ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อวิชัย เขมิโย
วัดถ้ำผาจม
อ.แม่สาย จ.เชียงราย
พระครูเกษมวรกิจ (หลวงพ่อวิชัย เขมิโย) นามเดิมท่านชื่อ “วิชัย คล่องแคล่ว” เกิดวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๘ ณ ที่บ้านหินลาด ตำบลกุดชมภู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรคนที่ ๓ ของนายบัว นางกอง คล่องแคล่ว (สำหรับคุณแม่บวชเป็นแม่ชีอยู่ด้วยขณะนี้) พ่อนั้นตายเสียตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุได้ ๑ ขวบกว่า ๆ อาชีพเดิมของบิดามารดา คือการทำนาตามบรรพบุรุษหลายชั่วคน เมื่อตอนเล็ก ๆ ข้าพเจ้าชอบอยู่กับยาย คือแม่เอาข้าพเจ้าไปฝากยายไว้ซึ่งอยู่คนละบ้าน เพราะแม่ของข้าพเจ้าท่านได้ไปแต่งงานใหม่ ทำให้ข้าพเจ้ากับน้องได้ไปอยู่กับยาย
นี่คือปฐมบทของชีวิตของเด็กน้อย ที่ได้เริ่มรู้จักกับความว้าเหว่อ้างว้างของลูกที่กำพร้าพ่อและพลัดพรากจากแม่
เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๗ ขวบ ยายก็ให้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านแก่งเจริญ ข้าพเจ้าทำงานหนักที่พอจะทำได้มาตั้งแต่เด็ก ๆ จะเรียกว่าเป็นชีวิตทั้งกำพร้าพ่อแม่ก็ว่าได้เพราะไม่ค่อยจะได้อยู่กับแม่ ข้าพเจ้าได้ช่วยยายและพวกน้าผู้หญิงผู้ชายทำงาน กล่าวคือเมื่อตื่นขึ้นมาก็ต้องไปตักน้ำใส่ตุ่มน้ำกินน้ำใช้ เพราะหมู่บ้านที่อยู่นั้นบ่อน้ำอยู่ห่างไกลออกไปประมาณ ๑ กม. และเมื่อตักน้ำกินมาไว้เต็มตุ่มแล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องลงไปตักน้ำในแม่น้ำมูลมาใช้และรดห้างพลูกินหมากให้ยาย นี่เป็นงานประจำตอนเด็ก นอกจากนั้น ยังต้องช่วยน้าผู้หญิงตำข้าวด้วย เพราะสมัยนั้นหมู่บ้านแถบนี้ยังไม่มีโรงสีข้าว
ชีวิตข้าพเจ้าจึงตกระกำลำบาก เด็กเพื่อนฝูงรุ่นเดียวกันเขาสบายกันมาก ส่วนข้าพเจ้าเวลากินก็แสนจะลำบาก แม้แต่เวลานอนก็ลำบาก ถึงฤดูทำนาต้องไปนอนที่กระท่อมนากับน้าผู้ชาย ตื่นเช้ามาต้องนึ่งข้าวเหนียวหุงข้าวให้น้า เพราะน้าตื่นขึ้นมาก็รับไปไถนา เมื่อหุงข้าวเสร็จ ก็ต้องหามฟืนกลับบ้านซึ่งห่างจากทุ่งนาประมาณ ๔ กม. พอถึงบ้านก็ต้องรีบกินข้าวไปโรงเรียน ระยะทางจากหมู่บ้านไปถึงโรงเรียน ๓ กม. สมัยนั้นยังไม่พัฒนา ทางการให้ ๓ – ๔ หมู่บ้านไปเรียนหนังสือรวมกันที่โรงเรียนแห่งเดียว ทำให้เด็กนักเรียนแต่ละหมู่บ้านต้องเดินไปเรียนกันทางไกลหน่อย
พอเลิกเรียนในตอนบ่าย ก็เดินกลับบ้านรีบกินข้าว ซึ่งส่วนมากเป็นข้าวเหนียวในก่องข้าวหรือกระติบเย็นชืดกับปลาร้าและพริกแทบทุกวัน อร่อยมากเพราะหิว คนเราเมื่อหิวกินอะไรก็อร่อยทั้งนั้น จากนั้นก็เอากระบุงใส่ปุ๋ยคอกหาบไปทุ่งนาวันละหาบเฉพาะตอนเย็นการไปนาและกลับมาบ้านนั้น บ่าของข้าพเจ้าจะไม่ว่างจากไม้คานเลย เพื่อนฝูงที่เขามีนาอยู่ใกล้กัน ๔ – ๕ คน เขาเดินไปตัวเปล่าเดินมาตัวเปล่าหยอกล้อกันบ้าง วิ่งไล่จับกันสนุกสนาน ส่วนข้าพเจ้าทำไม่ได้เพราะบ่าต้องหาบคอนใส่ของหนังอึ้ง หมดสนุกสนานมีแต่ความเศร้าสร้อย
น้าผู้ชายท่านรักข้าพเจ้ามาก รักเสมือนลูกของท่านจริง ๆ ส่วนน้าผู้หญิงนั้นแกไม่รักข้าพเจ้าเลย ชอบข่มเหงรังแกตลอดเวลา บางครั้งทำอะไรไม่ทันใจแกก็จะจิกหัวหรือเฆี่ยนเอา แต่ถ้าน้าผู้ชายเห็นแล้วจะทำไม่ได้ ชีวิตของข้าพเจ้าหากไม่มีน้าผู้ชายช่วยปกป้องแล้วลำบากแสนเข็ญมาก แม้แต่เวลาเข้าเรียนหนังสือเพื่อนเขาได้กระดานใหม่ ๆ คือ กระดานชนวน ได้กางเกงใหม่ เสื้อใหม่ ดินสอใหม่ ส่วนข้าพเจ้าไม่เคยได้เขียนกระดานใหม่ ไม่เคยได้ดินสอใหม่แท่งยาว ๆ เหมือนเขาเลย ยายเป็นคนตระหนี่ประหยัด จึงให้ใช้กระดานแตก ๆ แต่พอเขียนได้ ดินสอก็สั้น ๆ กุด ๆ แม้แต่กางเกงของข้าพเจ้าก็ขาดกะรุ่งกะริ่ง เพื่อนชอบล้อเล่นอยู่เรื่อยว่า “ลุงก็มาโรงเรียนเหรอ?”
หนังสือเรียนก็เก็บเอาของเก่าเขามาให้อ่าน ขาดไปก็มี แต่ก็ยังเป็นบุญบารมีของข้าพเจ้าที่เรียนหนังสือได้เก่งพอสมควร ได้เป็นหัวหน้าชั้นบ่อยที่สุด พูดถึงของใช้แล้ว น้อยนักน้อยหนาที่จะได้ใช้ของใหม่ ๆ ดี ๆ ถ้าเป็นผ้านุ่งผ่าห่มก็รับเอาของเก่าพี่ชายบ้าง ยายเอาของคนอื่นมาให้บ้าง พอถึงหน้าหนาว ผ้าห่มก็แสนจะขาดปะแล้วปะอีก กางเกงและเสื้อก็ปะแล้วปะอีก ชีวิตของลูกกำพร้าที่อยู่อาศัยยายและน้านั้นแสนจะลำบากเหลือเกิน
ชีวิตเอ๋ยช่างอาภัพโชคกระไรหนออย่างนี้ มองดูชีวิตเพื่อนรุ่นเดียวกันเขาช่างมีความสุขมาก
ครั้นพออายุได้ ๘ ขวบ เรียนอยู่ประถม ๒ พี่ชายลูกคนละพ่อเขาไปบวชเป็นสามเณร จิตใจของข้าพเจ้าอยากจะตามไปบวชด้วยเหลือเกิน ได้เห็นพี่ชายห่มผ้าจีวรเหลืองอร่ามเหมือนทองดอกบวบงามจับใจ ทำให้ใจไม่อยากจะอยู่บ้านเลย เพราะอยู่บ้านกับยายกับน้าผู้หญิง มีแต่ความทุกข์กายทุกข์ใจเสมอจะยากลำบากกับการงานหนักเกินวัยเด็ก เวลาเช้าฤดูแล้ง ยายให้ไปส่งข้าวเณรพี่ชายที่วัดทุกเช้า ข้าพเจ้าบอกเณรพี่ชายให้หาหนังสือพระเณรที่เกี่ยวกับการบอกวิธีบวชเรียนและสวดมนต์มาให้ พี่เณรก็เอาหนังสือเจ็ดตำนานมาให้อ่านและได้บอกคำขอบวชให้ด้วย ข้าพเจ้าเอามาอ่านมาท่องทุกวัน ท่องคล่องปากเพราะเคยได้ยินพระสงฆ์ท่านสวดมนต์อยู่เสมอ วันไหนว่างก็แอบไปวัด เพราะวัดคือสถานที่เล่นเย็นใจหรือสนุกสนานของเด็ก ๆ บ้านนอก เมื่อไปวัดก็ท่องคำขอบบวชเณรให้ขึ้นและได้ขอร้องให้พี่เณรมาช่วยพูดกับยาย ขอร้องให้ยายอนุญาตให้ข้าพเจ้าบวชเณรบ้าง พี่เณรก็บอกว่าเรียนหนังสือยังไม่ทันจบ ป.๔ บวชเณรไม่ได้หรอก แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ฟัง ได้รบเร้าอยู่เรื่อย ๆ จนพี่เณรทนไม่ไหวต้องมาบอกยาย เลยโดยยายตวาดเอา
แต่ถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็ไม่ลดละความพยายามจะบวชให้ได้ ปีต่อมาข้าพเจ้าพยายามหาวิธีบวชให้ได้ วันไหนว่างแอบไปฟังท่านอาจารย์ที่วัดเทศน์และสนทนากับท่านบ้าง ท่านก็ชวนบวช ทำให้ศรัทธาของข้าพเจ้ายิ่งมีมากขึ้น บางวันไถนาปลูกข้าวอยู่แต่ร่างกาย ส่วนจิตใจมาอยู่วัดตลอดเวลา วันหนึ่งปลูกข้าวอยู่กับแม่ เป็นวัน ๗ ค่ำ ซึ่งทางภาคอีสาน พอถึงวัน ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ พระเณรที่วัดต้องตีกลองให้สัญญาณบอกวันโกนวันพระ เขาเรียกว่าตีกลองแลง ( แลง แปลว่า ตอนเย็น) แม้แต่ตี ๔ ตอนกลางคืนก็ตีกลองอีก ตีสลับกับฆ้องเรียกว่าตีกลองดึก เสียงวังเวง ฝูงหมาจะเห่าหอนกันเกรียวทีเดียว
วันนั้นพอได้ยินพระท่านตีกลองแลง จิตใจของข้าพเจ้าหวิว ๆ อย่างไรบอกไม่ถูก บอกแม่ว่าเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วผมต้องบวชให้ได้ แม่ก็บอกว่า แม่จะบวชให้ลูกทุก ๆ คนนั่นแหละ ข้าพเจ้าดีใจแสนจะดีใจบอกไม่ถูก ถึงวันพะข้าพเจ้าชอบทำบุญตักบาตร แม้แต่ไปเที่ยววัดไหนยามมีงานวัด ก็ต้องทำบุญก่อนเที่ยว เรื่องทำบุญนี้ทำเองด้วยใจรัก ไม่มีใครบอก เป็นฉันทะความพอใจความเลื่อมใสจากส่วนลึกของหัวใจ แม่เอาเงินให้ไปเที่ยวดูโน่นดูนี่ แต่ข้าพเจ้ากลับเอาเงินไปทำบุญหมดก็มี จิตใจมีแต่เมตตาความรักความเอ็นดูสงสารต่อคนอื่นเสมอ แม้แต่สัตว์ เป็นต้นว่าไก่ก็ไม่เคยฆ่า สุนัข แมว วัว ควาย ไม่เคยฆ่า มีเมตตาสงสารสัตว์เหล่านี้เสมอ เห็นใครเขาเชือดคอเป็ดคอไก่แล้วต้องรีบเดินหนีด้วยความสงสาร เห็นคนขับเกวียนบรรทุกฟืนเพียบแปล้ เอาดุ้นฟืนขนาดเท่าแขนตีวัวเทียมเกวียน บังคับขู่เข็ญให้วัวลากเกวียนไป แต่วัวหมดแรงลากไม่ไหวถูกตีจนล้มฟุบ ขี้แตกออกมา ข้าพเจ้าเห็นแล้วถึงกับร้องไห้ด้วยความสงสาร โอหนอ ทำไมคนเราใจคอโหดร้าย ใช้สัตว์ทำงานทารุณถึงปานนั้น ช่างไม่คิดเวทนาสงสารวัวลากเกวียนเอาเสียเลย หรือว่าชาติปางก่อน วัวตัวนั้นเคยเป็นคนทำบาปชั่วมามาก ชาตินี้เลยมาเกิดเป็นวัวให้คนเขาทุบตีใช้งานหนักเช่นนี้เป็นการใช้กรรมเวร? เพื่อนฝูงรุ่นเดียวกันชอบล้อว่า พ่อใจบุญ ๆ ๆ ทำให้ข้าพเจ้าปลื้มใจเสมอ
เริ่มบวชเป็นสามเณร อายุ ๑๗ ปี พ.ศ.๒๕๐๖ ณ วัดเวฬุวัน บ้านหนองไผ่ ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลธานี โดยมีท่านพระครูสุนทรธรรมวิบูลย์ เป็นพระอุปัชณาย์ บวชในช่วง ๑๐.๐๐ น. ตกกลางมาก็เริ่มปฏิบัติสมาธิเป็นแล้ว เพราะเคยฝึกมาก่อนบวช การนำจิตเข้าสู่สมาธิจึงทำได้พอสมควร ปฏิบัติมาตลอดทุก ๆ วันในพรรษาแรก จิตก็เข้าสมาธิได้สม่ำเสมอแล้ว พรรษาที่สอง สอบนักธรรมตรีได้ และการปฏิบัติเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ ในกลางพรรษาที่สอง พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาประทับอยู่ที่หิ้งพระ แย้มพระโอษฐ์อยู่นานพอสมควรจึงเสด็จไป
พ.ศ.๒๕๐๘ ย้ายมาอยู่วัดสว่างอารมณ์ บ้านเสียม ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เรียนนักธรรมชั้นโท แต่ก็สอบไม่ผ่าน ออกพรรษา หมดเขียนกฐิน ก็ได้บวชเป็นพระภิกษุ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๘ เวลา ๖.๐๐ น. บวชไม่กี่วันก็ได้เดินธุดงค์ไปประเทศลาวกับหลวงปู่ไพ ไปพบหลวงพ่อมหาผ่อง เมืองโพนทอง ไปภูมะโรง พบพระอาจารย์บุญมาก ข้ามยนต์ไปที่จังหวัดปากเซ แล้วก็เดินธุดงค์ไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านยิก เลยไปถึงอัตบามือ ใกล้เมืองสาลวัน ติดต่อเขตแดนลาว เวียดนาม ย้อนกลับมาทางจังหวัดจำปาสัก เดินธุดงค์อยู่ทางประเทศลาวนานพอสมควร จึงได้กลับขึ้นมาประเทศไทย ปี ๒๕๐๙ จำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวดูน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ปฏิบัติไปด้วยศึกษาธรรมไปด้วย ก็สอบนักธรรมชั้นโทได้ กลับมาอยู่วัดสว่างอารมณ์บ้านเสียมอีกครั้งหนึ่ง ศึกษานักธรรมชั้นเอกต่อ
ปี พ.ศ.๒๕๑๒ ได้ออกจากวัดสว่างอารมณ์ มุ่งหน้าต่อไปทางอุดธานี เดินธุดงค์อยู่ตามภูเก้า อำเภอหนองบัวลำภู ขณะนี้เป็นจังหวัดไปแล้ว และเดินอยู่หลายอำเภอ เพราะแถบนั้นมีป่าเขามาก ในปีนั้นก็ได้เดินกลับมาจำพรรษาอยู่วัดบ้านกุดจิก ตำบลห้อยเกิ้ง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานีออกพรรษาเดินทางไปเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศลาว นานพอสมควรก็ได้ข้ามมาประเทศไทย
ปี พ.ศ.๒๕๑๓ จำพรรษาอยู่บ้านกุดจิกต่อ ออกพรรษาก็ได้เดินทางกลับไปเวียงจันทน์อีก ปี ๒๕๑๔ เดินทางไปอบรมพระพัฒนาการทางจิต ที่จิตภาวันวิทยาลัย อำเภอบางละมุง ได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ เสร็จจากการอบรมเป็นเวลาสามเดือนก็เดินทางกลับอุดรอีกครั้งหนึ่ง
ได้ลาญาติโยมเดินธุดงค์ลงภาคใต้ ได้ไปจำพรรษาอยู่วัดท้าวโครต ขณะนี้เปลี่ยนเป็นวัดชายนา ตำบลนา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปฏิบัติที่นี่เป็นเวลา ๒ ปี ในช่วงอยู่วัดชายนานี้ได้มีโอกาสทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ มอบกายถวายชีวิต ค้นคว้าหาสัจธรรมโดยไม่คำนึงถึงตายตามอยู่ หมายถึงเอากายเป็นเดิมพัน ตายเป็นตาย อยู่เดือนปี ไม่มีใจดวงจิต มุ่งหน้าตั้งตาเอาชนะจิตของตัวเอง และเอาชนะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ในช่วงฤดูแล้ง บางโอกาสก็ออกแสวงหาวิเวก โดยการเดินธุดงค์ไปตามสถานที่สงัด ๆ บางครั้งก็ไปสามเดือนสี่เดือน ก็ย้อนกลับมารับโอวาทจากหลวงพ่อใหญ่ ธมฺมธโร ออกพรรษาก็เดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ไปแทบทุกจังหวัด และทุกภาคด้วย มีอยู่ช่วงหนึ่งร่างกายสังขารซูบผอมมาก เดินก้าวขาแทบจะไม่ออก ซึ่งได้แวะเข้าไปพักปฏิบัติอยู่สวนโมกข์นานพอสมควร จวนจะเข้าพรรษา ปี พ.ศ.๒๕๑๕ จึงได้กราบลาหลวงพ่อพุทธทาสไปเดินทางไปเกาะสมุย แล้วเข้าจังหวัดนครศรีธรรมราช จำพรรษาที่วัดชายนาอีกครั้งหนึ่ง ออกพรรษาก็ได้เดินธุดงค์กลับทางภาคอีสาน และก็ย้อนกลับลงไปภาคใต้อีก เพื่อจะไปกราบลาหลวงพ่อธมฺมธโร เดินทางไปประเทศพม่าตามความตั้งใจไว้ จึงได้ออกมาองค์เดียว เดินขึ้นมาเรื่อย ๆ ขึ้นมาถึงกรุงเทพแล้ว ก็แวะไปภาคตะวันออกแถวจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ขึ้นมาทางปราจีนบุรี นครนายก สระบุรี มาป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถจะเดินทางต่อได้ และเข้าไปพักอยู่วัดเขาเทพพนมยงค์ ในช่วงนั้นหลวงปู่ไวยังไม่ได้ไปอยู่ ขณะป่วยอยู่นั้น ยาข้าวก็ไม่ได้กิน หลวงพ่อแก่ ๆ ท่านจัดให้อยู่กุฏิหลวงเก่า ๆ โทรมแล้ว โดยไม่มีใครมาถามข่าวคราวอะไรทั้งสิ้น นั่ง นอน กำหนดจิตต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา นึกว่าเป็นไข้อย่างอื่นเข้ามาแทรกเสียแล้ว เพราะมีความร้อนผิดปกติมาก ก็ได้เอาแต่น้ำเย็นลูบตัวของตัวเอง แก้ไขทางกายเราถือว่าไม่ยาก แต่การแก้ไขทางจิตใจนั้นยุ่งยากกว่า ก็เลยไม่ได้ห่วงมากเท่าไหร่นัก แต่เรื่องจิตใจนั้น จะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ จิตใจป่วยร้ายกว่ากายป่วย กายป่วยไม่นานก็หาย แต่จิตใจป่วยนั้นหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่นชาติ ที่คอยรักษาจิตใจอยู่ตลอดเวลานั้น ก็เพื่อจะให้เป็นผู้หายป่วยใจเสียที จะได้เป็นอิสระไม่ตกเป็นทาสของโรคชั่วร้ายทั้งหลาย
พออาการป่วยทุเลาลงแล้ว ก็เดินทางต่อมุ่งสู่ภาคเหนือ มีจังหวัดเชียงใหม่เป็นจุดแรก ได้ยินกิตติศัพท์ของครูบาอินทจักร วัดน้ำบ่อหลวง จิตมีความตั้งใจจะไปศึกษาธรรมกับท่าน ก็ได้ไปถึงเชียงใหม่ตามความตั้งใจครั้งแรกไปพักอยู่ที่วัดอุโมงค์ ย้ายไปพักอยู่ ๔ วัดเมืองบาง จากนั้นจึงได้เดินไปวัดน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง บำเพ็ญเพียรปฏิบัติอยู่ที่นี่นานพอสมควร และได้มาตั้งใจท่องปาฏิโมกข์จบอยู่ที่วัดนี้ ท่องอยู่ ๒๔ วันพอดี ความคิดที่จะเดินทางไปจำพรรษาที่ประเทศพม่ายังสะกิดใจอยู่ตอลด จึงได้กราบลาครูเจ้าอินทจักร์เดินทางต่อไป จากเชียงใหม่เข้าจังหวัดลำพูน มาพักศึกษาธรรมกับครูบาเจ้าพรหมจักร์ ก็เป็นเวลานานพอสมควร ก็เดินทางต่อขึ้นไปทางจังหวัดลำปาง เลยไปถึงเชียงราย ต่อถึงอำเภอแม่สาย ข้ามไปประเทศพม่าจะเดินทางต่อไปเชียงตุง กะว่าจะจำพรรษาที่จังหวัดเชียงตุง บังเอิญเจ้าหน้าที่พม่าไม่ยอมให้ไป จึงได้เดินวนไปมาในแถวเชียงรายหลายอำเภอที่สุดจวนจะเข้าพรรษา จึงได้มาพักจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำผาจม ซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่าเขาอยู่มาก และเงียบสงบ เหมาะสมกับผู้แสวงหาความวิเวกดี ในพรรษานั้นจึงได้ตั้งใจปฏิบัติเต็มที่
ปี พ.ศ.๒๕๑๖ จำพรรษาอยู่ถ้ำผาจมออกพรรษาก็เดินธุดงค์อยู่ในบริเวณจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่
ปี พ.ศ.๒๕๑๗ จำพรรษาอยู่ถ้ำผาจลุย บ้านป่าแงะ ตำบลแงะ อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย พักปฏิบัติอยู่ที่นี่ ๑๔ เดือน
ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ก็ได้ย้อนกลับมาจำพรรษาอยู่วัดถ้ำผาจมอีกครั้งหนึ่ง จนถึงในปัจจุบันนี้ แต่ละปีนั้นจะออกแสวงหาวิเวกตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี
โอวาทธรรม พระครูเกษมวรกิจ (หลวงพ่อวิชัย เขมิโย)
“..พระเครื่องคนเรายังต้องเอาไปใส่กรอบเพื่อกันสึกเลย
พระเราก็ต้องมีกรอบ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วมันจะได้ไม่สึก..”
“..อย่าไประแวงคนอื่น
มากกว่าระแวงตนเอง
คนอื่น…ไม่เป็นพิษ เป็นภัย
มากเท่า…ใจของเราเอง..”
“..แสงข้างนอกสว่างด้วยแสงไฟ แสงข้างในสว่างด้วยแสงธรรมะ..”
“..เราจะเอาชนะคนอื่นได้ เราต้องชนะใจเราก่อน..”
“..คนเราเมื่อไม่เห็นรสชาติของธรรมะ
เราก็ยังไม่เห็นคุณค่าของชีวิต..”
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ http://vacharadham.com