ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อลา ชัยมงฺคโล
วัดแก่งคอย
อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
พระครูสุนทรสังฆกิจ (หลวงพ่อลา ชัยมงฺคโล) พระเถราจารย์ชื่อดังจังหวัดสระบุรี วัดแก่งคอย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อลา ชัยมงฺคโล นามเดิมว่า “ลา สายสมบัติ” เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๘ เดือนยี่ ปีระกา สมัยรัชกาลที่ ๕ ณ ต.คล้อทอง อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี บิดาชื่อ “นายโม้” และมารดาชื่อ “นางแจ่ม สายสมบัติ” มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คน หลวงพ่อลาเป็นที่ ๔
ครอบครัวประกอบอาชีพชาวนา หลวงพ่อลาท่านมีนิสัยฝักใฝ่ทางธรรม ตั้งแต่อายุยังน้อย ครั้นอายุได้ ๑๕ ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดคล้อทอง ต.คล้อทอง อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
◉ อุปสมบท
เมื่อครบกำหนดอายุได้ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทต่อสำเร็จเป็นพระภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ ฉายานามว่า “ชัยมงฺคโล” อยู่วัดคล้อทอง ได้หลายพรรษาจนพ้นนวกะแล้ว จึงได้รุกขมูลไปทางชายแดนไทย-ลาว เข้าสู่แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว (ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในการปกครองของประเทศไทย) ระหว่างที่พำนักอยู่ที่แขวงสะหวันนะเขตนี้ ได้มีโอกาสศึกษาวิชาอาคามต่างๆ ตามสมัยนิยม ขณะนั้นท่านได้พบกับหลวงปู่ผู้เฒ่ารูปหนึ่ง และได้เรียนวิชาการทำน้ำมนต์ประกอบเทียน เป็นวิชาสำคัญที่ส่งเสริมให้ท่านมีชื่อเสียงอย่างยิ่ง และกว่าที่ท่านจะสำเร็จวิชานี้ครบถ้วนกระบวนความ ต้องไปฝึกบนภูเขาถึง ๕ ปี เต็ม จึงจะได้รับอนุญาตให้นำวิชานี้ไปใช้ได้ คุณวิเศษของวิชาเทียนน้ำมนต์น้ำมนต์มหัศจรรย์นี้ ถ้าหากผู้ใดได้อาบกินแล้วถือได้ว่าสำเร็จตามความปรารถนาที่ได้อธิษฐานไว้ทุกประการ ถึงแม้ว่ามีความขึ้นโรงขึ้นศาลเรื่องราวปัญหาชีวิตต่างๆ ที่หนักหนาสาหัสก็จะบรรเทาเบาบางลง ส่วนเรื่องที่ไม่หนักหนาก็จะสูญหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อสำเร็จวิชาแล้วท่านได้กราบลาหลวงปู่ผู้เฒ่ากลับสู่เมืองไทย โดยรุกขมูลผ่านทางอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เดินทางเรื่อยๆ จนเข้าสู่เขตจังหวัดสระบุรี และได้เข้าจำพรรษาอยู่ในบ้านช่องเหนือ ต.บ้านป่า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี พำนักอยู่ในโบสถ์หลังเล็กๆ มุงด้วยสังกะสีที่ชาวบ้านศรัทธาสร้างถวาย จำพรรษาอยู่หลายปีจนได้ตำแหน่งทางคณะสงฆ์เป็น พระปลัดลา ชัยมงฺคโล
ครั้นต่อมาทางวัดแก่งคอยได้ขาดแคลนสมภารเจ้าวัด คณะสงฆ์กับชาวบ้านจึงได้นิมนต์ท่านมาครองวัด จนได้ตำแหน่งทางคณะสงฆ์เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับขั้น โดยได้รับตำแหน่งพระครูชั้นประทวน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ และอีกสองปีต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวง อำเภอแก่งคอย และในที่สุดได้เลื่อนชั้นเป็น พระครูสัญญาบัตรที่ พระครูสุนทรสังฆกิจ พร้อมกับตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
◉ ลำดับการดำรงตำแหน่งของพระครูสุนทรสังฆกิจ (หลวงพ่อลา ชัยมงฺคโล)
ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ได้รับการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดบ้านช่อง ตำบลบ้านป่า อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระปลัด ฐานะเจ้าคณะแขวง
ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวด
ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดแก่งคอย
ในปี พ.ศ.๒๔๗๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ นาม พระครูสุนทรสังฆกิจ
ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอ ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก
◉ มรณภาพ
พระครูสุนทรสังฆกิจ (หลวงพ่อลา ชัยมงฺคโล) ได้มรณภาพลงที่วัดแก่งคอย เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๗ รวมสิริอายุ ๗๑ ปี โดยพรรษารวม ๕๐ พรรษา พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๘ เวลา ๑๖.๓๐ น. ณ เมรุลอยวัดแก่งคอย
◉ ปาฏิหาริย์และความศักดิ์สิทธิ ของ พระครูสุนทรสังฆกิจ (หลวงพ่อลา ชัยมงฺคโล)
ท่านพระครูปลัดทองห่อ วิรยธมฺโม อายุ ๗๑ ปี (พ.ศ.๒๕๔๗) ศิษย์บรรพชิตของหลวงพ่อลา รุ่นสุดท้ายได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัยหลวงพ่อลา ยังดำรงขันธ์อยู่นั้น มีผู้มาขอให้หลวงพ่อลาทำพิธีอาบน้ำมนต์ให้ทุกวันตั้งแต่เช้ายันดึก ไม่เว้นแต่ละวัน วันละหลายสิบราย หลวงพ่อก็ไม่เคยทำให้ผู้ใดผิดหวังกลับไปแม้แต่รายเดียว จนทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณเลื่องลือระบือไกล แม้กระทั่งท่านผู้ใหญ่ระดับผู้ปกครองบ้านเมืองในสมัยนั้น เข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์มากมาย โดยเฉพาะบุคคลสำคัญในคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง (คณะราษฎร์) เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์พหลโยธิน) , จอมพล ป.พิบูลสงคราม , หลวงวิสุชาญแพทย์ , นายควง อภัยวงศ์ ฯลฯ ท่านเหล่านี้เคยมาขอให้หลวงพ่อลาประกอบพิธีทำน้ำมนต์เทียนมหัศจรรย์กันทั้งสิ้น
วิธีการทำก็คือ ใช้ขี้ผึ้งแท้ ไส้เทียนใช้ด้ายดิบและกระดาษสาเขียนยันต์เต่าเลือนด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งเขียนยันต์มหาราช ผู้ที่มาอาบน้ำมนต์จากท่านจะต้องเขียนคำอธิษฐานและชื่อวันเดือนปีเกิดลงใส่ในกระดาษยันต์นั้น หลังจากนั้นหลวงพ่อจะนำไปเป็นไส้เทียน ฟั้นเทียนเป็นรูปแก้วสเปน น้ำตาเทียนของท่านจะไหลออกทางก้นเทียน ถ้ามีเคราะห์น้ำตาเทียนจะเป็นสีแดง และหากมีโชคน้ำตาเทียนจะเป็นสีเหลือง เมื่อท่านทำน้ำมนต์จนเสร็จแล้วน้ำมนต์นั้นจะบอกเลยว่ามีโชคหรือมีเคราะห์ เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
และในสมัยนั้น ท่านได้มีผู้มีจิตเมตตานำกวางและแพะมาถวายท่านเลี้ยงไว้ที่วัด ท่านได้ลงผ้ายันต์ผูกคอให้กวางและแพะของท่านปล่อยไว้ในวัด เมื่อได้เวลากวางและแพะออกไปหากินอาหารในตลาด แย่งกินผักผลไม้จากแม้ค้าในตลาด บางคนก็เอาไม้คานตี เอามีดฟัน บางคนถึงกับเอาปืนยิง แต่ก็ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า จนเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วว่าแพะและกวาง ของหลวงพ่อลาอยู่ยงคงกระพัน ฟันไม่เข้า ยิงไม่ออก
และต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ทางวัดทำการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ทางวัดได้ทำการขุดรอบฐานอุโบสถหลังเก่าเพื่อจะรื้อถอน ในวันหนึ่งเวลาเที่ยงทางโรงเรียนได้ให้นักเรียนพักเที่ยง ได้มีเด็กกลุ่มหนึ่งได้พากันมาวิ่งเล่นซ่อนหารอบอุโบสถที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น ขณะที่เด็กกำลังเล่นกันอย่างเพลิดเพลินนั้น เหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดก็เกิดขึ้น อุโบสถทั้งหลังได้ลมครืนลงมาทับเด็กที่เล่นซ่อนหากันอยู่นั้น เด็กบางคนได้วิ่งไปบอกครูให้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คณะครูจึงได้ตีระฆังเช็คดูนักเรียนว่ามีใครอยู่และมีใครสูญหายบ้าง เมื่อเช็คดูแล้วได้มีเด็กหายไปหนึ่งคน คือเด็กชายไพบูลย์ ภู่อ่อนนิ่ม คณะครูและพระสงฆ์ในวัดได้มาค้นหาเด็กคนนั้นในที่พระอุโบสถพังลงมา หาอยู่เป็นเวลานานก็ได้ยินเสียงเด็กร้องขอความช่วยเหลือ คณะครูและพระสงฆ์ได้ช่วยกันงัดและยกก่อนปูนที่พังทับอยู่นั้นออก ก็ได้พบเด็กนอนอยู่ใต้นั้น ตรวจร่างกายของเด็กแล้วก็พบว่า ไม่ได้รับบาดเจ็บ เด็กได้บอกกับหลวงพ่อพระครูสมบูรณ์ ศีลวัตรว่า ได้มีหลวงพ่อแก่ๆ มาช่วยดันก่อนปูนเอาไว้ เมื่อดูที่คอของเด็กชายไพบูลย์ ก็ปรากฏว่ามีเหรียญหลวงพ่อลารุ่นแรกแขวนอยู่ที่คอของเด็กคนนั้น จึงเชื่อได้ว่าอภินิหารของเหรียญหลวงพ่อลาได้ช่วยให้เด็กชายไพบูลย์ ภู่อ่อนนิ่ม รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น จนเป็นที่กล่าวขานเลื่องลือไปทั่ว
อภินิหารของหลวงพ่อลาที่มีต่อนายสวัสดิ์ หริญเดช คือได้ถูกรถชนกระเด็นไปอยู่บนหน้ากระโปรงรถ แต่ก็ไม่ได้รับอันตรายใดๆ เพราะท่านได้มีแหนบและผ้ายันต์ของหลวงพ่อลาพกติดตัวอยู่ จึงได้รับความคุ้มครองปลอดภัยด้วยปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อลา
เมื่อมาตุภูมิในยุคสมัยที่ประเทศไทยระส่ำระสายด้วยพิษภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา ได้มาขอให้หลวงพ่อลาทำพิธีน้ำมนต์เทียนมหัศจรรย์และได้อธิษฐานมีใจความว่า “ประเทศชาติขณะนี้ได้เกิดระส่ำระสาย มีแต่การแตกแยกกัน ขอให้อำนาจสิ่งศักสิทธิ์ทั้งหลาย จงดลบรรดาลให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขในประเทศ และขอให้ประเทศไทยมีความเจริญวัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป ขออย่าให้สูญเสียเอกราชตกเป็นทาสของชาติใดๆ”
อาจกล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยเรารักษาเอกราชไว้ได้ในช่วงนั้น บางส่วนอาจเกิดจากอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อลา ที่ได้เพ่งเจริญฌาณให้แก่ประเทศชาติก็ว่าได้
หลวงพ่อลา แห่งวัดแก่งคอย จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวแก่งคอยและบุคคลทั่วไปให้ความเคารพและแวะ เวียนมากราบไหว้นมัสการและพรรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อลาทุกวันเสมอ มิได้ขาดจนตราบเท่าทุกวันนี้
ลูกศิษย์ที่ได้รับถ่ายทอดวิชาหรือศึกษาวิชาการทำน้ำมนต์จากหลวงพ่อลาที่แท้จริงมีอยู่ ๔ ท่าน ได้แก่ หลวงพ่อบุญมี วัดเขาแย้ อ.แก่งคอย (มรณภาพแล้ว)
พระครูล่า แห่งวัดตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย, หลวงพ่อวิบูลย์ แห่งวัดเตาปูน อ.แก่งคอย, อาจารย์ทอง วัดโคกเชือก อ.แก่งคอย
ทั้ง ๔ ท่านนี้มีชื่อเสียงในเรื่องการทำน้ำมนต์อาบเป็นอย่างมาก มีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้งใกล้และไกล ท่านเจ้าอาวาสวัดแก่งคอยองค์ปัจจุบัน พระครูประภัศร์วรญาณ (ทรัพย์ ญาณวโร) ก็ได้ศึกษาวิชาจากท่านพระอาจารย์เหล่านี้ จึงได้ทำพิธีรดน้ำมนต์ให้แก่ลูกศิษย์และญาติโยมในปัจจุบัน จนเป็นที่เคารพนับถือยิ่งของชาวแก่งคอยและบุคคลทั่วไป
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อลา ท่านได้สร้างวัตถุงมงคลไว้เป็นที่ระลึกแก่ลูกศิษย์หลายอย่าง เช่น ผ้าปะเจียด ผ้ายันต์ และเหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อ วัดแก่งคอย ปี พ.ศ.๒๔๗๙
เป็นเหรียญที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์ ที่ (พระครูสุนทรสังฆกิจ) เป็นเหรียญกลมรูปไข่ ปั๊มข้างกระบอก เนื้อทองแดงห่วงเชื่อม ด้านหน้าเป็นรูปท่านครึ่งองค์ ด้านหลังเป็นยันต์อุนาโลม ด้านล่างบอกปี พ.ศ.๒๔๗๙ จำนวนการสร้างไม่เกิน ๕๐๐ เหรียญ ปัจจุบันหาชมยากมากและมีจำนวนน้อยจึงมีราคาสูง ผู้ที่มีไว้ก็หวงแหนกันยิ่งนัก
◉ ประวัติวัดแก่งคอย
วัดแก่งคอย ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐ โดยชาวบ้านได้ร่วมใจกันก่อสร้างยกที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์เพื่ออุทิศถวายในบวรพุทธศาสนา
ท่านเจ้าคุณพระยาสโมสรสรรพการ ซึ่งเป็นคนอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ได้บริจาคทุนทรัพย์ส่วนตัวในการเริ่มก่อสร้างวัดแก่งคอย ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างในสมัยพระการีสุนทราการเป็นนายอำเภอ สำหรับพระอุโบสถเริ่มขึ้นเมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๖๕ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๖๖ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ จึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งตรงกับปีมะโรง นอกจากนั้นท่านเจ้าคุณพระยาสโมสรสรรพการและคุณแม่ล้อม สุนทราการได้ถวายที่ดินเป็นธรณีสงฆ์จำนวน ๑๐ ไร่ ๗๖ ตารางวา และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ นายบุญจันทร์และนางไพฑูรย์ นุตราวงศ์ ได้ถวายที่ดินเพิ่มให้วัดอีก ๒ ไร่ ๔๕ ตารางวา รวมเป็นที่ดินทั้งหมดรวม ๑๓ ไร่ ๒๑ ตารางวา
และจากคำบอกเล่าสืบต่อๆกันมา ที่ตั้งของวัดเดิมแห่งนี้ยังเป็นป่าทึบแนวป่าดงพญาเย็นตั้งแต่จังหวัดสระบุรีเรื่อยไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา ยังเป็นป่าที่สมบูรณ์ สัตว์ป่ามีหลากหลายชนิดอาศัยอยู่มากมาย จึงทำให้ผู้คนเข้าจับจองอาศัยทำมาหากินเป็นจำนวนมาก ความเจริญจึงได้เริ่มขึ้นเรื่อยมา การเรียกชื่อวัดนี้เปลี่ยนแปลงมาตามยุคตามสมัย ซึ่งชื่อเดิมในยุคนั้นนามของวัดว่า วัดแก่งนางคอย เหตุที่ชื่อนี้ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า ที่ตั้งของวัดแห่งนี้อยู่ติดกับแม่น้ำป่าสัก ในสมัยนั้นชาวบ้านและพ่อค้าประชาชนจะทำการค้าขายหรือการเดินทางจะใช้เรือหรือต่อแพไม่ไผ่เป็นยานพาหนะขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพ – เพชรบูรณ์ ขึ้นล่องไปมาตลอดทางด้านทิศตะวันออกของวัด แม่น้ำจะเป็นโขดหินร่องน้ำตื้นเขิน การเดินเรือและแพจะไม่สะดวกในการขนส่งสินค้า ถ้าน้ำตื้นเขินมากๆ พ่อค้าที่นำเรื่อผ่านมาจะต้องมารอคอยหรือนอนพักแรมทะยอยนำเรือหรือแพขึ้นแก่งกันเป็นแรมเดือน และบางครั้งหนุ่มสาวชาวเรือก็จะแอบนัดพบกันในบริเวณแก่งของวัด จนกลายเป็นที่นัดพบรอคอยของสาวชาวเรือชาวแพในสมัยนั้น จึงพากันเรียกชื่อวัดกันมาจนติดปากว่า วัดแก่งนางคอย
ในกาลต่อมาชาวบ้านได้พากันเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดแร้งคอย เหตุที่ชื่อเช่นนี้ก็มีที่มาคือ เมื่อถึงยุคสมัยบ้านเมืองมีความเปลี่ยนแปลง มีความเจริญเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านได้มีการก่อร่างสร้างตัวมากขึ้นและได้มีการตัดไม่ทำลายป่าเป็นจำนวนมาก คงเหลืออยู่แต่ไม้ใหญ่ยืนต้นบางส่วน เช่น ต้นยางใหญ่ที่แนวริมตลิ่งแม่น้ำป่าสักทางด้านทิศเหนือของวัดเหลืออยู่ปรากฏให้เห็นประมาณ ๔-๕ ต้น ประกอบการสมัยนั้นผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยจะเกิดเป็นไข้มาลาเรียล้มตายกันเป็นส่วนมาก เมื่อความเจริญเข้ามา ป่าไม้ก็ลดน้อยถอยลงเพราะถูกทำลาย ทำให้สัตว์ต่างๆ ต้องย้ายที่อยู่อาศัยไปอยู่ที่อื่น เช่นขึ้นไปอยู่เทือกเขาใหญ่ เขาเขียวบ้าง ส่วนนกอีแร้ง อีกา ได้พากันมาอาศัยอยู่ที่ต้นยางใหญ่ ที่เหลืออยู่ในบริเวณริมตลิ่งแม่น้ำป่าสักทางลงแก่งท่าน้ำของวัดเป็นจำนวนนับร้อยๆตัว ทำให้การหาอาหารจำพวกซากสัตว์ที่ตายไม่พอกับความต้องการของอีแร้งอีกา จึงได้พากันจิกตีแย่งกันร่วงหล่นตกลงมาจากยอดยาง ให้พระเณรและประชาชนได้พบเห็นเป็นประจำ และในตอนเย็นอีแร้งเหล่านี้ก็พากันกลับมานอนที่ต้นยางใหญ่แห่งนี้เป็นประจำตลอดมา เมื่อชาวบ้านเห็นเช่นนั้น จึงได้พากันเรียกว่าที่แร้งคอย และได้ขนานนามวัดใหม่ว่า วัดแร้งคอย จนติดปากต่อๆกันมาเป็นเวลนานพอสมควร ในกาลต่อมาทางราชการได้ทำการตั้งชื่อวัดเป็นทางการว่า วัดจมูสโมสร
ตามหลักฐานของทางราชการตามหลักโฉนดที่ดิน ณ หอทะเบียนที่ดินจังหวัดสระบุรี ตามโฉนดที่ ๑๕๓๕ เล่ม ๑๖ หน้า ๓๕ ที่ดินระวาง ๕๒๓๘#๑๖๑๒-๑ เลยที่ดิน ๕๖๙ หน้าสำรวจ ๒๙๕ ตำบลแก่งคอย อำเภอแก่งคอย โฉนดที่ดินนี้ได้ทำโดยพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยให้แก่ วัดจมูสโมสร (หมายความว่าวัดเป็นที่ชุมนุมของเหล่าเสนาฯ) เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย อยู่บ้านแก่งคอย ในหมู่บ้านที่ – ตำบลแก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้มีเชื่อออกนามไว้แล้วข้างต้นนั้น ถือที่ดินแปลงนี้อยู่ที่บ้านแก่งคอย ตำบลแก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เจ้าพนักงานได้ลงเส้นพระยานชันสูตรถูกต้องกันแล้ว
ต่อมาช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๔๙๐ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง หมู่บ้าน ชุมชนก็มากขึ้น ทางคณะสงฆ์พร้อมด้วยทายกทายิกาและชาวบ้านมีความเห็นร่วมกัน สมควรที่จะทำการเปลี่ยนชื่อวัดเดิมให้เข้ากับหมู่บ้านและหน่วยราชการ จึงทำการขอเปลี่ยนชื่อ จากวัดจมูสโมสร เป็น วัดแก่งคอย เพระชาวบ้านเรียกง่าย ทั้งวัดวัดยังติดกับตลาดแก่งคอย และใกล้กับที่ว่าการอำเภอแก่งคอย หมู่บ้านแก่งคอย พร้อมกับออกที่วัดครั้งแรก ใช้เลขที่ ๙๔๖ ถนนสุดบรรทัด เขตเทศบาลตำบลแก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ต่อมาภายหลังประชาชนมีจำนวนมากขึ้น ทำให้บ้านเรือนหนาแน่น ทางการจึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้านใหม่ เลขที่ของวัดจึงได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วย มาเป็นเลขที่ ๓๕๓/๑ หมู่ – ตำบลแก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ด้วยถือว่านำชื่อบ้านกับชื่อวัดเป็นที่เดียวกันเลย จึงเรียก วัดแก่งคอย มาจนถึงทุกวันนี้
วัดแก่งคอย เคยประสบภัยทางอากาศสมัยมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ กฏิสงฆ์ และพระอุโบสถหลังเดิมถูกแรงระเบิดกระทบชำรุดทรุดโทรมไปเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๘ ประกอบกับภัยธรรมชาติ ทำให้ชำรุดปรักหักพัง ไม่สะดวกในการประกอบสังฆกรรมและบำเพ็ญกุศล เฉพาะพระอุโบสถได้สร้างขึ้นมาใหม่ในที่เดิมในปลายปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ได้ทำการผูกพัทธสีมา ๕ วัน ๕ คืน ในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๐ ถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๐ และได้พัฒนาปฏิสังขรณ์สืบมาตราบเท่าทุกวันนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก uamulet.com