วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

หลวงพ่อนุ่ม ธัมมาราโม วัดนางในธัมมิการาม อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อนุ่ม ธัมมาราโม

วัดนางในธัมมิการาม
อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

หลวงพ่อนุ่ม ธมฺมาราโม วัดนางในธัมมิการาม ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง
หลวงพ่อนุ่ม ธมฺมาราโม วัดนางในธัมมิการาม ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

หลวงพ่อนุ่ม ธัมมาราโม พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของอ่างทอง แห่งวัดนางในธัมมิการาม ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

◉ ชาติภูมิ
พระอุปัชฌาย์นุ่ม หรือ หลวงพ่อนุ่ม ธัมมาราโม เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๖ เกิดที่บ้านสามจุ่น ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี บิดาท่านชื่อ “นายสอน” และมารดาท่านชื่อ “นางแจ่ม ศรแก้วดารา

ตอนที่อายุได้ ๑๐ ขวบ ได้ศึกษาภาษาไทยและภาษาขอมกับพระอธิการพ่วง ผู้เป็นพระพี่ชายที่วัดสามจุ่นซึ่งอยู่ใกล้บ้านท่านนั่นเอง

◉ อุปสมบท
ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีก็ได้อุปสมบทที่ “วัดปลายนา” เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๖ โดยมี พระครูธรรมสารรักษา (อ้น) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดดี วัดปู่เจ้า เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการช้าง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธมฺมาราโม

หลังอุปสมบทได้อยู่จำพรรษาที่วัด สามจุ่น ศึกษาพระปริยัติธรรมจากพระอธิการพ่วง ส่วนด้านวิทยาคมต่างๆ รวมถึงการฝึกสมาธิ การฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านเดินทางไปร่ำเรียน กับหลวงพ่ออ้น วัดดอนบุปผาราม จ.สุพรรณบุรี โดยได้เป็นศิษย์ร่วมสำนักกับหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่, หลวงพ่อสม แห่งวัดดอนบุปผาราม และจากฆราวาสอีกท่านหนึ่งชื่อว่า อาจารย์เชตุ

กระทั่งเข้าพรรษาที่พรรษาที่ ๘ ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหลวง ต.ศาลเจ้าโรงทอง เพื่อสะดวกในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ไปช่วยก่อสร้างอุโบสถวัด สามจุ่น

ความเลื่อมใส ศรัทธา เป็นที่เคารพกับประชาชนทั่วไป คลื่นกระแสกำลังศรัทธาสละทรัพย์ ปัจจัย ช่วยให้การก่อสร้างโบสถ์สำเร็จไปได้ด้วยดีเป็นที่เรียบร้อย ท่านก็ได้กลับไปจำพรรษาที่วัดสามจุ่นตามเดิม

กระทั่งปี พ.ศ.๒๔๕๙ วัดหลวงว่างเจ้าอาวาส ชาวบ้านในชุมชนวัดหลวงจึงได้พร้อมใจอาราธนานิมนต์ให้ไปเป็นเจ้าอาวาส ขณะมีพรรษาที่ ๑๔ ช่วงที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ จนพุทธศาสนิกชน ส่วนใหญ่ของชาวอำเภอวิเศษชัยชาญ นำโดยนายเผ่า ชัชวาลยางกูร คหบดี และเป็นเจ้าของตลาดสดในอำเภอวิเศษชัยชาญต่างเห็นพ้องต้องกัน ควรที่จะอาราธนาท่านมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนางในธัมมิการาม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชุมชนใหญ่ และเป็นศูนย์กลางอำเภออย่างแท้จริง อันจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางมากราบนมัสการ

๑๐ ปี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนางในธัมมิการาม สมัยนั้นวัดนางในฯชำรุดทรุดโทรมมาก ท่านได้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์จนเป็นที่พร้อมด้วยเสนาสนะอันสวยงาม เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกปัจจุบัน

ผลงานต่างๆ ของหลวงพ่อมีมากมายหลายสิ่งหลายอย่าง ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม ทั้งในวัดนางในฯ และนอกวัด หลวงพ่อนุ่ม ปกครองวัดนางในฯ เป็นเวลา ๓๐ ปี

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลศาลเจ้าโรงทอง กระทั่งปี พ.ศ.๒๔๗๗ ท่านได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

ในสมัยนั้นวัดชำรุดทรุดโทรมมาก จึงเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัด จนกระทั่งเป็นวัดที่พร้อมด้วยเสนาสนะอันสวยงาม เจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้

ผลงานต่างๆ มีมากมายหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งในวัดนางในและนอกวัด

สร้างโรงเรียนประชาบาล วัดนางใน สร้างถนนรอบวัด สร้างสะพานข้ามลำน้ำสามจุ่นเชื่อมระหว่างจังหวัดอ่างทองกับสุพรรณบุรี สร้างโรงเรียนประชาบาลบ้านสามหน่อ ที่สุพรรณบุรี

หลวงพ่อนุ่ม ธมฺมาราโม วัดนางในธัมมิการาม ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง
หลวงพ่อนุ่ม ธมฺมาราโม วัดนางในธัมมิการาม ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

◉ มรณภาพ
จนกระทั่งวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๗ หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน ท่านได้มรณภาพลง สิริอายุรวมได้ ๗๒ ปี พรรษาที่ ๕๒

“น้ำปานะ” ที่หลวงพ่อดื่มในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๙-๒๔๙๗ เครื่องดื่มน้ำสีดำ ที่ท่านเรียกว่า “โคโล–โคโล่” ที่จริงก็คือ “โคคา–โคล่า” หรือ “โค้ก” ในปัจจุบัน นับแต่นั้นมาญาติโยมที่มีความนับถือและศรัทธาในหลวงพ่อนุ่ม เมื่อขอพรได้ตามที่ประสงค์ ก็จะนำมาถวายให้กับหลวงพ่อ

รูปหล่อบูชา หลวงพ่อนุ่ม ธมฺมาราโม วัดนางในธัมมิการาม ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง
รูปหล่อบูชา หลวงพ่อนุ่ม ธมฺมาราโม วัดนางในธัมมิการาม ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

และต่อมาเมื่อมรณภาพลงมีการสร้างรูปหล่อหลวงพ่อนุ่ม ที่ ภายในศาลาการเปรียญ วัดนางในฯ โดยเมื่อได้บนบานอธิษฐานเรื่องต่างๆ และสำเร็จ จะนำน้ำอัดลมมาแก้บน ทำให้เมื่อไปกราบไหว้จะเห็นว่ามีน้ำอัดลมตั้งไว้จำนวนมาก โดยทางวัดได้นำน้ำอัดลมไปร่วมกิจกรรมสงฆ์ และแจกจ่ายเด็กๆ ตามโรงเรียนและตามเทศกาลต่างๆ เป็นประจำ

และในงานประจำปีของวัดนางในฯ ทุกปีจะจัดงานตรงกับเทศกาลตรุษจีน เป็นเทศกาลที่ใหญ่โต วัดจะเปิดโอกาสให้ประชาชนปิดทองรูปหล่อหลวงพ่อนุ่ม แน่นอนว่ามีประชาชนทั่วไป และชาวอ่างทองไปร่วมงานนับหมื่นคนแน่นขนัดทุกครั้งไป

◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อนุ่ม ธมฺมาราโม แห่งวัดนางในธัมมิการาม จังหวัดอ่างทอง หนึ่งในพระคณาจารย์ชื่อดังของจังหวัดอ่างทองที่สร้างวัตถุมงคลประเภท “เบี้ยแก้” เครื่องรางของขลังที่เกจิอาจารย์ยุคเก่าที่เชี่ยวชาญวิชาอาคมมักนิยมสร้างให้ศิษย์เอาไว้บูชาติดตัว นอกจากนี้ ท่านยังได้สร้าง วัตถุมงคลไว้ให้แก่ศิษย์อีกหลายอย่าง เช่น เหรียญปั้ม เหรียญหล่อ พระเนื้อผง พระเนื้อดินเผา

วัตถุมงคลที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุด คือ เหรียญรุ่นแรก สร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๗ เซียนพระขนานว่า เหรียญยันต์ใหญ่

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อนุ่ม ธัมมาราโม วัดนางในธัมมิการาม อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อนุ่ม ธัมมาราโม วัดนางในธัมมิการาม อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง


ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหู จัดสร้างจำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญ ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อนุ่มครึ่งองค์หันหน้าตรง ขอบเหรียญมีจุดไข่ปลาขนาดเล็กล้อมรอบ ด้านบนรูปเหมือน เขียนคำว่า “พระอุปัชฌาย์ (นุ่ม)” ด้านหลังเหรียญ ไม่มีขอบ ตรงกลางเป็นรูปยันต์ ปัจจุบัน เหรียญหลวงพ่อนุ่ม พิมพ์ยันต์ใหญ่ หายากมาก

สำหรับ เบี้ยแก้ ที่เป็นเครื่องรางยอดนิยมของ หลวงพ่อนุ่ม นั้น มีพุทธคุณ ป้องกันคุณไสย ยาสั่ง แก้กลับเหตุร้ายให้กลายเป็นดี คงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย เหมาะที่จะใช้พกพาติดกาย ไม่เว้นแม้แต่สถานที่อโคจร

วัดนางในธัมมิการาม อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง
วัดนางในธัมมิการาม อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

◉ ประวัติวัดนางในธัมมิการาม
วัดนางในธัมมิการาม อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองอ่างทอง ตามประวัติสร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๓ ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดนางใน” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๓ โดยการบูรณะพัฒนาวัดได้เริ่มจริงจังขึ้นมากในสมัยของพระอุปัชฌาย์นุ่มเป็นเจ้าอาวาสนับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๘ เป็นต้นมา เกี่ยวกับการศึกษาทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๕

นางใน หมายถึงสตรีซึ่งอยู่ในราชสำนักฝ่ายใน เป็นเขตพื้นที่พระราชฐานเฉพาะสำหรับสตรี อันเป็นที่ประทับและเป็นที่อยู่ของมเหสี พระสนม เจ้าจอม เจ้าจอมมารดา พระราชธิดา ข้าบาทบริจาริกา ข้าราชการสำนักฝ่ายใน เขตนี้ถือว่าเป็นพื้นที่หวงห้ามบุรุษจะย่างกรายเข้าไปมิได้ มีเพียงพระมหากษัตริย์และพระราชโอรสที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีโสกันต์ (อายุยังไม่เกิน ๑๓ ปี ) เท่านั้น

นางในทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบงานต่างๆกัน เช่น พนักงานพระภูษา พนักงานเครื่องเสวย พนักงานพระสุธารส พนักงานเฝ้าหอพระมณเฑียร พนักงานโขลนทวาร ตลอดจนพนักงานมโหรี ขับร้องฟ้อนรำ ฯลฯ

พนักงานส่วนใหญ่มาจากลูกสาวหลานสาวชาวผู้ดีมีตระกูล ซึ่งบิดามารดานำมาถวายตัวตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อการศึกษาอบรมสมบัติต่างๆ

ที่จริงแล้วชาวแขวงเมืองวิเศษไชยชาญก็ได้เป็นนางในตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เพราะในสมัยพระเจ้าบรมโกศ พระมเหสีทั้ง สองของพระองค์ คือกรมหลวงอภัยนุชิต และกรมหลวงพิพิธมนตรี ทรงประทับที่ตำหนักคำหยาดมาก่อน เมื่อพระเจ้าบรมโกศ เสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ทรงย้ายไปประทับในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา มีพนักงานนางในติดตามไปรับใช้จำนวนมาก

จนลุล่วงถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงมีสตรีชาววิเศษไชยชาญเป็นพนักงานราชสำนักฝ่ายในอยู่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงโปรดการสร้างวัดและการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระองค์ทรงพระประชวนในเดือน ๓ ปีจอ พุทธศักราช ๒๓๙๓ ทรงมีพระราชดำรัสว่า “เงินในท้องพระคลังที่เหลืออยู่จากการแผ่นดินมีถึง ๔ หมื่นชั่ง ขอสักหมื่นหนึ่งเถิด ให้เป็นผู้เป็นเจ้าแผ่นดินต่อไปทำนุบำรุงวัดที่ชำรุด และวัดที่ยังสร้างค้างอยู่นั้นให้สำเร็จ

แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเบิกเงินจากท้องพระคลังทำบุญถวาย ถวายปัจจัยแก่พระราชาคณะ พระสงฆ์เปรียญ สามเณรเปรียญ พระครูฐานาอันดับ รวม ๗,๓๕๙ รูป สิ้นพระราชทรัพย์ ๑,๘๙๓ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

ต่อมาอีกเดือนเศษ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต พนักงานนางในที่มีนิวาสสถานอยู่วิเศษไชยชาญก็ประสงค์จะสร้างกุศลตามพระราชดำริจึงรวบรวมทุนทรัพย์ปัจจัยมาสร้างวัดแห่งหนึ่งในหย่อมย่านบ้านเดิมของตน เพื่อเป็นการอุทิศกุศลถวายพระราชกุศล เรียกชื่อกันว่า “วัดนางใน” ตั้งแต่นั้นมา การสร้างวัดขึ้นมาใหม่ทำให้ชาววิเศษไชยชาญที่อพยพย้ายถิ่นฐานตั้งแต่ครั้งเสียกรุงได้ย้ายกลับมาอยู่ยังภูมิลำเนาเดิม เมื่อเข้ามาอยู่มากขึ้นก็ช่วยกันทำนุบำรุงวัดให้เจริญยิ่งขึ้นตามลำดับ

ในขณะนั้น วิเศษไชยชาญยังเป็นอำเภอไผ่จำศีล จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเมืองอ่างทอง ได้พระราชทานเปลี่ยนชื่อ อำเภอไผ่จำศีล ให้เป็นอำเภอวิเศษไชยชาญ ตามชื่อเมืองเดิม ชาวชุมชนวัดนางในพร้อมใจกันสร้างอุโบสถใหม่ขึ้น กว้าง ๖ เมตรยาว ๑๖ เมตรต่อมาก่อได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆให้สมบูรณ์

วัดนางในธัมมิการามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. ๒๔๕๓ (ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ) การพัฒนาบูรณะวัดได้เริ่มอย่างจริงจังและเจริญก้าวหน้ามากในสมัยของ พระอุปัชฌาย์นุ่ม ธมมาราโม (หลวงพ่อนุ่ม) เป็นอดีตเจ้าอาวาส (พ.ศ.๒๔๖๘ – ๒๔๙๗ ) สถานที่ตั้ง เลขที่ ๙๗ / ๗ หมู่ที่ ๗ ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระโสภณปริยัติเมธี (วีระ วีรญาโณ ป.ธ. ๘ ) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอโพธิ์ทอง

ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จเป็นองค์ประธานถวายผ้าพระกฐิน และเททองหล่อพระประธานเพื่อประดิษฐานในอาคารบำเพ็ญกุศล ณ วัดนางในธัมมิการาม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก thairath.co.th, akekarach.news