วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย วัดป่าโคกหม่อน บ้านเฉนียง ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย

วัดป่าโคกหม่อน
บ้านเฉนียง ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์

หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย

หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย เป็นพระปฏิบัติธรรมสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพระมหาเถระผู้อาวุโสในเขตอีสานใต้ ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ,หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย วัดป่าโคกหม่อน บ้านเฉนียง ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์

หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย นามเดิมของท่านคือ เอียน บุญทวี ท่านถือกำเนิดตรงกับวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๗ ณ บ้านเฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ เลือดเนื้อเชื้อสายแขมร์ สะเร็น เป็นลูกคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้อง ๕ คน ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกร จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านทมอ อ.ปราสาท จากนั้นช่วยงานเกษตรของครอบครัว

เมื่อท่านอายุได้ ๓๐ ปี ท่านได้ไปกราบหลวงปู่สาม อากิญฺจโน วัดป่าไตรวิเวก และหลวงปู่สาม ได้พาหลวงปู่เอียน บวชเป็นผ้าขาวแล้วเดินทางไปบวชอยู่กับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ ที่วัดไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

ท่านอุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๘ โดยมี พระครูนิโรธรังสี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์วัน อุตตโม เป็นพระคู่สวด หลังบวชไปจำพรรษาที่วัดเจริญสมณกิจ (หลังสวน) อ.เมือง ภูเก็ต อยู่ ๑ พรรษา จากนั้นจึงตามไปสมทบกับกองทัพธรรมพระกัมมัฏฐานทางภาคใต้ อยู่วิเวกปฏิบัติธรรมในที่ต่างๆ

หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย ในวัยพรรษายังไม่มากนัก

ต่อมาย้ายไปจำพรรษาที่วัดท่าฉัตรชัย จ.ภูเก็ต ๑ พรรษา จึงเข้าอำลาหลวงปู่เทสก์ กลับมาตุภูมิ และได้พบหลวงปู่สาม อกิญจโน สร้างที่พักสงฆ์ในป่าละเมาะริมถนนสายสุรินทร์-ปราสาท ก.ม.๑๒ บ้านตระงอน ต.นาบัว ขณะนั้นยังไม่สร้างเป็นวัดป่าไตรวิเวก อยู่จำพรรษากับหลวงปู่สาม ๑ ปี แล้วย้ายไปจำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม จ.นครราชสีมา ๓ พรรษา แล้วลงภาคใต้อีกครั้งเพื่อนมัสการหลวงปู่เทสก์ ก่อนไปจำพรรษาในเขตพื้นที่ จ.กระบี่ และจ.พังงา ๔ พรรษา ขึ้นภาคอีสานนมัสการหลวงปู่โชติ คุณสัมปันโน วัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หลังทราบว่าหลวงปู่สาม แนะนำให้ไปบวชกับหลวงปู่เทสก์ จึงรับไว้เป็นศิษย์ สอนวิปัสสนากรรมฐาน ๖ พรรษา ย้ายไปจำพรรษาที่วัดบ้านตะเคียน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ๑ พรรษา

กองทัพธรรมพระกัมมัฏฐานทางภาคใต้

จึงย้อนกลับไปเยี่ยมบิดา-มารดา ญาติโยมต่างเห็นว่าหลวงปู่เอียน แสวงหาวิเวกปฏิบัติธรรมเนิ่นนาน อายุเริ่มชราจึงหาวัดใกล้บ้านเกิด

ในปีพ.ศ.๒๕๑๘ ชาวบ้านนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าโคกหม่อน

ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ได้จัดตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษา ให้เด็กนักเรียนยากจน ปัจจุบันมีเงินทุน ๑ ล้านบาท โดยมอบเงินทุนให้ในวันวิสาขบูชาของทุกๆ ปี พร้อมนี้ยังได้จัดตั้งมูลนิธิวัดป่าโคกหม่อนขึ้นเพื่อปฏิสังขรณ์วัด และเป็นทุนการศึกษาให้พระภิกษุสามเณร เมื่อวันที่ ๒ มี.ค.๒๕๓๗ หลวงปู่เอียนได้ทำพินัยกรรม 1 ฉบับ เพื่ออุทิศร่างกายให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เลขที่ 229/2537

และได้ออกธุดงค์วิเวกมาเรื่อยจนถึง จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.ศรีสะเกษ จนกระทั้งปี พ.ศ.๒๕๑๘ โยมแม่ท่านได้ขอร้องให้กลับมาอยู่ จ.สุรินทร์ ไม่ต้องออกเดินธุดงค์อีก ท่านจึงรับปาก แล้วใช้ป่าละเมาะในเขตบ้านโคกหม่อน ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นที่ภาวนาเรื่อยมาจนสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมดั่งเป็นวัดอย่างเช่นทุกวันนี้

เปิดพินัยกรรม หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย
ที่ท่านได้สั่งเสียก่อนละสังขาร
พินัยกรรมที่หลวงปู่ฯ แจ้งไว้เมื่อวานก่อน
(๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๓) มี ๓ ข้อ ดังนี้
๑. บริจาคสังขารให้รพ.จุฬา
(ท่านรองชวมัยรับไปดำเนินเรื่องให้เมื่อวานก่อนนี้)

๒. ถอนเงินบัญชีส่วนตัวของหลวงปู่ฯ ออกมาให้หมด แล้วแบ่งเป็น ๓ ส่วน ดังนี้

  • มอบให้รพ.สุรินทร์
  • มอบให้วัดบ้านเฉนียง
  • มอบให้สร้างเจดีย์

๓.ไม่ต้องจัดงานศพ

ลงชื่อ
หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย ประธานวัดป่าโคกหม่อน
บ้านเฉนียง ต.เฉนียง อ. เมือง จ.สุรินทร์

หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย ละสังขารอย่างสงบแล้ววันนี้ เมื่อเวลา ๐๙.๓๐ น. ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ ณ กุฏิอาพาธ วัดป่าบ้านเฉลียง(วัดป่าโคกหม่อน) ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ สิริอายุ ๙๖ ปี ๒๗ วัน พรรษาในปีนี้นับเป็นพรรษาที่ ๖๖

หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย
หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย วัดป่าโคกหม่อน บ้านเฉนียง ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์

โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย
สม่ำเสมอในการปฏิบัติ
“…ความสม่ำเสมอในการปฏิบัติ โดยให้ปฏิบัติด้วยปฏิปทาที่แน่วแน่และต่อเนื่อง ให้ทำด้วยความสันโดษและตั้งใจลดละอย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงความจริงที่ว่า ตัวเราไม่มี ก็ให้ถือว่าในการปฏิบัตินั้นเราทำเพื่อเป็นการปฏิบัติบูชา มิใช่ปฏิบัติเพื่อตนเอง ให้มีความซื่อสัตย์ทั้งกาย วาจา ใจ…”

วัฏฏสงสาร
“…ทางในวัฏฏสงสารมันไกลมากสำหรับผู้อ่อนแอ สำหรับผู้ที่เข้มแข็งเขามีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์ สมดุลแล้ว เขาก็เดินไปได้ไม่ไกล สำหรับคนที่ไม่มีพละกำลังไม่สม่ำเสมอ หนทางในวัฏฏะนั้นไกลมาก…”