ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เลี่ยม ฐิตธัมโม
วัดหนองป่าพง
อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

หลวงปู่เลี่ยม ฐิตธัมโม ท่านเป็นพระมหาเถระศิษย์ในองค์ หลวงพ่อชา สุภัทโท และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง ถัดจาก พระโพธิญาณเถร หลวงพ่อชา สุภัทโท ด้วยนิสัยมักน้อย สันโดษ ถ่อมตน จึงเป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก เมื่อครั้งหลวงพ่อชา ท่านป่วยหนัก ได้ขอให้พระอาจารย์เลี่ยม รับตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน ทำให้ท่านต้องรักษาการแทนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ชาติภูมิ
พระเทพวชิรญาณ วิ. มีนามเดิมว่า “เลี่ยม” เกิดในสกุล “จันทำ” เกิดเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ตรงกับวันพุธขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง
บิดาชื่อ นายเพ็ง จันทำ มารดาชื่อ นางเป้ง จันทำ (ภายหลังบวชเป็นแม่ชีอยู่ที่วัดหนองป่าพง) ท่านเกิด ณ บ้านโคกจาน เลขที่ ๑๒ หมู่ ๘ ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ท่านเกิดในครอบครัวที่อบอุ่นภายใต้ความโอบล้อมของไอธรรมชาติ มีความเป็นอยู่เรียบง่ายเยี่ยงสามัญชนชาวชนบททั่วไป ท่านมีพี่น้องทั้งหมด ๖ คน โดยท่านเป็นบุตรคนที่ ๔
ชีวิตปฐมวัย
ท่านเล่าว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นพ่อ แม่ พี่น้องจะมีปากเสียงกันแต่อย่างไร ทั้งวันทุกคนในครอบครัวแทบจะไม่ได้พูดกัน ส่วนใหญ่มีแต่จะยิ้มแต่ไม่พูด ใช้คำพูดแต่ละคำคุ้มค่ามาก ทุกคนในครอบครัวต่างรู้หน้าที่ของตน ตื่นเช้ามาออกทำไร่ ไถนา เลี้ยงวัวควาย ตามวิสัยของชาวบ้านทั่วไป ท่านเรียนหนังสือจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่วัดบ้านโคกจาน ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน
เกี่ยวกับอุปนิสัยของท่าน ปกติเป็นคนชอบความสงบ มีความรอบคอบ สุขุมไม่เคยดื่มสุราหรือเกี่ยวข้องกับการพนัน เมื่ออายุ ๑๗ ปี ท่านได้กราบลาบิดามารดา เพื่อไปทำงานนอกถิ่นฐานหาประสบการณ์ชีวิต โดยเดินทางไปถึงจังหวัดชลบุรี แล้วเลยไปภาคใต้ถึงจังหวัดตรัง ท่านเล่าว่าเมื่อออกไปประสบกับโลกภายนอก สิ่งแรกที่แปลกใจ เมื่อเห็นเพื่อนร่วมงานต่างมีความสุรุ่ยสุร่าย การกินการอยู่ช่างน่าขยะแขยงมาก
ขณะที่ท่านทำงานอยู่ที่จังหวัดตรังนั้น ได้ทำงานอยู่กับเจ้านายที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นที่แปลกใจที่เจ้านายเขาไม่รังเกียจว่า เราเป็นชาวพุทธ ตรงข้ามเขาให้ความอุปถัมภ์อย่างกับลูกหลานของเขา เมื่อพี่เขยท่านได้ตามไปขอร้องให้กลับบ้าน เพื่อช่วยบิดามารดาทำนา ท่านจึงลาเจ้านายกลับบ้าน เมื่อเจ้านายรู้ถึงกับร้องไห้ไม่อยากให้ท่านกลับ
บรรพชา
เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี ท่านได้กราบลาบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณร ท่านได้รับอนุญาตจากผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองด้วยความยินดี และได้นำไปฝากท่านสมภารวัดบ้านโคกจาน ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๐๓ ในขณะที่บวชเป็นนาคอยู่นั้น ท่านได้ท่องมนต์ในหนังสือเจ็ดตำนาน สิบสองตำนานได้จบหมดเล่มด้วยระยะเวลาไม่นาน ขาดแต่บทมาติกา ต่อมาท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓
เมื่อบวชเป็นสามเณรวันแรกต้องเจอกับงานศพพอดี เป็นเรื่องที่ท่านต้องหนักใจมากเมื่อทราบว่าต้องสวดบทมาติกา ในขณะที่ต้มน้ำถวายครูบาอาจารย์ต้องกุลีกุจอท่องบ่นไปด้วย พอน้ำเดือดก็พอดีท่องจบ
เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้วท่านตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนตำราต่างๆ ในพระพุทธศาสนา นอกจากต้องเรียนหนังสือแล้ว ท่านต้องคอยอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ต้องไปตักน้ำจากบ่อ ซึ่งห่างจากวัดไปกลับระยะทาง ๓ กิโลเมตร ต้องหามน้ำมาไว้ใช้ไว้ฉัน ต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระในตอนเย็น
ในพรรษานั้น ท่านได้เรียนนักธรรมตรี และเรียนหนังสือโบราณพื้นเมืองที่เรียกว่า “ตัวธรรม” สำหรับเทศน์ในเวลาเข้าพรรษาและออกพรรษา ครั้งออกพรรษาแล้ว ท่านได้เข้าสอบนักธรรมตรี ปรากฎว่าสอบได้ ท่านคิดเสมอว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ดีสามารถที่จะยกฐานะความรู้ของตนให้สูงขึ้น จึงศึกษาเรื่อยมา อาศัยการฝึกหัดขวนขวายด้วยตนเองเป็นส่วนมาก
อุปสมบท
ปีต่อมา ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๔ โดยมีพระครูถาวรชัยเขต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระทิพย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระจันลา ปัญโญโภ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ณ พัทธสีมาวัดบ้านโคกจาน ต.ทุ่งไชย อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ
พออุปสมบทได้ ๕ วัน ท่านคิดว่าการได้อยู่ใกล้ชิดกับบ้านเกิดมากเกินไป ทำให้เห็นความสุข ความทุกข์ของครอบครัว เพื่อนฝูง จะทำให้ฟุ้งซ่านมากเกินไป จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ ไปวัดบ้านจานแสนไชย ต.กล้วยกว้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ท่านจึงได้ศึกษานักธรรมโทที่นั่น โดย มีพระครูมงคลชัยลักษณ์ (หลวงพ่อก้าว มหาปุญฺโญ) เป็นครูสอน และมี พระอาจารย์จันลา ปัญโญโภ เป็นผู้ช่วยสอนนักธรรม โดยให้ท่องหลักสูตรนักธรรมโทให้ได้ วินัยก็ต้องท่องปากเปล่าให้ได้ ท่านได้สอบผ่านในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ และสอบได้นักธรรมชั้นเอก ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗
เมื่อเรียนนักธรรมจนจบแล้ว ท่านก็มาช่วยครูบาอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมให้กับพระสงฆ์ที่วัด และท่านเองก็ฝึกหัดภาวนาปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง กลางวันสอนหนังสือ กลางคืนก็ภาวนา จากนั้นก็เริ่มถือธุดงควัตร อดนอน ผ่อนอาหาร ปฏิบัติธรรมเข้มงวดมากขึ้น มีวินัยกับตนเอง
ปฏิบัติกรรมฐาน
ในปี พ.ศ ๒๕๑๒ พระอาจารย์เลี่ยม ได้ออกเดินทางเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อเรียนรู้ธรรม จนได้มาพบสำนักของพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง ซึ่งเป็นวัดที่ร่มรื่น สะอาดสะอ้าน เสนาสนะมีระเบียบเรียบร้อย ดูแล้วเย็นใจ และได้กราบนมัสการหลวงพ่อชา ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ในการนี้เอง หลวงพ่อชา ท่านได้เมตตาเปลี่ยนบริขารทุกอย่างให้หมด ระเบียบปฏิบัติของหลวงพ่อชา ถือว่าเข้มงวดมาก แต่หลวงพ่อเลี่ยมก็ไม่ได้ย่อท้อแต่อย่างใด เพราะเคยฝึกมาตั้งแต่สมัยอยู่ที่วัดเดิม ซึ่งถือว่าตรงกับรูปแบบของตัวเองมากกว่าที่จะสร้าง ความยุ่งยากในฝึกฝนเพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของพระศาสนา ด้วยความพรากเพียร แม้แต่ในวันพระก็ถือ เนสัชชิก คือการไม่นอนตลอดคืน ก็อยู่ได้อย่างสบาย จนจิตรู้สึกสว่างไสวและมีความสุขจากการปฏิบัติธรรม
เงียบ…เย็น…เบา
ท่านเล่าว่า ปกติทุกๆ วันหลังเสร็จกิจวัตรจากงานของสงฆ์ส่วนรวมแล้ว ท่านก็จะปฏิบัติธรรม เดินจงกรมก่อนจึงไปนั่งภาวนา ท่านเล่าว่า… พอสมควรแล้วสำหรับการเดินจงกรมวันนี้ ก็เลยขึ้นกุฏิห่มผ้าเฉวียงบ่าและพาดสังฆาฏิ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (ตรงกับกุฏิหลวงพ่อชา) ระลึกถึงครูบาอาจารย์แล้วก็นั่งสมาธิ การนั่งสมาธิก็รู้สึกว่า สงบมาก…และก็มีความรู้สึกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นว่า
“เราไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร เราปฏิบัติเพื่อการปฏิบัติ”
“เมื่อมีอาการทักขึ้นมาอย่างนี้ก็ปฏิบัตินั่งสมาธิไปเรื่อยๆ ปกติจะนั่งไปประมาณ ๔-๕ ทุ่ม จึงจะหยุดพักผ่อน แต่วันนั้นนั่งไปจนเป็นเวลาตีสอง ประมาณ ๘ ชั่วโมง โดยไม่ได้พลิกหรือเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนใดเลย ความรู้สึกว่ามันสงบก็มีอาการเปลี่ยนแปลงของจิตขึ้นมา มีความรู็สึกวูบขึ้นมาทั้งตัวเหมือนกับตัวเรามีอะไรมาครอบไว้ มีความรู้สึกเย็น…เย็นไปทั้งตัวเลย เย็น…เบา มีความรู้สึกเบาไปหมด ในสมองก็รู้สึกว่าเหมือนกับเราเอาพัดลมมาตั้งไว้บนศีรษะ มีความรู้สึกเย็นอยู่อย่างนั้นตลอดคืน เย็น…สงบ…เงียบ ไม่มีความรู้สึกสิ่งใด ความรู้สึกนึกคิดก็ไม่มี ไม่รู้มันหายไปไหน เงียบไปหมดเลย รู้สึกว่าเงียบจริงๆ มีแต่อารมณ์แห่งความรู้สึกระงับและก็เงียบ…เย็น…เบาในร่างกาย รู้สึกว่าอาการที่เป็นอยู่อย่างนั้นทรงตัวอยู่ตลอดปี ไม่ใช่เป็นวันหนึ่ง เดือนหนึ่ง มันเป็นปีๆ เลยทีเดียว อาการของความรู้สึกเย็นในสมอง แม้จะนั่งอยู่ก็เย็น ยืนนอนอยู่ก็เย็น เย็นตลอดทุกอิริยาบถ ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ไม่มีเลย ความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มี…เงียบ… เหมือนกับป่าไม้ที่ไม่มีนกร้องเลยสักตัวเดียว เงียบ…ไม่มีลมพัดอะไรเลย เงียบสงบอยู่อย่างนั้น”
วิธีคลายราคะ
“การปฏิบัติรู้สึกว่าดีตลอดมา อารมณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับกิเลสตัณหาก็มีบ้าง แต่ก็ไม่รุนแรง อย่างเช่น กามราคะ หรือเมื่อพบกับมาตุคาม (ผู้หญิง) ถ้าเกิดความรู้สึกรักเกิดความรู้สึกพอใจขึ้นมา ก็อาศัยการเพ่งพิจารณายกเอาอสุภกัมมัฏฐานมาเป็นอารมณ์ คือ การพิจารณากายของตนเอง และกายของคนอื่นว่าเป็นสิ่งปฏิกูล น่าเกลียด ให้มองเห็นเป็นกองมูตรกองคูต หรือโครงกระดูกที่เดินไปมา เห็นอวัยวะทุกชิ้นส่วน ซึ่งล้วนแต่เป็นของน่าเกลียด น่าเบื่อหน่าย น่าขยะแขยง ทั้งของตนเอง และของคนอื่น เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ เรื่องกามราคะเกี่ยวกับความรักความชอบใจในเพศตรงกันข้ามก็รู้สึกเบาบางลง และมีสติเห็นจิตอยู่กับอารมณ์ หรือออกจากอารมณ์ ยินดีในอารมณ์หรือไม่ยินดีในอารมณ์ มีสติอยู่รู้อยู่ ขณะที่จิตเป็นอย่างนี้ และที่มีสติอย่างนี้ ก็รู้สึกว่าพอที่จะเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติได้ ต่อมาความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ก็ลดลง เกี่ยวกับจิตตสังขารความคิดอย่างนั้นอย่างนี้ ก็รู้สึกว่าไม่มีกําลัง มันลดลง และถอยลงเรื่อย ๆ จนอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ไม่มีอันตราย”
สว่างไสวและมีความสุข
ในระหว่างนั้นหลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านให้โอกาสในการประพฤติปฏิบัติ คือ ไม่ให้พูดกัน ไม่มีการสวดมนต์ทําวัตร และให้เข้า กรรมฐานอยู่สักระยะหนึ่งก่อน ท่านเห็นว่า ถึงเวลาที่จะเพิ่มโอกาสในการปฏิบัติให้มากขึ้น จึงได้เร่งความเพียร เมื่อทําอย่างนั้นผลจึง ปรากฏ คือ พอถึงเวลาประมาณ ๒๒ นาฬิกา ของวันที่ ๙ เดือน ๙ พ.ศ. ๒๕๑๒ จิตของท่านมีความรู้สึกเปลี่ยนแปลงมาก คือ มีความรู้สึกสว่างไสวและก็มีความสุข
ท่านเล่าว่า “ความสุขอันนี้ไม่สามารถที่จะพูดให้ผู้อื่นรู้ และเข้าใจได้ ไม่ใช่ความสุขเพราะความพอใจ ไม่ใช่สุขเพราะได้ตามปรารถนา แต่เป็นความสุขที่เหนือไปกว่าทั้งสองอย่าง เดินก็เป็นสุข นั่งก็เป็นสุข ยืนก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข ปลื้มปิติตลอดกาลตลอดเวลา และก็ได้ตั้งจิตกำหนดรู้อยู่ว่า ความสุขอันนี้มันเกิดขึ้นของมันเอง และในที่สุดมันก็จะดับไปเอง เพราะทั้งสุขและทุกข์นี้ ก็ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงด้วยกันทั้งสองอย่าง
ทั้งเวลายืน เดิน นั่ง นอน มันจะมีความสุขความสงบอยู่ในสถานะอย่างนั้น ทั้งเวลาเดินจงกรม และนั่งสมาธิก็มีความสุขอยู่อย่างนั้น..”
จิตมันไม่มีทุกข์
“ความรู้สึก สังขาร การปรุงแต่งแห่งจิตก็ไม่มี ความทุกข์เกี่ยวกับกิเลสบางอย่างซึ่งเคยมาก่อกวนเกี่ยวกับเพศตรงข้ามหรือความทะเยอทะยานอะไรต่าง ๆ ไม่รู้มันหายไปไหน เห็นคนก็รู้สึกว่าเป็นธรรมดา เห็นคนก็สักแต่ว่าคนเท่านั้นเอง ไม่มีคนสวย ไม่มีคนไม่สวย มันจะมีลักษณะเฉย ๆ ของมันอยู่อย่างนั้น มีความสงบระงับอยู่อย่างนั้น ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร แต่ก็ไม่ได้สงสัยว่ามันเป็นอะไร ถือว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เป็นอยู่ด้วยความสงบระงับ ไม่มีอะไรเดือดร้อนในเรื่องความเป็นอยู่ต่าง ๆ ความทุกข์ก็ไม่รู้ว่า ทุกข์มันเป็นอย่างไร และความขี้เกียจก็ไม่รู้ว่า ความขี้เกียจมันเป็นอย่างไร ถามหาความขี้เกียจมันก็ไม่มี ถามหาความทุกข์ก็ไม่มี และความรู้สึกภายในจิตใจก็เป็นอย่างนั้น ระลึกหาความที่ว่าทุกข์มันคืออะไร ก็ไม่รู้ (รู้แต่เพียงคําจํากัดความตามภาษาสมมติกันเท่านั้น เพราะทุกข์มันก็เป็นเพียงสิ่งสมมุติกันเท่านั้น)
เมื่อจิตมันไม่มีทุกข์ สิ่งสมมติทั้งหลาย มันก็ไม่มีในจิต และอาการความรู้สึกอย่างนี้ มันจะเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดมาไม่เปลี่ยนแปลง จนกระทั่งปัจจุบัน อาการความรู้สึกอย่างนี้ก็ยังมีอยู่ เป็นอยู่อย่างมั่นคงเสมอมาไม่เปลี่ยนแปลง” (คือตั้งแต่พรรษาที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๑๖ จนกระทั่งปัจจุบัน)
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ กราบลาหลวงพ่อชา สุภัทโท ไปศึกษาข้อวัตรข้อปฏิบัติของครูบาอาจารย์ ฝ่ายธรรมยุติ
ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ หลวงพ่อชา สุภัทโท ได้ส่งท่านไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ วัดสาขาของวัดหนองป่าพง ที่นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว และ ๑ พรรษา ต่อมา ได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศลาว หลวงพ่อชา สุภัทโท จึงเรียกตัวท่านกลับ
หลวงพ่อชา อาพาธและมรณภาพ
ปี ๒๕๒๔ หลวงพ่อชา สุภัทโท เกิดอาพาธหนักอย่างกระทันหันต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน และได้พักรักษาอาการอาพาธผ่าตัดทางสมอง อยู่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เป็นเวลาร่วม ๕ เดือน เมื่อหลวงพ่อชา มีอาการดีขึ้นบ้าง ทางโรงพยาบาลจึงอนุญาตให้กลับวัดได้ หลวงพ่อชา อาพาธเป็นระยะเวลากว่า ๑๐ ปี ท่านพระอาจารย์เลี่ยม และครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ในวัดหนองป่าพง ต่างช่วยขวนขวายเป็นธุระงานด้านเผยแผ่ศาสนาและงานดูแลคณะสงฆ์ร่วมกัน จนกระทั้ง หลวงพ่อชา สุภัทโท มรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕
ตำแหน่งฝ่ายปกครอง
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง โดยพระอาจารย์เลี่ยม ฐิตธัมโม ยอมรับหน้าที่ด้วยเหตุผลว่า
“จะทำงานเพื่อครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ ทำตามพระวินัย ผู้ที่ ทำหน้าที่นั้นต้องเสียสละ จึงจะทำหน้าที่นั้นและอยู่ได้อย่างสบาย ทำงานได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย”
และท่านยังได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๐ อีกด้วย หลวงพ่อเลี่ยม ท่านทำงานเป็นการออกกำลังกาย ทำงานด้วยความว่าง ทำไปเรื่อยๆ จึงจะไม่รู้สึกว่าหนัก แม้แต่การขบฉันก็ต้องฉันเพียงเพื่อประทังชีวิต ฉันตามความปรารถนาไม่ได้ เพราะฉันมากจะง่วงซึม
หลวงพ่อองค์เดิม
ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ หลวงพ่อได้รับบัญชาจากคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองเบื้องสูงให้นำประวัติไปถวายโดยด่วน โดยไม่แจ้งความประสงค์อย่างไร ด้วยความเคารพที่มีต่อครูบาอาจารย์ หลวงพ่อจึงได้นําประวัติเข้าถวาย และต่อมาคณะสงฆ์ก็ได้มีหนังสือ แจ้งให้หลวงพ่อเข้ารับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระวิสุทธิสังวรเถร ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๔ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง นำมาซึ่งความปลื้มปิติยินดีในเหลําศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่ทราบดีและ หลวงพ่อเคยให้สติว่า “เป็นการสรรเสริญคุณงามความดีที่ชาวโลกเขากระทำกัน” และหลวงพ่อก็ยังเป็นหลวงพ่อองค์เดิม
สมณศักดิ์
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระวิสุทธิสังวรเถร
๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชภาวนาวิกรม อุดมธรรมสิทธิ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ เป็น พระเทพวชิรญาณ ภาวนาวิธานโกศล วิมลศาสนกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
โอวาทธรรมคำสอน (พระเทพวชิรญาณ) หลวงปู่เลี่ยม ฐิตธมฺโม วัดหนองป่าพง
“ภิกษุผู้ปฏิบัติ ควรเคารพบูชาพระวินัย ๒๒๗ ข้อให้มากที่สุด จงปฏิบัติต่อมันเสมือนว่าเป็นแสงไฟที่ท่านได้มาพบในท่ามกลางความมืด ท่านควรจะรู้ได้ว่ามันเป็นเครื่องรำทางอย่างเอกของท่าน จงรักษาวินัยเหล่านี้ให้บริสุทธิ์เพื่อความสันติ จงปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์ปราศจากมลทินอยู่เป็นนิจ
กินอาหารตามเวลาอันสมควรเท่านั้น กินวันละครั้งก่อนเที่ยง จงดำเนินชีวิตอย่างบริสุทธิ์ และพักอยู่แต่ลำพังเพียงผู้เดียว อย่าเข้าไปร่วมในกิจการทางโลก แต่จงดำเนินไปตามทางให้บรรลุจุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้ และไม่ควรเสริมสร้างมิตรภาพกับบุคคลผู้เรืองอำนาจ
ไม่ควรแสดงมิตรภาพเป็นพิเศษกับผู้มั่งคั่ง.ไม่ควรแสดงอาการเหยียดหยามกับผู้ยากจน ควรจะค้นหาความรู้ด้วยใจที่รับการควบคุมอย่างดีแล้ว และด้วยความคิดอันเที่ยงตรง
จงอย่าปล่อยตัวให้เกิดมลทินหรือข้อบกพร่องใดๆ สำหรับของบริจาคสี่ประการ (ปัจจัย ๔) คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค จงพอใจตามที่ได้มานั้นและให้สำนึกถึงความเพียงพอในสิ่งเหล่านั้น”
“เรื่องที่พูดกัน ก็พูดแต่เรื่องการปรุงแต่งของกริยามารยาท ของความรู้สึกที่เป็นเพลิดเพลินเท่านั้น อย่าไปมองว่าคนนั้นดี คนนั้นเลว คนนั้นเกลียดเรา คนนั้นรักเรา ถ้าเรามองในแง่อย่างนี้ เราจะหลงไปในทิศทางมืด ถ้าเราวางความรู้สึกของเราในสภาพว่าเป็นสภาวะธาตุ สภาวะขันธ์ มันเป็นกฎธรรมชาติแล้ว จะทำให้เรามีอารมณ์เป็นปกติ”
“ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่เหลือวิสัยที่คนเราจะปฏิบัติได้ ถ้าเหลือวิสัยแล้วพระพุทธองค์จะไม่สอน ธรรมที่พระพุทธองค์สอนให้ผลได้จริง เราเองต่างหากปฏิบัติไม่จริง เหลาะแหละแล้วจะให้ได้ผลได้อย่างไร”
พิมพ์คัดลอกจากหนังสือ “ฐิตธรรมาจารย์” ประวัติและธรรม (พระเทพวชิรญาณ) หลวงปู่เลี่ยม ฐิตธมฺโม วัดหนองป่าพง เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ; ตุลาคม ๒๕๕๐
ปัจจุบัน หลวงปู่เลี่ยม ฐิตธัมโม เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๗๙ ปี พรรษา ๖๐ (วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๓)
