วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) วัดหนังราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เอี่ยม สุวัณฺณสโร

วัดหนังราชวรวิหาร
บางขุนเทียน กรุงเทพฯ

พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) วัดหนังราชวรวิหาร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ
พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) วัดหนังราชวรวิหาร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) วัดหนังราชวรวิหาร พระเถราจารย์ยุคเก่าผู้มีตบะบารมีแก่กล้า มากด้วยอิทธิคุณและบุญฤทธิ์

◉ ชาติภูมิ
พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) วัดหนังราชวรวิหาร นามเดิมชื่อ “เอี่ยม” เป็นชาวบางขุนเทียนโดยกำเนิด บ้านอยู่ริมคลองบางหว้าหลังวัดหนัง ราชวรวิหาร กำเนิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๙๔ ปีมะโรง จัตวาศก ตรงกับวันที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๗๕ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และมีนามสกุลว่า “ทองอู๋” ชาวบ้านบางขุนเทียนเรียกกันว่า “หลวงปู่เฒ่า” หรือ “ท่านเจ้าคุณเฒ่า” ส่วนบุคคลทั่วๆ ไป และนักสะสมพระเครื่องทั้งหลาย เรียกว่า “หลวงพ่อวัดหนัง

บิดาชื่อ “นายทอง” และมารดาชื่อ “นางอู่” ซึ่งเป็นต้นตระกูล “ทองอู๋” โยมทั้งสองท่านประกอบอาชีพเป็นชาวสวนและมีฐานะมั่นคง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้มีการตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ บุคคลชั้นหลังของตระกูลนี้ขอใช้นามสกุลว่า “ทองอู่” อันเป็นนามรวมของโยมทั้งสองท่าน แต่ต่อมาไม่นานนัก ก็ได้มีเจ้านายพระองค์หนึ่งทักท้วงว่าไปพ้องกับพระนามของเจ้าต่างกรมพระองค์เข้า จึงต้องเปลี่ยนมาเป็น “ทองอู๋” สืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

พี่น้องร่วมท้องเดียวกับหลวงปู่เอี่ยม มีเพียงคนเดียวคือ โยมพี่สาวชื่อ “นางเปี่ยม ทองอู๋” เป็นผู้รักษาศีลอุโบสถและไม่ได้แต่งงานมีครอบครัว ดังนั้น เมื่อสิ้นโยมบิดา-มารดาแล้ว จึงมาฝากไว้ในความดูแลอุปการะของ นายทรัพย์ ทองอู๋ บิดาของนายพูน ทองพูนกิจ ดังนั้น ผู้สืบเชื้อสายสกุล “ทองอู๋” จึงเป็นบุตร-หลานสายของนายทรัพย์ ทองอู๋ ผู้เป็นบุตรของลูกพี่ลูกน้องของหลวงปู่เอี่ยมนั้นเอง

หมายเหตุ : อ้างอิงตามบันทึกของพระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๖ มีใจความว่า หลวงปู่เอี่ยมท่านเกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๙๔ ปีมะโรง จัตวาศก ตรงกับวันที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๗๕ เมื่อตรวจสอบกับปฏิทิน ๒๒๐ ปี (ร.อ.ทองคำ ยิ้มกำภู ปฏิทิน ๒๒๐ ปี) แล้วปรากฏว่าเป็นวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ตรงตามนั้นจริง

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคำจารึกบนเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ทั้ง ๒ รุ่นที่ทันท่านปลุกเสก คือ เหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๔๖๗ และเหรียญรุ่น ๒ ปี พ.ศ.๒๔๖๙ ที่ว่า ปีมะโรง จัตวาศก วัน ๖ เดือน ๑๑เห็นว่าไม่ตรงกัน มีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้างเล็กน้อย หากยึดตามคำจารึกบนเหรียญทั้ง ๒ แล้ว ที่ถูกต้องก็คือ ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๕ ตุลาคม ศกเดียวกัน

◉ ปฐมวัย
อายุ ๙ ขวบ เข้าศึกษาที่สำนัก พระอาจารย์รอด วัดหนัง ครั้นอายุได้ ๑๑ ขวบ ศึกษาพระปริยัติธรรม ในสำนักพระมหายิ้มวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อจากนั้นไปอยู่ใน สำนักพระปิฎกโกศล (ฉิม) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)

ต่อมาได้กลับมาบรรพชา และศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดหนัง สำนักเดิมอีกวาระหนึ่ง การศึกษาในระยะนี้ ดำเนินมาหลายปี ติดต่อกันจนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๓๔๙ เมื่อท่านอายุได้ ๑๙ ปี จึงได้เข้าสอบ แปลพระปริยัติธรรมสนามหลวง ซึ่งสมัยนั้น ต้องเข้าสอบแปลปากเปล่า ต่อหน้าพระพักตร์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่น่าเสียดายที่ท่านสอบพลาดไป เลยลาสิกขา กลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพอยู่ระยะหนึ่ง

◉ อุปสมบท
เมื่ออายุ ๒๒ ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดราชโอรสาราม โดยมี พระสุธรรมเทพเถร (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระธรรมเจดีย์ (จีน) และ พระภาวนาโกศล (รอด) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “สุวณฺณสโร

เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมุ่งมั่นศึกษาด้านปริยัติธรรมมาก ในระยะสั้น ย้ายไป อยู่จำพรรษาที่วัดนางนอง โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่รอด วัดหนัง ซึ่งมีชื่อเสียง เลื่องลือในด้านวิทยาอาคมขลัง ท่านได้หันมาสนใจศึกษาวิทยาคม กลายเป็นศิษย์เอกที่ พระอาจารย์รักมาก

ต่อมาในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ หลวงปู่รอด ถูกถอดจากสมณศักดิ์เดิม ให้เป็นพระสงฆ์ธรรมดา จึงได้ย้ายไปอยู่ที่วัดโคนอน ซึ่งหลวงปู่เอี่ยมตามไปรับใช้ด้วย ไม่นานนักก็ถึงแก่มรณภาพ และได้ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดโคนอนสืบแทน

นอกจากนี้ ยังเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเคารพนับถือเป็นการส่วนพระองค์

พ.ศ.๒๔๔๑ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงปู่เอี่ยม ไปครองวัดหนัง และรุ่งขึ้นอีก ๑ ปี ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้แก่ หลวงปู่เอี่ยม แห่งวัดหนัง เป็นพระราชาคณะที่ พระภาวนาโกศล (เอี่ยม) ซึ่งเป็นสมณศักดิ์เดียวกับพระอาจารย์ของท่านนั่นเอง

เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงเคารพนับถือเป็นการส่วนพระองค์ ในงานพระราชพิธีต่างๆ จะได้รับสั่งให้ ขุนวินิจฉัยสังฆการี นิมนต์เข้าไปในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิ ฉัตรมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น

พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๖ ได้บันทึกถึงกิตติคุณของ พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

พระภาวนาโกศลเถระ ท่านดำรงอยู่ในสมณคุณเป็นอย่างดีรูปหนึ่ง มีความมักน้อยในปัจจัยลาภ ได้มาก็บริจาคเป็นค่าซ่อม สร้างปูชนียสถาน เสนาสนะ และสิ่งอุปโภคแก่พระเณรบ้าง และเป็นเครื่องบูชาธรรมถวายพระที่นิมนต์มาเทศน์บ้าง ในกุฏิที่อยู่ของท่าน มองหาวัตถุมีค่าเป็นชิ้นเป็นอันมิใคร่พบ วาจาที่ออกจากปากของท่านเป็นโอวาทานุสาสนี มีสารประโยชน์แก่ผู้สดับ เป็นอุปัชฌาย์บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรมานาน แม้เมื่อทางการคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายให้จำกัดเขตอุปัชฌาย์ เวลาที่ท่านชราทุพลภาพแล้วก็ดี กุลบุตรผู้เลื่อมใสในท่าน แม้อยู่ในที่ไกลก็อุตส่าห์มาบรรพชาอุปสมบท ณ วัดหนัง ปีหนึ่งๆ มีปริมาณมาก อาศัยคุณสมบัติอาทิฉะนี้ ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของคฤหัสถ์และบรรพชิตเป็นอันมาก

อีกทั้งท่านยังเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน ไม่โอ้อวดคุณวิเศษใดๆ อย่างไรเสียเพชรก็ย่อมเป็นเพชรวันยังค่ำ กฤษดาภินิหารของท่านก็ปรากฏอยู่เนืองๆ เป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมายาวนานกระทั่งปัจจุบัน เช่น เรื่องราวเล่าขาน “การปราบม้าพยศ” ของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า รัชกาลที่ ๕

เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชดำริจะเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับนานาอารยประเทศ

ก่อนการเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ ได้ถวายพระพรและทูลเชิญล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ให้เสด็จฯ มาทรงอาราธนาพระปลัดเอี่ยม วัดโคนอน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานและพุทธาคม ให้ถวายคำพยากรณ์เกณฑ์พระชะตา พระชันษา และมงคลพุทธาคม วัตถุคุ้มครองพระองค์

ดังนั้น พระองค์จึงเสด็จไปพบ หลวงปู่เอี่ยมได้ถวายพระพรและถวายคำทำนายว่า…การเสด็จไปในนานาประเทศอันไกลครั้งนี้ จะทรงบรรลุผลสำเร็จในพระบรมราโชบายทุกประการ แต่ในโอกาสที่ทรงประทับ ณ ประเทศหนึ่งนั้น จะมีผู้นำเอาสัตว์จตุบาท อันมีชาตินิสัยดุร้ายมาให้ทรงประทับขับขี่ แต่พระมหาบพิธราชสมภารเจ้าจะทรงปลอดภัยจากสัตว์พยศนั้น…หลวงปู่เอี่ยมจึงถวายพระคาถาเสกหญ้าให้แก่พระองค์ พร้อมทั้งวิธีการบริกรรม

เหตุการณ์ที่ หลวงปู่เอี่ยม ทำนายถวายก็เกิดขึ้น ขณะที่พระองค์ทรงประทับ ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้มี เจ้าชายพระองค์หนึ่ง เชิญเสด็จเพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาโปโล และการขี่ม้าพยศ ในระหว่างการแสดงขี่ม้าพยศนั้น ได้มีม้าตัวหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่ ทั้งพยศดุร้าย ไม่มีผู้ใดสามารถบังคับขี่ได้ เจ้าชายฝรั่งเศลทูลถามพระองค์ว่า
ม้าพยศเช่นนี้ในเมืองของพระองค์มีหรือไม่ และหากมีผู้ใดสามารถบังคับได้หรือไม่ ?
พระองค์ทรงตรัสตอบว่า ก็พอมีอยู่บ้าง

และได้ทรงรำลึกถึงคำพยากรณ์และพุทธาคมที่ หลวงปู่เอี่ยม ถวายเอาไว้ ทรงเสด็จลงจากแท่นที่ประทับ ตรัสเรียกนายโคบาลให้นำม้าพยศนั้นมาใกล้ๆ ทอดพระเนตรพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง ทรงย่อพระวรกายลงหยิบหญ้า ตั้งจิตอธิฐานบริกรรมภาวนาพระคาถา พลันยื่นหญ้ากำนั้นให้ม้าพยศกิน และทรงตรัสขอบังเหียน ไม่รอช้าทรงประทับยังม้าพยศตัวนั้น บังคับให้เดินย่างเยื้องไปมาเบื้องหน้าปะรำที่ประทับ สักครู่จึงทรงบังคับให้ออกวิ่งอย่างเต็มฝีเท้า ชาวต่างชาติที่ร่วมเข้าชมการแสดงในวันนั้น ต่างโห่ร้องกึกก้อง ตกตะลึงในพระบารมีบุญญาธิการเป็นที่สุด

เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมาสักการะหลวงปู่เอี่ยม ตรัสเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในต่างแดน และทรงพระราชทานถวายของฝากต่างๆ จากต่างแดน

◉ ศิษยานุศิษย์บรรพชิต
เนื่องจาก หลวงปู่เอี่ยม ท่านเป็นพระเถระผู้ทรงคุณ รอบรู้ในพระปริยัติธรรม เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน เรืองด้วยพุทธาคม เกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก จึงมีศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะศิษย์ใกล้ชิดและเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของท่านในกิจการพระศาสนาด้านใดด้านหนึ่ง ดังนี้

● พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๖
● พระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๗ อุปสมบทโดยมีหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดมากที่สุดองค์หนึ่งและได้ศึกษาพุทธาคมต่างๆ จากหลวงปู่เอี่ยมโดยตรง เป็นกำลังสำคัญของหลวงปู่เอี่ยมและพระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) ในการอบรมพระภิกษุสามเณรด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน และการบูรณปฏิสังขรณ์พื้นฟูสภาพวัดจนเจริญรุ่งเรืองมาถึงทุกวันนี้
● พระบริหารบรมธาตุ (ประเสริฐ ธมฺมธีโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดนางชี ภาษีเจริญ อุปสมบทโดยมี หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร เป็นพระอุปัชฌาย์
● พระครูพรหมโชติวัฒน์ (บุญมี) อดีตเจ้าอาวาสวัดอ่างแก้ว ภาษีเจริญ อุปสมบทโดยมี หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร เป็นพระอุปัชฌาย์
● พระอธิการชู ฉนฺทสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดนาคปรก ภาษีเจริญ อุปสมบทโดยมี หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร เป็นพระอุปัชฌาย์

◉ ผู้มีศีลจริยวัตรอันงดงามแห่งวัดหนัง
หลวงปู่เอี่ยม เป็นพระเถระที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่ายและสมถะ มุ่งมั่นในการบูรณปฏิสังขรณ์พื้นฟูสภาพวัดที่ทรุดโทรมถึงที่สุด ให้กลับมาดีดั่งเดิมเหมือนเมื่อครั้งยุคของการสถาปนา กระนั้นภาระหน้าที่ด้านอื่นท่านก็ไม่ปล่อยละเลย ปฏิบัติควบคู่กันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ท่านได้ปฏิบัติกิจวัตรเป็นประจำวันของท่านอย่างสม่ำเสมอเป็นปกติ เช่น การลงอุโบสถ แม้ฝนจะตกบ้างเล็กน้อยท่านก็เดินกางร่มไป ซึ่งกุฏิของท่านอยู่ห่างประมาณ ๕๐ เมตร ขณะนี้ได้รื้อปลูกใหม่เป็น หอภาวนานุสรณ์ ไว้ที่เดิม หลวงปู่เอี่ยมท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระพุทธเจ้าหลวง) ทรงเลื่อมใสศรัทธาเป็นการส่วนพระองค์มากที่สุดองค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้รับสั่งให้ขุนวินิจฉัยสังฆการีนิมนต์เข้าไปในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิเช่น วันฉัตรมงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น โดยคุณพ่อพูน ทองพูนกิจ เป็นไวยาวัจกร เมื่ออายุ ๑๔-๑๕ ปี ได้ติดตามเข้าไปในพระที่นั่งอมริทร์วินิจฉัย ถ้าหากเป็นพระราชพิธีในตอนเช้า หลวงปู่เอี่ยมจะต้องไปค้างแรมที่วัดพระเชตุพนฯ กับพระราชาคณะผู้ใหญ่รูปหนึ่งที่ชอบพอกัน

ในการเดินทางไปสมัยนั้น ต้องไปด้วยเรือแจวของหลวงประจำวัด ถ้าไม่ค้างแรมก็จอดเรือขึ้นที่ตลาดท่าเตียน วัดโพธิ์ แล้วเดินไปพระบรมมหาราชวัง เข้าทางประตูวิเศษไชยศรีใกล้หน่อย ถ้าไปค้างแรมต้องไปจอดเรือขึ้นที่ท่าราชวรดิษฐ์ ฝากทหารเรือให้ช่วยดูแลอีกทีหนึ่ง คงจะสงสัยว่า ไวยาวัจกรหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเด็กวัดนั้น จะแต่งกายติดตามหลวงปู่เอี่ยมเข้าไปในพระบรมมหาราชวังได้อย่างไร ? คุณพ่อพูนเล่าให้ฟังว่า ต้องแต่งตัวแบบประเพณีนิยม นุ่งผ้าพื้นโจงกระเบน ใส่เสื้อราชประแตนกระดุม ๕ เม็ด หลวงปู่เอี่ยม ท่านสั่งตัดและจัดหามาให้ใส่ ขณะเมื่อคุณพ่อพูนถึงแก่กรรม เสื้อตัวนี้ยังอยู่เพราะตัดด้วยผ้าของนอกอย่างดีในสมัยนั้น ยังมีเรื่องที่คุณพ่อพูนเล่าให้ฟังว่า ขุนวินิจฉัยสังฆการีเคารพและนับถือหลวงปู่เอี่ยมมาก ถ้าไม่มีราชการก็จะมากราบเยี่ยมเยียนถามไถ่ทุกข์สุข มาครั้งใดเมื่อกราบลากลับ หลวงปู่เอี่ยมจะให้ปัจจัยไปทุกครั้งๆ ละ ๑ บาท เพราะท่านขุนผู้นี้ชอบเล่นหวย ก.ข. มาทีไรขอหวยกับหลวงปู่เอี่ยมทุกที แต่ท่านได้แต่หัวเราะแล้วเฉยเสีย

◉ มรณภาพ
พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ได้ปกครองดูแลวัดหนัง ราชวรวิหาร อยู่นานถึง ๒๗ ปีเศษ จึงได้ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๙ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล สิริอายุรวมได้ ๙๔ ปี พรรษา ๗๒ นับเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอายุยืนยาวถึง ๔ แผ่นดิน (รัชกาลที่ ๓ ถึง รัชกาลที่ ๖)

◉ วัตถุมงคล
วัตถุมงคลของท่านทุกชนิดเปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ ไม่ว่าจะเป็นเป็นเหรียญเสมารุ่น ๑-๒ ซึ่งปัจจุบันเป็นเหรียญยอดนิยมอันดับ ๑ ของวงการ เครื่องรางของขลังประเภทหมากทุย จัดว่าเป็นหนึ่งในเบญจภาคีเครื่องรางของขลัง พระปิดตาเนื้อโลหะ ถือว่าเป็นสุดยอดของหายาก มากด้วยความนิยมเป็นอันดับหนึ่งไม่แพ้พระปิดตาวัดทองของหลวงพ่อทัพ เลยแม้แต่น้อย นอกจากนี้ยังจะมีวัตถุมงคลอีกหลายชนิดทั้งพระชัยวัฒน์ พระปิดตาเนื้อตะกั่ว พระปิดตาเนื้อผง และตะกรุด ล้วนเป็นที่นิยมต้องการของนักพระเครื่องอย่างไม่มีวันเลื่อมคลาย

เหรียญปั๊มรูปเหมือน หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง รุ่นแรก ยันต์สี่ ปี ๒๔๖๗
เหรียญปั๊มรูปเหมือน หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง รุ่นแรก ยันต์สี่ ปี ๒๔๖๗

วัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงมีมากมายหลายรุ่น นอกจากเหรียญรุ่นยันต์สี่หรือเหรียญยันต์ห้า พระปิดตายันต์ยุ่งเนื้อโลหะผสม ถือเป็นพระยอดนิยม อีกทั้งพระชัยวัฒน์ก็เป็นพระที่นิยมกันมากเช่นกัน

หมากทุย หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
หมากทุย หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

ยังมีจำพวกเครื่องรางของขลัง อาทิ ผ้าประเจียด ลูกอม และลูกสะกด แต่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงคือ “หมากทุย” จนถึงขนาดมีโคลงคำกลอนสุดยอด ๙ เครื่องรางของขลังทรงคุณค่า ดังนี้

หมากดีที่วัดหนัง เบี้ยขลังวัดนายโรง ไม้ครูอยู่คู่วัดอินทร์ มีดบินวัดหนองโพธิ์ พิสมรวัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้ายวัดโตนดหลวง ราหูคู่วัดศรีษะฯ แหวนอักขระวัดหนองบัว ลูกแร่ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน

หมากทุย หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง” ถือเป็นสุดยอดเครื่องรางโดยแท้

หลวงปู่เอี่ยมใช้หมากทุยจากต้นหมากที่ยืนตายพราย โดยให้ลูกศิษย์ขึ้นไปเอาลูกหมากที่ตายพรายลงมา โดยให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกขณะปีนขึ้นไป โดยสอนคาถาให้บริกรรมขณะปีน

ครั้นพอถึงยอดต้นหมากแล้ว จะไม่ให้ใช้มือเด็ด แต่จะให้ใช้ปากคาบลูกหมากลงมา เมื่อได้ลูกหมากตายพรายแล้ว ก็จะเปิดจุกด้านบน คว้านเอาเนื้อหมากด้านในออก จากนั้นใช้กระดาษสาลงพระนามของพระพุทธเจ้าด้วยอักขระบาลีและบริกรรมคาถากำกับ ก่อนนำกระดาษสาบรรจุลงในลูกหมากและนำชันโรงใต้ดินมาปิดทับให้แน่น เป็นอันเสร็จพิธี

หมากทุย หลวงปู่เอี่ยม ถือเป็นเครื่องรางชิ้นหนึ่งที่สร้างมาจากวัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหลายชนิด นำมาประดิษฐ์ขึ้นให้มีรูปลักษณ์อันโดดเด่น ถือเป็นภูมิปัญญาที่ล้ำเลิศของหลวงปู่เอี่ยมที่คิดค้นนำสิ่งของตามธรรมชาติที่หาได้โดยง่ายในสมัยนั้นมาทำการลงอักขระเลขยันต์ เพื่อให้บรรดาลูกศิษย์ได้มีไว้ใช้ติดตัวป้องกันภยันตราย

นับได้ว่าหมากทุยเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องรางวัดหนังที่เจ้าอาวาสรูปต่อๆ มามักสร้างตามกันมา เช่น เจ้าคุณผลที่เป็นศิษย์เอกก็มีการจัดสร้างหมากทุย แต่หมากทุยของเจ้าคุณผลส่วนใหญ่จะไม่ถักเชือกและลงรัก จะเห็นแต่เพียงชันโรงที่อุดอยู่บนหมากด้านบนและอักขระเลขยันต์บนตัวหมากเท่านั้น ส่วนหมากทุยจะถักเชือก ด้านบนถักเป็นหูไว้สำหรับคล้องเชือกและนำไปทารัก เพื่อรักษาเชือกที่ถักไว้บนลูกหมากไม่ให้เปื่อยยุ่ย

หนังไม่เหนียว อย่าเที่ยววัดหนัง” เป็นคำพูด วลีติดปาก ของคนเล่นพระ เพราะมีความเชื่อถือ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่อง วัตถุมงคล ของ ลวงปู่เอี่ยม แห่งวัดหนังราชวรวิหาร ฝั่งธนบุรี พระปิดตายันต์ยุ่งของท่าน ได้รับความนิยมอย่างมาก รวมทั้งเครื่องราง หมายทุย ก็เป็นอีกหนึ่งของศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน รวมทั้ง หลวงปู่เอี่ยม ยังเป็นเกจิอาจารย์ ที่ รัชกาลที่ ๕ ทรงให้ความเคารพนับถือ จนมีเรื่องราวปราฏิหารย์เป็นที่เลื่องลือ