วันเสาร์, 26 ตุลาคม 2567

หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท วัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) อ.เมือง จ.ชลบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท

วัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า)
อ.เมือง จ.ชลบุรี

พระวรพรตปัญญาจารย์ (หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท) วัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี
พระวรพรตปัญญาจารย์ (หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท) วัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี

พระวรพรตปัญญาจารย์” หรือ “หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท” อดีตเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเมืองชล ผู้ได้รับสืบทอดตำราการสร้างพระปิดตาทั้งเนื้อผง และเนื้อผงคลุกรัก จากพระเกจิอาจารย์ดังหลายรูปของเมืองชล

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อเฮี้ยง ปุณณัจฉันโท มีนามเดิมชื่อ “กิมเฮี้ยง นาคไพบูลย์” เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๑ เวลา ๑๗.๔๕ น. ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีจอ ที่ ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี โยมบิดาชื่อ “เร่งเซ็ง” เป็นคนเชื้อสายจีน โยมมารดาชื่อ “นางผัน” มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน

◉ ปฐมวัย
หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท เมื่อเจริญวัยอายุได้ประมาณ ๙-๑๐ ขวบ โยมมารดาได้พาไปฝากเรียนหนังสือกับพระวินัยธรเส็ง หรือ เส็ง เจ้าอาวาสวัดหนองไม้แดง (วัดราษฎร์สโมสร) อ.เมือง จ.ชลบุรี

ต่อมา พระวินัยธร (เส็ง) ได้มรณภาพ จึงเลิกเรียนและกลับไปอยู่บ้านช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพตามวิสัยที่พึงกระทำได้

ครั้นอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้ไปสมัครเป็นตำรวจภูธร และมาปลดประจำการ โดยเป็นเพียงกองหนุนชั้นที่ ๑ ขณะอายุได้ ๒๒ ปี

◉ อุปสมบท
ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ เมื่ออายุได้ ๒๓ ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณี ณ พัทธสีมา วัดป่า (อรัญญิกาวาส) เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๔ โดยมี พระเขมทัสสีชลธีสมานคุณ วัดเขาบางทราย เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยธร (เภา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดชื่น ธัมมสาโร วัดป่า เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปุณณัจฉันโท” มีความหมายว่า “ผู้มีความพอใจอันเต็มเปี่ยม”

ภายหลังอุปสมบทแล้ว หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท ท่านมีอุปนิสัยสนใจด้านวิทยาคม ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแดง (พระครูธรรมสารอภินันท์) วัดใหญ่อินทราราม จ.ชลบุรี ยอดพระเกจิอาจารย์ชาวเขมร เมืองพระตะบอง ที่มาจำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่อินทราราม ถึง ๕๓ ปี เป็นพระเถระที่ทรงวิทยาคุณในทางสมถะ มีวาจาสิทธิ์เป็นที่เคารพยำเกรงของคณะศิษยานุศิษย์และเป็นที่เล่าขานตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

◉ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส
พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นเจ้าคณะแขวงบางละมุง และเป็นพระอุปัชฌาย์ในคณะธรรมยุต
พ.ศ.๒๔๙๖ เป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วยอำเภอจังหวัดชลบุรี

◉ ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.๒๔๗๙ เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามพระครูวรพรตศีลขันธ์
พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระวรพรตปัญญาจารย์

พระวรพรตปัญญาจารย์ (หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท) วัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี
พระวรพรตปัญญาจารย์ (หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท) วัดอรัญญิกาวาส (วัดป่า) ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี

หลวงปู่เฮี้ยง ได้พัฒนาทั้งด้านการศึกษาและเสนาสนะให้เจริญรุ่งเรือง นับได้ว่าวัดป่าหรือวัดอรัญญิกาวาสแห่งนี้ เจริญรุ่งเรือง ด้วยอำนาจบารมีแห่งวัตถุมงคลพระเครื่องต่างๆ ที่ท่านสร้างสรรค์ ทุกรุ่นเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณเมตตามหานิยม เป็นที่ปรารถนาของเซียนพระเครื่องที่ต่างแสวงหาไว้ในครอบครอง

ด้วยอำนาจความเข้มขลังที่เป็นอมตะแห่งผงเก่าของยอดพระเกจิอาจารย์ชาวบางปลาสร้อยในอดีต อาทิ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์, หลวงพ่อเจียม วัดกำแพง มีส่วนเสริมให้วัตถุมงคลของหลวงปู่เฮี้ยง ทุกรุ่นทุกพิมพ์ถูกเช่าบูชาไปจากตลาดพระเครื่องอย่างรวดเร็ว จนยากที่จะหามาไว้ในครอบครอง

หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท ท่านยังเป็นพระอุปัชฌาย์ ให้การอุปสม บทกุลบุตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๓ มีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณร และชาวบ้านในชุมชน ด้วยการก่อสร้างโรงเรียนประชาบาล และโรงเรียนมัธยมต้นขึ้นภายในวัดอรัญญิกาวาส

◉ มรณภาพ
หลวงปู่เฮี้ยง ปุณณัจฉันโท วัดป่า มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๑๑ เวลา ๑๙.๕๐ น. ณ โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา สิริอายุรวมได้ ๗๐ ปี พรรษา ๔๗ ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ แม้ท่านละสังขารจากไปนานหลายปี แต่เกียรติคุณของหลวงปู่เฮี้ยง ยังเลื่องลือเป็นที่จดจำของบรรดาคณะศิษย์เมืองชลบุรีสืบมา

◉ ด้านวัตถุมงคล
สำหรับวัดป่ามีการสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่สมัยพระปลัดธรรมสาร (ชื่น ธัมมสาโร) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ โดยสร้างเหรียญรูปเหมือนของท่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ นับว่าเป็นเหรียญเก่าของชาวชลบุรีอีกเหรียญหนึ่ง การสร้างวัตถุมงคลของวัดป่าที่นับว่าโด่งดัง หลวงปู่ได้ริเริ่มสร้างวัตถุมงคลครั้งแรก เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๖ โดยมีพระใบฎีกาแฟ้ม อภิรโต เป็นผู้ดำเนินการสร้างทั้งสิ้น โดยใช้ผงต่างๆ ของหลวงพ่อแก้วและหลวงพ่อเจียม เป็นส่วนผสมและปลุกเสกอธิษฐานจิต

พระปิดตา หลวงปู่เฮี้ยง พิมพ์หกเหลี่ยมหลังตะแกรง
พระปิดตา หลวงปู่เฮี้ยง พิมพ์หกเหลี่ยมหลังตะแกรง

สำหรับพระปิดตานั้น สร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๕ พิมพ์ที่สร้างพระปิดตาในปีดังกล่าว อาทิ พิมพ์หกเหลี่ยมหลังตะแกรง พิมพ์เม็ดบัว พิมพ์สะดือเล็ก พิมพ์หลังอิติ เป็นต้น

ในครั้งนั้น ยังเป็นเจ้าอาวาส สร้างพระเครื่องไว้หลายอย่าง และในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ดำริที่จะสร้างพระปิดตาขึ้น จึงรวบรวมพระเนื้อผงเก่าๆ ที่หักชำรุดและมีคนมาถวายไว้ อีกทั้งยังขอผงพุทธคุณหลวงพ่อแก้วที่วัดเครือวัลย์เก็บรักษาไว้มาบางส่วน รวมทั้งผงพุทธคุณของหลวงพ่อเจียม วัดกำแพง, ผงพุทธคุณของหลวงพ่อโต วัดเนินสุธาวาส, ผงพุทธคุณของหลวงปู่ภู่ วัดนอก เป็นต้น

ผงพุทธคุณเหล่านี้ แต่ละวัดเก็บรักษาไว้และนำมาถวายให้นำมาผสมเป็นมวลสารสร้างพระ

พระปิดตาพิมพ์หกเหลี่ยมหลังตะแกรงสร้างเป็นพิมพ์ที่สอง ต่อจากพระพิมพ์เม็ดบัว คือขยายปีกให้ใหญ่ขึ้น ด้านหลังใช้ตะแกรงรองแม่พิมพ์ จึงเป็นที่มาชื่อพิมพ์หลังตะแกรง

ชุดนี้จัดสร้างขึ้นจำนวน ๑,๐๐๐ องค์เศษๆ และมีจัดทำเป็นชุดพิเศษ อีก ๑๐๘ องค์ ตามความประสงค์ของหลวงปู่เฮี้ยง โดยจัดสร้างต่อเนื่องกัน มีความแตกต่างกันตรงที่การผสมเนื้อมวลสารของพระพิมพ์ เป็นการผสมผงพุทธคุณของเกจิอาจารย์ที่โด่งดังต่างๆ มากมาย โดยมีปูนเปลือกหอยเป็นส่วนผสมหลัก ครั้งแรกใช้ปูนร้อยละ ๖๐ ส่วนในชุดพิเศษ ลดน้อยลงเหลือเพียงร้อยละ ๔๕ เนื้อมีความเหนียวนุ่มมากขึ้น

เป็นวัตถุมงคลอีกรุ่นหนึ่งที่หาได้ยากยิ่ง และราคานับวันจะสูงขึ้น