วันอาทิตย์, 15 กันยายน 2567

หลวงพ่อพุ่ม จันทโชติ วัดบางโคล่นอก ยานนาวา กรุงเทพฯ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อพุ่ม

วัดบางโคล่นอก
เขตยานนาวา กรุงเทพฯ

พระครูรัตนรังษี (หลวงพ่อพุ่ม) วัดบางโคล่นอก กรุงเทพฯ
พระครูรัตนรังษี (หลวงพ่อพุ่ม) วัดบางโคล่นอก กรุงเทพฯ

พระครูรัตนรังษี (หลวงพ่อพุ่ม จันทโชติ) วัดบางโคล่นอก กรุงเทพฯ พระเถราจารย์ผู้มีตบะบารมีแก่กล้าและเป็นผู้มีวิทยาคมสูง

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่นอก ถือกำเนิดเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๙ ต้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ณ บ้านข้างวัดสนามแดง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในสมัยเด็กท่านชอบแสวงหาศึกษาสิ่งเร้นลับ ในปี พ.ศ.๒๔๑๑ อายุได้ ๑๒ ปี บิดามารดาได้พาท่านไปบวชเป็นสามเณรที่วัดสนามแดง จังหวัดสมุทรปราการ และยังมีข้อมูลจากการบอกเล่าอีกว่าท่านเคยบวชสามเณรอีกที่วัดไทร แขวงบางโคล่ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ

◉ อุปสมบท
ในปี พ.ศ.๒๔๑๙ ท่านอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้ทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ วัดโปรดเกศเชษฐาราม พระประแดง โดยมี พระณาณสังวร (ช้าง) เป็นพระอุปัฌาย์บวชให้ ได้รับฉายาว่า “จันทโชติ

หลวงพ่อคง วัดบางโคล่ ผู้เชี่ยวชาญวิปัสนากัมมัฎฐาน แตกฉานในวิชาไสยเวทย์
หลวงพ่อคง วัดบางโคล่ ผู้เชี่ยวชาญวิปัสนากัมมัฎฐาน แตกฉานในวิชาไสยเวทย์

หลังจากอุปสมบทแล้วท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์วัตร เพื่อหาความวิเวกในป่าเพื่อเจริญวิปัสนากรรมฐาน จนมีสมาธิวิทยาคมเข้มขลัง และได้กลับมาจำพรรษาที่ วัดไทร แขวงบางโคล่ ที่ท่านเคยบวชสามเณร หลังจากนั้นท่านได้มาเรียนกรรมฐานกับ พระอาจารย์คง เจ้าอาวาสวัดบางโคล่นอก (พระอาจารย์คง วัดบางโคล่นอกท่านนี้ เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อพุ่ม และหลวงพ่อคง วัดถนนหัก (ซึ่งในเวลาต่อมา หลวงพ่อคง วัดถนนหัก ได้เป็นอาจารย์ของ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่)

พระครูรัตนรังษี (หลวงพ่อพุ่ม) วัดบางโคล่นอก กรุงเทพฯ
พระครูรัตนรังษี (หลวงพ่อพุ่ม) วัดบางโคล่นอก กรุงเทพฯ

หลวงพ่อพุ่ม ท่านตั้งใจมุ่งปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ และตั้งมั่นอยู่ในธรรมวินัยโดยเคร่งครัดเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อพระอาจารย์คง เจ้าอาวาสวัดบางโคล่นอก มรณะภาพ ทางคณะสงฆ์มองเห็นการปฏิบัติของหลวงพ่อพุ่มซึ่งมีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใส มีประชาชนให้ความเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก จึงมีมติขอให้ท่านมาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางโคล่นอก เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๑ ด้วยผลงานอันดีเด่นในด้านปกครอง และมีความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติธรรม และการเจริญกรรมฐาน จึงได้มีหนังสือเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระปลัดพุ่ม

เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัฌาย์และรับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูรัตนรังษี” ซึ่งสมณศักดิ์นี้พระภิกษุองค์ใดที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ถือว่ามีเกียรติคุณเด่นในด้านวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างยิ่ง

ในสมัยนั้นทางวัดไทร และวัดบางโคล่ใน (ชื่อปัจจุบัน วัดเรืองยศสุทธาราม) ยังไม่มีเจ้าอาวาสมาดำรงตำแหน่ง หลวงพ่อพุ่ม จึงได้เป็นเจ้าอาวาสรักษาการณ์แทนในระยะหนึ่ง ท่านจึงดูแลรับผิดชอบถึง ๓ วัด

ในครั้งหนึ่งที่มีการปลุกเสกวัตถุมงคล ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชแพเป็นประธานในพิธี หลวงพ่อพุ่ม ได้นั่งสมาธิปลุกเสก สมเด็จพระสังฆราช(แพ) ได้ถามว่า..“หลวงตารูปนี้มาจากที่ไหน ท่านมีสมาธิแก่กล้าจริงๆ”

หลังจากนั้น หลวงพ่อพุ่ม ก็ได้รับการถวายผ้ากราบจากสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ถือเป็นเกียรติอย่างสุงสุดที่พระครูจะได้รับ เพราะถือว่าเป็นการได้รับการถวายเกียรติจากสมเด็จพระสังฆราช ที่ยกย่องหลวงพ่อพุ่มเป็นอย่างมาก ในเรื่องความชำนาญทางด้านวิปัสนากรรมฐาน

สมัยก่อนพระองค์ใดที่จะขึ้นกรรมฐาน ต้องมาขึ้นกับ หลวงพ่อพุ่ม จันทโชติ ที่วัด ซึ่งหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส มาถวายตัวขึ้นกรรมฐานกับหลวงพ่อ หลวงพ่อพุ่ม มีชื่อเสียงมากทางวิปัสสนากรรมฐาน และการรักษาโรค และคุณไสย ซึ่งรักษาโดยใช้ “ไม้คฑา” เพียงอันเดียว ท่านมีลักษณะนิสัยพูดน้อย ทางคณะสงฆ์มองเห็นวัตรปฏิบัติของท่านน่าเลื่อมใสศรัทธามาก

หลวงพ่อพุ่ม มีลูกศิษย์มากมาย ทั้งพระสงฆ์ และฆราวาส ได้แก่ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส, เจ้าคุณสี วัดไผ่เงินโชตินาราม, เจ้าคุณศรี (สนธิ์) วัดสุทัศน์ฯ, พระครูวิสุทธิรังษี (หลวงตาพวง) วัดเรืองยศสุทธาราม และอื่นๆ ที่ไม่ทราบอีกมาก เพราะทุกท่านที่กล่าวนามมา ได้มาฝึกเรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อพุ่มแทบทั้งสิ้น และได้รับการเรียนในด้านวิทยาคมไปพร้อมๆกัน และยังมีศิษย์ฆราวาสที่รู้จักกันดีได้แก่ กรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ และเสือไท ที่มาขอเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อพุ่มอีกด้วย

พระครูรัตนรังษี (หลวงพ่อพุ่ม) วัดบางโคล่นอก กรุงเทพฯ
พระครูรัตนรังษี (หลวงพ่อพุ่ม) วัดบางโคล่นอก กรุงเทพฯ

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่ มรณภาพในปีพ.ศ.๒๔๘๙ และมีการฌาปนกิจศพของท่าน ณ วัดบางโคล่นอก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘ สิริอายุรวมได้ ๙๐ ปี พรรษา ๗๐ นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญแห่งทุ่งบางโคล่ เหลือไว้ซึ่งคำสอน และความดีที่ท่านได้สั่งสมไว้ในปัจจุบัน

ในคราวงานศพหลวงพ่อสมัยนั้น “สือไท” ซึ่งเคารพนับถือหลวงพ่อพุ่ม เป็นอย่างมาก ได้มาร่วมงานศพที่วัด (บางท่านว่าจัดที่วัดบางโคล่นอก บางท่านว่าจัดที่วัดบางโคล่ใน ยังไม่เป็นที่ยุติ) ทางตำรวจทราบดีว่าเสือไทย นับถือหลวงพ่อพุ่มมากขนาดไหน และรู้ว่าต้องมาร่วมงานศพแน่

จึงเตรียมแผนล้อมจับนับร้อยนาย เป็นข่าวไปทั่ว ชาวบ้านสมัยนั้นต่างโจทย์ว่าเสือไทไม่กล้ามาหรอก เพราะมาก็โดนจับแน่ แต่เสือไทก็มาปรากฏตัวในงาน โดยมีทั้งพระ และชาวบ้านหลายคนที่จำได้ เห็นตอนที่มาวางดอกไม้จันทน์บนเมรุ รอดพ้นสายตาตำรวจนับร้อยที่เตรียมการล้อมจับได้

โดยเมื่อได้วางดอกไม้จันทน์แล้ว ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ชาวบ้านจึงลือกันว่าเสือไทหายตัวได้ ซึ่งเสือไทนั้น เป็นผู้ที่มีอาคม ร่ำเรียนวิชากับหลวงพ่อพุ่ม ตอนหลังกลับตัวกลับใจไม่ทำชั่ว เพราะหลวงพ่อพุ่มท่านขอให้เลิก เสือไทก็ยอมเลิกปฏิบัติตนเป็นโจรตั้งแต่นั้นมา แต่เมื่อคราวหลวงพ่อมรณภาพ เสือไท เป็นผู้ที่เคารพหลวงพ่อมาก จึงไม่ยอมที่จะไม่มาร่วม แต่ด้วยคดีอุกฉกรรย์ที่เคยก่อไว้เก่าๆ ตำรวจยังตามตัวอยู่ หลังจากเสร็จงานศพหลวงพ่อพุ่มแล้ว ก็ไม่มีใครเห็นเสือไทอีกเลย

◉ ด้านวัตถุมงคล
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่ ได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในห้าของเหรียญชุด เบญจภาคี ได้รับความนิยมสูง ประวัติการสร้างชัดเจนคือ พระครูวินัยธรสวัสดิ์ สำนักวัดมหาธาตุ เป็นผู้ออกแบบและสั่งทำที่ร้านปั๊มเหรียญประดิษฐ์ภัณฑ์ จำนวนการสร้าง ๑,๐๐๐ เหรียญ สร้างด้วยเนื้อทองแดงเถื่อน (ทองแดงที่ใช้แล้ว) มี ๒ พิมพ์ คือ แบบยันต์จรดขอบเหรียญ (ด้านหลัง) ซึ่งเป็นพิมพ์นิยม และยันต์ไม่จรดขอบ เนื้ออื่นนอกจากนี้คนพื้นที่ และผู้เฒ่าผู้แก่ร่วมสมัย ไม่เคยพบเห็น

เหรียญ หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่ รุ่นแรก ปี ๒๔๗๗ พิมพ์อุไม่ชิด
เหรียญ หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่ รุ่นแรก ปี ๒๔๗๗ พิมพ์อุไม่ชิด

เมื่อสร้างเสร็จได้ถวายให้หลวงพ่อพุ่มปลุกเสกเดี่ยว ก่อนแจกในงานทำบุญอายุ ในสมัยก่อนผู้ที่จะเช่าบูชา ต้องทำบุญองค์ละ ๕ บาท ซึ่งถือว่าแพงในสมัยนั้น

ผู้ที่มีเหรียญของท่านต่างประจักษ์ในความศักดิ์สิทธิ์ในพุทธคุณทางด้านแคล้วคลาด และคงกระพันมหาอุดของเหรียญรุ่นนี้กันมาก จนได้รับการจัดอันดับให้เป็นเหรียญ ๑ ใน ๕ ในชุดเบญจภาคีเหรียญของเมืองไทยมานานแล้ว ได้แก่
๑. เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
๒. เหรียญหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติฯ
๓. เหรียญหลวงปู่ศุข วัดปากคลองฯ
๔. เหรียญหลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่นอก
๕. เหรียญหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม