วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อคําเขียน สุวัณโณ วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

วัดป่าสุคะโต
อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ วัดป่าสุคะโต
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ วัดป่าสุคะโต

หลวงพ่อคําเขียน สุวัณโณ วัดภูเขาทอง บ้านท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ ที่ชาวเมืองชัยภูมิและพุทธศาสนิกชน เลื่อมใสศรัทรา ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม ดําเนินตามรอยหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ พระวิปัสสนาจารย์ชื่อดังแห่งวัดป่าพุทธยาน จ.เลย ในฐานะศิษย์กตัญญูรู้คุณ

◎ ชาติภูมิ
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ตรงกับวันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด ณ บ้านหนองเรือ ตำบลหนองเรือ (เดิมชื่อ ตำบลบ้านเม็ง) อำเภอหนองเรือ (เดิมอยู่ในเขตอำเภอเมือง) จังหวัดขอนแก่น โยมพ่อชื่อ นายสมาน เหล่าชำนิ โยมมารดาชื่อ นางเฮียน แอมปัชฌาย์ (เหล่าชำนิ) มีพี่น้อง รวม ๗ คน คือ

๑. นางเหรียญ บุญหลง (เหล่าชำนิ)
๒. นางสุดตา แอมปัชฌาย์ (เหล่าชำนิ)
๓. หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ
๔. นายดำ เหล่าชำนิ
๕. นางเอื้อน ดวงโพธิ์ศรี (เหล่าชำนิ)
๖. นายสุพล เหล่าชำนิ
๗. นางอุบล (เหล่าชำนิ)

◎ ชีวิตช่วงปฐมวัย
เมื่อท่านอายุย่างเข้า ๑๐ ขวบ บิดาและมารดาของท่านได้ย้ายไปอยู่บ้านหนองแก อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ทำการบุกเบิกที่ทำกิน ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ในช่วงแรกต้องเดินทางไปมาระหว่างบ้านหนองแกและบ้านหนองเรือ ซึ่งมีระยะทางประมาณ ๓๐ – ๔๐ กิโลเมตร เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทาง มีเพียงทางเกวียนช่วงสั้นใกล้ๆหมู่บ้าน และยังมีรถยนต์โดยสาร จึงต้องเดินเท้าหอบหิ้วสัมภาระบุกป่าฝ่าดงด้วยความยากลำบาก

ในช่วงเวลานั้น บิดาและมารดาของท่านต้องทำงานหนัก โดยเฉพาะบิดาของท่านต้องหาบสัมภาระเดินทางไกลตลอดวันและพักแรมกลางป่ากลางดงในเวลากลางคืน ท่านรู้สึกสงสารบิดาของท่านมาก คิดอยากช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง แต่ก็ช่วยไม่ได้มาก เพราะท่านเองก็ยังเล็ก ได้แต่รู้สึกชื่นชมว่าบิดาของท่านมีความเข้มแข็ง อดทนและทำงานหนักมาก ทำให้ท่านเก็บควาประทับใจนั้นไว้และนำมาเป็นแบบอย่างในเวลาต่อมา

ชีวิตวัยเด็กของท่านเหมือนกับเด็กไทยในชนบททั่วไปที่ครอบครัวทำเกษตรกรรม มีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ ครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองได้ ถึงแม้ไม่มีเงินก็ไม่เดือดร้อน เพราะมีข้าวปลาอาหาร ผัก ผลไม้ รวมถึงมียาสมุนไพรอยู่รอบบ้าน เลี้ยงวัว เลี้ยงความไว้ใช้แรงงาน รวมทั้งในป่า มีเห็ด มีหน่อไม้ และผักต่างๆ

ท่านใช้ชีวิตวัยเด็กคลุกคลีกับการงานเหล่านี้ อยู่กับครอบครัว แต่ไม่มีโอกาสได้เที่ยวเล่นสนุกสนานเช่นเด็กทั่วไป เนื่องจากบิดาของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ท่านอายุได้ประมาณ ๑๐ ขวบ ประกอบกับพี่ของท่าน ๒ คน ไปอยู่กับปู่และย่า ท่านจึงต้องรับผิดชอบการงานแทนบิดาของท่าน

ในชนบทสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนภาคบังคับของรัฐบาล ผู้ชายส่วนใหญ่นิยมบวชเป็นระยะเวลานานๆเพื่อศึกษาเล่าเรียน ท่านบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ที่วัดหนองแก ระยะเวลาที่ท่านบวชได้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมขั้นต้น จนสามารถจดจำข้อธรรมต่างๆได้อย่างแม่นยำ ท่านเองต้องการเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้น โดยตั้งใจว่าจะไปเรียนที่วัดธาตุ จังหวัดขอนแก่น แต่ไม่อาจทำได้ด้วยความห่วงใยโยมแม่และน้องๆที่ยังเล็กอยู่ แม้ว่าท่านบวชเป็นสามเณรอยู่ ท่านยังดูแลเอาใจใส่และช่วยเหลือโยมแม่และโยมน้องอยู่เสมอ บางครั้งหลังคาบ้านรั่วท่านก็ไปซ่อมให้ บันไดบ้านหักท่านก็ทำแล้วแบกไปใส่ให้ที่บ้าน ทั้งนี้เพราะไม่มีผู้ใดช่วยเหลือดูแล นอกจากนั้นแล้ว ที่ดินพื้นที่ไร่นาก็ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ในที่สุดท่านจำต้องลาสิกขา ออกไปช่วยงานของครอบครัว หลังจากที่บวชเป็นสามเณรอยู่ได้ประมาณ ๒ ปี

หลังจากลาสิกขาบทมาแล้ว ได้กลับมาช่วยกิจการของครอบครัวอย่างเต็มที่ ท่านเล่าว่าชีวิตประจำวันของท่าน ตั้งแต่เช้าจนค่ำอยู่แต่ในไร่ ในนา ถ้าใครต้องการพบท่าน ต้องไปที่นั่น ท่านไม่มีเวลาไปเที่ยวเตร่เฮฮาที่ใด ทุกวันท่านจะออกจากบ้านแต่เช้าไปทำงานในไร่ในนา ตอนกลางวัน มารดาของท่านจะให้น้องนำอาหารไปส่ง แม้บางครั้งมารดาของท่าน หรือน้องๆลืมไปส่งอาหาร ท่านก็ยังคงทำงานต่อไป

ด้วยความจริงจังกับงานและขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอนี้เอง ทำให้ท่านเป็นที่ยกย่องของคนในหมู่บ้าน ในช่วงเวลานั้นเองท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาอาคม ทำน้ำมนต์ ปัดรังควาน ไล่ผี และรักษาคนป่วยไปด้วย ฉะนั้นทุกคืนก่อนนอนท่านต้องสวดมนต์ภาวนาบริกรรมท่องคาถาอาคมต่างๆ จนคล่องแคล่ว เกิดความชำนาญ จนสามารถใช้วิชาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ยามชาวบ้านเดือดร้อน ท่านได้เข้าทำการช่วยเหลือ นับตั้งแต่เจ็บไข้ได้ป่วย ไล่ผี ทำคลอด ตลอดจนผูกข้อมือให้เด็ก จนเป็นที่เรียกขานกันในหมู่บ้านว่า ท่านเป็นหมอธรรม

ขณะเดียวกันนั้น ท่านได้ถือศีล ๕ และรักษาอุโบสถศีลทุกวันพระ ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอย่างเคร่งครัด ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่อาฆาตมาดร้ายผู้ใด ครั้งหนึ่งมีคนมาขโมยควายไปหมดทั้งคอก ซึ่งมีทั้งหมด ๗ ตัว ท่านก็ไม่ได้มีความรู้สึกโกรธแค้นแม้แต่น้อย ได้แต่คิดว่าเมื่อสูญหายไปแล้วก็หาเอาใหม่ ด้วยเหตุผลหลายประการประกอบกันนี้ เมื่อก้าวเข้ามาสู่เส้นทางแห่งการปฏิบัติธรรม ท่านจึงสามารถปฏิบัติได้อย่างราบรื่น ไม่มีอดีตกรรมหยาบมาฉุดรั้งให้หลงทาง หรือดำเนินไปอย่างเชื่องช้า

◎ มีครอบครัว
เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี หลังจากการตรวจเลือกทหารแล้ว ท่านได้แต่งงานตามจารีตประเพณี เมื่อมีครอบครัวแล้ว ท่านยังคงรักษาศีลาจารวัตรและเป็นหมอธรรมดังเดิม นอกจากนั้นแล้วท่านต้องทำงานหนักขึ้น ด้วยต้องช่วยงานของครอบครัวทางภรรยาด้วย ต้องไปมาระหว่างบ้านมารดาของท่านและบ้านภรรยา

ในระหว่างนั้น ท่านได้ฝึกสมาธิแบบพุทโธ เมื่อปฏิบัติมานานจนทำให้จิตสงบได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจนัก เมื่ออายุย่างเข้าปีที่ ๓๐ หลังจากมีครอบครัวมาได้ ๗ – ๘ ปี ท่านได้เริ่มแสวงหาครูบาอาจารย์ ที่แนะนำเรื่องสมาธิวิปัสสนา ตามแนวทางอื่นๆ ที่เหมาะสมกับตัวท่านบ้าง

◎ ปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านได้ยินกิตติศัพท์จากผู้คนทั้งหลายว่า หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ตั้งสำนักสอนกรรมฐานอยู่ที่ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย ผู้ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนจะรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม ไม่สงสัยเรื่องเกิด เรื่องตาย เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องมรรค เรื่องผล มีผู้คนชักชวนให้ไปศึกษาดู ในช่วงนั้นท่านขวนขวายศึกษาฝึกสมาธิแบบพุทโธ เข้าถึงสมถะและได้รับความสุข ความสงบพอสมควร อย่างไรก็ตาม ท่านยังคงสงสัยเรื่องเกิด เรื่องตาย เรื่องนรก เรื่องสวรรค์และเรื่องมรรคผลนิพพานอยู่ ทำให้นึกถึงหลวงพ่อเทียนอยู่ตลอดเวลาและพยายามหาโอกาสไปศึกษาด้วย

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ วัดสนามใน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ วัดสนามใน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านมีโอกาสได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน ที่ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย หลวงพ่อเทียนสอนให้สร้างจังหวะและเดินจงกรม ท่านเองเคยฝึกหัดมาแบบพุทโธ โดยนั่งนิ่งๆสามารถเข้าถึงความสงบได้อย่างว่องไว ทำให้ไม่ชอบการสร้างจังหวะ แต่หลวงพ่อเทียนสอนไม่ให้สงบแต่เพียงอย่างเดียว ท่านสอนให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ กำหนดรู้ไปกับการสร้างจังหวะและไม่ให้เข้าไปอยู่ในความสงบ

คำสอนของหลวงพ่อเทียนนี้ สวนทางกับวิธีที่ท่านฝึกหัดมา ทำให้บางทีท่านไม่อยากทำ เกิดความรู้สึกคัดค้านอยู่ในใจ หลวงพ่อเทียนก็พูดให้ฟัง ทำให้ดูและบางทีก็พูดท้าทายให้ปฏิบัติ โดยพูดว่า “คุณทำงานอยู่ที่บ้าน ถ้าคิดเป็นเงินจะได้เดือนละกี่บาท?” ท่านก็ตอบว่า “อย่างน้อยก็ได้เดือนละ ๑,๐๐๐ บาท” หลวงพ่อเทียนก็พูดว่า “ คุณมาอยู่ปฏิบัติธรรม สร้างจังหวะและเดินจงกรมให้มีสติสัมปชัญญะนี้ ถ้าคุณไม่รู้อะไรเลยและจิตใจไม่เปลี่ยนไปจากเดิม อาตมาจะเสียเงินให้ เดือนละ ๑,๐๐๐ บาท แต่ต้องทำจริงๆนะ ให้ทำตามที่อาตมาสอนทุกอย่างนะ”

หลวงพ่อเทียนพูดอย่างนี้ อาจเป็นเพราะเห็นว่าท่านเป็นคนมีทิฏฐิมาก ในที่สุดท่านก็ตกลงทำ เพราะอย่างไรก็ตั้งใจมาปฏิบัติแล้ว จึงทดลองดู โดยพยายามทวนความรู้สึกเดิม ตั้งใจสร้างจังหวะ เพื่อปลูกสติสัมปชัญญะและสร้างสติ จากนั้นจึงเริ่มต้นปฏิบัติไปเรื่อยๆ

ในการปฏิบัตินั้น เมื่อเริ่มคิดให้กลับมาอยู่กับการสร้างจังหวะจะเกิดความสงบความรู้สึกตัว ไม่เข้าไปอยู่ในความสงบ รู้กาย รู้ใจชัดขึ้น มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น รู้ทันต่อการเคลื่อนไหว รู้ทันต่อใจที่คิด เกิดปัญญาญาณขึ้นมา รู้เรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องกาย เรื่องใจ ตามความเป็นจริง ลำดับไปจนจบรูปนามเบื้องต้น จากนั้นจิตใจของท่านได้เปลี่ยนไป พ้นจากภาวะเดิม ความลังเลสงสัยหมดไป ได้รู้เรื่องสมถะและเรื่องวิปัสสนา ท่านรู้สึกว่าความทุกข์ที่มีอยู่ หมดไป ๖๐ % จึงมั่นใจในคำสอนของหลวงพ่อเทียนมาก จนไม่สงสัยต่อความรู้เดิมที่มีอยู่

คาถาอาคมเครื่องรางของขลังที่เคยเรียนมานั้น ท่านเริ่มเห็นว่าเป็นเรื่องสมมุติ พิธีรีตองต่างๆที่เคยยึดมั่นถือมั่นนั้น ก็เริ่มวางได้ มีความเชื่อในการกระทำ รู้เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ รู้เรื่องศาสนา พุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านมีความรู้สึกเหมือนว่า แบกของหนักมา ๑๐๐ กิโลกรัม พอเกิดปัญญาญาณขึ้น น้ำหนักที่แบกไปนั้นหาบไป ๖๐ กิโลกรัมทันที

ท่านจึงคิดไปว่า เมื่อทำเพียงเท่านี้ ความทุกข์ที่มียังหลุดไปได้ถึงเพียงนี้ หากทำมากกว่านี้ จะเป็นอย่างไร ทำให้ท่านคิดปฏิบัติต่อไป และมีความมั่นใจต่อการเจริญสติสัมปชัญญะแบบเคลื่อนไหวมากขึ้น

วันหนึ่งหลวงพ่อเทียนให้ อารมณ์ โดยบอกว่า “นี้เป็นอารมณ์ของกรรมฐานเบื้องต้น อย่าไปหลงติด คิดว่าตัวเองรู้มาก ที่จริงยังมีอีกมากที่ยังไม้รู้ ต้องตั้งใจปฏิบัติต่อไป ให้บำเพ็ญทางจิตต่อ จึงจะรู้อารมณ์ของปรมัตถ์” จากนั้นหลวงพ่อเทียนถามว่า “ทำอย่างนี้รู้ได้ไหม เห็นจริงได้ไหม เชื่ออาตมาหรือเชื่อตัวเอง” ท่านก็ตอบหลวงพ่อเทียนว่า “เชื่อตัวเอง”

หลวงพ่อเทียนได้สอนให้เห็นความจริงของชีวิต จากนั้นมาท่านไม่แสวงหาครูบาอาจารย์และไม่แสวงหาวิธีปฏิบัติตามแนวทางอื่นอีก เพราะได้บทเรียนที่สมบูรณ์แบบที่สุดในชีวิตแล้ว

◎ ปฏิปทาของหลวงพ่อเทียน
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ระหว่างที่ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนนั้น หลวงพ่อเทียนยังอ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ อ่านได้แต่ภาษาลาว หลวงพ่อเทียนได้ฝึกฝนการอ่านและการเขียนภาษาไทยพร้อมๆ กับการสั่งสอนการปฏิบัติธรรมให้กับลูกศิษย์ และมีหลายๆครั้งที่ท่านได้สอนหลวงพ่อเทียนอ่านหนังสือภาษาไทย

หลวงพ่อเทียนสอนโดยการปฏิบัติให้ดูและพูดให้ฟัง หลวงพ่อเทียนใช้ชีวิตเรียบง่าย แม้การนั่ง การนอนหรือการขบฉัน จะมีระเบียบและเอาใจใส่ต่อลูกศิษย์ ไม่เห็นแก่ความยากลำบาก เสียสละทุกอย่างทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์เพื่อผู้อื่น เพราะท่านอยากให้ทุกคนรู้ธรรมะจริง แม้เวลาผ่านไปจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ปฏิปทาของหลวงพ่อเทียนไม่เคยเปลี่ยนแปลง ท่านจึงมีความเคารพนับถือว่า หลวงพ่อเทียนเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ ไม่มีวันเสื่อมคลายได้ในชีวิตนี้

◎ การปฏิบัติธรรมในป่าพุทธยาน
ผู้ที่ไปใช้ชีวิตในป่าพุทธยานในครั้งกระโน้น ทุกคนมีความตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกัน ไม่ต้องตั้งกฎหรือระเบียบติดไว้ที่ประตู อยู่กันด้วยความเงียบสงบ ๒๐ – ๓๐ ชีวิต ยามไต่ถามกันก็ทำด้วยความระมัดระวัง ทุกคนนั่งสร้างจังหวะและเดินจงกรม ท่านเคยลองถามสามเณรที่สร้างจังหวะอยู่ สามเณรผู้นั้นยังไม่ค่อยอยากจะพูด

การสอนกรรมฐานของหลวงพ่อเทียนในครั้งกระโน้น มีแต่การเน้นการปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ ที่นั่น มีน้ำค้างมาก หากได้ยินเสียงน้ำค้างตกลงบนใบตองก็เป็นเวลาตีสามพอดี ทุกชีวิตก็ลุกขึ้นปรารภความเพียร เสียงเดินจงกรมในตอนเช้ามืดกับเสียงน้ำค้างตกลงใส่ใบตองดังตับๆๆ แสงตะเกียงผ่านละอองน้ำค้างสลัวๆ แต่ละวันได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับได้รับรสของพระธรรมที่เกิดขึ้นจากการเจริญสติ และได้รับคำตอบของชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน

ที่อยู่ที่ใช้อาศัยยามปฏิบัติธรรมเป็นกระต๊อบหลังเล็ก เวลาฝนตกก็เปียกบ้างเล็กน้อย ได้สัมผัสกับการใช้ชีวิตที่ไม่ปรุงแต่ง การขบฉันบางครั้งก็ได้จากการเอาน้ำในกาเทผสมลงในน้ำพริกที่ใกล้จะหมด เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า น้ำที่ใช้ล้างบาตรแล้ว ไม่เททิ้ง ต้องเทรวมกันไว้ในภาชนะรองรับ แล้วนำน้ำนั้นไปใช้ล้างถ้วยชามอีกทีก่อน แล้วนำน้ำไปรดน้ำตนไม้ที่ปลูกไว้ต่อไป

แหล่งน้ำที่เป็นน้ำดื่มน้ำใช้อยู่ห่างจากป่าพุทธยานมากกว่า ๑ กิโลเมตร เวลาไปอาบน้ำต้องหาภาชนะสำหรับใส่น้ำกลับมากุฏิด้วย ทุกคนต้องช่วยตนเอง พระผู้เฒ่าก็หิ้วกระป๋องใส่น้ำกลับมา ส่วนพระหนุ่มก็ใช้การหาบ ความยากจนทำให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีระบบ ไม่ท้อถอย ไม่กลัวความทุกข์ ไม่กลัวความยากลำบาก ในบางครั้งถุงพลาสติกที่ญาติโยมห่ออาหารใส่บาตรก็เก็บไว้ใช้อุดหลังคาที่รั่ว

การปรารภความเพียรอย่างแน่วแน่มั่นคงและกระตือรือร้นนี้ เห็นได้จากทางเดินจงกรมเป็นมัน ที่นั่งบนกุฏิเป็นรูปรอยนั่ง เมื่อได้สร้างจังหวะและได้เดินจงกรม ท่านมีความรู้สึกเหมือนว่าในโลกนี้มีตัวคนเดียว ไม่ถูกแบ่งแยกไปทิศทางใดเลย

เวลาที่ญาติโยมนิมนต์ไปขบฉัน ไปประกอบพิธีต่างๆที่บ้าน เป็นเวลาที่ฝืนความรู้สึกอย่างมาก ท่านได้แต่คิดถึงทางจงกรม คิดถึงที่นั่งบนกุฏิ ที่ให้แต่ความสงบร่มเย็น มีความรู้สึกภาคภูมิใจ มีความรู้สึกเป็นสง่าและรู้สึกว่ากำลังทำงานที่มีเกียรติในชีวิต ในเวลาที่ได้เดินจงกรม ในเวลาที่ได้นั่งสร้างจังหวะและเจริญสติ ไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่าย

มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่ท่านนั่งสร้างจังหวะในกุฏิ หลวงพ่อเทียนเดินมา หลวงพ่อเทียนได้เอ่ยทักทายว่า “อยู่ที่นี่หรือ”

“อยู่ครับหลวงพ่อ” ท่านตอบ

“ทำอะไร?” หลวงพ่อเทียนถามต่อ

“สร้างจังหวะครับ” ท่านตอบโดยพลัน

“เห็นทั้งข้างนอกทั้งข้างในไหม” หลวงพ่อเทียนถามตรงประเด็น

“ไม่เห็นข้างนอกครับ เห็นแต่ข้างใน” ท่านตอบอย่างรวดเร็ว

“ถ้าอยากเห็นข้างนอกทำอย่างไร” ผู้เป็นบูรพาจารย์ถามต่อ

“เปิดประตูออกครับ” ท่านตอบโดยเร็ว

“เอ้า ! ลองเปิดประตูออกมาดู”

พอเปิดประตูออกมา หลวงพ่อเทียนก็บอกว่า “ให้เห็นทั้งข้างนอกทั้งข้างในนะ อย่าให้เห็นแต่ข้างนอกและอย่าให้เห็นแต่ข้างในนะ ดูตรงกลางๆนี้นะ” หลวงพ่อเทียนย้ำ ว่าแล้วท่านก็เดินผ่านไปกุฏิอื่น

ท่านก็เข้าใจได้ในทันทีว่า หลวงพ่อเทียนพูดภาษาใจ คือ การดูกาย การดูจิตใจ การบำเพ็ญทางจิต ต้องทำอย่างนี้ หากเข้าไปอยู่ในความคิดก็ผิด หากคิดออกนอกตัวก็ผิด ต้องเพียงแต่เป็นผู้ดู อะไรเกิดขึ้นให้ดูด้วยตาใน คือ สติและปัญญา อย่าไปยึดเอาความคิดและอย่าไปเป็นกับความคิดที่เกิดขึ้น

ตอนเช้าและเย็น หลังจากทำวัตรแล้ว หลวงพ่อเทียนจะให้การอบรมทุกวัน เพราะที่นี่ไม่มีเทปฟัง ไม่มีหนังสืออ่าน ได้แต่ฟังคำสอนของหลวงพ่อเทียนตลอดเวลา จนสามารถลำดับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจากการเจริญสติได้ คือ จิตใจเปลี่ยนไปเรื่อย รู้เอง เห็นเอง

การชี้แนะของหลวงพ่อเทียน ประกอบกับการบำเพ็ญเพียร ทำให้ท่านเข้าใจภาษาธรรมและปฏิบัติเป็น และรู้ว่าการสอบอารมณ์ไม่ใช่คิดเอามาถาม ไม่ใช่คิดจากจินตนาการ หรือไม่ใช่คิดด้วยเหตุด้วยผลใดทั้งสิ้น แต่ต้องพบเห็นจริงด้วยผลของกรรมฐาน นี้เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติที่มีอยู่คือ ตั้งต้นจากการเห็นรูปเห็นนาม ที่เป็นของจริงที่มีอยู่

เมื่อรู้กฎเกณฑ์นี้แล้ว ก็ดูไปจนทุกข์หาที่ตั้งไม่ได้ ไม่มีตัว ไม่มีตน หลวงพ่อเทียนสอนแต่เรื่องอย่างนี้ ชี้ให้เห็นชัด เหมือนจูงมือมาดู ไม่ใช่เห็นโดยคิดเอาไปเอง

เมื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นอีก เรียกตามอาการที่เป็นว่า การดับไม่เหลือของนาม-รูป คำสั่งของหลวงพ่อเทียนชี้ได้ชัดมากในเรื่องนี้ ไม่ใช่แต่เพียงสอนให้รู้ ให้เข้าใจเท่านั้น แต่สอนให้เป็นจริงๆ เปรียบเสมือนถูกปลิงเกาะดูดเลือด ขณะที่ปลิงเกาะอยู่ไม่รู้สึกและไม่เห็น แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้ปลิงหลุดออก จึงรู้ว่าเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เช่นเดียวกันกับที่ปล่อยให้กิเลสตัณหาอยู่ในใจ เมื่อได้รู้ได้เห็น กิเลสตัณหานั้นจึงหลุดออกไป

เมื่อเป็นแล้วจึงรู้ จึงเข้าใจ เมื่อรู้แล้วไม่ต้องไปถามใครอีก ชีวิตคนเราจบที่ตรงนี้ โดยตั้งต้นศึกษาปฏิบัติธรรมตามแบบของการเคลื่อนไหว สร้างจังหวะ เดินจงกรมและเจริญสติสัมปชัญญะ

ท่านได้ยึดหลักการเจริญสติแบบการเคลื่อนไหว โดยมีหลวงพ่อเทียนเป็นครู ท่านได้ปฏิบัติตามแนวทางนี้จนยืนยันได้ว่า ทุกคนที่ได้ปฏิบัติ นั่งสร้างจังหวะ เดินจงกรม เจริญสติ ดูการเคลื่อนไหวทั้งกายและใจอย่างจริงจัง จะได้รับอิสรภาพ ชีวิตจะเป็นอมตะ เหนือการเกิด แก่ เจ็บและตาย

งานสอนธรรมของหลวงพ่อเทียน แพร่หายออกไปตามลำดับ จากจังหวัดเลยเข้าสู่เมืองหลวงและไปยังต่างประเทศ หลวงพ่อเทียนได้ประกาศว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเป็นชนชาติใด ไม่ว่าอ่านหนังสือได้หรือไม่ ถ้ามาศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจัง จะสามารถพบเห็นได้เช่นเดียวกันทุกคน

ยามอาพาธหนักหลวงพ่อเทียนยังคงสั่งสอนและอุทิศชีวิตเพื่อผู้อื่น ถึงแม้เมื่อครั้งหลวงพ่อเทียนยังไม่ได้บวช ก็ขวนขวายที่จะสอนให้คนได้พบเห็นเรื่องนี้ เห็นได้จากท่านได้สร้างกุฏิหลังเล็กนับสิบหลังด้วยทรัพย์สินส่วนตัว ให้ผู้สนใจมาอยู่ปฏิบัติที่บ้านของท่าน พร้อมจัดอาหารให้ โดยไม่มีผู้อื่นรับภาระ (บ้านเกิดของหลวงพ่อเทียน คือ บ้านบุฮม ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ตระกูลของหลวงพ่ออยู่ที่นี่เป็นส่วนใหญ่ หลวงพ่อเทียน เมื่อครั้งเป็นฆราวาสนั้น เป็นผู้มีฐานะดี เป็นพ่อค้าใหญ่ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีเรือจักรขนาดใหญ่ล่องสินค้าในแม่น้ำโขง ขึ้นล่องระหว่างหลวงพระบางกับจังหวัดนครพนม ในสมัยก่อน การค้าขายกับประเทศลาวทำได้โดยอิสระ สองฝั่งแม่น้ำโขงจะรู้จักหลวงพ่อเทียนในชื่อว่า “นายฮ้อย พ่อเทียน” นายฮ้อยเป็นภาษาอีสาน เป็นคำใช้เรียกพ่อค้า ชื่อหลวงพ่อเทียนจริงๆ ไม่ใช่ชื่อเทียน ชื่อว่าหลวงพ่อพันธ์ แต่ประเพณีของคนเมืองเลยและเมืองลาว ไม่นิยมเรียกว่า หลวงพ่อพันธ์ เพราะเป็นการเสียมารยาทและไม่ให้ความเคารพท่าน ประเพณีเช่นนี้เป็นเช่นเดียวกับที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย หรือในประเทศลาว แต่จะนิยมเรียกชื่อตามชื่อของบุตรคนโต หลวงพ่อมีบุตรสองคน บุตรคนแรกของหลวงพ่อชื่อนายเทียน บุตรคนที่สองชื่อนายเตรียม เมื่อบวชจึงได้ชื่อว่าหลวงพ่อเทียน. หลวงพ่อเทียนเมื่อครั้งเป็นฆราวาส ท่านเป็นผู้ใหญ่บ้าน มีคนเคารพเชื่อฟังมาก ท่านมักเป็นผู้นำเรื่องการทำบุญให้ทาน ท่านสร้างอุโบสถด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว ความจริงแล้วท่านก็เป็นคนธรรมดาๆแต่สามารถค้นพบสัจธรรมได้ สมควรที่ผู้คนจะได้เอาเป็นตัวอย่าง.)

เมื่อท่านไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนนั้น หลวงพ่อเทียนมักจะเล่าให้ฟังว่า เคยทำบุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สร้างโบสถ์วิหาร ทำทุกอย่างที่เป็นการทำบุญแบบพิธี แต่ไม่รู้ธรรม ท่านก็คิดว่า ตัวเองนั้นไม่ได้ทำบุญเหมือนหลวงพ่อเทียน คงไม่มีโอกาสรู้ธรรมเห็นธรรมเป็นแน่ เมื่อปฏิบัติจึงรู้ว่า ที่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนมี ก็รู้ได้ทั้งนั้น หากปฏิบัติจริงๆ ให้มีสติสัมปชัญญะอย่างเพียงพอ. หลวงพ่อเทียนเองได้ยืนยันในเรื่องนี้ ได้ท้าทายและเชิญชวนผู้คนให้มาพิสูจน์ด้วยตนเองเสมอ

ท่านได้ย้ำหลายครั้งว่า ที่ได้มาเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียนนี้ ไม่ใช่เพราะประวัติของหลวงพ่อเทียน ไม่ใช่เพราะกิริยามารยาท ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินคำพูด คำเล่าลือของผู้คนทั้งหลาย หากแต่เมื่อได้ทดลองวิธีการเจริญสติสัมปชัญญะแบบการเคลื่อนไหวและได้เกิดผลแก่ท่านมากมายหลายอย่าง เพราะการกระทำตามแบบอย่างที่หลวงพ่อเทียนสอนนั้น จะกล่าวว่าเป็นวิธีแบบที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ก็ไม่ผิด

ท่านได้ทำตามที่หลวงพ่อเทียนสอนทุกอย่าง เช่น สร้างจังหวะและเดินจงกรม เพื่อเป็นการปลูกสติให้เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจที่คิด สติสัมปชัญญะเป็นดวงตาภายใน เป็นผู้เฝ้า ดูกาย ดูใจ จนเห็นกายกับใจว่า เป็นเพียงแต่รูปธรรม นามธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนที่ไหน เป็นธรรมชาติล้วนๆ

จากนั้นหลวงพ่อเทียนสอนให้ดูทุกข์ที่อยู่กับรูปและให้ดูทุกข์ที่อยู่กับนาม. ให้เริ่มต้นจากดูรูปก่อน รูปที่เป็นรูปธรรม เมื่อมีสติสัมปชัญญะ ดูรูป ก็เห็นว่า เป็นรูปทุกข์ เป็นกองทุกข์ เป็นก้อนทุกข์ หายใจก็คือแก้ทุกข์ กินก็คือแก้ทุกข์ ตลอดถึงยืน เดิน นั่ง นอน คือแก้ทุกข์ให้รูป เมื่อเห็นว่ารูปเป็นโรค การเจ็บไข้ก็ต้องหาวิธีแก้ทุกข์ นี้เป็นเรื่องของรูปธรรม

จากนั้น ให้มาดูที่นามหรือดูจิตใจ เปรียบเสมือนนั่งอยู่ในห้องกระจก สิ่งใดเข้ามาก็เห็นได้ทันที ใจหรือจิตใจแต่เดิมก็ปกติ แต่อารมณ์เมื่อจรเข้ามา คือ เมื่ออาคันตุกะจรมา จะเป็นความดีใจ เสียใจ ก็เห็น จะเป็นความรัก จะเป็นความโกรธ จะเป็นความโลภ จะเป็นความหลง ก็เห็น. เห็นทุกๆอย่างเพราะเมื่อเป็นผู้ดูก็เห้น เห็นแล้วละได้ ไม่เป็นไปกับมัน ไม่เหมือนกับดูรูปธรรม ทุกข์ของรูปละไม่ได้ ทำได้แต่เพียงบรรเทาอยู่อย่างนั้น จะไม่ให้หิวไม่ได้ ไม่เหมือนกับใจ จิตใจนี้ละได้เด็ดขาด ละทีเดียว จะละได้ตลอดชีวิต. หากได้มาศึกษาถูกจุด ตรงเป้า จะไม่ยาก เหมือนกับการไขกุญแจที่ถูกลูกก็เปิดออกได้ทันที ไม่เสียเวลา

หลักของสติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกุญแจ หรือเหมือนกับเครื่องมือการเดินทางที่สมบูรณ์แบบ ก็จะผ่านได้ตลอด แม้กาย เวทนา จิต ธรรมซึ่งเป็นด่านกักขังมนุษย์ให้ยากที่จะพ้นไปได้ แต่ถ้าได้เจริญสติปัฏฐาน ทำให้มาก สติสัมปชัญญะก็จะเป็นแชมป์ในเรื่องนี้ ได้ชัยชนะผ่านได้ตลอด เพราะรู้ว่ากาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่ตัวตนที่ไหน จึงสารภาพและยอมจำนนต่อสติ

ความจริงหนีความจริงไปไม่ได้ ความไม่จริงก็ทนต่อการพิสูจน์ไม่ได้ หลักของสติปัฏฐานสี่นี้ เปรียบเหมือนผู้พิพากษาตุลาการที่พิพากษาคดีอย่างยุติธรรมไม่ลำเอียงเข้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

◎ ออกบวช
เมื่อตัดสินใจปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านได้คำตอบที่เคยสงสัย ได้คำตอบกระจ่างขึ้นเรื่อยๆ เห็นว่าเป็นทิศทางที่ทำให้จิตใจเปลี่ยนแปลงได้ จากความที่ไม่เข้าใจ ก็เกิดความเข้าใจขึ้น เห็นว่าการเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของท่านไปในทางที่ถูก รู้สึกเบากายเบาใจ เห็นถูกเป็นถูก เห็นผิดเป็นผิด การปฏิบัติในช่วงแรกก็เข้าใจเท่านั้น แต่ถ้าไม่ปฏิบัติต่อไปก็รู้เท่าเดิม

ครั้งแรกท่านไม่คิดจะบวช คิดเพียงแต่จะมาศึกษาและปฏิบัติ พร้อมกันนั้นก็ยังดูแลรับผิดชอบทางบ้านไปด้วย เพราะท่านมีความรู้สึกต้องทำหน้าที่และยังต้องรับผิดชอบพ่อแม่พี่น้อง มารดาของท่านไม่ให้ท่านบวชอีกและเคยบอกกับท่านว่าลูกทั้งหมด ๗ คนนั้นท่านไม่หวังพึ่งใครเลย นอกจากพึ่งท่านเพียงคนเดียว มารดาของท่านพูดให้ท่านได้ยินอย่างนี้หลายครั้ง ท่านจึงไม่คิดที่จะบวชอีก

พอได้มาปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนเข้า รู้ว่าทำเพียงเท่านี้ ก็รู้ว่าไม่เป็นบาป ถ้าหากทำได้มากขึ้น ท่านอาจจะรู้มากกว่านี้ วิธีที่จะทำได้มากและมีโอกาสทำอย่างเต็มที่ ก็คือ ต้องบวช ท่านคิดว่าการบวชเป็นพระหรือชีวิตนักบวชนี้เหมาะกับการปฏิบัติที่สุด เพราะจะปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ ท่านจึงตัดสินใจบวช

พ.ศ. ๒๕๑๐ ตัดสินใจเข้าพิธีอุปสมบท ที่อุโบสถวัดป่าพุทธยาน โดยมี พระราชวีรมุนี (ชำนิ ฉนฺโน ป.ธ.๕) เจ้าคณะจังหวัดเลย เป็นพระอุปัชฌาย์

พระราชวีรมุนี (ชำนิ ฉนฺโน ป.ธ.๕) วัดศรีบุญเรือง
พระราชวีรมุนี (ชำนิ ฉนฺโน ป.ธ.๕) วัดศรีบุญเรือง

เมื่อท่านได้บวชแล้ว ท่านก็มาอยู่ปฏิบัติธรรมเต็มที่กับหลวงพ่อเทียน ได้ใช้ชีวิตทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที ปฏิบัติเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์

ท่านได้คำตอบมากขึ้นเรื่อยๆจนไม่สงสัย เรื่องกาย เรื่องใจ เหมือนครั้งก่อนๆ ที่เคยมีปัญหา เรื่องกาย เรื่องใจ

ท่านเคยเป็นคนขี้โรค เคยปวดท้องกระทั่งถูกหามเข้าโรงพยาบาล และเคยคิดว่าตัวเองจะตายเพราะโรคท้อง. ท่านเคยเป็นเคยช่างลังเลสงสัย เมื่อมาฝึกมาปฏิบัติก็เลยหายจากโรคภัยไข้เจ็บ และหมดความลังเลสงสัย เป็นเช่นนี้ตั้งแต่ปฏิบัติมา จนถึงบัดนี้เกือบ ๓๐ ปีแล้วซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นอมตะ สุขภาพก็ดีตลอด จิตใจก็ปกติมาตลอด

ท่านว่าท่านไม่ได้เกิดเมื่อครั้งพุทธกาล ท่านไม่เคยได้ยินพระพุทธเจ้าเทศน์ ไม่เคยได้ยินพระพุทธเจ้าแสดงธรรม แต่ท่านคิดว่าหลวงพ่อเทียนนี้เป็นครู เรียนตามพ่อ ก่อตามครูจริงๆไม่ใช่ใครที่ไหนเลยเป็นคนสอน ฉะนั้นท่านจึงว่า หลวงพ่อเทียนเป็นผู้ให้ท่านเกิดเรื่องนี้ หลวงพ่อเทียนเป็นคนสอน แต่ครูบาอาจารย์อื่นสอนอย่างไร ท่านไม่รู้ สำหรับหลวงพ่อเทียนสอนอย่างนี้ ท่านก็รู้อย่างนี้

◎ ออกเผยแพร่ธรรมร่วมกับหลวงพ่อเทียน
หลังจากออกบวชอยู่ปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนได้ ๗ ปี จนหมดความลังเลสงสัยการปฏิบัติในแนวทางนี้แล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุได้พบกับเจ้าคระจังหวัดเลยและปรารภว่าต้องการให้พระกรรมฐานมาสอนที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อ. ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดเลย (สีหนาทภิกขุ) จึงแนะนำให้หลวงพ่อเทียนไปช่วยสอน ท่านได้ติดตามหลวงพ่อเทียนมาจำพรรษาที่วัดชลประทานฯ นับเป็นครั้งแรกที่ท่านได้ลงมาจำพรรษาและร่วมเผยแผ่ธรรมในภาคกลาง

ในขณะนั้นพระอาจารย์โกวิท เขมานันโท ซึ่งเป็นพระที่บวชอยู่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลายปี ท่านมีภูมิรู้ทางธรรมแตกฉานในพระไตรปิฎก สามารถบรรยายธรรมได้อย่างลึกซึ้งไพเราะ เป็นที่สนใจของนักศึกษา ครู อาจารย์ และปัญญาชนทั่วไป ท่านมาจำพรรษาที่สัดชลประทานฯด้วยและเป็นผู้สอนกรรมฐานแบบอานาปานสติ ตามแนวทางของสวนโมกข์

เมื่อหลวงพ่อเทียนกับท่าน มาอยู่ที่วัดชลประทานฯใหม่ๆนั้น ไม่เป็นที่รู้จัก คนจะรู้จักพระอาจารย์โกวิทเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพระมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมและมีบุคลิกน่าเลื่อมใสศรัทธา ส่วนหลวงพ่อเทียนเป็นพระหลวงตาแก่ๆมาจากบ้านนอก พูดภาษากลางก็ไม่ค่อยชัด จึงไม่มีใครให้ความสนใจ มาอยู่ ๑ อาทิตย์แล้ว ยังไม่ได้พูดแนะนำสั่งสอนใครเลย พระเณรทั้งหมดไปปฏิบัติแบบอานาปานสติอยู่กับพระอาจารย์โกวิท

หลวงพ่อเทียนกับท่านจึงได้ชวนลูกศิษย์ของพระอาจารย์โกวิทมาแอบสอนกันลับๆ จนเวลาผ่านไป ๑ เดือน พระบางรูปก็เข้าใจเรื่องรูปนาม เมื่อเข้าใจแล้วก็ไปชวนพระรูปอื่นๆมาเพิ่มขึ้นอีก จนกระทั่งพระอาจารย์โกวิทแปลกใจว่าทำไมลุกศิษย์ได้หายไปเรื่อยๆจึงถามพระ พระก็เล่าให้ฟัง พระอาจารย์โกวิทจึงได้สนใจหลวงพ่อเทียนและมาพบหลวงพ่อเทียน หลังจากสนทนาธรรมกันแล้ว พระอาจารย์โกวิทเกิดศรัทธาเลื่อมใส ยินยอมให้หลวงพ่อเทียนสอนลูกศิษย์ทั้งหมด รวมทั้งตัวท่านเองด้วย

นับแต่นั้นมา คำสอนตามแนวของหลวงพ่อเทียนได้แผ่ขยายออกสู่คนรุ่นใหม่ โดยพระอาจารย์โกวิทเป็นกำลังสำคัญ ในช่วงนั้นท่านได้มีโอกาสพูดแนะนำและสอนการปฏิบัติเคียงข้างกับหลวงพ่อเทียนอย่างเต็มความสามารถ จนกระทั่งมีทั้งพระและฆราวาสเกิดความสนใจในการปฏิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมาเห็นว่าที่นั้นไม่เหมาะสมอีกต่อไป ยาติโยมจึงชวนหลวงพ่อเทียนมาหาที่แห่งใหม่ ในครั้งแรกคุณวิโรจน์ ศิริอัฐ ได้นำหลวงพ่อเทียนมาดูวัดสนามใน ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ ขณะนั้นมีร่องรอยของโบสถ์ เจดีย์เก่า วากอิฐกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นดิน พอให้เห็นร่องรอยว่าเคยเป็นวัดมาก่อน บางครั้งพระธุดงค์มาแวะพักแรมบ้างแล้วผ่านไป มีที่ดินเหลืออยู่เฉพาะบริเวณโบสถ์และเจดีย์เท่านั้น ที่นอกนั้นชาวบ้านได้ยึดไปทำสวนหมดแล้ว หลวงพ่อเทียนรู้สึกพอใจในสถานที่นี้ จึงตัดสินใจที่จะมาอยู่บูรณะให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

◎ ร่วมบุกเบิกวัดสนามใน
เมื่อหลวงพ่อเทียนตกลงใจจะอยู่บูรณะวัดสนามในเพื่อให้เป็นที่เผยแผ่ธรรมนั้น ท่านได้มาร่วมงานด้วย ในตอนแรกเริ่ม พระอาจารย์โกวิทได้ติดตามมาจากวัดชลประทานฯ พร้อมด้วยญาติโยมหลายคน นอกจากนั้นแล้ว ยังมีพระอาจารย์ทองล้วน ได้เข้าร่วมงานด้วย ทุกคนต้องทำงานหนัก นับตั้งแต่หารูปแบบ รวมถึงงานก่อสร้างศาลา กุฏิ และปรับพื้นที่ งานที่หนักที่สุดคือ ได้แก่ งานปรับพื้นที่ ต้องหาบ ต้องแบกทรายจากหมู่บ้านเดินข้ามทางรถไฟมาถมลานวัด กว่าจะเป็นรูปร่างเรียบร้อยให้ใช้สอยได้ก็เป็นเวลาหลายเดือน ท่านได้อยู่ช่วยงานก่อสร้างและปรับปรุงวัด ตลอดจนร่วมกับหลวงพ่อเทียนในการสอนธรรม

จนกระทั่งใกล้เวลาเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านได้ลาหลวงพ่อเทียนไปจำพรรษาที่วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

◎ ความเป็นอยู่ของวัดป่าสุคะโต อยู่ท่ามกลางสัตว์ป่า
ในขณะนั้น วัดป่าสุคะโต ติดต่ออยู่กับป่าผืนใหญ่ รอบๆยังไม่มีไร่มัน ไร่ข้าวโพดและไร่ยูคาลิปตัส บ้านคนยังไม่มี มีแต่สัตว์ต่างๆอาศัยอยู่มากมาย. ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านอยู่กับอีเก้ง ได้เอาน้ำปลา เอาปลาไปให้มันกิน แล้วท่านก็นั่งดู เห็นมันชนกัน มันไถกัน มันจำกลิ่นท่านได้. จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๒ แถวนั้นยังมี เม่น เสือดาว หมูป่า และสัตว์ต่างๆอีกมากมาย ตอนนั้นกุฏิหมายเลข ๒ ที่อยู่ในเขตอุบาสิกาปัจจุบัน สมัยนั้นยังไม่มีแบ่งเขต บางครั้งท่านก็พักอยู่หลังนี้ คืนหนึ่งมีเสียงเหมือนรถติด ดังตืดๆๆๆ ท่านได้ส่องไฟดู เห็นเม่นทำขนพองทั้งตัว พอเวลามันวิ่ง มันก็ลู่ขนก่อน เวลาปราบศัตรู มันจะสั่นขน เสียงดังตืดๆๆๆ

มีครั้งหนึ่ง ท่านนอนหันศีรษะไปทางกอไผ่ ตัวลิ่น(นิ่ม) เอาหางมาแหย่ท่าน เสียงดับตีบๆ ท่านอยู่ในมุ้งมองไป นึกว่างูมาตอด เหมือนงูขดแล้วเอาหัวลงมาตอด. ท่านจึงปีนกอไผ่ขึ้นไปดู จึงรู้ว่าเป็นตัวลิ่น ท่านทำท่านอนสงบอยู่ในมุ้ง มันจึงถอยลงมา เอาหางบ้าง หัวบ้าง มาแหย่ พอจับหางมาดึงไว้ มันก็ขด. พอดีถึงเวลาทำวัตร ท่านก็อุ้มตัวลิ่นไปศาลาไก่ด้วย คนผ่านไปผ่านมาก็สงสัยว่าตัวอะไร ท่านไปตีระฆัง มันก็เฉย ไม่ตกใจเสียงระฆัง. ทุกวันนี้ ไม่มีสภาพเช่นนี้แล้ว ท่านเล่าว่า เมื่อท่านไปอยู่วัดโมกขวนาราม จังหวัดขอนแก่นหนึ่งเดือน อีเก้งที่อยู่แถบนี้ตายเกือบหมด

สมัยแรกๆที่ท่านไปอยู่วัดป่าสุคะโต การเลี้ยงชีพลำบากมากและขัดสน พระต้องบิณฑบาตไกลจากวัดมาก ได้มาแต่ข้าวเหนียวเปล่าๆ พระต้องมาทำกับข้าวเอง กับข้าวที่มีทุกวันคือ น้ำปลาผสมพริกไว้จิ้มกับข้าวเหนียวและยอดผักป่าที่หาได้บริเวณนั้น การเดินทางขึ้นไปก็ลำบากมาก ต้องปีนเขาขึ้นไปทางอำเภอแก้งคร้อ ซึ่งมีความชันมาก ในขณะนั้นทั้งพระและญาติโยมต้องแบกสัมภาระที่จำเป็นติดตัวขึ้นไปด้วย เมื่อถึงยอดเขาแล้ว ต้องลัดเลาะไปตามไร่ ตามนา กว่าจะถึงบ้านท่ามะไฟหวานและถึงวัดป่า สุคะโต ก็รู้สึกเหนื่อยอ่อนเป็นกำลัง

วันหนึ่งท่านเดินจากวัดป่าสุคะโตไปท่ามะไฟหวาน เห็นชาวบ้านอุ้มลูกซึ่งเป็นไข้มาลาเรียออกมาจากป่ามาตายกลางทางพอดี ท่านเห็นพ่อแม่เด็กเป็นทุกข์ จึงถือว่าเป็นธุระของท่านด้วย ท่านคิดว่า จะทำวิธีใดหนอจึงจะช่วยเด็กให้พ้นอันตรายได้บ้าง

ท่านได้เรียกประชุมชาวบ้าน ตกลงให้เด็กที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในไร่ ในป่า ให้มาอยู่วัด ท่านจะเลี้ยงดูให้ ชาวบ้านไม่เคยมีใครทำอย่างนี้ก็กลัวบาป จะนำลูกมาให้พระเลี้ยง พระดูแลได้อย่างไร ก็กลัวเป็นบาป เมื่อประชุมกัน ท่านได้ให้ความคิดเห็นต่างๆรวมถึงอธิบายเรื่องราวต่างๆจนชาวบ้านยอมให้ลูกมาอยู่วัด ท่านเป็นผู้ดูแลเองและพระในวัดก็ช่วยกันรับผิดชอบ จึงเกิดเป็นศูนย์เด็กเล็กขึ้นที่วัดบ้านท่ามะไฟหวาน

ต่อมาวัดป่าสุคะโตขาดพระดูแล หลวงพ่อบุญธรรมลงไปอยู่หนองแก ท่านต้องรับผิดชอบทั้ง ๒ วัด เดินไปเดินมา บางทีก็มีพระมาอยู่ ท่านก็เดินมาสอนที่วัดป่าสุคะโต แล้วก็เดินทางกลับไป เดินทุกวันในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๑- ๒๕๒๓ ตอนนั้นพระไพศาลยังไม่มา (พระไพศาลมาอยู่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖) เมื่อมีคนมาปฏิบัติ พอฉันเช้าเสร็จ ท่านก็เดินมาสอนที่วัดป่าสุคะโต ทำวัตรเย็นเสร็จ ท่านก็เดินกลับวัดท่ามะไฟหวาน นับการเดินจากศาลาไก่ วัดป่าสุคะโต ถึงประตูวัดบ้านท่ามะไฟหวาน นับได้ ๕๓๐๗ ก้าว สมัยก่อนเป็นหนุ่มท่านเดินได้ทุกวัน เพราะมีคนมาปฏิบัติเรื่อยๆไม่ขาด

ประมาณปี ๒๕๒๕ กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมก็รู้จักหลวงพ่อ เมื่อครั้งท่านปรับปรุงวัดป่า สุคะโตนั้นท่านไม่คิดจะสร้างอะไรมาก เมื่อมีกลุ่มมากันมากขึ้น ไม่มีที่อยู่ จึงเกิดมีศาลาหลังใหญ่ขึ้นมา มีกุฏิหลายหลังที่มีเจ้าภาพสร้าง จึงคิดไปว่าถ้าสร้างตามศรัทธาญาติโยมคงไม่จบสิ้น ก็เลยหยุดสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๒๗

ศาลาหลังใหญ่ในบริเวณวัดป่าสุคะโต เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ เพราะกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม ตอนนั้นคุณวุฒิชัย ทวีศักดิ์ศิริผล (อดีตประธานกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม) เป็นผู้นำคณะมา คุณวุฒิชัยรู้จักหลวงพ่อเทียนที่วัดสนามใน เมื่อรู้จักท่าน(หลวงพ่อคำเขียน)ที่วัดสนามใน จึงช่วยกันสนับสนุนวัดป่าสุคะโต ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติให้มีสัปปายะตามสมควรและเป็นไปตามฐานะ

ปัญหาการดูแลรักษาป่าและสัตว์ป่าเป็นปัญหาหนึ่งของท่าน บางทีคนที่ไม่ปรารถนาดีเขาอยากได้ป่าเป็นไร่ของเขา อยากได้ไม้สร้างบ้านสร้างเรือนของเขา เขาก็ลักลอบตัด แล้วถาง ท่านคนเดียวก็ดูไม่ไหว ดูไม่ทั่วถึงก็เกิดความขัดแย้งกัน บางคนถึงกับยิงปืนข้ามหัว จนใบไม้ร่วงเป็นแถวก็มี ท่านอยู่ไม่สบายต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อรักษาป่าให้มีหลงเหลือเท่านี้

นอกจากเรื่องของคนแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องไฟป่า แต่ก่อนป่าในรัศมีของวัดป่าสุคะโตมีป่าล้อมรอบ ไร่ของคนไม่จรดเขตวัด ต่อมาคนถางป่าหมดก็เหลือแต่เขตวัดป่าสุคะโต ไฟก็ลามเข้าได้ง่าย แต่ก่อนไฟเข้าไม่ถึง สมัยนี้ลมพัดทะลุไปเลย ต้นไม้ก็ล้ม ไฟก็ไหม้ ป่าก็ทรุดโทรม ทุกๆปี

ปัญหาเรื่องไฟป่า เกือบทำให้เสียชีวิตไปหลายครั้ง กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม จึงได้จัดแนวร่วมป้องกันไฟป่าให้ โดยสร้างแท๊งค์น้ำที่หอไตรและที่เรือนธรรม และล้อมรั้วในเขตรัศมีของวัดป่าสุคะโตประมาณ ๕๕๙ ไร่ ซึ่งเดี๋ยวนี้ถูกทางสวนป่าตัดไปคงเหลือไม่ถึง ๕๐๐ ไร่

สมัยก่อนการกันไฟก็ต้องจ้างคนมาเดินรอบทุกวัน ไม่ต้องให้เขาทำอะไร ให้เดินรอบวัด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน จ้างคน ๓ คน รับผิดชอบ. ถ้ามีไฟมีเกิดลุกลามเข้ามาเขาก็ดับ ทั้ง ๓ คนอยู่แถวนี้ให้เขารับผิดชอบ โดยให้เงินเดือน เดือนละ ๓๐๐ บาท ต่อมาพวกนี้มีกิจกรรมอื่นจะจ้างราคานี้ไม่ได้ ท่านจึงจ้างรถแทรกเตอร์ จ้างให้ไถรอบวัด บางปีก็กันไฟได้ บางปีก็กันไม่ได้

วัดป่าสุคะโตมักเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติธรรมที่มาจากที่อื่น เช่น กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม คนแถวนี้แทบไม่มีใครสนใจการปฏิบัติ ท่านกล่าวว่า ทุกวันนี้คนหลงในเงินตรามาก ต้องการเงินมาก ถือว่าเงินเป็นใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องเงินมาก ถ้าเงินนี้เข้าสู่ชุมชนใด จะทำลายเครือญาติ ทำลายวัฒนธรรมประเพณี ทำลายวัดวาอารามไปหมด จะให้คนมาปฏิบัติภาวนา โดยเฉพาะคนแถวนี้ (รอบๆวัดป่าสุคะโต) ก็น่าเห็นใจเขาเพราะอาชีพการงานต่างๆความยาก ความลำบากทำให้เขาคิดไม่ถึง ถ้าจะไปสอนเรื่องภาวนาที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับเรา ชาวบ้านก็ถือว่าไม่มีความสำคัญ เขาเข้าไม่ถึงภาวนา

ทุกวันนี้ถือว่าอุปสรรคการสอนธรรมข้อหนึ่งก็คือเรื่องเงิน ชาวบ้านแถวนี้โตขึ้นมาก็หาแต่เงิน เงินเป็นใหญ่ ทำลายระบบครอบครัว ระบบเครือญาติ ทำลายระบบเศรษฐกิจ ทำลายอะไรทุกอย่าง การปกครองก็เสียไป การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็น้อยลง

แม้ชาวบ้านเคารพเชื่อฟังบ้าง แต่จะให้สนใจปฏิบัติจนเข้าถึงธรรมนั้นยาก ท่านว่าท่านพูดอะไรเขาก็เคารพอยู่พอสมควร พอดุว่าได้ พอเฆี่ยนพอตีกันได้ ว่าอะไรหนักๆบ้าง. แม้แต่ฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ท่านก็ว่าได้ เพราะเขาให้ความเคารพท่าน เขาไม่ทำลายท่าน

ท่านจึงยังคงอยู่ที่วัดป่าสุคะโตต่อไปด้วยเหตุผลว่า เพราะคนแถวนี้ยังไม่ดีพอ ถ้าจะเปรียบเทียบกับคนที่อื่น ท่านจึงทุ่มเทกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญาให้กับที่นี่ ท่านยังไปจากแถวนี้ไม่ได้ ถ้าคนยังไม่เป็นคนดี

ดังนั้นการให้อุปถัมภ์จึงให้ตามสภาพของเขา เช่น ที่ผ่านมากลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมให้การสนับสนุนกิจกรรม เช่น จัดธรรมหรรษาสู่วัดป่าสุคะโต เป็นต้น ชาวบ้านจึงได้รับแจกเสื้อผ้า สิ่งของ ของเล่น บางสิ่งบางอย่าง ชาวบ้านก็พลอยมีฟ้ามีฝนไปด้วย คนบางคนก็บอกว่าได้นุ่งได้ห่มเพราะท่าน

เหตุที่มากลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมมีกิจกรรมแจกเสื้อผ้าเพราะสมัยหนึ่งไปประชุมร่วมกับชาวบ้าน ประชุมเวลากลางคืน ตอนนั้นหน้าหนาว ท่านก็เดินตรวจรอบๆเห็นชาวบ้านบางคนห่มผ้าเปียกๆ เสื้อไม่มี ท่านถามเขาว่า ทำไมไม่ใส่เสื้อ เขาตอบว่า มีเสื้อตัวเดียวไปทำงาน เสื้อมันเปียก ไม่มีเสื้อผ้า ท่านจึงปรารภให้กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมฟัง กลุ่มฯก็เลยจัดเสื้อผ้ามาแจก

◎ คำปรารภของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ
ความตั้งใจของท่าน คือ งานสอนธรรม ส่วนกิจกรรมอื่นๆเป็นงานอดิเรก เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับชุมชน เกี่ยวกับการสงเคราะห์ อนุเคราะห์

ท่านเล่าว่า ถ้าจะถามว่า การทำเภสัช การทำน้ำมนต์ การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ท่านได้ทิ้งไปแล้ว แต่คนยังสนใจ บางคนถือว่าท่านเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ เช่น เขาถอยรถมา เขาก็ต้องขับเข้ามาวัดก่อน เอามามอบให้หลวงพ่อ บางทีก็เจิมให้ ท่านบอกว่าท่านเจิมไม่เป็น เขาขอให้นั่งให้ก็ได้ ก็ต้องไปนั่งให้เขา เขาก็ยังถือว่า ท่านเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ไปอย่างนั้น สอนบอกว่ารถมันไม่เป็นไร น้ำมนต์ก็ช่วยอะไรไม่ได้นอกจากตัวเรา สอนให้เห็นสัจธรรม ให้เหตุ ให้ผล ให้พึ่งตัวเอง บางคนไม่ยอมเอา จะเอาน้ำมนต์ จะเอาด้ายผูกแขน จะให้พ่นน้ำมนต์ บางทีก็ทำ แต่ท่านว่า ไม่ใช่สิ่งที่ท่านอยากทำแต่ทำไปเพื่อให้มันแล้วๆ รอดๆ ไป แต่ก็สอนเขาอยู่

ที่ผ่านมามีคนนิมนต์ไปสอนธรรม บางทีก็ไปต่างประเทศ ท่านได้ลองไปหลายประเทศแล้ว ท่านได้พิจารณาแล้วว่า การเดินทางไปต่างประเทศไม่เหมาะกับท่านเพราะปัญหาของการใช้ภาษา ท่านจึงต้องอาศัยผู้อื่นเป็นล่าม ท่านเล่าว่า คนต่างชาติ มีความสนใจการปฏิบัติ เขาศึกษาตรง เขาไม่ให้สอน เขาให้เราสั่งให้เขาทำ ถ้าไปสอน เขาไม่เอา ให้เขาทำอะไรก็บอกเขา ท่านจึงให้เขาเจริญสติ เขาก็ชอบ เขาพอใจ แต่ท่านว่า หากเป็นไปได้ ท่านคงไม่ไปต่างประเทศ ท่านจะอยู่เมืองไทยและจะสอนคนไทย

ท่านมีความตั้งใจอย่างนี้ ท่านเคยพูดกับเพื่อนพระว่า เมื่ออายุ ๖๐ ปี จะขออยู่ประจำที่ ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน หลายคนก็ให้ความสนับสนุน ให้อยู่เป็นหลักเป็นที่ และบางโอกาสก็เดินทางบ้าง ถ้าจำเป้น แต่ถ้ามีสงฆ์ มีเพื่อนพอที่จะเข้าใจกันให้ทำงานแทนกันได้ ท่านก็อยากมี

ท่านเคยพูดว่า ท่านนั้นอาภัพเรื่องการเผยแผ่ธรรม กล่าวคือ สมัยก่อนท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียนท่านได้พูดสิ่งที่ได้พบเห็นให้หลวงพ่อเทียนฟัง หลวงพ่อเทียนก็ได้ยินคำพูดที่เกิดจากสิ่งที่ท่านได้พบเห็น

แต่เมื่อท่านสอนคนมา ท่านไม่เคยได้ยินจากคนที่ท่านสอนเหมือนกับที่ท่านเคยพูดให้หลวงพ่อเทียนฟังเลย ท่านจึงเป็นพระกรรมฐานที่อาภัพลูกศิษย์ แม้คนที่ศรัทธาท่านจะพอมี แต่จะให้ถึงขั้นภูมิใจในคำสอน ภูมิใจในผลการสอนท่านยังไม่ภูมิใจ

ท่านว่า.. ถ้าผู้ปฏิบัติเข้าถึงจริงๆ จะอดพูดไม่ได้จะห้ามก็ไม่อยู่ มันจะกระตือรือร้นในการสอนคน จะมีความยากลำบากแค่ไหน ก็ไม่เกรงกลัว เพราะว่าจะพูดความจริงให้คนฟัง

สำหรับกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น ท่านปรารภว่า อยากให้มาปฏิบัติธรรมโดยตรง วิธีใดที่เราจะเจริญสติ ให้ปรารภเรื่องนี้เป็นใหญ่ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย เล็กๆ น้อย อย่าไปมุ่งทำอะไรให้มาก การมาวัดป่าสุคะโตให้มีจุดประสงค์มาเจริญสติ โอกาสเจริญสติ วันหนึ่ง สองวัน ก็มีโอกาสได้เจริญสติ อย่าไปทำกิจกรรมอื่น

◎ วัดที่อยู่จำพรรษาของหลวงพ่อ
เมื่อบุคคลมาบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแล้วจะต้องอยู่จำพรรษาในช่วงฤดูฝน ทุกปีตามพุทธบัญญัติซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพระภิกษุ สามเณร และชาวพุทธผู้อยู่ในแวดวงการปฏิบัติ ธรรม ถ้าพระภิกษุรูปใดขาดการอยู่ประจำที่ในฤดูฝน ซึ่งกำหนดไว้ ๓ เดือนเป็นอย่างน้อย ก็ถือว่าขาดพรรษา และเป็นผลให้อายุการเป็นนักบวชของท่านไม่เพิ่มขึ้น หรือไม่เพิ่มความอาวุโสตามลำดับที่ควรจะเป็น สิทธิพิเศษที่จะพึงได้ก็ถูกตัดออกไป การอยู่จำพรรษาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นการสืบต่อเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย การอยู่กับที่ก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้แนะนำสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร ผู้บวชใหม่ ผู้ยังจะต้องศึกษาจากครูบาอาจารย์หรือรุ่นพี่ๆ ผู้มีประสบการณ์มาก่อน

เมื่อบวชแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาตามวัดต่างๆ ดังนี้

ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่ป่าพุทธยาน อ.เมือง จ.เลย ภายหลังจากการไปปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนอยู่ ๑ เดือน จนจิตใจเปลี่ยนแปลงระดับหนึ่งแล้ว ท่านได้กราบลามารดาของท่านและญาติพี่น้องและภรรยา เพื่อจะไปบวช แม้ว่าถูกคัดค้านก็ตาม ท่านไม่เปลี่ยนแปลงความตั้งใจ ได้เดินทางออกจากบ้านไปหาหลวงพ่อเทียนและบวชที่จังหวัดเลย และอยู่จำพรรษาที่ป่าพุทธยาน อ.เมือง จ.เลย

ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ที่วัดบ้านบุฮม ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย เมื่อย่างเข้าพรรษาที่ ๒ ภายหลังจึงมุ่งมั่นปฏิบัติทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง จนจิตใจมั่นคงแน่วแน่ในธรรมแล้ว หลวงพ่อเทียนได้นิมนต์ให้ท่านไปอยู่จำพรรษาที่บ้านบุฮม ซึ่งเป็นบ้านเกิดหลวงของพ่อเทียนเอง เพื่ออนุเคราะห์ชาวบ้านในช่วงฤดูเข้าพรรษา ตามความต้องการของศรัทธาญาติโยมที่นั่น

ปี พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๔ ที่ป่าพุทธยาน อ.เมือง จ.เลย กลับมาป่าพุทธยานอีกและจำพรรษาติดต่อกันเป็นเวลา ๓ พรรษา

ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ วัดโมกขวนาราม (ป่าห์) ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น ปีนั้นหลวงพ่อเทียนเริ่มเผยแพร่ธรรมเข้าสู่จังหวัดขอนแก่น ท่านจึงได้มาช่วยการงานของหลวงพ่อเทียนและอยู่จำพรรษาที่นั่น ร่วมกับเพื่อนพระอีกหลายรูป

ปี พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗ ที่ป่าพุทธยาน ในปีนี้ทางราชการได้ก่อตั้งวิทยาลัยครู และได้ใช้สถานที่ครอบคลุมเขตป่าพุทธยานเดินเข้าด้วย และให้ย้ายป่าพุทธยานมาอยู่ข้างนอก ซึ่งไม่ไกลจากที่เดิมมากนัก คือที่อยู่ปัจจุบันนี้ ท่านจึงได้กลับมาช่วยการงานของวัด และอยู่จำพรรษาที่ป่าพุทธยานที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่แห่งนี้

ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ปีนั้นท่านได้ติดตามหลวงพ่อเทียนมาช่วยเผยแผ่ธรรมกับคนกรุงเทพเป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นที่แนวคำสอนของหลวงพ่อเทียนได้แผ่กระจายเข้าสู่วงสังคมเมือง โดยเฉพาะกลุ่มปัญญาชน คนรุ่นใหม่ และต่อเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมาถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่วัดป่าสุคะโต (ชื่อทางการเรียก วัดเอราวัณ) ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ หลังจากออกมาจากวัดชลประทานฯแล้ว ได้มาช่วยบูรณะวัดในสนาม อยู่ช่วงระยะหนึ่งเมื่อใกล้เข้าพรรษาท่านได้ลาหลวงพ่อเทียนขึ้นไปจำพรรษาที่วัดป่าสุคะโต

ปี พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๕ วัดบ้านท่ามะไฟหวาน (ชื่อทางการเรียก วัดภูเขาทอง) ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ หลังจากท่านได้คลุกคลีกับชาวบ้านและเห็นความเดือดร้อนทุกข์ยากก็นึกสงสารชาวบ้านต้องการจะช่วยเหลือ จึงได้มาอยู่กับชาวบ้านที่วัดบ้านท่ามะไฟหวานซึ่งอยู่ท่ามกลางชุมชน ขณะเดียวกันก็ได้ดูแล และสั่งสอนแนะนำผู้สนใจปฏิบัติที่วัดป่าสุคะโตด้วย

ปี พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๓๐ ที่ วัดป่าสุคะโต

ปี พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๕ ที่วัดบ้านท่ามะไฟหวาน

ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ที่วัดโมกขวนาราม ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น คณะสงฆ์และญาติโยมได้นิมนต์ให้ท่านไปอยู่จำพรรษาที่นั่น เพื่อแนะนำสั่งสอนอบรมการปฏิบัติแก่ผู้สนใจการเจริญสติ ตามแนวทางของ หลวงพ่อเทียน

ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่วัดจวงเหยน เมืองคาร์เมล มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา กลุ่มผู้สนใจการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ได้นิมนต์ให้ไปสอนและจำพรรษาที่นั้นเป็นเวลา ๕ เดือน

ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่วัดบ้านท่ามะไฟหวาน ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่วัดป่าสุคะโต เมษายน ๒๕๓๙ พระอาจารย์หลายรูปที่เคารพนับถือท่านพร้อมด้วยญาติโยมได้ประชุมปรึกษาหารือ และมีมติเห็นพ้องกันตามความดำริของท่านว่า ต่อไปจะไม่นิมนต์ท่านมาให้การแนะนำสั่งสอนอีก ผู้ที่สนใจทุกคนควรจะไปหาท่านที่วัด เพื่อถนอมชีวิตสุขภาพของท่านให้อยู่ยืนยาวและสงบสุข ทั้งได้มีเวลาอบรมสั่งสอนผู้ปฏิบัติได้เต็มที่และมีเวลาดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิด

สิงหาคม ๒๕๓๙ ครบรอบ ๖๐ ปี ขอพักการเดินทางไกล เนื่องจากปฏิปทาและคำสอนของท่านเป็นที่ประทับใจของผู้ได้พบเห็นได้ฟังธรรมหรือได้ปฏิบัติตาม จึงมีผู้นิมนต์ท่านไปงานอบรมตามที่ต่างๆทั่วประเทศ ท่านจึงต้องเดินทางไกลอยู่บ่อยๆเวลาส่วนใหญ่ของท่านจึงหมดไปกับการเดินทางและทำให้สุขภาพของท่านก็ทรุดโทรมไปด้วย ท่านจึงปรารภว่า เมื่ออายุท่าน ๖๐ ปี อยากจะพักอยู่กับที่

◎ สมณศักดิ์
● ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสวัดบ้านท่ามะไฟหวาน ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ. ชัยภูมิ
● ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์จากคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองให้เป็น พระครูบรรพตสุวรรณกิจ
● ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล

◎ มรณภาพ
เช้ามืดวันเสาร์ที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ วัดป่าสุคะโต บ้านใหม่ไทยเจริญ ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ หลวงพ่อคําเขียน พระ นักปฏิบัติด้านวิปัสสนากรรมฐานชื่อดัง ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สิริอายุรวม ๗๘ พรรษา ๔๖

ทั้งนี้ หลวงพ่อคําเขียน เคยสั่งเสียไว้พร้อมกับกําชับว่า “ในงานศพให้จัดแบบพระที่จน อย่าฟุ่มเฟือย” ประชุมเพลิงสรีรสังขาร ณ เมรุวัดภูเขาทอง เมื่อวันเสาร์ที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ ท่ามกลางความอาลัยของบรรดาคณะศิษยานุศิษย์

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.dharma-gateway.com