ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล
วัดอนาลโยทิพยาราม
ต.สันป่าม่วง อ.เมือง จ.พะเยา
หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล ท่านมีปฏิปทาเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านในเขตจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียง ท่านเป็นพระกัมมัฏฐาน มีความเคร่งครัดต่อการฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยกิตติศัพท์ แห่งคุณงามความดีที่ท่านได้ฟื้นฟูสภาพจากสำนักสงฆ์วิปัสสนาที่ไม่มีอะไรเลย จนกลายเป็นวัดที่โดดเด่น คือ วัดอนาลโยทิพยาราม จนเป็นที่นับถือเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล ท่านมีนามเดิมว่า “ไพบูลย์ สิทธิ” เกิดเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นบุตรของคหบดีชาวอำเภอเกาะคา
โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายกองแก้ว และ นางคำสิทธิ สมัยวัยเยาว์ ท่านก็ได้ประสบพบเห็นแต่สิ่งที่ชักจูงใจให้ใฝ่แต่การบุญ สิ่งที่ชวนให้พิจารณาทุกข์ของสัตว์โลกตลอดมา
ในวัยเยาว์ ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ จ.เชียงใหม่ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ก่อนไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตน จนอายุ ๒๙ ปี จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดป่าสำราญนิวาส อ.เกาะคา จ.ลำปาง มี พระครูธรรมวิวัฒน์ วัดเชตวัน จังหวัดลำปางเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “สุมังคโล” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้มีมงคลดีพร้อม“
หลังจากที่หลวงพ่อได้จำพรรษาและศึกษาธรรมกับ “หลวงปู่หลวง กตปุญโญ” เจ้าอาวาสวัดป่าสำราญนิวาส จนเข้าถึงแก่นธรรมได้ระดับหนึ่งแล้ว ท่านจึงได้ขยายความเข้าใจเพิ่มเติมโดยการออกเดินธุดงค์ตามป่าเขาและตั้งใจทำความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว ท่านว่าเมื่อนั่งภาวนาและเกิดนิมิตผุดขึ้นมาในดวงจิต อย่าได้ตื่นเต้นคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ ให้มีสติคุมรู้เท่าทันและพิจารณาด้วยหลัก ๒ ประการ คือ
๑. ไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกสิ่งเป็นทุกข์ ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตน
๒. อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พิจารณาเหตุให้เกิดทุกข์ ธรรม เป็นเครื่องดับทุกข์และข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์
หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล ท่านว่า… “สิ่งที่จริง ก็รู้เอง สิ่งที่ไม่จริง ก็แยกแยะได้”
เมื่อมีความก้าวหน้าจากการปฏิบัติธรรมแล้ว ได้ออกท่องธุดงค์ไปจำพรรษาในภาคอีสาน และกลับธุดงค์ขึ้นมาแถบป่าเขาในเขตเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย
พ.ศ.๒๕๑๓ หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล ได้มีโอกาสไปร่วมงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์สม ที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และได้พบกับ พระอาจารย์ทอง ที่เดินทางมาจากวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ จึงได้ชักชวนหลวงพ่อไพบูลย์ออกเดินธุดงค์หาความวิเวกคณะของหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโลท่านได้ผ่าน มาถึง จ.พะเยา ได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่วัดร้างและจำพรรษา ณ วัดร้างแห่งนี้ ชาวบ้านแถบนั้นได้มาทำบุญฟังเทศน์ เกิดความเลื่อมใสศรัทธา พากันอาราธนาให้ท่านอยู่ ช่วยบูรณะวัดร้างขึ้นใหม่ อยู่ช่วยปฏิสังขรณ์วัดร้าง จากสภาพวัดร้าง จนมีสภาพดีขึ้นตามลำดับ พร้อมกันนี้ได้ยื่นหนัง สือขอสร้างวัดไปยังกรมการศาสนา ได้รับอนุญาต ให้สร้างเป็นวัดในพระพุทธศาสนา มีนาม “วัดรัตนวนาราม“
ต่อมาได้มี ชาวบ้านจากบ้านสันป่าม่วง บ้านสันบัวบก บ้านสันป่าบง เข้ามาอาราธนาท่านไปดูสถานที่สำคัญ บนดอยสูง ฝั่งกว๊านพะเยาด้านตะวันตก เพื่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์ไว้เป็นที่บำเพ็ญกุศลของชาวบ้าน สำนักสงฆ์แห่งนี้ ในเวลาไม่นาน ได้รับการยกฐานะให้เป็นวัด ชื่อ “วัดอนาลโยทิพยาราม” โดยได้รับประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการ อนุญาตให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์ วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๐
◎ ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.๒๕๑๗ เป็น พระครูปลัด ฐานานุกรมใน พระเทพวราภรณ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ
พ.ศ.๒๕๒๔ เป็น พระครูปลัดสัมพิพัฑฒญาณาจารย์ สัทธรรมปฏิภาณปริยัติโกศล โสภณอาจารวัตร มหาสังฆนายก ธรรมยุตติกดิลก สถาวีรกิจจการี ฐานานุกรมใน สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร
๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๒ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระปัญญาพิศาลเถร
๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชสังวรญาณ พิศาลพัฒนกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระเทพวิสุทธิญาณ ภาวนาวิธานปรีชา ศาสนภารธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระธรรมวิสุทธิญาณ ภาวนาวิธานปรีชา ญาณธรรมปคุณ ไพบูลศาสนกิจจาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
◎ ผลงานด้านการพัฒนา
พระธรรมวิสุทธิญาณ วิ. หรือ หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล เป็นผู้อุปถัมภ์ในการก่อสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ ๘ โรงพยาบาลอานันทมหิดล จ.ลพบุรี ท่านได้ช่วยจัดหาทุนจ้างครูไปสอนเด็กในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนบ้านภูเงิน อีกทั้งยังได้มอบทุนแก่คณะครูที่ปฏิบัติดีเด่นประจำปี และอุปถัมภ์ในการสร้างอุโบสถวัดป่าสำราญนิวาส
พระธรรมวิสุทธิญาณ วิ. (หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล) ได้มอบทุนการศึกษา ให้แก่เด็กนักเรียนยากจนเป็นประจำทุกปีๆ ละ ๑,๐๐๐ ทุนๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท ได้จัดสร้าง พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ทูลเกล้าฯถวาย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประดิษฐานประจำที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอของจังหวัดเชียงราย เป็นต้น
◎ ผลงานด้านการศึกษา
หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล ท่านได้ให้ความสำคัญด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยถือว่าเป็นรากแก้วสำคัญของพุทธศาสนา เพราะภาษาบาลีเป็นภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด การศึกษาพระบาลี ดุจเป็นการได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา และได้สดับฟังพระสัทธรรมจากเบื้องพระพักตร์ ยิ่งศึกษายิ่งเกิดกุศลบุญ
หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล ท่านได้มอบหมายให้ท่านพระครูปลัดพิศิษฐ์ (ครูบาอั๋น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสเป็นอาจารย์ใหญ่ บริหารจัดการ เปิดการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕ จนถึงปัจจุบัน โดยมีนักเรียนผู้สอบพระปริยัติธรรมแผนกธรรมบาลี รวมประโยคต่างๆ จำนวน ๕๔ รูป และที่สำนักเรียนแห่งนี้ ส่งนักเรียนสอบครบทุกประโยค ตั้งแต่ประโยค ๑-๙
พระธรรมวิสุทธิญาณ ได้รับเป็นประธานจัดสร้างวัดพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ (เฉลิมพระเกียรติ ครบ ๒๐๐ ปี) ต.วิเชตนคร อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เป็นวัดที่คณะกรรมการบริหารคณะธรรมยุต ได้อนุมัติให้สร้างขึ้นในปีมหามงคล
วโรกาสคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ครบ ๒๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗ แห่งรัชกาลที่ ๔ ผู้ทรงสถาปนาคณะสงฆ์ธรรมยุต เพื่อเป็นการประกาศพระเกียรติ คุณของพระองค์ให้แผ่ไพศาลและสนองพระคุณูปการและเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรม อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
หลวงปู่ไพบูลย์ สุมงฺคโล เป็นพระเถระที่มีปฏิปทา เป็นพระกัมมัฏฐานในสาย พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านในเขตจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียง ท่านมีความเคร่งครัดต่อการฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยกิตติศัพท์แห่งคุณงามความดีที่ท่านได้ฟื้นฟูสภาพจากสำนักสงฆ์วิปัสสนาที่ไม่มีอะไรเลย จนกลายเป็นวัดที่โดดเด่น คือ วัดอนาลโยทิพยาราม จนเป็นที่นับถือเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
แม้ทุกวันนี้ หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล วัดอนาลโยทิพยาราม จะดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการชั้นผู้ใหญ่ แต่วัตรปฏิบัติท่านยังคงเรียบง่ายดุจเดิม ยังคงให้การอบรมศีลธรรมแก่สาธุชนที่เข้ามาทำบุญฟังธรรม เน้นให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระ พุทธศาสนา ตามหลักเบญจศีล เบญจธรรม เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้เป็นปกติสุขในสังคม แม้สังขารเริ่มโรยราไปบ้างตามกาลเวลา แต่จิตใจของท่านยังเข้มแข็ง เป็นบุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตที่ดีงามโดยแท้
อนึ่ง “หลวงปู่หลวง กตปุญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสำราญนิวาส ผู้เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อไพบูลย์ ในสมัยที่หลวงปู่หลวงยังมีชีวิตอยู่ท่านเคยกล่าวยกย่อง หลวงพ่อไพบูลย์ไว้หลายประการ เช่น
๑. หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล เป็นพระที่เก่งนิมิตจากการปฏิบัติธรรม แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ท่านทรงโปรดให้พระอาจารย์ไพบูลย์แปลพระนิมิตที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมของพระองค์บ่อยครั้ง
๒. หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล เป็นพระที่เปี่ยมด้วยจาคะเสียสละด้วยการให้ ไม่ว่าจะเป็นให้ (ทาน) ให้อภัย เป็นพระสุปฏิบัติที่ปรารถนาพระโพธิญาณในอนาคตกาล”
ปัจจุบัน หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล ท่านได้มาพำนักจำพรรษาที่ “สำนักสงฆ์ดอยเทพนิมิตสุดเขตสยาม” ต.ห้วยเม็ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๔-๕-๖-๗ (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดอนาลโยทิพยาราม ต.สันป่าม่วง อ.เมือง จ.พะเยา
นับได้ว่าองค์ท่านหลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล ถือเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ ที่กราบไหว้บูชาได้อย่างสนิทใจในยุคปัจจุบันด้วยว่าเปี่ยมไปด้วยกระแสแห่งความเมตตา อันหาประมาณมิได้ต่อศิษยานุศิษย์ผู้คนทุกชนชั้น
แม้ทุกวันนี้ หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล จะดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการชั้นผู้ใหญ่ แต่วัตรปฏิบัติท่านยังคงเรียบง่ายดุจเดิม ยังคงให้การอบรมศีลธรรมแก่สาธุชนที่เข้ามาทำบุญฟังธรรม เน้นให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระ พุทธศาสนา ตามหลักเบญจศีล เบญจธรรม เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้เป็นปกติสุขในสังคม แม้สังขารเริ่มโรยราไปบ้างตามกาลเวลา แต่จิตใจของท่านยังเข้มแข็ง เป็นบุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตที่ดีงามโดยแท้
เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๔ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระธรรมวิสุทธิญาณ ขึ้นเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ในราชทินนามว่า “พระพรหมวชิรคุณ วิบูลประชาพัฒนาการ ภาวนาวิธานโกศล วิมลศาสนกิจดิลก สาธกธรรมวิจิตร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม จังหวัดเชียงราย”
ในพรรษาปีนี้ พ.ศ.๒๕๖๖ พระพรหมวชิรคุณ (หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล) ท่านพำนักจำพรรษาที่ วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย
◉ มรณภาพ
พระพรหมวชิรคุณ (หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล) ท่านได้ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๑๗.๒๔ น. ตรงกับวันอังคารที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๖ ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ สิริอายุรวมได้ ๘๙ ปี ๑ เดือน ๒๓ วัน