วันจันทร์, 9 กันยายน 2567

หลวงปู่แผลง สุจิตฺโต พระมหาเถระผู้มีจิตพุ่งตรงต่อธรรมดั่งแผลงศร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่แผลง สุจิตฺโต

วัดป่าโนนสว่าง
อ.นายูง จ.อุดรธานี

หลวงปู่แผลง สุจิตฺโต วัดป่าโนนสว่าง ต.นายูง อ.นายูง จ.อุดรธานี
หลวงปู่แผลง สุจิตฺโต วัดป่าโนนสว่าง ต.นายูง อ.นายูง จ.อุดรธานี

หลวงปู่แผลง สุจิตฺโต ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่เคยติดตามกองทัพธรรมไปเผยแผ่ธรรมถึงภาคใต้ และเป็นศิษย์ของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่แผลง ท่านเลิศในการธุดงค์อยู่ป่าเป็นวัตร อยู่รุกขมูลตามป่าทั้งภาคอีสานและภาคเหนือร่วมกับชาวเขาและเคยเดินเท้าไปถึงประเทศลาว หลวงปู่แผลง ท่านมีความชำนาญในเชิงช่าง ได้ไปช่วยหลวงปู่เจี๊ยะ สร้างอุโบสถที่วัดเขาแก้ว จ.จันทบุรี องค์ท่านมีเมตตามาก จึงขอน้อมนำประวัติและปฏิปทามาเผยแผ่ เพื่อน้อมเป็นมรณานุสติ และสังฆานุสติครับ

◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่แผลง สุจิตฺโต อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าโนนสว่าง อ.นายูง จ.อุดรธานี ถือกำเนิดตรงกับวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๗ มีนามเดิมว่า แผลง เกิดในสกุล อรพิมพ์ โดยมี นายพั้ว อรพิมพ์ เป็นบิดา และนางแพง อรพิมพ์ เป็นมารดา ท่านเกิดที่ ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จังหวัดหนองคาย และได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ อําเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย จนกระทั่งอายุได้ ๑๘ ปี จึงได้ออกบรรพชาเป็นสามเณร

◉ อุปสมบท
สามเณรแผลง อรพิมพ์ ได้อยู่ศึกษาขอวัตรปฏิบัติที่วัดพระงามศรีมงคลกับท่านพระอาจารย์อ่อนสี สุเมโธ จวบจนอายุได้ ๒๑ ปี ท่านพระอาจารย์จึงอนุญาตให้สามเณรแผลง อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๗ เวลา ๑๓.๑๐ น. ณ พัทธสีมาวัดพระงามศรีมงคล ตําบลน้ำโมง อําเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โดยมี พระวิชัยมุณี เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ เจ้าอธิการอ่อนสี สุเมโธ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เจ้าอธิการสวาสดิ์ ยุตฺธมฺโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า “สุจิตฺโต” แปลว่า “ผู้มีจิตดี ผู้คิดดี ผู้ทำดี มีจิตตั้งตรงไว้ชอบแล้ว”

หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ (พระครูสีลขันธ์สังวร) วัดพระงามศรีมงคล
หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ (พระครูสีลขันธ์สังวร) วัดพระงามศรีมงคล

หลังจากที่ท่านได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว พระแผลง สุจิตฺโต ก็ได้อยู่ศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน อยู่กับท่านพระอาจารย์อ่อนสี สุเมโธ (พระครูสีลขันธ์สังวร) ที่วัดพระงามศรีมงคลเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงกราบขออนุญาตท่านพระอาจารย์อ่อนสี ไปอยู่ศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน อยู่กับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) ณ วัดหินหมากเป้ง ต่อมาก็ได้จาริกไปทางภาคใต้กับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และได้อยู่จําพรรษาที่วัดนิโรธรังษี อําเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พํานักอยู่เพื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่นั่น ๑ พรรษา

เมื่อออกพรรษาจึงได้จาริกกลับขึ้นมาทางภาคอีสาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ได้อยู่จําพรรษาที่วัดศรีชมชื่น บ้านนาสีดา กับหลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร ซึ่งเป็นวัดเก่าที่ตั้งอยู่ที่ทิศใต้ของบ้านนาสีดา ปัจจุบันได้พัฒนาเป็น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก่อนที่จะย้ายมาตั้งอยู่ที่วัดป่านาสีดา ในปัจจุบัน

หลังจากนั้นหลวงปู่แผลง จึงได้ออกธุดงค์ตามเทือกเขาภูพานมาจนถึงวัดป่าโนนสว่าง (ตําบลหนองแวง อําเภอบ้านผือ) ปัจจุบันเป็นตําบลนายูง อําเภอนายูง ในช่วงเวลาขณะนั้นได้มีท่านพระอาจารย์สิงห์ ปัญญาวุฒโท เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าโนนสว่าง ท่านเห็นว่าหลวงปู่แผลง สุจิตฺโต มีความสามารถในงานช่าง ท่านพระอาจารย์สิงห์ จึงได้ขอให้หลวงปู่แผลงอยู่ เพื่อช่วยเหลือในการดําเนินงานก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังแรก รวมทั้งเสนาสนะที่พักภิกษุสงฆ์ สามเณร อยู่เป็นระยะ เวลาหนึ่ง จากนั้นหลวงปู่ ก็ได้เที่ยวจาริกไปแสวงธรรมในสถานที่ต่างๆ แถบเทือกเขาภูพาน เช่น ถ้ำเพียงดิน, ถ้ำเหล็ก, ถ้ำพระ, ผาแดง, ภูนกกระบา, ผาตากเสื้อ เป็นต้น

◉ ความเป็นมาของบ้านสว่าง บ้านปากราง
เดิมที่บ้านสว่างและบ้านปากราง ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดป่าโนนสว่าง ก่อนนั้นเคยเป็นบ้านนาหมีมาก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าบ้านนาหมีนั้น ได้มีกล่าวถึงในประวัติพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อาจารย์ใหญ่สายกรรมฐานได้กล่าวถึงบ้านนาหมี และยังมีพระเถรานุเถระ ที่เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่นหลายท่านด้วยกัน เช่นหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ได้แวะเวียนมาพํานักเพื่อบําเพ็ญสมณะธรรมอยู่ที่บ้านนาหมี

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เคยกล่าวถึงองค์พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในสถานที่นี้ไว้อย่างน่าฟังว่า “..เรื่องความทรมานใครจะไปเกินหลวงปู่มั่น ความทรมานเรามาพูดนี้ขี้ปะติ๋วนะ เราจะไปเทียบกับหลวงปู่มั่นไม่ได้เลย ฟังซิมันคนละโลก ท่านทรมานมากยิ่งกว่าเรา ไปอยู่ในป่าในเขา ที่ไหนที่ลำบากลำบนท่านไปอยู่ทั้งนั้น ๆ ฟังซิน่ะ อย่างที่ว่านาหมีนายูงเป็นต้น

นาหมีนายูงเดินเข้าไปนั้นมันใกล้เมื่อไหร่วัดธรรมอินทร์ (ใกล้วัดป่านาคำน้อย ของหลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสฺสโก)น่ะ มีแต่ดงแต่ป่า พวกสัตว์พวกเสือพวกเนื้อเต็มไปหมด ไปบิณฑบาตเอาไม้ลำเท่านี้ละเป็นไม้เท้า เขาวิตกวิจารณ์กลัวแทนท่าน ไปบิณฑบาต มาจากภูเขาท่านก็ค่อยมาของท่านแหละ ทีนี้พวกสัตว์พวกเนื้อพวกเสือเต็ม หมีเต็ม เขาก็เลยทำไม้เท้าให้ สับแล้วให้ท่านเดินไปสักเท้าป๊อกแป๊ก ๆ แล้วเคาะนั้นเคาะนี้ไป กลัวจะไปเจอหมี ท่านว่างั้นนะ เขาบอกว่ากลัวจะเจอหมี หมีเจอคนมันมักจะทำลายคนเสียก่อน มาตบแล้วกัดแล้วไป ส่วนเสือไม่ได้พบมันแหละท่านว่างั้น เพราะเสือสติดีไม่พบมันง่าย ๆ ไม่วิตกวิจารณ์อะไรกับเสือ แต่กับหมีนี้เป็นได้

เขาทำให้เราก็ถือไปอย่างนั้นแหละ ท่านว่างั้น ท่านไปของท่านอย่างนั้น ลำบากลำบนมากพ่อแม่ครูจารย์มั่น ไปบิณฑบาตบางทีเป็นเดือนฉันแต่ข้าวเปล่า ๆ ทั้งนั้น ท่านว่า คือเขาว่ากรรมฐานนี้ท่านฉันถั่วฉันงา เขาไม่มีถั่วมีงาเขาก็ไม่ใส่บาตรให้ มีแต่ข้าวเปล่า ๆ เขาเอาข้าวเปล่า ๆ ใส่บาตรให้ เราก็ฉันแต่ข้าวเปล่า ๆ มันไม่มีถั่วมีงา ความคิดเห็นของเขาเป็นอย่างนั้น เขาว่าพระกรรมฐานท่านฉันแต่ถั่วแต่งา เขาไม่มีถั่วมีงาเขาก็เอาข้าวเปล่า ๆ ให้ เป็นเดือน ท่านว่า นั่นเห็นไหมทรมานไหม

เรื่องความกลัวนี่รู้สึกท่านจะไม่กลัวนะ ไปอยู่ได้หมดเลย ที่ไหนได้หมด มีแต่สถานที่เป็นภัยเกี่ยวกับเรื่องสัตว์ร้าย ท่านอยู่ทั้งนั้นแหละ นี่ละท่านสมบุกสมบันมากขนาดไหน เราอย่าเอามาพูดเลยเรื่องของเรา เมื่อเกี่ยวกับท่านแล้วล้มไปเลยเรื่องเรา ท่านเป็นประจำ แต่ก่อนท่านบุกเบิกกรรมฐานท่านเป็นองค์แรกไปเลย เราเดินตามท่าน ท่านเป็นกรรมฐานท่านเดินหน้า ทุกข์ยากลำบากทุกอย่างอยู่กับท่านหมดนั่นแหละ นั่นละได้ธรรมมาสอน..”

ปัจจุบันคือที่ตั้งโรงเรียนบ้านสว่าง-ปากราง ชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ฟังว่า เหตุที่ต้องแยกย้ายกัน เป็นบ้านสว่างและบ้านปากรางนั้นว่าแต่ก่อนนี้ที่บ้านนาหมี ได้เกิดโรคระบาดขึ้น ทําใหผู้คนล้มตายกันเป็นจํานวนมาก ชาวบ้านในสมัยนั้นมีความเชื่อกันว่าเป็นผลจากการกระทําจากผีร้าย เลยเกิดความหวาดกลัวในสิ่งที่เกิดขึ้น จึงแยกย้ายกันออกไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนาของแต่ละคน ต่อมาจึงได้มีผู้คนย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ด้วยจนเป็นหมู่บ้านขึ้น

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ – ๒๕๐๘ ได้จาริกไปทางภาคเหนือโดยมีสามเณรบุญมี สมสาย (ปัจจุบันเป็น พระครูวิศาลปัญญาคุณ (บุญมี มงฺคโล) เจ้าคณะอําเภอน้ำโสม(ธ) ) ติดตามไปด้วย

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ หลวงปู่แผลงก็ได้จาริกกลับมายังบ้านสว่างปากรางและได้อยู่พํานักจําพรรษาที่วัดป่าโนนสว่าง หลวงปู่ได้นําศรัทธาญาติโยม สร้างเสนาสนะขึ้นและซ่อมแซมศาลาการเปรียญ เนื่องจากว่าในสมัยนั้น ตัวศาลาการเปรียญ ยังไม่ได้ใช้วัตถุที่พอจะมั่นคงถาวร จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่บ่อยครั้ง

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ หลวงปูได้จาริกแสวงธรรมไปยังประเทศลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และได้อยู่จําพรรษาที่วัดดงนาซก และยังช่วยสั่งสอนให้ชาวบ้านหันมาถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ซึ่งเมื่อก่อนชาวบ้านพากันถือผี หลวงปู่แผลงก็ช่วยสั่งสอน จนชาวบ้านเลิกถือผี หันมาสมาทานศีล ถือพระรัตนตรัยกันจนหมด จึงได้ลาชาวบ้านกลับมายังฝั่งไทยอีกครั้ง ครั้นเมื่อกลับมายังฝั่งไทยหลวงปู่ก็ได้แวะพํานัก เพื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดหินหมากเป้ง, วัดพระงามศรีมงคล ,วัดป่านาสีดา ตามเวลาที่จะเอื้ออํานวย

◉ จำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท
ปีพุทธศักราช ๒๕๑๐-๒๕๑๑ หลวงปู่แผลงได้เดินทางไปที่จังหวัดจันทบุรี จําพรรษาที่วัดเขาแก้ว ตําบลท่าช้าง อําเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี กับท่านพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท การมาจําพรรษาอยู่ที่วัดเขาแก้วในครั้งนี้ เพื่อไปควบคุมดูแลการก่อสร้างโบสถที่จังหวัดจันทบุรี ตามการขอความช่วยเหลือจากท่านพระอาจารยเจี๊ยะ จุนฺโท โดยอาจารย์เจี๊ยะเล่าให้ฟังว่า เนื่องด้วยการก่อสร้างในครั้งนั้น ช่างรับเหมาจะผสมปูนคราวละเยอะๆ พอถึงเวลาเลิกงานช่างก็จะเทปูนทิ้งไปเลย โดยไม่ได้คํานึงถึงความเสียหายอะไรเลย เทแล้วก็ทิ้งเข้าป่ารอบข้าง ด้วยสาเหตุนี้เองหลวงปู่จึงได้เดินทางไปช่วยเหลือหลวงปู่เจี๊ยะ ตามคําขอร้องของท่าน ด้วยอุปนิสัยของหลวงปู่ ที่ชอบซ่อมแซมนั้น แปลงนั่นแปลงนี่อยู่เป็นประจําและมีความรู้ทางด้านงานช่างฝีมือต่างๆ เมื่อหลวงปู่แผลงไปอยู่ที่ไหน จึงไม่พ้นต้องมีงานช่างเข้ามาตลอด คงเป็นเพราะเหตุนี้ จึงได้รับความไว้วางใจให้ดูแลงานก่อสร้างอุโบสถแทนเวลาที่ท่านอาจารย์เจี๊ยะไม่อยู่ และหลวงปู่ก็ได้จําพรรษาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีเป็นเวลา ๒ ปี จนเสร็จการก่อสร้าง

หลวงปู่ได้เล่าต่อถึงเรื่องอื่นๆ ว่า ที่วัดแห่งนั้นมีสุนัขอยู่ ๒ ตัว ตัวหนึ่งเป็นสุนัขแสนรู้ เวลามันเจอหลวงปู่ มันก็หมอบคลานเข้ามาหาหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่าป่านนี้ สุนัขแสนรู้ตัวนั้นคงจะเกิดเป็นคนแล้ว ส่วนตัวที่สองเป็นสุนัขเกเร เวลาหลวงปู่ไปบิณฑบาตกลับมานั้น มันจะกระโดดขึ้นเอาเท้าทั้งสองข้างเกี่ยวที่บาตรของหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่าแม้แต่สุนัขยังมีความประพฤติไม่เหมือนกัน

ช่วงที่หลวงปู่แผลงอยู่ที่วัดเขาแก้ว มีท่านพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท วัดป่าภูริทัตตปฏิทาราม จ.ปทุมธานี, ท่านพระอาจารย์ฟัก สนฺติธมฺโม วัดพิชัยพัฒนาราม(เขาน้อยสามผาน) จ.จันทบุรี, พระอาจารย์บุญมี มงฺคโล วัดป่าท่าโสม .อุดรธานี, สามเณรจันทร์ดี สมสาย และพระอีกหลายรูปที่อยู่ร่วมกัน

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ หลวงปู่แผลงได้พาสามเณรจันทร์ดี สมสาย มาฝากไว้กับพระน้องชาย คือ มหาแปง (ไม่ทราบฉายา) ที่วัดนรนาถสุนทริการาม เพื่อให้ศึกษาปริยัติธรรม จากนั้นหลวงปู่ ก็ได้เดินทางไปทางภาคเหนือ การเดินทางไปทางภาคเหนือในครั้งนั้น ก็ได้มีสหธรรมิกร่วมเดินทางไปด้วยกัน คือ หลวงปู่สมัย ทีฆายุโก (วัดป่าโนนแสงทอง จ.สกลนคร) จนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๑๕

◉ ออกธุดงค์สู่ภาคเหนือโปรดชาวเขาเผ่ามูเซอ
ครั้งต่อมาหลวงปู่ได้เดินธุดงค์ โดยมีของติดตัวตามความจําเป็นดังนี้ หลวงปู่บอกว่ามี กลด บาตร กาน้ำ ผ้าคุม เฉพาะติดตัวเท่านั้น อย่างอื่นเอาไปไม่ไหว เนื่องจากความห่างไกล จึงทําให้หนักมาก จะมีของติดตัวมาแค่นี้ หลวงปู่ได้เดินลัดขึ้นภูเขา จังหวัดเลย ส่วนมากจะเดินลัดไปตามป่าเป็นส่วนมาก หากจะออกมาถนนก็ไม่มีเงินค่ารถ
วันหนึ่งหลวงปู่ได้ออกมาเดินที่ถนน มีรถโดยสารคันหนึ่งวิ่งผ่านมา แล้วจอดนิมนต์หลวงปู่ใหขึ้นรถ หลวงปู่ ได้บอกกับคนขับรถว่า ไม่มีเงินค่ารถ คนขับรถก็บอกว่า ไม่เป็นไรขึ้นมาเถอะหลวงปู่ จึงขึ้นไปนั่งรถคันนั้น แล้วก็ออกเดินทาง พอรถวิ่งไปได้ประมาณครึ่งทาง รถโดยสารจอดทันที แล้วมาเรียกเอาค่าโดยสารจากหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่า ไม่มีให้ คนขับรถจึงให้หลวงปู่ลงจากรถทันที หลวงปู่เล่าว่าแม้จะเดิน เราก็ไปถึงก่อนเขาที่ขี่รถ หลังจากหลวงปู่ลงจากรถไปแล้ว รถโดยสารคันดังกล่าว ก็เกิดพลิกคว่ำกลางทางตกลงเหว มีคนตายหลายคน หลวงปู่ได้ยินข่าวลือคนเขาวิจารณ์กันว่า สาเหตุเพราะคนขับรถไล่พระลงจากรถนี่เอง อันนี้คนเขาต่างพูดกันไปเอง

หลวงปู่แผลงธุดงค์ไปเรื่อยๆ จนไปเจอกับพระสามรูป เดินออกมาจากถ้ำเชียงดาว พระสามรูปจึงบอกให้หลวงปู่ ไปดูฤาษี หลวงปู่จึงเดินเข้าไปในถ้ำ ก็ไปเจอจริงๆ เป็นฤาษีที่ไม่มีหนวดเคราเหมือนในมโนภาพ ฤาษีรูปนี้ใส่ชุดสีกากี ใส่หมวกหางปลา ฤาษีรูปนี้ประกอบอาหารรับประทานเอง เวลานั่งก็มีหนังเสือมารองนั่งอย่างดี หลวงปู่สังเกตดูได้พอประมาณ จึงเดินออกจากถ้ำเชียงดาว ธุดงค์ไปเรื่อยๆ บางวันไม่ได้ฉันข้าวเพราะไม่เจอบ้านคน

บางครั้งมองเห็นหมู่บ้านลิบๆ เหมือนจะเดินไปถึง แต่ก็ไม่ถึง ภูเขาที่เมืองเหนือนี้ ต้องเดินลงมาหาลําห้วยที่มีน้ำเย็นจัด จึงจะวนขึ้นไปยังหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอ พอไปถึงหมู่บานเผามูเซอ พวกเขาจะมายืนดู และชื่นชมยินดี หลวงปู่เล่าว่า นึกสงสัยชาวเขาเผ่ามูเซอ ทําไมพวกเขาต้องปล่อยให้เสื้อผ้าเนื้อตัวสกปรก แต่เพราะยังไมทราบสาเหตุ หลวงปู่จึงได้แต่นึกในใจว่าบิณฑบาตมาแล้วจะฉันได้หรือนี่

ตื่นเช้าหลวงปู่ออกบิณฑบาตที่หมู่บ้านเผ่ามูเซอ หลวงปูเล่าว่าพวกมูเซอเขานําข้าวปลาอาหารมาใส่บาตร เขาจะห่อด้วยใบตองทุกอย่างเลย หลวงปู่จึงได้ว่าเขาเรียบร้อยดี บิณฑบาตเสร็จแล้วก็กลับ แล้วก็เตรียมฉันข้าว จึงแกะห่อใบตองออกมา ก็มีข้าวเหนียว มีแจ่วที่โขลกหยาบๆ ใส่เกลือเม็ดใหญ่ๆ เวลาแกะออกมาเกลือจะหล่นออกมา จากแจ่วหล่นลงพื้นเสียงดังป๊อกแป๊กๆ

เมื่ออยู่นานๆ เข้า หลวงปู่ก็ได้ทราบความเป็นอยู่ของชาวเผ่ามูเซอ ทําไมเขาต้องเป็นแบบนี้ สาเหตุที่เผ่ามูเซอไม่อาบน้ำ ปล่อยให้เนื้อตัวสกปรก เนื่องจากความหนาวเย็นนี้เอง มันหนาวเหน็บจนใจแทบขาด ตัวเราก็อาจเป็นเช่นเขาก็ได้ พวกมูเซอจะมีเสื้อผ้าแค่ชุดเดียว เวลาอาบน้ำเขาจะลงไปอาบทั้งเสื้อผ้า แล้วมายืนตากแดด ให้เสื้อผ้าแห้งจึงเดินกลับเข้าไป

แปลกจริงๆ ที่หมู่บ้านของเผ่ามูเซอ จะไม่ค่อยมีเครื่องนุ่งห่ม บ้านแต่ละหลังคาจะมีเตาไฟ ที่นําดินไปใส่ในกรอบไม้สี่เหลี่ยม แล้วก็สุมไฟขึ้นด้วยฟืน ก็จะนั่งรอบกองไฟที่ก่ออยู่บนบ้าน หลวงปู่ถามว่าถ้าหนาวมากๆ จะทําอย่างไร พวกเขาบอกว่า รีบนอนให้หลับถ้าหลับแล้ว จะไม่รู้สึกหนาว ถ้านอนไม่หลับจะทรมานกับความหนาวมากๆ พวกเขากินอยู่ที่รอบกองไฟ นอนอยู่ที่รอบกองไฟ ถ้วยชามไม่ล้าง หลวงปู่ผ่านไปเห็นหมาเลียชามทุกวัน หลวงปู่บอกว่ามูเซอไม่ชอบความสะอาด ไม่เหมือนแมวและกะเหรี่ยง พวกนี้จะชอบถักทอและประดับความสวยงามให้กับตัวเอง และคนในครอบครัว เวลามีเทศกาลเขาจะใส่เครื่องเงินประดับที่คอบ้างข้อมือ ข้อเท้า ตามเอวและลําตัว เครื่องประดับจะมีแต่เครื่องเงินทั้งสิ้น เวลาเขาเดินไปเสียงดัง ฉ้วงฉ้าง กรุ้งกริ้ง เหมือนฝูงวัวเลย แล้วหลวงปู่ที่ขำกับภาพในอดีตที่หลวงปู่ได้เล่าถึง

หลวงปู่ได้รู้จักวิถีชีวิต ของคนหลายเผ่าแห่งขุนเขาของความหนาวเย็นแห่งภาคเหนือ ส่วนมากผู้หญิงที่นั้น จะพูดภาษาไทยไม่ได้ เพราะจะอยู่กับที่ไม่ได้ไปไหน ส่วนผู้ชายจะนําของไปขายที่ในเมือง จึงพอพูดคุยรู้เรื่อง บ้าง หลวงปู่ได้อยู่ที่เผ่ามูเซอ เป็นเวลานานสองเดือน หลวงปู่ได้บอกกับกลุ่มผู้หญิงเผ่ามูเซอว่า เวลาจะเดินเขามาในเขตที่หลวงปู่พำนักอยู่ ถ้าผู้หญิงมาคนเดียวไม่มีเพื่อน ห้ามเข้ามาโดยเด็ดขาด พวกเขาเคารพเชื่อฟังมาก

วันหนึ่งหลวงปู่มองไปเห็น กลุ่มผู้หญิงเผ่ามูเซอ มาด้วยกันหลายคน เขาก็ไม่กล้าเข้าไป เขามายืนเรียงแถวกันแล้วชะโง้อดูอยู่ห่างๆ จนกว่าจะมีผู้ชายพาเข้าไปในเขตหวงห้ามของหลวงปู่

อยู่มาวันหนึ่งมูเซอผู้หญิง เขามีบั้งใส่น้ำไปด้วย (กระบอกไม้ไผ่) และนําลูกชายมาด้วย เขาสื่อสารด้วยภาษาไทยไม่เข้าใจ หลวงปู่ก็นึกอยู่ในใจว่าเขาเอามาทําไม หลวงปู่ก็ถามขึ้นอีกครั้งว่า จะทําอะไร เขาก็ชี้ใสที่ขาของลูกชาย หลวงปู่มองเห็นว่า มีอาการบวมมาก หลวงปู่จึงนึกได้ว่า เขาคงอยากได้น้ำมนต์มาใส่ขาลูกของเขา หลวงปู่จึงเทน้ำที่กาน้ำของหลวงปูใส่ลงไปในบั้งน้ำของมูเซอหญิงคนนั้น แล้วหลวงปู่ ก็หยดน้ำลงในมือแล้วแตะใส่ขาเด็กผู้ชาย จากนั้นพวกเขาก็กลับบ้านไป

ตื่นเช้ามาเขาได้นําลูกชายกลับมาอีกครั้ง ปรากฏว่าขาของเด็กชายคนนั้น หายจากอาการบวม อย่างเห็นได้ชัด หลวงปู่จึงพูดติดตลกว่า ที่ขาของเด็กหายบวมนั้น ไม่ใช่ตัวของหลวงปู่หรอก ที่หายนั้นเป็นเพราะน้ำที่อยู่ในกานั้นเอง ผู้คนก็แห่กันมามากมาย ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในตัวของหลวงปู่ เพื่อขอน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์
หลวงปู่อยู่ในละแวกหมู่บ้านมูเซอ เป็นเวลานานสองเดือน จึงถึงเวลาที่หลวงปู่จะต้องออกธุดงค์ เพื่อ แสวงหาที่วิปัสสนาแห่งใหม่ หลวงปู่จึงได้บอกกล่าวกับชาวบ้านเผ่ามูเซอทุกๆ คน ทั้งหญิงและชายพวกเผ่ามูเซอ เมื่อทราบข่าวว่า หลวงปู่จะต้องจากพวกเขาไป ทุกคนก็ร้องไห้ ขอร้องไม่ให้หลวงปู่จากไป หลวงปู่จึงบอกเหตุผลให้พวกเขาทราบ ในความจําเป็นที่ต้องจากไปในครั้งนี้

หลวงปู่จึงบอกว่า “พวกสูอย่าร้องไห้ กูจะร้องตามพวกสู” พวกเขาจึงพร้อมใจกันลงกราบหลวงปู่เป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นหลวงปู่ก็ออกธุดงค์ต่อไป หลวงปู่เดินลัดเลาะไปตามหุบเขา เรือกสวนไร่นา ไปเจอป่าฝิ่นต้นเล็กๆ หลวงปู่ไม่ทราบ หลวงปู่นึกในใจว่า เขานําผักกาดมาปลูกบนเนินเขากันหรือ นึกอยู่นาน ก็ไม่ทราบว่าเป็นตนฝิ่น ซึ่งทําเป็นยาเสพติด หลวงปู่บอกว่าผลฝิ่นเหมือนผลมะเยา (สบู่ดํา) เขาจะเอามีดกรีดตามผลแล้วขูดเอายางได้เท่าหัวไม้ขีดไฟ หลวงปู่จึงถามว่านิดเดียวแค่นี้เอาไปทําอะไร เขาบอกว่า เขาจะนําเมล็ดถั่วดํามาผสมแล้วจะได้ก้อนโตๆ จากนั้นนําไปขายข่างล่าง (ในเมือง) พร้อมกับสินค้าอื่นๆ การนำสิ่งของลงมาขายนั้น เขาจะเอาพาดที่หลังม้าเดินลงมาตามทางซอกเขาเล็กๆ ม้าของพวกชาวเขาฉลาดมาก ดูเหมือนว่า สิ่งของที่หลังของมันจะเกาะเกี่ยว ตามก้อนหินข้างทาง แต่ไม่เกี่ยวเลย นี่คือความฉลาดของยานพาหนะชาวเขาในภาคเหนือ และต่อมาหลวงปู่ก็ไปกราบหลวงปู่แหวน และเคยจําพรรษาอยู่ที่ภาคเหนือหลายแห่ง ความพากเพียรในธรรมของหลวงปู่แผลง ที่ได้จาริกไปในหลายๆ ที่ในประเทศไทย และยังได้ธุดงค์ไปไกลถึงประเทศลาวอีกด้วย

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ หลวงปู่แผลงท่านได้จาริกกลับมาที่บ้านสว่างอีกครั้ง ในครั้งนี้ท่านก็ได้พาชาวบ้านร่วมกันสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น เนื่องจากหลังเก่าที่มีอยู่ได้รับความเสียหาย ชํารุดทรุดโทรมจากภัยธรรมชาติ เนื่องจากว่าศาลาหลังเก่านั้น ใช้วัสดุที่ยังไม่คงทนถาวรพอเท่าที่ควร เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการประกอบศาสนกิจ ในวันสําคัญทางพระพุทธศาสนา และท่านหลวงปู่แผลง ได้อยู่จําพรรษาที่วัดป่าโนนสว่างมาโดยตลอด จวบจนกระทั่งถึงวันที่ท่านมรณภาพ

◉ ตําแหน่งบริหาร
ปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ – ๒๕๑๑ รองเจ้าอาวาสวัดเขาแก้ว อําเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
ปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ – ๒๕๕๓ เจ้าอาวาสวัดป่าโนนสว่าง ตําบลนายูง อําเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี
ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๕๓ เจ้าคณะตําบลนายูง (ธรรมยุต)

◉ ประวัติการอาพาธของหลวงปู่แผลง สุจิตฺโต
เนื่องจากว่า หลวงปู่ท่านเคร่งในข้อวัตรปฏิบัติธุดงควัตรมากและถือเคร่งมาตลอด ทําให้เป็นคนที่มี สุขภาพแข็งแรง จนกระทั่งมีอายุมากขึ้น จึงทําให้มีอาการหน้ามืดบ่อยครั้ง แต่ท่านก็ยังไม่เคยจะปรารภให้ใครฟัง ครั้งหนึ่งลูกศิษย์เห็นว่าอาการของหลวงปูjไม่สู้จะดีนัก จึงได้กราบนิมนต์หลวงปู่ ให้ไปตรวจสุขภาพดู แต่กระนั้น หลวงปู่เอง ก็ยังไม่ยอมที่จะไปตรวจสุขภาพ ตามที่นิมนต์ จนต้องนิมนต์กันถึงสามครั้งทjานจึงยินยอมไปตรวจ

พุทธศักราช ๒๕๕๑ หลังจากที่รับนิมนต์ของลูกศิษย์แล้ว หลวงปู่จึงได้เข้ารับการรักษาตัว ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ อําเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แพทย์ได้ทําการวินิจฉัยโรคของหลวงปู่แผลงแล้ว มีความเห็นว่าน่าจะส่งตัวหลวงปู่ไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากหลวงปู่มีอาการลิ้นหัวใจทํางานไม่ปกติและมีอาการติดเชื้อที่ปอด เมื่อคณะแพทยส่งหลวงปู่ถึงโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และได้รับการรักษา จนอาการลิ้นหัวใจกลับมาทํางานเป็นปกติ และได้ทําการรักษาอาการปอดติดเชื้อไปพร้อมๆ กัน

ต่อมาทางคณะศิษย์ ผู้ดูแลหลวงปู่ได้สังเกตเห็นว่า ที่บริเวณใต้ติ่งหูของหลวงปู่ ได้มีอาการบวมขึ้น จนสังเกตเห็นได้ ทางคณะศิษย์จึงได้ ให้แพทยตรวจดูอาการ ว่าอาการที่มีกอนเนื้อบวมขึ้นมานั้น เพราะสาเหตุได้ชัด คณะแพทยจึงได้ทําการตรวจชิ้นเนื้อที่ต่อมน้ำเหลือง ที่มีอาการบวมขึ้นมานั้น พบว่าชิ้นเนื้อนั้นเป็นเนื้อร้าย คณะแพทยจึงได้ทําการรักษาหลวงปู่ด้วยวิธีฉายรังสีและบําบัดด้วยสมุนไพรควบคู่ไปด้วย ผลที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจของคณะแพทยและคณะศิษย จากนั้นคณะ ลูกศิษยจึงได้นิมนต์หลวงปู่กลับมารักษาตัวที่วัด

หลวงปู่แผลง สุจิตฺโต วัดป่าโนนสว่าง ต.นายูง อ.นายูง จ.อุดรธานี
หลวงปู่แผลง สุจิตฺโต วัดป่าโนนสว่าง ต.นายูง อ.นายูง จ.อุดรธานี

◉ มรณภาพ
จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ จึงได้นิมนต์หลวงปู่แผลง กลับไปรักษาตัวอีกครั้ง ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ หลวงปู่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จากคณะแพทย์ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะเจ็บปวดบาดแผล หลวงปู่ก็ไม่ได้สะทกสะท้านกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเลย และแล้วในวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ หลวงปู่ผลง สุจิตฺโต ก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น สิริอายุรวม ๗๖ ปี ๑๑ เดือน ๒๔ วัน ๕๗ พรรษา

◉ โอวาทธรรมหลวงปู่แผลง สุจิตฺโต
“.. ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเขลา ทั้งฉลาด ล้วนไปสู่อํานาจแห่งความตาย ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ..”

◎ บรรณานุกรมอ้างอิง : คัดลอกจากหนังสือพิธีพระราชทานเพลิงพระครูวิสุทธิปัญญาโสภณ (พระแผลง สุจิตฺโต) ; จัดทำโดยคณะศิษยานุศิษย์วัดป่าโนนสว่าง ; ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๕

ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน