วันอาทิตย์, 13 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อผุย สุวัณโณ วัดสุวรรณคีรี (บ้านกลับ) อ.หนองโดน จ.สระบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อผุย สุวัณโณ

วัดสุวรรณคีรี (บ้านกลับ)
อ.หนองโดน จ.สระบุรี

หลวงพ่อผุย สุวัณโณ วัดสุวรรณคีรี (บ้านกลับ) อ.หนองโดน จ.สระบุรี
หลวงพ่อผุย สุวัณโณ วัดสุวรรณคีรี (บ้านกลับ) อ.หนองโดน จ.สระบุรี

พระครูสุวรรณวิหารกิจ (หลวงพ่อผุย สุวัณโณ) วัดสุวรรณคีรี (บ้านกลับ) พระเกจิอาจารย์สายสมเด็จลุน ผู้มีศีลาจารวัตรอันงดงาม เป็นที่เคารพเลือมใสแห่งเมืองสระบุรี

๏ ชาติภูมิ
พระครูสุวรรณวิหารกิจ (หลวงพ่อผุย สุวัณโณ) วัดสุวรรณคีรี (บ้านกลับ) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ หลวงพ่อผุยท่านเป็นสหธรรมมิกกับ หลวงปู่คำมี พุทธสาโร วัดถ้ำคูหาสวรรค์ และ หลวงพ่อพริ้ง มณีธาโน วัดโบสถ์โก่งธนู ท่านเป็นศิษย์สายตรงของ ญาท่านสำเร็จลุน แห่งนครเวียงจันทร์ หลวงพ่อผุยท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก และท่านยังเป็นอาจารย์แก่เกจิที่ดังๆในปัจจุบันหลายท่านอีกด้วย

หลวงพ่อผุย ท่านเป็นพระที่ชาวตำบลบ้านกลับ กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ ท่านเป็นพระผู้คงแก่เรียน เป็นพระสงฆ์ที่พูดน้อย มีข้อวัตรปฎิบัติอันงดงาม เป็นที่ยำเกรงของพระสงฆ์ และชาวบ้านทั่วไป ท่านได้สร้างถาวรวัตถุที่เป็นประโยชน์ แก่บวรพุทธศาสนา ไว้มากมายหลายอย่าง ทั้งยังเป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านกลับ และใกล้เคียง

หลวงพ่อผุย สุวัณโณ ท่านได้จัดสร้างพระพิมพ์เนื้อสำริด ไว้เมื่อครั้งท่านยังเป็นพระหนุ่ม ท่านได้ดำหริสร้างพระพิมพ์ พระเจ้าสิบหกพระองค์ พระเจ้าห้าพระองค์ และ ตะกรุดพระเจ้าสิบหกพระองค์ขึ้น ในการสร้างพระเครื่องของหลวงพ่อนั้น พิถีพิถันกว่าพระยุคปัจจุบันเป็นอันมากแม้การจะก่อก้อนเตาไฟ ดูฤกษ์ยามนาที เป็นไปตามแบบโบราณที่ท่านได้รับถ่ายทอดมา แต่ครั้งนั้น จำนวนการสร้างจึงไม่มากนัก

๏ ตำแหน่งที่ได้รับ
ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านกลับ
ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้รับตำแหน่งเป็นพระครูสมุห์
ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ได้เป็นรองเจ้าคณะตำบล โดยมี “พระครูโสภณศีลวัตร” (พัง จันทโชติ) เป็นเจ้าคณะตำบล
ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ได้เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ รักษาการเจ้าคณะตำบลบ้านกลับ
ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้เป็น พระครูสุวรรณวิหารกิจ

๏ มรณภาพ
พระครูสุวรรณวิหารกิจ (หลวงพ่อผุย สุวัณโณ) วัดสุวรรณคีรี (บ้านกลับ) ท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๑ เวลา ๑๐.๐๐ น. ตรงกับวันเสาร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเมีย ด้วยโรคชรา สิริอายุรวทได้ ๘๑ ปี พรรษา ๕๙

◉ วัตถุมงคล
ผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยก่อน พ่อใหญ่คำ บุญอ่อน และ พ่อใหญ่บุญเลี้ยง ได้เล่าว่า ก่อนที่หลวงพ่อจะสร้างพระท่านได้เปรยขึ้นว่า ต่อไปจะเกิดสงครามข้าวยากหมากแพง ลูกหลานเราจะต้องไปเป็นทหารแสนลำบาก ท่านจะสร้างพระเจ้า ๑๖ พระองค์ ไว้เผื่อจะมีประโยชน์ในกาลข้างหน้า และต่อมาปี พ.ศ.๒๔๘๕ ก็เกิดสงครามขึ้นจริง ลูกหลานชาวบ้านกลับ ซึ่งได้รับพระ ๑๖ พระองค์, ๕ พระองค์ และ ตะกรุดนั้น ต่างแคล้วคลาดปลอดภัย จากคมมีด คมกระสุน ของข้าศึกศัตรูทั่วทุกคน เป็นที่เลื่องลือในยุคนั้น พระเจ้าสิบหกพระองค์ พระเจ้าห้าพระองค์ และ ตะกรุดโทนพระเจ้าสิบหกพระองค์ นั้น จึงเป็นที่เสาะหาในหมู่ชาวบ้านกลับ และ นักเลงหัวไม้ เพราะพุทธคุณแห่งวัตถุมงคลที่หลวงพ่อสร้างนั้น เป็นที่ยอมรับโดยปราศจากข้อกังขา ของผู้คนในยุคนั้น

๑.พระพิมพ์พระเจ้าสิบหกพระองค์ ปี พ.ศ.๒๔๘๒ นั้น จะเป็นพระพิมพ์ทรงระฆังคว่ำ มีพระนาคปรกประทับเรียงราย รวม ๑๖ องค์ แถวละ ๔ องค์ ๔ แถว มีองค์ประธานอยู่ด้านบน ประทับใต้ปรกโพธิ์ อย่างลงตัวงดงาม มีห่วงหล่อในตัว ขวางองค์พระ ด้านหลังประทับพระยันต์พระเจ้าสิบหกพระองค์ เป็นรอยลึกลงไปในเนื้อพระ จำนวนการสร้าง ๕๐ องค์

๒.พระพิมพ์พระเจ้าห้าพระองค์ ปี พ.ศ.๒๔๘๒ จะเป็นพิมพ์ระฆังคว่ำ เช่นเดียวกับ ๑๖ พระองค์ มีห่วงหล่อขวางองค์พระ ด้านหลังประทับพระยันต์ห้าพระองค์ (ยันต์ห้า) เป็นเส้นนูน คมชัด จำนวนสร้าง ๕๐ องค์ เท่ากับจำนวนพระเจ้าสิบหกพระองค์

๓.ตะกรุดโทนพระเจ้า ๑๖ พระองค์ สร้างด้วย แผ่นทองแดง แผ่นทองเหลือง มีทั้งเปลือย และ ลงรักถักเชือก จำนวน ๕๐ ดอก (บางคนก็นำมาถักเชือกเอง)

เหรียญหล่อ หลวงพ่อผุย วัดบ้านกลับ
เหรียญหล่อ หลวงพ่อผุย วัดบ้านกลับ

พระหล่อโบราณ พระเจ้า ๑๖ พระองค์ เป็นพระหล่อขึ้นตามพิธีโบราณ ด้วยเนื้อสำริดจากเทวรูป และ พระพุทธรูปเก่า สร้างในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ถือว่าเป็นพระรุ่นแรกๆที่ท่านได้สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันตามตำหรับโบราณ ปลุกเสกเดี่ยวทุกครั้ง

ปี พ.ศ.๒๔๘๗ หลวงพ่อท่านก็ได้จัดสร้าง พระเจ้าสิบหกพระองค์ พิมพ์หน้าจั่ว และ พิมพ์ใบโพธิ์ เพื่อศรัทธาชาวบ้านในตำบลบ้านกลับ และ ใกล้เคียงอยากได้ไว้บูชา หลวงพ่อจึงไม่ขัดศรัทธาสาธุชน จึงกำหนดพิธีเททองหล่อพระเจ้าสิบหกพระองค์ขึ้นอีก ๒ พิมพ์ เพื่อไม่ให้ซ้ำกันกับพิมพ์แรก โดยพิมพ์ที่จัดสร้างอีก สองพิมพ์ คือ

๑.พิมพ์หน้าจั่ว มีพุทธลักษณะเป็นเหรียญทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีห่วงขวางองค์พระ มีพระนั่งเรียงราย อย่างสวยงาม องค์ประธานด้านบนสุด ยกพระหัตถ์ ประทานพรเหนือไหล่ ก้านข้างขอบเหรียญนั้นมี รัศมีกระจายรอบองค์พระ ทั้ง ๑๖ องค์ เหรียญหนา องค์พระทั้ง ๑๖ คมชัดลึก ด้านหลัง ประทับพระยันต์พระเจ้า ๑๖ พระองค์ จมลึกลงไปในเนื้อพระคมชัดมาก พระพิมพ์นี้มีการสร้างโดย (พระอุปัชฌาเปลี่ยน จันทโชโต) เจ้าอาวาสองค์ ต่อจากหลวงพ่อ โดยการถอดพิมพ์องค์พระเดิม ทำให้องค์พระ และ ยันต์ด้านหลังเบลอ มองไม่ออกว่าเป็นรูปพระ จ้างช่างบ้านท่ากระยาง จังหวัดลพบุรี หล่อลักษณะพิเศษคือ บาง องค์เล็กกว่าเพราะถอดพิมพ์ สามารถแยกแยะออกได้อย่างชัดเจน ลักษณะพิเศษมีการรมดำองค์พระ มีคราบขี้เบ้า และ ว่ากันว่าพระพิมพ์ของท่านพระอาจารย์เปลี่ยนนี้ บางท่านได้รับจากมือหลวงพ่อผุย ก็มี ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเวลานั้นหลวงพ่อได้ทำการปลุกเสกทุกรุ่น ที่พระอาจารย์เปลี่ยนทำออกมา พุทธคุณย่อมเหมือนกัน

๒.พิมพ์ใบโพธิ์ มีพุทธลักษณะเป็นเหรียญหล่อห่วงขวางในตัว คล้ายใบโพธิ์ตั้งขึ้น มีพระพุทธประทับนั่งขัดสมาธิเรียงรายอย่างสวยงาม ด้านบนมีกิ่งโพธิ์ สวยงาม คมชัดลึก ด้านหลังประทับพระยันต์พระเจ้าสิบหกพระองค์ จมลึกลงไปพื้นผิวของเหรียญ

พระพิมพ์นี้ ก็มีการสร้างโดย (พระอุปัชฌาย์เปลี่ยน) ด้วยเช่นกัน พิมพ์แรกหล่อโดยการใช้หุ่นเดิมองค์พระด้านหน้าจึงคมชัดลึก ส่วนด้านหลังได้ให้ช่างเปลี่ยนยันต์เป็นยันต์นูนจากผิวองค์พระด้านบนเป็นตัวนะหางขดเป็นอุนาโลมสวยงาม ส่วนห่วงนั้นบิดตามขอบเหรียญ จ้างช่างบ้านท่ากระยาง จังหวัดลพบุรี หล่อ สามารถแยกแยะออกได้อย่างชัดเจน พิมพ์ที่สอง เป็นการลอกพิมพ์ ได้ให้ช่างเพิ่มขอบเป็นเกลียวเชือก พุทธลักษณะเหมือนกับพิมพ์แรกทุกประการ แต่เพิ่ม ขอบเกลียวเชือก ห่วงขวางตามหน้าองค์พระ ด้านหลัง มีทั้งยันต์นูน และ ยันต์จม (ยันต์จมนี้ลักษณะไม่ชัดเจนอักขระเล็กไม่งดงาม)

พระพิมพ์พระเจ้า ๑๖ พระองค์นี้ ไม่ว่าจะรุ่นใดตามที่กล่าวไปแล้วนั้น แม้ให้ (พระอุปัชฌาย์เปลี่ยน) “พระครูสุวรรณคีรีพิทักษ์” ดำเนินการสร้าง โดยจ้างช่างบ้านท่ากระยาง ลพบุรี เป็นผู้หล่อ ทุกรุ่น หลวงพ่อผุยท่านก็ได้ปลุกเสกอย่างเข้มขลัง และ มีประสบการณ์แทบทุกรุ่น เป็นที่กล่าวขาน ของคนเก่าแก่ชาวตำบลบ้านกลับ และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นอันมาก

พระหล่อโบราณของหลวงพ่อผุย มีทั้งหมด ๔ พิมพ์ แบ่งเป็น พระเจ้า๑๖ พระองค์ยุคแรก ๑ พิมพ์ , พระเจ้าห้าพระองค์อีก ๑ พิมพ์ และ พระที่สร้างในปี พ.ศ.๒๔๘๗ อีก ๒ พิมพ์

เนื่องจากปัจจุบันมีคนนำพระหล่อโบราณของหลวงพ่อมาเล่นเป็น หลวงพ่อพิธ วัดฆะมังบ้าง หลวงพ่อเจ็ก วัดเขาแดง บ้าง ที่ร้ายไปกว่านั้น พระพิมพ์พระเจ้าห้าพระองค์ของหลวงพ่อนั้นไปเล่นเป็นของ (หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน) กันเลยทีเดียว ชาวบ้านบ้านกลับและระแวกใกล้เคียงนั้นจึงหวงแหนวัตถุมงคลของหลวงพ่อกันอย่างมาก

เหรียญหลวงพ่อพระครูสมุห์ผุย วัดสุวรรณคีรี (บ้านกลับเก่า) จ.สระบุรี ปี๒๕๐๖
เหรียญหลวงพ่อพระครูสมุห์ผุย วัดสุวรรณคีรี (บ้านกลับเก่า) จ.สระบุรี ปี๒๕๐๖

เหรียญปั๊มรุ่นแรก หลวงพ่อผุย สร้างในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ในคราวเลื่อนสมณะศักดิ์ เป็น “พระครูสมุห์” ในฐานานุกรมของ “พระธรรมรัตนากร” วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี ครั้งเป็น (พระเทพวิมลโมลี) ลักษณะเหรียญ เป็นเหรียญอาร์มปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อครึ่งองค์ เนื้ออัลปาก้าชุบนิเกิล มีอักษรไทยเขียนด้านล่างว่า “หลวงพ่อพระครูสมุห์ผุย” ด้านหลังเป็นยันต์ พระเจ้าห้าพระองค์ ด้านล่างยันต์ เขียนว่า “วัดสุวรรณคีรี” ในวงเล็บ “บ้านกลับเก่า” (ชื่อวัดสุวรรณคีรีนี้ หลวงพ่อตั้งขึ้นใหม่เดิมเรียกกันว่าวัดบ้านกลับ) เหรียญนี้จากคำบอกเล่าที่ตรงกัน ว่าปั๊มที่ กทม. มี (นายดาบเจรลุ คุรสะอิ้ง รอดสุวรรณโณศาย์สาย) กรุงเทพมหานคร เป็นผู้สร้างถวาย ครั้งเลื่อนสมณะศักดิ์ เป็น “พระครูสมุห์” ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ จำนวนการสร้าง ๒,๐๐๐ เหรียญ นอกจากเหรียญแล้ว ยังมีพระสมเด็จเนื้อผงหลังมะอะอุ และ รูปหลังตะกรุดสามกษัตริย์ ปิดทับด้วยภาพนางกวัก ด้านหน้าเขียนอักษรผิดว่า “หลวงพ่อปุ๋ย” จำนวน ๔๐๐ องค์ เพื่อแจกให้เด็ก และ ผู้หญิง ปัจจุบันหาชมยากมาก

เหรียญปั๊มรุ่น ๒ สร้างในปี พ.ศ.๒๕๑๘ หลวงพ่อท่านมีดำริ จะสร้างเมรุเผาศพ ถังน้ำคอนกรีตขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ พระภิกษุ สามเณร และ ชาวบ้าน ได้ไว้ใช้ดื่ม ด้วยความเห็นดีเห็นงามจากคณกรรมการวัด คณะศิษย์ และชาวตำบลบ้านกลับ คณะศิษย์จึงจัดสร้างเหรียญรุ่น๒ ขึ้นมาลักษณะเหรียญเป็นทรงใบเสมา มีรูปหลวงพ่อนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ด้านล่างองค์หลวงพ่อ เขียนว่า “พระครูสุวรรณวิหารกิจ” อายุ ๘๐ ปี พรรษาที่ ๕๘ ระบุ พ.ศ.๒๕๑๘ (ซึ่งระบุ อายุหลวงพ่อ และ พรรษาผิด โดยความเข้าใจผิด และรีบร้อน แท้จริงต้องระบุอายุเป็น ๗๙ ปี ๕๗ พรรษา) แต่ทว่าการสร้างนั้นไม่เป็นไปตามประสงค์ คือ เมื่อปั๊มเหรียญไปได้ ๓๐๐ เหรียญเศษ แม่พิมพ์เกิดรอยร้าวและแตกทั้งหน้าหลัง ด้วยความแข็งของโลหะอัลปาก้า จึงมีมติจากคณกรรมการวัด ให้ช่างแกะแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ ซึ่งก็ล่วงเข้าไป ปี พ.ศ.๒๕๑๙ จึงได้เป็นรูปเหมือนปั๊ม นั่งขัดสมมาธิบนฐาน ด้านหน้าฐาน เขียนระบุว่า “พระครูสุวรรณวิหารกิจ” ด้านล่างฐานระบุว่า “อายุ ๗๙ ปี ๕๗ พรรษา” ปั๊มด้วยทองแดงรมมันปู จำนวน ทั้งสิ้น ๒,๐๐๐ องค์

รูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อ ผุย วัดบ้านกลับ
รูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อ ผุย วัดบ้านกลับ

รูปหล่อหลวงพ่อผุย หลวงพ่อได้ทำการปลุกเสกในพระอุโบสถหลังเก่าซึ่งเป็นมหาอุตต์ ปัจจุบันได้ทำการรื้อถอนสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ทับไปแล้ว และทำการปลุกเสกหมู่อีก โดยมี พระคณาจารย์ มาร่วมปลุกเสกดังนี้ หลวงปู่คำมี พุทธสาโร วัดถ้ำคูหาสวรรค์, หลวงพ่อพริ้ง มณีธาโน วัดโบสถ์โก่งธนู, หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม, หลวงพ่อแพ เขมังกโร วัดพิกุลทอง, หลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ และยังมีคณาจารย์อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ถือว่าเป็นพระของหลวงพ่อ สร้างขึ้นเพื่อสร้างถาวรวัตถุเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

เหรียญปั๊มรุ่น๓ เป็นเหรียญรูปไข่ เนื้อทองแดงรมมันปู รูปหลวงพ่อท่านนั่งสมาธิเต็มองค์ ศิษย์สายกรุงเทพฯ ได้จัดสร้างขึ้น เพื่อแจกในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อผุย ในวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๒ ปลุกเสกโดย หลวงพ่อพริ้ง วัดโบสถ์โก่งธนู, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง, หลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง สามยอดพระเกจิในยุคนั้น