ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อจอน สิริจันโท
วัดดอนรวบ
อ.เมือง จ.ชุมพร
หลวงพ่อจอน สิริจันโท วัดดอนรวบ พระเกจิอาจารย์ผู้มีความเข้มขลังในวิชาอาคมและพลังจิตสูง แห่งเมืองชุมพร หนึ่งในพระอาจารย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่พระองค์เคารพนับถือเป็นอย่างสูง นอกเหนือจากหลวง ปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ฯลฯ
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อจอน สิริจันโท วัดดอนรวบ นามเดิมชื่อ “จอน เทพทอง” เกิดเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๙๒ ที่บ้าน ท่าจาย ต.ท่าชนะ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี บิดาชื่อ “นายปลอด” และ “นางคง เทพทอง” มีพี่น้องร่วม บิดา มารดา ๓ คน คือ
๑.นางสี
๒.หลวงพ่อจอน สิริจันโท
๓.นายขิน
ในวัยหนุ่มท่านเป็นคนที่มีรูปร่าง พละกำลัง แข็งแรง ภูมิฐาน ผิวเนื้อดำแดง ขรึม สูงประมาณ ๑๗๐ เซนติเมตร รูปร่างสันทัด ไม่อ้วนและไม่ผอม เกินไป สูงโปร่ง ใบหน้ารูปไข่ มีเครา
จบการศึกษา วิชาสามัญ จบประโยคประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดดอนชาย ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ฝ่ายปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมเอก จากวัดดอนชาย ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
◉ บรรพชาอุปสมบท
บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๑๐ ณ วัดดอนชาย เมื่ออยุครบ ๒๑ ปี บริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๓ ณ วัดดอนชาย ตำบลท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี พระครูอาจารย์เทศน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ปณฺฑิโค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการเทพยั่ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยได้รับฉายาว่า “สิริจนฺโท”
หลังอุปสมบท มุ่งมั่นศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ตลอดจนวิทยาคมต่างๆ จนแตกฉานอย่างรวดเร็วและแม่นยำ และสอบได้นักธรรมชั้นเอก
มักถือธุดงค์เป็นนิจเพื่อฝึกจิตวิปัสสนากรรมฐาน ท่านจะธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ครั้งละนานๆ จึงเชื่อกันว่าท่านมีฌานสมาบัติอันแก่กล้า ด้วยการออกธุดงค์ของพระเกจิในสมัยก่อนนั้น ถ้าไม่แน่จริง ไม่มีทางผ่านพ้นเป็นแรมเดือนแรมปี
นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่าท่านน่าจะได้พบเจอและศึกษาวิทยาคมกับพระเกจิอาจารย์หลายๆ รูป ในระหว่างการธุดงควัตร โดยไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัด
จนวันหนึ่งท่านธุดงค์มาปักกลดที่บ้านดอนรวบ ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติจึงนิมนต์ให้มาสร้างวัดดอนรวบ ระหว่างที่มาอยู่ใหม่ๆ ท่านเจอพวกลาวโซ่งลองดี ปล่อยของคุณไสยมา แต่ท่านก็สามารถรับไว้ได้ โดยไม่ตอบโต้ จนทำให้เป็นที่ยอมรับนับถือ มีการบริจาคที่ดิน ช่วยกันสร้างกุฏิ ศาลา เป็นสำนักสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก และเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ จนเป็นวัดดอนรวบ ที่ปรากฏอยู่ ณ ปัจจุบันในที่สุด จึงนับเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดดอนรวบ
หลวงพ่อจอนเป็นพระเกจิที่มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม มีเมตตาธรรมสูง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนทุกชั้นวรรณะ สร้างความเจริญแก่พระศาสนาและท้องถิ่นไว้มากมาย นอกจากนี้ ยังได้สร้างอิทธิปาฏิหาริย์ให้เป็นที่ปรากฏอยู่เสมอ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้านทั้งใกล้ไกล ชื่อเสียงของท่านเป็นที่กล่าวขานจากปากต่อปากจนมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย โดยเฉพาะสาธุชนชาวใต้
ผู้ได้ทราบกิตติศัพท์และเกียรติคุณของท่าน แม้เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ เมื่อครั้งเสด็จเมืองชุมพร ทรงทราบข่าวนี้ ได้ปลอมตัวเป็นชาวบ้าน พร้อมองครักษ์ ๒-๓ คน เสด็จไปหา ก็ได้ทดสอบวิทยาคมกันพอสมควร เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ จึงเคารพศรัทธาในตัวหลวงพ่อจอนเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่เสด็จเมืองชุมพรจะทรงแวะนมัสการทุกครั้ง
ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ มีการจัดทดสอบวิทยาคมและพลังจิตของพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษจากสำนักต่างๆ ทั่วประเทศ ที่บริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม มีพระเกจิเข้าร่วมประมาณ ๑๐๐ รูป งานนี้เรียกได้ว่า พิธีชุมนุมพระเกจิชื่อดังทั่วแดนสยาม ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีสมเด็จพระสังฆราชฯ (เข) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
ผลปรากฏว่า ๑๐ สุดยอดพระเกจิคณาจารย์ ผู้มีความเข้มขลังในวิทยาคมและพลังจิตสูงสุดแห่งสยาม ยุค พ.ศ.๒๔๕๒ ประกอบด้วย หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท, หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง กรุงเทพฯ, หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร, หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จ.นครปฐม, หลวงพ่อทอง วัดวรนาถบรรพต (เขากบ) จ.นครสวรรค์, หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน (วัดบางเหี้ย) จ.สมุทรปราการ, หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี และหลวงพ่อจอน วัดดอนรวบ จ.ชุมพร
หลวงพ่อจอน ได้ครองชีวิตสมณเพศเป็นเวลาถึง ๖๐ พรรษา ตลอดเวลาที่หลวงปู่มีชีวิตอยู่ ท่านไม่ได้สร้างวัตถุมงคลใดๆ เลย เนื่องจากท่านเน้นสอนให้เป็นคนดี และปฏิบัติดีเป็นหลัก จะมีก็แต่เครื่องรางของขลัง แจกชาวบ้านบ้าง ส่วนวัตถุมงคลต่างๆ นั้น ล้วนแล้วแต่สร้างหลังจากที่ท่านมรณภาพแล้วทั้งนั้น โดยลูกศิษย์ของท่าน แต่ก็ได้พระเกจิ ดังๆ ในสมัยนั้น เข้าร่วมปลุกเสกหลายท่าน เช่น หลวงพ่อทอง วัดดอนสะท้อน และ หลวงพ่อบ่าว วัดเชิงกระ เป็นต้น
นอกจากนี้ท่านยังคงเป็นผู้ทรงคุณธรรม จริยธรรม ที่มากด้วยเมตตาธรรม กรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นกันเอง กับทุกบุคคล ทุกเพศทุกวัย ทุกระดับชั้น แม้แต่เด็กเล็กๆ ท่านจึงเป็นปูชนียบุคคล ที่น่าเคารพยิ่ง แม้บางครั้งจะมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นจากบุคคล ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มากระทบกระเทือน เร้าอารมณ์ จิตใจ ยั่วยวนให้เกิดตัณหา แต่ท่านก็ต่อสู้ด้วยขันติ และสันติธรรม อุเบกขา การวางเฉย และพูดแต่คำว่า “ดี” อย่างเดดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง
◉ มรณภาพ
หลวงพ่อจอน วัดดอนรวบ มรณภาพในราวปี พ.ศ.๒๔๘๒ สิริอายุรวมได้ ๙๐ ปี พรรษา ๖๐
◉ วัตถุมงคล
เหรียญหลวงพ่อจอน วัดดอนรวบ จ.ชุมพร รุ่นแรก จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๗ โดยคณะศิษย์ขออนุญาติหลวงพ่อจอนจัดสร้าง จำนวนการจัดสร้างเหรียญหลวงพ่อจอนรุ่นแรกมีการจัดสร้างน้อยมาก
ลักษณะเป็นเหรียญปั้มรูปไข่ หูในตัว ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจอนครึ่งองค์ มีข้อความว่า “พ่อหลวงจอน วัดดอนรวบ จังหวัดชุมพร” ด้านหลังเหรียญตรงกลางเป็นยันต์ใบพัด
◉ หลวงพ่อจอน พระอาจารย์เสด็จกรมหลวงชุมพร
ในจังหวัดชุมพรมีหมู่บ้านพวกลาวโซ่งกลุ่มหนึ่ง อยู่นอกเมืองแถวกลางนาแถบ วัดดอนรวบ มีชื่อเสียงลือลั่นนักว่าในหมู่บ้านนี้ดุร้ายมาก คนถิ่นอื่นพลัดเข้าไปจะต้องโดนยาสั่งถึงตาย ทำให้คนในตลาดไม่กล้ามาเที่ยว แต่เสด็จฯทรงมาด้วยพระองค์เอง
หนุ่มๆ ในตัวเมืองชุมพรชวนมาเที่ยวในหมู่บ้านอันสงบนี้เพื่อหาจีบสาวเพราะ สาวๆลาวโซ่งนั้นสวยน่ารัก เป็นที่หมายปองของหนุ่มทั้งหลาย ที่มีทั้งรักจริง และรักเล่นๆ ด้วยเหตุนี้ พวกหนุ่มๆชุมพร จึงถูกยาสั่งกลับบ้านตายและล้มเจ็บกันเกือบทุกคน
เมื่อเสด็จฯขึ้นจากเรือกลไฟ เจนทะเล มาสู่หาดทรายรี แล้วพระองค์ก็รับสั่งบรรดามหาดเล็กที่ติดตามทั้งหลายว่า
“ข้าอยากไปเที่ยวหมู่บ้านพวกลาวโซ่ง”
รับสั่งนี้ทำให้พวกมหาดเล็กผวาไปตามๆกัน เพราะเรื่องราวของพวกลาวโซ่งในชุมพรนั้นน่าหวาดหวั่นอย่างมาก แต่ไม่มีใครกล้าขัดขวางในเมื่อมีพระทัยจะเสด็จก็ต้องยอมกัน
คุณลุงลัพย์ พุ่มแก้ว หรือ ลุงลุย เจ้าของร้านอาหารลุย ปากน้ำชุมพร ที่คนชุมพรรู้จักชื่อเสียงดี ก็เลยขอเล่าเรื่องของลุงลุย สักนิดเพื่อเป็นแนวทางต่อไป
ลุงลุยอายุประมาณ ๖๐-๗๐ ปี ร่างกายยังแข็งแรง เป็นตังเกที่ทรหดมาก เคยลุยในน่านน้ำแถบชุมพรมาจนหลับตาบอกได้ว่าตรงไหนเป็นอย่างไร เกาะแก่งต่างๆอยู่ในสมองหมด นอกจากร้านอาหาร ลุงลุยยังดำเนินการทำรีสอร์ทแบบง่ายๆไม่ใหญ่โตอะไร ที่เกาะพัตราอันสวยงามอีกด้วย ก่อนหน้าที่จะมีถนนทอดไปหาดทรายรี ลุงลุย เป็นผู้มีส่วนให้มีถนนขึ้นด้วย การจัดหาคนงานมาระเบิดหิน ทำถนนเลียบชายฝั่งมาครึ่งทางก่อนจะถึงหาดทรายรี อันเป็นบ้านของลุงลุย นอกจากในเมืองชุมพรเลยไปถึงระนอง ลุยมาเกือบทั่วเหมือนกัน รู้เรื่องราวของท้องถิ่น ธรรมชาติ และทั่วไปอย่างดี
ลุง ของลุงลุย ชื่อตาแดง เคยรับใช้ติดตามเสด็จฯ เป็นที่โปรดปรานประทานพระรูปถ่ายให้เป็นที่ระลึก และยังเก็บรักษาเอาไว้อย่างดีทุกวันนี้ ลุงลุยทบทวนความหลัง สมัยเป็นเด็ก จากคำบอกเล่าของตาแดง ที่ถ่ายทอดให้ฟังมาพอประติดประต่อ เรื่องราวของหมู่บ้านลาวโซ่ง และ เกจิอาจารย์ชื่อดังของหมู่บ้านแห่งนั้น คือ หลวงพ่อจอน วัดดอนรวบ ชุมพร
กลางดงลาวโซ่ง
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่บรรดาพวกหนุ่มๆ ทั้งหลายในตัวเมืองชุมพร เข้าไปเที่ยวหมู่บ้านลาวโซ่งก็เพราะว่า ผู้หญิงในหมู่บ้านนี้ไม่ว่าแก่หรือสาว ไม่นิยมใส่เสื้อ เปลือยอกอยู่กลางนาในบ้าน ก็เลยทำให้พวกหนุ่มๆ คึกคัก ไม่กลัวตายเดินเข้าไปในหมู่บ้านแห่งนี้ และกลับมาด้วยยาสั่งจากลาวโซ่ง
ตาแดง (ลุงของลุงลุย) ขึ้นม้าติดตามเสด็จออกมาแต่เช้าตรู่ ลัดเลาะผ่านเขา ผ่านทุ่งนา บ่ายหน้าเข้าดอนรวบ กับบรรดามหาดเล็กที่ติดตามมาด้วยใจคอไม่ค่อยจะอยู่กับเนื้อกับตัว เพราะกิตติศัพท์เรื่องยาสั่งของลาวโซ่งดังมาก จนเข็ดขยาดไม่กล้าเข้ามาในหมู่บ้านแห่งนี้
เมื่อชักม้าเข้าในเขตหมู่บ้านที่มีป่าไผ่ล้อมรอบ พ้นจากป่าโผล่เข้าเขตบ้าน ทันใดพระองค์ก็ทรงชงักม้านิ่ง เบื้องหน้ามีคนยืนเรียงราย แต่งกายเรียบร้อย สองฝั่งทางเหมือนรอรับ การมาของใครคนหนึ่ง
พระองค์เสด็จมาที่นี่ไม่มีใครรู้ นอกจากมหาดเล็กที่ติดตามมาด้านหลังเท่านั้น หรือเขาจะมารับใครกัน
พอขบวนผ่านเข้ามา หัวหน้าลาวโซ่ง ก็ก้าวออกมาพร้อมกับก้มลงกราบพร้อมลูกบ้าน พระองค์ชงักม้ามองดูคนเหล่านั้น เมื่อหัวหน้าหมู่บ้านเงยหน้าขึ้นก็รับสั่งถามว่า
“ใครสั่งให้มารับ”
“หลวงพ่อ”
เท่าที่รู้ในหมู่บ้านนี้ มีวัด แต่ไม่รู้เจ้าอาวาส เป็นใครมาจากไหน รับสั่งถามต่อไปว่า
“หลวงพ่อท่านสั่งอย่างไร”
“ท่านสั่งให้มาคอยรับเสด็จฯ”
เสด็จทรงสรวลเบาๆ หันมาทางตาแดง ที่ยืนม้าอยู่ด้านหลัง
“เขาเก่งโว้ย แดง”
หัวหน้าหมู่บ้านจูงเชือกม้านำไปที่วัดทันที พวกชาวบ้านก็หลีกทางให้ขบวนม้า แล้วตามหลังมาเงียบๆ มุ่งหน้าไปวัดดอนรวบในหมู่บ้าน ผ่านพ้นมาอึดใจใหญ่ๆ ก็มองเห็นที่ราบโล่ง ลานวัดมีกุฏิสองหลังกับศาลาใหญ่อยู่หลังหนึ่งตรงกลาง มองเข้าไปเห็นมีคนเดินกันขวักไขว่ อยู่ทางด้านหลังของกุฏิพระ
หยุดม้าประทับ พนมมือสักครู่ ก็ชักม้าเดินตามไปช้าๆ มุ่งหน้าตามที่หัวหน้าหมู่บ้านจูงม้าไป รับสั่งมาทางด้าน ตาแดงที่ติดตามอยู่ด้านหลัง
“แดงโว้ย ข้าต้องกราบพระองค์นี้เสียแล้ว ท่านเก่งว่ะ”
ตาแดงไม่เข้าใจว่าพระองค์ รับสั่งถึงเรื่องอะไร ต่อมาจึงทราบว่า พระองค์ทรงลองของกับหลวงพ่อเสียแล้ว ก็ตอนที่หยุดม้าพนมมือก็นึกว่า เป็นการไหว้พระทั่วไปที่ไหนได้พระองค์ปล่อยของออกไปลองกับพระเข้าแล้ว
ก้าวขึ้นกุฏิ ชาวบ้านพากันนั่งเฝ้าอยู่รายทางก่อนจะถึงกุฏิ จึงรู้ว่า ชาวบ้านกำลังมาช่วยกัน หุงหาอาหารเลี้ยงนั่นเอง ตาแดงเองยอมรับว่าการเสด็จมาครั้งนี้ไม่มีใครรู้ แต่หลวงพ่อท่านรู้ และเตรียมรับเสด็จเสียด้วย
เสื่อใหม่เอี่ยมปูอยู่ตรงหน้า พระภิกษุผิวดำรูปหนึ่งนั่งอยู่บนอาสนะแบบง่ายๆ ใบหน้ายิ้มละมัย ตรงหน้าของหลวงพ่อมีใบไม้สองสามใบวางอยู่ตรงหน้า เมื่อประทับเรียบร้อยก้มลงกราบ หลวงพ่อที่ยิ้มอย่างเมตตาไม่พูดไม่จาอะไรกัน เสด็จก็ทรงยิ้มพระสรวล หลวงพ่อก็ยิ้มต่างฝ่ายต่างยิ้ม
เสด็จฯรับสั่งภายหลังว่าที่ยิ้มเพราะรู้ฝีมือกันอยู่ ใบไม้ที่กองอยู่ตรงหน้านั้นเสด็จฯเสกให้เป็นต่อแตนมารบกวนหลวงพ่อ ท่านก็เลยสลายมนต์ลงกลายเป็นใบไม้เหมือนเดิม จึงรู้ทันกันไม่พูดไม่จา
พระองค์เก่งมาก อาตมาเกือบสู้ไม่ได้ทีเดียว พระองค์คงจะหยอกล้อถ้าเอาจริงๆอาตมาคงแย่ พูดยิ้มๆ พระองค์ก็ยิ้มให้แก่กัน
“พระคุณเจ้ามาจากไหน”
“อาตมาเป็นคนเมืองไชยา ธุดงค์มาถึงที่นี่ก็ถูกนิมนต์เอาไว้จนเป็นเจ้าอาวาส รู้ว่าจะเสด็จมาเมื่อคืนเลยจัดการถวายต้อนรับไม่พร้อมเพรียง”
หลวงพ่อท่านรู้ระหว่างที่นั่งทำสมาธิอยู่ แต่กระนั้นก็ยังมีเวลาจัดข้าวของมาต้อนรับได้ นั่นแสดงว่า ชาวบ้านแถบนี้มีศรัทธาท่านมาก สั่งอะไรก็ยินดีทำในทันที
พวกผู้หญิงทั้ง หลายอยู่ในครัว มหาดเล็กที่ติดตามมาด้วยก็พลอยสนุกด้วยการเข้าครัวช่วยพวกผู้หญิง บนกุฏิมีเสด็จฯ ตาแดง และมหาดเล็กอีก สองคนกับหลวงพ่อ
จากคำบอกเล่าของลุงลุย เรื่องหลวงพ่อองค์นี้ทำให้ผมต้องเดินทางไปหาข้อมูลเกี่ยวกับหลวงพ่อที่วัด ดอนรวบด้วยตนเอง พรรคพวกในตลาดชุมพรอันมีคุณเสือ-คุณธนู (ไทยรัฐ) ได้ฟังว่าผมจะไปดอนรวบ ก็เล่าเสริมว่า อย่าไปทำอะไรสาวๆเขานะระวังยาสั่ง แสดงว่าจนบัดนี้คนในตลาดชุมพรเอง ยังหวั่นๆเรื่องยาสั่งของชาวดอนรวบ หรือลาวโซ่งพวกนี้อยู่ ผมเดินทางเข้าหมู่บ้านด้วยมอเตอร์ไซรับจ้างที่โชคดีเป็นคนบ้านดอนรวบ จึงพาลัดเลาะออกทางหลังตลาด ผ่านทุ่งนาประมาณ ๒๐ กว่านาทีก็มาถึงวัดดอนรวบ
น่าเสียดายที่ประวัติของหลวงพ่อจอนนั้น สมภารองค์ปัจจุบัน (พระครูวิธานนิติธรรม) ท่านบอกว่ามีแต่ไม่รู้เอาประวัติไป เก็บที่ไหน หาไม่เจอ กองหนังสือเต็มห้องก็จนปัญญาจะหาเจอได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงพอสรุปได้จากท่านพระครูเท่าที่พอจะจำได้
หลวงพ่อเป็นคนสุราษฎร์ ธานี เมืองไชยา โน้น ท่านธุดงค์มาปักกลดที่ดอนรวบ ชาวบ้านเห็นว่าท่านเป็นพระที่มีการปฏิบัติธรรม ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงนิมนต์ให้มาสร้างวัดดอนรวบ เมื่อหลวงพ่อมาอยู่ก็มีชาวบ้าน ชื่อนายหอม ย้อยพลรบ ช่วยบริจาคที่ดิน นำชาวบ้านมาช่วยกันสร้างกุฏิ ศาลาซึ่งในการจัดสร้างครั้งแรก เป็นสำนักสงฆ์ และต่อมามีความเจริญขึ้นเป็นลำดับ ระหว่างที่หลวงพ่อมาอยู่ใหม่ๆนั้น เจอพวกลาวโซ่งอยากลองดี ปล่อยของคุณไสยมาให้ท่าน ท่านก็สามารถรับไว้ได้ แต่ไม่ตอบโต้ จนทำให้พวกลาวโซ่งที่แก่วิชายอมรับนับถือ วัดดอนรวบก็เป็นรูปเป็นร่างเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นพระรูปเดียวที่มาจากต่างถิ่นอยู่ดอนรวบได้ ส่วนมากเป็นคนในพื้นที่บวชเท่านั้นเอง
หลวงพ่อจอนขมังเวทย์ด้านการสักหมึก สักน้ำมัน เชื่อกันว่าเสด็จฯ สักจากหลวงพ่อจอนนี่เอง เพราะในประวัติของพระคณาจาย์หลายรูปที่เสด็จไปศึกษาไสยเวทย์ไม่มีพระ คณาจารย์รูปใดชำนาญด้านสัก เช่น หลวงปู่สุข มะขามเฒ่า หลวงพ่อเงิน บางคลาน หลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติ นอกจากหลวงพ่อจอนวัดดอนรวบ และจะเสด็จมาชุมพรบ่อยๆด้วย
รอยสักสำคัญของหลวงพ่อจอน คือรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวยอดมีอุณาโลมและอักขระอื่นๆ ผมโชคดีที่ได้ก๊อปปี้รูปหลวงพ่อจอนเอาไว้ จากรูปเก่ามีใบเดียวใส่กรอบมัวๆต้องเอาออกมาเช็ดเสียก่อนถ่ายจึงพอได้รูป ชัดเจนอยู่บ้าง
หลวงพ่อจอนกับเสด็จฯ เลยมีความสนิทสนม ผูกพันกันมากมาหาดทรายรีครั้งใดจะต้องเสด็จมาหมู่บ้านลาวโซ่ง หรือบางทีก็ให้มหาดเล็กมารับหลวงพ่อไปที่หาดทรายรี บนเรือเจนทะเลหลวงพ่อก็เคยขึ้นไปร่วมสนทนากับเสด็จฯในเรือพระเทียบมาแล้ว
มหาดเล็กคนหนึ่งเกิดรักใคร่ชอบพอกับสาวลาวโซ่ง พระองค์ก็ทำหน้าที่สู่ขอให้อยู่ร่วมกันตามประเพณีได้ เสด็จฯทรงซื้อที่ดินปากน้ำเอาไว้แปลงหนึ่ง ต่อมากลายเป็นห้องเย็นเก็บปลา โดยเจ้าของห้องเย็นซื้อจากทายาทของพระองค์อีกต่อหนึ่งที่ดินในเมืองชุมพรจึง ไม่มีเหลือแล้ว
ที่วัดหลวงพ่อจอนยังมีพระรูป และร่องรอยการเดินทางของเสด็จฯโดยเฉพาะคำบอกเล่าจากคนเก่าคนแก่ของที่นี่พอ สรุปได้ว่า เคยเสด็จมาที่นี่จริงและสนิทกับหลวงพ่อจอนอย่างแน่นอน
พระอาการของเสด็จฯในวันสิ้นพระชนม์ คือประชวรในเวลาอันรวดเร็วด้วยอาการไข้และอาเจียนออกมาเป็นโลหิต พระพักตร์เขียวคล้ำ (จากคำบอกเล่าของหม่อมเจ้ารุจยากร อาภากรโอรสองค์เล็กที่ประทับอยู่ในวันนั้นด้วย)
บางคนยังแคลงใจอยู่ว่า พระองค์ทรงโดนยาสั่งจากพวกลาวโซ่ง แต่เสียงส่วนใหญ่แย้งว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะพวกลาวโซ่งเคารพในพระองค์เป็นอย่างมาก
ทั้งยังเป็นศิษย์องค์หนึ่งของหลวงพ่อจอน เช่นเดียวกันกับพวกลาวโซ่ง ดอนรวบ เมืองชุมพร ด้วยเหมือนกัน
ศรัทธาไม่มีวันดับ
◉ อภินิหารของหลวงพ่อจอน สิริจนฺโท วัดดอนรวบ
เมื่อหลวงพ่อจอนท่านยังมีชีวิตอยู่ ประชาชนได้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ ของท่าน คือ
๑.ครั้งหนึ่งไปสร้างวัดที่จังหวัดชัยนาทเรียกว่าวัดสระเนินพระราม ในตอนแรกเป็นการยากที่จะสร้างวัดให้สำเร็จ เพราะประชาชนทั้งสองหมู่บ้านเกิดความแตกแยกมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ เสมอ หลวงพ่อจอน จึงไปขอให้ทั้งสองหมู่บ้านนี้สามัคคีกันแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ บังเอิญชาวบ้านได้ถางป่าไม้ไผ่ไว้แล้ว เจ้าของป่าไผ่ได้จุดไฟเผาป่า ไฟได้ลุกไหม้ป่าอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเช่นนี้เพราะเจ้าของป่าไผ่ได้ชักชวนชาวบ้านไปจุด หลวงพ่อจอนจึงได้เดินลุยไฟให้ชาวบ้านได้เห็นด้วยสายตาตัวเองว่าไฟนั้นไม่สา มารถเผาใหม้ หลวงพ่อจอน ได้เลย ดังนั้นทั้งสองหมู่บ้านก็เกิดความนับถือ เลื่อมใสในตัวของหลวงพ่อจอน จึงทำให้ทั้งสองหมู่บ้านสมัครสมานสามัคคีต่อกันช่วยกันสร้างวัดจนสำเร็จ ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อจอน เลื่องลือไปไกล มีผู้คนมาบนบานสานกล่าว ขออะไรก็ได้ดังใจทุกประการ
เมื่อหลวงพ่อจอน ได้สร้างวัดสระเนินพระราม จังหวัดชัยนาท แต่เจ้าคณะตำบลไม่อนุญาตให้ร้าง หลวงพ่อจอน จึงได้แสดงอภินิหารให้เจ้าคณะตำบลเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น เจ้าคณะตำบลจึงเกิดสำนึกขึ้นได้ พออนุญาติให้สร้างวัดได้ อาการเจ็บป่วยก็หายทันที
๒.ครั้งหนึ่งหลวงพ่อจอน ได้จัดงานที่วัดดอนรวบ ได้มีคนมารังแกมโนราห์ หลวงพ่อจอนได้ไปห้ามปรามแต่ก็ไม่ฟัง ท่านจึงได้เอาไม้เท้าตี บุคคลนั้นโกรธจึงได้กลับบ้านไปเอาปืนแก๊ปมายิงหลวงพ่อจอน ท่านก็ให้ยิงแต่ยิงไม่ออก ทำให้คนที่เห็นเหตุการณ์ตกตะลึง และเกิดความเลื่อมใส ศรัทธาหลวงพ่อจอนเพิ่มมากขึ้น
๓.ครั้งหนึ่ง กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ได้ฟังเกียรติศัพท์ในอภินิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ของ หลวงพ่อจอน จึงได้มาที่วัดดอนรวบ เมื่อมาถึง กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ได้ขอเสวยหมาก แต่บังเอิญหมากหมด หลวงพ่อจอน ได้บอกให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไปเก็บหมากโดยบอกว่าได้ใช้เด็กไปขึ้นให้แล้ว แต่เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไปถึงไม่เห็นเด็กขึ้นต้นหมาก มีแต่กรรไกรหนีบหมากของหลวงพ่อจอนได้ขึ้นไปตัดหมากอยู่บนต้นแล้ว กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้เห็นอภินิหารอย่างนั้น จึงกลับมาที่กุฏิของหลวงพ่อจอน และขอฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อจอน
๔.ครั้งหนึ่งหลวงพ่อจอน กับ ญาติโยมได้ไปตัดไม้ที่ภูเขาบ้านบ่อคา อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ไม้หักจะล้มทับหลวงพ่อจอน ญาติโยมบอกให้หลวงพ่อจอนหลบ แต่ท่านไม่หลบและไม้นั้นก็ไม่ได้ถูกตัวท่านเลย
๕.ครั้งหนึ่งหลวงพ่อจอน กับคณะกรรมการวัดดอนรวบ ได้ไปบรรทุกไม้ที่ภูเขา บ่อคา อำเภอสวี จังหวัดชุมพร มีโยมรื่น คงนาสร นายเปลี่ยน นุ่มลืมคิด และพระภิกษุ สามเณร หลายรูปไปด้วยกัน ขณะกำลังจะออกไปป่า แม่หัวโพงพาง เขาตะเข้ ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร บังเอิญลมพายุได้พัดเรือจมลงทะเลลึก แล้วหลวงพ่อจอนได้พูดว่า “อย่าทิ้งเรือ เรือไม่จม” แล้วท่านก็ได้ใช้ผ้าเหลืองผูกกับไม้ต่อเรือโบกเป็นสัญญาณจนเรือที่ลากอวนมา เห็นเข้า จึงได้มาช่วยเมื่อทุกคนได้ขึ้นจากเรือ เรือก็จมหายไปเลย อภินิหารอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ทำให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความเชื่อมั่น เคารพนับถือ ศรัทธา เป็นอย่างมาก ว่าท่านมีวาจาสิทธิ์ พูดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
๖.ครั้งหนึ่ง นายหอม ย้อยพลรบ ได้พบเห็นหลวงพ่อจอน กำลังนั่งสมาธิอยู่ที่ถ้ำเขาย้อย หมู่ที่ ๖ ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร มีใบไม้หล่นทับถมเต็มไปหมด ท่านมีผมยาวและหนวดเครารุงรัง จึงได้นิมนต์มาดูพื้นที่สร้างวัดดอนรวบ เมื่อท่านมาแล้วเกิดความพอใจ จึงได้สร้างวัดดอนรวบขึ้น
๗.ครั้งหนึ่งหลวงพ่อจอน ได้เดินทางไปกับญาติโยมหลายคนเพื่อไปหาไม้มาสร้างวัด แต่ท่านได้บอกให้ญาติโยมเดินทางไปก่อน ญาติโยมได้เดินทางไปแล้วได้เหลียวหลังดูว่าท่านมาหรือยัง แต่ก็ไม่เห็น เมื่อไปถึงจุดหมาย ก็ได้เห็นหลวงปู่นั่งรออยู่แล้ว
ในบางครั้งมีญาติโยมมานิมนต์ไปสวดงานต่างๆ ท่านได้บอกว่าให้ไปก่อน แต่เมื่อญาติโยมไปถึงงาน ก็เห็นหลวงพ่อจอน นั่งอยู่ที่บ้านงานแล้ว
๘.ครั้งหนึ่งนายสี ยอดภุมรินทร์ ไปงานศพของ นายมี จอกถม ต่อมาเมื่อกลับถึงบ้านพบว่า มีคนแอบเข้ามาขโมยควาย ที่เลี้ยงไว้จนหมด นายสีไม่รู้จะทำอย่างไร จึงได้เข้าไปบนบาน รูปหล่อหลวงพ่อจอน ในวัดดอนรวบ ว่าให้ควายที่ถูกขโมยไป กระโดดกลับมาเข้าคอกเอง ถ้าควายมากระโดดเข้าคอกจะถวายทอง ๘,๐๐๐ แผ่น แล้วควายก็มาเข้าคอกเองอย่างน่าอัศจรรย์
๙.ครั้งหนึ่งผู้ใหญ่ใหม่ ยอดภุมรินทร์ เล่าให้นายสี ฟังว่าหลวงพ่อจอนไปบิณฑบาตจากต้นตะเคียนพร้อมกับพระสงฆ์หลายรูป ปรากฏว่าหลวงพ่อจอนได้ข้าวมาเต็มบาตร แต่พระภิกษุรูปอื่นไม่ได้เลย
ทั้งหมดทั้งหลายที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในอภินิหาริย์ อันศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่ จึงทำให้เป็นที่พึ่งของบุคคลทั่วไป เมื่อประชาชนมีความเคารพ นับถือ เลื่อมใส ศรัทธา เมื่อเกิดการเจ็บป่วย ของหาย สอบแข่งขันเรียนต่อ ประกอบอาชีพการงาน สมัครงาน หรือต้องการสิ่งใดก็ตาม ก็ได้มาบนบานสานกล่าว ออกชื่อให้สำเร็จในงานนั้นๆทุกประการ
สิ่งที่หลวงพ่อจอนชอบคือ ทอง ลูกประทัด ปืน มโนราห์ หนังตะลุง ในการปิดทองนั้น มีผู้มาบน และปิดทองตั้งแต่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ โดยในปัจจุบัน มีผู้มาเช่าเหรียญ รูปเหมือน และมีผู้มาปิดทอง จุดประทัด แก้บนเป็นประจำที่วัดดอนรวบ