ประวัติและปฏิปทา พระครูสุจิณรัตนาภรณ์ หลวงปู่แก้ว สุจิณฺโณ วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
หลวงปู่แก้ว สุจิณฺโณ ท่านเป็นศิษย์ในองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร , หลวงปู่แบน ธนากโร หลวงปู่แก้ว ท่านมีนามเดิมว่า “ทองแก้ว ฮ่มป่า“
เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๖ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม ณ บ้านห้วยหีบ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
บิดา-มารดา ชื่อ นายจันทร์ และนางวงศ์ ฮ่มป่า ในช่วงวัยเยาว์ หลังจากที่ได้เรียนจบภาคบังคับในหมู่บ้านแล้วออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา ทำสวน ทำไร่ เหมือนชาวชนบทภาคอีสานทั่วไป เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ หลังจากที่ผ่านการคัดเลือกเกณฑ์ทหารแล้ว จึงได้คิดอุปสมบทเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ อย่างไรก็ดี ท่านยังหาโอกาสเหมาะสมมิได้ เนื่องจากติดขัดที่ฐานะทางบ้านต้องช่วยเหลือครอบครัว แต่จิตใจก็ยังคิดใฝ่หาที่จะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ตลอดเวลากระทั่งอายุได้ ๒๕ ปีพอดี โยมพ่อแม่จึงได้ให้นายทองแก้ว เข้าไปบวชเป็นตาผ้าขาวอยู่กับ หลวงปู่แบน ธนากโร ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ เพื่อให้ทราบถึงข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับพระภิกษุ ซึ่งผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุหรือสามเณรนั้นในวัดพระกัมมัฏฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จะให้บวชเป็นตาผ้าขาวก่อน เพื่อให้หัดท่องคำขานนาค ท่องบทสวดมนต์ และให้ทราบถึงข้อวัตรปฏิบัติรวมทั้งอยู่ดูนิสัยไปก่อน เรียกง่ายๆ คือ อยู่ดัดนิสัยเดิมเสียก่อน ฝึกกิริยามารยาทให้งดงาม ให้รู้จักครรลองครองธรรมของพระสงฆ์ ฝึกความอดทน ฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง ต้องใช้เวลานานพอสมควร บางคน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เดือน หรือเป็นปีสองสามปีก็มี แล้วแต่ใครจะฝึกหัดได้ง่ายได้ยาก
จนเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๑ พระอาจารย์แบน ธนากโร จึงได้นำนายทองแก้วเข้าพิธีอุปสมบท เป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา ณ วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร โดยมีพระวิบูลธรรมภาณ (ไพบูลย์ อภิวณฺโณ) วัดศรีโพนเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์แว่น ธนปาโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงปู่แบน ธนากโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ภายหลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้กลับไปพักปฏิบัติธรรมกับ หลวงปู่แบน ธนากโร ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ อยู่ปฏิบัติธรรมและศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เร่งรัดปฏิบัติข้อวัตรมิให้ตกหล่น ตรงตามเป้าหมายที่ประสงค์ไว้ จนเกิดความช่ำชองเมื่อเห็นว่าสามารถที่จะดูแลตัวเองได้แล้ว จึงได้กราบลาหลวงพ่อแบน ธนากโร ออกเดินธุดงค์จาริกปฏิบัติธรรมไปตามสถานที่ต่างๆ และได้ขึ้นมาอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ที่วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ครั้นต่อมา หลวงปู่หลุยได้มรณภาพลง จึงได้จำพรรษาตั้งแต่ครั้งนั้นจนกระทั่งปัจจุบันพระอาจารย์ทองแก้วเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง ที่เดินตามรอยครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะหลวงปู่หลุย จันทสาโร ที่เป็นต้นแบบ เป็นพระที่ต้องการอยู่ที่เงียบสงบอยู่แต่ป่า จึงนับได้ว่าเป็นเนื้อนาบุญของชาวโลกอย่างแท้จริงพระอาจารย์ทองแก้วมักสอนญาติโยมทุกครั้งในเรื่อง “มาแต่ตัวก็ต้องไปแต่ตัว ขอให้เร่งสร้างความดีงามเอาไว้ อย่าเบียดเบียนกัน”พระอาจารย์ทองแก้วถือเป็นร่มธรรมองค์หนึ่งของชาวสกลนคร ที่มีความตั้งใจทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ประวัติวัดถ้ำเจ้าผู้ข้า บ้านทิดไทย ต.ไร่ อ.พรรรณานิคม จ.สกลนคร
ก่อนที่จะมีการเรียกว่าวัดถ้ำเจ้าผู้ข้านั้น ก็มีประวัติความเป็นมาตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่ข้าพเจ้าได้สอบถามข้อมูลด้วยตนเองดังนี้ ในอดีตเมื่อสมัยร้อยกว่าปีมาแล้วได้มีชาวบ้านไฮ่ ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในปัจจุบันได้ออกบวชห่มขาวถือศิล ๘ มาพักปฏิบัติธรรมอยู่ที่บริเวรถ้ำแห่งนี้โดยที่ท่านไม่รับประทานเนื้อสัตว์ เป็นอาหารเพราะเมื่อท่านรับประทานเข้าไปแล้วจะอาเจียนออกมาหมดก่อนที่ท่านจะสละทางโลกเข้ามาทางธรรมนั้นท่านก็มีครอบครัวเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป มีบุตรสาวหนึ่งคน จากการบอกเล่าของลูกหลาน เชื้อสายเจ้าผู้ข้าอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือก่อนที่ท่านเจ้าผู้ข้าจะออกบวชห่มขาวถือศิล ๘ นั้น วันนึงในฤดูทำนาภรรยาท่านเจ้าผู้ข้าก็ได้ไปเก็บหอยขมมาทำอาหาร การที่นำหอยขมมาทำอาหารนั้น บางคนก็ตัดก้นหอยเพื่อที่จะนำมาแกง บางคนก็ต้มเลยไม่ต้องตัดก้นหอย การที่นำหอยเป็นๆมาต้มก็เหมือนกับเราต้มเปรตปลาไหลนั้นเอง หอยเป็นๆพอถูกน้ำร้อนมันจะร้อนแค่ไหน ลองพิจารณาเอาเองก็แล้วกันภรรยาของท่านเจ้าผู้ข้าก็เช่นกันนำหอยขมที่ได้มานั้นต้มเพื่อเป็นอาหาร ขณะที่น้ำในหม้อต้มหอยกำลังเดือด ท่านเจ้าผู้ข้าก็ได้ยินเสียงหอยขมในหม้อต้มนั้นร้องว่า
“โอ้ยร้อนจัง ช่วยด้วย ร้อน ร้อน ”
ซึ่งเสียงนั้นท่านเจ้าผู้ข้าได้ยินเพียงผู้เดียว ตั้งแต่นั้นมาท่านเจ้าผู้ข้าก็มีอาการผิดปกติคือรับประทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ไม่ได้ รับประทานเข้าไปก็มีอาหารเคลื่อนไส้ อาเจียนทันที มีการบันทึกไว้ว่าก่อนที่จะมีการเรียกชื่อเจ้าผู้ข้านั้น ท่านมีนามว่า น้อยหน่า ส่วนนามสกุลนั้นมีการแต่งขึ้นในภายหลังจากท่านออกบวชแล้วสาเหตุทำไมถึงเรียกว่า “เจ้าผู้ข้า” ท่านเจ้าผู้ข้านั้นชอบเรียกตัวเองว่า ผู้ข้า ซึ่งไปเป็นภาษาภูไท หมายความว่า กระผม หรือ ข้า หรือ ข้าพเจ้า ประมาณนั้น และมีคนพบท่านเจ้าผู้ข้าครั้งสุดท้ายที่ถ้ำแห่งนี้ ท่านนอนป่วยอยู่จึงนำท่านลงไปรักษาในหมู่บ้านที่มีผู้ศรัทธาท่าน จนท่านเจ้าผู้ข้านั้นเสียชีวิต ในเวลาต่อมาจึงมีผู้คนเรียกถ้ำแห่งนี้ว่า “ถ้ำเจ้าผู้ข้า” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาและถ้ำเจ้าผู้ข้าแห่งนี้เป็นที่ละสังขารของท่านพระอาจายร์กู่ ธมฺมทินฺโน ก่อนที่ท่านจะมรณะภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ท่านพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และลูกศิษย์ซึ่งมีสามเณรบุญหนา (หลวงปู่บุญหนา ธมฺมทินฺโน รวมอยู่ด้วย ท่านได้มาปฏิบัติธรรมอยู่ที่ถ้ำเจ้าผู้ข้าแห่งนี้ โดยมีกุฏิหลังเก่าไว้เป็นหลักฐาน
เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๖ ท่านพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ก็ได้ละขันธ์ในท่านั้งสมาธิในกุฏิหลังนี้เพระท่านเป็นโรคฝีฝักบัวอยู่ที่ก้น จนทนไม่ได้จึงละขันธ์เมื่อ สิริอายุ ๕๓ ปี พรรษา ๓๓ และเพื่อระลึกถึง ท่านพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ที่ท่านมาละขันธ์ที่สถานที่แห่งนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ขออนุญาติ หลวงปู่แก้ว สุจิณฺโณ สร้างรูปเหมือนเท่าองค์จริงของพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ไว้ที่หน้ากุฏิที่พระอาจารย์ท่านละขันธ์ เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธา พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ได้กราบไว้บูชา
ปัจจุบัน หลวงปู่แก้ว สุจิณฺโณ วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า ละสังขารอย่างสงบ เมื่อเวลา ๑๖.๒๕ น. ตรงกับวันศุกร์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ณ โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร สิริอายุ ๗๖ ปี ๗ เดือน ๒๘ วัน พรรษา ๕๒
โอวาทธรรมหลวงปู่แก้ว สุจิณฺโณ
“ถ้าอยากจะชำระ ก็ขอให้ชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจของเรา อย่าไปชำระบาป บาปนั้นชำระไม่ได้ ถ้าไม่อยากจะรับผลของบาป ก็อย่าไปทำเสียตั้งแต่วันนี้”