วันพฤหัสบดี, 17 เมษายน 2568

หลวงปู่ไสย์ เขมิโย วัดม่วงลาย อ.เมือง จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ไสย์ เขมิโย

วัดม่วงลาย
อ.เมือง จ.สกลนคร

หลวงปู่ไสย์ เขมิโย วัดม่วงลาย
หลวงปู่ไสย์ เขมิโย วัดม่วงลาย อ.เมือง จ.สกลนคร

หลวงปู่ไสย์ เขมิโย แห่งวัดม่วงลาย ท่านเป็นชาวบ้านม่วงลายโดยกำเนิด วันเดือนปีเกิดไม่ปรากฎแน่ชัด หลวงปู่ไสย์ ท่านได้ออกบรรพชาพร้อมกันกับ ตาจันตาสิม ตาสอน พออายุครบอุปสมบทจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จึงออกเดินทางไปยังอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เพื่อศึกษาพระธรรม การปฏิบัติกรรมฐานและได้ร่ำเรียนวิชากับครูบาอาจารย์ที่นั่น เมื่อเวลาล่วงเลยไปพระภิกษุที่เคยบวชพร้อมกับท่าน ก็พากันลาสิกขาเพื่อออกมาช่วยงานทางบ้านกันบ้าง ล้มป่วยเสียชีวิตบ้างก็มี เพราะในสมัยนั้นทางการแพทย์ยังเข้าไปไม่ถึงหมู่บ้านมากนัก ทำให้วัดบ้านม่วงลายกลายเป็นวัดร้าง ที่รกร้างไป เป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้านถึงเรื่องผีสางภายในวัด แม้แต่ชาวบ้านยังไม่กล้าเดินผ่านในยามวิกาล พากันไปนิมนต์พระในพื้นที่ใกล้เคียง ก็ไม่มีพระรูปใดกล้าพอที่จะมาจำวัดม่วงลายนี้ได้เลย จึงได้ปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหานี้ เมื่อได้ข้อสรุปก็ส่งตัวแทนออกเดินทางไปนิมนต์หลวงปู่ไสย์ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี กลับมาจำพรรษาที่ วัดม่วงลาย เพื่อสืบทอดพระพุทธศานาและเป็นขวัญกำลังใจของชาวบ้าน เมื่อพิจารณาดูแล้ว หลวงปู่ไสย์ ท่านจึงรับนิมนต์ชาวบ้าน เพื่อที่จะกลับมายังบ้านเกิด วัดม่วงลายในครั้งนี้

หลังจากการเดินทางกลับมาของ ท่านหลวงปู่ไสย์ เขมิโย วันแรกที่ถึงหมู่บ้านม่วงลาย (ครั้นก่อนเรียกกันว่าบ้านม่วงหลาย เพราะมีต้นมะม่วงเยอะ) หลวงปู่ไสย์ ท่านยังคงไม่เข้าไปในวัดทันที แต่หากท่านกลับไปปักกรดและปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ “ดอนปู่ตา” (ทุกหมู่บ้านของชาวอีสานจะมี “ดอนปู่ตา” เป็นที่ประทับของผีปู่ตาหรือผีอารักษ์ของหมู่บ้าน ชาวบ้านเชื่อว่าดอนปู่ตาเป็นบริเวณพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยส่วนมากจึงไม่กล้าตัดฟันต้นไม้ จับสัตว์ต่างๆ ที่มีในดอนปู่ตามากินเป็นอาหารโดยพละการ) โดยอยู่หลังบ้านคุณตา (นายสีเมือง จันทรังษี) ท่านหลวงปู่ไสย์ ท่านได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่เป็นเวลา ๗ วัน เนื่องจากหลวงปู่ไสย์ ท่านเคร่งครัดในวัตรปฏิบัตรและฉันข้าวเวลาเดียว

หลังจากผ่าน ๗ วันไปแล้วหลวงปู่ไสย์ ท่านจึงเริ่มเข้าจำพรรษาในวัดม่วงลาย ชาวบ้านบางคนถึงกลับเอ่ยออกเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านกำลังแผ่จิตส่งอานิสงฆ์ให้กับผีสางที่คอยวนเวียนอยู่ในวัดและดอนปู่ตาก่อน วันนั้นชาวบ้านทุกคนจึงร่วมกันนิมนต์หลวงปู่ไสย์ ขึ้นกุฏิไม้หลังเล็กไปก่อน แล้วค่อยช่วยกันทำความสะอาดศาลาและถางตัดไม้ที่ขึ้นรกเต็มวัด จึงค่อยๆ พัฒนาให้หลวงปู่ไสย์ ได้จำพรรษาอยู่ในวัดนี้คอยช่วยเหลือชาวบ้าน อบรมสั่งสอนพระพุทธศาสนา ตลอดจนพิธีกรรมทางศาสนา เลยทำให้กำลังใจของคนในหมู่บ้านดีขึ้น ชาวบ้านคนใหนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ท่านก็ทำการจัดสมุนไพรให้นำกลับไปต้มดื่ม คนใหนผีเข้าท่านก็ให้ด้ายสายสิญจน์ นำกลับไปผูกคอผูกแขน อาการผีเข้าก็จะหาย ในทุกๆ วันพระ หลวงปู่ไสย์ ท่านจะให้ชาวบ้านนำดอกไม้คู่เทียนคู่มาถวายพระที่วัดและนำด้ายสายสิญจน์ กลับบ้านไปผูกให้ลูกให้หลาน เพื่อป้องกันภูตผีและคุณไสย์

ด้วยกิจวัตรเคร่งครัดในกรรมฐานของท่านหลวงปู่ไสย์ และอบรมสั่งสอนให้ชาวบ้านหันมายึดเอาพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง ปฏิบัติกรรมฐานและรักษาศีล ดังจะเห็นได้จากคำพูดของคนผู้เฒ่าผู้แก่แซวกันว่า “เส้านิหน่าตาคือใส มื้อคืนเข้ากรรมมาเบาะ” (แปลได้ความว่า “เช้านี้หน้าตาสดใส เมื่อคืนปฏิบัติกรรมฐานมาใช่ไหม”)

หลังจากการปฏิบัติกิจวัตรของท่านหลวงปู่ไสย์ เคร่งครัดทำให้ชาวบ้านเคารพและศรัทธาท่านมากทั้งหมู่บ้านใกล้เคียงและอำเภอใกล้เคียง รวมถึงพระที่อยู่ในพื้นที่ก็ขอมาเป็นศิษย์กับหลวงปู่ไสย์ อาทิ ญาคูปาน (หลวงปู่ปาน คุตตสติ) วัดกุดไผท, ญาคูนอ วัดบ้านกุดแข้, ญาคูนวล วัดตองโขบ, ญาคูสาลี วัดโพนบก, ญาคูอ้วน วัดท่าวัด ฯลฯ ด้วยความที่หลวงปู่ไสย์ ท่านพรรษาแก่กว่า และการปฏิบัติกิจอย่างเคร่งครัดที่พระสงฆ์ควรกระทำอยู่เป็นนิจ ฉันเวลาเดียว ทำให้ท่านมีชื่อเสียงกระฉ่อนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงและพื้นที่รอบนอก มีงานบุญประจำปีชาวบ้านและลูกศิษย์จะช่วยกันทำให้สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี

ด้วยบุญบารมีของท่านเป็นที่ประจักษ์กันดีแก่ชาวบ้านและลูกศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธาจะคอยแวะเวียนกันมาเพื่อสนทนาธรรมและปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงปู่ไสย์ และท่านจะคอยออกไปเยี่ยมเยือนเวลามีกิจนิมนต์ และหนึ่งในลูกศิษย์ที่ท่านไปหาและถ่ายทอดวิชาที่รำเรียนมาให้แก่ศิษย์เป็นประจำ คือ ญาคูปาน (หลวงปู่ปาน คุตตสติ) วัดกุดไผท

และแล้วในช่วง เดือน ๑๑ ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เสียงรัวฆ้องไม้ดังก้องไปทั่วหมู่บ้านม่วงลาย ต้นเสียงมาทางวัดม่วงลาย เป็นเหตุที่ชาวบ้านทุกคนสงสัยรีบพากันเดินทางมุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่ภายในวัด สืบสาวหาสาเหตุ ปรากฏด้วยสิ่งที่ชาวบ้านและศิษย์ต้องอาลัยอย่างยิ่ง ที่ต้องสูญเสียครูบาอาจารย์ ที่เลื่อมใสศรัทธา หลวงปู่ไสย์ เขมิโย ท่านมรณะภาพจากไปอย่างสงบ ทำให้ชาวบ้านม่วงลายพากันเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องสูญเสียเสาหลักสำคัญ ชาวบ้านและศิษย์จึงช่วยกันตัดไม้ต่อโลงให้หลวงปู่ไสย์ เขมิโย และตั้งสวดอภิธรรมศพหลวงปู่ไสย์ ๗ วัน

พร้อมกับตั้งบำเพ็ญครบ ๑๐๐ วัน จึงทำพิธีประชุมเพลิง หลวงปู่สังข์ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า..ในระหว่างที่เพลิงเผาศพหลวงปู่ไสย์ อยู่นั้นมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ตาชอนซึ่งเป็นหลานหลวงปู่ไสย์ ยืนข้างกองเพลิงที่กำลังเผาไหม้ร่างของหลวงปู่ไสย์ ปรากฏมีก้อนเหล็กเปียกที่หลวงปู่ไสย์ ท่านฝังไว้ใต้แขน กระเด็นออกมาจากกองเพลิงตกใส่หลังเท้าตาชอน ทำให้ตกใจวิ่งรอบกองเพลิงอยู่นาน ทำให้ทุกคนที่เห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้นต่างพากันบอกว่าหลวงปู่ไสย์ ท่านมีเจตนาต้องการมอบให้ลูกให้หลาน ไว้เก็บรักษา จึงเป็นวาระสุดท้ายที่ทุกคนเห็นเป็นครั้งสุดท้ายอาลัยยิ่ง

◎ ด้านวัตถุมงคล
(ข้อมูลจากปู่สังข์ท่านเล่าประวัติให้ฟัง) หลวงปู่ไสย์ เขมิโย ท่านสร้างหรือต้องบอกได้ว่า “ตาสีไว” สร้างให้ก็ไม่ผิดหนัก เพราะช่วงนั้นหลวงปู่ไสย์ ท่านสร้างเองมีไม่กี่อย่าง มีชายพเนจรนามว่า ตาสีไว ได้เดินทางร่อนเร่มาจากตัวจังหวัดสกลนคร มาขอพักอาศัยอยู่ในวัดม่วงลายและได้ยินชื่อเสียงและความศรัทธาของชาวบ้านม่วงลาย ประกอบกับได้เห็นกิจวัตร ที่หหลวงปู่ไสย์ ท่านปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงเลื่อมใสศรัทธาขออนุญาตหลวงปู่ไสย์ เพื่อขอสร้างวัตถุมงคลของท่าน หลวงปู่ไสย์ ท่านก็ยินดีไม่ขัดข้อง ตาสีไวจึงลาหลวงปู่ไสย์ กลับเข้าตัวจังหวัดสกลนคร เพื่อดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลในครั้งนั้น เวลาล่วงเลยมาได้สัก ๒-๓ เดือน ตาสีไวจึงได้กลับมาพร้อมวัตถุมงคลที่รับปากหลวงปู่ไสย์ ไว้ นั่นก็คือ “รูปถ่ายขาวดำขอบเครื่องตัดกระดาษโบราณอัดกระจกบางหลังจารมือ” ด้านหลังจารยันต์และเขียนอ่านได้ความว่า “เมตตา มหานิยม ปลอดภัยจากโรคยา และอันตรายทั้งปวง”

หลวงปู่ไสย์ เขมิโย วัดม่วงลาย
รูปถ่ายอัดกระจกหลังจาร หลวงปู่ไสย์ เขมิโย วัดม่วงลาย

หลวงปู่ไสย์ ท่านก็รับมาและทำการอธิฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวใน “สิมน้ำ” (หรือเรียกว่าโบสถ์น้ำ) หนองปลาดุก (เป็นหนองน้ำประจำหมู่บ้าน) เป็นสิมน้ำไม้ที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาประจำวัดม่วงลาย หลวงปู่ไสย์ ท่านปลุกเสกเดี่ยวหนึ่งไตรมาส แล้วจึงได้นิมนต์เจ้าคณะสงฆ์ในตำบลใกล้เคียง เข้าร่วมปลุกเสกอีกรอบ ที่สิมน้ำดังกล่าวฯ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมแล้ว หลวงปู่ไสย์ ท่านจึงได้ให้ตาสีไวนำออกให้เช่าในราคา ๕ บาท โดยให้ชาวบ้านม่วงลายและใกล้เคียงเช่าบูชา ปู่สังข์ช่วงนั้นท่านอายุได้ประมาณ ๑๕-๑๖ ปี เงินทองก็มีไม่มาก ก็ได้ตัดสินใจเช่ามา ๑ ชิ้น (ราคา ๕ บาท) ทั้งที่เสียดายเงินเหมือนกันเพราะ ๕ บาท ในช่วงนั้นถือว่าเยอะพอสมควรถ้าเทียบกับปัจจุบัน

หลังจากชาวบ้านเช่าบูชาเสร็จและวัตถุมงคลที่เหลือ ตาสีไวก็ได้ขอนำติดตัวมาด้วยส่วนหนึ่ง เมื่อไล่เรียงอายุปีในการจัดสร้าง วัตถุมงคลชิ้นนี้จัดสร้างประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งผู้เขียนได้สอบถามผู้ชำนาญด้านการทำรูปถ่ายอัดกระจกและล๊อกเก็ตได้ให้ข้อมูลไว้ว่าวิวัฒนาการกรรมวิธีในการสร้าง ร้านถ่ายรูปตามต่างจังหวัดยังไม่สามารถจัดทำได้ ต้องส่งให้ร้านทางกรุงเทพฯ จัดทำและร้านถ่ายรูปช่วงนั้นที่ทำได้เห็นมีแต่ร้าน “นางเลิ้งอาร์ต” เท่านั้น จึงทำให้ผู้เขียนพิจารณาร้านถ่ายรูปในตัวจังหวัดสกลนคร ที่พอจะเปิดกิจการในช่วงนั้นและอาจจะสามารถทำได้เห็นจะเป็นร้าน “แสงงาม” ซึ่งตั้งอยู่ในตัวตลาดสดสกลนคร เพราะในยุคนั้นรัฐบาลให้ประชาชนทุกคนถ่ายรูปเพื่อติดบัตรประชาชนกันทุกคน

ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า..อาจจะเป็นสองร้านที่กล่าวมานี้เป็นผู้จัดทำวัตถุมงคลชิ้นนี้หรือที่เรียกว่า “รูปถ่ายขาวดำอัดกระจกบางหลังจาร ปี พ.ศ.๒๕๐๐” แล้วแต่ผู้อ่านจะพิจารณาจะเห็นสมควร และวัตถุมงคลชิ้นนี้ก็หายากมากเพราะจำนวนการสร้างไม่มากนำออกมาใส่ตะกร้าหวายให้เช่าประมาณจำนวนได้น่าจะสัก ๒๐๐-๓๐๐ ชิ้นเห็นจะได้ นี้เป็นข้อมูลที่ปู่สังข์ท่านเล่าให้ฟัง ประสบการณ์ไม่ต้องพูดถึงเจอมากับตัวเองแล้ว แม้ข้อความด้านหลังก็บ่งบอกถึงสรรพคุณแล้วครับ

วัตถุมงคลชิ้นนี้เป็นมรดกตกทอดจากคุณตา (นายสีเมือง จันทรังษี) ท่านใช้ติดตัวช่วงออกค้าวัว-ควาย (นายฮ้อย) นั่งหลังม้าต้อนวัว-ควาย ออกไปค้าขายตามอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง เพราะก่อนท่านจะเสียชีวิต ท่านสั่งเสียลูกหลานทุกคน มอบให้คุณพ่อของผู้เขียน เพราะพ่อของผู้เขียนท่านออกทำงานอยู่ต่างประเทศและต่างจังหวัด และคุณตาสีเมืองท่านยังเล่าให้คุณแม่ของผู้เขียนได้ทราบว่า..วัตถุมงคลชิ้นนี้ได้ช่วยชีวิตท่านรอดตายหลายต่อหลายครั้ง จากโจรที่คอยดักปล้นวัวควาย ที่ท่านออกไปค้าขาย

คุณตาสีเมืองท่านเล่าให้คุณแม่ได้รับทราบและให้ข้อมูลผู้เขียนได้นำมาข้อมูลมาลงเขียน คุณตาท่านถูกโจรดักยิงด้วยอาวุธปืนเข้าที่หน้าอกตกลงจากหลังม้า และยิงต่อสู้กัน (ปืนกิ๊บ หรือปืนลูกกรด หรือปืนบรรจุลูกใส่ดินปืนทางอีสานเรียกกัน) หลังจากสิ้นเสียงปืนต่างพากันกรูใช้ดาบ เข้าปะทะกันอีกฝ่ายเพื่อรักษาชีวิตและวัวควายที่พากันต้อนมา อีกฝ่ายเพื่อแย่งชิงวัวควาย แต่ลูกปืนได้ระคายผิวของท่านไหม มีแต่รอยลูกปืนที่ทำให้เสื้อขาดเป็นรู วัตถุมงคลที่คุณตานำติดตัวอยู่เสมอเวลาออกไปค้าขาย คือ “เสื้อกั๊กแดง” (หรือเสื้อยันต์แดงและอักขระจารมือ) และตะกรุตคาดเอวของหลวงปู่ไสย์ ช่วงนั้นชาวบ้านและคุณตาที่ทำอาชีพค้าขายวัวควายได้นำเรื่องมาเล่าให้หลวงปู่ไสย์ ทราบถึงโจรที่คอยดักปล้น ต่างพากันขอหลวงปู่ไสย์ ไว้ติดตัวเพื่อช่วยคุ้มภัยอันตรายที่อาจเกิดกับชีวิต ท่านจึงเป็นกังวลจึงดำริให้ชาวบ้านที่มีฝีมือเย็บผ้าได้ทำการตัดเย็บเสื้อให้แต่ด้วยช่วงนั้นห่างไกลตัวจังหวัดมาก ผ้าที่มีก็เย็บได้จำกัดเพียง ๑๐ ตัว ท่านจึงได้จารยันต์และอักขระลงบนเสื้อแดงเต็มผืนผ้า และยังทำตะกรุดคาดเอวเพิ่มอีก แต่จำนวนการจัดสร้างไม่แน่ชัด จึงทำการปลุกเสกพร้อมกันเป็นระยะเวลาอยู่นานพอสมควร แล้วก็นำมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านนำติดตัวไปพร้อมเวลาออกไปค้าขาย

คุณตาสีเมืองท่านมีอายุมากกว่าคุณปู่สังข์ ๑๐-๑๓ ปี เห็นคุณปูสังข์ท่านเล่าให้ฟัง หลังจากที่คุณตาสีเมืองได้เสียชีวิตไปอย่างสงบ คุณน้าจึงได้มอบเสื้อยันต์ที่อยู่บนหิ้งพระให้คุณพ่อของผู้เขียน ส่วนตะกรุตคาดเอวไม่ทราบลูกหลานคนไหนหยิบไป ประสบการณ์ตรงที่ผู้เขียนอยากนำเสนอให้ทราบข้อมูลของครูบาอาจารย์ (หลวงปู่ไสย์ วัดม่วงลาย ผู้เป็นอาจารย์ของ หลวงปู่ปาน วัดกุดไผท คงเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่าน

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากพี่ นายช่าง ภูธร