วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

หลวงพ่อพระลับ พระคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น

ประวัติ หลวงพ่อพระลับ พระประธานในพระอุโบสถ วัดธาตุ (พระอารามหลวง) ถ.กลางเมือง (บ้านเมืองเก่า) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

หลวงพ่อพระลับ วัดธาตุ จ.ขอนแก่น

หลวงพ่อพระลับ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสัมฤทธิ์ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑ นิ้ว และสูง ๒๙ นิ้ว ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฏกว้าง พระขนงโก่ง พระเนตรเรียว เหลือบตาลงต่ำ พระนาสิกสันปลายแหลม พระโอษฐ์แย้ม ขนาดพระเกศาเล็กแหลม พระเกตุมาลาใหญ่ รัศมีเป็นเปลวตั้งอยู่บนฐานกลีบบัว ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ชายจีวรยาวลงมาจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ฐานปัทม์ยกสูงทรงสี่เหลี่ยมบัวคว่ำหงาย และแนวลูกแก้วอกไก่งอนขึ้นทางด้านบน

หลวงพ่อพระลับ” จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลาว “สกุลช่างเวียงจันทน์” คล้ายพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ระเบียงหอพระแก้วเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔

ประวัติเล่าสืบกันมาว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๑ (พ.ศ.๒๐๗๗-๒๑๑๔) เป็นกษัตริย์ครองเมืองหลวงพระบาง เมื่อพม่ายกทัพมาตีเมืองหลวงพระบาง พ.ศ.๒๐๙๐ พระองค์อพยพไปตั้งเมืองหลวงใหม่ชื่อ “เวียงจันทน์บุรีศรีสัตนาค” การอพยพครั้งนี้ได้นำพระแก้วมรกต พระบาง พระพุทธรูปองค์อื่นๆ ไปด้วย ซึ่งพระพุทธรูปทั้งหมดสร้างขึ้นในสมัยเชียงแสน สมัยเชียงใหม่ และสมัยพระเจ้าโพธิสารมหาธรรมิกราชาธิราช

จากการศึกษาพระพุทธลักษณะจึงสันนิษฐานว่า หลวงพ่อพระลับสร้างขึ้นโดย “พระเจ้าโพธิสาร พระมหาธรรมิกราชาธิราช”ประมาณปีพุทธศักราช ๒๐๖๘ ณ นครหลวงพระบางครั้นเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๑ สวรรคต เมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๑๔ พระเจ้าศรีวรมงคล ผู้น้องขึ้นครองราชสืบมา พระนามว่า “พระยาธรรมิกราช” (พ.ศ.๒๑๓๔-๒๑๖๕) มีโอรส ๑ พระองค์ ชื่อ เจ้าศรีวิชัย

เมื่อพระยาธรรมิกราชสิ้นพระชนม์ กลุ่มของพระยาแสนสุรินทร์ขว้างฟ้า ยึดเมืองเวียงจันทน์ได้ เจ้าศรีวิชัยจึงหลบหนีพร้อมนำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไม่ทราบจำนวน ซึ่งมี “หลวงพ่อพระลับ” รวมอยู่ด้วย ไปอาศัยอยู่กับท่านพระครูหลวง (เจ้าอาวาสวัดโพนสะเม็ด)

เจ้าศรีวิชัย มีโอรสอยู่ ๒ คน คือ เจ้าแก้วมงคล และเจ้าจันทร์สุริยวงศ์พ.ศ.๒๒๓๓ ท่านราชครูหลวงได้อพยพชาวเวียงจันทน์บางส่วนประมาณ ๓,๐๐๐ คน ไปบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม แล้วพาครอบครัวเวียงจันทน์ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนโขง เนื่องจากท่านราชครูได้รับความเคารพจากประชาชนมาก สองพี่น้องชื่อ นางเพา นางแพง ซึ่งปกครองดูแลเมืองจำปาศักดิ์ จึงได้อาราธนาท่านราชครูให้ไปอยู่ที่นครจำปาศักดิ์

เมื่อท่านไปปกครองได้ขยายอาณาเขตนครจำปาศักดิ์ให้กว้างขวางออกไป และสร้างเมืองใหม่ ไม่ขึ้นต่อเมืองเวียงจันทน์และหลวงพระบาง ได้อัญเชิญ “เจ้าหน่อกษัตริย์” หรือ “เจ้าหน่อคำ” มาเสวยราชสมบัติ เป็นกษัตริย์ปกครองนครจำปาศักดิ์ใหม่ ทรงพระนามว่า “เจ้าสร้อยศรี สมุทรพุทธางกูร” (พ.ศ.๒๒๕๖-๒๒๘๐) และได้ให้เจ้าแก้วมงคล อพยพครอบครัว พร้อมประชาชนพลเมือง นำเอาพระพุทธรูปเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาจากเวียงจันทน์ ไปสร้างเมืองทง หรือ “เมืองสุวรรณภูมิ” (ปัจจุบันคือ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด)

เจ้าแก้วมงคล ได้เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนแรก (พ.ศ.๒๒๕๖-๒๒๖๘) จากนั้นก็มีเจ้าเมือง สืบต่อมาจนถึงปีพุทธศักราช ๒๓๒๖“ท้าวภู” ได้เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระรัตนวงษา” ได้แต่งตั้งให้ลูกชาย “ท้าวศักดิ์” ไปดำรงตำแหน่ง “เมืองแพน” มียศเป็น “เพีย” เทียบเท่าพระยาฝ่ายทหาร ให้ไปตั้งรักษาการอยู่ริมแม่น้ำชี สถานที่นั้นเรียกว่า “ชีโหล่น”

ต่อมาถึงปีพุทธศักราช ๒๓๓๒ ก็ได้รับคำสั่งให้ไปตั้งแห่งใหม่ชายแดนด้านเหนือเขตเมืองสุวรรณภูมิกับเขตเมืองร้อยเอ็ดในขณะนั้น“ท้าวศักดิ์” อพยพประชาชนพลเมืองประมาณ ๓๓๐ ครอบครัว พร้อมนำเอาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ไปไว้เคารพสักการะเป็นมิ่งขวัญเมืองด้วย ตั้งบ้านใหม่เรียกว่า “บ้านบึงบอน” และได้ก่อสร้างหลักเมืองฝั่งตะวันตกบึง

เมื่อสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยเรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้างวัดขึ้น ๔ วัด คือ “วัดเหนือ” ให้เจ้าเมืองพร้อมลูกหลานไปทำบุญอุปัฏฐาก “วัดกลาง” ให้เสนาอำมาตย์พร้อมลูกหลานไปทำบุญอุปัฏฐาก“วัดใต้” ให้ประชาชนพลเมืองทั่วไปทำบุญอุปัฏฐาก “วัดท่าแขก” อยู่ฝั่งบึงด้านทิศตะวันออก สำหรับพระภิกษุอาคันตุกะจากถิ่นอื่นๆ มาพำนักเพื่อประกอบพุทธศาสนพิธี

เมื่อสร้างวัดเหนือแล้วจึงสร้างพระธาตุมีอุโมงค์ภายใน นำเอาพระพุทธรูปไปเก็บซ่อนไว้อย่างลับที่สุด รู้แต่เจ้าอาวาสวัดเหนือเท่านั้น คนทั้งหลายจึงเรียกว่า “พระลับ” หรือ “หลวงพ่อพระลับ” สืบมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

กระทั่ง พ.ศ.๒๓๔๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระบรมราชโองการยกฐานะบ้านบึงบอนขึ้นเป็น “เมืองขอนแก่น” ตั้งให้ “ท้าวศักดิ์” เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก มีนามว่า “พระนครศรีบริรักษ์

เมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในพระธาตุก็จะเรียกว่า “พระลับ” เพราะไม่มีใครเคยเห็น

ปัจจุบันบ้านพระลับกลายเป็นเทศบาลเมืองขอนแก่น ที่คงเหลือเป็นอนุสรณ์ คือ ตำบลพระลับ ส่วน “วัดเหนือ” เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดธาตุ” (พระอารามหลวง)

สมัย หลวงปู่พระเทพวิมลโมลี (เหล่ว สุมโน) เป็นเจ้าอาวาส (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวิสุทธาจารย์) เกรงว่าต่อไปจะไม่มีใครรู้จักหลวงพ่อพระลับ จึงเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มาเป็นสักขีพยานเปิดเผย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ให้เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองขอนแก่น เมื่อวันออกพรรษาปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ ซึ่งตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีจอ (วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๗)หลวงพ่อพระลับจึงประจักษ์แก่สายตาเป็นพระคู่เมืองขอนแก่นนับแต่นั้น