วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อพิธ

วัดฆะมัง
อ.เมือง จ.พิจิตร

หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง ต.ฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร
หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง ต.ฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร

หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง ต.ฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง วิทยาคมเข้มขลัง ศิษย์สืบสายธรรมจากหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง นามเดิมชื่อ “พิธ ขมินทกูล” เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคมพ.ศ.๒๔๑๘ ตรงกับวันอังคารแรม ๕ คํ่าเดือน ๔ ปีกุน ที่บ้านบางเพียร หมู่ที่ ๔ ตำบลฆะมัง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร บิดาชื่อ “ขุนหิรัญสมบัติ (ประดิษฐ์ ขมินทกูล) ” และมารดาชื่อ “นางปุย ขมินทกูล” มีพี่น้องร่วมสายโลหิต
เดียวกัน ๓ คน เป็นชาย ๑ คน หญิง ๒ คน คือ
๑. นายพิธ ขมินทกูล
๒. นางไพ
๓. นางพับ

◉ อุปสมบท
หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ขณะอายุได้ ๒๒ ปี ณ พัทธสีมาวัดบึงตะโกนอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โดยมี พระครูธรรมทัสสีมุนีวงค์ (เอี่ยม) เจ้าคณะจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาวิจิตร วัดฆะมัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์พลอย วัดราชช้างขวัญ เป็นอนุสาวนาจารย์

หลังจากอุปสมบทแล้วหลวงพ่อได้ไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ เพื่อศึกษาหาความรู้จะได้
นำเอาความรู้ที่ได้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้า เท่าที่สอบถามพระอธิการทานขมินทกูล เจ้าอาวาสวัดฆะมังและนายปุย ขมินทกูล(น้องชายต่างมารดาของหลวงพ่อพิธ) เล่าว่าหลวงพ่อได้ไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ ดังนี้
๑. วัดใหญ่ วัดหลวงพ่อพุทธชินราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
๒. วัดบางมูลนาก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
๓. วัดท่าถนน ซึ่งเป็นวัดอยู่ในตลาดอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
๔. วัดหัวดง ตำบลหัวดง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตรโดยเฉพาะวัดหัวดงนี้หลวงพ่อจำพรรษาอยู่นานที่สุด
๕. วัดวังปราบ จังหวัดนครสวรรค์วัดนี้หลวงพ่อได้ฝึกวิชารักษาฝีในท้องกับพระอาจารย์สิน
๖. วัดบางคลาน อำเภอโพทะเล เพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน และได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงพ่อเงินตลอดจนความรู้ต่างๆ จนเป็นที่แตกฉานจึงได้มาจำพรรษา ณ วัดฆะมัง บ้านเกิดเมืองนอนของท่าน นอกจากหลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง จะได้ศึกษาเล่าเรียนจากเกจิอาจารย์ต่างๆ แล้วหลวงพ่อยังได้เล่าเรียนวิชาความรู้เกี่ยวกับเวทมนต์คาถาจากปู่ของท่านอีกด้วย นับว่าหลวงพ่อเป็นผู้เสาะแสงหาความรู้อย่างแท้จริงหลวงพ่อเป็นพระที่มักน้อย ถือสันโดษ และไม่ยอมสะสมเงินทองจึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างถาวรวัตถุ เพื่อบำรุงพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบต่อไป

หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง ได้สร้างอุโบสถถึง ๕ หลัง คือ
๑. วัดฆะมัง
๒. วัดดงป่าคำใต้ (วัดใหม่คำวัน)
๓. วัดบึงตะโกน
๔. วัดสามขา
๕. วัดหัวดง

ด้วยความที่เป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการรับฟังธรรมและขอวัตถุมงคลไว้เป็นที่ระลึก อาทิ ภาพถ่ายหลวงพ่อพิธ เป็นภาพเล็กๆ ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นภาพหลวงพ่อเงิน (พระอาจารย์ของหลวงพ่อพิธ), ตะกรุดมหารูด, ขี้ผึ้งวิเศษ

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปนมัสการท่านและขอสิ่งที่เป็นที่ระลึก หลวงพ่อพิธจะเตือนเสมอว่า “สิ่งที่มอบให้นี้เป็นประหนึ่งว่าเราได้มาพบหน้าตากัน มีความเคารพต่อกันดุจญาติพี่น้องและสิ่งเหล่านี้ขอให้เข้าใจว่าเป็นอนุสรณ์ต่อกันเมื่ออยู่ห่างไกล สิ่งหนึ่งที่ควรใฝ่ใจมากๆ คือ
๑. จงอย่าประมาท
๒. คุณพระพุทธคุณ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดา คุณมารดา
๓. จงมีศีล มีสัตย์ ภัยพิบัติจะมาไม่ถึงเพราะมีอำนาจทิพย์คอยรักษาคุ้มครองอยู่ และ
๔. เมื่อได้สิ่งของอันเป็นที่ระลึกแล้วควรมีปัญญา คือ อย่าเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับทุกข์

ช่วงบั้นปลายชีวิตสังขารเริ่มโรย หลวงพ่อพิธ ตรากตรำต่อการทำงานและหน้าที่พระคณาจารย์ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้เริ่มมีอาการอาพาธหนัก สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง

หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง ต.ฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร
หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง ต.ฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง มรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ณ วัดฆะมัง อำเภอเมืองพิจิตรรวมอายุได้ ๗๐ ปี

ทั้งนี้ หลังจากประชุมเพลิงหลวงพ่อพิธมีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้น คือ ดวงตาทั้งสองของท่านไฟเผาไม่ไหม้ ชาวบ้านจึงเรียกขานท่านว่า “หลวงพ่อพิธตาไฟ

รูปเหมือนบูชา หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง
รูปเหมือนบูชา หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง

คณะกรรมการผู้เก็บรักษาดวงตา ซึ่งไม่ไหม้ไฟของหลวงพ่อพิธ เห็นสมควรบรรจุดวงตาของท่านไว้ในรูปเหมือนเท่าองค์จริงหลวงพ่อพิธ เพื่อเป็นที่สักการะ ที่วัดฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร ตราบจนทุกวันนี้ เกียรติคุณอันสูงยิ่งของหลวงพ่อพิธทำให้สาธุชนรุ่นหลังยังคงระลึกถึงท่าน มีความศรัทธาอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย