วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

หลวงพ่อน้อย คันธโชโต วัดศรีษะทอง อ.นครชัยศรีจ.นครปฐม

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อน้อย คันธโชโต

วัดศรีษะทอง
อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

หลวงพ่อน้อย คันธโชโต วัดศรีษะทอง ต.ห้วยตะโก อ.นครชัยศรีจ.นครปฐม
หลวงพ่อน้อย คันธโชโต วัดศรีษะทอง ต.ห้วยตะโก อ.นครชัยศรีจ.นครปฐม

หลวงพ่อน้อย คันธโชโต วัดศรีษะทอง พระเกจิดังเจ้าตำรับพระราหูอมจันทร์เครื่องรางที่ให้คุณในด้านของโชคลาภ, การพ้นจากเคราะห์ต่างๆ และเสริมดวงชะตา

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง นามเดิมชื่อ “น้อย นาวารัตน์” เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ ตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำ ปีมะโรง ที่บ้านตำบลศรีษะทอง บิดาชื่อ “นายมา” และมารดาชื่อ “นางมี นาวารัตน์” มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง สืบเชื้อสายชาวเวียงจันทน์ ตั้งแต่ครั้งที่เข้ามาอยู่บริเวณบ้านหัวทอง โดยบิดาของหลวงพ่อน้อย เป็นญาติกับหลวงพ่อไตร เจ้าอาวาสรูปแรกวัดศรีษะทอง และได้สืบทอดวิชาการแพทย์แผนโบราณรวมถึงวิชาอาคมทางคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ตามตำราของ หลวงพ่อไตร ทำให้เป็นที่เคารพของชาวบ้าน โดยเรียกท่านว่า “พ่อหมอ

เมื่อหลวงพ่อน้อยเติบโตขึ้น บิดาจึงได้สอนให้ท่านเขียนอ่านเล่าเรียนหนังสือและได้สอนวิชาอาคม รวมถึงศึกษาตำราการรักษาโรคภัย

ด้วยความที่ หลวงพ่อน้อย มีความสนใจ บิดาจึงได้ถ่ายทอดให้อย่างหมดสิ้น แถมพาไปเรียนเพิ่มเติมกับ พระอาจารย์ลี เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ของวัดศีรษะทอง ในสมัยนั้น นับว่าท่านมีความรู้ในหลากหลายวิชา ตั้งแต่ก่อนบวช

◉ อุปสมบท
ครั้งเมื่อ หลวงพ่อน้อย มีอายุได้ ๒๑ ปี ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ในบวรพระพุทธศาสนา ด้วยความศรัทธาอันแน่วแน่ที่มีอยู่เป็นนิสัย โดยมี พระอธิการยิ้ว เจ้าอาวาสวัดแค เป็นพระอุปัชฌาจารย์, พระอธิการเกิด วัดงิ้วราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระภิกษุมุน วัดกลางคูเวียง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “คนฺธโชโต

หลังอุปสมบทได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดแคอ ยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศรีษะทอง ในขณะนั้น หลวงพ่อลี เป็นเจ้าอาวาสอยู่ และท่านก็ได้ศึกษาวิชาการต่างๆ ที่ได้สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่ หลวงพ่อไตร เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีษะทอง เช่น วิชาการสร้างวัวธนูและราหูอมจันทร์ เป็นต้น

เมื่อมีพรรษาที่สูงขึ้น พอดีกับพระอธิการช้อยซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ได้ลาสิกขาไป บรรดาญาติโยมอุบาสก-อุบาสิกา จึงได้นิมนต์หลวงพ่อน้อย ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ปฏิบัติตนตามสมควร ให้สมกับเจตนาของญาติโยมและพัฒนาวัดจนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก

ในการรับตำแหน่งเจ้าอาวาสของหลวงพ่อน้อย ไม่มีการบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน คาดว่าหลังปี ๒๔๖๐ เป็นต้นมา เมื่อหลวงพ่อน้อยต้องดูแลบูรณะวัดศีรษะทอง ทำให้ท่านต้องสร้าง เครื่องรางของขลัง แจกศิษย์และชาวบ้าน จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านสืบต่อๆ มา จนเป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียงเลื่องลือตั้งแต่หลวงพ่ออายุยังน้อย

อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับนิมนต์ร่วมปลุกเสกพระเครื่อง พิธีใหญ่ของ จ.นครปฐม คือ พิธีพุทธาภิเษก พระคันธารราฐ วัดพระปฐมเจดีย์ พ.ศ.๒๔๗๖ ซึ่งท่านมีอายุน้อยที่สุดในงานนั้น

ตลอดเวลาที่ หลวงพ่อน้อย เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ทั้งทางรักษาโรคภัย สะเดาะเคราะห์ รดน้ำมนต์ ให้ผู้ที่ดวงไม่ดี ดูฤกษ์ยามให้ชาวบ้านที่มาขอให้ท่านแนะนำในการเริ่มต้นทำกิจการงานต่างๆ มีชาวบ้านมาร่วมทำบุญกับหลวงพ่อมากมาย จนทำให้ วัดศีรษะทอง และวัดใกล้เคียงที่ท่านดูแล มีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น

ผลงานทั้งหมดนี้ทำให้ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ทางคณะสงฆ์และมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลนครชัยศรี ปกครองวัดจนถึง พ.ศ.๒๔๘๘

◉ มรณภาพ
จากการที่หลวงพ่อทำงานมาอย่างหนักในการก่อสร้างวัด ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง สุดท้าย หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๘ สิริรวมอายุ ๕๓ ปี พรรษา ๓๒

รูปหล่อบูชา หลวงพ่อน้อย คันธโชโต วัดศรีษะทอง ต.ห้วยตะโก อ.นครชัยศรีจ.นครปฐม
รูปหล่อบูชา หลวงพ่อน้อย คันธโชโต วัดศรีษะทอง ต.ห้วยตะโก อ.นครชัยศรีจ.นครปฐม

◉ ประวัติวัดศีรษะทอง
วัดศีรษะทอง” เดิมชื่อ “วัดหัวทอง” สร้างขึ้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตามพระราชกิจจานุเบกษา ประกาศตั้งวัดเมื่อ ปีพุทธศักราช ๒๓๕๘ ขอวิสุงคามสีมาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๓

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ ๑ นั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกต จากเวียงจันทน์มาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร และได้อพยพชาวเวียงจันทน์มาตั้งหลักแหล่งอยู่หลายที่ด้วยกัน เช่น ริมแม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำนครชัยศรี) ฝั่งตะวันตก ที่วัดกลางคูเวียง ที่คลองบ้านกล้วย อีกกลุ่มหนึ่งมาปักหลักเลยแม่น้ำท่าจีนออกไป บริเวณตำบลห้วยตะโกปัจจุบัน และได้ตั้งเป็น หมู่บ้านขึ้นเรียกว่าหมู่บ้านหัวทอง เนื่องจากขุดพบเศียรพระเป็นทอง ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี เมื่ออยู่เป็นชุมชนใหญ่จึงได้คิดสร้างวัดขึ้น

กาลต่อมาทางการได้ทำการขุดคลองจากแม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำนครชัยศรี) ที่ตลาดต้นสน เพื่อเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ประชาชนจึงได้ย้ายมาอยู่ริมคลองเจดีย์บูชาและได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลศีราะทอง ในการนี้ได้ย้ายวัดมาด้วยเพื่อสะดวกต่อการสัญจร และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดศีรษะทอง” จนถึงปัจจุบัน

วัดศีรษะทอง นับว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีทั้งโบราณวัตถุโบราณสถาน เป็นวัดที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องรายของดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และสมุนไพรมาตั้งแต่อดีต

◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง ท่านได้สร้างพระเครื่องและเครื่องรางของขลังไว้หลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก คือ “พระราหูอมจันทร์” และ “พระโคสุลาภ” หรือวัวธนู โดยเฉพาะ พระราหูอมจันทร์ ซึ่งถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในชุดเบญจเครื่องราง และให้การยอมรับมาช้านาน พระราหูอมจันทร์ของวัดศรีษะทอง มีลักษณะและวิธีการสืบมาจากหลวงพ่อไตร แต่ได้มีการสร้างมากที่สุดในสมัยหลวงพ่อน้อย เป็นการสร้างตามตำรับใบลาน จานอักขระขอมลาว ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากประเทศลาวโดยตรง

ความเป็นมาของ ราหูอมจันทร์ ตามตำนานทางไสยศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่า พระราหูเป็นยักษ์ดุร้าย น่ากลัว ผิวดำเป็นเงาวาวเหมือนนิล มีหางเป็นนาคราชและมีพญาครุฑเป็นพาหนะรับใช้ ประจำสถิตพำนักอยู่ในอากาศแวดล้อมด้วยม่านสีดำ แต่เหตุที่ทำให้พระราหูมีเพียงองค์ครึ่งเดียวนั้น เนื่องจากพระราหู ต้องจักรของพระนารายณ์ตัดขาด เพราะว่าพระราหูแอบดื่มน้ำอมฤต ในขณะที่พระราหูดื่มน้ำอมฤตอยู่นั้น พระอาทิตย์และพระจันทร์ได้มาเห็นเข้า นำความไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงกริ้ว เป็นเหตุให้ขว้างจักรไปต้องกายพระราหูขาดครึ่ง แต่พระราหูไม่ตาย เนื่องจากได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไป พระราหูจึงมีความแค้นเคืองต่อพระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่คอยเสนอหน้าไปฟ้องพระนารายณ์ จึงคอยเฝ้าจับพระอาทิตย์และพระจันทร์กินอยู่เสมอมา

เครื่องรางของขลัง หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง การสร้างพระราหูตามสูตรตำรับของลาวของโบราณ ใช้เพียงกะลาตาเดียว มาแกะเป็นรูปพระราหูอมจันทร์เพียงอย่างเดียว หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง เป็นพระเกจิดังเจ้าตำรับพระราหูอมจันทร์ ที่ใครหลายๆ คนต้องการ

กะลาตาเดียวแกะราหู หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง ด้านหลังลงอักขระเหล็กจารครบสูตร จ.นครปฐม

หลวงพ่อน้อย จะให้ลูกศิษย์หา กะลามะพร้าวตาเดียว (โดยปกติกะลามะพร้าวจะมีสองตาหนึ่งปาก) แล้วนำมาแกะเป็นรูปพระราหูอมพระอาทิตย์ และพระราหูอมจันทร์ ซึ่งวิธีการสร้างนั้นก็มีขั้นตอนที่ซับซ้อนยิ่ง คือนอกจากต้องใช้กะลาตาเดียวแล้ว ยังต้องลงในฤกษ์สุริยคราสและจันทรคราส แถมต้องจัดแต่งเครื่องบวงสรวงครูบาอาจารย์ และต้องชำระกายให้สะอาดอีกด้วย จากนั้นจึงค่อยลงยันต์ “สุริยประภา” และยันต์ “จันทรประภา” ฤกษ์ในการลงนั้น หากเป็นยันต์สุริยประภาต้องลงในเวลาเกิดสุริยคราส และยันต์จันทรประภาต้องลงเวลาเกิดจันทรคราสเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ปีหนึ่งๆ เกิดขึ้นเพียงครั้งหรือสองครั้ง และบางปีก็ไม่เกิดเลย ยิ่งสุริยคราสด้วยแล้วหลายปีจึงจะเกิดขึ้นสักครั้ง

ตำนานยันต์สุริยประภา และยันต์จันทรประภา ผู้อ่านหลายคนคงมีความสงสัยว่ายันต์สุริยประภา, จันทรประภา คืออะไร ทำไมหลวงพ่อน้อยต้องลงยันต์นี้ ก็ขอย้อนไปในตำนานสักหน่อย เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตกาลมีพระฤาษีผู้ทรงฌาณสมาบัติ สถิตอยู่ที่เขายุคนธร ได้พิจารณาด้วยอำนาจทิพย์จักษุญาณแล้วเกิดปริวิตกว่า ในภายภาคหน้ามนุษย์ต้องเผชิญด้วยทุกข์เข็ญนานัปประการ พระฤาษีตนหนึ่งจึงได้สร้างพระยันต์วิเศษชื่อว่า “สุริยประภา” ส่วนฤาษีอีกตนก็ได้สร้างพระยันต์ “จันทรประภา” อันเป็นมหายันต์อันประเสริฐเพื่อเป็นที่พึ่งแก่เหล่ามนุษย์ ใครบูชาไว้จะบริบูรณ์พูนทรัพย์ ขจัดภยันตราย ใช้คู่กันเค้าว่าดีนักแล

กะลาตาเดียวแกะราหู หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง ด้านหลังลงอักขระเหล็กจารครบสูตร จ.นครปฐม
กะลาตาเดียวแกะราหู หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง ด้านหลังลงอักขระเหล็กจารครบสูตร จ.นครปฐม

ราหูกะลาแกะหลวงพ่อน้อย นั้นมีหลายฝีมือ เพราะลูกศิษย์ของท่านทั้งเพศบรรพชิตและฆราวาสต่างมาช่วยกันแกะและลงคาถา แต่จะเว้นเฉพาะตรงกลางให้หลวงพ่อน้อยลงคาถาหัวใจ หลักการพิจารณาพระราหูของหลวงพ่อน้อย ให้พิจารณาที่ความเก่าของเนื้อกะลา หมายถึง ถ้าเป็นกะลาที่ไม่ได้ผ่านการใช้มาเลย ต้องมีความแห้งและเก่าแลดูเป็นธรรมชาติของเนื้อกะลา แต่ถ้าเป็นกะลาที่ผ่านการใช้งานมาเนื้อกะลาจะยุ่ยและเป็นขุย นอกจากนี้ยังต้องจดจำลายมือและการลงจารด้านหลังให้แม่น โดยเฉพาะลายมือตรงกลางซึ่งเป็นลายมือของหลวงพ่อ ถ้าไม่มีประสบการณ์และไม่ชำนาญในการดู มักจะเล่นผิด ว่ากันว่าพุทธคุณของราหูหลวงพ่อน้อยนั้นมีมากหลากหลายนัก ทั้งในด้านเมตตามหานิยม เสริมลาภ เสริมบารมี และช่วยในเรื่องบรรเทาอาการเจ็บป่วยอีกด้วย ทั้งนี้ผู้บูชาจะต้องตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม และคุณพระรัตนตรัยจึงจะดี

◉ คาถาสุริยะบัพภา การบูชากลางวัน
กุสเสโตมะมะ กุสเสโตโต ลาลามะมะ โตลาโม โทลาโมมะมะ โทลาโมมะมะ โทลาโมตัง เหกุติมะมะ เหกุติฯ

◉ คาถาจันทรบัพภา การบูชากลางคืน
ยัดถะตังมะมะ ตังถะยะ ตะวะตัง มะมะตัง วะติตัง เสกามะมะ กาเสกัง กาติยังมะมะ ยะติกาฯ