมปฏิบัติพระกรรมฐานอยู่กับพระอาจารย์รอด ๒ พรรษา

หลวงพ่อสงฆ์ มีความพากเพียรอย่างคร่ําเคร่ง มีสมาธิแก่กล้าสามารถในทางปฏิบัติมากแล้ว ท่านพระอาจารย์รอดได้ให้ออกเดินธุดงค์ไปอยู่ป่าช้า ตามถ้ําผา ป่าดงต่อไป เพื่อความรู้แจ้งในจิตใจ และจะได้ปรารภธรรมตามสติปัญญา

หลวงพ่อสงฆ์ เดินธุดงคกรรมฐานไปจนถึงชายแดนด้านมาลายู จากนั้นท่านก็ได้เดินธุดงค์ย้อนกลับมาจนถึงจังหวัดเพชรบุรี

หลวงพ่อสงฆ์ จันทสโร ท่านมีความชํานาญในเรื่องสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยก่อนโน้น ทางภาคใต้นับตั้งแต่จังหวัดชุมพร ลงไป ครูบาอาจารย์ต่างๆ มักจะสนใจปฏิบัติสมถกรรมฐานแล้วเดินจิตเล่นฤทธิ์กันเสียโดยส่วนมาก

สํานักเรียนวิชาต่างๆ ภายใน(จิต) สํานักเขาอ้อ มีชื่อเสียงมากในเรื่องนี้ แต่หลวงพ่อสงฆ์ ก็ดี หลวงปู่หมุนก็ดี ตามที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในยุคนั้น ท่านสามารถ หันเข้ามาดําเนินจิตสู่วิปัสสนากรรมฐานเสีย เพราะเป็นหนทางออกจากความยึดมั่นในอํานาจจิต อํานาจฌานได้อย่างสิ้นเชิง เป็นความจริงดังนี้

ต่อมาหลวงพ่อสงฆ์ ท่านเกิดสติปัญญา มองเห็นภัยในวัฏสงสารที่มันเคยแปรปรวนหมุนเวียนไม่รู้จบ ท่านเกิดเบื่อหน่ายคิดดําเนินชีวิตในป่าดงพงไพร ทําจิตเร่งบําเพ็ญเพียรเพื่อความพ้นทุกข์

การเดินธุดงคกรรมฐาน ของครูบาอาจารย์นั้น มิใช่ว่าจะเดินไปในที่แห่งหนึ่ง แล้วไปในที่แห่งหนึ่ง จึงรีบเดินเพื่อให้ถึงเร็วๆ นั้นหาไม่ แต่การเดินธุดงค์ ก็เหมือนการเดินแบบปกติหรือเดิน จงกรมนั่นเอง

ท่านเดินอย่างมีสติ คือ…ขณะที่ก้าวเดินไปนั้น ท่านกําหนดคําบริกรรม หรือพิจารณาธรรมไปเรื่อย ๆ โดยไม่นับก้าวแต่อย่างใด

ท่านเดินด้วยสติ แม้อะไรจะเกิดขึ้นมาในช่วงนั้น ท่านก็รู้ชัด ไม่มีอาการของจิตแส่ส่ายไปมา เพราะสติเป็นกําลังอันสําคัญขณะ ทําความเพียร เช่นอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน

หลวงพ่อสงฆ์ จันทสโร ท่านได้อาศัยชีวิตอยู่ในป่าดงเป็นเวลาหลายปี อาศัยโคนไม้ ถ้ําผาต่าง ๆเป็นที่พักผ่อน ไม่มีความอาลัยในชีวิตว่าจะสุข หรือทุกข์ ท่านมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความรู้ธรรม

เมื่อรู้ธรรมแล้วท่านก็นําธรรมะนั้น มาสอนจิตสอนใจตนเอง ขัดเกลา กิเลส ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นสมบัติประจําสันดานมนุษย์ ให้หลุดให้ลอกออกไปจากจิตใจ ชําระจิตใจด้วยธรรม เพื่อความสะอาดหมดจดแห่งชีวิต

๗ ปี แห่งการทรมานกิเลส ภายในใจของท่าน ซึ่งไม่เคยออกจากป่าสู่บ้านเมืองเลย ทําให้สภาพจิตสดใสแจ่มแจ้งในธรรมะ

แต่สภาพสังขารดูออกจะเป็นฤาษีชีไพร หนวดเครารุงรังผมเผ้ายาวจีวรสบงขาดรุ่งริ่ง นั่งภาวนาในป่าเมืองชุมพร

คล้ายกับวาสนาท่านจะต้องมาอยู่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จึงมีชาวบ้านป่า เดินตามนกตัวหนึ่งที่ร้องเป็นภาษามนุษย์ว่า “หนักก็วาง เสีย ! หนักก็วางเสีย” ชาวบ้านป่า เดินตามนกจนพบหลวงปู่สงฆ์ และ ได้นิมนต์มาอยู่วัดร้างแห่งนั้น

หลวงพ่อสงฆ์ จันทสโร ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่มีความอดทน ค้นคว้าสัจธรรมความเป็นจริงของพระพุทธเจ้าด้วยชีวิตเป็น เดิมพัน

๑๐ พรรษา ท่ามกลางป่าดง ท่านอาศัยภูเขาลําเนาไพรมาโดยตลอด การบิณฑบาต ท่านโคจรไปในหมู่บ้านชาวป่า ได้บ้างอดบ้างตามอัตภาพ จนมีความพอดีแก่จิตใจ ปล่อยวางของหนักได้หมด สิ้นแล้วอย่างมั่นใจ

ท่านจึงออกจากป่า สู่วัดร้างแห่งหนึ่ง ท่านได้จําพรรษาก่อสร้างวัดร้างแห่งนั้นจนเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน โดยขนานนามว่า วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย อ.เมือง จ.ชุมพร

หลวงพ่อสงฆ์ จันทสโร ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง ในจังหวัดชุมพร บัดนี้ ท่านได้วางแล้วซึ่งขันธ์อันหนัก หน่วงของท่าน และได้ทิ้งรากฝาก ความดีงามให้แก่ชนรุ่นหลังระลึก ถึง ณ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอยเท่านั้น

หลวงพ่อสงฆ์ มรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ท่านครองวัดเจ้าฟ้าศาลาลอยอยู่ถึง ๖๔ ปี เผยแผ่สืบสานพระบวรพุทธศาสนา ช่วยเหลือผู้คนและสรรพสัตว์ทั้งหลาย การจากไปของท่านสร้างความเศร้าโศกแก่ชาวบ้านและศิษยานุศิษย์ แม้กระทั่งสรรพสัตว์ที่ท่านเคยดูแล โดยเล่ากันว่า ตอนที่หลวงพ่อสงฆ์มรณภาพ ท่ามกลางสายตาชาวบ้านนับพันที่มาอาบน้ำศพหลวงพ่อ พวกเต่าได้คลานขึ้นศาลาและเข้าไปนอนใต้ที่ตั้งโลงศพของหลวงพ่อ พวกมันร้องไห้ทุกตัว น้ำตาไหลจนเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นถึงความมีเมตตาบารมีอย่างสูงส่ง 

ปัจจุบัน สรีระของหลวงพ่อสงฆ์ ยังคงประดิษฐาน ณ โลงแก้ว ใน ศาลาธรรมสังเวช เพื่อให้พุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ได้กราบสักการบูชาด้วยความเลื่อมใสศรัทธาสืบไปตราบนานเท่านาน