วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

หลวงปู่แสง ญาณวโร พระอริยเจ้าผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่แสง ญาณวโร (จันดะโชโต) วัดป่าดงสว่างธรรม บ้านดงสว่าง ต.โคกนาโก อ. ป่าติ้ว จ.ยโสธร

หลวงปู่แสง ญาณวโร

หลวงปู่แสง ญาณวโร เดิมชื่อ นายแสง ดีหอม เกิดเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๖๗ อ. ฟ้าหยาด จ. อุบลราชธานี (๑๗ เมษายน ๒๔๘๒ กระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนชื่อ อ.ฟ้าหยาด เป็น อ.มหาชนะชัย และเมื่อ ๑ มีนาคม ๒๕๑๕ อ.มหาชนะชัย ย้ายไปขึ้นกับ จ. ยโสธร จนถึงปัจจุบัน)

อุปสมบทเมื่อ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๐ ณ วัดศรีจันทร์ อ. เมือง จ. ขอนแก่น

ท่านได้จำพรรษา วิเวกธุดงค์ทั้งในประเทศไทย ลาว และพม่า

หลวงปู่แสง ญาณวโร
หลวงปู่แสง ญาณวโร วัดป่าดงสว่างธรรม

ประวัติการจำพรรษา วิเวกธุดงค์และไปมาหาสู่กับพระรูปต่างๆ

  • ศึกษาหลักธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร (ช่วงบั้นปลายของท่านอาจารย์มั่นที่อยู่บ้านหนองผือ)
  • หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่ จ. เลย (พ.ศ.๒๔๙๔-๒๔๙๖)
  • พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ได้ร่วมสร้างวัดถ้ำขาม (พ.ศ. ๒๔๙๗)
  • หลวงปู่เทศก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย (๑ พรรษา)
  • หลวงปู่บัว สิริปุณโณ วัดราษฎร์สงเคราะห์ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี (๒๐ พรรษา)
  • พระอาจารย์แบน ธนากโร ได้ร่วมสร้างกุฏิศาลาที่วัดธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
  • หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
  • หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี ได้ร่วมธุดงค์ที่ภูวัว
  • หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
  • หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ อ.วังสะพุง จ.เลย
  • หลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้วิเวกธุดงค์ที่ภูเกล้า ภูเวียง จ.ขอนแก่น
  • หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย – ได้วิเวกธุดงค์ด้วยกันที่วัดดอยหินหมากเป้ง
  • หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร วัดป่านาสีดา จ.อุดรธานี ได้วิเวกธุดงค์ด้วยกันที่ อ.ผือ อ.สามพราน และ อ.น้ำโสม
  • พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ, พระอาจารย์วัน อุตตะโม หลวงปู่หล้า เขมปัตโต และพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร ได้วิเวกธุดงค์ร่วมกันที่ถ้ำสาลิกา ภูสิงห์ ภูทอง ภูพานคำ และ ภูทอก ฯลฯ
  • หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร วัดป่าวังเลิง จ.มหาสารคาม ได้จำพรรษาด้วยกัน (พ.ศ. ๒๕๓๒ – ๒๕๓๓)
  • ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ จำพรรษา ที่วัดป่าอรัญญาวิเวก บ้านไก่คำ จ.อำนาจเจริญ
  • ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ – ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ จำพรรษาที่วัดป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (เสนาสนป่าโคกค่าย)
    บ้านหนองไฮน้อย ต.หนองข่า อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ
  • ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ จำพรรษาที่วัดป่านาเกิ้งญาณวโร บ้านนาเกิ้ง อ.เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ
  • ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จำพรรษาที่ วัดป่ามโนรมย์สมประสงค์ (สำนักสงฆ์ภูทิดสา)
    บ้านห้วยฆ้อง ตำบลหนองข่า อำเภอ ปทุมราชวงศา จัดหวัด อำนาจเจริญ
  • ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ สำนักสงฆ์บ้านเวินชัย อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร

ปัจจุบัน หลวงปู่แสง ญาณวโร จำพรรษา ที่ วัดป่าดงสว่างธรรม บ้านดงสว่าง ต.โคกนาโก อ. ป่าติ้ว จ.ยโสธร ปัจจุบันอายุ ๙๗ ปี พรรษา ๗๔ (พ.ศ.๒๕๖๓)

วัดป่าดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
หลวงปู่แสง ญาณวโร

ก่อนหน้านี้หลายๆท่านคงคุ้นเคยกับฉายาของท่านคือ หลวงปู่แสง ญาณวโร หลวงปู่ท่านได้เมตตาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังถึงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนฉายาจาก “ญาณวโร” เป็น “จันดะโชโต เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๗ หลวงปู่ท่านได้เล่าให้ฟังว่า

สมัยที่ท่านหนุ่ม ๆ ท่านได้เดินทางไปธุดงค์ที่ จ.อุดรธานี เพื่อที่จะไปปักกรดที่วัดร้างแห่งหนึ่ง ทางที่จะไปนั้น ต้องนั่งเรือข้ามห้วยชื่อว่า “ห้วยหลวง” ขณะที่หลวงปู่ท่านกำลังนั่งเรืออยู่นั้น เรือได้เกิดพลิกคว่ำ ทำให้บาตรของหลวงปู่ได้หล่นน้ำ ซึ่งในบาตรนั้นได้มีสูจิบัตรพระอยู่ด้วย ทำให้สูจิบัตรของหลวงปู่ท่านได้ลอยหายไปกับกระแสน้ำ หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ได้ไปทำสูจิบัตรพระใหม่ซึ่งหลวงปู่ท่านมาเห็นในภายหลังว่า เจ้าหน้าที่พิมพ์ฉายาให้ท่านผิดไปเป็นฉายา “ญาณวโร” โดยแท้จริงแล้วหลวงปู่ท่านได้ใช้ฉายา “จันดะโชโต” มาตั้งแต่ต้น จึงทำให้หลวงปู่ได้ใช้ฉายา “ญาณวโร” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเป็นเวลาหลายปี

จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๕๗ หลวงปู่ท่านได้มอบหมายให้พระครูสุทธิพรหมคุณ (สุทธิพงศ์ ชนุตตโม) เจ้าอาวาสวัดป่าวังเลิง เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม ให้ดำเนินการ ในการเปลี่ยนฉายาของหลวงปู่กลับมาเหมือนเดิม จาก “ญาณวโร” เป็น “จันดะโชโต” ซึ่งเป็นฉายาที่แท้จริงของหลวงปู่ และหลวงปู่ยังได้กล่าวอีกว่า “จันดะโชโต” มีความหมายว่า “ผู้ที่รุ่งเรือง” หลวงปู่ท่านเคยจำพรรษาที่วัดป่าวังเลิง จ.มหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ – ๒๕๓๓

โอวาทธรรม หลวงปู่แสง ญาณวโร

“ได้เกิดมาอัตภาพนี้ บ่บ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์ ให้ตั้งใจทำความดี ให้เป็นหน้าเป็นตาพ่อแม่ สมกับที่ร่างกายนี้พ่อแม่ให้มา ให้คนเขาได้ย่อง ว่าลูกพ่อนั่นแม่นี่”

“เห็นบ่ว่ามันทุกข์ส่ำได๋ เกิดมามันทุกข์ อย่าสุอยากพากันมาเกิดหลาย”

“พากันคิดบ่จะตายมื้อได๋ มัวหลงโลกอยู่เด้อ ให้รีบสร้างความดีเข้า จะได้เป็นที่พึ่งได้ จนที่สุดบ่ต้องมาเกิดอีก”

“เขาว่าให้เฮา เฮาบ่ไปรับเอา แนวบ่ดีมันกะตกอยู่นำผู้นั้น เฮากะฮู้อุเบกขาอยู่ วางเฉยบ่ยินดีนำเขาว่า รู้แล้วกะวาง บ่หลงไปนำคำคน ไผเฮ็ดแนวได๋กะได้แนวนั้น ความดีความชั่วโตเฮาทำเอง บ่มีไผมาให้ดีให้ชั่วเฮาได้ เฮาสิดีกะย่อนเฮาทำดี เฮาสิชั่วกะย่อนเฮาทำชั่ว บ่มีไผมาเฮ็ดดี เฮ็ดชั่ว ให้เฮาได้ สรรเสริญ นินทามันเป็นธรรมประจำโลก อย่าไปหลงนำมัน คั่นไปหลงนำมัน มันกะเดือดร้อน ไปรับเอาฟืนเอาไฟมาเผาใจเจ้าของ เป็นเดือดเป็นร้อนขึ้นมา ฮู้จักอุเบกขา วางเฉย ใจมันกะร่มเย็น”

“ให้เอาชนะกิเลสตัวเอง อย่าไปเอาชนะกิเลสคนอื่น ชนะกิเลสในใจตนได้แล้ว ขี้นชื่อว่าชนะทุกสิ่งในโลกนี้ กิเลสอยู่ขอบฟ้ามหาสมุทรไหนก็ชนะทั้งหมด ถ้าเราชนะตัวเราแล้ว”

“มีแต่คนแตกกันซวดๆพากันมาเกิดมาตายหลายโพด คนทุกคนที่มานี่มีจิตมีใจกันเบิดทุกคนเด้อ ผู้หญิงก็มีใจ ผู้ชายก็มีใจ คนเฒ่าคนแก่ก็มีใจ พระเณรก็มีใจ อันได๋ๆกะว่าลงอยู่ใจนี่เด้อ ดีชั่วกะอยู่ใจเด้อ สะอาดกะอยู่ใจนี่ สกปรกกะอยู่ใจนี่ ถ้าใจมันสกปรกกะให้ชำระซักฟอกมันออก ให้มันสะอาดขึ้นมา เอาธรรมะเป็นเครื่องชำระซักฟอก ให้มีศีล ให้มีสมาธิ ให้มันเกิดสติ ให้มีปัญญากำกับรักษาใจ ให้มีสติปัญญากำกับรักษาใจไปตลอด เฮ็ดขึ้นทำขึ้นภายในใจเจ้าของ ใจนี่พาเกิดพาตายมานนานแล้ว”