วันศุกร์, 13 ธันวาคม 2567

หลวงปู่เวิน กัลยาณธัมโม วัดน้ำวิ่งวราราม อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เวิน กัลยาณธัมโม
วัดน้ำวิ่งวราราม อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

หลวงปู่เวิน กัลยาณธัมโม วัดน้ำวิ่งวราราม อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์
หลวงปู่เวิน กัลยาณธัมโม วัดน้ำวิ่งวราราม อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

พระครูเวฬุคณารักษ์ (หลวงปู่เวิน กัลป์ยาณธัมโม) วัดน้ำวิ่งวราราม พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบไปอีกท่านหนึ่งแห่งเมืองเพชรบูรณ์

● ชาติภูมิ
​หลวงปู่เวิน กัลยาณธัมโม นามเดิมชื่อ “เวิน พลจันทร์ทึก” เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธฺ พ.ศ.๒๔๗๑ ที่บ้านหนองซำ หมู่ ๑๖ ต.ดงบัง อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม

ช่วงวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนในหมู่บ้าน

● อุปสมบท
กระทั่ง อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ณ พัทธสีมา วัดศรีโพธิ์ทอง ต.บ้านหัวดง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม โดยมี พระครูจันทรสีลคุณ (หลวงปู่จันดา จันทาโภ) เจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย วัดทองนพคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการบุญ ปภัสสโร วัดนาสีนวล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “กลฺยาณธมฺ​โม” หมายความว่า “ผู้มีธรรมอันงดงาม

หลังอุปสมบทอยู่อุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์ และศึกษาพระธรรมวินัย-พระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ

ต่อมามีโอกาสไปกราบฝากตัวเป็นศิษย์พ่อใหญ่นู พระปฏิบัติ สายหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล จ.อุบลราชธานี เพื่อศึกษาวิทยาคมและการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ในระหว่างศึกษาสรรพวิชา ท่านและพ่อใหญ่นูออกธุดงค์ไปตามป่าเขาแถบชายแดนประเทศกัมพูชา ที่มีเส้นทางทุรกันดาร เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด เป็นเวลานานกว่า ๖ เดือน ฉันเพียงข้าวเหนียวกับน้ำตาลปึก วันละ ๑ มื้อ ปลงผม ๒ ครั้งต่อเดือน เพื่อทดสอบความอดทน ปรากฏว่า ท่านได้ปรารภความเพียร จนเป็นที่พอใจของพ่อใหญ่นู

กระทั่งพ่อใหญ่นูได้ถ่ายทอดสรรพวิทยาคมจนหมดสิ้น ท่านได้กราบลาพระอาจารย์ เดินทางกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนออกเดินท่องธุดงค์อีกครั้ง เพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐาน ไปตามป่าเขา

ในระหว่างธุดงค์ ยังได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ และได้รับคำแนะนำในเรื่องการปฏิบัติกัมมัฏฐานจากพระลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

พ.ศ.๒๔๙๘ หลวงพ่อบุญถม กตปุญโญ วัดโคกม่วง ต.หนองบัวใต้ อ.โนนสัง จ.อุดรธานี สหธรรมิกร่วมสำนักวัดป่าสายปู่มั่น ภูริทัตโต ได้นิมนต์ให้มาช่วยสร้างอุโบสถ เนื่องจากเห็นว่า ท่านเป็นผู้มีฝีมือในการก่อสร้าง ท่านจึงรับด้วยความยินดี และช่วยหลวงพ่อบุญถม สร้างอุโบสถจนเสร็จเรียบร้อย

พ.ศ.๒๕๐๗ เดินธุดงค์ผ่านมาตามเทือกเขาเพชรบูรณ์ เดินทางมาถึง อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ และได้พบกับพระอาจารย์ประสงค์ สุภัทโท เจ้าอาวาสวัดหนองแจง นิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษา และสร้างเสนาสนะภายในวัดหนองแจง มีความเจริญพัฒนาก้าวหน้า

คณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าคณะตำบลบ้านโภชน์ ปกครองพระภิกษุ-สามเณร ดูแลกิจการของคณะสงฆ์ แต่หลวงปู่มิได้หยุดนิ่ง เฉย ยังได้ลงมือบูรณปฏิสังขรณ์ เสนาสนะ กุฏิ ศาลาการเปรียญวัดวาอารามต่างๆ ให้สมบูรณ์ ใช้ประกอบศาสนกิจได้อย่างลงตัว

ในห้วงเวลานั้น ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอหนองไผ่ว่างลง คณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์จึงได้แต่งตั้งให้หลวงปู่เวิน เป็นเจ้าคณะอำเภอ รวมทั้งได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระครูเวฬุคณารักษ์

พ.ศ.๒๕๑๗ ญาติโยมบ้านน้ำวิ่ง ต.บ้านโภชน์ ได้ไปนิมนต์หลวงปู่ให้มาอยู่จำพรรษาที่วัดน้ำวิ่ง ซึ่งเป็นวัดสร้างขึ้นใหม่ แต่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น หลวงปู่จึงได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดน้ำวิ่งแต่นั้นมา พร้อมกับชักชวนพุทธบริษัท ร่วมกันก่อสร้างเสนาสนะ ถาวรวัตถุจนสำเร็จเรียบร้อย
กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเกียรติคุณยกย่องให้วัดน้ำวิ่งเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง

พ.ศ.๒๕๕๒ แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอหนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

ด้วยความที่หลวงปู่เป็นพระที่มีความคิดทันสมัย ก้าวไกล เมื่อเห็นว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ละแวกใกล้เคียงวัด ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง ขุดสระขนาดใหญ่ กักเก็บน้ำ ทำน้ำประปา ให้ชาวบ้านต่อท่อประปาไปใช้ตามบ้านเรือน ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดี เป็นสุขกันทั่วหน้า

นอกจากนี้ ยังก่อสร้างมหาเจดีย์ศรีเพชรบูรณ์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระทันตธาตุที่ได้รับมาจากประเทศศรีลังกา ให้ประชาชนได้มาสักการบูชา

● ด้านการอบรมเผยแผ่ธรรม
หลวงปู่เวิน เป็นพระนักปฏิบัติธรรม จึงได้ชักชวนให้ญาติโยม ปฏิบัติกัมมัฏฐาน เจริญสติภาวนา ทุกวันพระหลวงปู่จะลงมาสนทนาธรรมกับญาติโยมที่มารักษาศีล อุโบสถศีล เป็นประจำ สร้างกุฏิกัมมัฏฐานหลายสิบหลัง เพื่อให้พระภิกษุสามเณร และญาติโยมได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

คำสอนที่ หลวงปู่เวิน กัลป์ยาณธัมโม พร่ำสอนอยู่ตลอดเวลาว่า เหตุที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคม ทั้งในครอบครัว สถานที่ทำงาน เกิดจากที่คนทั่วไปไม่ช่วยกันขจัดปัดเป่าอุปสรรคขวางกั้น อันเป็นกิเลส ที่สกัดกั้นไม่ให้บรรลุในธรรม

วัตถุมงคล หลวง​ปู่​เวิน​ กลฺยาณธมฺ​โม ส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญ อาทิ เหรียญใบโพธิ์, เหรียญครบ ๕ รอบ รวมทั้งจัดสร้างตะกรุดหนังเสือลงยันต์ ท่านจารมือทุกดอก ก่อนวันทำพิธี ๑ คืน ประกอบพิธีปุลกเสกที่วัดน้ำวิ่ง พุทธคุณโดดเด่นเมตตามหานิยม,โชคลาภ ลูกศิษย์ลูกหาที่บูชาวัตถุมงคลไปยุคแรกๆ เมื่อท่านสร้างวัตถุมงคลที่วัด ต่างหลั่งไหลมาร่วมทำบุญ จนวัดมีสิ่งปลูกสร้างสวยงามยิ่งใหญ่

หลวงปู่เวินปรารภว่า “วัตถุมงคลดีอยู่ที่คนใช้ หลวงปู่สร้างวัตถุมงคล เพื่ออวยพรให้คนที่มาทำบุญ ได้มีเงินมีทอง มีหน้าที่การงานรุ่งเรือง ที่มีใจเป็นกุศล”

เคยมีลูกศิษย์ถามหลวงปู่ว่า.. “แล้ววัตถุมงคลหลวงปู่ดีมั้ยครับ”

หลวงปู่เวินบอกว่า.. “หลวงปู่ไม่รู้ดอก หลวงปู่ก็ทำให้โยมที่มาทำบุญให้เขาบูชากันไป”

หลวงปู่เวิน กัลยาณธัมโม วัดน้ำวิ่งวราราม อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์
หลวงปู่เวิน กัลยาณธัมโม วัดน้ำวิ่งวราราม อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

● มรณกาล
หลวง​ปู่​เวิน​ กลฺยาณธมฺ​โม ท่านเป็นผู้ที่มีรูปร่างเล็ก แต่แข็งแรง แทบจะไม่มีอาการเจ็บป่วยเลย กระทั่งล่วงเลยเข้าวัยชราหลวงปู่เริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เจ็บป่วย คณะสงฆ์และศิษยานุศิษย์ได้นิมนต์ไปรักษาที่โรงพยาบาลต่างๆ แต่เนื่องจากท่านชราภาพมากแล้ว อาการจึงมีแต่ทรงกับทรุด

แต่ทั้งนี้หลวงปู่ท่านยังคงมีสติตั้งมั่น ตั้งจิตภาวนา ไม่ยึดติดกับอาการเจ็บป่วยของร่างกาย และขอมาพักรักษาตัวอยู่ภายในวัด กระทั่ง พระครูเวฬุคณารักษ์ (หลวงปู่เวิน กัลป์ยาณธัมโม) วัดน้ำวิ่งวราราม ท่านได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๕ สิริอายุรวมได้ ๙๔ ปี พรรษา ๗๕

หลวงปู่เวิน ท่านได้สั่งเสียไว้ก่อนที่จะมรณภาพว่า ไม่ให้เก็บร่างของท่านไว้ ให้เผาหลังจากเสร็จสิ้นพิธีบำเพ็ญกุศลศพแล้ว

พระทันตธาตุเจดีย์ศรีเพชรบูรณ์ วัดน้ำวิ่งวราราม
พระทันตธาตุเจดีย์ศรีเพชรบูรณ์ วัดน้ำวิ่งวราราม

คณะสงฆ์และศิษยานุศิษย์ได้ตั้งบำเพ็ญกุศลศพไว้ ณ พระทันตธาตุมงคลเจดีย์ศรีเพชรบูรณ์ วัดน้ำวิ่ง ต.บ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ และจะได้มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดพิธีประชุมเพลิงต่อไปเนื่องจากหลวงปู่ได้สั่งเสียไว้ก่อนที่จะมรณภาพว่าไม่ให้เก็บร่างของท่านไว้ให้เผาหลังจากเสร็จสิ้นพิธีบำเพ็ญกุศลศพแล้ว