วันศุกร์, 13 ธันวาคม 2567

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม วัดป่าสามัคคีธรรม อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม

วัดป่าสามัคคีธรรม
ต.นาโพธิ์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม วัดป่าสามัคคีธรรม ต.นาโพธิ์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

๑. พระดีประจำใจ

พระครูสิริหรรสาภิบาล หรือที่พวกเราเรียกขานกันอย่างสนิทสนม เหมือนญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดว่า หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม นั้น ถือเป็น “พระดีประจำใจ” องค์หนึ่งที่ครอบครัว “นิคมานนท์” ให้ความรักความศรัทธา เป็นอย่างมาก สมาชิกในครอบครัวทุกคนจะรู้สึกสดชื่นกระฉับกระเฉง ขยันปฏิบัติภาวนา เมื่อหลวงปู่ได้เมตตาแวะเวียนมาโปรดพวกเราถึงบ้าน ซึ่งท่านเมตตามาพำนักเป็นประจำ เสมือนมาเติมไฟใน “หม้อแบตเตอรี่บุญ” ของพวกเราให้เต็มอยู่ตลอดเวลา

โดยส่วนตัวของผู้เขียน (รศ.ดร.ปฐม นิคมานนท์) นั้นได้มอบความรัก-เคารพ-ศรัทธา ต่อหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโมอย่างสุดชีวิตจิตใจ ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติของท่าน อิ่มเอิบเมื่อได้อยู่ใกล้ชิด เป็นพระดีที่กราบไหว้ได้สนิทใจ และกับไม่รู้จักอิ่มจักพอ

โดยบุคลิกภายนอก หลวงปู่เพ็ง ของเราไม่ได้มีสง่าราศีที่บ่งบอกถึงพระที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เลย ตรงกันข้าม ท่านมีลักษณะเป็นพระบ้านนอก ร่างเล็ก ผอมเกร็ง พูดไทยก็ไม่ค่อยชัดและส่อสำเนียงอิสาน ดูไม่น่าเลื่อมใสศรัทธาเอาเสียเลย บางท่านอาจนึกสงสัยว่าคนระดับดอกเตอร์มายอมเป็นคนขับรถให้หลวงตาแก่ๆ เชยๆ องค์นี้ได้อย่างไร

ครอบครัวของผู้เขียนเริ่มรู้จักหลวงปู่ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ รู้สึกศรัทธาที่ท่านเป็นพระที่ตรงไปตรงมา มีเมตตาสูง มีอารมณ์ดี จึงนิมนต์ท่านมาโปรดที่บ้าน พร้อมทั้งถวายห้องพักในส่วนที่ต่อเติมออกไปต่างหากจากตัวบ้านเดิมให้เป็นที่พักประจำของท่านเมื่อท่านมีกิจนิมนต์ในกรุงเทพฯ

หลวงปู่ท่านพูดเสมอว่า “ที่นี่เป็นกุฏิของอาตมา” ขณะเดียวกันก็มีครูบาอาจารย์สายกรรมฐานองค์อื่น ๑๐ กว่าองค์จากภาคต่างๆ ทั่วประเทศได้แวะเวียนเมตตามาโปรดและพำนักในห้องที่เราจัดถวายนี้ ทำให้พวกเราและเพื่อนบ้านมีโอกาสปฏิบัติภาวนาในบ้านโดยไม่ต้องเดินทางไปไกลๆ แต่มีพระดีมาโปรดถึงบ้านอย่างสม่ำเสมอ ความรู้สึกที่ว่า “อิ่มบุญ” เป็นอย่างไรจึงได้ประจักษ์แก่ครอบครัวของเราตลอดมา

หลวงปู่ ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติตรงตามคำสอนของพระศาสดา การพูดการสอนตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ไม่มุ่งเอาประโยชน์ ไม่เน้นพิธีรีตอง ถูกก็บอกว่าถูก ผิดก็บอกว่าผิด ท่านมีความศักดิ์สิทธิ์และความอัศจรรย์อยู่ในตัวมาก แต่ไม่เคยบอกไม่เคยแสดง นอกจากเราจะสัมผัสรู้ได้ด้วยตนเอง แล้วถามท่านว่าเป็นอย่างนั้นใช่ไหม ท่านก็จะตอบสั้นๆ ว่าใช่ หรือแล้วจะรู้เอง หรืออย่าไปสนใจมัน

ผู้เขียนเคยทดลอง คล้ายกับจงใจแกล้งท่านหลายอย่าง เพื่อตรวจสอบความมั่นคงทางจิต และความปฏิบัติตรงตามพระธรรมวินัย แต่ท่านก็ไม่ยอมเขว ไม่ยอมหลง บางครั้งแกล้งอ้างพระองค์โน้นองค์นี้ว่าท่านขลัง ท่านศักดิ์สิทธิ์ อย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องไม่ถูกตามแนวทางพระพุทธศาสนา ท่านก็ดุเสียงดังว่า “พระพวกนั้นมันจังไร จึงสอนแต่เรื่องจังไร คนที่ไม่รู้ก็พลอยหลงไปด้วย” เป็นต้น

ประมาณปี พ ศ. ๒๕๓๕ หลวงปู่ท่านอาพาธเพราะท้องเสีย ลูกศิษย์นำท่านเข้าศึกษาที่โรงพยาบาลอนันต์พัฒนา เป็นโรงพยาบาลเอกชนอยู่แถวๆ สะพานกรุงธนบุรี มีนางพยาบาลมาบอกว่า

“หนูขออนุญาตฉีดยาให้หลวงพ่อ”

ท่านตอบว่า “อาตมาอนุญาตไม่ได้ ให้ไปหาผู้ชายมาทำแทน”

พยาบาลชี้แจงว่า “ถ้าพระป่วย พระวินัยอนุญาตให้ผู้หญิงถูกตัวได้ไม่ใช่หรือคะ ?”

หลวงปู่ตอบว่า “พระวินัยอนุญาต แต่อาตมาไม่ไว้ใจอาตมาเอง ไปตามผู้ชายมา…”

หลวงปู่เพ็ง ท่านเป็นพระที่เด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นต่อการพัฒนาจิต มุ่งตรงต่อพระนิพพาน อย่างไม่ไขว้เขว ท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความแกร่งมาก ท่านเล่าเรื่องราวที่ท่านพบเห็นต่างๆ มากมาย พวกเรามุ่งไปที่การนั่งหลับตาภาวนา จึงไม่ได้จัดการบันทึกเรื่องราวต่างๆ นั้นไว้ ต่างก็คิดว่า “ค่อยหาโอกาสสัมภาษณ์ท่านสักวันหนึ่ง” ผัดผ่อนเรื่อยมาจนกระทั่งหลวงปู่ ท่านจากพวกเราไปอย่างไม่มีใครคาดฝัน เพราะท่านไม่เคยแสดงอาการเจ็บป่วยเลย แม้วัยจะย่าง ๘๘ ปีแล้วก็ตาม

หลวงปู่ท่านจากพวกเราไปชนิดไม่มีการบอกลาอะไรเลย วันที่ไปขอรับศพท่านออกจากโรงพยาบาล ดูผิวพรรณท่านผุดผ่อง ยิ้มที่มุมปากเล็กน้อยคล้ายกับจะบอกพวกเราว่า “สมน้ำหน้าพวกสู มัวแต่ผัดผ่อนอยู่นั่นแหละ ไม่เอาจริงสักที”

๒. ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ


โบราณกล่าวไว้ว่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น คำกล่าวนี้สามารถยกกรณีของ หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม มาเทียบเคียงได้เป็นอย่างดี

ผู้ที่สนใจใฝ่ธรรม ต่างก็ทราบถึงกิตติศัพท์ของ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ พระอริยเจ้า แห่งสำนักวัดป่าบ้านหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เป็นอย่างดี ท่านเป็นพระกรรมฐานรุ่นอาวุโสในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ละเพศฆราวาสบวชเป็นพระภิกษุเมื่ออายุล่วง ๕๐ ปีไปแล้ว แต่ด้วยความมุ่งมั่น ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อมุ่งตรงต่อพระนิพพานอย่างแท้จริง ท่านจึงได้บรรลุถึงแดนเกษมสูงสุดในพระพุทธศาสนาตามที่ตั้งใจไว้

ประจักษ์พยานที่สามารถอ้างอิงอย่างเชื่อมั่นได้นอกเหนือจากคำสอน ปฏิปทา และจริยาวัตรที่งดงามเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไปแล้ว อัฐิของท่านได้แปรเปลี่ยนเป็นพระธาตุที่งดงามภายหลังการเผาสรีระของท่านเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ที่วัดป่าบ้านหนองแซง ให้ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาได้กราบไหว้เป็นที่พึ่งที่ระลึกถึงคุณธรรมของท่าน

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ท่านเป็นทั้งสายใยในทางโลก คือเป็นบุตรชายสืบสายโลหิต และเป็นทายาทในทางธรรม สืบต่อปณิธานทางพระพุทธศาสนา ดำเนินรอยตามหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ด้วยใจที่มุ่งมั่นเช่นเดียวกัน

ประวัติและเรื่องราวของพระอริยเจ้า พ่อ-ลูก ทั้งสององค์ คือ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ พระผู้พ่อ กับ หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม พระลูกชาย มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง และอุปถัมภ์เกื้อกูลกันอย่างใกล้ชิด จึงได้นำเสนอเรื่องราวของทั้งสององค์ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน จะได้ช่วยให้เราได้รู้จักหลวงปู่ทั้งสององค์ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การสืบมรดกธรรมในตระกูลของท่าน ถ้าเปรียบ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ พระผู้พ่อ เป็นคลื่นลูกที่หนึ่ง หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโมพระลูกชายคนโต เสมือนคลื่นลูกที่สอง และยังมีหลวงปู่พรหม สุพฺรหมฺญาโณ พระลูกชายคนรอง อายุห่างจากหลวงปู่เพ็ง ๓ ปี ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดเทิงเสาหิน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ก็เป็นเสมือนคลื่นลูกที่สาม หนุนเนื่องนำกระแสธรรมมาสู่ประชาชนผู้สนใจใฝ่ธรรมอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน

๓. ชาติกำเนิด

พระครูสมุห์พรหม สุพฺรหมฺญาโณ
วัดเทิงเสาหิน อ.เทิง จ.เชียงราย



พระครูสิริหรรสาภิบาล หรือ หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ในสมัยเป็นฆราวาส ชื่อ เพ็ง น้อยก้อม เกิดเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ วันพฤหัสบดี

บิดาชื่อ บัว มารดาชื่อ มื้ม นามสกุล น้อยก้อม มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๖ คน เป็นชาย ๒ และหญิง ๔ หลวงปู่เป็นบุตรคนที่ ๓ เรียงตามลำดับอายุดังนี้

พี่สาวคนแรก เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก
นางพุด น้อยก้อม (เสียชีวิต)
นายเพ็ง น้อยก้อม (หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ อายุ ๘๗ ปี ๖ เดือน ๗ วัน)
นายพรหม น้อยก้อม (หลวงปู่พรหม สุพฺรหมฺญาโณ อายุ ๘๔ ปี เจ้าอาวาสวัดเทิงเสาหิน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ต่อจากหลวงปู่เพ็ง )
นางสมบูรณ์ น้อยก้อม (เสียชีวิต)
นางเล็ก ฤทธิแสง อยู่ที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
เมื่อหลวงปู่เพ็ง อายุได้ ๖ ขวบ ครอบครัวท่านได้อพยพไปทำมาหากินที่บ้านจานทุ่ง ตำบลปาฝา อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด หลวงปู่จึงใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่ที่นี่ ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด

๔. การศึกษาทางโลก

เนื่องจากบิดา-มารดาของหลวงปู่เพ็ง ท่านอ่านเขียนหนังสือไม่ได้เลย เพราะไม่เคยเข้าเรียน เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน จึงมีความปรารถนาจะให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือ เพื่อจะได้อ่านออกเขียนได้ จะได้เป็นคนฉลาด เอาตัวรอด และสร้างฐานะของตนได้ในอนาคต

พอหลวงปู่ อายุได้ ๑๐ ขวบ บิดาได้นำไปฝากเข้าเรียนที่โรงเรียนประถมศึกษาประจำหมู่บ้านขุยค้อ (คุยค้อ) ซึ่งอยู่ในตำบลเดียวกัน

การเดินทางไปโรงเรียนของ หลวงปู่ เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะโรงเรียนอยู่ห่างจากบ้านออกไปเป็นระยะทางประมาณ ๘๐ เส้น (ประมาณ ๓ กม.ครึ่ง) ต้องเดินด้วยเท้า ผ่านป่า ผ่านไร่นา ในบางฤดูต้องบุกน้ำ ลุยโคลนตมไป-กลับทุกวัน จนเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ การศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียนในสมัยนั้น

หลังจากเรียนจบชั้น ป.๔ แล้ว บิดาอยากให้บุตรชายเรียนต่อให้สูงขึ้นไป แต่ด้วยความจำเป็นด้านแรงงานในครอบครัว หลวงปู่ จึงได้ยุติการศึกษาในโรงเรียนเพียงเท่านั้น

หลวงปู่เพ็งในฐานะบุตรชายคนโตต้องออกมาช่วยบิดาทำไร่นา นับเป็นแรงงานสำคัญของครอบครัว ช่วยแบ่งเบาภาระของบิดา-มารดาได้เป็นอันมาก

อันที่จริงแล้ว ฐานะทางครอบครัวของหลวงปู่ จัดว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะดีครอบครัวหนึ่ง มีที่ดินทำกินกว้างขวาง มีฝูงวัว ควายใช้งานอย่างไม่ขาดแคลน

ในสมัยนั้น ทางภาคอิสานเรา ถ้าครอบครัวใดมีวัว ควายถึง ๑๐ ตัวขึ้นไป เพื่อนบ้านจะเรียกว่าเป็นนายฮ้อย หมายถึงคนมีฐานะดี เทียบขั้นเศรษฐีในตำบลเลยทีเดียว

แต่ว่าครอบครัวชาวไร่ ชาวนา ในชนบท ไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวย ก็จะต้องทำงานตรากตรำอยู่ในไร่นาเช่นเดียวกัน บางทีครอบครัวร่ำรวยยังต้องทำงานหนักกว่าครอบครัวที่ยากจนเสียอีก

หรือถ้าจะกล่าวอย่างเป็นเหตุเป็นผลก็ต้องบอกว่า เพราะความขยันหมั่นเพียรจึงทำให้มีฐานะร่ำรวย นั่นเอง

พระครูศิริหรรสาภิบาล (หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม) วัดป่าสามัคคีธรรม

๕. บิดาขอให้บวชเณร

หลวงปู่เพ็ง ออกจากโรงเรียนเมื่ออายุย่าง ๑๕ ปี เริ่มเป็นหนุ่มวัยแตกพาน ช่วยงานในไร่นาอย่างแข็งขันติดต่อกันอยู่ ๓ ปี

ในขณะนั้นท่านมี “สาวงามประจำใจ” อยู่แล้ว ความรักของหนุ่มสาวคู่นี้เป็นที่รับรู้กันในหมู่บ้าน และหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องเข้าพิธีแต่งงานตามประเพณีอย่างแน่นอน ไม่มีทางหนีพ้น ต่างคนต่างเข้าใจกันดี

ความสัมพันธ์ระหว่างลูกชาย กับหญิงสาว อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย

บิดา-มารดา ของท่านได้ปรึกษากันว่า “ลูกชายของเราโตเป็นหนุ่มและมีสาวเป็นที่หมายแล้ว แต่เห็นทีจะต้องให้บวชเสียก่อน อย่างน้อยก็ให้ได้สัก ๑ พรรษาก็ยังดี ถ้ายังปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปเรื่อยๆ เช่นนี้ ลูกชายของเราคงไม่ได้บวชเป็นแน่”

ทางฝ่ายบุตรชาย และแม่สาวงามคนนั้น ยังไม่รู้ระแคะระคายถึงเรื่องที่บิดา-มารดาปรึกษาหารือกันเรื่องที่จะให้บุตรชายบวชเณร ความรักก็ยังดำเนินไปตามปกติ เต็มไปด้วยความหวังและความเชื่อใจกัน

เย็นวันหนึ่ง หลังจากเสร็จภารกิจประจำวัน และสมาชิกทุกคนในครอบครัวนั่งล้อมวงรับประทานอาหารมื้อเย็นเสร็จแล้ว บิดาของท่านได้บอกให้ทุกคนนั่งอยู่ก่อน ท่านมีเรื่องจะพูดคุยด้วย

บิดาได้กล่าวต่อหน้าสมาชิกทุกคนว่า “วันนี้พ่อต้องการให้ทุกคนนั่งฟังพ่อพูด และจะได้ปรึกษากัน ถ้าแม้นว่าพ่อพูดออกไปแล้วลูกคนใดจะคัดค้านหรือมีความคิดเห็นประการใดก็พูดออกมา พ่อจะรับฟังทุกอย่างทุกคน

สำหรับเรื่องที่พ่อจะพูดวันนี้ มีความเกี่ยวข้องกับลูกเพ็ง ปีนี้ลูกเพ็งมีอายุครบ ๑๙ ปีเต็ม พ่อกับแม่ได้ปรึกษากันว่า ลูกเพ็งเป็นบุตรชายคนโตในจำนวนลูกชาย ๒ คน เท่านั้น พ่อกับแม่เห็นสมควรที่จะให้ลูกเพ็งได้บวชเรียนเสียก่อน

พ่อแม่อยากเห็นผ้าเหลืองจากลูก ถ้าลูกได้บวชเรียนแล้ว พ่อกับแม่จะภูมิใจตลอดชีวิต ถึงตายไปพ่อกับแม่ก็จะเป็นสุข ลูกเพ็งมีความคิดเห็นอย่างไรขอให้บอกพ่อ แม่ กับพี่น้องทุกคนให้ได้ยินพร้อมหน้ากัน“

ปกติหนุ่มเพ็ง มีความรักและเชื่อฟังบิดามารดาอยู่แล้ว เมื่อถูกขอร้องให้บวช ตนเองก็ไม่อยากขัดความประสงค์ของท่านจึงกล่าวต่อหน้าสมาชิกในครอบครัวว่า

“เมื่อพ่อ แม่ มีความประสงค์จะให้ลูกบวช ผมก็มีความเต็มใจพอแม่เห็นสมควรจะให้บวชวันไหน ก็กำหนดได้เลย ผมไม่ขัดข้องแต่ประการใด เพราะขณะนี้พี่และน้องๆ ก็โตพอที่จะช่วยทำงานทางบ้านแทนผมได้แล้ว เมื่อผมบวชเณรจะได้สบายใจ ไม่ต้องห่วงงานทางบ้าน จะได้ตั้งใจหมั่นศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป”

ทางบิดามารดาแสนจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ฟังจากลูกชายเช่นนั้น เพราะสิ่งที่ท่านหวังและตั้งใจไว้เป็นผลสำเร็จ จึงได้กล่าวเป็นเชิงให้สัญญากับลูกชายว่า

“ดีแล้วลูก พ่อดีใจที่ลูกเข้าใจพ่อ สำหรับแม่ของลูกนั้นก็ดีใจเช่นกัน ที่จะได้เห็นผ้าเหลืองจากลูก เมื่อลูกบวชและสึกออกมาแล้ว ถ้าลูกประสงค์จะมีเหย้ามีเรือน พ่อกับแม่ก็ไม่ขัดข้อง ยินดีตามใจลูก พ่อแม่ให้สัญญา“

๖. ทางฝ่ายสาวไม่ขัดข้อง

ตอนเย็นวันต่อมา หลังจากเสร็จการงานแล้ว หนุ่มเพ็งกับแม่สาวน้อยก็นัดพบกันที่ชายทุ่ง เหมือนกับทุกเย็นที่ผ่านมา

ทางฝ่ายหนุ่มได้พูดกับสาวคนรักว่า

“แม่นาง ฉันจะขอพูดอะไรด้วยสักหน่อย แม่นางคงจะไม่ตำหนิฉันนะ…คือบัดนี้อายุของฉันได้ ๑๙ ปีแล้ว พ่อแม่ต้องการให้ฉันได้บวชเรียนก่อน เพราะพ่อแม่ฉันมีลูกชายแค่สองคนเท่านั้น ฉันเป็นลูกชายคนโต พ่อกับแม่จึงอยากที่จะเห็นผ้าเหลืองของฉันก่อน เมื่อสึกออกมาแล้วพ่อกับแม่ให้สัญญาว่าจะยินยอมให้ฉันแต่งงานได้ เพียงพรรษาเดียวเท่านั้นเอง แม่นางคงจะรอฉันได้ ฉันจะต้องสึกแน่นอน”

แม่สาวน้อยสุดแสนจะปลื้มใจ จึงพูดตอบไปว่า “เชิญเถิด เรื่องการบวชเรียนเป็นหน้าที่ของลูกผู้ชายทุกคนสมควรทำ อีกอย่างหนึ่งพี่ก็จะได้สนองคุณพ่อแม่ตามประสงค์ของท่านด้วย เมื่อบวชแล้วยังได้กระทำตนทดแทนพระคุณของพระศาสนาด้วย ชีวิตจะได้รุ่งเรืองเป็นสุข เมื่อสึกออกมาแล้วยังได้นำความรู้ในพระธรรมคำสอนมาประกอบอาชีพที่สุจริต เสริมสร้างชีวิตและฐานะของครอบครัวให้อยู่ในหลักธรรมเพิ่มพูนความสุขความเจริญ น้องจึงเห็นสมควรยิ่ง”

๗. บวชเป็นสามเณร

จากบันทึกด้วยลายมือของหลวงปู่เพ็งเอง ท่านเขียนไว้ว่า

“…เรียนอยู่ ๔ ปี จบ ป.๔ ออกมาทำนาช่วยบิดา มารดา อายุ ๑๙ ปีจึงได้เข้าวัด บรรพชาเป็นสามเณรเพ็ง ๑ พรรษา..”

หลวงปู่ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านจานทุ่งตามความประสงค์ของบิดามารดา และตั้งใจว่าเมื่อครบพรรษาก็จะสึกหาลาเพศออกมาแต่งงานกับแม่สาวคนรักตามที่หัวใจตนปรารถนา และด้วยความยินยอมของบิดา มารดาทั้งสองฝ่าย

หลังจากบรรพชาแล้ว ที่บ้านจานทุ่งทุกเช้า ชาวบ้านจะมายืนรอใส่บาตพระภิกษุและสามเณรเป็นประจำ ในเช้าวันนั้น มีสามเณรหนุ่มชื่อ สามเณรเพ็ง เดินในลำดับท้ายสุดของแถวด้วยอาการสำรวม ครองจีวรใหม่เอี่ยม โกนผมเกลี้ยงเกลา ยังความปลาบปลื้มแก่บิดามารดา และญาติพี่น้องชาวบ้านจานทุ่งเป็นอย่างยิ่ง

บิดา มารดาของท่านออกมายืนรอข้างทางเดินทุกเช้า สองมือประคองกระติ๊บข้าวเหนียว พร้อมทั้งกับข้าวคาว-หวานเพื่อรอใส่บาตรสามเณรผู้เป็นบุตร ช่างเป็นภาพที่งดงามและประทับใจยิ่งนัก

สามเณรเพ็ง น้อยก้อม ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัย และทางภาคปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา กับพระอาจารย์ในวัดแห่งนั้น ทำให้ได้รับความรู้ในทางพระพุทธศาสนาเบื้องต้น เห็นว่าศาสนาเป็นสิ่งที่น่ารู้น่าศึกษา และเป็นเส้นทางที่มุ่งสู่ความสุขความสงบ อย่างแท้จริง

ใกล้จะออกพรรษา ถึงเวลาใกล้จะสึกอยู่แล้ว คำสัญญาที่ให้ไว้กับน้องนางคนสวยยังก้องกังวานอยู่ในหัวใจของสามเณรเสมอ

อีกด้านหนึ่ง ความรักและความอยากที่จะได้ลิ้มรสพระธรรมก็ดูเหมือนจะมีเพิ่มขึ้น และเริ่มเชื่อมั่นว่าคำสอนของพระองค์จะต้องเป็นจริงและไม่มีผิดพลาด สมกับที่ตนได้สวดมนต์ในบทพระพุทธคุณอยู่ทุกวันว่า : –

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

สุคโต เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี

โลกวิทู เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

คำสอนของพระองค์จะต้องไม่ผิดพลาดอย่างแน่นอน ดังนั้นการที่เราได้บวชเข้ามาในบวรพุทธศาสนาแล้วก็ควรเจริญรอยตามพระพุทธองค์ท่าน อย่าให้เสียทีที่ได้มีโอกาสบวชเข้ามาแล้วไม่ได้อะไรดีๆ กลับไปเลย

ถ้าเช่นนั้น เรื่องความรักจำเป็นต้องขอพักไว้ก่อน แม้จะมีใจนึกคิดและยังอาลัยอาวรณ์อยู่ ก็จะขอตัดใจบวชเรียนต่อไปอีกสักระยะหนึ่งก่อน จะห่มผ้าเหลืองได้นานเท่าไรก็แล้วแต่บุญบารมีเถิด

๘. บวชเป็นพระภิกษุ

เมื่อสามเณรเพ็ง ตัดสินใจที่จะบวชต่อ บิดา มารดา ก็สุดปลาบปลื้ม จัดการบวชพระให้ตามที่ลูกเณรต้องการ

จากบันทึกที่เป็นลายมือของหลวงปู่เอง ท่านเขียนไว้ว่า

“…พอพ้นพรรษา ถึงเดือนเมษายน บิดา มารดา ก็ได้อุปสมบทพระภิกษุ ที่วัดบ้านปาฝา อุปัชฌาย์หนู…กลับมาอยู่บ้านจานทุ่งตามเดิม พอถึงเดือนพฤษภาคม วันที่ ๑ ก็ย้ายมาเรียนหนังสือนักธรรมตรี ที่วัดบึงพระลานชัย ร้อยเอ็ด

เบื้องต้นอุปสมบทเป็นมหานิกาย พอได้มาอยู่วัดบึงพระลานชัยได้ ๑ เดือน ๑๕ วัน พอถึงกลางเดือน พระอุปัชฌายะก็ญัตติเป็นพระธรรมยุต ให้เรียนนักธรรมตรี สอบได้ในพรรษานั้น”

เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาได้รับ พระภิกษุเพ็ง เข้าทำเนียบสงฆ์แล้ว พระอุปัชฌาย์ได้ให้ชื่อเป็นภาษามคธว่า “เมตโย”

หลังจากหลวงปู่ บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ความตั้งใจที่จะศึกษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นไปอย่างกระตือรือร้นเอาจริงเอาจัง ประกอบกับทางบ้านของท่านไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงหรือทำให้วุ่นวายใจ ท่านก็ยิ่งมีความเพียรมากขึ้น

หลวงปู่ เริ่มต้นศึกษาทางด้านปริยัติ และสอบได้นักธรรมตรีในพรรษาแรกนั้น ทำให้ท่านมีความรู้เบื้องต้นในทางพระพุทธศาสนาซึ่งจะเป็นพื้นฐานของความเข้าใจเป็นอย่างดี ในการฝึกฝนในภาคปฏิบัติด้านวิปัสสนากรรมฐานต่อไป

๙. มีใจโน้มเอียงทางด้านปฏิบัติภาวนา

หลวงปู่เพ็ง บันทึกประวัติของท่านไว้ว่า

“พอพรรษาที่ ๒ ย้ายไปอยู่บ้านเทอดไทย ตำบลเหล่า อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เป็น พ.ศ.๒๔๗๘ สอบนักธรรมชั้นโท แต่เผอิญถูกอุบัติเหตุ แม่กองธรรมสนามหลวงว่าจังหวัดร้อยเอ็ดทุจริต เลยไม่ (มีการตัดสินผล) พอปี ๒๔๗๙ ก็เรียนอยู่ที่เดิม สอบได้นักธรรมชั้นโท…”

ในช่วงนั้น หลวงปู่ ท่านเริ่มสนใจและโน้มเอียงไปทางด้านปฏิบัติภาวนา เพราะท่านได้เห็นตัวอย่างจากครูบาอาจารย์สายกรรมฐาน ที่มีโอกาสเดินธุดงค์แวะมาพักที่วัดที่หลวงปู่พำนักอยู่เสมอๆ

บางครั้งหลวงปู่ ก็ได้เห็นพระธุดงค์มาปักกลดบริเวณป่าช้าข้างวัดบ้าง ในบริเวณวัดบ้าง ท่านได้มีโอกาสสนทนา ซักถามความรู้ และแนวทางปฏิบัติ จากพระธุดงค์เหล่านั้นบ้าง

เมื่อท่านอยู่องค์เดียวภายในกุฏิที่พัก หลวงปู่ได้ลองนั่งภาวนาตามวิธีที่ได้รับรู้มา เหมือนบุญกุศลส่งผล ท่านเกิดความรู้ความเห็นที่ไม่เคยได้พบไม่เคยเป็นมาก่อน ยิ่งปฏิบัติต่อไปจิตใจก็ยิ่งสงบ และยิ่งรู้ธรรมมากขึ้นโดยลำดับ

หลวงปู่จึงตัดสินใจที่จะเลิกเรียนด้านปริยัติธรรม หันมาฝึกในภาคปฏิบัติตามแบบฉบับของพระธุดงค์ต่อไป

๑๐. ตัดใจจากแม่สาวสุดรัก

วันหนึ่ง (ปี พ.ศ.๒๔๗๙) หลังจากปฏิบัติข้อวัตรที่กระทำเป็นประจำทุกวันแล้ว หลวงปู่ได้หยิบหนังสือ นวโกวาท คือคู่มือสำหรับพระบวชใหม่ขึ้นมาอ่าน พลันเกิดมาสะดุดกับบัญญัติข้อสังฆาทิเสสและรำพึงกับตัวเองว่า

“เราเป็นพระเป็นเจ้าอยู่นี่ จิตใจบางขณะยังว้าวุ่นกับเรื่องผู้หญิง เรื่องมีคู่มีเรือน มันทำอย่างนั้นไม่ได้ มันอาบัติ ผิดวินัย

ยิ่งเราได้ทำสมาธิภาวนา พิจารณาดูแล้วก็เป็นจริง เพราะการบวชเข้ามาเป็นพระสงฆ์ มันต้องตัดโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง แล้วเรายังมาคิดอยู่อีกไม่ได้…

พระธรรมเป็นของจริง ถ้าผู้ใดรักพระพุทธเจ้า รักความดีงาม รักพระธรรมคำสั่งสอน มีศรัทธาความเชื่อแล้ว ก็ต้องให้มันห่างไกลกิเลสตัวนี้

อย่าเช่นนั้นเลย เราต้องหาโอกาส จำต้องไปบอกนางให้เลิกสนใจเรา และให้นางอย่ารอเราเลย”

หลังจากออกพรรษาในปีนั้น (พรรษาที่ ๒) หลวงปู่ จึงไม่รอช้าท่านรีบไปบ้านของแม่สาวน้อยที่ท่านเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะสึกออกมาแต่งงานด้วย และได้พูดกับเธอว่า

“นี่แนะน้องสาว ต่อแต่นี้ไปเราจะยังไม่สึก เราจะบวชเป็นพระต่อไปอีก เราต้องการศึกษาธรรมปฏิบัติ โดยเราจะออกเดินธุดงค์เข้าป่าแสวงหาโมกขธรรม อันเป็นของจริงที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนไว้ และทางนี้สามารถที่จะพาเราไปสู่ดินแดนพ้นทุกข์ได้

และตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไม่สึกออกมาแล้ว แม้ว่าน้องสาวต้องการที่จะมีสามีและบุตร ก็ขอให้เป็นไปตามประสงค์เถิด อย่าพะวงในตัวเราเลย ขอให้น้องสาวจงมีความสุข และพ้นภัยเถิด”

เมื่อหลวงปู่กล่าวจบตามที่ตั้งใจแล้ว ท่านก็รีบหันหลังกลับเข้าวัดทันที โดยไม่รอดูว่าแม่สาวจะว่าอย่างไร

ทางด้านแม่สาวน้อยก็ยังรอความหวังอยู่ถึง ๕ ปี จนกระทั่งแน่ใจว่า “หลวงพี่” ไม่ยอมสึกแล้ว เธอจึงยอมแต่งงานกับชายหนุ่มคนอื่นไป

สาธุ ! ทั้งท่านและเธอทำถูกแล้ว ไม่เช่นนั้นเราคงไม่มีหลวงปู่ที่เป็นพระดีองค์นี้ให้กราบไหว้แน่

๑๑. ต้องการโปรดโยมบิดาให้ละไสยศาสตร์

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโมสมัยที่ยังอยู่เชียงรายได้เล่าประวัติของท่านในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับบิดาของท่านในสมัยที่ยังเป็นฆราวาสซึ่งได้รับการถ่ายทอดในนิตยสารโลกทิพย์ ดังต่อไปนี้

“บิดาของอาตมานี่ แต่เดิมท่านมีความรู้ทางด้านไสยศาสตร์มาก่อน เรื่องนี้บิดาศึกษามาตั้งแต่ยังหนุ่มๆ เลย ท่านเก่งมากเรื่องคุณไสยนี่นะ สมัยนั้นเขานิยมกันมากเรื่องนี้ บิดาก็เก่งมากในตำบลทีเดียว แต่มันก็อาศัยจิตใจที่เข้มแข็งของท่านนั่นแหละ

ทีนี้อาตมาต้องการให้ท่านได้ศึกษาทางธรรมบ้างเพื่อว่าท่านจะได้เลิกละเรื่องผีสางได้ อีกอย่างหนึ่งชาวบ้านแถบถิ่นอีสานโดยทั่วไปเขานับถือผีปีศาจอะไรพวกนี้นะ งมงายในเรื่องนี้มากทีเดียวละ

ตอนได้พรรษาที่ ๒ นี่ อาตมาก็ไม่เก่งในการสอนอะไรมากนัก เพราะเพียงรู้ทางด้านปริยัติบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติภาวนานั้นยังอ่อนมาก ด้วยความเพียรมุมานะภาวนามากเข้าๆ เป็นเหตุให้รู้ว่าการศึกษาจากตำราก็เป็นเพียงการเรียนรู้เนื้อหาธรรมะเท่านั้น ยังมิใช่เป็นการเรียนรู้เพื่อละเพื่อวาง

หมายความว่ารู้เพียงจำนวนจำกัด คือรู้หน้านั้น รู้หน้านี้ หมวดนั้น หมวดนี้ ใบนั้นใบนี้ แล้วต้องมาท่องจดจำให้ได้ อย่างนี้ภาษาธรรมเป็นเพียง สุตะ และ จินตมยปัญญา ยังไม่ได้เป็น ภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจากใจ ถ้ามีปัญญาอย่างตัวหลังนี้แล้วก็สามารถรู้ได้อย่างสารพัดทีเดียว พระพุทธเจ้าของเราจึงสามารถเป็นผู้รู้โลกได้แจ่มแจ้ง

อาตมายิ่งภาวนาก็ยิ่งมีกำลังใจ แรกๆ นี่นะมันตื่นเต้นเรื่องเดินธุดงค์ อาตมาไปทุกแห่งในละแวกเขตอำเภอต่างๆ ในจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดขอนแก่น ไม่ว่าในป่าช้า ป่ารกใดๆ อาตมาไม่ย่อท้อ ไม่เกรงอันตรายที่จะเกิดขึ้น เพราะได้แน่ใจแล้วว่า พระธรรมคำสอนเป็นความจริง และธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

ศีล ที่เรารักษาอยู่ ก็ช่วยเราได้จริง

สมาธิภาวนา ก็มีจริง เพราะสามารถทำจิตใจของตนเองให้เกิดสมาธิได้ สงบได้

ปัญญา ก็มีจริง เพราะเราได้ทำสมาธิภาวนาเสมอๆ ความรู้ความนึกคิด มันเกิดขึ้นเอง โดยที่ตนเองไม่เคยคิดมาก่อน

เมื่อได้ปัญญาความรู้ที่เห็นนี่ เวลาอาตมาสอบนักธรรมโทก็ไม่เป็นของยาก เพราะมันรู้มาก่อนแล้ว อาตมาพยายามมากจริงๆ เพราะเริ่มเข้าใจ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้ว

อาตมามีความคิดว่า มันรู้ชัดตามความเป็นจริง จนเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาแล้ว อาตมาจึงย้อนกลับวัดมุ่งหวังจะมาเทศนาโปรดบิดาให้ออกเสียจากคุณไสย และพวกผีปีศาจให้ได้”

๑๒. เทศน์ชักจูงโน้มน้าวใจโยมบิดาทั้งคืน

พอตกเย็น หลวงปู่เพ็ง (อายุพรรษา ๒) ได้ไปที่บ้านโยมบิดาเป็นครั้งแรก เพราะตั้งแต่บวชแล้วไม่เคยเข้าบ้านเลย โยมบิดามารดาต่างตื่นเต้นดีใจที่เห็นพระลูกชายมาโปรดถึงบ้าน

บรรดาเพื่อนบ้านที่รู้จักมักคุ้นต่างทยอยกันมาพูดคุย ถามถึงทุกข์สุขต่างๆ จนได้เวลาอันสมควรก็ทยอยกันลากลับ

เมื่อแขกเหรื่อกลับไปหมดแล้ว ยังเหลือเฉพาะพระลูกชายและโยมบิดา อยู่กันสองต่อสอง ทางพระจึงเปิดฉากเทศน์ชักจูงบิดาตามที่ตั้งใจมา ว่า

“วันนี้ อาตมามีความประสงค์ขอร้องโยมพ่อสักเรื่องหนึ่ง อาตมาหวังว่าโยมพ่อคงให้ได้ สำหรับตัวอาตมาเองได้รับฟัง และทำตามโยมพ่อมาตลอด อาตมาทำตนตรงตามความประสงค์ของโยมพ่อแล้ว คือ ต้องการให้บวชเรียน อาตมาก็บวชเรียนแล้ว เรื่องนี้โยมพ่อเข้าใจดี ตั้งแต่บวชเรียนมา อาตมาได้หันมาประพฤติปฏิบัติภาวนา จนมีความรู้ความเห็นเป็นความจริงทุกประการ

อาตมาอยากให้โยมพ่อกระทำตนอยู่ในพระรัตนตรัย โดยถือหลักพระไตรสรณาคมน์ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

ขอให้โยมบิดาจงเลิกนับถือเรื่องผีปีศาจ และจงละความเชื่อถือคุณไสยนั่นเถิด ภูตผีปีศาจไม่ได้ให้คุณประโยชน์อะไรแก่เราเลย ของพวกนี้มันไม่จ่ริงหรอก มันไม่สามารถทำให้พวกเราพ้นทุกข์ได้ นอกจากจะขาดจากพระไตรสรณาคมน์แล้ว ยังเป็นโทษแก่เราอีกด้วย

โยมพ่อเชื่อถือเรื่องพวกนี้ เป็นเหตุให้ต้องกักขังวิญญาณต่างๆ ไว้ เขาได้รับความทุกข์ เขาจะไปเกิดก็ไม่ได้ เขาจะไปไหนก็ไม่ได้ เพราะเราไปบังคับข่มขู่เขาไว้ มันไม่ดีเลยนะโยมพ่อ

ถ้าหากวันใดจิตใจเราไม่เข้มแข็ง หรือวิบากกรรมติดตามเรามาถึง พวกนี้จะย้อนกลับมาทำลายเรา โยมพ่อคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า หมองูตายเพราะงู”

๑๓. น้อมกายใจเข้าหาพระรัตนตรัย

พระลูกชาย เทศน์โน้มน้าวใจโยมบิดาให้หันเข้าหาพระรัตนตรัยดังนี้

“สิ่งที่จริงแท้ คือ คำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเมตตาสั่งสอนอบรมเวไนยสัตว์ให้กระทำความดี ถ้าผู้ใดมีทาน ศีล ภาวนา แล้วชีวิตจะไม่เป็นหมัน คือไม่สูญเปล่า ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ จะพบกับความสุขสงบในชีวิต

มนุษย์เราในโลกนี้ โยมพ่อโปรดตรองดูเถิดว่า ทำไมจึงต้องรับทุกขเวทนากันนัก ต้องตรากตรำการงานอย่างหนัก แม้ไม่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ก็ต้องได้มาด้วยความทุกข์ของผู้อื่น

คนเราแม้จะดิ้นรนอย่างไรก็ตาม ก็ยังเกิด ยังแก่ ยังเจ็บ ยังตาย ไม่สุดสิ้น ตายสลับซับซ้อน ถมทับลงดิน คนแล้วคนเล่า

เมื่อเกิดมาแล้ว มองหาความสุขของแต่ละคนไม่ได้เลย ต่างดิ้นรนเพื่ออยู่รอดตลอดกาล บางคนเกิดมาแล้วเป็นคนทุกข์ ยากจน บางบ้านจะหาของมากินก็แสนจะลำเค็ญ เลี้ยงปากท้องตนเองแทบไม่มีอยู่แล้ว ลูกที่เกิดมายังต้องได้รับทุกข์ไปด้วย ถึงกระนั้นคนก็ยังอยากเกิด

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะอะไร เพราะไม่เชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่น้อมจิตใจให้เข้ามาอยู่ในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั่นเอง ถ้าเข้ามาจริงแล้ว มีพระรัตนตรัยในจิตใจแล้ว จะไม่เป็นเช่นนี้ บางคนฆ่ากันติดต่อกันไปจนถึงลูกหลานของตนเอง บางทีฆ่ากันแต่ละครั้ง ๓-๔ ศพ ก่อเวรก่อกรรมไม่สิ้นสุด นี่เพราะอะไร เพราะไม่เชื่อพระพุทธเจ้าสอน

โยมพ่อเองก็มีความรู้เรื่องพระศาสนาดี ถ้าไม่รู้ก็คงไม่ให้อาตมาบวช ความผิดความถูกโยมบิดาก็รู้ ลัทธิพราหมณ์ขอให้โยมบิดาเลิกเสียเถิด จงน้อมกายใจเข้าหา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกถึง จะดีกว่า เรื่องลัทธิพราหมณ์ พระพุทธเจ้าของเราเคยศึกษามาแล้ว

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า ไม่เป็นทางออกของจิตใจ มันจะพากันหมักหมมในดวงจิตดวงใจ มันเป็นทางโลกียะทั้งนั้น ไม่เป็นทางโลกุตระ

หมายเหตุ :ในแถบที่หลวงปู่อยู่ มีลัทธิพราหมณ์ ลัทธิฮินดู แพร่หลายอยู่ ตัวอย่างเช่น หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ก็มาจากครอบครัวพราหมณ์ ถือศาสนาฮินดูอย่างเคร่งครัดมาก่อน ด้วยท่านเป็นครูผู้นำประกอบพิธีการในลัทธิศาสนาฮินดู ต่อมาภายหลังท่านเดินทางไปที่วัดป่าศรีไพรวัน อ เมืองร้อยเอ็ด เข้าถวายตัว บวชเณรอยู่กับเจ้าอาวาส คือ พระอาจารย์เพ็ง เมตโย ในขณะนั้นซึ่งก็คือหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ในภายหลัง เมื่อท่านบวชครั้งที่ ๒

ข้อมูลจากหนังสือ ๘๐ พระกรรมฐานของนิตยสารโลกทิพย์

๑๔. เราคนไทย มีพระพุทธศาสนาประจำชาติ

พระลูกชาย เทศน์โปรดโยมบิดาต่อไปว่า : –

“เราเป็นคนไทย มีพระพุทธศาสนาประจำชาติ อีกทั้งยังมีครูบาอาจารย์ที่สามารถอบรมสั่งสอนเอาให้ได้รับความรู้ก็มีมาก สู้เราไปศึกษากับท่าน แล้วนำพระธรรมมาประพฤติปฏิบัติเสีย จะไม่ดีกว่าหรือ

อย่างอาตมา แต่ก่อนไม่เคยมีความรู้อะไรเลย ไม่มีวิชาอะไรเลย แต่เวลาออกป่า เดินธุดงค์ไปอยู่ตามป่าเขาราวไพร อาตมาก็เดินไปโดดเดี่ยว ไม่มีอะไรป้องกันตัว อาตมาไม่กลัวภูตผีปีศาจอะไร แม้กระทั่งสัตว์ ด้วยเหตุนี้อาตมาไปเพื่อศึกษาโมกขธรรม ออกเที่ยววิเวก

พระพุทธเจ้าของเรานี่ พระองค์ทรงเป็นถึงพระมหากษัตริย์พระองค์จะหาธรรมยังต้องหลบหนีเข้าอยู่ป่า แม้จะดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน พระองค์ก็ดับขันธ์ในป่า

อนึ่ง อาตมามีแต่ความดี มีศีลรักษาตัวเท่านั้น สัตว์เล็กสัตว์น้อยก็ไม่คิดเบียดเบียนเขา เราไม่ไปทำร้ายเขา แล้วอยู่เป็นสุข ตายก็เป็นสุข ด้วยกันทั้งสิ้น

อาตมาเคยเห็นชาวบ้านที่เข้าป่า แล้วถูกเสือถูกช้างฆ่าเอาตาย นั่นเป็นเพราะอะไรกัน ก่อนออกป่า เขาก็ได้บวงสหลวงเทวดา ทำการไล่สิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรออกจากตัว แถมยังขอน้ำมนต์ ลงยันต์ สะเดาะเคราะห์ ไหว้ผีไหว้สางก่อนเข้าไป

เมื่อเข้าไปแล้ว อยู่ในป่าก็เที่ยวหาสัตว์ ฆ่าสัตว์ เอามาหุงหากิน นั่นแทนที่จะเอาเสนียดจัญไรออกจากตัว กลับนำเสนียดจัญไรใส่ตัวเสียอีก ในที่สุดก็ต้องตาย เข้าไปเบียดเบียนเขา แล้วอะไรจะช่วยเราได้”

๑๕. เข้าป่าเดินธุดงค์เพื่อขัดเกลากิเลส

พระลูกชาย เทศน์รุกโยมบิดาต่อไปว่า : –

“อาตมาเข้าป่าเดินธุดงค์ เพื่อขัดเกลากิเลสตัณหาออกจากใจ ไม่ได้ไปเบียดเบียนเขา สัตว์ร้ายจำพวกเสือ ช้าง งูพิษ ก็ไม่เห็นจะทำอะไร อยู่อย่างสงบ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างไป อยู่ด้วยกัน นอนด้วยกันในป่าเขา เอาธรรมชาติเป็นที่อยู่ เอาธรรมเป็นที่พึ่ง เอาบารมีเป็นที่นำทาง

นอนโคนไม้ ไม่มีหน้าต่าง ประตู ถ้าเขาจะมาทำร้าย อาตมาก็ไม่ว่า ไม่พยาบาท ไม่จองเวร ทำจิตใจสบาย ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง ไม่มีความรัก แม้แต่ตัวเอง นอกจากความดีมีไว้ประจำตน

พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายสอนว่า ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร ฉันใด ความดีของเราที่ได้กระทำขึ้นไว้ในจิตใจ ก็ย่อมมีบารมีเกื้อกูลรักษา ไม่นำเราไปตกในที่ชั่วหรอก

พระพุทธเจ้าของเราพูดไว้ไม่ผิดหรอก คำสั่งสอนของพระทุกองค์เป็นหนึ่งไม่มีสอง ขอให้โยมบิดาโปรดพิจารณาเอาเองเถิด”

๑๖. อ่อนใจแต่ไม่ท้อใจ
หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังถึงความพยายามในครั้งนั้นว่า

“คืนนั้น อาตมาพูดให้โยมบิดาเข้าใจ พูดให้ท่านออกจากภูตผีปีศาจ อาตมาหวังให้ได้ แต่ท่านไม่ยอมเชื่ออาตมา ท่านว่า เรียนหนังสือเพียงเล่มเดียวไม่เชื่อ ท่านว่าอาตมาศึกษานวโกวาทมาเพียงเล่มเดียว

อาตมากับโยมบิดาทะเลาะกันอยู่อย่างนั้นทั้งคืน คือตั้งแต่หัวค่ำไปจนยันแจ้ง ท่านก็ไม่ยอม อาตมาอ่อนใจมาก แต่ในใจคิดว่าต้องพยายามให้ท่านเชื่อไม่วันใดก็วันหนึ่ง ต้องการให้ท่านปฏิบัติให้ได้

เอาเถิด วันนี้ยังไม่ยอม สักวันหนึ่งจะต้องเอาให้ได้ อาตมาไม่ลดละความพยายาม เพราะคิดจะดึงบิดา มารดาให้ออกจากการยึดถือเรื่องคุณไสยให้ได้”

๑๗. โยมบิดาพ้นวิบาก

หลวงปู่สีโห เขมโก  วัดป่าวิเวกธรรม จ.ขอนแก่น
หลวงปู่สีโห เขมโก วัดป่าวิเวกธรรม จ.ขอนแก่น

หลวงปู่ได้เล่าเรื่องการชักจูงโยมบิดาให้เลิกเรื่องไสยศาสตร์จนสำเร็จในเวลาต่อมา ดังนี้

“ต่อมา พ้นพรรษาที่ ๓-๔ เหมือนบิดาของอาตมาจะหมดวิบากกรรม บังเอิญ พระอาจารย์สุภี แห่งวัดบ้านหนองบุ้ง จังหวัดขอนแก่น ได้เดินทางมาพักที่วัดอาตมา” (วัดป่าศรีไพรวัน จ ร้อยเอ็ด)

พระอาจารย์สุภี เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ต่อมาได้ไปศึกษาปฏิบัติพระกรรมฐานกับหลวงปู่สีโห เขมโก ที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ภายหลังหลวงปู่สีโห ไปพำนักประจำอยู่กับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่ป่าช้าบ้านเหล่างา ซึ่งต่อมาเป็นวัดป่าวิเวกธรรม อ.เมือง จ.ขอนแก่น)

หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงเหตุการณ์ว่า

“พระอาจารย์สุภี เดินทางมายังหมู่บ้านที่อาตมาอยู่ และได้ไปพักที่วัดของอาตมา จึงได้รับบารมีจากท่านให้เทศนาโปรดบิดา ไม่ทราบว่าอะไรมาดลใจโยมของอาตมา ท่านเชื่อเลย จนเลื่อมใสพระฝ่ายปฏิบัติพระกรรมฐาน รวมทั้งโยมมารดาก็เชื่อถือ ยอมรับฟัง ตอนที่อาตมาไปเทศน์ให้ท่านฟัง ท่านไม่เชื่อ แถมยังเถียงแทบล้มตาย ชักแม่น้ำหมดเมืองไทยท่านก็ยังไม่ลดถอย

พอพระอาจารย์สุภีมาเทศน์ให้ฟัง ท่านยอมเชื่อทั้งบิดามารดา เมื่อท่านเชื่อแล้ว ก็มาปฏิญาณตนเข้าถือพระไตรสรณาคมน์เป็นที่พึ่ง ท่านเลยทิ้งภูตผีปีศาจคุณไสยจนหมดสิ้น ตั้งแต่บัดนั้นมา ท่านรับศีล นุ่งขาวห่มขาว”

“แหม…กว่าจะดึงท่านออกได้ มันเป็นเวลานานพอดูทีเดียว” หลวงปู่สรุปในตอนท้าย

๑๘. ตัดสินใจออกท่องธุดงค์

หลวงปู่เพ็ง มีความคิดที่จะออกท่องธุดงค์ โยมบิดาก็สนับสนุน ท่านเล่าเหตุการณ์ ดังนี้

“หลังจากนั้นมา อาตมาไม่ประสงค์จะศึกษาทางด้านปริยัติธรรมต่อไปแล้ว อยากเข้าป่าเดินธุดงค์เพียงอย่างเดียว เพราะรักที่จะเดินธุดงค์มากกว่า ได้ตัดสินใจไว้ล่วงหน้า สู้หันมาปฏิบัติไม่ได้ ขอเป็นพระกรรมฐานดีกว่า สิ่งที่เราได้รับได้เห็นมาจากจิตใจ มันชัดแจ้งยิ่งกว่าท่องในหนังสือมากมายนัก

เราอยากจะรู้อยากจะเห็น ก็นั่งภาวนาไป จิตภายในมันจะค้นคว้าสอนเราเองตลอดเวลา จนบางครั้งยังมานึกเลยว่า เอ…นี่เรารู้ได้อย่างไรกัน เราไม่ได้อ่านหรือศึกษาที่ใดมาก่อนนี่นา ทำไมมันจึงรู้อย่างดีเสียอีก นั่นแหละอาตมาเอาชีวิตจิตใจเข้าโถมเลย สู้ตาย

เมื่ออาตมาดึงบิดา มารดาเข้ามาได้แล้ว ก็วางจิตใจลงไป ออกเที่ยวธุดงค์ทันที ฝ่ายโยมบิดา โยมมารดาทราบข่าวก็มานิมนต์ให้อาตมาออกธุดงค์”

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล
หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล

หลวงปู่ได้เล่าถึงความเป็นคนเอาจริงของบิดา ท่านว่า : –

“ตอนแรกท่านให้อาตมาเรียนพระปริยัติธรรม แต่พอท่านมารู้เรื่องพระกรรมฐานจากพระอาจารย์สุภี ท่านเห็นว่าเป็นทางวิเศษ เป็นทางที่สามารถจะพาไปให้พ้นทุกข์จริง ท่านจึงนิมนต์ให้อาตมาออกกรรมฐาน

โยมบิดาของอาตมานี่ท่านมีความศรัทธาจริง ไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าเกิดศรัทธาขึ้นมาละก็ ท่านเอาเป็นเอาตายทีเดียว เช่นว่าให้อาตมาบวช พอบวชแล้วก็ให้ศึกษาด้านปริยัติธรรม พอรู้เรื่องภาวนา ท่านเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ก็มานิมนต์ให้อาตมาเข้าป่าไปเลย

นี่จิตใจท่านเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ใจนักเลง ท่านจึงทำอะไรก็ตามจะต้องสำเร็จผลไปหมด ท่านไม่ยอมถอยหลังให้อุปสรรค จนหลวงปู่ขาว อนาลโย เคยพูดกับอาตมาภาพว่า พ่อของพระเพ็งเป็นคนวิเศษ

ก่อนที่อาตมาจะเข้าป่าเดินธุดงค์ โยมบิดาได้ซื้อหาบาตรลูกใหม่ แล้วนำมาถวายอาตมา อาตมาจึงต้องออกธุดงค์เรื่อยมา”

หมายเหตุ : ทำไมพระสายกรรมฐานจึงใช้บาตรใบใหญ่?

เพราะท่านใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการบิณฑบาตตามปกติ เช่นท่านฉันในบาตร (แบ่งเท่าที่ฉันหมด ยกเว้นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ ท่านจะเผื่ออาหารให้ลูกศิษย์ ถือเป็นข้าวก้นบาตรด้วย) ใช้ใส่สัมภาระเวลาเดินทาง จำพวกหยูกยาไม้ขีด มีดโกน และของใช้ที่จำเป็น รวมทั้งใช้เก็บจีวร สังฆาฏิ ผ้าต่างๆ ป้องกันไม่ให้เปียกเวลาฝนตกด้วย – ผู้เขียน

๑๙. ตั้งใจปฏิบัติภาวนาในป่าเขา

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ได้บันทึกด้วยลายมือของท่านเอง ดังนี้ : –

“ปี ๒๔๗๙ พอรู้ว่าสอบ (นักธรรมชั้นโท) ได้ ก็ลาอุปัชฌาย์ ออกเดินธุดงค์จากสำนักเรียนเข้าร้อยเอ็ด เดินทางต่อถึงมหาสารคาม เป็นสำนักปฏิบัติป่าช้าจังหวัดมหาสารคาม มีพระอาจารย์นาค โฆโส ก็เข้าศึกษาปฏิบัติกรรมฐานกับท่าน

มีพระด้วยกัน ๔ รูป สามเณร ๑ รูป คือ พระมหาแก่นจันทร์ ประโยค ๖ พระอาจารย์นาค พระเพ็ง เมตโย พระพัน สามเณรสุวะ อยู่ไม่นานท่านก็พาเดินธุดงค์ไปถ้ำพระเวส จังหวัดนครพนม อำเภอนาแก…”

หมายเหตุ: พระอาจารย์นาค โฆโส ได้บันทึกเรื่องราวของท่านไว้ในหนังสือชื่อ สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน ตามประวัติ พระอาจารย์นาคเป็นพระกรรมฐานที่มีใจเด็ดเดี่ยว ออกท่องธุดงค์ตามป่าเข้าอย่างมอบกายถวายชีวิต เรื่องราวของท่านเข้มข้นมาก ท่านเป็นพระตรง พูดตรง ทำจริง ท่านมีกิตติศัพท์ในการต่อสู้ฟาดฟันกับพระผู้ประพฤตินอกรีตนอกรอย ไม่ว่าพระผู้ใหญ่หรือผู้น้อยก็ตาม ท่านก็ไม่ละเว้น

หลวงปู่เพ็งได้รับการถ่ายทอดบุคลิก และนิสัยบางส่วนจากพระอาจารย์นาคได้แก่ ความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นทำจริงพูดตรง ในกรณีพระดังๆ ที่มีเรื่องราวทางสื่อมวลชน หลวงปู่จะพูดก่อนสื่อเหล่านี้ไว้นาน บอกว่า “ให้คอยดูบักนั่นเด้อ มันไปได้บ่นานดอก…” และก็เป็นจริงทุกรายเท่าที่ผ่านมา – ผู้เขียน

๒๐. ดิฉันขอลาเพื่อไปแต่งงาน

หลวงปู่ เล่าถึงการปฏิบัติภาวนาในครั้งนั้นของท่านว่า

“ในพรรษานี้ อาตมายิ่งตั้งใจมาก อาตมาเพียรภาวนาตามถ้ำผาป่ารกตลอดพรรษา ในใจของอาตมานี่มันโปร่งเบาอย่างบอกไม่ถูก อารมณ์นี้นะมันเกิดขึ้นมาอย่างประหลาด

อาตมานั่งบำเพ็ญเพียร เดินจงกรม ขนาด ๓ วัน ๓ คืน นี่เฉยไปเลยไม่หิวไม่โหยอะไร ขยันปฏิบัติมาก ความเพียรไม่อ่อนแรงเลย มันยิ่งรุดหน้าไปไกล

ขณะที่พิจารณาภายในกลด อาตมาเกิดมีความรู้สึกว่าโยมบิดานี่ สมควรจะให้บวช เพราะท่านมีอายุมากแล้ว การงานใดๆ ก็สมควรปล่อยมือได้แล้ว สมบัติเงินทองนี่ทำไปเท่าไรๆ มันก็ไม่พออยู่นั่นเอง

ตัณหา ความทะยานอยาก ถ้ามันเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว ขนาดแก่จะตายก็ยังดิ้นรน การดิ้นรนนี้ ถ้าใครมีแรงมากก็ดิ้นรนไปไกล ถ้าคนมีกำลังน้อยหรือแทบไม่มีเลยนี่ซี มันน่าสมเพชเวทนา อาตมาเคยตั้งใจไว้ถ้าออกจากการเดินธุดงค์ กลับไปถึงบ้าน ต้องให้ท่าน (โยมบิดา) บวชเป็นพระให้ได้

อาตมาย้อนกลับวัดบ้านเกิด พอมาถึงวัดแล้ว โยมผู้หญิงที่เคยมีสัมพันธ์ตั้งแต่อดีต สมัยที่รู้จักกันตอนฆราวาส เขามาหาอาตมา

พอมาถึง เขาก็บอกว่า ดิฉันขอลาเพื่อไปแต่งงาน โอ้…เขาอดทนจริงนะ รออาตมา ๕ ปี อาตมาก็ให้พรให้เขาไปมีความสุข”

๒๑. เห็นกิเลสตัณหา เป็นกระจกเงาส่องตนเอง

หลวงปู่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องตัณหาราคะที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมให้เจริญก้าวหน้า ว่า

“เรื่องตัณหานี้สำคัญนะ ถ้าคิดจะปฏิบัติภาวนาแล้ว ควรละเรื่องรัก เรื่องโลภ เรื่องหลงให้ได้เด็ดขาด เราจะมาสุมไว้ทำไม ไม่มีประโยชน์อะไร ตัวนี้มันบั่นทอนกำลังสมาธิมาก เพราะมันร้อนรน มันทำให้จิตใจแส่ส่ายไปมา ภาวนาก็ไม่เกิดผล จิตใจมันไม่สงบ ถ้าอยากให้สงบต้องฝึกละฝึกวาง

ตัวตัณหาราคะนี้ มันทำให้คนเราหลงทางได้เป็นคนขาดสติ…

อาตมาไปเห็นมาที่เมืองลาว เวียงจันทน์โน่น มันน่าสงสารนะ คนเราอายุ ๕๐-๖๐ ปี แต่ไม่พิจารณาให้เห็นความเสื่อมโทรมในร่างกายของตน อาตมาว่าสู้เด็กเกิดในวันนั้นไม่ได้ ปล่อยตัวปล่อยใจเข้าคลุกกับตัณหาราคะ เข้าบาร์ไปเต้นย็อกแย็กๆ อาตมาดูแล้วเหมือนไส้เดือนถูกขี้เถ้า หนังก็เหี่ยวย่น ฟันก็หัก ตาฝ้ามัว โอ…ไปอยู่ได้อย่างไรในสถานที่อย่างนั้น

ทำไมอายุขนาดนั้นแล้ว เขาไม่ยอมพิจารณาดูตัวเองว่ามีความเกิด-ดับของสังขารเลย ไปมั่วกับพวกเด็กผู้หญิงอายุ ๑๖-๑๘ ปี เอาเด็กพวกนี้มาขี่คอไว้ เมากันนะ เหล้ายาฝิ่น กัญชา ของเลวทั้งนั้นแหละ

ของอย่างนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงถือเอาว่าผู้ทรงคุณธรรมนั้นประเสริฐกว่าผู้มีอายุมากแต่ไม่มีคุณธรรม พวกนี้ไม่มองสภาพร่างกายของตน เก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมอยูทุกวัน จิตใจไม่มีสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า เกิดมาไม่มีประโยชน์แก่ตนเองเลยแม้แต่นิด

อาตมามองเห็นสิ่งนี้เป็นกระจกเงา เลยดูตนเองบ้าง โอย..รีบข้ามโขงมาเลย อยู่ไม่ได้ เวลาจะหมดเอา นี่มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ตั้งใจว่าตายในผ้าเหลืองเลยในชาตินี้”

๒๒. ชีวิตนี้ลำบาก อยากให้บิดาบวช

หลวงปู่ได้เล่าถึงคำปรารภของท่านที่คิดอยากให้โยมบิดาของท่านบวชเป็นพระภิกษุ

“อาตมาเห็นว่าภาคอีสานของเรานี่มีสิ่งชี้บอกธรรมะมาก ความหลงน้อยในสมัยนั้น เพราะมันกันดาร สมัยนั้นอีสานแล้ง ชาวอีสานเหมือนมีกรรม ชีวิตมันเกิดมาพร้อมกับความอับเฉา อีสานบ้านเรา หน้าฝนนี่ พอเกิดความชุ่มชื้นขึ้นมา ก็โน่น…น้ำท่วมไปถึงชื่อถึงแปบ้าน อาหารการกินก็ต้องลำบาก วัวควายเลี้ยงไว้หนีน้ำไม่ทันก็ล้มตายลงไป ท่วมทุกปี ต้นข้าวกำลังจะเก็บเกี่ยวได้ น้ำก็มาท่วม น้ำตาตกในกันทั่วหน้า

พอถึงหน้าแล้ง จะหาน้ำดื่มก็แสนลำบาก น้ำดื่มนี่หายากกว่าทองคำนะ ออกไปหาน้ำกันแต่ละทีเป็นกิโลๆ เลยนะ แล้วแล้งติดต่อกันได้ ๖-๗ ปี

อาตมาสงสารชาวบ้าน สงสารโยมบิดามากทีเดียว แต่ละปีอาตมาก็ไม่รู้ว่าท่านเลี้ยงลูกมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ท่านถือศีล ๘ มาตลอด หน้าแล้งท่านไปหาอะไรมาให้ลูกกิน หน้าน้ำท่วม กุ้ง ปลา ท่านก็ตกหรือหากินไม่ได้ แล้วท่านทำอย่างไร มันน่าอนาถใจ

นี่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ มนุษย์เกิดมามีกรรมเป็นเครื่องอาศัย มีกรรมเป็นมรดก ทำดีก็ได้รับผลดี ทำชั่วก็ได้รับผลชั่ว เราจะได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป

อาตมาคิดว่า บัดนี้เราได้มาพบกับทางแห่งความสุข ทางแห่งพระอริยเจ้าทุกๆ องค์ปรารถนา ไม่มีทางใดจะประเสริฐกว่าทางนี้อีกแล้ว สมควรให้โยมบิดาได้บวชเป็นพระสงฆ์ เรื่องการเป็นอยู่ทางบ้านก็ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรอีก ทรัพย์สมบัติต่างๆ มอบให้มารดาและพี่น้องเขาปกครองกันเอง ให้คนที่เขายังต้องการอยู่”

๒๓ ส่งข่าวให้โยมบิดามาพบ

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ กับ หลวงปู่ขาว อนาลโย

พอหลวงปู่ออกจากกรรมฐาน คือสิ้นสุดการเดินธุดงค์ในครั้งนั้น ก็เดินทางไปกราบหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย กราบเรียนเรื่องความคิดที่อยากให้โยมบิดาของท่านบวช หลวงปู่อ่อน ท่านเห็นด้วย และรับปากจะช่วยดูแลสั่งสอนให้

เมื่อหลวงปู่เพ็ง กลับมาถึงวัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด ก็รีบเขียนจดหมายถึงโยมบิดา ความว่า

“โยมพ่อ ในระยะแรกที่อาตมาเป็นฆราวาสอยู่ โยมพ่อให้อะไรก็ตาม อาตมาเต็มใจทำตามทุกอย่าง เป็นต้นว่า อยากให้อาตมาบวช อาตมาไม่ขัดข้อง ออกบวชให้ ต้องการให้ศึกษา อาตมาก็ศึกษาธรรม ต้องการให้ปฏิบัติกรรมฐาน อาตมาก็เดินธุดงค์กรรมฐานให้ จนบัดนี้สมความปรารถนาของโยมพ่อแล้ว

ส่วนเวลานี้ อาตมาไม่ต้องการอะไรแล้ว บาตร จีวร สบง อะไรก็แล้วแต่ อาตมาไม่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องการอะไรอีก

ขอเพียงอย่างเดียว ให้โยมพ่อบวชเป็นพระ ขอให้โยมพ่อมาวันนี้เลย ที่วัดป่าศรีไพรวัน”

หลวงปู่เพ็ง ให้โยมวัดนำจดหมายไปให้โยมบิดาและเตือนผู้ไปส่งว่า

“อย่าให้หายนะ ต้องส่งกับมือ อย่าลืม อย่าพลาด ถ้าไม่มีคนอยู่ก็ให้อ่านให้ท่านฟังด้วย เพราะท่านอ่านหนังสือไม่เป็น”

หลวงปู่กำชับอย่างแข็งแรง

หลวงปู่เล่าเหตุการณ์ที่สุดแสนยินดีในวันนั้นว่า

“พอดีวันนั้นเป็นวันพระ อาตมานั่งคอย เวลาบ่ายคล้อยประมาณ ๓-๔ โมงเย็น อาตมามองเห็นแต่ไกล ท่านนุ่งขาวห่มขาวมาเลย เดินตรงมายังวัด อาตมาเวลานั้นมันตื้นตันใจ ดีใจมาก ถ้าเป็นฆราวาสก็คงกระโดดเต้นทีเดียว อาตมาคิดว่าสำเร็จแน่คราวนี้ ไม่เสียทีที่นึกคิดไว้ อาตมาจดจำวันบุญที่บันดาลนั้นเท่าทุกวัน อยู่ก็เป็นสุข ตายก็เป็นสุข”

๒๔ ฝากโยมบิดาไปกับหลวงปู่อ่อน

เหตุการณ์ในวันนั้นช่างเหมาะเจาะลงตัวไปทุกอย่าง หลวงปู่เพ็งท่านเล่าว่า

“วันนั้น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม ตำบลหนองบัวบาน อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี (ในขณะนั้น) ท่านเป็นองค์แสดงธรรมพอดี อาตมาดีใจและได้กราบเรียนท่านว่า กระผมอยากจะฝากโยมบิดาให้ไปอยู่กับหลวงปู่ด้วย

หลวงปู่อ่อน ท่านบอกว่า โอดีแล้ว เอาเลย แล้วท่านก็รับโยมบิดาของอาตมาไปอยู่ด้วย แต่ขณะนั้นท่านได้รับมอบหมายจากพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ไปอบรมธรรมที่โคราชโน่น จังหวัดนครราชสีมา บิดาของอาตมาก็ได้ติดตามหลวงปู่อ่อนไปตลอด จากวัดป่าสาละวัน ก็มาอยู่ที่อำเภอสีคิ้ว หลวงปู่อ่อนได้รับคำสั่งให้ไปประจำอยู่ที่นั่น ๓-๔ พรรษา ประมาณนั้นแหละ”

๒๕ การปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเลือกเวลาและพิธีรีตรอง

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

หลังจากที่หลวงปู่เพ็งได้ฝากโยมบิดาให้เป็นตาผ้าขาวติดตามหลวงปู่อ่อนญาณสิริ แล้ว ต่างองค์ต่างก็แยกกันไป ท่านเล่าถึงการปฏิบัติในฝ่ายของท่านเอง ดังนี้

“ส่วนอาตมานี่เข้าป่าบ้าง สอนกรรมฐานให้ญาติโยมบ้าง เพราะตอนนั้นอาตมาเป็นนักเทศน์ ไปเรื่อยๆ มีเวลาเป็นต้องทำสมาธิกันเลย นิสัยนี้จึงติดตัวอาตมา คือไม่มีพิธีรีตองอะไร นั่งได้หลับตาแล้วกำหนดไปเลย สะดวก ได้ทุกกาล เรื่องภาวนานี่

พระพุทธเจ้าของเรานี้ เก่งมากจริงๆ ท่านรู้ว่าคนขี้เกียจมีมากพวกผัดวันประกันพรุ่งนี้เกือบล้นโลก พระองค์จึงสอนธรรมะว่าเป็นอะกาลิโก เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และเห็นผลได้ ไม่จำกัดกาลเวลา นี่ท่านว่าอย่างนี้ยังไม่สะดวกอีกหรือ”

๒๖ อาพาธหนักให้หลวงปู่คำดีช่วยรักษา

ในพรรษาที่ ๖ หลวงปู่เพ็ง เกิดอาพาธ

“ตอนนั้นอาตมาได้ ๖ พรรษาแล้ว ขณะเดินธุดงค์ในป่า อาตมาป่วยมาก แต่จะเรียกโรคอะไรไม่ได้ เพราะมันรุงรังไปหมด หลังจากนั้นอาตมาเจ็บมือ นี่ตรงแขนนี่นะ เป็นแผลร่องแก้ว ผอมก็ผอม ๓ วันป่วย ๔ วันหาย โรคเวรโรคกรรมนะ

หลวงปู่คำดี ปภาโส

อาตมารู้ว่าเป็นโรคเวรโรคกรรมก็ปล่อยใจสบาย ไม่ต้องทุกข์ ทุกข์ไปก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเขาจะเอาตาย เราก็ไม่มีทางแก้ไข หาหมอวิเศษอย่างไร เลิศอย่างไรก็ต้องตาย แต่ถ้าเขาไม่เอาตายทันที มันก็ต้องหาย เราไม่กินยามันก็ต้องหายวันหนึ่งละ”

หลวงปู่เพ็ง ได้เดินทางไปอยู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส และอยู่ปฏิบัติธรรมกับท่าน

ช่วงนั้นน่าจะเป็นปี พ.ศ ๒๔๘๑ ตามประวัติ หลวงปู่คำดีอธิษฐานจำพรรษาที่วัดถ้ำกวาง บ้านหินร่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากเป็นที่ทุรกันดารมาก ไข้ป่าชุกชุม ท่านจึงตั้งสัจจะอธิษฐานอยู่ที่ถ้ำกวางนี้ ๕ พรรษา

หลวงปู่เพ็ง ได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่คำดี

“หลวงปู่คำดี ท่านรักษาโรคให้อาตมา ๑ พรรษาเต็ม จนหายขาดมาถึงบัดนี้ พรรษาต่อมาอาตมาได้ปฏิบัติอยู่กับท่าน เข้าอยู่ป่าช้าพร้อมกับพระอีกรวม ๘ องค์”

๒๗ จัดการบวชพระให้โยมพ่อ

ในช่วงที่หลวงปู่พำนักปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส ที่ถ้ำกวางนั้น ท่านได้รับจดหมายจากหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ จากจังหวัดนครราชสีมา มีข้อความสั้นๆ ว่า

“ท่านเพ็ง โยมผ้าขาวของท่านนี้ จะให้ผมจัดการบวชให้ หรือท่านจะจัดการบวชเอง”

หลวงปู่เพ็ง เขียนตอบกลับไปว่า

“กระผมจะจัดการบวชโยมบิดาเองครับหลวงปู่”

จากนั้นหลวงปู่เพ็งท่านก็จัดการเตรียมเครื่องบวช ลงมือด้วยตัวท่านเอง ทำการเย็บจีวร สบง สังฆาฏิ และอื่นๆ เสร็จในเวลา ๓ วัน ๓ คืน

ในปี ๒๔๘๒ หลวงปู่เพ็ง ก็ได้บวชโยมบิดาของท่าน เป็นหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ สถานที่ทำพิธีบวช ณ พัทสีมา วัดบึงพระลานชัย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ทราบแต่เพียงว่าเวลา ๑๕.๑๘ น มีคณะสงฆ์ร่วมพิธี ๑๑ รูป โดยมี ท่านพระครูคุณสารพินิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ปลัดแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ปีนั้น หลวงปู่บัว อายุได้ ๕๓ ปีพอดี

หลังจากพิธีบวชแล้ว ทั้งหลวงปู่เพ็ง และหลวงปู่บัว ไปพำนักอยู่ที่วัดป่าศรีไพรวันในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งหลวงปู่เพ็ง เป็นเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น ท่านพักอยู่ด้วยกันตลอด ๑ พรรษา

๒๘ หลวงปู่บิดาของท่านไปภาวนาที่มหาสารคาม

หลวงปู่เพ็ง เล่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า

“ช่วงนี้ ปี พ.ศ.๒๔๘๗ อาตมามีภาระมากมาย ออกเทศน์โปรดญาติโยมในถิ่นใกล้ไกลโดยส่วนมาก หาเวลาว่างยากทีเดียว ตอนกลางคืนสอนพระกรรมฐาน ที่ได้รับความรู้ต่างๆ จากครูบาอาจารย์และประสบการณ์ที่ได้รับมาด้วยตัวเอง และเห็นว่าอาตมาคงไม่มีเวลาแนะนำหลวงปู่ผู้บิดาเป็นแน่แล้วอาตมาจึงพาหลวงปู่ผู้บิดาเดินทางไปทางพระอาจารย์คูณ เพื่อฝากฝังไว้กับท่าน

พระอาจารย์คูณองค์นี้ ท่านเก่งทางด้านปฏิบัติภาวนามาก วัดที่ท่านอยู่ชื่อ วัดพูลศรีสารคาม จังหวัดมหาสารคาม เป็นวัดเก่า ชื่อเก่าแต่ขณะนี้ไม่ทราบว่าเปลี่ยนเป็นชื่ออะไร แต่ชื่อเก่าว่า วัดพูลศรีสารคาม

เมื่อไปพบฝากฝังกับท่านอาจารย์คูณแล้ว บิดาของอาตมาได้เที่ยวธุดงค์ไปกับท่านอาจารย์ไปเรื่อยๆ อยู่ป่านะ บิดาของอาตมาได้กรรมฐาน จากท่านมาก อาตมาเคยร่วมธุดงค์กับท่านคราวหนึ่งแล้ว ที่วัดนี้แหละ อาตมาได้มีโอกาสพบกับพระบุญนาค

“พระบุญนาค นี้ พวกโยมคงรู้จักชื่อเสียง ในหนังสือพระบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน ที่เคยอ่านประวัติท่านนั่นแหละ อาตมาพบท่านที่วัดนี้ และได้ออกเที่ยวธุดงค์กัน”

๒๙ เที่ยวกรรมฐานกับพระอาจารย์นาค

หลวงปู่บุญนาค โฆโส
“สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน”

หลังจากหลวงปู่บัวพระผู้บิดาของหลวงปู่เพ็ง อยู่ปฏิบัติภาวนากับพระอาจารย์คูณ ที่จังหวัดมหาสารคามแล้ว หลวงปู่เพ็งก็ออกเที่ยวกรรมฐานไปกับท่านพระบุญนาค โฆโส หรือที่ หลวงปู่ท่านเรียกว่า อาจารย์นาค นั่นเอง

หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงพระอาจารย์บุญนาคว่า

“ท่านเก่งเรื่องธุดงควัตรมาก ชำนาญป่า ป่าดงสมัยก่อนนั้นไม่มีโปร่งอย่างทุกวันนี้ มืดมิดจริงๆ ทางเดินนี่ไปเป็นช่องเท่านั้นแหละ แสงตะวันไม่ต้องมองหรอก เอาจริงนะสมัยนั้น”

จากบันทึกด้วยลายมือของหลวงปู่เพ็ง ท่านเขียนเล่าไว้ดังนี้ (ข้อมูลส่วนนี้สับสนไปหน่อยไม่ยืนยันว่า จากบันทึกข้างล่าง กับเหตุการณ์ข้างต้นเป็นการออกธุดงค์ครั้งเดียวกันหรือไม่ ด้วยความเร่งรีบจึงไม่มีเวลาตรวจสอบความชัดเจนของข้อมูลได้ ต้องขออภัยด้วย – ผู้เขียน)

“…พอรู้ว่าสอบได้ ก็ลาอุปัชฌาย์ออกเดินธุดงค์จากสำนักเรียนเข้าร้อยเอ็ด เดินทางต่อถึงมหาสารคาม มีพระอาจารย์นาค โฆโส ก็เข้าศึกษาปฏิบัติกรรมฐานกับท่าน

มีพระด้วยกัน ๔ รูป สามเณร ๑ รูป คือ พระมหาแก่นจันทร์ ประโยค ๖ พระอาจารย์นาค พระเพ็ง เมตโย พระพัน สามเณรสุวะ อยู่ไม่นานท่านก็พาเดินธุดงค์ไปถ้ำพระเวส จังหวัดนครพนม อำเภอนาแก แต่แยกกันไปทีละรูปสองรูป ไม่ได้ไปด้วยกัน ต่างคนต่างไป

มหาแก่นจันทร์ ไปรูปเดียว อาจารย์นาคไปกับสามเณร พระเพ็งไปกับพระพัน ไปพบพร้อมที่ถ้ำพระเวส ก่อนจะถึงถ้ำพระเวสก็ผ่านถ้ำภูค้อ ของอาจารย์สอนก่อน

อาจารย์นาค กับสามเณร ถึงก่อน พระเพ็ง พระพัน ถึงที่ ๒ มหาแก่นจันทร์ถึงทีหลัง พักอยู่ถ้ำพระเวส ภายใน ๑๐ กว่าวัน ก็เดินทางกลับทางจังหวัดขอนแก่น เดินทางธุดงค์หนึ่งเดือนจึงถึง

มาพักปฏิบัติธรรมอยู่ป่าช้าบ้านเหล่างา สักพักหนึ่ง ก็เดินทางต่อ ไปปฏิบัติธรรมอยู่วัดป่าชัยวัน บ้านสีถาน พักอยู่หลายวัน”

น่าเสียดายอย่างยิ่ง บันทึกของหลวงปู่ หมดลงเพียงแค่นี้

๓๐. หลวงปู่บัวไปเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่เพ็งได้เล่าถึงเหตุการณ์ทางด้านหลวงปู่บัว บิดาของท่านที่อยู่ปฏิบัติภาวนากับพระอาจารย์คูณที่จังหวัดมหาสารคาม ว่า

“ต่อมาพระอาจารย์คูณ ได้มรณภาพลง พระอาจารย์ส่วน ได้พาพระบิดาของอาตมาไปพบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่บ้านหนองผือ (ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร)

เมื่อบิดาอยู่กับหลวงปู่มั่น เรียบร้อยแล้วอาตมาเห็นว่าหลวงปู่ผู้บิดาได้ครูบาอาจารย์ผู้เลิศด้วยปัญญาแล้ว จากนั้นอาตมาจึงค่อยห่างเหินท่านไป

สำหรับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นี้อาตมาไม่มีวาสนาได้พบกับท่านเลย สู้หลวงปู่ผู้บิดาไม่ได้ ท่านมีวาสนาที่ได้เป็นศิษย์ของท่าน ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าหลวงปู่มั่น จำพรรษาอยู่ที่นั่นก็ตาม อาตมาแข่งบารมีท่านบิดาไม่ได้หรอก เพราะท่านมีคุณวิเศษหลายอย่าง”

๓๑. วิบากมาพรากออกไปครองเพศฆราวาส

ในพรรษาที่ ๒ หลวงปู่เพ็งพบวิบาก ต้องสึกออกไปครองเพศฆราวาสอยู่หลายปี ท่านได้เล่าเรื่องนี้ว่า

พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม อ.ท่าใหม่

จ.จันทบุรี มาคารวะศพหลวงปู่

“ในชีวิตก็ได้บวชเรียนเข้ามา อาตมาได้นำกาย วาจา ใจ เข้ามาหมดสิ้นเพราะรู้ดีว่าพระพุทธศาสนาเรานี้ ถ้าผู้ใดมีสติปัญญา ย่อมค้นคว้าได้ของดีติดตามไป เราอยู่ในเพศบรรพชิต ก็ต้องเพียรพยายามรักษากายวาจาใจ ในขอบข่ายของพระธรรมวินัย ส่วนการประพฤติในทางจิตแล้วเราต้องฝึกฝนด้วยตนเอง ไม่มีใครจะมาบังคับเรา ดีหรือชั่ว เราคนเดียวเท่านั้นจะได้รับ เราจะรู้ด้วยตัวเราเอง ใครบอกไม่ได้ หรือจะไปถามใครก็ไม่ได้เช่นกัน…

อาตมาบวชมาในครั้งแรก ทั้งพระและเณรรวมแล้ว ๑๓ พรรษา แต่เป็นที่น่าเสียดาย วิบากกรรมที่อาตมาหนีไม่พ้น มาพรากออกไปครองเพศฆราวาสเสียหลายปี อาตมาเสียทีกิเลสไปพักหนึ่ง

เรื่องนี้พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม อำเภอท่าใหม่จังหวัดจันทบุรี ท่านรู้ประวัติของอาตมาดี อาตมาเคยไปพักอยู่กับท่านหลายครั้งหลายหนนะ

ในสมัยที่ท่านอาจารย์สมชายออกบวชเป็นสามเณร อาตมาเคยเป็นผู้สวดให้ท่าน และหลังจากอาตมาออกบวชเป็นครั้งที่ ๒ อาตมาไปเยี่ยมท่านที่วัดเขาสุกิม จะทำความเคารพท่าน (กราบ) แต่ท่านไม่ยอม ท่านไม่ยอมให้อาตมาทำอย่างนั้น อาตมาต้องให้เหตุผลต่อท่าน อาตมาพูดจนผลสุดท้ายท่านยอม แต่ท่านก็เป็นพระดี ไม่ถือตัวนะ หลวงปู่ของท่าน อาตมาไปกราบอยู่เสมอๆ อาตมารู้จักกับท่านมานาน…”

หลวงพ่อสมชาย วัดเขาสุกิม กับหลวงปู่เพ็งท่านรักใคร่และเคารพนับถือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี หลวงพ่อสมชาย ท่านนับถือหลวงปู่ในฐานะเคยเป็นครูอาจารย์ท่าน ทางฝ่ายหลวงปู่ก็นับถือหลวงพ่อสมชายตามพระธรรมวินัยที่อาวุโสพรรษามากกว่า ในการทำบุญวันเกิดของหลวงพ่อสมชาย กลางเดือนเมษายนทุกปี หลวงปู่เพ็ง ได้รับนิมนต์ไปร่วมเป็นประจำ ผู้เขียน (ปฐม นิคมานนท์) เคยขับรถไปส่งหลวงปู่หลายครั้ง

เมื่อหลวงปู่เพ็งมรณภาพ ศพของท่านได้ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าสามัคคีธรรม จังหวัดร้อยเอ็ด หลวงพ่อสมชาย ยังได้มาคารวะศพด้วยตัวท่านเอง ทั้งๆ ที่ท่านกำลังอาพาธ และอยู่ในความดูแลของหมอ

๓๒. สอนเรื่องจิต เอาจิตอย่างเดียว

หลวงปู่เพ็งท่านย้อนระลึกลงที่เคยสอนญาติโยมในอดีต (และสืบเนื่องมาจนปัจจุบันด้วย) ดังนี้

“ในระยะที่อาตมาออกโปรดญาติโยม ส่วนมากอาตมาสอนเรื่องจิต เอาจิตอย่างเดียว ขอให้ สติ เราดีเถิด จิตนี้หมายถึงความระลึกรู้ ทางดีก็รู้ ทางชั่วก็รู้ ความระลึกรู้นี้ท่านเรียกว่า จิต สิ่งอื่นต่างๆ ไม่เอามาเป็นอารมณ์ สิ่งใดก็ตาม ถ้าเข้ามารบกวนจิตใจต้องปล่อยทิ้งให้หมด ภาวนาไปเอาตัวรู้ไว้กับเราอย่างต่อเนื่อง

จิต หรือ วิญญาณ ก็เป็นอันเดียวกัน เมื่อตาเห็นรูป รู้ดีรู้ชั่ว รู้สวยรู้ไม่สวย รัก-ไม่รัก สิ่งเหล่านี้มันลงมารวมที่จิต

หู ได้ยินเสียงก็เหมือนกัน จมูกได้กลิ่นก็เหมือนกัน ลิ้นได้ลิ้มรสก็เหมือนกัน กาย ถูกสัมผัสก็เช่นเดียวกัน

สิ่งที่ต่อเนื่องมาจากประสาทสัมผัสทั้งหลายเหล่านี้ เรียกว่าวิญญาณ มันจะต่อเนื่องมาถึงใจ จึงเป็นเหตุพอใจ กับไม่พอใจเกิดขึ้น และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอาการของจิต ท่านจึงให้มีสติระลึกรู้ในอาการเคลื่อนไหวของจิต

จิตเคลื่อนไหวไปต่อเนื่องกับอารมณ์ หรือสิ่งที่มากระทบการพิจารณาอย่างนี้แหละเรียกว่า จิตตานุปัสสนา เพราะเราตามรู้จิตที่เคลื่อนไหว มีสติรู้ตาม

นี่เป็นบางส่วนที่อาตมาสอนญาติโยมในขณะนั้น”

๓๓. พ้นวิบากกรรม คิดบวชเป็นครั้งที่สอง

มีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้หลวงปู่กลับเข้ามาบวชอีกครั้งเป็นครั้งที่สอง ดังนี้

“อาตมาพ้นวิบากกรรม ตัดขาดโลกภายนอกได้และคิดบวชเป็นครั้งที่ ๒ สาเหตุมีอยู่ว่า อาตมาสึกออกมาทำกิจการส่วนตัว มีโรงสีข้าว ๓ โรง รับ ซื้อข้าวเปลือก ออกหาข้าวเปลือกมาสีนะ งานนี้เหนื่อยไม่เบาเลย ทำการค้าอีกหลายอย่างในเวลานั้นนะ

มีอยู่ครั้งหนึ่ง อาตมาไปโน่น…ข้ามไปลาว ความจริงต้องการไปติดต่อซื้อของเมืองเวียงจันทน์ ไปเห็นสภาพของการทำมาหากินแล้วโอย มันโกลาหลวุ่นวายเหลือกำลัง พวกเฒ่าๆ แก่ๆ นี่นะ ไม่มีอะไรเลยปล่อยชีวิตขาดทุนทุกวันๆ เขาได้เงินทองมาก็เข้าโรงเหล้า เข้าบาร์กัน มั่วสุมอยู่กับโลกีย์วิสัย มีครบนะความชั่วทั้งปวง เหล้า กัญชา เฮโรอีน ยาฝิ่น เป็นอยู่อย่างนี้ทุกวันไปเลย

มิหนำซ้ำ ลูกสาวเพื่อน เขาไปได้สามีอยู่ฝั่งลาว แล้วสามีของเขาไปติดคุกเสีย พออาตมาข้ามไป คิดดูเถิด ทั้งๆ ที่อาตมามีอายุเท่าพ่อของมัน อีกอย่างหนึ่งพ่อของมันก็เป็นเพื่อนของอาตมาด้วย มันยังจะมาเอาอาตมาไปเป็นผัวมัน อาตมาคิดในใจว่า โอ…มันจะลากคอเราลงนรกด้วยนี่

อาตมาก็หนีเลย ข้ามฝั่งกลับไปอยู่เมืองพ่อเมืองแม่เราจะดีกว่าแล้วเข้าไปหาหลวงปู่ของอาตมา (หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ) ท่านบวชแล้วนะ ตอนนั้น พอไปถึงก็ได้ฟังเทศน์ท่าน อาตมาก็ตั้งใจภาวนา ทบทวนธรรมที่เราเคยทอดทิ้งไป กิเลสนี่สำคัญนะ มันคอยหลอกล่อเราตลอดเวลา ๓ วัน ๓ คืน สู้กันให้สมใจกับความพ่ายแพ้มาแล้วครั้งหนึ่ง”

๓๔. วันตัดสินใจบวชก็มาถึง

หลวงปู่เพ็งนั่งภาวนาตัดสินใจอยู่ใต้กุฏิหลวงปู่บัว ๓ วัน ๓ คืน

“พอภาวนาไปๆ ก็มีทั้งพระทั้งเณรมาถามว่า นี่จะบวชอีกไหม อาตมาตอบว่า ต้องภาวนาเป็นเสียก่อนถ้าภาวนาเป็นก็จะบวช ถ้าภาวนาไม่เป็นก็จะไม่บวช อาตมาสู้กับมันอย่างไม่ยอมหลับยอมนอนเลย

อยู่ๆ ไปจิตใจมันโล่ง..โพลงอยู่อย่างนั้น ง่วงเหงาก็ไม่มี ไม่เอาหลังแตะพื้นกระดานเลย นั่งเมื่อยก็เดินจงกรม เพราะอาตมาก็เคยปฏิบัติมาก่อน อะไรๆ ก็รู้ ฉะนั้น ถ้ากิเลสมันลุกขึ้นมาอีกก็ขอยอมตาย

มันเอาเราออกจากผ้าเหลืองมาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนี้จะขอห่มผ้าเหลืองอีกเป็นครั้งสุดท้าย พอกันทีกิเลสเอ๋ย”

ในช่วงนั้นหลวงปู่ก็ยังทำงานอาชีพและทำหน้าที่พ่อบ้านอยู่

พอดีวันตัดใจมาถึง หลวงปู่เล่าว่า

“วันนั้นอาตมาแบกของหนัก แบกขึ้นรถ เพราะจะให้คนอื่นทำ คิดว่าไม่ดีเท่าเราทำเอง อาตมาแบกของจนเป็นลมล้มพับไป มันเป็นบทเรียนอันมีค่า เลยคิดว่า นี่ถ้าเราเป็นพระ เดินจงกรมล้มพับตายไปในขณะปฏิบัติ ก็คงได้ไปเกิดบนสวรรค์แล้ว นี่อะไรกัน”

หลวงปู่เพ็งปฏิบัติภาวนาในเพศฆราวาสติดต่อกัน ๓ เดือนเต็ม

“พอดีวันหนึ่ง อาตมาเข้าไปภาวนาใต้กุฏิหลวงปู่ (หลวงปู่บัว) จนแจ้ง พอลืมตาขึ้นมา อาตมาตัดสินใจเลย เอาละ วันนี้เราจะบวชเสียที”

เมื่อตัดสินใจแล้ว ท่านก็เดินขึ้นไปบนกุฏิหลวงปู่บัว

หลวงปู่บัวถามว่า “จะบวชหรือ”

หลวงปู่เพ็ง ตอบอย่างหนักแน่นว่า “บวชๆๆ”

หลวงปู่บัวยังไม่แน่ใจกับคำพูดของลูกชาย จึงขอให้หลวงปู่คำดี ปภาโส ซึ่งอยู่ที่นั้นด้วยถามอีกครั้ง ท่านถามว่า

“ว่าอย่างไรจะบวชจริงๆ หรือ ?”

หลวงปู่เพ็งตอบยืนยันว่า “บวช”

หลวงปู่ทั้งสององค์ถามว่า “แล้วการบวชจะทำอย่างไรล่ะ”

หลวงปู่เพ็งตอบว่า “แล้วแต่ครูบาอาจารย์จะเมตตาให้ เงินทองของกระผมไม่มี ไม่ได้เอาอะไรมาสักอย่างเดียวครับ”

หลวงปู่ทั้งสองท่านนิ่ง ไม่พูดอะไร

ท่านหลวงตามหาบัว แห่งวัดปาบ้านตาด ท่านพูดในเชิงตอกย้ำการตัดสินใจของหลวงปู่เพ็ง ในครั้งนั้นว่า

“อยากบวชให้กับคนที่ไม่สึกเท่านั้น”

ทีแรกหลวงปู่เพ็ง คิดจะไปบวชที่วัดหินหมากเป้งกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี แต่หลวงปู่บัว ท่านเห็นว่าไปไกล จึงตัดสินใจให้บวชที่บ้านหนองบัวลำภู ที่ที่หลวงปู่บัว ท่านอยู่นั่นเอง

ต้องขออภัยที่ผู้เขียนมีเวลาน้อย จึงไม่ได้ค้นหาว่าท่านบวชเมื่อไร ที่ไหน อุปัชฌาย์ชื่ออะไร และก็ไม่เคยได้เรียนถามหลวงปู่ด้วย ช่วงที่เขียนก็หาหนังสือสุทธิของหลวงปู่ไม่พบ

๓๕. ตั้งใจแน่วแน่ ไม่ยอมพลาดอีก

ก่อนพิธีบวช และหลังจากการตัดสินใจว่าจะบวชแล้ว หลวงปู่เพ็ง ได้คิดถึงความผิดพลาดเมื่อการบวชครั้งก่อน

“อาตมาคิดเสียใจตนเอง และคิดว่า ความผิดพลาดเมื่อครั้งที่แล้วมันเป็นครู

มันน่าคิดว่า เราเคยบวชเรียนเป็นถึงอาจารย์แล้วต้องมาพลาดท่ากับเจ้ากิเลส เจ้าตัณหา เจ้าอุปาทานอย่างย่อยยับ อยู่ในที่สงบเยือกเย็นทำไมไม่ชอบ เมื่อไม่ชอบ ออกไปก็เป็นทุกข์

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า โลกนี้เป็นอนิจจัง

โลกอยู่ที่ไหน ?

อ๋อ อยู่ในตัวเรา

มันเที่ยงไหม ?

ไม่เที่ยง เป็นทุกขัง

ทำไมจึงเป็นทุกข์ ?

เพราะสิ่งทั้งหลายไม่สามารถยืนยันอยู่ได้

ทำไมมันยืนยงอยู่ไม่ได้ล่ะ ?

มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีอะไรแน่นอนทั้งสิ้น

เราเรียนแล้ว ศึกษามามากแล้ว ทำไมไม่จดจำพระพุทธดำรัสบ้าง ทำไมเราต้องให้ตัวอวิชชาเข้าครอบงำจิตใจเรา

อาตมารำพึงในใจว่า “โอ้เราหนอ ต่อนี้ไปเราจะไม่ยอมพลาดท่าอีกต่อไป เราจะเรียนกรรมฐานอีก เราจะหาทางพ้นทุกข์อย่างเดียว ถึงแม้จะต้องตายเสียกลางทาง เกิดชาติใหม่ก็จะขอมุ่งตรงเดินต่อไป ไม่ยอมถอยหลังให้กับอะไรอีกแล้ว”

๓๖. ไปฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์

ทราบแต่เพียงว่าหลวงปู่เพ็ง บวชครั้งที่สองในปี พ.ศ.๒๕๐๗ และสมณฉายาของท่านคือ พุทฺธธมฺโม หลวงปู่เล่าถึงการบวชครั้งที่สองว่า

“พอบวชแล้ว หลวงปู่บัว บิดาของอาตมาได้พาไปฟังเทศน์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร (วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร) และพาไปฟังเทศน์ หลวงปู่ขาว อนาลโย (วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู)

เฉพาะพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน อาตมาไปฟังเทศน์ของท่านถึง ๒๓ วัน อาตมาได้รับธรรมะจากท่านมาก เรียกว่าเอามาใส่ใจหมดทีเดียว อาตมาช่วงนี้ ทำความเพียรได้เต็มที่ ในความรู้สึกของอาตมา“

หลวงปู่เพ็ง ท่านเคารพและศรัทธา ท่านหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด มาก ท่านพูดกับลูกศิษย์เสมอว่า “ถ้าอยากรู้ว่าหลวงปู่มั่นเป็นอย่างไร ก็ให้ดูได้จากพระอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาด นี่แหละ”

๓๗. โดนหลวงปู่บัวเทศน์หนัก

หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณท่านเตือนพระลูกชายที่เพิ่งบวชครั้งที่สอง

“ทุกอย่างขอให้มีสติตัวเดียว ถ้ามีสติตัวเดียวแจ้งหมดโลก”

หลวงปู่เพ็ง ท่านว่าท่านเป็นคนดื้อ เรียนทางโลกก็มาก เรียนทางปริยัติธรรมก็มี เลยคิดสงสัยในคำของหลวงปู่บัว บิดาของท่านว่า “เอ๊ะ…หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ นี่ ธรรมะมีตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จะให้มีสติตัวเดียวนี้ แล้วมันจะแจ้งได้อย่างไรล่ะ ?”

หลวงปู่เพ็งนึกค้านในใจ แต่ไม่พูด นั่งสมาธิภาวนาจนสว่าง

หลวงปู่บัวถามว่า “เป็นอย่างไรล่ะภาวนา ?”

ท่านตอบบิดาของท่านว่า “มันเป็นอย่างนี้ครับ ที่หลวงปู่ว่า ถ้ามีสติตัวเดียวมันจะแจ้งหมดโลก แต่ของผมว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นหรอก”

หลวงปู่เพ็งท่านว่า ท่านพูดตรงไปตรงมา จิตรู้อย่างไรก็พูดอย่างนั้น เราเป็นผู้ภาวนา จิตก็เป็นของเรา เมื่อเรารู้อะไรก็ต้องพูดอย่างนั้น เอาตามความจริงที่จิตรู้

เมื่อหลวงปู่เพ็งพูดเช่นนั้น หลวงปู่บิดาของท่านก็เทศน์หนักเลยว่า

“เฮ้ย มันตัวเดียวนี้แหละ นั่งก็ให้มีสติ เดินก็ให้มีสติ ยืนนอนก็ให้มีสติ ให้สติแก่กล้าไปจริงๆ เถิด ทำให้มากๆ นั่งสมาธิเฉยๆ ถ้าไม่มีสติเป็นเครื่องระลึก แล้วปัญญาธรรมมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

มัวแต่เอาใจส่งส่ายไปที่อื่น ไปโน่น มานี่ แล้วปัญญาธรรมมันจะมีหรือ ธรรมะมิใช่ว่าเราจะเอามือไปคว้าได้จากอากาศนี่ ต้องให้มีสติซิทำจริงๆ เอ้า…ทำดู”

หลวงปู่เพ็ง เล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านโดนหลวงปู่ผู้บิดากระหนาบอย่างนั้นแล้ว : –

“อาตมาก็ได้ทำดูอย่างที่ท่านว่า พอภาวนาไปๆ มันเกิดตัวรู้ขึ้นมาทันทีว่า โอ…เรื่องทั้งหมดนี้มันมารวมกันที่ใจ ขอเพียงให้สติกำหนดรู้อย่าคลาดเคลื่อนเท่านั้น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สิ่งทั้งหลายใจถึงก่อน สิ่งดีสิ่งชั่วมันมาอยู่ที่ใจหมด เมื่อมันมีสติ ก็จะกลั่นกรองว่า อันไหนดีอันไหนชั่ว สติมันเป็นเครื่องกรอง

จิตของอาตมาตอนนั้นมันลงได้ เกิดธรรมปีติขึ้นมาแน่นหนายิ่งขึ้นอีก”

๓๘. เกิดธรรมปีติเมื่อหลวงปู่คำดีทัก

เมื่อหลวงปู่เพ็ง กำหนดพิจารณาเรื่องสติ และรู้ว่าเป็นดังที่หลวงปู่ผู้บิดาของท่านว่าไว้จริงแล้ว หลวงปู่คำดี ปภาโส ก็มาทักอีกว่า

“เป็นไงละเพ็ง ภาวนาถึงไม่ลง ?”

หลวงปู่เพ็งเล่าว่า “อาตมาตอบว่า ลงแล้วครับ ขณะที่พูดกับท่าน จิตมันปุ๊บขึ้นมา คล้ายๆ กับสะอื้นหรือจะร้องไห้ก็ไม่เชิง น้ำตามันจะร่วงออกมา อาตมากราบท่านแล้วหนีเลย ลงมาเดินจงกรมข้างนอก

อาตมายิ่งคิดเรื่องเมื่อสักครู่อยู่ อันนี้มันเป็นอะไรกัน พอจิตสงบมันจึงรู้ขึ้นมาว่า นี่แหละธรรมปีติ มันได้ตรงนี้ โอโฮ…มันเกือบจะทำให้เราขายหน้าเสียแล้วซิ อาตมาเลยตั้งใจตัดขาดตั้งแต่บัดนั้นมาปีติหายหมด“

๓๙. จิต สติ และ ฌาน

หลวงปู่เพ็ง ท่านเล่าถึงการภาวนาในช่วงแรกของท่าน ดังต่อไปนี้

“อาตมาฟังเทศน์จากท่าน (หลวงปู่บัว) แล้วมานั่งภาวนาเอาตัวสติ ๕ วัน ๕ คืน ไม่ยอมหลับ ไม่นอน ใจมันสว่างไสว ไม่โงกไม่ง่วง

อาตมาไปภาวนาที่เขาน้อย ๙ วัน มันก็ไม่หลับเลยนะ ตอนที่ไปฟังธรรมจากพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ก็เช่นกัน บรรดาหมู่พระสงฆ์ท่านจะทำอย่างไรก็ช่าง พอดีปีนั้นหนาวมาก ท่านเอาผ้าสักหลาดมาให้ห่ม ให้ ๓-๔ ผืน อาตมาไม่ยอมห่ม ทำไปตามธรรมดา เอาจีวรและผ้าสังฆาฏิเท่านั้นห่มคลุมกาย มีผ้าปูนั่งผืนหนึ่งรองตัว อาตมานั่งบ้าง เดินจงกรมบ้าง อาตมาได้ธรรมะเกิดขึ้นในจิตใจมากมาย ร่างกายก็ไม่เป็นอะไร นั่งสบายๆ

อาตมาได้ข้อคิดว่า

ครูบาอาจารย์ทั้งหลายส่วนมาก ท่านมักสอนเรื่องสติ กับ จิต พอปฏิบัติไปจนแก่กล้าแล้ว มันจะเกิดเป็นฌาน เพราะสติตัวนี้ และฌานนี่ เวลามันแก่กล้าแล้ว มันจะเพ่งเผากิเลสตัณหาอาสวะต่างๆ ไปเอง สัญญาทั้งหลายมันจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ตัวสติ ตัวฌานมันจะเพ่งเผาเอง พอมันเผาอารมณ์สัญญาไปหมดแล้ว ความรู้มันจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ อาตมาได้เข้าใจมาแต่บัดนั้น”

หมายเหตุ: เขาน้อย ที่หลวงปู่พูดถึงข้างต้น ผู้เขียนเข้าใจว่า อาจจะหมายถึง วัดป่าเขาน้อย อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ก็ได้ หลวงปู่เพ็ง ท่านธุดงค์ไปพักที่เพชรบูรณ์ ก่อตั้งวัดเขาเจริญธรรม แล้วธุดงค์ต่อไปทางพิจิตรก่อตั้งวัดป่าเขาน้อย เมื่อ หลวงปู่จันทา ถาวโร มาอยู่แทนแล้ว ท่านก็ธุดงค์ขึ้นเหนือต่อไป ไปสร้างวัดที่ลำปาง และพำนักยาวนานที่เชียงราย

หลวงปู่จันทา ถาวโร
หลวงปู่จันทา ถาวโร

๔๐ ออกธุดงค์ไปทางจังหวัดเพชรบูรณ์

ในการบวชครั้งที่สองนี้ หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ได้เร่งบำเพ็ญภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง ท่านได้อุบายธรรมจากครูบาอาจารย์หลายองค์ ประกอบกับมีทุนเดิมที่สะสมไว้ตั้งแต่การบวชครั้งแรกอยู่ไม่น้อย การปฏิบัติภาวนาจึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ได้รู้ธรรมเห็นธรรมพอสมควรและจิตใจมั่นคงดีแล้ว ท่านจึงกราบลาครูบาอาจารย์ ออกท่องธุดงค์ไปเรื่อยๆ อธิษฐานจิตขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ขอปฏิบัติธรรมอยู่จนตายคาผ้าเหลือง

หลวงปู่เริ่มมาปักหลักประจำที่แถบภูเขาสูง ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ท่านเล่าถึงการธุดงค์ครั้งนั้น ดังนี้

“อาตมาได้กราบลาครูบาอาจารย์ ออกธุดงค์ไปเรื่อยๆ สุดท้ายมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ในสมัยที่อาตมาไปอยู่ใหม่ๆ มันลำบากมากนะ คนที่นั่นเขาฆ่ากันวันละ ๓-๔ ศพ ทุกวันๆ อาตมาไปรู้มาว่าเขาไปขัดแย้งกันเรื่องที่ดิน

อาตมาไปนั่งบำเพ็ญภาวนาบนเขา เดี๋ยวๆ ก็ได้ยินเสียงโป้ง ถ้าไปดูนะ ต้องมีคนตาย พอตายแล้วเขาก็เอามาไว้ที่อาตมาอยู่นั่นแหละ

ภูเขาที่อาตมาอยู่นั้นสูงมาก พอมองลงมาก็จะเห็นบ้านหนองไผ่ ซับสมอทอด อย่างชัดทีเดียว และที่อาตมาอยู่เขาเรียกว่า ซับชมภู

คนที่นั่นน่าสงสารนะ เขาทำเวรทำกรรมซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา แต่เขาก็ทำบุญนะ ใส่บาตรกันทุกเช้าแหละ

“อาตมาไปทำความเพียรอยู่ ๒ พรรษาเต็มๆ เลย นั่งภาวนาไม่เกี่ยวข้องกับใคร น้ำชากาแฟไม่มี หยูกยาจะรักษาโรคไม่มี มีแต่นั่งภาวนาอย่างเดียว ได้กำลังใจมากมายนะ ตอนนี้ เรียกว่าบุกเดี่ยว เอาชีวิตเข้าแลกเลยละ

นั่งแล้วพยายามทบทวนกระแสจิต ดูจิตของตนเอง จำคำพูดของหลวงปู่บัว และพระอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาด ว่า ไปอยู่ที่ใดก็ตาม ต้องตัดปัจจัยให้ขาด เพราะคำว่าปัจจัย แปลว่าเครื่องต่อ

มันเป็นเครื่องต่อจริงๆ ต่อลูกต่อหลาน ต่อทรัพย์สมบัติ ต่อตู้ต่อเตียง ตู้เย็นโทรทัศน์ ต่อรถต่อเรือ ตลอดถึงบ้านเรือน มันไม่มีสิ้นสุด

พระอาจารย์มหาบัว ท่านเตือนว่าให้เราพิจารณาปัจจุบันธรรม ต้องพิจารณาวันนี้ให้ได้ ถ้าไม่ได้ จะคอยไปปีหน้าชาติหน้า มันไม่รู้ ต้องเอาเดี๋ยวนั้น”

๔๑ สร้างวัดและทำหน้าที่ทูตให้ชาวบ้าน

หลวงปู่เพ็งพำนักปฏิบัติภาวนาอยู่ที่เพชรบูรณ์เป็นพรรษาที่ ๓ ท่านเริ่มสร้างวัด สร้างโรงเรียน และเป็นทูตไกล่เกลี่ยให้ชาวบ้านเลิกการฆ่าฟันกัน

“พอปีที่ ๓ อาตมาสร้างวัดที่นั่น พวกที่เคยฆ่ากันนั้นค่อยสงบลง อาตมาเป็นทูต ไปนอนบ้านเขา ไปพูดให้เขาประนีประนอมกัน สอนธรรมะให้เขา ให้เลิกรบราฆ่าฟันกัน ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองท่านเข้าใจอาตมาผิดไป แท้ที่จริงอาตมาไปโปรดคนพวกนี้ ให้รู้จักบุญรู้จักบาปและให้หันมาปฏิบัติธรรม

(หมายเหตุ : หลวงปู่ท่านเคยเล่าถึงการทำตนไม่เหมาะสม การมุ่งผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่มีอำนาจบางคน ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความยุติธรรม ก่อให้เกิดปัญหากับประชาชนตามที่กล่าวมา เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแทบทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ จึงงดเว้นการนำมากล่าวให้เป็นการเจาะจง – ผู้เขียน)

หลวงปู่พยายามบอกชาวบ้านว่า “จะฆ่าจะแกงกันไปถึงไหน มันจะได้ประโยชน์อะไร คนด้วยกัน มาทำมาหากินด้วยกันไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเราไปฆ่าเขา เราเองจะกินจะนอนเป็นสุขไหม ในเมื่อต้องคอยระวังตัวตลอดคืนตลอดวัน ขอให้เลิกเสียเถิดนะ อาตมาขอบิณฑบาต

ในที่สุด พวกบ้านหนองแก่ง โคกยาว ซับชมภู ก็เป็นมิตรกันได้ตั้งแต่บัดนั้น เขามาเห็นดีตอนสร้างวัดให้ได้ทำบุญ สร้างโรงเรียนให้ลูกๆ เขาเรียน ทำถนนหนทางให้สำเร็จ

อาตมาเป็นคนชอบพิสูจน์ ยิ่งแถบถิ่นอย่างนี้ต้องตั้งใจทำให้ได้ แม้จะมีอุปสรรคอย่างไร อาตมาก็ไม่เกรงภัย ไม่หวั่นไหวเลย”

หลวงปู่เคยเล่าถึงเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์ พลังจิตที่มีในช่วงนั้น รวมทั้งเหตุการณ์ที่ท่านถูกปองร้ายต่างๆ ด้วย ทำให้ชาวบ้านศรัทธาเลื่อมใสและยอมรับท่านที่เป็นพระธุดงค์ต่างถิ่น เผอิญไม่ได้บันทึกไว้ จึงลืมเลือนไป วัดที่หลวงปู่ตั้งขึ้นนั้นชื่อว่า วัดเขาเจริญธรรม และโรงเรียนประถมศึกษาชื่อ โรงเรียนวัดเขาเจริญธรรม

หลวงปู่ท่านมีความเชื่อมั่นในพระศาสนาอย่างแนบแน่น

“…นี่เพราะอำนาจความเชื่อว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องช่วยดลจิตใจของอาตมาให้พ้นภัย และสำเร็จผล

บิดา คือ พุทโธ พระองค์เป็นนักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงชนะทุกอย่าง แม้จำพวกที่ไม่เห็นตัว เช่นกิเลสก็ชนะได้อย่างราบคาบ แล้วไปกลัวอะไรกับคน ที่มีตัวตนสังขารอยู่ จะเอาชนะไม่ได้

เราเป็นลูกของพระองค์ ทำใจเสาะไม่ได้ ทำใจอ่อนแอไม่ได้ สู้เป็นสู้ ตายเป็นตาย เกิดใหม่สู้อีก ต้องเป็นอย่างนั้นนะ จึงจะเรียกว่านักปฏิบัติ คือสู้ด้วยความดีนั่นเอง สู้ด้วยธรรมะ สู้ด้วยใจเมตตา สู้ด้วยจิตมีความสงสาร”

๔๒. เรื่องราวของวัดเขาเจริญธรรม

หลวงปู่เพ็ง กับ พระอาจารย์บุญทัน ฐิตสีโล
ที่วัดเขาเจริญธรรม อ.บึงสามพัน จ เพชรบูรณ์

ผู้เขียนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวัดเขาเจริญธรรม เป็นกระดาษหนึ่งแผ่น เขียนด้วยลายมือของ พระวีระโชติ ติสสวังโส ศิษย์อุปัฏฐากซึ่งเขียนตามคำบอกเล่าของหลวงปู่เห็นว่าน่าสนใจ จึงขอคัดลอกมาเสนอดังนี้

“เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ หลวงปู่เพ็งได้เดินทางมาจากจังหวัดอุดรธานีมุ่งไปทางเหนือ แวะที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มุ่งหวังแต่ด้านภาวนา มิได้หวังจะสร้างวัดวาอะไรเลย ตลอดปีนั้น ท่านปฏิบัติอยู่ตามลำพังองค์เดียว ต่อมาปีที่สอง มีพระมาบวชอยู่กับท่าน ๑ รูป พอปีที่สาม มีญาติโยมมาขออาราธนาที่จะให้มีวัด ท่านก็เลยรับตามประสงค์ ได้สร้างศาลากว้าง ๗ วา ยาว ๑๐ วาขึ้น และได้กุฏิ ๑ หลัง

ต่อมาท่านเห็นความลำบากของเด็กๆ ที่ไปเรียนหนังสือที่ไกลเพราะที่นั่นไม่มีโรงเรียน ระยะทางหมู่บ้านหนึ่ง ๘ กิโลเมตร อีกหมู่บ้านหนึ่ง ๔ กิโลเมตร ยิ่งหน้าฤดูฝนยิ่งลำบากมาก ท่านสงสารเด็กเป็นกำลัง เหมาะกับจังหวะชาวบ้านอยากได้โรงเรียนด้วย

ท่านได้นำชาวบ้านสร้างโรงเรียนขึ้น มี ๑๒ ห้อง (๑๒ ช่องเสา) มีนักเรียน ๓ ชั้น

ตอนสร้างเสร็จหาครูที่จะสอนไม่ได้ ติดต่อขอหน่วยงานทางจังหวัดไม่ได้ครูสักคนเลย ท่านต้องเดินทางไปเข้าพบคุณประภาส จารุเสถียร (ไม่ทราบยศตำแหน่งในตอนนั้น) จึงได้ครูมาสอน

ต่อมาวัดได้ซื้อที่สร้างทาง ระยะทาง ๘ กิโลเมตร เพราะท่านเห็นความลำบากของชาวบ้านในการนำผลผลิตทางการเกษตรออกไปขาย หากพ่อค้ามาซื้อถึงที่ก็ถูกกดราคา พอสร้างทางเสร็จ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้เอาหินลูกรังมาเทให้ ปัจจุบันเป็นทางราดยางอย่างดี

ในระยะ ๔ ปี ก่อนหลวงปู่มาอยู่ วัดซับชมภู ร้างไม่มีพระอยู่ เส้นทางโคจรบิณฑบาตก็รกรุงรัง ไกลถึง ๔ กิโลเมตร หลวงปู่ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่นั่น ๔ ปี มีญาติโยมถวายที่ดินให้ ๔๒ ไร่ ก็เลยยกให้ท่านอาจารย์สม หรือพระครูกิตติสาธุราธรณ์ เจ้าคณะอำเภอหนองไผ่ องค์ปัจจุบันเป็นผู้สร้างและดำเนินการต่อ และตั้งชื่อวัดที่สร้างใหม่นั้นว่า วัดน้ำตกซับชมภู

ส่วนที่วัดเขาเจริญธรรมนั้นมี พระอาจารย์บุญทัน ฐิตสีโล เป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่ วัดนี้อยู่ตำบลหนองแจง อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์”

๔๓. ไปพำนักที่ถ้ำแควสวรรค์ ลำปาง

หลวงปู่ได้เล่าถึงการภาวนาเมื่ออยู่เพชรบูรณ์ และการเดินธุดงค์ขึ้นภาคเหนือต่อไป ดังนี้

“ช่วงอยู่เพชรบูรณ์ อาตมาได้รับธรรมะความรู้ทั้งดีและชั่วมาก เมื่อสัมผัสมาก็พิจารณาเป็นธรรมะหมด กลั่นกรองแต่สิ่งที่ดีไว้กับจิตใจ ส่วนความชั่วร้ายนั้นโยนลงเขาหมด ไม่เอาไว้ แล้วมาเผาด้วยสติปัญญาอีกครั้งจนหมดไม่เหลือ

เดินธุดงค์ต่อไป เมื่อได้พระสงฆ์ที่สามารถปกครองวัดได้แล้ว อาตมาถือว่าได้สร้างความเจริญให้กับแถบถิ่นนั้นแล้ว บัดนี้หมดหน้าที่ของอาตมา”

หลวงปู่ได้มอบภาระการปกครองวัดที่เพชรบูรณ์ แล้วท่านก็ออกเดินธุดงค์ขึ้นเหนือต่อไป

“ไปถึงจังหวัดลำปาง เดินไปเรื่อยๆ และไปพบที่เหมาะแก่การปฏิบัติชื่อว่า ถ้ำแควสวรรค์ ตอนไปอยู่ได้ ๓ วันแรก อาตมาได้พบกับสิ่งล้ำค่าอย่างหนึ่ง คือ ตัดอารมณ์สัญญาขาดหมด อาตมาจำพรรษาที่นั่น ภาวนาที่นั่น รู้สึกสงบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เล่นวสีได้คล่องแคล่ว

ปีแรกอยู่คนเดียว พอปีที่ ๒ มีสามเณรมาอยู่ด้วยอีกหนึ่งองค์ ปีที่ ๓ มีคนขึ้นไปตามอาตมาแล้วบอกว่า หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ บิดาของอาตมาป่วยหนัก ขอให้อาตมาไปดูอาการป่วยของบิดาด้วย

อาตมาคิดจะอยู่ ๕ ปี ที่ถ้ำแควสวรรค์นี้ แต่เมื่อบิดาป่วย อาตมาก็ต้องไปเฝ้าไข้ แล้วท่านได้มรณภาพลงในปี พ.ศ.๒๕๑๘ นี้เอง

หลังจากทำการเผาศพหลวงปู่บิดา โดยมีพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นผู้ดำเนินการแล้ว อาตมาได้ย้อนกลับขึ้นเหนือไปใหม่และสุดท้ายไปปักหลักที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย”

หมายเหตุ : ยังขาดข้อมูลในส่วนที่หลวงปู่เพ็งไปภาวนาแถวจังหวัดพิจิตร แล้วก่อตั้งวัดป่าเขาน้อย อำเภอวังทรายพูน ซึ่งหลวงปู่เคยเล่าให้ฟัง แต่ไม่แน่ใจว่าอยู่ในตอนที่เดินทางออกจากเพชรบูรณ์หรือตอนขึ้นเหนือครั้งที่สองเมื่อเสร็จงานศพของหลวงปู่บัว บิดาของท่านแล้ว ขอท่านที่ทราบข้อมูลโปรดช่วยเติมเต็มตรงนี้ด้วย – ผู้เขียน

๔๔. วัดเทิงเสาหิน เชียงราย

หลวงปู่เพ็ง เดินธุดงค์ขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ จนไปถึงอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย พบโบราณสถานซึ่งเป็นวัดสมัยขอมเรืองอำนาจ มีซากวิหาร เจดีย์ และพระพุทธรูป ถูกขุดค้นกระจุยกระจาย ที่ดินแทบทุกส่วนเป็นหลุมบ่อแสดงร่องรอยของการขุดค้นหาวัตถุสิ่งของที่มีค่า หลวงปู่เกิดความสลดสังเวชมาก จึงตัดสินใจบูรณะวัดเทิงขึ้นมาใหม่ เป็นงานที่ยากลำบาก ต้องผจญกับแรงต่อต้านอย่างมากมายมหาศาล ทั้งด้านเจ้าหน้าที่บ้านเมือง นายทุนที่ดินนักขุดคุ้ยของโบราณ รวมทั้งฝ่ายศาสนาซึ่งอยู่คนละนิกาย

หลวงปู่ได้ยืนหยัดต่อสู้แบบยอมตาย จนกระทั่งสามารถจัดตั้งเป็นวัดขึ้นมาได้สำเร็จ เป็นวัดวิปัสสนากรรมฐานที่เป็นที่รู้จักดีในแวดวงนักปฏิบัติภาวนา และกรมศิลปากรก็ได้ยื่นมือเข้ามาสำรวจ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ

สรุปโดยย่นย่อ เอาแค่เพียงว่าหลวงปู่ สามารถยืนหยัดสร้างวัดเทิงเสาหินขึ้นมาจนสำเร็จ ส่วนเรื่องข้อขัดแย้งกับกลุ่มต่างๆ จำเป็นต้องของดไว้ เพราะไม่อยากให้กระทบกระเทือนบุคคลต่างๆ ซึ่งยังมีชีวิตตัวตนอยู่ เป็นการสร้างความแตกแยกเปล่าๆ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติภาวนาแต่ประการใด

เอาเป็นว่า หลวงปู่เพ็ง ได้บำเพ็ญขันติบารมี และวิริยะบารมีอย่างเต็มที่ สมกับคำพระที่ว่า “มารไม่มี บารมีไม่เกิด”

๔๕. ประวัติวัดเทิงและเมืองเทิงเก่า

ที่เรียกชื่อว่า วัดเทิงเสาหิน วัดเทิง วัดเสาหิน หรือ วัดเทิง (เสาหิน) เป็นชื่อที่เรียกขานกันในสมัยใหม่ ภายหลังที่หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโมท่านเริ่มบูรณะ จนเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ชื่อเดิมในยุคโบราณสมัยขอมเรืองอำนาจชื่อว่า วัดดงแหน (ห – สระแอ -น สะกด) หรือที่เรียกว่าต้นสมอพิเภก นั่นเอง

ส่วนคำว่า เทิง แปลว่า ที่สูง เป็นชื่อเมืองในสมัยโบราณ ส่วนคำว่า เสาหิน ก็คือเสาวิหารที่สกัดมาจากหินทั้งแท่งจริงๆ แต่ละแท่งเป็นเสาเหลี่ยมยาว หนักแท่งละ ๒-๓ ตัน (๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ กิโลกรัม) มีเดือยสวมต่อกัน ยกตั้งตรงจากพื้นถึงหลังคา ทำหน้าที่เหมือนเสาบ้านเรือนทั่วไป

เรื่องราวของเมืองเทิงโบราณพบในจารึกสมุดข่อยที่วัดพระเจ้าตนหลวง (วัดศรีโคมคำ) จังหวัดพะเยา

(ที่เขียนนี่ว่าตามเขา ไม่ได้ไปศึกษาด้วยตนเอง – ผู้เขียน)

ในหลักฐานจารึกว่า เมื่อปีมหาพุทธศักราช ๒๙๙ สมัยนั้นแผ่นดินไทยทั้งหมดอยู่ใต้การครอบครองของขอมโบราณ ต่อมาเมื่ออาณาจักรขอมเริ่มอ่อนแอ เสื่อมอำนาจลง พวกชนเผ่าไทยจึงได้รวมตัวก่อร่างสร้างเมืองขึ้นมา ก็มีเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงของ เชียงคำ เมืองเทิง เมืองพุกาม (พะเยา) แล้วก็มีการก่อร่างสร้างตัวเป็นปึกแผ่นขึ้นจนพัฒนามาเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน

นี่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของไทยอย่างย่นย่อที่สุด และที่กล่าวมาก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าเมืองเทิงเคยรุ่งเรืองมาในอดีต แล้วก็ร้างราไปเมื่อไรไม่ปรากฏชัด

สำหรับวัดดงแหน ก็ปล่อยให้เป็นวัดร้างมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ กลายมาเป็นวัดมีพระสงฆ์อีกครั้งก็ต่อเมื่อหลวงปู่เพ็ง เดินธุดงค์มาถึงได้พำนักปักกลดอยู่ที่นั่น แล้วก็ตัดสินใจสร้างวัดเทิงเสาหินขึ้นมา

เคยเรียนถามหลวงปู่ ว่าท่านเกี่ยวข้องอะไรกับวัดเทิง หรือเมืองเทิงในอดีต ท่านก็บอกว่า มี “ถ้าอยากรู้ก็ให้เร่งภาวนา แล้วจะเห็นด้วยตัวเองไม่ต้องถาม” ท่านว่าอย่างนั้น

๔๖. พระยาจามปางตอย เจ้าเมืองเทิง

เจ้าเมืองเทิงโบราณชื่อว่า พระยาจามปางตอย เป็นชื่อที่เรียกเพี้ยนตามสำเนียงคนไทย

มีผู้สันนิษฐานว่า “จามปาง” ถ้าเทียบกับภาษามอญและขอมน่าจะแปลว่า “ยกมือทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะ” และ “ตอย” แปลว่า “แล้ว” ถ้าการสันนิพานนี้ถูกต้อง “จามปางตอย” ก็น่าจะแปลว่า ผู้ที่ยกมือทั้งสองขึ้นเหนือหัวแล้ว แปลต่อไปว่า มือของข้าพเจ้าทั้งสองข้างเป็นมือสำหรับไหว้พระ ไม่ใช่มือสำหรับจับอาวุธอีกแล้ว

มีผู้สันนิษฐานอีกว่า ถ้าดูตามชื่อแล้ว พระยาจามปางตอย ไม่ใช่ชนเผ่าไทย น่าจะเป็นมอญ หรือขอมโบราณ ที่หมดสิ้นอำนาจไปแล้ว พระยาจามปางตอย พร้อมด้วยธิดาสาวชื่อ นางอุทา และ พระฤๅษีที่ชาวเมืองเคารพบูชาชื่อ สิงถละ ได้อพยพมาจากที่อื่น หนีข้าศึกมามาพบแผ่นดินที่เป็นที่ราบสูง มีเขาล้อมรอบ จึงก่อร่างสร้างเมืองขึ้นที่นี่และชื่อว่า เมืองเทิง

ตรงบริเวณวัดเทิงเสาหินปัจจุบันนั้นได้ก่อสร้างเป็นวัดดงแหน สร้างในเนื้อที่ ๙๐ ไร่ให้เป็นที่พำนักของฤๅษีสิงถละ สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญได้แก่เจดีย์ และวิหารหลังใหญ่ เสาของวิหารสร้างด้วยแท่งหินตัน สกัดเป็นแปดเหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ คืบ ยาวแท่งละ ๒ ศอก หินแต่ละแท่งหนัก ๒-๓ ตัน ปลายด้านหนึ่งเจาะเป็นรู อีกด้านหนึ่งสกัดเป็นเดือยสำหรับสอดใส่ไปในรูของอีกต้นหนึ่ง นำแท่งหินเหล่านั้นมาตั้งต่อกันขึ้นเป็นเสาวิหาร มี ๓๙ ต้น สูงประมาณ ๗ ศอก ตรงกลางวิหารมีพระพุทธรูปก่ออิฐฉาบปูนและยางไม้ หน้าตักกว้าง ๓ ศอก สูง ๖ ศอก แต่ถูกทุบทำลายเสียหายไปแทบหมด จากฝีมือของนักขุดคุ้ยหาของเก่า

ซากสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัด ได้แก่ร่องรอยที่เป็นที่พำนักของพระยาจามปางตอย ตำหนักนางอุทา เจดีย์บรรจุอัฐิของนางอุทาบนดอยอุทา คลองส่งน้ำและคูเมือง เป็นต้น เป็นที่น่าเสียดายที่โบราณสถานเหล่านี้ถูกทำลาย ชาวบ้านเข้าไปแผ้วทางไถที่ กลายเป็นไร่ข้าวโพด และที่อยู่อาศัยหมด ที่เหลืออยู่เป็นหลักฐานก็มีเจดีย์วิหาร และคูน้ำในบริเวณวัด

มีการสันนิษฐานว่าบริเวณวัดดงแหน ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปี ก่อนที่หลวงปู่จะเข้ามาบูรณะ จนเป็นวัดที่ร่มรื่นเหมาะแก่การภาวนา และกรมศิลปากรได้มาบูรณะ และอนุรักษ์เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ไว้เป็นที่ศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์

สำหรับนักปฏิบัติภาวนา ใครสนใจจะไปนั่งดูเรื่องราวในอดีตก็น่าจะลอง เพื่อจะรู้ว่าในอดีตเราเป็นลูกหลานของพระยาจามปางตอยด้วยหรือไม่

สำหรับหลวงปู่ท่านไม่แนะนำให้พวกเราทำอย่างนั้น ท่านให้ “ดูจิตใจเจ้าของ ถ้าจะรู้เห็นอดีตมันก็เห็นเอง ไม่ใช่อยากรู้อยากเห็นมัน”

๔๗. เจดีย์และกรุสมบัติบนดอยอุทา

ในตำนานไม่ได้เอ่ยถึงภรรยาของพระยาจามปางตอยซึ่งเป็นเจ้าเมืองเทิงเลย จึงสันนิษฐานว่านางคงเสียชีวิตก่อนมาอยู่เมืองเทิง นางอุทาน่าจะกำพร้าแม่ ท่านเจ้าเมืองจึงรักลูกสาวมาก

นางอุทา ได้ล้มป่วยและเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง ๑๕ ปี ขณะนั้นพระยาจามปางตอยอายุ ๗๐ ปี อัฐิของนางอุทาได้นำไปบรรจุที่เจดีย์บนยอดเขาด้านทิศใต้ของเมือง จึงเรียกดอยลูกนี้ว่า ดอยอุทา

เชื่อกันว่าพระยาจามปางตอย ได้นำทรัพย์สมบัติที่มีค่าของนางอุทาทั้งหมดไปฝังไว้ให้ฐานเจดีย์ ดังนั้นที่เจดีย์แห่งนี้จึงถูกขุดเจาะเป็นหลุม เป็นรูพรุนไปหมด อย่างน่าเสียดาย แม้องค์พระพุทธรูปปูนก็ถูกทุบแขน ทุบเอว ค้นหาสมบัติจนพังพินาศ

คุณดำรงค์ ภู่ระย้า นักเขียนแห่งนิตยสารโลกทิพย์ ได้รับคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่า

“เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๖ เวลาประมาณ ๔ ทุ่ม ชาวบ้านเห็นดวงไฟสว่างสุกใสลอยเด่นอยู่บนดอยอุทา แล้วค่อยๆ ลอยสูงขึ้นไปประมาณ ๑ กม. จากนั้นลอยย้อนมาทางทิศเหนือ สว่างสุกใสอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วแยกเป็น ๒ ดวง สุกใสมาก สว่างกว่าไฟฟ้าจนสามารถมองเห็นต้นไม้ และไร่ข้าวโพดได้ชัดเจน ดวงไฟนั้นตกลงที่บริเวณกว้างของไร่ข้าวโพดนั้นเอง รวมเวลาที่มองเห็นทั้งหมดนาน ๒ ชั่วโมง”

๔๘. บริเวณวัดก็ถูกคุ้ยจนพรุน

ช่วงที่หลวงปู่เพ็ง ท่านไปถึงในช่วงแรกๆ จะเห็นว่าเจดีย์ วิหารจะมีร่องรอยถูกทุบ ถูกรื้อ ถูกงัดแงะจนพรุน บริเวณวัดก็เต็มไปด้วยหลุม เห็นมูลดิน ก้อนอิฐ ที่บ่งบอกถึงการขุดค้นหาสมบัติที่มีค่าไปทั่วทั้งวัด

พระพุทธรูปต่างๆ ก็ถูกขุดขึ้นมาแล้วทุบทิ้งกองไว้ หลวงปู่กับพระได้เก็บรวบรวมไว้ ผู้รู้บอกว่าส่วนมากเป็นพระพุทธรูปหินศิลปแบบขอม ที่มีเชื้อสายพวกแขกจาม พวกนี้มีรูปร่างสูงใหญ่งดงามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ช่วงที่หลวงปู่ไปอยู่ใหม่ๆ การขุดคุ้ยล่าสมบัติโบราณยังมีอยู่มีผู้เรียนถามหลวงปู่ว่า ทำไมไม่ห้ามเขา

หลวงปู่ตอบว่า “เราจะไปห้ามอะไรเขาได้ เขาไม่เห็นคุณค่าของวัตถุโบราณ แม้องค์พระพุทธรูปซึ่งสร้างขึ้นแทนองค์พระพุทธเจ้า พวกเขายังตัดคอทุบองค์ท่านจนแหลกเหลว ถ้าพระสงฆ์เข้าไปยุ่งเขาคงเอารถมาไถกุฏิทิ้งลงขยะหมด

อีกอย่างหนึ่ง อาตมาคิดถึงกฎอนัตตา ทุกอย่างเกิดขึ้นมาก็ต้องดับไปสูญไป เราอย่าว่าเขาเลย ต่อให้วัดนี้ล้อมกำแพงสูงลิบ แล้วนำลูกกรงเหล็กกล้ามาล้อมอีก มันก็ไม่วายพังลงสักวัน

อะไรจะมาสู้กับตัณหา ตัวนี้มันร้ายกาจมาก มันทำลายได้แม้กระทั่งบิดามารดาของมัน เมื่อเกิดตัณหาขึ้นมา

คนพวกนี้เขาไม่รู้อะไรดีอะไรชั่วนะ อาตมาฟังเขาเล่าว่า เขาขุดไปพบผอบที่บรรจุพระธาตุไว้ แต่ผอบนั้นเป็นทองคำ เขาเอาเฉพาะทองคำ ส่วนพระธาตุเขาเททิ้ง ไม่รู้ว่าตกอยู่ที่ใด

อาตมาสังเวชใจเหลือเกิน เหมือนไก่ได้พลอย ไม่รู้คุณค่าของพระธาตุภายในผอบ เขาเอาแค่เปลือกนอกคือทองคำไป ส่วนภายในพระธาตุแท้ๆ กลับเหวี่ยงทิ้ง นี่เรียกว่าอะไรดีนะ”

๔๙ ถ้าใจสบาย อะไรก็สบาย

หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงการมาอยู่วัดเทิงเสาหิน เทียบกับการภาวนาอยู่กลางป่ากลางเขาที่จังหวัดเพชรบูรณ์

“ไปอยู่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงรายใหม่ๆ มันยิ่งร้ายกว่าอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ดีที่อาตมาได้อารมณ์จิต เรื่องตัดสัญญา ที่นี่มันต้องอดทนจริงๆ จึงจะอยู่ได้

เพราะอาตมานี้คิดถึงคำว่า พระ ถ้าเป็นพระต้องทำให้สมกับเป็นพระ ถ้าเป็นพระแต่รักษาใจก็ได้มันก็เลวไปกว่าปุถุชน เพราะเอาเปรียบชาวบ้านเขากิน

อาตมาตัดอารมณ์สัญญา ไม่ข้องไม่แวะกับอะไรทั้งหมด มันจะวุ่นวายอย่างไร มันจะมีอุปสรรคอย่างไร อาตมาไม่เกี่ยว ทำจิตใจสบายๆ ตามคำสอนของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่ว่า ทุกข์ก็สบาย สุขก็สบาย อะไรๆ สบาย ทั้งนั้น

เมื่อใจเราสบายแล้ว ไปอยู่ดงเสือดงช้างมันก็สบาย อะไรจะมาสู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ ธรรมะนี้นะ ถ้าแม้ผู้ใดมีธรรมะอยู่กับจิตใจแล้วมันมีความกล้าจริงๆ

สมัยอยู่ป่า ลมมันมานะ พัดเอาต้นไม้บนภูเขาล้มตึงตึงไปหมด เสียงลมนี้น่ากลัว มันดังชนิดขนพองสยองเกล้าทีเดียว สัตว์ป่านี่เงียบยังกับถูกมนต์ ต้นไม้บนภูเขา บางทีมันไม่มีรากแก้วซิเล่า รากมันออกไปข้างๆ ต้น พอมันถูกลมพัด มันก็ล้มลงมาข้างๆ ตัวอาตมาที่นั่งภาวนาอยู่ มองขึ้นไปข้างบนแล้ว ต้นไม้นี่เหมือนกับมันจะหมุนได้ เหวี่ยงไปโน้นเหวี่ยงวนมาทางนี้ ถ้าคนกลัวมองขึ้นไปไม่ได้หรอกเวลามีลม มันเหมือนเปลที่เราไกวไปมา จิตใจมันไม่กลัวนะ มันกล้าชนิดบอกไม่ถูกนะ ถ้าตายก็เผาตรงนั้นแหละ ว่างั้น

อาตมานั่งภาวนา เลยไม่ทุกข์ไม่ร้อนอะไร เราตัดสินใจมาแต่ต้นแล้วนี่ เราต้องการขัดเกลากิเลส ต้องการศึกษาหาความรู้ทางด้านจิตใจ เราไม่มีอะไรป้องกันตัว นอกจากพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เมื่อใดเรามีธรรม เมื่อนั้นเรายังมีสติคุ้มครองจิตใจ ถ้าเวลาใดเราลืมธรรมะ เมื่อนั้นแหละเราขาดสติ

ถ้าเรายังน้อมนึกคำสั่งสอน สติเราก็ดีเท่านั้น นั่งก็มีสติ ยืนก็มีสติ เดินก็มีสติ นอนก็มีสติ แม้จะกินก็ต้องมีสติ นี่ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้รู้อย่างนี้นะ”

๕๐. ตายเป็นตาย ถ้าเชื่อมั่นในพระธรรม

หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงการได้รับทุกขเวทนาอย่างสาหัสขณะท่องธุดงค์อยู่ในป่า แทบเอาชีวิตไม่รอด แต่ถ้าเรามีใจมั่นคงในพระธรรม ใจเราก็ไม่หวั่นไหว ตายเป็นตาย

“ครั้งหนึ่งที่อาตมาป่วย ถ่ายท้อง โอ…มันทรมานทุกขเวทนาไม่ต้องพูดถึงละ ยาก็ไม่มีฉัน ก็อยู่ป่านี่ วันหนึ่งถ่ายท้อง ๙-๑๐ ครั้ง บางทีในป่ายามค่ำคืน อาตมาต้องเดินคลำทางไป ไฟฉายก็ไม่มี คลำไปเรื่อยๆ ถ้าไปเหยียบงูเข้า มันตกใจมันก็กัดเอา

เอ้า..กัดก็กัด ตายไปแล้วช่างมัน อยู่ในป่าไม่มีใครเห็นซากศพ เราจะได้ทานแก่มดปลวกต่อไป บางทีเราจะได้อานิสงส์ของทานอีกด้วย คิดอโหสิกรรมแก่เขาล่วงหน้าเลย__ มันก็ยังพูดอยู่นี่ไม่ยักตายแน่ะ

อาตมาถึงบอกว่า มีความมั่นใจและเชื่อในพระธรรมจริงๆ เรามั่นเสียอย่างเดียวเท่านั้น กิเลสก็มาทำอะไรไม่ได้ จิตหมดการปรุงแต่ง วิธีตัดนี้ เอากายทิ้งเลย ตายเป็นตาย”

๕๑. ต้นไม้ใหญ่โค่นทับก็ไม่หวั่นไหว

มีหลายครั้งที่หลวงปู่ เจอพายุใหญ่ในระหว่างภาวนา ต้นไม้ใหญ่เคยโค่นลงมาใกล้ตัวท่าน แต่ท่านนั่งภาวนาเฉยไม่สะดุ้งสะเทือน หลวงปู่บอกว่าถ้าใจมั่นซะอย่าง อะไรก็ทำอันตรายเราไม่ได้

“เวลาต้นไม้ใหญ่ๆ มันหักล้มลงมานี่ เราทำสมาธิภาวนา ทำใจให้ดีๆ เถิด มันมีอำนาจจริง อาตมาจึงมาเห็นว่า นั่นแหละความจริงของพระพุทธศาสนา มันเห็นมันรู้ มันพ้นภัยได้จริงๆ

ท่านผู้อ่านคงจำได้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลวงปู่บำเพ็ญเพียรอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อพายุมา ต้นไม้โค่นล้มแต่ท่านไม่ได้หวั่นไหวเลย

เหตุการณ์ที่ผู้เขียน (ปฐม นิคมานนท์) ประสบมาด้วยตนเองในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ตอนใกล้ๆ จะออกพรรษา ในปีนั้นหลวงปู่เพ็งไปจำพรรษาที่วัดจำปาทอง อ.เมือง จ.พะเยา อยู่ใกล้ๆ น้ำตกจำปาทอง ช่วงนั้น เจ้าอาวาสวัดชื่อ พระอาจารย์ศักดิ์ ตอนนี้ได้ลาสิกขาไปแล้ว ปัจจุบัน พระอาจารย์ธวัชชัย ลูกศิษย์ท่านหลวงตามหาบัว มาเป็นเจ้าอาวาสแทน

ที่วัดจำปาทองนี้ หลวงปู่พำนักอยู่ในกุฏิหลังเล็กๆ คืนหนึ่งตอนกลางดึก มีฝนตกหนัก พายุแรง พวกเราได้ยินเสียงดังสนั่น ปานฟ้าถล่มทลาย เสียงดังมาจากทางที่กุฏิหลวงปู่ตั้งอยู่ ทั้งพระทั้งโยมต่างนิ่งเงียบอยู่ในกุฏิของตนเอง ต่างคนต่างภาวนา ไม่มีใครลุกขึ้นไปดู ผมเองก็ภาวนาสงบนิ่งอยู่ใจ เชื่อมั่นว่า หลวงปู่คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าท่านเป็นอะไร พวกเราก็ต้องช่วยกันเผาร่างท่านตรงนั้น ท่านเคยบอกเสมอว่า ถ้าท่านตายให้เผาให้เร็วที่สุด ไม่ต้องมีพิธีอะไร ไม่ต้องห่วงอาตมา ห่วงพวกสูเองก็แล้วกัน

เช้ามืดวันรุ่งขึ้น ทั้งพระทั้งโยมต่างห่วงหลวงปู่ ถือไฟฉายตรงไปที่กุฏิที่ท่านอยู่ โอ้โฮ !…ต้นไม้ใหญ่ขนาดสองคนโอบ ผมไม่ได้ดูว่าเป็นต้นอะไร ถึงดูก็ไม่รู้จักชื่อ รู้แต่ว่าต้นไม้ใหญ่ก็พอ โค่นลงชนิดถอนรากออกมา ล้มเฉียดกุฏิหลวงปู่ ชนิดที่กิ่งก้านล้อมกุฏิหลวงปู่แทบทุกด้าน ปิดบังจนมองไม่เห็นกุฏิ

พวกเราตะโกนเรียกหลวงปู่

ท่านตอบว่า “เออ ได้ยินแล้ว”

ทางเดินเข้ากุฏิถูกปิดหมด ต้องอ้อมไปด้านหลัง แล้วช่วยประคองหลวงปู่เดินออกมา พอดีได้เวลาออกบิณฑบาต ทั้งหลวงปู่และพระก็ออกบิณฑบาตตามปกติ ตอนกลางวันพวกลูกศิษย์ช่วยกันเลื่อยกิ่งไม้ออก เปิดทางให้หลวงปู่เข้ากุฏิได้ ส่วนลำต้นใหญ่ยังคงทิ้งไว้ให้นอนบนดิน ขนานไปกับกุฏิหลวงปู่และห่างออกไปไม่ถึง ๑๐ เมตร ใครๆ ไปเห็นก็ว่าอัศจรรย์

ถามหลวงปู่ว่าท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ

ท่านว่า “ได้ยิน แล้วจะทำอะไรได้ ถ้าจำเป็นต้องตายมันก็ตาย”

หลวงปู่สอนว่า “เมื่อพวกเรามีจิตใจที่ได้อบรมจากสมาธิแล้ว มีความบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว สิ่งต่างๆ ที่เป็นทางลบ เราจะเอาความดีของเราต่อสู้ ความชั่วทั้งหลายก็จะสลายไปเอง พระพุทธเจ้าของเราตรัสไว้ไม่ผิดหรอกว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อย่างแน่นอน”

๕๒. เรื่องของวัดจำปาทอง

วัดจำปาทองเป็นวัดร้าง อยู่ในป่าเขาใกล้น้ำตกจำปาทอง เดี๋ยวนี้เป็นวนอุทยานแห่งชาติน้ำตกจำปาทอง ตั้งอยู่ตำบลต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา อยู่ไม่ไกลจากวัดอนาลโย ของหลวงพ่อไพบูลย์ สุมงฺคโล ซึ่งรู้จักทันดีในนาม ดอยบุษราคัม

พูดถึงวัดจำปาทอง เคยเป็นวัดมาก่อน แล้วปล่อยให้ร้างไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ สิ่งที่เหลืออยู่ก็มีเจดีย์เล็กๆ ไม่ทราบว่าบรรจุอัฐิท่านผู้ใด มีบันไดนาคเตี้ยๆ ขึ้นสู่วัด มีสิ่งก่อสร้างเก่าคล้ายกับโบสถ์หรือวิหาร ชิ้นส่วนพระพุทธรูปและเศษอิฐเศษปูนกระจายอยู่ทั่วไป แสดงร่องรอยชัดเจนว่าเคยเป็นวัดมาก่อน

ผมไม่มีโอกาสสืบค้นประวัติของวัดในอดีต ที่นำมาเขียนเพราะหลวงปู่เพ็ง เคยไปจำพรรษาอยู่ ๑ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ตอนนั้น พระอาจารย์ศักดิ์ มาริเริ่มบูรณะ มีลูกศิษย์ลูกหาจากกรุงเทพฯ นำโดยคุณธานินทร์ – มล.นิตยา ธณีวุฒิ ได้พาคณะไปทอดกฐิน – ผ้าป่า หาเงินมาพัฒนาวัด ได้สร้างศาลาอเนกประสงค์หลังเล็กๆ ๑ หลัง กุฏิ ๕-๖ หลัง โรงครัว และห้องน้ำ บรรยากาศในวัดสงบร่มเย็น มีต้นไม้ต้นใหญ่ๆ เต็มบริเวณวัด มีธารน้ำซึ่งไหลมาจากน้ำตกจำปาทองไหลผ่านวัด บรรยากาศเหมาะแก่การภาวนามาก แต่.. ขอเตือนว่าไม่ว่าพระหรือฆราวาส ถ้าใครไม่ภาวนาจะอยู่ที่นั่นไม่ได้ จะถูกแกล้งถูกกวนจากผู้ที่เราไม่เห็นตัว จนไม่ได้หลับไม่ได้นอนทีเดียว

ในอดีต สมัยที่ท่านภาวนาพุทโธ กำลังดัง ท่านเคยพาสานุศิษย์ไปปักกลดภาวนา เดินทางด้วยรถบัส เรื่องเกิดขึ้นตอนขากลับ ผู้ควบคุมรถพูดว่า

“เอ้าใครจะไปด้วยรีบขึ้นรถ”

เมื่อสมาชิกพร้อมรถก็เคลื่อนที่ เส้นทางไปวัดเป็นทางแคบ คดเคี้ยว มีสะพานไม้แคบๆ เก่าๆ อยู่แห่งหนึ่ง

พอรถมาถึงเชิงสะพาน เกิดเครื่องยนต์ดับอย่างไม่คาดฝัน ผู้ควบคุมรถก็ขอให้สมาชิกลงช่วยเข็น โดยพูดว่า

“ขอแรงให้ทุกคนช่วยลงไปเป็นรถด้วย”

สมาชิกทุกคนลงหมด แต่เป็นรถไม่เคลื่อนเลย หนักมาก

ท่านภาวนาพุทโธ นั่งรถเล็กตามมาถึงพอดี แล้วท่านก็พูดว่า

“เอ้า นั่งอยู่ทำไม ทั้งคน และไม่คน ลงมาให้หมด ลงมาช่วยกันเข็นรถ”

แล้วให้ทุกคนช่วยกันเข็นอีก ปรากฏว่ารถเบามาก และสตาร์ทเครื่องติดอย่างเรียบร้อย โล่งใจกันทุกคน

ท่านภาวนาพุทโธ พูดว่า “เอ้า; เฉพาะคนเท่านั้นให้ขึ้นรถ นอกนั้นให้กลับไปที่ที่ตนอยู่”

แล้วท่านก็แผ่เมตตา ให้ศีลให้พรไปตามระเบียบ

เรื่องนี้ไม่สรุป แต่ขอพูดถึง อดีตท่านภาวนาพุทโธ เพียงนิดเดียว เพราะผมเคยกราบ เคยพบท่านเพียงครั้งเดียว ตอนที่ท่านกำลังดัง เรานิมนต์ท่านมาที่ พุทธธรรมปฏิบัติ ซอย ๑๑ หมู่บ้านสหกรณ์ ถนนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม กทม. เป็นสำนักปฏิบัติของท่านอาจารย์เบญจางค์ โกศิน

เท่าที่ได้สัมผัส อดีตท่านภาวนาพุทโธ ท่านมีพลังจิตกี่แรง ผมขอถ่ายรูปไม้เท้าหัวมังกรของท่าน โดยเอามือขวาจับที่โคนแล้วยกไม้เท้าชูขึ้น ให้ตากล้องถ่ายรูป ผมรู้ดีกว่ามีพลังบางอย่างทำให้มือสะท้านและขนลุกไปทั้งตัว รู้แต่ว่ามีพลัง จะเป็นอะไรไม่ได้ติดใจสงสัย เพราะไม่ใช่สาระสำคัญของการศึกษาธรรม แต่ก็มีส่วนปรุงรสชาติของการปฏิบัติภาวนาให้น่าตื่นเต้น น่าสนใจได้

ขอย้อนกลับมาที่วัดจำปาทอง ผมมีส่วนในการวิ่งเต้นทำเรื่อง

“ขอยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุอาศัยอยู่” คือ ขออนุญาตตั้งเป็นวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการต่อต้านอย่างชนิดที่ถ้าไม่เกิดกับตัวเองแล้วจะไม่เชื่อเลย โดยเฉพาะการต่อต้านจากพระผู้ใหญ่ในจังหวัด ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องกลัวเกรงไปหมด รวมไปถึงทางป่าไม้ก็พยายามหาทางขับไล่ด้วยวิธีการต่างๆ เอาเป็นว่าจนผมเองก็ต้องถอย

แต่ก็ขอตำหนิทางวัดด้วยเหมือนกัน ที่ไม่อนุรักษ์ของเก่า คือพระท่านเอารถมาไถบันไดนาคทิ้งหมด ทำเป็นทางให้รถขึ้นถึงวัดอย่างสะดวกสบาย

ขณะเดียวกันก็ขอยืนยันว่า พระไม่ได้ตัดโค่นต้นไม้ แต่กลับรักษาต้นไม้ไว้ทุกต้นเป็นอย่างดี

ไม่เหมือนกับการสร้างสถานที่ราชการ ท่านต้องตัดต้นไม้จนหมด ไถที่จนราบเรียบ แล้วค่อยเริ่มปลูกต้นไม้ใหญ่อย่างเป็นแถวเป็นแนวสวยงาม แล้วก็อ้างว่าท่านไม่ได้ทำลายป่าแต่ท่านปลูกป่า

อยากขอเชิญชวนทุกท่านไปดูที่ดอยบุษราคัม วัดอนาลโย โดยเฉพาะที่กุฏิของหลวงพ่อไพบูลย์ เจ้าอาวาส ท่านเจาะพื้นให้ต้นไม้ที่มีอยู่เดิม แทงทะลุขึ้นไป รวมทั้งชายคาก็ยังปล่อยให้เป็นล่องให้ยอดไม้โผล่ขึ้นไปรับแดดได้ตามธรรมชาติ ท่านพูดว่า

“ต้นไม้เขาอยู่ก่อน เรามาทีหลังอย่าไปเบียดเบียนเขา ตัดออกบ้างเท่าที่จำเป็นและเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ”

จนบัดนี้ วัดจำปาทอง ก็ยังไม่ได้เป็นวัด ยังเป็นเพียงสำนักสงฆ์ พระอาจารย์ธวัชชัย เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ทางกรมป่าไม้ยังมีป้ายคัดค้านขับไล่วัดอยู่ แต่ก็ยอมให้วัดอยู่ตรงนั้นต่อไปได้ พระท่านบอกว่า แค่นั้นท่านพอใจแล้ว จะเป็นวัดหรือไม่ไม่สำคัญ มีที่สงบให้พระป่าได้ภาวนาก็แล้วกัน

ถือเป็นบุญที่ท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโนได้เมตตามาพักค้างคืนที่วัด ๒ ครั้ง ทำให้คนในจังหวัดพะเยาให้ความสนใจมากขึ้น แรงต่อต้านก็เบาบางลงไปมาก

ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนท่านที่สนใจ อยากหาที่เหมาะๆ สำหรับการปฏิบัติภาวนาไปทดลองดู ส่วนท่านที่ไม่ภาวนาอย่าไปพักค้างคืนเลย…หรือจะลองดูก็ได้ !

ขอฝากความถึง ทันตแพทย์หญิงมัลลิกา ตัณฑุลเวศน์ แห่งกระทรวงสาธารณสุข ท่านเป็นคนพะเยา เคยรับเป็นเจ้าภาพผ้าป่าที่วัดจำปาทอง ถ้ามีโอกาสขอให้แวะไปสัมผัสบรรยากาศของวัดบ้างนะครับ

๕๓. พระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานองค์แรกของหลวงปู่

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ได้เล่าถึงครูบาอาจารย์ของท่าน ดังนี้

“สำหรับชีวิตของอาตมาที่ผ่านมาแล้ว อาตมาก็ได้ครูบาอาจารย์หลายองค์ พอจะลำดับได้ ดังนี้

พระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานองค์แรกของอาตมา คือ พระบุญนาค โฆโส (สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน) อาตมาไปพบท่านที่จังหวัดมหาสารคาม วัดพูลศรีสารคาม เป็นชื่อวัดสมัยนั้น

พระอาจารย์บุญนาค นี่ ประวัติของท่านเดินธุดงค์มากมายทีเดียว (ท่านที่สนใจหาอ่านได้จากหนังสือสามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐานซึ่งพิมพ์แพร่หลายทั่วไป)

อาตมาได้ออกธุดงค์กับท่านมาก่อน การปฏิบัติของท่านนี้ดีที่สุดละ อาตมาเคยไปกับท่าน พอมาระยะหลังอาตมาได้แยกทางกับท่านในครั้งที่ท่านเดินธุดงค์ที่ฝั่งลาวโน่น ท่านเป็นคนอีสานหรือเปล่าไม่รู้ แต่ท่านก็พูดอีสานได้ดี

ภายหลังมีคนเล่าให้ฟัง อาตมาก็ฟังแต่ไม่เชื่อ เขาว่าพบท่านที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นนะ มีแม่หม้ายคนหนึ่งร่ำรวยมีห้องแถว แล้วมานิมนต์ท่านสึก จะยกห้องแถวให้ ถ้าไม่สึกจะได้มอบให้รัฐบาล ท่านก็บอกว่ายกให้รัฐบาลเสียเถิด

อยู่ต่อมาอีก มียายแก่ๆ คนหนึ่งในกรุงเทพฯ ขี้เหร่มาก กินหมากมีน้ำหมากไหลออกมามุมปากฟันก็เหยิน มีลูกสาวและลูกชายหน้าตาสวยงามโก้เก๋ ลูกสาวเป็นครู เงินเดือน ๘๐ บาท สมัยนั้นลูกชายนี่เป็นร้อยตรี แต่ก่อนไม่เคยเข้าวัด

ต่อมา พระอาจารย์บุญนาคนี่แหละ ไปได้ผ้าประเจียดของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล มาหนึ่งผืน เอามาให้ พอได้ผ้าแล้วลูกชายที่เป็นร้อยตรีไปสงครามอินโดจีน ขึ้นเครื่องบินไปต่อสู้กัน ลูกปืนข้าศึกยิงมาไม่ถูกเครื่องบินแม้แต่นิดเดียว พอกลับมาแล้วก็พากันมากราบพระอาจารย์บุญนาคกันทั้งบ้านนี่แหละ ทั้งแม่ ลูกสาว ลูกชาย

ปกติพระอาจารย์บุญนาค ท่านพูดตรงไปตรงมา เมื่อมาถึงท่านก็ทักถามว่า นี่ใครนะ ลูกสาวลูกชายหรือ ทำไมแม่ขี้เหร่แท้ ลูกสาวลูกชายโก้กว่า…

ก็ลูกสาวคนนี้แหละ ได้เข้ามาขอเรียนกรรมฐานกับท่าน ท่านอาจารย์บุญนาคพูดว่า ไม่ต้องหรอก เลยเวลา…”

(หมายความว่า ท่านคงรู้เจตนาซ่อนเร้นอะไรบางอย่าง ดูตามประวัติแล้ว มีเรื่องหญิงสาวพยายามจะสึกท่าน มีเรื่องพ่อแม่พยายามจะยกลูกสาวให้หลายครั้ง ท่านต้องหาอุบายหนีเรื่องมีครอบครัวอยู่หลายครั้ง- ผู้เขียน)

“พระอาจารย์บุญนาคนี้ รูปร่างเหมือนผู้หญิง สูงโปร่ง เดินเหินนี่เหมือนช้างเดิน คลุมผ้านี่เรียบร้อย สง่ามาก กิริยางดงามจริงๆ

ส่วนเรื่องสอนพระกรรมฐานนี่ ไม่มีอื่นไกล สอนให้ตั้งสติกำหนดนิ่งอยู่สงบเท่านั้น

อาตมาอยู่กับท่านนานเหมือนกันนะ ตอนหลังอาตมาป่วยตั้งแต่ไปอยู่ถ้ำพระเวส ท่านก็เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ เลยไม่รู้ว่าท่านไปยังไงมายังไงต่อไป บางกระแสบอกว่าไปเสียชีวิตที่เวียงจันทน์ฝั่งลาวบางกระแสบอกว่าไปเสียชีวิตที่บ่อศีรสมภาร

นี่อาจารย์องค์แรกในการสอนปฏิบัติให้อาตมา”

หมายเหตุ: จากหนังสือ สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน นั้น พระอาจารย์บุญนาค เป็นผู้เขียนเอง เพราะได้รับบัญชาจากพระผู้ใหญ่ ที่วัดบรมนิวาสให้เขียนเนื่องจาก เจ้าจอมมารดาทับทิม ที่วังกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พร้อมด้วย คุณนายอั๋น และ โยมเข็ม ขอประวัติ พระอาจารย์บุญนาค จึงจำเป็นต้องเขียน ทั้งๆ ที่เคยปฏิเสธคนอื่นมาก่อนแล้ว ท่านลงมือบันทึกเมื่อครั้งพำนักที่วัดบรมนิวาส เชิงสะพานยศเส กรุงเทพ เมื่อวันที่ ๑๖ เดือน๙ ขึ้น๙ ค่ำ วันจันทร์ พ ศ. ๒๔๘๐

กลางคืนก่อนได้รับบัญชา ท่านเกิดนิมิตว่า โยมชื่อ อะสะกรรมบุตรมาเตือนท่านว่า จงระวังกิจที่จะทำในวันต่อไป กลัวจะเป็นภัยแก่ท่าน พอตอนเช้ากลับจากบิณฑาตก็ได้รับบัญชาให้ท่านเขียนประวัติของท่านเองโดยละเอียดตามคำขอของโยม

ในระหว่างเขียน ท่านเกิดอาพาธ จึงเขียนไม่จบ จากคำนำของหนังสือ (ไม่มีชื่อผู้เขียน) บันทึกไว้ว่า “เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่บันทึกของท่าน มีอันเป็นต้องจบกลางคัน เพราะท่านอาพาธและถึงแก่มรณภาพในที่สุด ณ วัดบรมนิวาส จังหวัดพระนครนี่เอง ราว พ.ศ.๒๔๘๑”

หนังสือเรื่อง สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน ติดต่อขอรับที่ศูนย์อบรมภาวนา สิริจันโท วัดบรมนิวาส และอีกที่ได้แก่ ”คุณยุทธนา เพ็งปาน วิทยุทหารอากาศ ๐๑ มีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพ ๑๐๕๑๐โทร ๐-๒๙๑๔-๖๓๐๗, ๐-๒๙๑๔-๖๕๑๗” รายหลังนี้เพิ่งพิมพ์เผยแพร่เป็น ส.ค.ส. ปีใหม่ ๒๕๔๕ นี้เอง-ผู้เขียน

๕๕. ภาวนาอยู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส

(อธิษฐานไม่นอน-ไม่พูด ตลอด ๒ พรรษา)

หลวงปู่คำดี ปภาโส (วัดถ้ำผาปู่ อ.เมือง จ.เลย) ถือเป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานองค์ที่ ๒ ของหลวงปู่เพ็ง ซึ่งท่านเล่าเรื่องราวดังต่อไปนี้

“องค์ต่อมาเป็นพระอาจารย์คำดี ปภาโส ตอนนั้นอยู่จังหวัดขอนแก่น วัดอรัญญวาสี ห่างจากจังหวัดขอนแก่น ๑๒ กม.”

(ดูจากบันทึกสถานที่จำพรรษาของหลวงปู่คำดี ปภาโส ท่านจำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี บ้านเหล่านาดี ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ท่านจำพรรษาที่ขอนแก่นหลายแห่งระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๕๐๖ ก่อนไปพำนักประจำที่วัดถ้ำผาปู่ อ เมือง จ.เลย -ผู้เขียน )

“ปีนั้น อาตมาไม่ได้อะไรเลย นอกจากความกล้าหาญ อาตมาป่วยตลอดพรรษา พอออกพรรษาที่ ๒ ท่านได้พาไปที่ป่าช้าบ้านลานหญ้า..ที่บริเวณนี้ไม่มีคนเดินหรอก เขากลัวผีกัน ท่านก็ให้ปฏิบัติที่นั่น ไปทำกุฏิเองทุกอย่าง ไปอยู่ด้วยกัน ๘ องค์

อาตมาก็ได้อธิษฐานไม่นอน ๒ พรรษา หลังไม่แตะพื้น นั่งอยู่อย่างนั้นแหละ หลวงปู่คำดี ท่านไปตรวจพระ ไปทุกทีก็เห็นอาตมานั่งอยู่อย่างนั้นแหละ ท่านเรียกอาตมาว่า เจ้าเตี้ย นะ อาตมาไม่พูดอะไรทั้งหมดตลอด ๒ พรรษาเลย เพราะได้อธิษฐานไว้

เวลาเมื่อยก็จะเดินจงกรมภาวนาไป พอฝนตกลงมาเรานำพวกบริขารทั้งหมดมาไว้ตรงกลางกุฏิ หลังคากุฏิมีหญ้าคามุง ๗-๘ ตับเท่านั้น ส่วนพระ-เณรก็มานั่งรอบๆ ที่มันเล็กนะตรงนั่งนั่น เลยมาคิดว่า เราเอาความสะดวกเหล่านี้ให้เพื่อนดีกว่า เราออกเดินจงกรมดีกว่า

“ฝนตกๆ นั่นแหละ อาตมาเดินจงกรม ขนาดน้ำฝนท่วมครึ่งเข่า เดินไปเดินมานี่นะ มันได้ธรรมะมาไว้เต็มจิตใจจนต้องรำพึงว่า โอ…เรานี่ กุฏิ ๙ ห้องก็เคยได้อยู่ ๘ ห้องก็เคยได้อยู่ แต่หาความสุขไม่ได้ เวลามันจะมีความสุขขึ้นมา ก็มีความสุขได้อย่างนี้เองหรือ !

ฝนตก ๓ วัน ๓ คืน ก็ไม่รู้สึกว่าร้อนว่าหนาว ยังทำความเพียรได้สบายๆ เพราะใจมันสบาย

หมายเหตุ: ขออนุญาตยกประสบการณ์ของตัวเองมาประกอบด้วยเถอะขออภัยท่านผู้อ่านอย่างมาก

ประมาณปี ๒๕๓๕ เคยติดตาม หลวงปู่เพ็งไปปักกลดบนเขาทางภาคเหนือ ผมบอกตำแหน่งสถานที่ไม่ถูก ดูเหมือนจะเรียกว่า ปางห้วยเฮี้ย เข้าใจว่าอยู่เขตอำเภอแม่แตง เชียงใหม่ พวกเราแบกกลดตามหลวงปู่ เตรียมผ้านวม เสื้อหนาวไปเต็มที่ เพราะอากาศหนาว หลวงปู่เพ็ง เดินเร็วอย่างเหลือเชื่อ พวกเราหนุ่มๆ เดินตามจนเหนื่อยหอบ

ที่ตรงนั้นมีกระต๊อบมุงหญ้าคา มีฝาด้านเดียว มีพระพุทธรูป องค์เล็กๆ อยู่ ๑ องค์ หลวงปู่ท่านกางกลดภาวนาอยู่บนกระต๊อบนั้น พวกเรา ๕ คนแยกกันกางกลดห่างๆ พอมองเห็นกัน หลังสวดมนต์ทำวัตรเย็นเสร็จประมาณ ๓ ทุ่ม พวกเราก็แยกย้ายไปภาวนาในกลดของแต่ละคน

พอดับเทียนบริเวณนั้นมืดสนิท นอกกลดบนพื้นดินเห็นแต่แสงเรือง ๆ ของกิ้งกือหรือตัวบุ้ง หลวงปู่เตือนพวกเราให้ระวังอย่าไปโดนมัน เพราะจะคันมาก ทุกอย่างเงียบกริบ อากาศอบอ้าว ผมนั่งสมาธิอยู่ในกลด ทันใด ฝนตกลงมาชนิดไม่ลืมหูลืมตา ผ้าห่มและเสื้อหนาวเปียกหมด แข็งใจนั่งภาวนา เพราะไม่รู้จะหลบไปไหน ใจก็นึกสงสารตัวเองว่าอยู่บ้านสบายๆ แล้วไม่ชอบ ชอบรนมาหาความทุกข์ นึกรำพึงรำพันในใจ ฝนก็ตกหนัก น้ำนองพื้นสูงท่วมข้อเท้า

อีกใจหนึ่งมันถามตัวเองว่าถ้ากลัวลำบากแล้ว(เสือก)มาทำไม จึงตั้งใจว่าตายเป็นตาย ลุกออกจากกลด จากแสงฟ้าแลบ เห็นหลวงปู่นั่งหลับตานิ่งอยู่ในกลดของท่าน ผมออกมาเดินจงกรมบนเส้นทางที่เล็งเอาไว้แล้วตั้งแต่ก่อนมืด อาศัยแสงฟ้าแลบดูทาง เสียงเท้าลุยน้ำดังแจะๆ เดินไปเดินกลับอย่างไม่หวั่นไหวกว่า ๑ชั่วโมง ฝนหยุดสนิท น้ำแห้งอย่างรวดเร็ว ผมหยุดเดิน กลับเข้ากลด เอาผ้าพลาสติกที่เตรียมไปปูพื้นแล้วลงภาวนา

การภาวนาคืนนั้นรู้สึกสุข-สงบอย่างเหลือเชื่อ รำพึงในใจ (เหมือนที่หลวงปู่ท่านว่า) ว่า “โอ !…ความสุขเป็นอย่างนี้เอง ไม่เกี่ยวกับเงินทอง ยศ ตำแหน่ง อะไรเลย นี่เองที่เรียกว่าสุขที่ไม่อิงอามิส !”

เออ น่าแปลก ! ครั้งนั้นทุกคนสุขสบายดี ไม่มีใครเป็นไข้ เป็นหวัดเลยหมายเหตุอีกที : ผมได้รับประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่หลายครั้ง หลายโอกาสคงพอจะเป็นเหตุผลที่บอกว่าทำไมผมจึงเคารพและศรัทธาหลวงปู่สุดชีวิต กราบขออภัยอีกครั้งที่เอาเรื่องตัวเองมาเขียน ความจริงมีเยอะ แต่เกรงใจท่านผู้อ่าน – ผู้เขียนคนเดิม

๕๕. การพิจารณาธาตุ ๔

หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงการภาวนาของท่าน เมื่อตอนอยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่คำดี ปภาโส เกี่ยวกับการพิจารณาธาตุขันธ์ ดังนี้

“ในการภาวนา อาตมาใช้คำบริกรรมว่า พุท-โธ นั่งก็ พุท-โธ เดินก็ พุท-โธ ยืนหรือนอนก็ พุท-โธ แม้กระทั่งฉันอาหารก็ พุท-โธ

หลวงปู่คำดี ปภาโส มองเห็นว่าอาตมาสามารถฝึกสติได้แล้วพอสมควร ท่านจึงให้อาตมาเปลี่ยนมาพิจารณาธาตุ ๔ ต่อไป

อาตมาก็มานั่งพิจารณาธาตุ ๔ จนมองเห็นชัดเจนทีเดียวว่า ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม มันมาอย่างไร มันตั้งอยู่อย่างไร มันกำหนดรู้เข้าไปเอง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะทั้งหก มันก็ออกมาจากธาตุ๔ นั่นเอง ถ้าไม่มีธาตุ ๔ อายตนะทั้งหกก็ไม่รู้ว่าจะเอามาจากไหน ไม่รู้จะไปตั้งไว้ตรงไหน ธาตุ ๔ เป็นที่ตั้งของสรพวัตถุทั้งปวง

แต่ธาตุ ๔ นี่ มันเกิดกิเลสไม่ได้หรอกนะ ที่มันจะเกิดกิเลสตัณหาได้นี่เพราะอายตนะทั้งหก อายตนะเป็นบ่อเกิดของกิเลสทั้งปวง กิเลสเกิดขึ้นมาแล้ว ความร้อนรนก็เกิดขึ้น ความร้อนของกิเลสจะได้ชื่อว่าไฟนรก ความเย็นไม่มี กิเลสได้ชื่อว่านรกหรือสวรรค์มันเกิดขึ้นก็ที่จิตเรานี้ทั้งนั้น

แต่ที่พวกเรามาติดหลังอยู่กับธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่นี่ก็เพราะว่า มีตัว อวิชชา ความไม่รู้ตามความเป็นจริง นี่เอง ไม่มีปัญญาพิจารณาให้ลึกซึ้งเข้าไปภายใน เรามาเพลินอยู่กับอาการภายนอกเสียต่างหากล่ะ มันถึงต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนี้

ดังนั้น ครูบาอาจารย์ทั้งหลายจึงได้คอยสอนเราให้พิจารณาเมื่อรู้แล้วให้ปล่อยวาง ไม่ให้ยึดถือกับสิ่งที่ไม่จริงจังนี้เสีย อาตมาจึงได้รู้ว่า ธรรมะทั้งหมดอยู่ในตัวของเราเองทั้งนั้น ธาตุ ๔ ไม่เคยง้อใครเลยเราไปทุกข์ก็เพราะไปยึดเขาเอง

ธรรมะก็เช่นกัน ไม่เคยเชิญใคร ไม่เคยง้อใคร ใครอยากพ้นทุกข์ก็ให้ปฏิบัติเอาเอง สติกำหนดรู้ทุกกิริยาอาการ

อาตมาปล่อยวางสัญญาในอดีต และไม่ยอมไว้ซึ่งอนาคต จะมีปรากฏแต่ผู้รู้ คู่กับอารมณ์ปัจจุบัน

อายตนะทั้งหกที่อาศัยธาตุ ๔ อยู่นี้ แต่ละอย่างมันมีความต้องการไม่เหมือนกันเลย อย่างหนึ่งต้องการสิ่งหนึ่ง ทุกคนต้องพร้อมกันทำสนองให้ตามความต้องการ หามายังไม่ทันจะสนองคนนี้ คนโน้นต้องการอีกแล้ว วิ่งอยู่อย่างนี้ ไปโน่นทีมานี่ที เดี๋ยวอย่างนี้เดี๋ยวอย่างนั้น ไม่มีสิ้นสุด วิ่งกันจนตาย เจ้านี่แหละเรียกว่ากิเลส

อาตมาพิจารณาดูมันจนละเอียด พระพุทธเจ้าของเราจึงตรัสไว้ว่า ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน นี่แหละพระพุทธเจ้าของเราจึงให้บำเพ็ญจิตเพียงดวงเดียว การทำทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา ก็ต้องอยู่ที่จิตดวงเดียวเท่านั้น สภาพสังขารร่างกายนี้อาศัยจิตดวงเดียวแท้ๆ

๕๖. มนุษย์ธรรมะ

หรือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ได้

ธรรมที่หลวงปู่เน้นย้ำในการเทศน์สอนประชาชนทั่วไป ท่านเน้นเรื่องศีล ๕ หลวงปู่ เรียกว่า มนุษยธรรมะ คือ ธรรมะที่ทำให้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้

หลวงปู่ได้เล่าย้อนถึงการพิจารณาเรื่องศีล ในสมัยที่ท่านภาวนาอยู่กับ หลวงปู่คำดี ปภาโส ดังนี้ : –

“มนุษย์เรานี่ก็เหมือนกัน เขาเรียกว่า มนุษยธรรมะ คือธรรมที่จะทำให้เป็นมนุษย์ได้ ก็คือ ศีล ๕ นี่แหละ

ถ้าใครก็ตามมีศีล ๕ อยู่กับจิตใจแล้ว ทุกอย่างจะมีความสุขแต่ถ้าขาดศีล ๕ ก็จะไปเกิดในอบายภูมิ ดังนั้นท่านจึงให้เรามาพิจารณากาย ธาตุ ๔ นี่ เพราะการกระทำดีหรือชั่วมันแสดงออกทางรูปร่างสังขาร คือ ก้อนทีมาประชุมรวมตัวเป็นเรานี่แหละ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเน้นให้มองเข้ามาดูตัวเอง เพราะตัวของเราเป็นที่ประชุมของธรรมทั้งหลาย จะเจริญสมถะก็ได้ คือให้พิจารณากายนี้เป็นอสุภะ เป็นของไม่งาม น่าเกลียด น่าเบื่อหน่าย คลายสวยงาม แล้วจิตก็จะรวมลงเป็นเอกัคคตาจิต หรือจะพิจารณาให้เป็นปัญญาวิปัสสนาก็ได้เรื่องนี้ หลวงปู่คำดี ปภาโส เคยสอนว่า องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทรงสอนให้พวกเราพิจารณากายนี้ให้สักแต่ว่าเป็นธาตุ ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

ธาตุ ๔ มาประชุมกันในคราวหนึ่งๆ ก็เป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมาเราจึงพากันสมมติเรียกว่าคน เรียกว่าสัตว์

แต่ของเหล่านี้ เขาก็ได้รู้สึกอะไรเลยนะหากแต่ว่ามันเป็นไปตามสภาพของมัน มันมีหน้าที่เกิด ดับ มันก็ทำหน้าที่ของมันไปเมื่อมันดับสลายกลายเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ตามเดิมแล้ว ชื่อคน ชื่อสัตว์ มันก็สลายไปด้วยหมด

ดังนั้น คนเราเกิดมามีธาตุ ๔ มาประชุมกัน เกิดรูปร่างสังขารขึ้นมา มีอายตนะครบถ้วน ซึ่งเปรียบเหมือนบ้านที่ปลูกขึ้นมาใหม่ๆ แต่เดิมก็ไม่มีอะไรเกะกะให้รกตารกใจ อยู่ๆ เจ้าของก็เที่ยวหาสิ่งของมาประดับประดา มีเตียงไม่พอ เอาเก้าอี้ ตู้ ตั่ง จิปาถะ ยัดเยียดกันเข้าไป อายตนะของบ้านจำพวกประตู หน้าต่าง ก็นำอะไรต่อมิอะไรมาติดมาแปะเต็มบ้านเต็มช่อง

แต่ก่อนมันว่างดีอยู่หรอก แต่พอนานๆ ไป แทบไม่มีทางจะเดินจะนั่งฉันใด คนเราก็ฉันนั้น เกิดมาก็มาแย่ง เดี๋ยวเอามาจากคนนั้น เดี๋ยวแย่งมาจากคนนี้ กินก็แย่ง ถ่ายก็แย่ง นอนก็แย่ง เดินก็แย่งกัน จนเป็นเหตุให้คิดว่ากิเลสเหล่านี้ดี วิเศษ ไปชิงดีชิงเด่นชิงความเป็นใหญ่นายคนแย่งลาภ ยศ กลัวจะไม่ได้มาเป็นของตน

แท้จริงแล้ว กิเลสพวกนี้พระพุทธเจ้า และพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านโยนทิ้งมานานแล้ว แต่เรายังเห็นว่ามันดี มันวิเศษ มันเพราะอะไรเพราะความโง่เขลาเบาปัญญานั่นเอง เป็นคนจิตตกต่ำ”

๕๗. จิตวาง คือ ว่าง

หลวงปู่เพ็ง ท่านเทศน์เกี่ยวกับคำว่าจิตว่าง ดังนี้ : –

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรมในกายเรานี่เอง การเกิดรูปสังขารนี้มาจากไหน พระพุทธเจ้าค้นพบจากการปฏิบัติภาวนาว่า เพราะความไม่รู้ คือ อวิชชา

อวิชชา ตัวนี้ครอบงำเสมอ อวิชชามันหนุนเราจนไม่รู้ความเกิดแก่ เจ็บ ตาย

ดูเถิด อย่างการเกิดนี่ พอถึงเวลาลูกจะเกิด จิตใจไม่สบายเสียใจกลัวแม่เด็กจะตาย กลัวลูกจะตายในขณะที่คลอดยาก พอคลอดแล้ว อายุมากแล้ว เสียใจเพราะกลัวแก่ พอเจ็บก็เสียใจอีก ไม่อยากเจ็บ ในที่สุดตายก็เสียใจอีกแล้ว ร้องไห้เสียใจไปต่างๆ นานา

นี่เพราะตัวอวิชชามันครอบงำ ไม่รู้จักความเป็นจริง ถ้ารู้เรื่องสภาพธรรมของจริงแล้ว ว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องของโลก มันเป็นของธรรมดา พิจารณาให้เห็นชัดในจิตในใจแล้วมันก็จะสบาย จิตใจปล่อยวาง ว่างเปล่า

หลวงปู่คำดี ปภาโส กล่าวไว้ว่า นี่มันมีตัณหานะมันจึงเกิด ตัณหานี้จะว่าไม่ดีทั้งหมดก็ไม่ได้ ต้องพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีกจึงจะถูก เพราะตัวตัณหานี่มันเป็นที่มาของความพ้นทุกข์เหมือนกัน อย่างเช่นเรามียศลาภสรรเสริญ อยู่ดีกินดีได้ก็เพราะตัณหา เราจะถือศีลกินเจ ทำบุญทำกุศลก็เพราะตัณหา เราจะบวชเรียนข้อวัตรปฏิบัติภาวนาธรรม หาทางหลุดพ้นได้ก็เพราะตัณหา

ท่านให้รู้เฉยๆ นะ แต่ไม่ให้หลงตัณหา ไปหลงไม่ได้ เพียงให้รู้ อาศัยตัณหาให้รู้หลักของที่เกิดตัณหาเท่านั้น ต้องรู้ว่าตัวนี้แหละที่พาเกิด พาแก่ พาเจ็บ พาตาย มันเป็นเหตุ เมื่อเรามีสติพร้อมควบคู่ไปกับจิต มันเกิดตัณหาขึ้นมา รู้ปั๊บ สติตอบ มันก็ดับ ต้องให้รู้นะ ถ้าไม่รู้มันก็ไม่ดับนะ เราปฏิบัติภาวนาต้องให้รู้ ต้องมีปัญญา อย่างนี้เพราะสติมั่นคง ปัญญาก็รู้แจ้ง

พวกเรานี้ก็เช่นกัน ขอให้อดทนบำเพ็ญบารมีไปเถิด ขอให้แก่กล้าจริงๆ เท่านั้น ทำให้เกิดฌาน เป็นญาณ ขึ้นมา มันก็จะได้รู้แจ้งแทงตลอดสักทีซิ เอาให้มันว่างดูสักหน

คำว่า ว่าง นี่ ต้องเข้าใจเสียก่อน ว่างตัวนี้มิใช่ว่ามันเวิ้งว้างไปหมดอย่างนั้นนะ หมายเอาว่า ว่างจากตัวตน เรา เขา ว่างจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน

ขอยกตัวอย่าง แต่ก่อนเราไม่รู้จักรักษาศีล ต่อมา เรามารักษาศีลจนบริบูรณ์เต็มเปี่ยม เราก็ว่างไปได้แล้ว ว่างจากคนทุศีล อย่างนี้เลยเกิดเป็นคนดีมีศีลธรรม เข้าวัดทำบุญไป เรียกว่า ว่างจากบาป นั่นแหละ

แต่ก่อนเราไม่เคยบำเพ็ญสมาธิ จิตใจมันก็ไม่ว่าง มีแต่ความทุกข์ความยาก มีแต่ความแปรปรวนตลอดเวลา ครั้นเราได้หันมาบำเพ็ญสมาธิ มันก็ว่างจากการแปรปรวน มันมีแต่ความสงบ เป็นเครื่องอาศัย สบายกาย สบายใจ

องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ระยะแรกๆ พระพุทธองค์ได้สละความสุขและความทุกข์ที่สับสนวุ่นวาย ก็เพราะพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ ความสุขก็มี ความทุกข์ก็มี เหมือนๆ พวกเรานี้แหละ แต่พระองค์เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐด้วยตบะบารมีมาก่อน มีสติปัญญา หาช่องทางเพื่อดับความสุขและความทุกข์ที่พระองค์มีอยู่ เข้าป่าหาโมกขธรรมด้วยพระองค์เอง

พระพุทธองค์ทรงทำอย่างไร?… พระองค์ก็ได้ประพฤติดำเนินศีล สมาธิ ปัญญา เท่านั้น ที่พึ่งของพระองค์ก็มีกำลังใจที่ตั้งมั่น เด็ดเดี่ยว ของพระองค์เอง และในระยะนั้นพระพุทธองไม่มีกิจการอะไรที่ต้องทำ ไม่มีการประกาศพระศาสนา ไม่มีการอบรมสั่งสอน ไม่มีการเทศนาให้ใครฟัง กิจการงานเดิมน้อยใหญ่ พระองค์สละออกหมด มุ่งหน้าบำเพ็ญเพียรอย่างเดียวในที่สุดก็ได้พบความว่าง ตามความเป็นจริงจากกายของพระองค์เอง นี่เรียกว่า เกิดปัญญาญาณ รู้แจ้งแทงตลอดในสามโลกจนสำเร็จพระโพธิญาณ

เมื่อพระพุทธองค์สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว งานของพระองค์โถมเข้ามากที่สุดในโลกเลยทีเดียว พระองค์สั่งสอนตลอดวันตลอดคืน เทศนาไปในที่ต่างๆ งานประกาศพระศาสนาก็มากมาย ไหนจะอบรมสั่งสอนพระสาวกทั้งหลาย อีกทั้งเวไนยสัตว์ทั้งปวง อย่างนี้ทางโลกจะมองเห็นว่าพระพุทธองค์ไม่ว่างเรื่องการงานเลย

ความเป็นจริงแล้ว พระองค์ทำงานไปตามหน้าที่เท่านั้น ทำงานก็สักแต่ว่าทำงาน ไม่ได้ยึดมั่น ไม่มีการปรุงแต่งในจิตใจ จิตใจของพระองค์ต่างหากที่ว่างจากตัวตน ว่างจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน เพราะพระองค์เลิศไปด้วยสติสัมปชัญญะ เลิศไปด้วยปัญญา รอบรู้ในกองสังขารทั้งปวง นี่เองแหละเรียกว่า ความว่าง

ธรรมชาติก็เป็นธรรมชาติอยู่นะ พระพุทธองค์รู้จักแยกแยะออกเป็นสิ่งๆ ไป ไม่ใช่ว่าได้ยินคำว่า ว่าง ก็คิดว่าว่างแบบเวิ้งว้างเป็นกลางทุ่งไปเลย มิใช่อย่างนั้น”

๕๘. มันหลงครับ หลวงปู่

ในพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อหลวงปู่เพ็ง กลับมาบวชครั้งที่สองแล้วไปกราบหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

“พวกเรานักปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อให้เกิดธรรมะขึ้นภายในจิตใจ เวลาครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนก็ต้องนอบน้อมตั้งใจฟัง เมื่อฟังแล้วต้องทำความเข้าใจในธรรมนั้นด้วย ใช่ว่าสักแต่ฟัง อย่างนั้นไม่ถูกต้องเลย สติกับจิตอย่างให้คลาดเคลื่อน ถ้าคลาดเคลื่อนเมื่อไรจะหลงทางเมื่อนั้น

ฉะนั้น ทุกวันนี้ เมื่อไปฟังพระหรือครูบาอาจารย์เทศนา มาถึงบ้านแล้วไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติเหมือนกันแต่นานครั้ง อย่างนี้จะเกิดความเข้าใจผิดก็ได้ อุปมาเหมือนรับประทานอาหารไม่ต่อเนื่อง รับไปได้หน่อยข้าวหมด ต้องหุงใหม่ ความอร่อยในรสชาติก็หมดไป

พวกเราจะทำอะไรก็ตาม ต้องให้มันต่อเนื่อง อย่าทำเล่นไม่ได้ มันจะเกิดความหลงดังเช่นว่า

ศึกษาธรรมมากก็หลงเพราะไม่ปฏิบัติ รู้มากก็หลง เพราะไม่ปฏิบัติ อ่านมากก็หลงเพราะไม่ปฏิบัติ สุขมากก็หลงเพราะเสียทีกิเลส กินมากก็หลงเพราะเสียทีตัณหา เป็นพระบวชนานก็หลงเพราะเสียทีอุปาทาน ทำสมาธิ สติไม่มี ปัญญาไม่เกิดก็หลง บางทีก็เลอะไปก็มีนะ พวกเราต้องระวังอย่าขาดสติ

อย่างเช่นอาตมานี่ เดิมทีเดียวออกบวช คิดว่าจะไม่สึกออกมา จะปฏิบัติอย่างเดียว เมื่อมีโอกาสก็จะออกช่วยพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ว่างั้น แต่ความจริงแล้ว กิเลสของอาตมายังไม่หมดเลยเวลานั้น

เรามันเรือลำเล็ก แต่ไปพ่วงเรือใหญ่หลายลำ มันก็พาจมเท่านั้นเอง มันหลงตัวหลงตนเป็นอย่างนี้

หลวงปู่ขาว อนาลโย จึงได้ถามอาตมาว่า ท่านเพ็ง… เมื่อก่อนนั้นนะ ทำไมจึงต้องสึกออกจากพระล่ะ?

อาตมาก็ตอบท่านไปว่า มันหลงครับ หลวงปู่

อาตมายอมรับ มันหลงจริงๆ มันหลงตัว หลงตน หลงดี หลงเด่น หลงที่ไม่มีมูลความจริง เพราะเปิดประตูให้กิเลสขี่คอ ฉะนั้นเราต้องระวังให้มากๆ เรื่องนี้

๕๙. สนทนาโต้ตอบกับหลวงปู่ขาว อนาลโย

หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงคำสนทนากับหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งเกี่ยวกับเรื่อง ความหลง ต่อจากหัวข้อที่แล้ว ดังนี้

อีกครั้งหนึ่งที่ท่าน (หลวงปู่ขาว อนาลโย) เคยพูดกับอาตมาเมื่อคราวที่ไปหาท่าน นำดอกไม้ธูปเทียนเข้ากราบ อาตมาก็ได้พูดกับท่านว่า

“ขอให้หลวงปู่อยู่นานๆ นะหลวงปู่”

ท่านตอบว่า “เฮ้อ !…ใครมาก็อยากให้อยู่นานๆ ความจริงมันจะตายอยู่แล้วนะ”

อาตมาก็ไปอยู่กับท่าน ทำความสะอาดต่างๆ ภายในกุฏิท่าน นำกระโถนท่านไปเท ล้างน้ำ ท่านมายืนมองอาตมา ท่านได้ถามขึ้นว่า

“ท่านนี่มาจากไหน? “

“กระผมมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดครับ”

“มาอยู่กับใคร?”

“มาอยู่กับหลวงปู่บิดาผมครับ”

“บิดาของท่านคือใคร?”

“หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ครับ”

“อ๋อ… นี่หรือลูกชายของท่านบัว นี่หรือที่เขาลือว่าเทศน์ได้เก่ง คนนี้หรือ? นั่งภาวนาเป็นไหม?”

“หลวงปู่ครับ ถ้าผมภาวนาเป็นก็คงไม่ได้สึกออกไปหรอก”

“อ๋อ..ไม่น่าเชื่อนะ เจ้าสึกออกไปมีลูกกี่คน?”

“มี ๕ คนครับหลวงปู่”

“ช่างมันเถอะเนาะ ลูกกบลูกเขียดใครจะตัดหางให้มัน มันก็เป็นกบเป็นเขียดอย่างเดิม เราเองก็เหมือนกัน มีลูกตั้ง ๓ คน จึงเข้ามาบวช แต่เจ้าไม่เก่งเหมือนท่านบัวนะ ท่านบัวเป็นคนวิเศษ”

คุณดำรงค์ ภู่ระย้า ที่เคยนำเสนอบทสนทนานี้ในนิตยสารโลกทิพย์ ได้ให้ความเห็นดังต่อไปนี้

“พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ท่านมักจะรู้วาระจิตของผู้สนทนาดี ความจริงท่านรู้ แต่ท่านต้องการพิสูจน์จิตใจผู้ตอบมากกว่าปัญหาที่ถาม ว่าจะมีความจริงใจ มีสัจจะ มีศีลแค่ไหน ถ้าแม้ผู้ไม่รู้ถึงการณ์ บางทีอาจโกหก ปกปิดความจริงของชีวิตของตน เกรงจะเกิดความอายถ้าเรื่องต่างๆ แผ่ขยายออกไปตามหมู่ชน

พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นพระที่กล้าพูด กล้าต่อความจริง จึงตอบท่านไปตามตรง

ดังนั้น พวกเรานักปฏิบัติ ควรสังวรเรื่องนี้ให้จงหนัก”

๖๐. การภาวนาเป็นของง่าย ๆ

หลวงปู่เพ็ง ท่านมักจะเน้น จะสอนให้ภาวนาให้มาก ท่านพูดเรื่องการภาวนาอย่างนี้ : –

“การภาวนาเป็นของง่าย ง่ายอย่างไร? เพราะมันไม่เลือกเวลาไม่ต้องเสียเงินเสียของอะไร ทำได้ทุกกรณี

การภาวนานี่ทำไปเถิด จะยืน เดิน นั่ง นอน ยิ่งวิ่งภาวนาได้ก็ยิ่งดี เรานึก พุท-โธ ก็ได้ ใช่ว่าคำบริกรรมมีอยู่เท่านี้นะ เราทำงานอยู่จะทำงานอยู่ จะบริกรรมก็ได้ หรือจะพิจารณาร่างกายก็ได้ ขณะเท้าย่างก้าว เรากำหนดดูเท้าเราเคลื่อนไหวก็ได้ มือเรายื่นออกไปจับอะไรก็พิจารณามือ ซึ่งมีกระดูก เอ็น น้ำเลือด น้ำเหงื่อ อะไรก็ได้ เราพิจารณาได้ตลอดเวลา

คนอื่นมาพูดกับเรา เราพิจารณาเสียงก็ได้ อ้าปากจะพูด เห็นฟัน ก็พิจารณาฟันก็ได้ พิจารณาให้เกิดธรรมะขึ้นมา เอาสติกำหนดรู้จิตของเราตลอดเวลา

เขียนหนังสือก็พิจารณาตัวหนังสือก็ได้ เวลามันร่าเริงก็พิจารณามันลงไป สาเหตุของการเกิดความร่าเริง ถ้ามันยุ่งยาก เป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรขึ้นมา ก็พิจารณาทุกข์กับความยุ่งยากเหล่านั้นโดยปัจจุบันธรรมเลย อย่าปล่อยให้มันผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำจิตให้นิ่งแน่วแน่เป็นหนึ่ง ท่านเรียกว่าสมาธิภาวนา

พระพุทธเจ้าของเรา ทรงสอนเรื่องภาวนาเป็นส่วนมาก ท่านให้พิจารณา เพราะตัวพิจารณานี้เป็นองค์วิปัสสนาโดยตรงทีเดียว

ภาวนาไปเถิด อะไรที่มันเกิดขึ้นกับเรา พิจารณามันเรื่อยไป ขออย่างเดียว ทำอารมณ์ให้เป็นหนึ่ง อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

อย่างนี้เขาเรียกว่า ภาวนาเป็น

ภาวนาไม่เป็นล่ะ เป็นอย่างไร ?

คนที่ไม่ทำจิตเป็นหนึ่ง นั่งแล้วจิตฟุ้งส่งส่ายไม่อยู่กับอารมณ์ เที่ยววิ่งเข้ารกเข้าป่า วิ่งไปเปิด-ปิดประตู หน้าต่าง วิ่งไปดูตู้เซฟ มองดูเงิน นับเงินในตู้ เดี๋ยววิ่งเข้าครัว เดี๋ยววิ่งไปยังที่ทำงาน เดี๋ยววิ่งไปดูเมีย วิ่งไปดูผัวในสำนักงาน

วุ่นวายอย่างนี้นะ เขาเรียกว่า ภาวนาไม่เป็น ดีไม่ดีจะเป็นเปรตเอาเสียด้วย

การภาวนาไม่ต้องเลือกกาลเลือกเวลา ไม่ต้องมีพิธีรีตอง เมื่อสะดวกที่จะทำ ทำที่ไหนก็ได้ ทำได้ทุกอิริยาบถ ทำที่บ้านก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัด หรือทำต่อหน้าหลวงพ่อเท่านั้น

เวลามากรุงเทพฯ อาตมาจะได้ยินบ่อยๆ ว่า “หลวงพ่อเจ้าขาดิฉันไม่มีเวลาเลย ต้องทำงานตลอด บางทีวันเสาร์ อาทิตย์ ก็ไม่ค่อยได้หยุด คิดจะไปภาวนากับหลวงพ่อ ก็ได้แต่คิดเท่านั้น หาเวลาไม่ได้เลย คิดว่าสักวันหนึ่งคงมีโอกาสเดินทางไปที่วัดเทิงเสาหินและได้ภาวนาบ้างละ”

“หืย !…เหม็นขี้ฟัน ให้รอยุคพระศรีอาริย์เถอะพวกนี้”

๖๑. ข้อแนะนำการรักษาศีล

คุณดำรงค์ ภู่ระย้า แห่งนิตยสารโลกทิพย์ เคยไปกราบเรียนถามหลวงปู่เพ็ง ถามเกี่ยวกับการรักษาศีลสำหรับฆราวาสทั่วไป ได้เขียนบรรยาย ดังนี้

เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๖ ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นครั้งที่ ๓ ซื้อได้นมัสการแล้ว ผู้เขียน (คุณดำรงค์) ได้ถามปัญหาธรรมจากท่าน ลงท้ายก็ได้ถามเรื่องการรักษาศีลว่า

ฆราวาสโดยทั่วไปต้องมีภาระต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน ดังเช่นว่าข้าราชการ พ่อค้า ตลอดถึงกรรมกร หาเช้ากินค่ำ จะมุ่งรักษาศีลกันจริงๆ แล้ว เห็นเป็นการยากเหลือเกิน

ผู้เขียนจึงยกตัวอย่าง เช่น แม่ค้ามีสินค้าหลายชนิด แต่ละชนิดมีความประสงค์ที่จะขายให้หมด และในจำนวนสินค้าเหล่านั้น มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันอยู่ เมื่อมีผู้จะซื้อไปถามว่า ดีไหมของชนิดนี้ ผู้ขายต้องบอกว่าดี ทั้งๆ ที่รู้ว่าของที่ผู้ซื้อถืออยู่ไม่ได้ดีอะไรเลย ถ้าเป็นมะม่วงก็เปรี้ยว แต่ผู้ขายบอกว่าหวาน เป็นมะม่วงสวน รับรอง !

เหตุนี้เราจะทำอย่างไร? เราจะรักษาอย่างไร?

พระอาจารย์เพ็งท่านอธิบายว่า :-

“การรักษาศีลไม่ต้องเอามาก ให้รักษากันคนละข้อก่อน ใครจะเอาข้อไหน ใครจะรักษาข้อใดข้อหนึ่งก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเอาหมดทั้ง ๕ ข้อ ให้รักษาข้อเดียวก่อน ข้อใดที่ตนเองประพฤติผิด ล่วงละเมิดมากที่สุด เอาข้อนั้นรักษาให้ดี ตั้งสัจจะลงไปว่าจะไม่ทำ จะไม่ละเมิดอีก เอาให้จริง ไม่มีใครจะละเมิดทีเดียว ๕ ข้อพร้อมกันนะ ความจริงแล้ว ศีล ๕ มีอยู่ในตัวเองทุกคน แต่ว่าไม่รู้จักปฏิบัติ ไม่รู้จักศีลเท่านั้น”

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านพูดอยู่เรื่อยว่า “เอาพระเป็นพยาน แล้วก็มาโกหกพระอีก บอกว่าจะรักษาศีล พอกลับบ้านไปแล้วก็ละเมิดศีลที่ตนรับมา”

ศีล ๕ ข้อ ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ อะไรเป็นสัตว์ ไม่ฆ่าทั้งนั้น

ข้อ ๒ ไม่ลักทรัพย์ ขึ้นชื่อว่าของเขา เราไม่แตะต้อง

ข้อ ๓ ไม่ผิดลูกเมียใคร ตัวใคร อย่าไปข้องแวะ

ข้อ ๔ ไม่พูดปด ไม่โกหก มดเท็จ ตอแหล

ข้อ ๕ ไม่ดื่มสุราเมรัย เป็นเหตุให้ขาดสติ

ท่านให้เลือกเอา รับเอาก่อน ข้อใดก็ได้ เมื่อรักษาได้ข้อหนึ่งแล้ว บริสุทธิ์ผุดผ่องแล้ว ก็ค่อยไปรับข้อที่ ๒ มารักษาอีก เมื่อดีแล้วให้รับรักษาข้อที่ ๓ ต่อๆ ไป ไม่ช้าเต็มบริบูรณ์ มันก็บริสุทธิ์เท่านั้น

ข้อสำคัญต้องให้มีสตินะ เราจะทำอะไรผิด มีสติที่คอยเตือนซิว่า เจ้าอย่าทำผิดนะ อย่าล่วงละเมิดศีลข้อนี้นะ อย่างนี้

ได้ข้อหนึ่ง ข้ออื่นๆ มันก็ได้เอง บางทีไม่ได้คิดไว้ก็มาเอง ให้มีความตั้งใจจริง ไม่หนีที่จะสำเร็จได้แน่นอน

พระพุทธเจ้าของเราสอนให้ปฏิบัติ เราก็ต้องพยายามปฏิบัติซิน่า เรื่องศีลนี่ ยิ่งเป็นศีล ๒๒๗ ด้วยแล้ว พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ละเอียดทีเดียว จุดประสงค์ที่จะให้พระสงฆ์มีสติแก่กล้าในศีล ถ้าใครละเมิดก็เป็นโทษ มีบาป

พระพุทธเจ้าของเราชี้ให้เห็นอยู่แล้วนี่ รักษาศีลเป็นของดีมีความสุข ไม่รักษาศีล ละเมิดศีล เป็นบาปเป็นทุกข์ แล้วเราจะเลือกเอาของดีหรือ ของ ไม่ดี

แม่ค้าขายมะม่วงเปรี้ยวคนนั้นก็เหมือนกัน เรารู้ว่าเขาโกหกผิดศีลข้อ ๔ เราก็สอนให้เขารักษาซิ

สอนอย่างไร? ก็สอนด้วยวิธีไม่ซื้อ เมื่อไม่ซื้อเขา ของก็เหลือนานวันเขาก็เลิกหามะม่วงเปรี้ยวมาขาย เพราะเขารู้ว่าคนซื้อจับโกหกเขาได้ ต่อไปเขาก็หามะม่วงหวานมาให้เรา พอไปถามเขาใหม่ว่า มะม่วงหวานไหม? หวานค่ะ รับรองเลยคะ เอาดิฉันปอกให้ชิมเดี๋ยวนี้เลย

นี่แหละคนเรา เมื่อมีศีลอยู่ในจิตในใจแล้ว ความกล้าหาญ ความจริงใจ คำพูดคำจามันมีน้ำหนักมั่นคง ไม่หวั่นเกรงต่ออุปสรรคใดๆ

เพราะความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย มันจริงใจ เพราะต่างคนต่างมีศีล โลกเรานี้ก็สงบ

ปัจจุบันนี้ ทีวีมีข่าวลงหนังสือพิมพ์วุ่นวาย รบราฆ่าแกง ร้อยแปดพันประการ ก็เพราะไม่รู้จัก ศีล ไม่รักษาศีลนี่เอง พระผู้เป็นครูบาอาจารย์มากมาย เที่ยวสั่ง เที่ยวสอน ก็เพื่อให้มีศีลตัวนี้ มีศีลแล้ว สมาธิก็เกิดปัญญาก็บริบูรณ์_ เอาเท่านี้

๖๒. เดินธุดงค์ไปทำไม

เมื่อมีญาติโยมถามว่า ทำนพระป่าต้องเดินธุดงค์ เดินไปทำไมได้ อะไร ?

หลวงปู่เพ็ง ท่านตอบดังนี้

ประสบการณ์ชีวิตของอาตมา อาตมาอาจเล่าซ้ำนะ แต่ยิ่งซ้ำยิ่งแม่น พระพุทธเจ้าสอนสาวกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เห็นไหมล่ะ

ในสมัยก่อนนั้น มีแต่ความทุกข์ยากลำบากนะ ยิ่งดินแดนภาคอิสานด้วยแล้ว มันแห้งแล้งเหลือขนาด คนภาคอิสานนี่ก็มีความอดทนต่อสภาพเช่นนั้นได้

สมัยนั้น ทางรถทางเรืออย่าไปคิดให้วุ่นวายเลย จะไปไหนแต่ละทีนี่ต้องเดินเอง บางทีกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ๒ วัน ๓ วันก็มี ต้องลุกขึ้นตอนตี ๔ ออกเดินทาง ไปถึงจุดหมายก็มืดค่ำ ก็เป็นส่วนมาก ระยะทาง ๔๐-๕๐ กม. เริ่มชีวิตแต่ตอนอาตมายังเป็นเด็กอยู่ ไปเรียนหนังสือแต่ละครั้งที่อำเภอธวัชบุรีนะ ไปกลับสัก ๑๐ กม. เดินอยู่อย่างนั้น ๒ ปี

พอบวชเป็นพระแล้ว ออกธุดงค์จากบ้านเกิดไปตามสถานที่ต่างๆ ตามครูบาอาจารย์แนะนำ เดินทางจากบ้านไปปฏิบัติที่จังหวัดร้อยเอ็ด จากร้อยเอ็ดไปถึงจังหวัดมหาสารคาม ๑๒๐ กม. เดินเอา สมัยนั้นป่าไม้นี่เป็นดงดิบ ทั้งหนาทึบ

บางแห่งมองไม่เห็นแสงตะวันเลยในยามเที่ยง เดินไปตามทางมืดสนิทเลยนะ อาหารการกินไม่ต้องไปคำนึงถึงมัน อ่อนเพลียก็พักตรงนั้น บางที ๓ วัน ๔ วัน ไม่มีข้าวแม้แต่เม็ดเดียวตกถึงท้อง

แต่พระธุดงค์สมัยนั้นท่านก็อยู่ได้ เพียงภาวนาไปเรื่อยๆ ความกล้าหาญเป็นเยี่ยม สติสัมปชัญญะเป็นยอดเลย

เดินไปจนถึงบ้านหมี่ จ.มหาสารคาม จึงได้ฉันอาหาร ๑ หน

บางทีพระธุดงค์ทั้งหลาย พอเดินมาถึงหมู่บ้านก็เป็นเวลาบ่าย ๒ โมงบ้าง ๔ โมงบ้าง มันเลยกำหนดที่จะฉันแล้วนี่ ก็ไม่ต้องไปฉันมัน เดินต่อไป

ครูบาอาจารย์สอนมาว่า ไม่ให้รับอะไรในยามวิกาล บำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างเดียว

การเดินของเรา เรารู้ว่าเดินทำไม มันมีประโยชน์อะไรใช่ไหมล่ะ ?

ถ้ามันเดินแล้วไม่เกิดอะไรขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยเจ้าทั้งหลายก็ดี คงไม่ยอมรับและไม่โปรดข้อวัตรนี้แน่

พวกเราเป็นคนมีกิเลสหนา เลยต้องหาเวลามาขุด มาขัด มาถูล้างออกจากจิตใจของเราเสียบ้าง

เมื่อไปถึงจังหวัดมหาสารคาม ก็ไปพบพระอาจารย์บุญนาค แล้วท่านก็นัดไปพบกันที่ถ้ำพระเวส (อ.นาแก จ.นครพนม) เป็นการทดสอบน้ำใจของพวกเรากันเองว่า จะมีความอดทนต่ออุปสรรคได้มากน้อย เพียงไร

ชีวิตของอาตมานี่มันมีแต่ความสุขความสบายมาก อาตมาตอนที่เป็นฆราวาสอยู่ มีสมบัติมาก มีโรงสี ๒-๓ โรง เมื่อมีความสบายจนเคยตัว ก็ลองมาลำบากเสียบ้าง สมบัติมอบให้ลูกๆ เขา เราเข้าป่าแสวงหาโมกขธรรม หาทางพ้นทุกข์ ไม่อาลัยสมบัติที่เป็นของนอกกาย แม้ชีวิตของเราก็ยังไม่อาลัยเลย

ในขณะนั้นนะ อาตมาป่วยเสียก็มาก จะตายเสียก็หลายหน ขนาดหลวงปู่คำดี ปภาโส ท่านพูดว่า

“พระองค์นี้คงอยู่ไม่ยาวถึงเที่ยงนี้”

แต่มันยังไม่หมดกรรมนะ ยังทนอยู่จนบัดนี้

หลังจากนัดกับพระอาจารย์บุญนาคแล้ว อาตมาก็ออกเดินทาง ใครจะทักอย่างไรอาตมาไม่ฟังเสียง ขนาดโยมแม่ร้องไห้เลย เพราะอาตมาผอมมากนะ ผอมจนหลังติดกระดูกเลย โรคภัยมันเยอะ ไข้ป่า โรคท้องเดิน เชื้ออะไรต่างๆ มากมาย โรคเหน็บชา แขนขานี่ลีบเล็ก อาตมาไม่พะวงเลย

จิตใจของอาตมาได้ถวายให้พระพุทธเจ้าแล้ว ร่างกาย สังขาร ใครจะเอาไปทำอะไรอาตมาไม่สนใจ จะตายก็ช่าง ไม่ตายก็ช่าง

เดินธุดงค์มาจนถึงบ้านยอดแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์แล้วเข้าถ้ำพระเวส ไปภาวนาอยู่นาน

ออกจากถ้ำพระเวสแล้วออกเดินไปเรื่อยๆ ผ่านบ้านหนองปุ้น บ้านห้วยโป่ง พักอยู่นานเหมือนกัน

การปฏิบัติรุดหน้าแก่กล้าขึ้น จิตใจของอาตมานี่มันเบาอย่างบอกไม่ถูก การปฏิบัติก็เป็นไปง่ายๆ ที่ไหนมีความสุขสบาย หมายถึง ที่นั่นเป็นที่เรามีความชุ่มชื่นในกระแสจิต อาตมาก็อยู่นาน

นั่งทำใจเฉย สติกำหนดรู้สิ่งใดเข้ามากระทบ ก็นำมาพิจารณาลมนอก ลมใน อาการ ๓๒ รูปร่างสังขาร มันรู้ได้แจ้งชัด เมื่อรู้แจ้งอย่างนี้คิดว่า : –

“โอ ไม่เอาอีกแล้วชีวิต น่าเบื่อหน่าย ไม่อยากกลับมาเกิดอีกแล้ว มันไม่มีอะไรเลยจริงๆ มองดูแล้วปรากฏเป็นความว่างของจิตมันไม่รู้ร้อน รู้หนาวอะไร”

๖๓. ธุดงค์หลงทาง

หลวงปู่เพ็ง เล่าเรื่องเดินธุดงค์ต่อ หลังจากออกจากถ้ำพระเวสแล้ว

“วันต่อมาก็เดินขึ้นเขา ภูลูกนั้นมันสูงมาก เมื่อไปถึงก็แยกกันตรงนั้น ต่างคนต่างไป ข้ามเขาไปเลย พอไปสุดก็ไม่มีที่จะไปอีกแล้ว

พอดีอาตมาไปพบพวกชาวบ้านป่า เขาเข้าป่าไปหาของป่ามากิน ก็มีพวกหน่อไม้ หัวเผือกหัวมัน ล่าสัตว์ไป อาตมาก็ไปถามทางจากเขาว่า

“ทางจะไปนี้ยังมีอีกไหม ควรไปทางไหนดี”

เขาบอกว่า “ขอให้ผมกินข้าวเสียก่อน แล้วจะไปส่ง”

ชาวบ้านป่าคนนั้นเขาพาขึ้นไปบนเขา แล้วชี้ให้ดูว่า

“ถ้าพระอาจารย์ไปทางนี้ จะไปถึงหมู่บ้านภายใน ๗ วัน ถ้าไปทางนี้ก็ ๓ วัน แต่ถ้าบุกไปทางนี้ก็ถึงวันนี้”

มันไม่มีทางนี่ ก็เลยให้เขาพาไป เดินไปตามคลองช้าง มันเป็นทางของช้าง ขี้ช้างนี่นะทั้งใหม่ทั้งเก่าเลย ท้องฟ้านี่มองไม่เห็นเลย มันทึบเป็นป่าดงดิบไปตลอด

แต่ก่อน บ้านห้วยบง นี่มันจะมีอะไร แต่ก่อนนะมีแต่ป่าไม้เต็มพืดไปหมด เดี๋ยวนี้นะ ลองไปดูเถิด เป็นทุ่งนา มีบ้านมีเรือน สุดหูสุดตาเลย จะหาไม้ไม่ มีเลยนะเดี๋ยวนี้

๖๔. หมูป่าบนภูค้อ

หลวงปู่เพ็ง เดินธุดงค์ไปองค์เดียวไปอยู่บนถ้ำภูค้อ ท่านเล่าดังนี้

“หลังจากนั้นไป อาตมาก็ไปอยู่บนถ้ำภูค้อ อาตมาเข้าไปกราบพระอาจารย์สอน ไปฟังเทศน์จากท่าน แล้วท่านไล่อาตมาให้ไปปฏิบัติอีกทีหนึ่ง

อาตมาไปเดินจงกรม นั่งภาวนา ๓ วัน ๓ คืน ได้ธรรมะมากนะ จิตลงนิ่งสงบร่วมเป็นสมาธิ และก็ไปนั่งเชิงเขา

ตอนเย็นวันหนึ่ง ขณะที่นั่งจิตสงบอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงดังตุบ ๆ ๆ อาตมาสงสัยว่ามันเสียงอะไรกันแน่ ดังเป็นจังหวะๆ อยู่นาน

ปรากฏว่า ที่อาตมานั่งอยู่นั่นเป็นก้อนหินกลมๆ พอชะเง้อมองดูเบื้องต่ำลงไปอีกนิด ก็เห็นหมูป่าฝูงหนึ่ง ประมาณ ๕๐-๖๐ ตัว มันแตกตื่นอะไรมากไม่รู้ มันวิ่งมาแล้วกระโดดก้อนหินข้ามไป วิ่งต่อกันเป็นแถว

อาตมาภาวนาอยู่ที่นี่ ๓ วัน ไม่ได้ฉันข้าวเหมือนกัน”

๖๕. เรื่องอดอาหารระหว่างธุดงค์

หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงการอดอาหารในช่วงเดินธุดงค์ ท่านบอกว่าบ่อยมาก จนไม่รู้สึกแปลกอะไรเลย ดังนี้

“หลายต่อหลายครั้งนะ เรื่องไม่ฉันข้าวนี่ แต่มันก็อยู่ได้ บางพื้นที่ที่ไปอยู่ ชาวบ้านไม่ค่อยรู้จักประเพณีของพระ เวลาเขาได้อาหารมาจำพวกของขบฉันนี่ พอเขานำมา ก็ไม่ได้ถวาย ไม่ได้ประเคนเลย มาก็วางไว้ มาก็วางไว้ พอพระพวกอื่นที่เขาเคยอยู่มาก่อน พวกเห็น พอหิวก็ไปหยิบมาฉันกันเลย เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ

อาตมาเห็นแล้วไม่เอา ไม่ฉันด้วย ทำสมาธิภาวนาเฉย เดินจงกรมปลงสังขารตนเอง แล้วมานั่งต่อ พอหลายวันก็ค่อยออกบิณฑบาตสักครั้ง

วันหนึ่ง อาตมาเดินถือบาตรไปยังหมู่บ้านชายแดน เขาไม่รู้จักใส่บาตรกัน อาตมาเดินไปเรื่อยๆ ได้ก็เอา ไม่ได้ก็กลับที่พัก ภาวนาต่ออาตมาบุกเดี่ยวเข้าป่าเป็นส่วนมากนะ จะมีบางโอกาสเท่านั้นที่ไปคู่กับเพื่อนพระและสามเณร”

๖๖. กลัวสุดชีวิต แต่พิชิตสำเร็จ

หลวงปู่เพ็ง เคยรู้สึกกลัวเสืออย่างที่สุดในชีวิต แล้วท่านก็สามารถพิชิตความกลัวได้ตั้งแต่บัดนั้น

“ครั้งหนึ่ง อาตมากลัวเสือ เมื่อครั้งไปอยู่ถ้ำชะมด มีเขาลูกหนึ่งมันมีไหล่เขา อาตมาไปอยู่ที่นั่น พอปักกลดแล้ว ก็เดินจงกรม เสร็จจากการเดินจงกรม ก็มานั่งภาวนาในกลด พอตกกลางคืน อาตมาเกิดกลัวเสือ

กลัวชนิดออกจากกลดไม่ได้เลย มันเกิดความกลัวมากมายเหลือเกินในชีวิต

เพราะสัญญาเก่า ที่ปู่ย่าตายายเคยเล่าให้ฟังแต่ตอนเป็นเด็กมันเกิดขึ้นมาว่า ถ้าได้ยินเสียงคล้ายเสียงลมก็เป็นเสือแหละ ท่านว่าอย่างนี้

อาตมาได้ยินเสียงฉับ ๆ ๆ ตรงไหล่เขา ก็คิดว่า เอ๊ะ ! เสือละกระมังนี่ อาตมาออกจากมุ้งไม่ได้ อยากจะไปดูก็อยากนะ อยากเห็นเสือมันทำอะไรของมัน แต่ไม่ถอนกลดหนี นั่งในกลดทั้งคืน ตอนเช้ามาดูก็ไม่เห็น คิดว่ามันไปแล้ว

เป็นอย่างนั้น คืนที่หนึ่ง…คืนที่สอง…พอคืนที่สาม มาคิดว่าเอาเถิด ! ตายเป็นตาย ข้าไม่กลัว ถ้าจะกินก็กินเลย

อาตมาตัดสินใจ แล้วก็ออกจากมุ้งกลด แล้วเก็บมุ้งมัดติดกับด้ามกลด แขวนไว้ ไม่กางมุ้งเลยทั้งคืน อาตมาเดินจงกรมทั้งคืน ก็ได้รู้ว่า เสียงที่เราได้ยินนั้นเป็นเสียงลม ที่มากระทบกับเขา พัดกรวดทรายมันก็ดังละซิ ลมมันแรงนี่ เสียงก็ดัง

“อ๋อ ! นี่เรามันโง่ไปเอง กลัวแม้กระทั่งลม”

สัญญากิเลสนี้มันร้ายกาจ มันหลอกเราจนแทบไม่ได้ภาวนาหาธรรม

ตั้งแต่นั้นมา อาตมาไม่กลัวอะไรเลย หมดความกลัว การเดินธุดงค์ก็เป็นไปอย่างปกติ ไม่หวาดหวั่นกับภัยอะไรเลยแต่บัดนี้

๖๗. พูดถึงวัดเทิงเสาหิน เชียงราย

พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโมได้มาริเริ่มบูรณะวัดเทิงเสาหิน ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ตอนแรกยังเป็นสำนักสงฆ์อยู่ ได้รับอนุมัติให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ตามกฎหมายในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ใช้เวลานานถึง ๑๒ ปี

หลวงปู่ เล่าถึงการมาที่วัดเทิงเสาหิน

“ครั้งแรกก่อนจะมาอยู่วัดนี้ ได้มาพบกับพระอาจารย์ทอง เป็นหัวหน้าวิปัสสนา จำพรรษาอยู่วัดเมิงมาง เมื่อท่านมาเห็นอาตมาเข้า ก็ชวนกันมาสร้างวัดอยู่ที่นี่

พออยู่มา พระอาจารย์ทองได้ถูกหมู่พวกโจมตี ท่านก็ออกจากวัด ตัดความวุ่นวายหายไป อาตมาไม่ได้พบท่านอีกเลย

วัดนี้ท่านเจ้าคณะภาค คือท่านเจ้าคุณพระธรรมดิลกเป็นผู้ตั้งชื่อให้ เรียกสั้นๆ ว่า วัดเทิง ท่านว่ามันพูดง่าย จำง่ายดี”

(ท่านเจ้าคุณพระธรรมดิลก ท่านอยู่วัดเจดีย์หลวง ในเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ท่านได้รับพระราชทานสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏที่ พระพุทธพจนวราภรณ์ )

วัดเทิงเสาหิน อยู่ในตัวอำเภอเมืองเทิง มีเนื้อที่กว้างขวางถึง ๘๐ ไร่ สภาพเป็นป่า มีความร่มรื่น สงบสงัดเหมาะแก่การภาวนา

เนื้อที่วัดแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนใหญ่อยู่ด้านหน้า เป็นที่ตั้งของโบราณสถาน ศาลาอเนกประสงค์ วิหารพระเจ้าองค์ใหญ่ พระเจดีย์ และกุฏิพระสงฆ์ อีกส่วนอยู่ด้านหลัง เป็นเขตของแม่ชี

วัดเทิงเสาหิน ไม่ได้เน้นสิ่งปลูกสร้าง แต่เน้นการรักษาต้นไม้ อนุรักษ์โบราณสถาน และทำให้เป็นที่สงัดสำหรับการภาวนา

สำหรับวิหารและศาลา เน้นการสร้างเพื่อใช้ประโยชน์มากกว่าความสวยงาม กุฏิพระแต่ละหลังก่อสร้างด้วยไม้อยู่ห่างๆ กัน กระจายทั่วบริเวณ วัด

ผู้เขียนเคยนำหมู่คณะหาเจ้าภาพสร้างกำแพงรอบวัด ก่อด้วยศิลาแลงเพื่อดูให้กลมกลืนกับโบราณสถาน ทางวัดก่อสร้างไปสัก ๑๐๐ ช่องน่าจะได้ แต่…ไม่มีใครคาดฝันเลย เมืองเทิงถูกน้ำท่วม น้ำป่าไหลบ่ามาอย่างฉับพลัน กำแพงศิลาแลงถูกน้ำป่าพัดพังหายไปในพริบตา พวกเราได้แต่คิดในทางที่ดีว่า…เจ้าของเขาคงไม่อยากให้สร้าง ส่วนกำแพงที่พังก็พังไป เจ้าภาพไม่มีใครติดใจที่จะต่อว่า ผมก็เลยรอดตัวไป…สาธุ

ข้างหน้าวัด ติดกับถนน มีอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น ตั้งตระหง่านอยู่ เป็นอาคารหอสมุดประชาชนอำเภอ ซึ่งทางหลวงปู่ ได้พาคณะศิษย์สร้างให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของประชาชน รูปแบบอาคารใช้แบบของหอสมุดเฉลิมราชกุมารี บัดนี้ได้มอบให้เป็นสมบัติของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงราย เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งทางวัดได้บริจาคที่ดินรอบๆ หอสมุดประมาณ ๓ ไร่ด้วย

สภาพโดยรวม วัดเทิงเสาหิน จัดว่าเป็นวัดที่มีความสมบูรณ์และมีความมั่นคงเท่าที่วัดทั่วไปจะพึงมี การวิ่งเต้นบอกบุญเพื่อการก่อสร้างนั้นไม่มี นอกจากคณะญาติโยมจะจัดทอดกฐิน ทอดผ้าป่าตามโอกาสอันควร การจัดงานบันเทิง สนุกสนาน หรือจัดกิจกรรมหาเงินรับรองไม่มีโดยเด็ดขาด

หลวงปู่เพ็ง ท่านพำนักอยู่ที่วัดเทิงเสาหินติดต่อกันนานถึง ๒๒ ปี ตั้งแต่ พ ศ.๒๕๑๘-๒๕๔๐

ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ลูกหลานหลวงปู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดได้นิมนต์ให้ท่านกลับจังหวัดร้อยเอ็ด บ้านเกิดของท่าน ท่านจึงรับนิมนต์ ได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาสให้แก่ หลวงปู่พรหม สุพฺรหมฺญาโณ พระน้องชาย อายุ ๘๔ อ่อนกว่าหลวงปู่ ๓ ปี เป็นเจ้าอาวาส

แม้หลวงปู่จะย้ายไปจำพรรษาที่จังหวัดร้อยเอ็ดแล้วก็ยังได้รับนิมนต์ไปที่วัดเทิงเสาหิน ตามโอกาสสำคัญๆ อยู่เสมอ

๖๘. กลับร้อยเอ็ด ไปจำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัน

พระครูศิริหรรสาภิบาล (หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม) วัดป่าสามัคคีธรรม

หลวงปู่เพ็ง ย้ายไปพำนักที่จังหวัดร้อยเอ็ด บ้านเกิด ราวๆ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐

ที่ต้องใช้คำว่า “ราวๆ ” เพราะผู้เขียนไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน เนื่องจากในระยะหลังๆ นี้ หลวงปู่มีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้น มีผู้นิมนต์ท่านไปพักที่บ้านหรือที่สำนักต่างๆ มากขึ้น การมาพักที่บ้านของผู้เขียนจึงห่างๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ท่านมาพักที่ร้อยเอ็ด นานๆ จึงจะมีโอกาสไปพักค้างคืนสักวันสองวัน ส่วนใหญ่เมื่อท่านเข้ากรุงเทพฯ เพียงแต่โทรศัพท์ส่งข่าวไปที่บ้านแล้วบอกว่า “มาเที่ยวนี้บ่ได้ไปบ้านเด้อ” ท่านก็บอกว่าคนนั้นคนนี้นิมนต์ไป

หลวงปู่มาร้อยเอ็ดครั้งแรก ได้จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัน ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง อยู่ใกล้ๆ สนามกีฬาของจังหวัด หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ทราบว่ามีพระอยู่จำพรรษาด้วยหลายองค์ ส่วนหนึ่งเป็นลูกศิษย์ติดตามมาจากเชียงราย

ที่วัดป่าศรีไพรวันแห่งนี้ หลวงปู่เคยเป็นเจ้าอาวาสมาก่อน หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ บิดาของท่านก็เคยพำนักอยู่ที่วัดนี้ ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานองค์สำคัญๆ ที่เคยมาพำนัก ก็มี หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ศิษย์มือขวาของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต มีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่คำดี ปภาโส เป็นต้น แม้แต่หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย แห่งวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี ก็เคยเป็นเณรพำนักอยู่กับหลวงปู่ที่วัดนี้

ดังนั้นวัดป่าศรีไพรวัน จึงเป็นวัดธรรมยุติที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัด ร้อย เอ็ด

๖๙. ได้รับการต่อต้านที่รุนแรง

ผู้เขียนต้องขอสารภาพก่อน ว่าข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ในช่วงที่หลวงปู่มาอยู่จังหวัดร้อยเอ็ดนี้ ส่วนใหญ่ผู้เขียนไม่ได้พบเห็นด้วยตนเอง เพียงได้รับฟังต่อมาอีกทีหนึ่ง วัน เดือน ปี ที่เหตุการณ์เกิดก็ไม่ทราบชัดเจน เพียงแต่ประมาณเอา ดังนั้นข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนไปบ้างในเรื่องรายละเอียด แต่สาระสำคัญไม่น่าจะผิดพลาด

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากส่วนใดผิดพลาดคลาดเคลื่อนทำให้ผู้ใดเสียหายทั้งๆ ที่ไม่เป็นจริง ก็ขออภัยด้วย ถ้าท่านผู้ใดรู้เห็นว่าความจริงเป็นอย่างไร โปรดช่วยชี้แนะผู้เขียนได้เสมอ ทั้งชื่อ-ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ก็มีชัดเจนอยู่แล้ว จะได้นำเสนอสิ่งที่ถูกต้องในโอกาสต่อไป

ความจริงเรื่องที่ไม่ดีต่างๆ นั้น ผู้เขียนไม่อยากนำเสนอให้เสียบรรยากาศเลย แต่เป็นบันทึกเรื่องราวชีวิตของหลวงปู่ จึงพยายามทำเรื่องราวต่างๆ ให้สมบูรณ์ที่สุด

ถ้าเรามองในแง่ของธรรมะ ก็ต้องบอกว่าเรื่องร้ายต่างๆ นั้นเกิดขึ้นเพราะวิบาก และถ้ามารหรือปัญหาไม่มี บารมีก็ไม่เกิด เรื่องราวต่างๆ จึงถือเป็นธรรมอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี

ผมได้ยินมาว่า เมื่อหลวงปู่มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัน ท่านประกาศชัดเจนว่า สุรายาเมา การพนัน อบายมุข ตลอดจนการบันเทิงสนุกสนานและมหรสพต่างๆ ท่านไม่ให้มีในวัด จะให้มีแต่กิจกรรมด้านธรรมะด้านงานบุญ ให้สมกับที่เป็นวัดป่า วัดวิปัสสนากรรมฐานอย่างแท้จริง

ถ้าพิจารณาโดยความเป็นธรรม ก็น่าจะโมทนาสาธุ เพราะเป็นเจตนาที่ตรง ที่ถูกต้อง ของการจัดกิจกรรมในวัด เพราะจัดเป็นแหล่งบุญมิใช่แหล่งบันเทิง หรืออบายมุข

แม้สิ่งที่หลวงปู่ตั้งใจทำเป็นสิ่งที่ถูก แต่ก็มีการต่อต้านจากคนบางกลุ่ม เห็นว่า หลวงปู่ ทำผิดประเพณีที่ทางวัดเคยปฏิบัติกันมา เวลามีงานวัด จำเป็นต้องมีงานบันเทิงรื่นเริงด้วย ไม่งั้นคงไม่มีคำว่า “งานวัด” เป็นแน่

ความขัดแย้งทางความคิดจึงเกิดขึ้น แต่ยังไม่มีการแสดงออกที่ชัดเจน

ในส่วนที่ผู้เขียนเกี่ยวข้องโดยตรง เกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนพาคณะนำกฐินมาทอดเมื่อออกพรรษาในปีแรกที่หลวงปู่มาอยู่ พวกเราทอดกฐิน ๕ วัดในปีนั้น เรียงมาจากจังหวัดสุรินทร์ แล้วมาพักค้างคืนที่วัดป่าศรีไพรวัน พวกเราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี

พวกเราพักนอนในกลดบนศาลาใหญ่ ไม่มีมหรสพหรือการบันเทิงใดๆ มีการสวดมนต์ทำวัตร ฟังธรรม ปฏิบัติสมาธิภาวนาใครเหนื่อยก็นอน เหมือนๆ กันกับที่เราปฏิบัติในที่อื่นๆ ไม่ว่าไปทอดกฐินผ้าป่าที่ไหนเราก็ปฏิบัติอย่างนี้

ตอนเช้า มีการทอดกฐิน ขอกราบเรียนว่าเจตนาของการทอดกฐินครั้งนั้นเพื่อนำเงินไปสร้างห้องสมุดประชาชนที่วัดเทิงเสาหิน อ.เทิง จ.เชียงราย ที่คณะเราร่วมหาหุนก่อสร้างร่วมกับหลวงปู่ งานยังไม่เสร็จเรียบร้อยดีหลวงปู่ก็ย้ายมาร้อยเอ็ด พวกเราไม่ชอบให้มีการก่อสร้างที่ค้างคาอยู่ จึงตามมาทอดกฐินกับหลวงปู่

ผมประกาศเจตนานี้ชัดเจนต่อหน้าประชาชนที่มาร่วมทอดกฐินในวันนั้น พวกเราจัดการแบ่งเงินส่วนหนึ่งถวายเป็นค่าใช้จ่ายที่ทางวัดต้องใช้เพื่องานนี้ ผมจำไม่ได้แน่ชัด คงประมาณ ๑ หมื่นบาท ราวๆ นั้น แต่เงินส่วนใหญ่เกินแสนบาท ผมแจ้งแต่ตัวเลข ส่วนเงินนั้นผมโอนไปเข้าบัญชีวัดเทิง มีการแจ้งตัวเลขชัดเจน ทุกคนรับรู้ร่วมกัน และได้ให้สัญญาว่าปีหน้าคณะเราจะมาทอดกฐินเพื่อทำนุบำรุงวัดป่าศรีไพรวันโดยตรง และอาจต่อเนื่องหลายปีถ้าหลวงปู่อยู่

เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดเป็นประเด็นยกขึ้นโจมตีหลวงปู่ กล่าวหาว่าท่านยักยอกเงินกฐิน และเงินอื่นๆ ของวัด ทราบว่าที่วัดเองมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ยกพวกมาประท้วงใช้เครื่องกระจายเสียงขับไล่หลวงปู่ และได้ข่าวว่าหลวงปู่ท่านนั่งหลับตาฟังเขาด่าอยู่บนศาลา

ทางผู้เขียนได้รับหนังสือโจมตีหลวงปู่ ซึ่งพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ใบปลิวนั้นส่งไปตามวัดและชมรมปฏิบัติธรรมต่างๆ เห็นเขาว่าทั่วประเทศ รวมทั้งที่กรมการศาสนาด้วย

ต่อจากนั้น กระบวนการใบปลิวพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ก็มีการกล่าวหาหลวงปู่อย่างต่อเนื่อง คนที่เชื่อใบปลิวก็น่าจะมี ในส่วนของผู้เขียนเพียงแต่อ่าน แล้วก็ทิ้งไป ไม่มีความรู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าหลวงปู่ผิดจริง ท่านก็แก้เอง แต่ถ้าท่านบริสุทธิ์พวกที่กล่าวหาก็ต้องได้รับผลที่ตนเองทำ

ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากรองอธิบดีกรมการศาสนาซึ่งไม่ได้ใส่ใจรู้ว่าท่านผู้นั้นชื่ออะไร ให้เลขาท่านโทรไปก่อน แล้วตัวท่านรองอธิบดีก็ซักถามผมโดยตรง เกี่ยวกับเรื่องเงินกฐิน ผู้เขียนก็กราบเรียนตามที่เขียนข้างต้น ยืนยันว่าเจตนาเพื่อนำเงินไปสร้างห้องสมุดประชาชนที่จังหวัดเชียงรายที่ยังคั่งค้างอยู่ และสัญญากับที่วัดว่าปีหน้าจะนำกฐินมาทอดอีก เพื่อบำรุงวัดป่าศรีไพรวันโดยตรง

ท่านรองอธิบดีฯ ท่านนั้นบอกว่า “ถ้าอาจารย์ยืนยันเช่นนั้นเรื่องข้อกล่าวหานี้ก็เป็นอันยุติได้ ผมคงไม่ต้องสอบอะไรอีก”

๗๐. หลวงปู่ถูกถอดจากตำแหน่งเจ้าอาวาส

ผู้เขียนยังได้รับใบปลิวพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์เป็นระยะๆ เข้าใจว่าที่อื่นๆ ก็คงได้รับเช่นกัน ประเด็นโจมตีมีต่างๆ นานา ข้อหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีบ่อยขึ้น ถ้อยคำก็ยิ่งหยาบคายมากขึ้น ใช้คำแทนหลวงปู่ ว่า “ไอ้…” หรือ “บัก…” หรือ “มัน”

ข้อกล่าวหามีต่างๆ นานา นับตั้งแต่ได้เสียกับแม่ชี เป็นชู้กับเมียคนอื่น ยักยอกทรัพย์ หลอกลวงโลก ฯลฯ ผู้เขียนไม่เคยใส่ใจ ขอบคุณที่เขาส่งไปให้ ทำให้เราได้รู้ข่าวความเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ อ่านแล้วก็ฉีกทิ้งทุกฉบับ

พวกเราไม่ได้ยื่นมือมาช่วยหลวงปู่ใดๆ ทั้งสิ้น หลวงปู่ก็ไม่เคยพูดให้ฟัง ผู้เขียนทราบเรื่องจากใบปลิวคอมพิวเตอร์ และจากปากคำของลูกศิษย์ลูกหาบางคนเท่านั้น

จริงอยู่ เรารัก เคารพ และ ศรัทธาหลวงปู่ แต่เราไม่สามารถรับประกันความบริสุทธิ์ของหลวงปู่แทนท่านได้ ท่านมีปัญหา เจอวิบากท่านก็ต้องแก้เอง เรื่องบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์นั้นเจ้าตัวย่อมรู้ดี ตามคำพระที่ว่า สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ ทั้งหลวงปู่ และฝ่ายผู้กล่าวหา น่าจะรู้แก่ใจตัวเองดี

ผลปรากฏว่า หลวงปู่ถูกถอดออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัน

หลวงปู่ ย้ายออกจากกุฏิเจ้าอาวาส ไปอยู่กุฏิพระลูกวัดทันทีไม่มีลังเล

เวลาพบหลวงปู่ ท่านว่า “เออดี ไม่ต้องยุ่งกับใครภาวนาได้เต็มที่ ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ และค่าใช้จ่ายในวัดก็ไม่ต้องรับภาระ”

ได้ข่าวว่าทั้งโทรศัพท์ ไฟฟ้า น้ำ ถูกตัดหมด เนื่องจากวัดเป็นหนี้ และไม่มีใครรับผิดชอบ ท่านผู้รักษาการเจ้าอาวาสก็อยู่วัดอื่น

ผมไม่ทราบว่าทางวัดแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ได้ติดตามถาม

ลูกศิษย์บางคนขอนิมนต์หลวงปู่ไปอยู่ที่อื่นรวมทั้งทางเชียงราย ก็ขอนิมนต์ท่านกลับคืน และวัดไทยที่ออสเตรเลียก็นิมนต์ท่านไปจำพรรษาที่นั่นด้วย

ที่ออสเตรเลียทราบว่าหลวงปู่ ไม่ผ่านการตรวจโรค เนื่องจากน้ำหนักน้อย อาจทนความหนาวไม่ไหว วีซ่าจึงไม่ผ่าน ลูกศิษย์จะหาทางให้แต่ท่านไม่ยอม

หลวงปู่ปฏิเสธไม่ยอมย้ายไปไหน ถ้าปัญหาที่เกิดตรงนั้นยังแก้ไม่จบ

ท่านว่าอยู่ตรงนั้น เป็นพระลูกวัดสบายดี ไฟไม่มี น้ำไม่มี โทรศัพท์ไม่มี ไม่เดือดร้อน ออกธุดงค์ลำบากกว่านี่หลายร้อยเท่า

หมายเหตุ: คำสั่งถอดถอนหลวงปู่ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสก็ถูกส่งสำเนาแจกไปทั่วเหมือนกัน

๗๑. ถูกตำรวจออกหมายจับ

ช่วงนี้ผู้เขียนไม่ค่อยได้ติดต่อหลวงปู่เพราะท่านไม่มีโทรศัพท์และลูกศิษย์ลูกหารายอื่นรับท่านไปพักบ้านเวลาท่านเข้ากรุงเทพฯ นานๆ หลวงปู่จะโทษไปส่งข่าวพวกเราที่บอกเพียงว่า “หลวงปู่มากรุงเทพฯ บ่ได้ไปบ้านเด้อ สบายดีกันทุกคนเนาะ”

ไม่ทราบว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ทราบแต่ว่าหลวงปู่ย้ายไปอยู่วัดอรุณวิเวกธรรมาราม (วัดป่าบ้านแจ้ง) ตำบลและอำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด และหลวงปู่สุขภาพดี เป็นวัดเล็กๆ อยู่ริมลำน้ำ สถานที่ สงบ ภาวนาดี (เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๔ พวกเราเอากฐินไปทอดที่วัดนี้ รถบัสของเรา ๑ คัน ติดหล่มในวัดอยู่ตั้งหลายชั่วโมง)

ใบปลิวเที่ยวนี้มาแปลก เป็นหมายจับจากตำรวจข้อหาหลวงปู่เพ็งยักยอกรถของวัดป่าศรีไพรวัน และตำรวจไปยึดรถจากวัดป่าบ้านแจ้งไปไว้ที่โรงพัก

หมายจับเป็นของจริง รถถูกยึดไปไว้โรงพักจริง ตำรวจไปที่วัดจะจับหลวงปู่จริง

หลวงปู่ ยินยอมให้จับ บอกตำรวจว่า “พวกสูอยากจับก็จับไป อาตมาจะเอากลดไปปักที่หน้าโรงพักเอาให้ดังไปเลย” แต่ตำรวจก็ไม่จับ

ผู้เขียนได้ข่าวว่าภายหลังตำรวจต้องไปขอขมาหลวงปู่ ซึ่งท่านก็อโหสิกรรมให้ จบเรื่องกันไป

เกี่ยวกับเรื่องรถนั้น คุณยายท่านหนึ่งในร้อยเอ็ดได้ถวายรถเก่าให้หลวงปู่ไว้ใช้ตอนที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัน ทางลูกศิษย์หลวงปู่ก็ไปทำสติกเกอร์ชื่อวัดติดที่ตัวรถ ตามแบบที่วัดทั้งหลายนิยมกัน พอหลวงปู่ท่านย้ายไปอยู่วัดป่าบ้านแจ้ง รถคันนี้ก็ตามไปอยู่กับท่านด้วย สติกเกอร์ชื่อวัดป่าศรีไพรวัน ก็ยังติดอยู่ที่ตัวรถ

มีผู้แจ้งความ แล้วตำรวจตามไปยึดรถตามที่มีผู้แจ้ง คงไม่เจอรถกับไม่พบหลวงปู่ จึงออกหมายจับหลวงปู่ด้วยข้อหายักยอกรถของวัดดังกล่าว

หมายจับก็ถูกถ่ายสำเนาส่งไปตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศเช่นเคย

ทุกอย่างเข้าล็อกหมด หลายๆ คนแคลงใจสอบถามไปทางผู้เขียน ผู้เขียนก็ตอบได้เพียงคำว่า “ไม่ทราบ” เท่านั้น เพราะไม่ได้อยู่และไม่ได้เห็นเหตุการณ์

ข่าวที่ได้ภายหลัง ทราบว่าเจ้าของผู้ที่ถวายรถยืนยันว่า “ถวายไว้ให้หลวงปู่ใช้ เพราะศรัทธาหลวงปู่ ท่านจะเอาไปใช้ที่ไหนก็ได้”

ทั้งหมดนี้เป็นข่าวที่ผู้เขียนได้รับรู้มา จริงเท็จอย่างไรไม่ยืนยัน

เมื่อวันที่ผู้เขียนมาส่งศพหลวงปู่ที่วัดป่าสามัคคีธรรม ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ก็มีโยมจากรุงเทพฯ ท่านหนึ่ง ฝากเงินกับผู้เขียนมาหมื่นกว่าบาท บอกว่าให้ทางวัดเปลี่ยนยางล้อรถทั้ง ๔ ล้อ จะได้ไว้ใช้ในงานของหลวงปู่ ไม่ทราบว่าเป็นรถคันนั้นหรือเปล่า ?

๗๒. เขาว่าหลวงปู่ให้หวยแม่น

เขียนเรื่องหนักๆ มา ๒-๓ ตอน ขอเปลี่ยนเป็นเรื่องเบาๆ บ้าง

เรื่องเกิดมาหลายปีแล้ว ตอนสมัยที่ท่านหลวงตาจันทร์ วัดป่าชัยรังสี จังหวัดสมุทรสาคร กำลังดังอยู่

หลวงปู่เพ็ง ท่านไปพักที่บ้านผม โปรดญาติโยมตามปกติ ที่ท่านเข้ากรุงเทพฯ การสวดมนต์ทำวัตรและนั่งสมาธิภาวนาในคืนนั้นเสร็จแล้ว หลวงปู่ กับพระติดตามขึ้นห้องพักแล้ว แขกที่มาแยกย้ายกันกลับหมดแล้ว ผมนั่งทำงานของผมอยู่

เวลาคงราวๆ ๔ ทุ่ม เสียงโทรศัพท์ก็ดัง มีเสียงผู้ชายพูดสำเนียงออกจีน ถามว่า

“หลวงปู่เพ็ง พักที่บ้านอาจารย์ใช่ไหม?..หลวงปู่เป็นอาจารย์ผม แต่ผมยังไม่เคยพบหน้าท่านเลย ท่านให้หวยแม่นมาก ผมตามหาท่านมา ๓ ปีแล้ว !”

ผม (ผู้เขียน) งงมาก ถามกลับไป

“คุณไม่เคยพบหลวงปู่เลย ทำไมจึงบอกว่าเป็นอาจารย์ของคุณ และทำไมจึงว่าท่านให้หวยแม่น?”

คำตอบที่ได้คือ “ผมฝันเห็นท่านบ่อย ฝันเห็นทีไรถูกหวยทุกที ผมจึงนับถือท่านเป็นอาจารย์”

แล้วเขาก็แนะนำตัว ว่าเขาเป็นคนสิงคโปร์ มาได้เมียคนไทยเป็นเจ้าของบริษัทค้าวัตถุโบราณ เขาชอบแทงหวยใต้ดินมาก เขาเป็นนักเล่นหวยมืออาชีพด้วย

ผมขอคำอธิบาย เขาก็เล่าว่า เขาหย่ากับเมีย กลางคืนอยู่คนเดียว ก็มาคิดสูตรหาตัวเลขเด็ดทุกคืน เขาไม่มีปัญหาเรื่องการเงินลูก-เมียไม่มี จึงซื้อหวยได้เต็มที่ ถ้าได้เลขเด็ดๆ เลขละล้านบาทก็กล้าซื้อ ถูกผิดไม่สำคัญ ถ้าซื้อมากก็ได้ลุ้นสนุกในวันหวยออก !

แล้วเขาก็ขอมากราบหลวงปู่ที่บ้านผม เย็นวันรุ่งขึ้น เขามาตามนัด เขารู้ว่าหลวงปู่ท่านคุ้นเคยกับหลวงตาจันทร์ จึงขอให้ท่านพาไปกราบ ผมไปด้วย นั่งรถของเขาไป

ไปถึงวัดเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ท่านหลวงตาอยู่กุฏิชั้นใน เคี้ยวหมากปากแดงแจ๋ มีโยมทั้งชายหญิงดูท่าทางระดับ วี.ไอ.พี. ๗-๘ คน นั่งข้างหน้าหลวงตาเรียงกันเป็นรูปครึ่งวงกลม หลวงตาถือแบบแปลนก่อสร้างอยู่

หลวงตาท่านพูดถึงงานก่อสร้างของท่านสลับกับถามโยมที่มาว่าต้องการอะไร จะให้ท่านช่วยอะไร ใครที่ถูกชี้ก็บอกความต้องการของตนไป

ช่วงที่ผมตื่นเต้นและขัดเคืองใจที่สุดก็ตอนที่หลวงตาท่านทักไอ้เจ้านักเล่นหวยมืออาชีพที่ไปกับเราว่า

“เอ้าโยม มากับหลวงพ่อ กับดอกเตอร์หรือ มีอะไรจะให้ช่วยว่ามา”

เจ้าหมอนักเล่นหวยคุกเข่าประนมมือ พูดเสียงดังฟังชัดด้วยประโยคสั้นๆ ว่า

“ผมมาขอหวยครับ”

ทุกคนมองเจ้าหมอนั่นด้วยแววตาตำหนิว่าไม่รู้จักกาลเทศะ

หลวงปู่ หัวเราะหึๆ ในลำคอ ผมรู้สึกขัดเคืองใจ และอายแขกเหล่านั้นมาก

ท่านหลวงตายกมือแบไปข้างหน้าในเชิงปฏิเสธแล้วพูดเสียงดังกึ่งตกใจว่า

“เฮ้ยไม่มี ถ้ามีก็ซื้อเองแล้ว”

เจ้าหมอนั่นแสดงอาการตื่นเต้นดีใจ ก้มกราบหลวงตาอย่างซาบซึ้ง พูดว่า

“ขอบพระคุณมาก ผมกราบลาท่านแล้วครับ”

มันชวนพวกเรากลับ ผมต้องยอมกราบลาหลวงตากึ่งงง กึ่งไม่พอใจ เดินตามมันออกมา หมายจะต่อว่ามันให้สมแค้น หลวงปู่ท่านสีหน้าปกติหัวเราะในลำคอ หึๆ แค่นั้นเอง

พอออกถึงข้างนอก ไอ้หมอนั่นมันชิงพูดก่อน ดูท่าทางชื่นชมหลวงตาเหลือเกิน มันบอกว่า

“หลวงตานี่ใจนักเลงจริงๆ เมตตาสูง ผมขอเลขปั๊บ ท่านก็ให้ปุ๊บเลย ผมศรัทธาท่านจริงๆ“

ผมนอกจากแค้น และอายแล้ว แถมงงเข้าไปอีก ! จนพูดออกกู-มึง อย่างจงใจว่า

“ท่านให้ตัวเลขมึงเมื่อไหร่วะ กูเห็นแต่ท่านดุมึง !”

มันพูดอย่างอารมณ์ดี แถมดูถูกเราด้วยว่า

“อาจารย์ไม่สังเกต ท่านบอกว่าที่นี่มี คือ เลขศูนย์ ท่านกางฝ่ามือมาข้างหน้า เหยียดนิ้วออกคือ เลขห้า ตัวท่านเองเป็นพระที่ยังหนุ่มต้องเลขแปด ถ้าเป็นพระแก่ต้องเลขเก้า

เอากับมันซิ ! สมกับเป็นนักเล่นหวยมืออาชีพจริงๆ แม่นหรือไม่แม่นผมมิได้สนใจติดตาม

เจ้าหมอนั่นขับรถมาส่งผมที่บ้าน นิมนต์หลวงปู่ไปค้างที่บ้านของมันแถวถนนสุรวงศ์ หลวงปู่คุยอะไรกับมัน หรือให้เลขหวยมันหรือไม่ผมไม่มีทางรู้ได้

หลังจากที่หลวงปู่ท่านกลับวัดไปแล้วได้สัก ๔-๕ วัน เจ้าหมอนักเล่นหวยก็โทรไปหาผม รายงานว่า

“หลวงปู่ ท่านสอนผมหลายอย่างที่มีคุณค่าที่สุดคือ ท่านบอกว่า ผมเป็นคนโชคดีและมีบุญที่เป็นคนร่ำรวยเป็นโอกาสดีที่จะได้ใช้ความรวยสร้างบุญให้มากขึ้น ท่านสอนให้ผมรู้จักทำบุญ และฝึกให้ผมนั่งสมาธิ ผมไม่เคยทำแบบนี้มาก่อนเลย ใจสงบและเป็นสุขดีมาก”

ถัดจากนั้นอีก ๒ เดือน มันโทรไปหาผมอีกครั้งเล่าเรื่องไปทำบุญ และบอกว่าเดี๋ยวนี้มันไปนั่งสมาธิที่วัดหลวงพ่อสด ที่อำเภอดำเนินสะดวก ราชบุรี-สาธุ

เรื่องหวยมันบอกว่าเลิกเล่นตั้งแต่วันที่หลวงปู่ไปค้างที่บ้านมัน จากนั้นมันและผมไม่เคยติดต่อกันอีกเลย

ถ้าเจอมัน ผมจะถามให้หายสงสัยว่า ไอ้เลข ๐๕๘ งวดนั้นมันได้กิน หรือถูกกิน?

จนบัดนี้ผมก็ยังไม่หายงง !

๗๓. เล่าเรื่องหวยอีกที

ไหนๆ พูดเรื่องหวยแล้ว ขออนุญาตพูดถึงอีกสักตอนก็แล้วกันกับขออนุญาตหลวงปู่ด้วยครับ

เรื่องหวยทั้งเถื่อนและไม่เถื่อนดูจะเป็นเรื่องธรรมดาในวิถีชีวิตของคนไทย (ไม่ใช่ทุกคน) และมักจะไม่พ้นมีพระสงฆ์มามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ในฐานะเป็น “ที่ปรึกษา”

ตัวอย่างเช่น หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด นครราชสีมา มีข่าวว่าคนชอบไปขอหวยท่านเหมือนกัน ราวกับท่านรู้ล่วงหน้า เขียนใส่กระดาษไว้ให้เรียบร้อย เคาะหัวให้คนละโป็กตามธรรมเนียม กำชับว่า

“ให้พวกมึงไปเปิดดูเองที่บ้านเด้อ”

คำสั่งหลวงพ่อถือเป็นประกาศิต ไปเปิดดูที่บ้าน ท่านเขียนให้อย่างชัดเจนว่า

“กูก็ไม่รู้เหมือนกัน”

งวดนั้นคงจะมีคนถูกหวย รวยกันเละแน่นอน !

เรื่องของหลวงปู่เพ็งก็มีเหมือนกัน สามารถระบุอ้างอิงพยานบุคคลได้ด้วย แต่ข่าวไม่ดังเหมือนหลวงพ่อคูณ

สัก ๔-๕ ปีมาแล้ว หลวงปู่ ได้รับนิมนต์ไปเทศน์ที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง อยู่ย่านบางกะปิ เทศน์ให้ครูฟังและขอให้หลวงปู่ทำน้ำมนต์ ประพรมเพื่อเป็นศิริมงคลด้วย มีคนขอดูบาตรน้ำมนต์หลวงปู่ ข่าวว่าพวกเขาเห็นหยดเทียนไข เรียงตัวเป็นตัวเลขฝรั่งสองหลัก แล้วมีข่าวต่อไปว่า

“ครูถูกหวยงวดนั้นแทบทั้งโรงเรียน”

เท่านั้นยังไม่พอ ที่บ้านของผม ก็เคยขอให้หลวงปู่ประพรมน้ำมนต์ให้ ท่านก็ลงมือบริกรรม ทำน้ำมนต์ให้ในเวลานั้น ผมเองนึกสนุกขึ้นมา กระเซ้า คุณป้าเลียบ ว่าไม่ขอดูหยดน้ำตาเทียนในบาตรหรือ? คุณป้าเลียบก็กะย่องกะแย่งลุกขึ้นดู ผมเองก็พูดเล่นๆ ว่า

“เห็น ๓๕ ใช่ไหมป้า?”

เหลือเชื่อครับ งวดนั้นออก ๓๕ บนหรือล่างก็ไม่ได้ใส่ใจจำ รู้แต่ว่าบางคนถูกหวย และไม่พลาดไปจากคุณป้าเลียบ แฟนประจำ

คนไหนคือป้าเลียบเชิญดูเอาเอง

ขออภัยที่ยกตัวอย่างคุณป้าเลียบมาเป็นพยานบุคคล ไหนๆ ยกขึ้นมาแล้วก็ “เผา” ให้เรียบร้อยเลยด้วยความรักคุณป้าเลียบ เป็นอย่างยิ่ง

คุณป้าเลียบท่านซื้อหวยบ้างนิดๆ หน่อยๆ ตามประสาคนใจบุญ ถือเป็นการช่วยเหลือรัฐบาล และส่งเสียเงินทองช่วยให้เจ้ามือหวยได้ประกอบกิจการได้

คุณป้าเลียบมีดวงสมพงษ์กับหลวงปู่ของเราพอสมควรในเรื่องหวย แกก็ถูกของแกเรื่อยทั้งปีโดยเฉพาะเวลาเจอหลวงปู่ ไม่ว่าจะในฝัน หรือเจอองค์จริง คุณป้าแกมักโชคดี พอได้ถือเงินแก้อาการมือคันไม้ได้บ้าง

เช่น คุณป้าเลียบ ถามว่า “หลวงปู่อายุเท่าไรเจ้าคะ ?

หลวงปู่หัวเราะหึๆ ตามแบบของท่าน

“โอย…อายุเท่าไรไม่สำคัญหรอก ว่าจะอยู่สัก ๒๐๐ ปี”

เท่านั้นเองได้เรื่อง เย็นหลังวันหวยออก คุณป้าเลียบ ท่านกะย่องกะแย่งหิ้วถุงเป็ดพะโล้น่ากินมาให้พวกเรา พวกเรามัวแต่งงกับรสชาติอร่อยของเป็ดและลืมถามคุณป้าแกว่า

“เอาเป็ดมาให้เราในโอกาสอะไร?”

ขอยกหลักฐานมา “เผา” คุณป้าเลียบ ต่อ

คุณป้าเลียบ ท่านไปทอดกฐิน-ทอดผ้าป่ากับพวกเราเป็นประจำ แล้วก็สนใจยอดเงินทำบุญอย่างมาก ขากลับพวกเราได้เป็ดพะโล้กินบ่อยๆ กลับจากทอดกฐินที่วัดหลวงปู่ที่เพียงราย เราก็ได้กินเป็ดพะโล้อีก

ทนไม่ได้ ต้องถาม ! คุณป้าเลียบ บอกว่า

“ก็ถูกหวยนิดหน่อย”

มีคนถามว่า “บน หรือล่าง?”

คุณป้าตอบว่า “บนซิ..เพราะอาจารย์ประกาศยอดเงินทำบุญบนรถ ! ! !”

ยังอีกครับท่าน-หลวงปู่ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ อายุท่านย่างเข้าปีที่ ๘๘

หวยงวดวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ออก ๐๘๘ บนหรือล่าง ผมสารภาพว่าโง่มากในเรื่องนี้

สิ่งที่ค้างคาใจผมอยู่ คือ ในงวดนั้นคุณป้าเลียบยังติดค้างเปิดพะโล้ผมอยู่นะครับ

หมายเหตุ: กราบขออภัยคุณป้าเลียบด้วย ถ้าหากเรื่องนี้ทำให้ป้ากลายเป็นดาราโด่งดังไป ผมช่วยไม่ได้จริงๆ

๗๔. หลวงปู่พ้นวิบาก

ในช่วงหลังๆ นี้หลวงปู่ท่านเพลากิจนิมนต์ลงไปเยอะ พวกลูกศิษย์ลูกหาก็อยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะหลวงปู่มีอายุถึง ๘๕ ปีแล้ว แม้ร่างกายท่านดูแกร่ง สุขภาพดี ผิวพรรณผ่องใส แต่พวกเราก็ไม่อยากให้ท่านเดินทางมาก รวมทั้งไม่อยากให้ท่านต้องรับภาระมาก

เรื่องการต่อต้านโจมตีหลวงปู่ก็ดูจะหายไป “ใบปลิวคอมพิวเตอร์” ก็หายไป ผมไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวโดยตรง เพียงได้รับข่าวว่า ทางท่านเจ้าคณะภาค ท่านได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน บอกว่าหลวงปู่ท่านไม่มีความผิด และรอการแต่งตั้งให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวันตามเดิม

ทางด้านคู่กรณีก็ได้รับการลงโทษตามสมควรแก่เหตุที่ตนมีส่วน เป็นใครบ้างผมไม่ทราบ และไม่ต้องการที่จะทราบ เพียงแค่ดีใจที่เรื่องร้อนๆ ร้ายๆ สงบลง

ผมยังเสียดายอยู่นิดหนึ่ง ที่มือคอมพิวเตอร์ท่านนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ของท่านให้ตลอด ท่านส่งใบปลิวโจมตีหลวงปู่ทั่วประเทศ แต่พอเรื่องจบลงท่านไม่ยอมส่งใบปลิวไปชี้แจงแก้ข่าวให้ แต่พวกเราก็ไม่ได้ผูกใจเจ็บอะไร ต่างอโหสิกรรมให้แก่กันและกันไปก็แล้วกัน

ผมไม่รู้จักพวกท่านเหล่านั้น แต่พวกท่านเหล่านั้นต้องรู้จักผม ถ้าพบกันขอให้ทักทาย และร่วมมือทันสร้างบุญสร้างกุศล ทะนุบำรุงศาสนาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ทางด้านหลวงปู่ท่านก็ไม่ได้สนใจที่จะชี้แจงแก้ข่าวแต่ประการใด ท่านย้ำเสมอว่า

“สุทธิ อสุทธิ ปจฺจตฺตํ เราจะบริสุทธิ์หรือไม่ รู้แก่ใจเราเอง ใครจะเข้าใจถูกหรือผู้ดีไม่ได้ช่วยรับประกันความบริสุทธิ์ของเราได้ ”

อีกอย่าง ผมขอยืนยันว่า หลวงปู่เพ็ง ท่านไม่สนใจว่าจะมีคนมากราบท่านหรือไม่ก็ตาม ท่านยังมั่นคงกับคำพูดของท่านว่า “ธรรมะไม่ต้องเชิญชวน ไม่ต้องง้อใคร ใครมีบุญ ใครสนใจ ก็เข้ามารักษาเอาเอง มาภาวนาเอาเอง แล้วจะได้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเอง”

หมายเหตุ ในคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต) ที่ ๕/๒๕๔๔ เรื่อง ให้พระสังฆาธิการกลับดำรงตำแหน่ง สั่งว่า :-

“จึงให้พระครูสิริหรรษา๓บาล (เพ็ง พุทฺธธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัน ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด กลับดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัน ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑๙ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔

ลงนามโดยเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต)

๗๕. สร้างวัดขึ้นใหม่อีกสองแห่ง

แม้หลวงปู่จะผ่านพ้นเรื่องร้ายๆ ไปแล้ว รอคำสั่งแต่งตั้งให้กลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัน และญาติโยมกลุ่มที่ศรัทธาหลวงปู่จะนิมนต์ให้ท่านกลับไปที่เดิมก็ตาม แต่ท่านก็มิได้ตอบรับหรือปฏิเสธ

ขณะเดียวกันก็มีผู้บริจาคที่ดินขอให้ท่านสร้างวัดให้เป็นวัดสายปฏิบัติ หรือวัดป่า ได้ยินว่ามีถึง ๔ แห่ง แต่ท่านรับไว้เพียง ๒ แห่ง เพราะกำลังพระ-เณรมีไม่พอ

ในปี ๒๕๔๓ เป็นต้นมาหลวงปู่จึงดูแลอยู่ ๓ วัด คือ

  1. วัดอรุณวิเวกธรรมาราม (วัดป่าบ้านแจ้ง) ต.จังหาร อ.จังหาร จ ร้อยเอ็ด เป็นวัดเก่า มอบหมายให้ ครูบาวีระโชติ ติสฺสวงฺโส เป็นพระผู้ดูแล มีพระ ๔-๕ องค์
  2. วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์ หมู่ ๑๐ ต.นาโพธิ์ อ.เมืองร้อยเอ็ด เป็นสำนักสงฆ์เพิ่งเริ่มก่อตั้ง หลวงปู่ ท่านมาพักจำพรรษาที่นี่ พร้อมพระลูกวัด ๗-๘ องค์
  3. วัดป่าสิริปุณโณ (วัดป่าบ้านฝาง) ต.บ้านฝาง อ.เกษตรวิสัย จ ร้อยเอ็ด เป็นสำนักสงฆ์เพิ่งเริ่มก่อตั้ง มีพระจำพรรษา ๔-๕ องค์ หลวงปู่มอบหมายให้ ครูบาอมริทร์ กนฺตสีโล เป็นผู้ดูแล

การเริ่มต้นก่อตั้ง วัดป่าสามัคคีธรรม กับ วัดป่าสิริปุณโณดำเนินไปค่อนข้างเร็ว หลวงปู่ ท่านบอกว่า เมื่อตอนอยู่เพชรบูรณ์ ภาวนาอยู่ปีหนึ่งได้แค่กระต๊อบหลังเดียว

กุฏิพระที่วัดป่าสามัคคีธรรม

ผู้นำและประชาชนในหมู่บ้านทั้งสองแห่ง มีความกระตือรือร้นและสนับสนุนการสร้างวัดดีมาก แสดงความเป็นหมู่บ้านคนใจบุญออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด

ที่วัดป่าสามัคคีธรรม มีผู้ถวายบ้านเก่าให้ หลวงปู่จึงได้รื้อถอนนำไม้มาปลูกเป็นกุฏิหลวงปู่ เป็นเรือนไม้หลังเล็กๆ ๒ ชั้นปลูกสร้างศาลาปฏิบัติธรรมอเนกประสงค์ พอได้อาศัย ใช้เป็นที่สวดมนต์ทำวัตร ที่ฉันภัตตาหาร สอนสมาธิภาวนา จัดกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ตลอดจนเป็นที่พักของญาติโยมที่มาวัด สร้างกุฏิเล็กๆ ๔-๕ หลังพอให้พระได้อาศัย นอกนั้นมีโรงครัว ที่เก็บข้าวของต่างๆ และ ห้องน้ำห้องสุขาสำหรับญาติโยม นับว่าวัดมีความพร้อมพอประมาณในการประกอบศาสนกิจและเป็นที่พักอาศัยสำหรับพระสงฆ์

ส่วนที่วัดป่าสิริปุณโณ เห็นว่ามีศาลาสร้างชั่วคราวอยู่หลังหนึ่ง กับกุฏิชั่วคราวสำหรับพระสงฆ์อยู่ ๒-๓ หลัง สร้างขึ้นในป่าอยู่ห่างๆ กัน ผู้นำและประชาชนที่นี่แสดงความกระตือรือร้นและสนับสนุนการสร้างวัดเป็นอย่างดี หวังว่าจะกลายเป็นวัดวิปัสสนากรรมฐานที่น่าสนใจวัดหนึ่งในอนาคต

แม้หลวงปู่เพ็ง ท่านจะย่างเข้าวัย ๘๕ ปีกว่าก็ตาม ท่านยังเดินทางไปดูแล อบรมพระเณร และฆราวาส ทั้ง ๓ วัด ลูกศิษย์บอกว่า หลวงปู่ท่านยังทำหน้าที่ของท่านอยู่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเช่นเดิม

หลวงปู่กำชับลูกศิษย์เสมอว่า “ให้ดูที่จิต ทำจิตให้นิ่ง”

๗๖. จดหมายจากหลวงปู่

ตั้งแต่หลังปีใหม่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ หลวงปู่เพ็ง ไม่ได้มาพักที่บ้านผมเลย เพื่อนบ้านศิษย์หลวงปู่ ตลอดจนผู้ที่ใส่บาตรท่านเป็นประจำถามเรื่อยว่า เมื่อไหร่หลวงปู่จะมา ช่วงนี้หลวงปู่หายไปไหน

ระยะหลังนี้มีลูกศิษย์หลายคนนิมนต์หลวงปู่ไปพักที่บ้าน บางครั้งใครปวารณาไว้ เมื่อท่านจะเข้ากรุงเทพฯ ก็จะติดต่อให้ผู้นั้นไปรับท่านที่สนามบินดอนเมือง รับท่านไปทำธุระตามกิจนิมนต์ แล้วพาไปพักที่บ้าน กลางคืนหลวงปู่จะนำสวดมนต์ แสดงธรรม พานั่งสมาธิภาวนาและสนทนาธรรม ตอนเช้าหลวงปู่จะออกบิณฑบาตทุกวัน จะขาดไปบ้างก็มีกรณีจำเป็นเท่านั้น

พวกเราไม่ได้ติดต่อหลวงปู่ตั้งหลายเดือน เมื่อหลวงปู่ ไปพำนักที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์แล้ว พวกเราก็ได้รับจดหมายจากท่าน

หลวงปู่ เขียนตัวย่อ ดร. ที่นำหน้าผม เป็น ร.ด.เสมอ แม้หน้าซองจดหมายก็เป็น ร.ด.ปฐม

จดหมายเขียนจากวัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ใจความว่า

“ร.ด.ปฐม อาตมาพร้อมคณะได้มาถึงวัดที่ตั้งใหม่แล้ว มาถึงวันที่ ๓ ก.ค.๔๓ มีพระมาอยู่ก่อน ๕ รูป อุปสมบทใหม่อีก ๕ รูป ส.ณ. ๑ รูป ทางชาวบ้านสร้างกุฏิได้แล้ว ๗ หลัง ห้องน้ำ ๑ หลัง หอฉันเล็กๆ ๑ หลัง พอให้พระเณรนั่งฉันได้

เนื้อที่วัด ๓ ไร่ ทางชาวบ้านมีกำนันเป็นหัวหน้า จะขยายให้อีก๔ ไร่ๆ ละห้าหมื่น และทางอาจารย์เฉลิมชัย และคณะยุวพุทธ กำลังติดต่อขยายให้อีก เขาคงขายให้อีก ๑๒ ไร่ ต่อไปคงได้เป็นวัดที่สมบูรณ์ ทางชาวบ้านมีกำนันเป็นหัวหน้า ก็ต้องการวัด บ้านนี้มี ๒๐ หลังคา ยังไม่มีวัดเลย

ฉะนั้นจึงเขียนจ.ม.. บอกเล่าให้คณะศรัทธาทางกรุงเทพฯ ทราบ ส่วนหอสมุดที่ อ.เทิงใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ยังแต่ตู้หนังสือ และกระเบื้อง ขออนุโมทนาคณะศรัทธาทางกรุงเทพฯ ด้วย ที่พร้อมใจกันไปช่วยให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

๗๗. จดหมายจากหลวงปู่ฉบับที่สอง

เนื่องจากคณะของเราเคยปวารณาไว้ ตั้งแต่คราวทอดกฐินที่วัดป่าศรีไพรวัน ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ว่าปีต่อไปจะนำกฐินมาทอดอีกหารายได้มาถวายวัดป่าศรีไพรวันโดยตรง เนื่องจากในปี ๒๕๔๐ ขอนำเงินไปสร้างห้องสมุดประชาชนที่อำเภอเทิง เพียงราย ให้เสร็จสมบูรณ์ไปก่อน

จากกฐินในครั้งนั้นเอง มีสวนจุดชนวนก่อเหตุให้เกิดการประท้วงขับไล่หลวงปู่ว่า “อมเงินกฐิน” แล้วขยายออกเป็นเหตุการณ์วุ่นวายออกไปหลายปี ตามที่กล่าวแล้ว จากครั้งนั้นเราจึงจำเป็นต้องยกเลิกสัญญาโดยไม่ได้แจ้งให้คู่สัญญารู้ แต่รอให้หลวงปู่ท่านปักหลักอยู่ประจำที่ให้มั่นคงก่อน คณะเราจะกลับมาทอดกฐิน -ผ้าป่าใหม่

เมื่อหลวงปู่ ท่านมีวัดอยู่เป็นหลักฐานแน่นอนแล้ว ท่านจึงส่งข่าวให้รู้ เป็นการบอกกล่าว ว่าทางวัดพร้อมที่จะรับกฐิน-ผ้าป่า ตามที่เราเคยปวารณาไว้

ขออนุญาตคัดลอกจดหมายหลวงปู่ เขียนด้วยลายมือของท่านเอง มาเสนอดังนี้

“จากวัดป่าบ้านโนนสวรรค์ หมู่ ๑๐ ต.นาโพธิ์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

วันที่ ๒๕ ส.ค.๔๓

ร.ด.ปฐม ด้วยปีนี้หมายกำหนดการจะพาหมู่คณะศรัทธา ชาวกรุง ไปทอดกฐิน-ผ้าป่า ภาคใด จะไปเหนือ-หรืออิสาน-หรือใต้

ถ้าจะไปภาคอิสาน กรุณาเชิญชวนคณะศรัทธาไปเยี่ยมวัดใหม่บ้านโนนสวรรค์ด้วย ไม่ห่างจากร้อยเอ็ดเท่าไร ๑๒ กม เศษๆ พอถึงร้อยเอ็ดแล้วแยกไปทางวาปีปทุม ทิศใต้ของจังหวัด ตามทางวาปีปทุม เห็นป้ายบ้านโนนสวรรค์ ซ้ายมือ แต่เป็นวัดน้อยๆ เพียง ๓ ไร่เท่านั้น ยังเป็นวัดไม่ได้ เป็นที่พักสงฆ์เท่านั้น

แต่ที่มีอยู่แปลงหนึ่ง ติดกับที่พระอาศัยปลูกกุฏิอยู่ ๑๑ หลังเล็กๆ ศาลาฉันก็ ๓ ห้อง ที่ดินประมาณ ๔ งาน เขาต้องการขายอยู่ติดทางทิศตะวันลง

อีกแปลงหนึ่ง ติดกับกุฏิพระอาศัยอยู่ทางทิศใต้ เป็นป่าสมบูรณ์ประมาณ ๑๓ ไร่ ก็ต้องการขายเหมือนกัน ถ้าได้คงเหมาะสมเป็นที่ปฏิบัติเป็นอย่างดี ถ้า ร.ด.และคณะศรัทธาไปพบเข้าก็คงศรัทธา

ฉะนั้น จึงได้เขียนจดหมายมาให้ทราบ แต่ทางศรัทธาชาวบ้านและร้อยเอ็ดก็เตรียมทอดกฐิน แต่ยังไม่ได้กำหนดวัน แต่อยากรู้ทางกรุงเทพฯ ก่อน ถ้าพร้อมกันได้เป็นการดีมากๆ

ฉะนั้นจึงได้เขียน จ.ม.มาถึงศรัทธาทางกรุงเทพฯ ก่อน ขอบอกกำหนดการไปให้ทราบด้วย

ด้วยความมั่นใจ

ปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม

และบอกกล่าวเด็กสามคนที่เอาพระพุทธรูปยืนไปถวาย บอกเขาด้วย เอาขึ้นบนซุ้มประตูเรียบร้อยแล้ว”

หมายเหตุท้ายจดหมายหลวงปู่

๑. คุณเด็กสามคนที่เอาพระพุทธรูปยืนไปถวายที่วัดเทิงเสาหิน โปรดรับทราบด้วย ผมจำไม่ได้ว่าเป็นใครแน่ แค่พอจะนึกออก ขออนุโมทนาสาธุด้วย

๒. ในปีนั้น ผมรับเป็นเจ้าภาพกฐินวัดพระบรมธาตุดอยตุง และวัดอื่นๆ ทางภาคเหนืออีกรวม ๗ วัด มีสมาชิกร่วมเดินทาง ๕ คันรถบัส ประมาณ ๒๐๐ คน จึงไม่ได้มาทอดกฐินที่ร้อยเอ็ด พวกเราขอปวารณาทอดในปีต่อไปครับ

๗๘. ทอดกฐินซื้อที่ดิน

ในปี พ ศ๒๕๔๔ หลวงปู่เพ็งพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์ หมู่ ๑๐ ต.นาโพธิ์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

วัดป่าสิริปุณโณ

คณะของเราตั้งใจจะทอดกฐินที่วัดหลวงปู่เพ็งเพื่อช่วยท่านสร้างวัด ตั้งแต่เริ่มเข้าพรรษาผมยังไม่มีโอกาสกราบหลวงปู่เลย ทางวัดก็ไม่มีโทรศัพท์ติดต่อ แม้ลูกศิษย์จะถวายมือถือให้ท่านไว้ใช้ ก็ติดต่อไม่ค่อยได้ บางทีโทรไปก็ได้ยินแต่เสียงฝรั่งผู้หญิงบอกว่าติดต่อไม่ได้ก็เลยไม่สะดวก

กลางพรรษา ระหว่างเดือนสิงหาคม ๒๕๔๔ น้องเขยและน้องสาวที่อยู่สุรินทร์ได้เข้าไปพักที่บ้าน ขากลับจึงขอให้เขาขับรถไปส่งที่ร้อยเอ็ด เพื่อไปกราบหลวงปู่และกราบเรียนท่านเรื่องทอดกฐินตอนออกพรรษา ไปถึงร้อยเอ็ดใกล้ค่ำ สอบถามดูได้ความว่า หลวงปู่ อยู่ที่วัดป่าสิริปุณโณ อำเภอเกษตรวิสัย จึงขอให้ คุณวิไลจิต สุ่มมาตย์ ขับรถนำทางไป

พวกเราไปถึงวัดที่หลวงปู่พักอยู่ คือ วัดป่าสิริปุณโณ (วัดป่าบ้านฝาง) เวลากว่า ๒ ทุ่ม วัดอยู่ในป่าข้างท้ายหมู่บ้าน ไม่มีถนนเข้าไปต้องขับรถวกวนไปตามซอยทางเดิน คล้ายๆ รอยทางเกวียนในอดีต พอได้ยินเสียงรถเข้าไป ท่านจึงรีบหยุดเทศน์ พวกเราต้องกราบขอโทษที่มาทำให้การเทศน์ และการภาวนาของพระต้องจบลงกลางคัน

เมื่อทราบว่าหลวงปู่ท่านดูแล ๓ วัดในขณะนั้นได้แก่ วัดอรุณวิเวกธรรมาราม (วัดป่าบ้านแจ้ง) ที่อำเภอจังหาร ซึ่งเป็นวัดเก่า ท่านครูบาวีระโชติ ติสฺสวงฺโส รักษาการเจ้าอาวาส กับวัดก่อตั้งใหม่อีก ๒ วัด ได้แก่วัดที่หลวงปู่พักจำพรรษาอยู่ คือ วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์ต.นาโพธิ์ อ.เมืองร้อยเอ็ด กับ วัดป่าสิริปุณโณ ที่บ้านฝาง อ.เกษตรวิสัยที่เรากำลังอยู่ในขณะนั้น มีครูบาอัมรินทร์ กนฺตสีโล รักษาการเจ้าอาวาสอยู่

ทราบจากหลวงปู่ว่า ทั้ง ๓ วัดยังไม่มีใครจองกฐิน พวกเราก็ปวารณาขอเป็นเจ้าภาพกฐินทั้ง ๓ วัด และตกลงทอดวันเสาร์-อาทิตย์ที่ ๑๓-๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๔ หลังออกพรรษา หลวงปู่ท่านอนุโมทนาสาธุแล้วพวกเราก็กราบลา

เท่าที่ได้รู้จักใกล้ชิดหลวงปู่เพ็งมาสิบกว่าปี ยังไม่เคยพบหรือเคยได้ยินว่าท่านขอร้องใคร บอกใครให้ไปช่วยทอดกฐิน-ทอดผ้าป่าที่วัดของท่านเลย ได้ยินแต่ชวนให้ไปภาวนา จะมีกฐินหรือผ้าป่าหรือไม่ท่านบอกว่าไม่เคยสนใจเลย มีก็ดี ไม่มีก็ได้ (ท่านจะบอกเฉพาะคนที่เคยปวารณาไว้เท่านั้น)

๗๙. อยากให้พวกมันไปดูวัดก่อน

หลังกราบลาหลวงปู่เพ็ง ที่วัดป่าสิริปุณโณ (วัดป่าบ้านฝาง) แล้วพวกเราก็ขับรถฝ่าความมืด ไปข้างที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ บ้านของน้องเขย – น้องสาวซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร

ตื่นตอนเช้ามืด นึกถึงภาพที่หลวงปู่ กับพระครูบาอมรินทร์ เดินมาส่งเรา คำพูดของหลวงปู่ที่สั่งพระยังชัดเจนว่า

“บอกผู้ใหญ่บ้านให้เตรียมที่จอดรถด้วยเน้อ”

ภาพต้นไม้ ๔-๕ ต้น ขนาดลำต้นคืบกว่า อยู่ตรงที่หลวงปู่มายืนส่งเราก็ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน นึกกลัวไปว่าต้นใดต้นหนึ่ง หรือทุกต้นที่อยู่ตรงนั้นอาจจะต้องถูกตัดออกเพื่อให้รถจอดตอนงานกฐิน หลวงปู่และวัดไม่มีโทรศัพท์ที่จะติดต่อได้ จึงขอให้น้องเขยขับรถไปส่งอีกครั้ง เพื่อบอกไม่ให้เขาตัดต้นไม้

ทั้งน้องเขย และน้องสาวบอกว่า เขาก็อยากไปดูวัดที่จะทอดกฐินในตอนกลางวันเหมือนกัน อยากสำรวจเส้นทางด้วย

พวกเรารีบออกเดินทางแต่เช้า หวังให้ทันเวลาฉันภัตตาหาร ไม่เช่นนั้นอาจไม่พบหลวงปู่

พวกเราชินถนนชินทางมากขึ้น ไปถึงวัดป่าสิริปุณโณก่อนแปดโมงเช้า แต่หลวงปู่ไปฉันที่วัดป่าสามัคคีธรรม อยู่ห่างออกไปไม่น้อยกว่า๕๐ กม.

พระท่านออกมายืนตรงที่ส่งเราเมื่อคืนนี้ท่านบอกว่า

“หลวงปู่สั่งให้ตามไปที่วัดป่าสามัคคีธรรม ท่านว่าอยากให้พวกดอกเตอร์มันไปดูวัดก่อน”

๘๐. มาเห็นวัดป่าสามัคคีธรรมครั้งแรก

วัดป่าสามัคคีธรรม

พวกเรากราบพระ แล้วรีบติดตามหลวงปู่ไปวัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนสวรรค์ ทันที หลวงปู่นั่งพักที่กุฏิ ท่านทักพวกเราว่า

“ไปเห็นวัดบ้านฝางแล้วเนาะ ไม่ต้องห่วงพระเขาไม่ตัดต้นไม้หรอก อาตมาบอกไว้แล้ว”

ผมไม่แปลกใจเลยที่ท่านรู้หมด ว่าเราทำอะไร คิดอย่างไร

แล้วหลวงปู่เดินนำ พาพวกเราไปดูศาลาโรงฉัน ซึ่งใช้เป็นศาลาอเนกประสงค์ ใช้เป็นที่สวดมนต์ ฟังธรรม อบรมสมาธิภาวนา ที่ฉันภัตตาหาร ที่จัดงานบุญต่างๆ ตลอดจนที่พักนอนของญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรม ตลอดจนต้อนรับคณะกฐิน – ผ้าป่าเหมือนคณะของเรา

ศาลาเป็นเหมือนเพิ่งขยายข้างออกไปทุกด้าน พื้นเทปูนอยู่ระดับพื้นดิน ดูดีหน่อยตรงพื้นปูพรมเต็มพื้นที่ ฝาผนังทุกด้านดูเหมือนจะก่อปูนสูงขึ้นไปประมาณระดับอก ส่วนบนโล่งหมด ดูเป็นหน้าต่างบ้านใหญ่บ้านเดียวยาวตลอดไปทุกด้านของศาลา มีด้านหลังพระพุทธรูปเท่านั้นที่มีปูนก่อขึ้นไปจรดหลังคา ดูอากาศถ่ายเทได้ดีอย่างยิ่ง

ผมหมายตาไว้ว่า ช่วงทอดกฐินจะพาคณะประมาณ ๑๒๐ คนมาพักที่นี่ ต้องหาทางให้มีที่นอนให้ได้

ด้านหลังศาลาเป็นป่าโปร่งที่มีเจ้าของแล้ว เนื้อที่ ๑๒ ไร่ครึ่ง เจ้าของบอกขายราคา ๑ ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าที่ดินละแวกนั้นตั้งเท่าตัว พวกเราอยากได้ที่ผืนนั้นถวายวัด คิดในใจว่าจะใช้เป็นเขตสังฆาวาส คือเป็นส่วนของพระ จะปลูกกุฏิเล็กๆ สำหรับพระสงฆ์แต่ละองค์และมีทางเดินจงกรมที่กุฏิแต่ละหลัง ตามแบบของวัดป่าที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านวางรูปแบบไว้

คณะของเรากราบลาหลวงปู่ แล้วไปกราบหลวงปู่ศรี มหาวีโร ศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) อำเภอศรีสมเด็จ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดป่าสามัคคีธรรมของหลวงปู่เพ็งแค่๕ – ๖ กิโลเมตรเท่านั้น

คณะเรากราบเรียนขอโอกาสมาทอดผ้าป่าที่วัดป่ากุง และวัดผาน้ำทิพย์ สาขาของวัดป่ากุงในช่วงที่เราพาคณะมาทอดกฐินด้วย แล้วกราบลาหลวงปู่ศรี เดินทางกลับ

ผมนั่งรถโดยสารประจำทางกลับกรุงเทพฯ กำหนดการทอดกฐิน – ผ้าป่าถูกร่างขึ้นในใจเรียบร้อยว่า ทอดกฐินวัดหลวงปู่เพ็ง ๓ วัด และทอดผ้าป่าอีก ๔ วัด รวม ๗ วัด พักค้างคืนที่วัดป่าสามัคคีธรรมของหลวงปู่เพ็ง ๑ คืน

๘๑ ทอดกฐินจัดซื้อที่ดิน

การทอดกฐินของคณะเราหลังออกพรรษาในปีนั้นกำหนดเอาวันเสาร์ที่ ๑๓ อาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๔ มีการทอดกฐินสามัคคี ๓ วัด และทอดผ้าป่า ๔ วัด ในจังหวัดร้อยเอ็ด มุกดาหาร และนครพนมมีสมาชิกร่วมเดินทางจากกรุงเทพฯ ๑๒๐ คน เดินทางด้วยรถบัส ๓ คัน

คณะของเรา (ซึ่งไม่มีชื่อคณะ) มาเริ่มต้นที่วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น. เพื่อรอใส่บาตรหลวงปู่ศรี มหาวีโร (อายุ ๘๕ ปี) หลวงปู่เพ็ง ท่านให้ทางโรงครัวของวัดจัดอาหารใส่ถุงสำหรับใส่บาตรมาให้พวกเรา คณะของเราทุกคนจึงมีอาหารตักบาตรหลวงปู่ศรีสมใจปรารถนา พวกเรารับประทานอาหารที่วัด ทอดผ้าป่า รับศีลรับพรและรับการประพรมน้ำมนต์จากหลวงปู่ศรี แล้วกราบลาออกเดินทาง

วัดที่สอง คือวัดอรุณวิเวกธรรมาราม (วัดป่าบ้านแจ้ง) อำเภอจังหาร มีครูบาวีระโชติ รักษาการเจ้าอาวาส หลวงปู่เพ็งไปรอต้อนรับพวกเราที่นั่น แต่ท่านต้องรีบไปเพราะติดกิจนิมนต์ เหมือนกับทางวัดจะรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ได้เตรียมเสื่อกก กับหมอนขิด แจกคณะเราคนละชุด กราบลาทางวัดเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่ารถบัสของเราคันหนึ่งติดหล่มภายในวัด ทำให้อีก ๒ คันก็พลอยออกไม่ได้ด้วย ต้องใช้เวลาแก้ไขอยู่ร่วม ๔ ชั่วโมง จึงได้รถยกมายกรถของเราให้เคลื่อนที่ออกไปได้เมื่อบ่ายสามโมงกว่าๆ

สมาชิกในคณะเราต้องเหน็ดเหนื่อยไปตามๆ กัน โดยเฉพาะบรรดาสุภาพสตรีท่านใช้แรงปูเสื่อและวางหมอนที่ได้รับแจก นอนส่งกำลังใจช่วยให้พวกที่ขุดดินและเข็นรถ แถมยังต้องเหนื่อยกับการออกแรงกินส้มตำที่ทางแม่ครัวนำมาเลี้ยงด้วย น่าเห็นใจมาก

คณะของเราต้องพลาดการทอดกฐินวัดที่ ๓ คือวัดป่าสิริปุณโณ (บ้านฝาง) อ. เกษตรวิสัย จึงขอนิมนต์พระให้ไปรับกฐินที่วัดป่าสามัคคีธรรมในตอนเช้าวันที่ ๑๔ ตุลาคม (ทางพี่น้องประชาชนที่บ้านฝาง ขอทอดกฐินกันเองในวันลอยกระทง คณะของเราจึงเปลี่ยนเป็นผ้าป่าแทน ทางวัดจึงได้ทั้งกฐิน ทั้งผ้าป่าในปีนั้น ทุกคนต่างโมทนาสาธุ)

เย็นวันที่ ๑๓ ตุลาคม จึงทำได้เพียงไปทอดผ้าป่าที่วัดสระกุดน้ำใส อำเภอพนมไพร ซึ่งไปถึงร่วม ๕ โมงเย็น แล้วกลับมานอนที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์ ทางวัดจัดอาหารเย็นรอรับรวมทั้งคณะวัดป่าสิริปุณโณได้ขนอาหารที่เตรียมให้พวกเราตั้งแต่มื้อเที่ยงมาสมทบอีกทำให้อาหารเหลือเฟือ

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ คณะของเรา ๑๒๐ คน กางกลดอัดแน่นกันอยู่ภายในศาลาโรงฉัน อากาศกลางคืนค่อนข้างเย็นเกือบหนาว ทุกคนนอนในกลด แถมได้ผ้าห่มใหม่เอี่ยมที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมนายก วัดบวรนิเวศฯ รักษาการเลขาฯ สมเด็จพระสังฆราช ฝากมาถวายวัดหลวงปู่เพ็ง ประมาณ ๔๐๐ ผืนด้วย ทุกคนจึงค่อนข้างหลับสบาย

ที่ผมสงสารที่สุดก็บรรดาผีทั้งหลาย ต่างงุนงงไม่รู้จะหลอกใครเพราะกางกลดติดกันจนแน่น

พิธีทอดกฐินที่ วัดเทิงเสาหิน จ.เชียงราย

รุ่งขึ้นเช้าวันที่ ๑๕ ตุลาคม หลังจากทอดกฐินแล้วก็เดินทางไปกราบพระมหาเจดีย์ ที่วัดผาน้ำทิพย์ อ. หนองพอก ทอดผ้าป่า เสร็จแล้วไปกราบเจดีย์หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ที่วัดภูจ้อก้อ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร

งานบุญของคณะเราเที่ยวนี้ต้องล่าช้ากว่ากำหนดไปมากเพราะแต่ละแห่ง สมาชิกต่างอิ่มบุญกันจนเพียบแปร้

เนื่องจากสมาชิกแต่ละคน แบกบุญมาเยอะ เลยต้องใช้เวลานานกำหนดว่าเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ เวลา ๖ ทุ่ม ก็กลายเป็น ๖ โมงเช้า สมกับแรงอธิษฐานของสมาชิกบางคนที่ไม่อยากให้ถึงดึก เพราะไม่กล้านั่งแท็กซี่ ขอเป็นถึงตอนเช้าก็แล้วกัน

ที่ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะต้องการให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบบรรยากาศของการทอดกฐิน-ผ้าป่าของคณะของเราซึ่งมีจุดเริ่มครั้งแรกในปี ๒๕๓๕ จากการทอดกฐินที่วัดเทิงเสาหินของหลวงปู่เพ็ง แล้วคณะนี้ก็เกาะกลุ่มกันขยายวงกว้างออกไป จนมีกิจกรรมทอดกฐิน-ผ้าป่าปีละ ๔ ครั้งในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และออกพรรษา

กิจกรรมทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มมาจาก หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม จึงได้นำมาบันทึกไว้

สำหรับการทอดกฐินซื้อที่ดินถวายวัดป่าสามัคคีธรรม ในปีนั้นได้ยอดเงินบริจาคประมาณ ๕ แสน ๕ หมื่นบาท มีผู้บริจาคตามมาภายหลังผ่านมาทางผมอีก ๒ แสนบาท รวมยอดรับเบ็ดเสร็จก็๗ แสนกว่าบาท

ราคาที่ดิน ๑๒ ไร่ ที่ต้องการซื้อนั้นครั้งแรกเจ้าของเรียกราคา๑ ล้านบาท ต่อมาส่งข่าวมาว่าลดให้เหลือ ๗ แสนบาท สรุปว่ายอดเงินที่ได้ก็พร้อมที่จะซื้อที่ดินแล้ว

แต่ด้วยเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด หลวงปู่เกิดอาพาธ และมรณภาพอย่างกะทันหัน การเจรจาซื้อที่ดินจึงต้องเลื่อนออกไปเป็นภายหลังจัดการเรื่องศพหลวงปู่เสร็จก่อน

๘๒ หลวงปู่เข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งสุดท้าย

หลังจากการทอดกฐินที่วัดของหลวงปู่เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๔ แล้ว พวกเราไม่ได้ติดต่อกับหลวงปู่จนสิ้นปี

ทราบแต่เพียงว่าหลวงปู่จะเข้ากรุงเทพฯ เพราะมีกิจนิมนต์ช่วงหลังปีใหม่ และไม่แน่ใจว่าท่านจะมาพักที่บ้านของเรา (บ้านนิคมานนท์) หรือไม่ เราจึงไม่ได้เตรียมบ้านไว้รับหลวงปู่

พวกเรา (รศ.ดร.ปฐม-รศ. ภัทรา นิคมานนท์) มีแผนว่าจะไม่อยู่บ้านช่วงหลังปีใหม่ เนื่องจากน้องสาวของอาจารย์ภัทรา คือ สุมาลี ลาร์เซ่น จะมาจากอเมริกา มาพักอยู่เมืองไทย ๑ เดือน เราจะเป็นเจ้าภาพพาเที่ยวและตระเวนไปกราบพระตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

เนื่องจากเราทั้งสองคนได้เกษียณตัวเองจากราชการมาเป็นราษฎรเต็มขั้นแล้ว เราจึงมีเวลาเป็นของตัวเอง เมื่อตอนเราไปอเมริกาเมื่อ ๔-๕ ปีก่อน สุมาลี และสามี (ริชาร์ด ลาร์เซ่น) ได้ขับรถพาเราตระเวนเที่ยวอเมริกา แคนาดา นานถึง ๒๒ วัน ลูกชายเราก็ไปอาศัยอยู่เรียนหนังสือกับเขาด้วย เขามาเมืองไทยเที่ยวนี้จึงสามารถให้เวลาเขาได้ ๑ เดือนเต็มๆ จะไปไหนก็ได้ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ

น้องสาวมาถึงเมืองไทยวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๔ พักอยู่กรุงเทพฯ แค่ ๑ วัน โครงกาพาเที่ยวของเราจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม เป็นต้นไป เป็นการเที่ยวข้ามปีเลยทีเดียว เราขับรถตระเวนขึ้นเหนือ กราบพระตั้งแต่อยุธยา-อ่างทอง-สิงห์บุรี ขึ้นไปเรื่อย ถึงเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน-เชียงราย แล้ววกกลับกรุงเทพฯ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๕ มาพักเอาแรงช่วงหนึ่งก่อน

เรากลับถึงบ้านยังไม่ถึง ๒ ชั่วโมง หลวงปู่เพ็งก็มาถึงบ้านโดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว หลวงปู่ลงเครื่องบินที่ดอนเมืองพร้อมพระติดตาม ๑ องค์ มีนายตำรวจท่านหนึ่งถวายค่าแท็กซี่ และให้มาส่งที่บ้าน

หลวงปู่ มีกิจนิมนต์ที่วัดบรมนิวาสวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๕ ต่อจากนั้นก็มีที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี แลที่วัดป่าเขาน้อย ของหลวงปู่จันทา ถาวโร อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร

การเที่ยวของพวกเราจึงขอพักไว้ก่อน แต่เรามีกำหนดจะไปเที่ยวคุนหมิง ประเทศจีน วันที่ ๑๗-๒๐ มกราคม โดยไปขึ้นเครื่องบินที่เชียงใหม่ พร้อมกับญาติๆ รวม ๙ คน

หลวงปู่ พักที่บ้านของเราอยู่ ๗ วัน ดูท่านยังแข็งแรง กระฉับกระเฉง อารมณ์ดี มีเมตตาสูง ตามปกติ ไม่มีอะไรบอกเหตุว่าท่านจะรีบจากพวกเราไปเลย ต่างกับทุกครั้งตรงที่ เที่ยวนี้ท่านเคี่ยวเข็ญพวกเราในการนั่งสมาธิภาวนาเป็นพิเศษ พานั่งทุกเช้าก่อนฉันภัตตาหาร และทุกเย็นหลังการสวดมนต์ทำวัตรแล้ว ธรรมะของท่านเด็ดขาด ชัดเจนมาก หลังการนั่งสมาธิ ท่านก็เล่าเรื่องการเดินธุดงค์ เรื่องครูบาอาจารย์ของท่านตลอดจนตอบปัญหาที่มีผู้ยกขึ้นมาถาม

พวกเรานั่งภาวนาเพลิน ฟังหลวงปู่เพลิน เลยไม่ได้บันทึกคำสอนเหล่านั้นไว้เลย ต่างก็บ่นเสียดายกันมาก

เช้าวันอังคารที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๕ หลังพานั่งสมาธิ หลวงปู่ฉันภัตตาหารเสร็จ พวกเราทานอาหารเสร็จ หลวงปู่ก็ประพรมน้ำมนต์ให้ศีลให้พรพวกเรา บางคนก็ขอให้ท่านเป่าหัวให้ตามธรรมเนียม แล้วคุณจอม ศิษย์ของท่านคนหนึ่งก็นำรถเข้ามารับหลวงปู่ เพื่อเดินทางไปตามกิจนิมนต์ที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากนั้นเห็นว่าคุณจอม ได้นิมนต์ท่านไปพักโปรดญาติโยมที่บ้าน

ทางฝ่ายผม-ภรรยา และน้องสาว ก็ออกทัวร์รอบที่ ๒ ไปกราบพระที่พิจิตร-อุตรดิตถ์-แพร่ ไปกราบหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล ที่วัดอนาลโย ดอยบุษราคัม จังหวัดพะเยา หลวงพ่อให้เราไปกราบที่กุฏิ ให้ธรรมะและความรู้ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งแก่พวกเรา

พวกเรากลับจากคุนหมิง มาถึงเชียงใหม่ วันจันทร์ที่ ๒๐ มกราคม นอนเชียงใหม่ ๑ คืน แล้วขับรถตระเวนไปกราบพระที่ลำพูน สำรวจเส้นทางที่จะพาคณะไปทำบุญในช่วงวันมาฆบูชาด้วย ลงมากราบพระที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง วัดพระธาตุสุโทน จ.แพร่ แวะนอนที่อุตรดิตถ์ กลับถึงบ้านที่กรุงเทพฯ ตอนเย็นวันอังคารที่ ๒๒ มกราคม

พอถึงบ้าน คุณย่า (คุณย่ารำเพย นิคมานนท์) รีบรายงานด้วยความตื่นเต้นว่า หลวงปู่เข้าโรงพยาบาล แต่คุณย่าก็บอกไม่ได้ว่าโรงพยาบาลไหน และใครโทรมาบอก? เราทำได้เพียงอย่างเดียวคือรอ

กลางคืน คุณสุรสิทธิ์ เวียงอินทร์ ลูกชายคนเล็กของหลวงปู่โทรมาส่งข่าวว่าหลวงปู่อยู่ที่ห้อง ๒๘๐๘ ชั้น ๘ โรงพยาบาลรามคำแหง ผมรีบติดต่อแจ้งข่าวให้คุณเทียมศักดิ์ ด่านพงษ์เจริญ ทราบ แล้วนัดกันไปเยี่ยมหลวงปู่ในตอนเช้า

๘๓ หลวงปู่อาพาธ เข้าโรงพยาบาลด่วน

หลวงปู่ จัดเป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดี แม้อายุสังขารของท่านย่างเข้าปีที่ ๘๘ แล้วก็ตาม ท่านยังดูแข็งแรง แข็งแกร่ง กระฉับกระเฉง ผิวพรรณผ่องใส ยืนตรง นั่งตรง อารมณ์ดี ออกเดินบิณฑบาตโปรดญาติโยมทุกเช้า พาลูกศิษย์นั่งภาวนาจนดึกดื่น นั่งภาวนาหรือเดินจงกรมทั้งคืนก็ยังสบายมาก

ท่านเคยบอกว่าจะอยู่ถึง ๙๔ ปี ทุกคนจึงวางใจ การที่หลวงปู่อยู่ดีๆ และเข้าโรงพยาบาลอย่างปัจจุบันทันด่วนจึงไม่มีใครคาดคิด

กิจนิมนต์ของหลวงปู่ในช่วงปีใหม่ มีดังนี้

๒๘ ธ ค. ๔๔ – ร่วมงานทำบุญปีใหม่ที่กระทรวงศึกษาธิการ

๓๐ ธ.ค. ๔๔ – เดินทางกลับร้อยเอ็ด

๘ ม ค. ๔๕ – เดินทางเข้ากรุงเทพฯ พักที่บ้านนิคมานนท์ เขตบึงกุ่ม แสดงธรรมโปรดญาติโยมทุกวัน

๑๓ ม.ค. ๔๕ – กิจนิมนต์ที่วัดบรมนิวาส เชิงสะพานยศเส เขตปทุมวัน

๑๕ ม ค. ๔๕ – ไปพักที่บ้าน โยมวารุณี อยู่แถวเสาชิงช้า

๑๗ ม ค. ๔๕ – ร่วมสวดมนต์ฉลองโบสถ์ (สร้างเสร็จใน ๙๙ วัน) อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

– ไปพักที่บ้านคุณจอม อยู่ถนนนวมินทร์ (สุขาภิบาล๑) เขตบึงกุ่ม

๒๑ ม ค. ๔๕ – กิจนิมนต์ที่วัดป่าเขาน้อย อ.วังทรายพูน จ พิจิตร ทำบุญวันเกิดหลวงปู่จันทา ถาวโร

ผมมาทราบภายหลังว่า หลวงปู่ท่านอาพาธเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๕ ขณะที่กำลังเทศน์โปรดญาติโยมที่มานั่งภาวนาหลวงปู่เทศน์ไม่นานก็หยุดแล้วขอไปพักผ่อน

หลวงปู่มีอาการเวียนศีรษะ อาเจียน และปวดศีรษะอย่างแรง ไม่มีแรงจะลุกเดินไหว คุณจอมและเพื่อนๆ จึงพาท่านส่งโรงพยาบาลรามคำแหง เพราะอยู่ใกล้ที่สุด

เมื่อผมทราบเรื่อง ก็นัดคุณเทียมศักดิ์ ด่านพงษ์เจริญ ไปเยี่ยม หลวงปู่ ในตอนเช้าวันพุธที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๕ หมอให้หลวงปู่นอนเฉยๆ ห้ามลุก ดูท่านมีสติดี ผิวพรรณผ่องใส พูดได้-สอนธรรมะพวกเราได้ แต่ที่ปากของท่านแสดงให้เห็นว่ามีอาการชา-ลิ้นแข็ง และท่านบอกว่าปวดศีรษะมาก และบอกว่า

“ภาวนาดูแล้ว จิตมันบอกว่า ไม่ต้องผ่า และอยู่ไปได้ถึงอายุ ๙๗”

ทำให้ทุกคนเบาใจ

หมอเอาฟิล์มเอ็กซเรย์ ภาพศีรษะของหลวงปู่มาให้ดู เห็นว่ากระดูกคอด้านหลังของท่านมีอาการคด เห็นได้อย่างชัดเจน ด้านข้างกระดูกคอเห็นจุดขาวๆ เล็กๆ ๒ จุด อยู่จุดละข้างของก้านสมอง หมออธิบายว่าเป็นรอยเลือดที่เกิดจากเส้นโลหิตฝอย ตรงบริเวณก้านสมองแตก ต้องรีบถวายการผ่าตัด และแนะนำให้เคลื่อนย้ายหลวงปู่ไปรักษาที่สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลประสาทพญาไท ซึ่งเชี่ยวชาญทางนี้โดยเฉพาะ

(หลวงปู่ท่านบอกว่าเป็นกรรมเก่าจากชาติก่อน ที่ท่านเคยมีฝูงวัว วัวตัวหนึ่งมันดื้อ ท่านเลยเอาไม้หวดไปที่หลังคอของมัน มันจึงตามมาทวงหนี้อย่างไม่ยอมลดละ

ทราบจากคุณฐาปวีร์ ที่เพื่อนๆ เรียกว่า ตะวัน บอกว่าหลวงปู่เคยสั่งไว้ให้ช่วยจัดการซื้อวัวหนุ่ม สีขาว จากโรงฆ่า มาปล่อยให้ด้วย)

พวกน้องๆ ก็อยากให้ย้ายจากโรงพยาบาลเอกชนเพราะค่ารักษาแพงมาก เสียค่ารักษา ๓ วันเป็นเงินสามหมื่นสองพันกว่าบาท ทางคุณจอมกับเพื่อน และลูกชายของหลวงปู่ช่วยกันลงขันถวายเป็นค่ารักษา – ขออนุโมทนาด้วย

โชคดีที่ภรรยาของคุณเทียมศักดิ์ คือ คุณสมทรง ด่านพงษ์เจริญ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร อยู่ที่โรงพยาบาลประสาทพญาไท จึงได้ช่วยอำนวยความสะดวก ให้ได้เคลื่อนย้าย หลวงปู่ ไปที่สถาบันประสาทวิทยา ก่อนเที่ยงวันพุธที่ ๒๒ มกราคม โดยที่โรงพยาบาลรามคำแหง จัดรถและพยาบาลไปส่ง

๘๔ หลวงปู่มรณภาพ

ใครเล่าจะคาดคิด ว่าหลวงปู่จะทิ้งพวกเราไปเร็วเช่นนี้ หลวงปู่ท่านดุและตักเตือนพวกเราว่า

“ให้เร่งภาวนาอย่าประมาท ความตายมันไม่มีสัญญาณเตือน หรือนิมิตหมายบอกเราให้รู้ล่วงหน้า คนแก่ก็ตาย คนหนุ่มก็ตายได้ทั้งนั้น การปฏิบัติธรรมจึงไม่ต้องอ้างเมื่อนั้นเมื่อนี้ ทำให้มากๆ ทำให้บ่อยๆ แล้วจะรู้จะเห็นเอง”

ทางโรงพยาบาลได้ให้การดูแลรักษาหลวงปู่ อย่างเอาใจใส่ คุณหมอบอกว่าจำเป็นต้องผ่าตัดโดยรีบด่วน แต่จะต้องตรวจให้ละเอียดด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กก่อน จึงจะบอกได้ว่าจะผ่าตัดตรงไหน อาจผ่าตัดในคืนนั้นก็ได้ ขอให้พวกเราพูดให้หลวงปู่เข้าใจ จะได้ให้ความร่วมมือกับหมอในการรักษา

หลวงปู่ บอกว่า

“ภาวนาดูแน่ชัดแล้ว จิตมันบอกว่า ไม่ต้องผ่าตัด แต่ถ้าหมอจะผ่าจริงๆ อาตมาก็ไม่ว่าอะไร เชิญตามสบาย”

แล้วท่านก็ยังบอกเป็นนัยๆ พอจับใจความได้ว่า

“มันไม่ยอมถอย กำลังต่อรองกันอยู่ มันค่อยๆ อ่อน ทำท่าจะยอมแล้ว ” (ท่านหมายถึงวัวที่เป็นเจ้ากรรมนายเวร)

ผลการตรวจส่องด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไม่พบจุดที่เส้นเลือดแตก จึงยังผ่าตัดไม่ได้ แต่ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะหลวงปู่อายุมากแล้ว เส้นเลือดเปราะ อาจจะแตกอีกเมื่อไรก็ได้

ทางคุณหมอจึงแนะนำให้หลวงปู่นอนนิ่งๆ รอดูอาการสัก ๒ สัปดาห์ แล้วจึงจะตรวจซ้ำครั้งที่ ๒ ได้

หลวงปู่อาการค่อยดีขึ้น ท่านมีสติดีอยู่ตลอดเวลา แต่มีสายยางฟอกอากาศสอดเข้าไปในหลอดลม หลวงปู่จึงพูดไม่ได้ ได้แต่ขยับมือทำท่าคล้ายบอกว่า

“ไม่ต้องห่วง อาตมาตัดหมดแล้ว ดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่เอา”

พวกเราพยายามไม่บอกให้ใครรู้ เพราะไม่อยากให้คนไปเยี่ยมมาก เนื่องจากหลวงปู่อยู่ในสภาพที่ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย เฉพาะเชื้อโรคในโรงพยาบาล ก็มีมากอยู่แล้ว แถมดื้อยาด้วย จึงไม่อยากให้ใครต่อใครนำเชื้อจากข้างนอกไปเพิ่มอีก เอาไว้หลวงปู่ปลอดภัยแล้วค่อยไปกราบเยี่ยม

ครูบาวีระโชติ กับ คุณนักรบ ศิษย์ของหลวงปู่รับหน้าที่อยู่โยงเฝ้าอาการหลวงปู่ทุกวัน คนอื่นๆ แวะเวียนกันมาเยี่ยม ผมกับคุณเทียมศักดิ์ ไปเยี่ยมทุกบ่ายในสัปดาห์แรก พอสัปดาห์ที่สองก็ไปบ้างหยุดบ้าง เพราะหลวงปู่แสดงอาการว่าค่อยยังชั่วขึ้น

ตอนหลังปรากฏว่าหลวงปู่ทรุดลง รู้สึกเหนื่อยอ่อน หายใจหอบ หมอพบว่าปอดของท่านมีอาการติดเชื้อ ได้ย้ายเข้าไปรักษาในห้องไอ.ซี.ยู ให้การดูแลเป็นพิเศษ

ถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ หลวงปู่ทรุดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงเย็นวันที่ ๑๓ ดูหลวงปู่หายใจหอบมาก หมออนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ครั้งละ ๒ คน ผมกับเทียมศักดิ์ ยืนอยู่คนละข้างเตียง หลวงปู่ท่านหายใจหอบ แต่ผิวพรรณท่านสดใสมาก

หลวงปู่ยกมือขึ้นประนม ทำปากหมุบหมิบคล้ายบริกรรมคาถาหรือสวดมนต์ แล้วกราบ ๓ ครั้ง เอามือลงไว้บนหน้าอก เทียมศักดิ์กับผมได้แต่ยกมือประณมขึ้นตาม เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้ดีไปกว่านั้น

ตอนหลัง คุณฐาปวีร์ หรือ ตะวัน บอกว่า เธอโผล่เข้าประตูไปเห็นเราสองคนยืนประณมมืออยู่คนละข้างเตียง หลวงปู่ยกผ้าไตรคล้ายกับกำลังจะถวายใคร

พอพวกเราออกมา คุณตะวัน ก็เข้าไป ถามหลวงปู่ว่ามีพระมาใช่ไหม? หลวงปู่แสดงอาการตอบรับว่าใช่ และได้ความว่า ท่านหลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระบาทเขารวก จ.พิจิตร มาเยี่ยม

พวกเราเข้าไปครั้งที่สอง เข้าไปล้อมเตียงหลวงปู่อยู่ ๔-๕ คน พยาบาลก็ไม่ห้าม (เพราะพวกเราดื้อ)

หลวงปู่ทำท่าขอกระดาษ ปากกา เทียมศักดิ์ได้ฉีกกระดาษเปล่าที่อยู่แผ่นสุดท้ายในแฟ้มคนไข้ส่งให้ ใช้แฟ้มคนไข้เป็นที่รองเขียน หลวงปู่รับปากกาเขียนขยุกขยิกลงไป มีอยู่กลุ่มหนึ่งอ่านได้ชัดเจนว่า “เผาศพ” เทียมศักดิ์ ตกใจแต่ไม่กล้าบอกพวกน้องๆ ที่อยู่ที่นั่น กลัวพวกเราจะเสียกำลังใจ

พอ ๖ โมงเย็น หมดเวลาเยี่ยม พวกเราก็กราบลาหลวงปู่ ออกมานอกห้อง มีลูกศิษย์-ลูกหลานไปเฝ้าหลวงปู่เย็นนั้นสัก ๑๐ คนเห็นจะได้ แต่ละคนพอจะคาดเดาอะไรได้บ้าง แต่ละคนนิ่งเงียบ ยังรอนอกห้องไม่ยอมกลับ ผมได้บอกกับคณะว่า ขอทุกคนอย่าได้เศร้าโศกหรือหมดกำลังใจ เราสวดมนต์ และหลวงปู่ก็พร่ำสอนว่า การเจ็บการตายเป็นของธรรมดา ไม่ใช่สิ่งผิดปกติแต่อย่างใด และท่านยังพูดเสมอว่า

“พวกขี้แย น้ำตาไหล ซะ ซะ พระพุทธองค์ไม่ขนไปพระนิพพานด้วยหรอก ”

ขอให้ทุกคนแยกย้ายกันกลับบ้าน ฝากเบอร์โทรศัพท์ไว้กับพยาบาล แล้วพวกเราต่างก็แยกย้ายกันกลับ ผมย้ำกับหมู่พวกเราว่า

“ทำใจให้สบาย อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดาหลวงปู่กำลังแสดงให้เราดูแล้ว ขอให้กลับไปพิจารณาให้เห็นชัด”

๘๕. ถวายการสรงน้ำ

หลวงปู่เพ็ง เป็นพระกรรมฐานที่มีจิตใจเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว พูดตรง ทำจริง ท่านเคยส่งว่า

“อย่าเอาศพอาตมาไว้เป็นเครื่องมือหากินเด้อ ให้เผาภายใน ๓ วัน ไม่ต้องมีพิธีรีตอง ไม่ต้องนิมนต์พระสวดให้อาตมา ถ้าสวดก็สวดให้พวกสูที่ยังอยู่ก็แล้วกัน”

วันพุธที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เวลาใกล้ๆ จะถึง ๔ ทุ่ม ผมได้รับโทรศัพท์จากคุณสุรสิทธิ์ เวียงอินทร์ ลูกชายของหลวงปู่บอกว่าทางโรงพยาบาลแจ้งมาว่า หลวงปู่ ได้มรณภาพแล้ว น่าจะเป็นเวลา ๒๑. ๒๕ น. แล้วพวกเราก็ส่งข่าวถึงกัน และนัดแนะไปพบกันที่โรงพยาบาลในตอนเช้า

ผมโทรศัพท์ไปหาคุณเทียมศักดิ์-คุณสมทรง ทั้งสองคนจะไปประสานงานที่โรงพยาบาลแต่เช้า ส่วนผมขอจัดการธุระบางอย่างก่อนจะไปถึงโรงพยาบาลประมาณ ๙ ๐๐ น

เช้าวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ คณะศิษย์ไปพร้อมกันที่ห้องเก็บศพของโรงพยาบาล มีพระสงฆ์ ๒ องค์ คือ ครูบาวีระโชติ กับ ครูบาสมัคร นอกนั้นเป็นฆราวาสจำนวน ๑๐ กว่าคน

มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคอยช่วยเหลือ ๓ คน คนที่ ๑ ขอให้ไปติดต่อขอใบมรณบัตรที่อำเภอ คนที่สอง ช่วยจัดการติดต่อรถ และโลง คนที่สาม จัดการเรื่องการกราบขอขมาและถวายน้ำสรงหลวงปู่

พวกเราช่วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลฉีดยากันเน่า ห่มจีวรถวายหลวงปู่ จัดให้ท่านนอนบนเตียงเข็น จัดตั้งกระถางธูปเทียน ทำพิธีขอขมา แล้วจัดถวายน้ำสรงในบริเวณห้องเก็บศพนั้นเอง ถวายน้ำสรงเสร็จทุกคนแล้วก็อัญเชิญท่านลงในโลงที่ทางโรงพยาบาลสั่งมาให้

ประมาณ ๑๑.๐๐ น. เมื่อรถพร้อม พิธีสรงน้ำเสร็จ ได้รับใบมรณบัตรจากอำเภอเรียบร้อย ก็เคลื่อนรถนิมนต์หลวงปู่กลับจังหวัดร้อยเอ็ด มีครูบาวีระโชติ ครูบาสมัคร และคุณนักรบ ศิษย์อุปัฏฐากหลวงปู่ ติดตามไปกับรถ ส่วนเทียมศักดิ์กับผม ขับรถตามไปทีหลัง เพราะต้องจัดการธุระบางอย่างก่อน

ในใบมรณบัตรระบุว่า หลวงปู่มรณภาพเนื่องจาก “ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนอากาศ”

เป็นอันว่าท่านพระครูสิริหรรษาภิบาล (หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม) ได้ละสังขารที่สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลประสาทพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ เวลา ๒๑.๒๕ น.

สิริรวมอายุได้ ๘๗ ปี ๖ เดือน ๗ วัน พรรษา ๓๖ (เฉพาะการบวชครั้งที่สอง)

๘๖. กำหนดการบำเพ็ญกุศล

พิธีถวายน้ำสรงที่ พระครูศิริหรรสาภิบาล (หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม) วัดป่าสามัคคีธรรม

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ท่านไม่ใช่พระดัง ท่านพูดให้ฟังว่า

“พระก็เหมือนกบ ตัวไหนร้องเสียงดังคนยิ่งชอบ เพราะตัวมันโต เรียกให้คนไปเสาะหา แล้วก็ตายเพราะเสียงร้องของมัน”หลวงปู่ถือคติดังกล่าวเป็นเครื่องเตือนใจท่านเสมอ และพูดด้วยความมั่นใจว่า

“ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ต้องง้อ ไม่ต้องอ้อนวอน ใครมีบุญใครสนใจ ก็เข้ามาศึกษา มาปฏิบัติเอาเอง”

เนื่องจากหลวงปู่ท่านเป็นพระง่ายๆ ไม่เน้นพิธีรีตอง การจัดงานศพของท่านจึงต้องให้เรียบง่าย และให้เร็วที่สุด ให้เผาภายใน ๓ วัน

ศพของหลวงปู่เดินทางไปถึงวัดป่าสามัคคีธรรมในวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. อัญเชิญไปตั้งบำเพ็ญกุศลในศาลาอเนกประสงค์ของวัด

ผมกับคุณเทียมศักดิ์ ขับรถตามไป ถึงวัดประมาณ ๒๐.๐๐ น. ภายหลังศพหลวงปู่ราว ๑ ชั่วโมง เห็นญาติโยมรออยู่ ๒๐ กว่าคน มีท่านพระครูญาณรัตนากร เจ้าอาวาสวัดป่าทรงธรรม และเจ้าคณะอำเภอโพนทอง ท่านมานั่งเป็นประธาน และเป็นแม่งานให้ ทำให้พวกเรามีหลักยึดเกาะในการจัดงานศพหลวงปู่ ทำให้ไม่รู้สึกเคว้งคว้าง

นอกจากนี้ยังมี อาจารย์มหาอดิศักดิ์ จันทกำจร จากยุวพุทธิกสมาคม จังหวัดร้อยเอ็ด มาช่วยอย่างแข็งขันอีกแรงหนึ่ง การดำเนินงานจัดการศพของหลวงปู่ ก็ดูมั่นใจขึ้น

พวกเราจัดการประชุมปรึกษากันถึงการดำเนินงานบำเพ็ญกุศลศพหลวงปู่ทันที โดยมีท่านพระครูญาณรัตนากร เป็นประธานในที่นั้น ผู้ร่วมประชุม ได้แก่ ครูบาวีระโชติ ครูบาสมัคร พระลูกศิษย์ของหลวงปู่ ตัวแทนญาติโยมจากวัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนสวรรค์ ตัวแทนญาติโยมจากวัดป่าสิริปุณโณ บ้านฝาง มีคุณสำราญ-คุณวิไลจิต สุ่มมาตย์ ตัวแทนลูกหลานหลวงปู่ มีผมกับเทียมศักดิ์เป็นตัวแทนศิษย์จากกรุงเทพฯ และอาจารย์มหาอดิศักดิ์ จากยุวพุทธิกสมาคมร้อยเอ็ด

พวกเรายึดคำสั่งของหลวงปู่ว่าให้เผา ไม่ให้เก็บร่างท่านไว้ แต่เผาใน ๓ วันนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะกะทันหันเกินไป น่าจะเป็นวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้ศิษย์ที่อยู่ไกลๆ มาร่วมได้

เมื่อดูตามปฏิทินแล้ววันเสาร์ที่ ๙ – อาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๕ น่าจะเป็นช่วงที่เร็วที่สุดพอจะทำได้ จัดเร็วกว่านั้นพวกเราติดธุระ ท่านพระครูต้องเดินทางไปจังหวัดอื่น ส่วนผมเองติดภาระต้องพาพรรคพวกไปทอดผ้าป่าสร้างเจดีย์หลวงปู่มั่น ที่วัดป่าพระอาจารย์มั่น บ้านแม่กอยอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

พวกเราตกลงกันจะขอพระราชทานเพลิงด้วย โดยท่านพระครูญาณรัตนากร เป็นผู้ดำเนินเรื่องไปจากจังหวัดร้อยเอ็ด แล้วให้ผมไปจัดการต่อที่กรมการศาสนา และแน่นอนเรื่องการจัดทำหนังสือที่ระลึกก็มอบให้ผมรับเอาไป

เราตกลงเรื่องกำหนดการ ดังนี้

๑๔ กุมภาพันธ์ – ๙ มีนาคม ๒๕๔๕ : ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าสามัคคีธรรม เวลา ๑๙.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมทุกคืน

พุธที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ : ทำบุญครบรอบ ๗ วัน

เสาร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๕ : พิธีพระราชทานเพลิงศพ

อาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๕ : พิธีเก็บและฉลองอัฐิ

เมื่อทราบกำหนดการที่ชัดเจน และแบ่งหน้าที่กันแล้วก็แยกย้ายกันไปพักผ่อนหลับนอน

๘๗. หลวงปู่สั่งอะไรและเตรียมอะไร

เกี่ยวกับงานศพของท่าน

แน่นอน หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ท่านจากพวกเราไป ย่อมเป็นที่ห่วงหาอาลัยแก่บรรดาศิษย์ และผู้ที่เคารพศรัทธาในตัวท่าน

ท่านเน้นย้ำให้พิจารณาทุกอย่างให้เป็นธรรมะให้เห็นว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องนำมาเศร้าโศกเสียใจ

หลวงปู่พูดเสมอว่า “คนขี้แย ร้องไห้น้ำตาไหล ซะ ซะ พระพุทธเจ้าท่านไม่เอาไปนิพพานดอก”

เรื่องจัดการศพ ท่านพูดบ่อยว่าให้เผาให้เร็ว ใน ๓ วันทำง่ายๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตอง ไม่ต้องสวดให้ท่าน ถ้าจะสวดให้สวดเพื่อเตือนคนอยู่ ที่สำคัญไม่ให้เก็บร่างท่านไว้ เพื่อเป็นเครื่องมือหาเงิน หรือเพื่อดึงคนเข้าวัด

ท่านบอกว่า แม้สรีระของพระพุทธองค์ท่านยังให้เผาภายใน ๗ วัน ร่างกายที่ไม่เน่าไม่เปื่อยจะมีหรือ? ธรรมชาติของร่างกายต้องผุพังสลายไป มีดวงจิตเท่านั้นเป็นตัวอมตะ คือไม่รู้จักตาย

หลวงปู่ เตรียมโลงศพของท่านไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้าท่านสิ้นลงให้ไปถามเอาที่วัดเทิงเสาหิน ผมได้โทรศัพท์สอบถามไป ท่านหลวงปู่พรหม ได้ให้ญาติโยมนำมาให้ตั้งแต่เช้าวันศุกร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ทันการสวดพระอภิธรรมในวันแรก

หลวงปู่ ได้เตรียมที่ดินไว้หนึ่งแปลง เนื้อที่ประมาณ ๔ งาน ไว้ตรงมุมด้านขวามือทางเข้าวัด เกลี่ยที่ไว้เรียบร้อยสำหรับเป็นที่เผาศพของท่าน

ในบริเวณเดียวกัน ได้เริ่มก่อสร้างศาลาชั้นเดียว ๑ หลังเทพื้น และขึ้นโครงหลังคาไว้แล้ว เตรียมไว้ให้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์บริขารของท่าน และบอกฝากคุณฐาปวีร์ หรือ คุณตะวัน ว่าให้ทาสีเขียว

หลวงปู่บอกไว้กับครูบาวีระโชติ ว่าท่านต้องการทำบุญด้วยผ้าไตรจีวรจำนวน ๑๐๐ ชุด พวกเราได้เตรียมจัดถวายในวันพระราชทานเพลิงศพของท่านไว้เรียบร้อยแล้ว

เรื่องที่ดินเนื้อที่ ๑๒ ไร่เศษ ที่อยู่ติดด้านหลังศาลาท่านต้องการให้ซื้อไว้ เพื่อทำเป็นเขตที่พักสำหรับพระสงฆ์ หลังจัดการพระราชทานเพลิงศพท่านแล้วคงจะได้เริ่มดำเนินการ

อีกเรื่องที่เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยตรง คือ การทำหนังสือที่ระลึกของท่าน อยากให้มีประวัติของ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ บิดาของท่าน ไว้ด้านหน้าด้วย

คณะศิษย์คงจะได้ร่วมกันจัดทำทุกอย่างตามเจตจำนงของหลวงปู่ให้ลุล่วงด้วยดี

ที่หลวงปู่เน้นย้ำที่สุดคือให้ภาวนาอย่างจริงจัง อย่ามัวทำเล่นๆ เพราะ “ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล พวกสูก็ยังไม่เอาจริง พระพุทธเจ้าชวนไปพระนิพพานก็ยังไม่อยากไป มาชาตินี้ยังทำเล่นๆ อีกก็ตามใจ อาตมาไม่รอแล้ว”

๘๘. พลังจิตเปี่ยมด้วยเมตตา

ในตอนนี้เป็นตอนสุดท้าย ซึ่งจะปิดต้นฉบับมอบให้โรงพิมพ์ ไม่สามารถยืดเวลาไปได้อีกแม้แต่วันเดียว ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันแจกในวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ วันเสาร์ที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๕

ด้วยความบังเอิญ และความลงตัวอย่างพอดี เช่นเดียวกับเมื่อตอนที่ผู้เขียนทำหนังสือพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่แว่น ธนปาโล วัดถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เมื่อ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๒

คราวนั้นหลวงปู่แว่น ธนปาโล มรณภาพเมื่ออายุ ๘๘ปี หนังสือที่ระลึกของท่านก็จบตอนที่ ๘๘ พอดี

และครั้งนี้ เขียนด้วยผู้เขียนคนเดียวกัน ทำหนังสือที่ระลึกหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด ท่านมรณภาพเมื่ออายุย่างเข้าปีที่ ๘๘ ประวัติของท่านก็จบในตอนที่ ๘๘ เช่นเดียวกัน

ก่อนปิดต้นฉบับ ผู้เขียนได้รับข้อเขียนจาก คุณวัฒนา ฉั่วชื่นสุข ลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงปู่ได้เขียนถึงหลวงปู่ ในชื่อเรื่องว่า “พลังจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตา” จึงได้นำมาลงเป็นตอนที่ ๘๘ ตอนสุดท้ายเกี่ยวกับประวัติของหลวงปู่ ดังนี้

พลังจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตา

ของหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม อายุ ๘๘ ปี

ใครจะคาดเดาได้ว่า ชีวิตที่แสนจะประเสริฐด้วยเมตตาของหลวงปู่ ได้ดับมอดไปแล้วจริง ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

การละสังขารของหลวงปู่ ผู้เปรียบเสมือนผู้นำทางจิตวิญญาณของผู้ใฝ่ธรรม ได้จากพวกเราไปอย่างถาวร เหลือไว้แต่คำสอน เพื่อนำไปปฏิบัติจนหลุดพ้นภพชาติให้ได้ สมกับที่หลวงปู่พูดไว้เสมอๆ ว่า “จะมัวชักช้าอยู่ทำไม เวลาไม่คอยท่า มุ่งปฏิบัติให้มันจริงจังก็เข้าสู่กระแสธรรมได้ทุกๆ คน”

ดิฉัน นางวัฒนา ฉั่วชื่นสุข ได้เข้าปฏิบัติกับหลวงปู่ ด้วยความบังเอิญ เนื่องจากได้รับคำสั่งจากหัวหน้าศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ให้ไปดำเนินการขออนุญาตใช้สถานที่ ที่เป็นอาคารที่ทำการของสภาตำบลเก่าหลังหนึ่ง ที่ว่างอยูเพื่อใช้ในการสอนวิชาชีพระยะสั้น และเป็นที่พบกลุ่มของนักศึกษาสายสามัญ ชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย

การเข้าไปครั้งแรกที่วัดเทิงเสาหิน ดิฉันรู้สึกกลัวสถานที่มาก เนื่องจากมีอาณาเขตกว้างถึง ๘๐ ไร่ ถึงแม้จะห่างจากตลาดอำภอเทิงไม่มากนัก ถ้าจะพูดว่าวัดเทิงเสาหินเป็นป่าที่เกิดอยู่เกือบกลางเมืองก็น่าจะได้

ในบริเวณวัด มีโบราณสถานเก่าแก่ อายุเป็นพันปีและวิหารที่ก่อสร้างใหม่ มีพระพุทธรูปปางสิงห์หนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (หน้าตักกว้าง ๙ เมตร สูง ๙ เมตร) หลวงปู่บอกว่าในการสร้างนั้น มีญาติโยมส่งเงินมาทำบุญจากคนทั่วโลกก็น่าจะพูดได้ ดิฉันมองดูด้วยความรู้สึกศรัทธาเป็นอย่างมาก

ในวันที่เข้าไปกราบขออนุญาต หลวงปู่ ก็เมตตาอนุญาตให้ใช้สถานที่ได้ตามต้องการ และบอกให้จัดการปฏิบัติธรรมไปด้วย เพราะที่วัดนี้มีพระนักปฏิบัติอันเยอะ เพียงแต่ประชาชนในเขตนี้ไม่ค่อยสนใจและไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยราชการ

การดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ จึงเกิดขึ้น และ หลวงปู่ได้มอบหมายให้ แม่ชีเพชรัตน์ เข้ามาช่วยเหลืออำนวยความสะดวก เมื่อเริ่มดำเนินการก็ได้ขยายพื้นที่ออกมาอีก ใช้ใต้ถุนศาลาที่ครอบพระประธานนั้น โดยปรับปรุงให้เป็นสถานที่สอนนักศึกษา กศน. ทำการเปิดสอนนักเรียนทั่วทุกตำบล หมู่บ้านในเขตอำเภอเทิง พร้อมกับการจัดปฏิบัติธรรม โดยมีหลวงปู่เป็นประธาน เปิดเป็น “ศูนย์ปฏิบัติธรรมหลวงปู่เพ็ง พุทธธัมโม” ขึ้นในเดือนมิถุนายน ๒๕๓๙ นับจำนวนผู้เข้าอบรม เฉพาะอบรมธรรมได้ ๖๒๘ คน

พอย่างเข้าเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๙ ซึ่งดิฉันจำได้ว่าเป็นวันที่๗ ก.ค. ๓๙ ดิฉันมีอากาปวดศีรษะอย่างมากทางซีกซ้าย ปวดมากจนมือเล็บเขียวไปหมด

สาเหตุมาจากไปงานศพเพื่อนครูที่ตายด้วยโรคเอดส์ ดิฉันไปถึงบ้านศพก็ได้กลิ่นสาบของศพมาก แต่คนอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นไม่มีใครได้กลิ่น ดิฉันก็อดทน เพราะคิดว่าคงอยู่ไม่นาน

แต่อาการที่ทำให้ตกใจคือ ตาข้างขวาเริ่มพร่ามัวมองเห็นอะไรไม่ชัด จึงขอให้สามี คือ อ.วิเชียร ช่วยขับรถไปหาหลวงปู่ที่วัด แต่หลวงปู่มีกิจนิมนต์ที่ กทม. ก็เลยไปที่กุฏิแม่ชี ที่อยู่ด้านหลังวัด ขอยาแก้ปวดทานไป ๒ ครั้งๆ ละ ๒ เม็ด อาการทุเลา จึงไปพบแพทย์ประจำตัว แพทย์ลงความเห็นว่าดิฉันทำงานมาก คิดมาก เส้นเลือดในสมองตีบ เลือดไปเลี้ยงไม่พอ จึงฉีดยานอนหลับให้ กลับมานอนพักที่บ้าน

๘ ก.ค. ๓๙ ดิฉันรู้สึกมึนงงมาก แต่ก็ลุกจะไปทำงาน จึงได้รับประทานอาหาร พอกลืนอาหารก็รู้สึกว่าไม่สามารถกลืนลงได้ ข้าวติดอยู่ที่คอต้องค่อยๆ ตั้งสติ ล้วงเอาอาหารออกมา และรู้สึกถึงความผิดปกติครั้งใหญ่ และมีอาการชาที่ปลายนิ้วมือด้านขวา ลามถึงแขน ใบหน้าหยิกไม่เจ็บ ดิฉันรู้ได้ทันทีว่าต้องรีบปฐมพยาบาล ด้วยการใช้ยาหม่องนวดถูไปตามจุดที่คิดว่าสามารถคลายเส้นนั้นได้

๙ ก.ค. ๓๙ ดิฉันปรึกษากับสามีว่า ระหว่างโรงพยาบาล กับวัดหลวงปู่ จะไปทางไหน ในที่สุดก็ไปวัด กราบเรียนหลวงปู่ถึงอากาป่วยของดิฉัน ซึ่งในเวลานั้นดิฉันไม่ได้ทานอาหาร ๓ วันแล้ว แม้แต่น้ำก็ต้องค่อยๆ จิบ เหมือนนกกระจิบกระจอก

หลวงปู่ ได้จัดที่พักบริเวณใต้ถุนวิหารให้อยู่พักกับแม่ชี ๑ รูป ดิฉันได้พักอยู่ที่วัด ๒๐ วันอาการทรุดลงไปมาก เนื่องจากไม่ได้กินอาหาร ต้องทุกข์ทรมานกับเวทนา คือ หิว และปวดหัว และคอยนวดร่างกายทางซีกขวาไว้ เพราะกลัวเป็นอัมพาต

จนในที่สุด สามี คือ อ.วิเชียร ต้องลาบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ขอละเว้นชีวิต และดิฉันก็ต้องถูกหามส่งโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงราย ในวันที่สามีบวชพอดี ช่วงนั้น หลวงปู่ ติดกิจนิมนต์ที่ กทม. นานหลายวัน

ในขณะที่ความรู้สึกเริ่มเลือนลางแทบจำอะไรไม่ได้ เพราะร่างกายเพลียมาก แม่ชีได้กรุณาอนุเคราะห์โทรบอกหลวงปู่ ท่านรีบบินกลับมาเยี่ยมดิฉันที่โรงพยาบาลเชียงรายทันที ดิฉันจำได้ว่าเป็นเวลา ๑ ทุ่มตรง

ความเมตตาของหลวงปู่ที่มีต่อศิษย์อย่างดิฉันหาที่เปรียบไม่ได้ ท่านบอกให้ดิฉันดื่มน้ำ ๑ แก้วเต็มๆ ดิฉันไม่กล้าดื่ม เพราะกลัวติดคอ หลวงปู่ก็บอกว่าให้ดื่มเสีย จะได้บรรเทาอาการป่วย ดิฉันตัดสินใจดื่มพรวดเดียวเกลี้ยง เป็นที่แปลกใจแก่ทุกคนที่อยู่ที่นั้นว่าทำไมดิฉันจึงดื่มได้ ทั้งๆ ที่ดื่มและกินอะไรไม่ได้นานถึง ๒๐ วัน

ดิฉันนอนรักษาตัวอยู่ ๗ วัน หมอก็เพียงแต่ให้น้ำเกลือ และในวันที่ ๗ นั้น หมอ ๒ ท่าน ตัดสินใจจะสอดกล้องส่องเข้าไปดูในลำคอเพราะสงสัยว่าจะมีก้อนเนื้อร้าย ต้องวางยาสลบด้วย แต่แพทย์ก็ยังไม่กล้าทำ เพราะร่างกายดิฉันอ่อนเพลียมาก การวางยาสลบจะเป็นอันตราย

ดิฉันนอนฟังหมออธิบาย และคิดว่าในเมื่อเราจะตายขอไปตายที่วัดกับหลวงปู่ดีกว่า จึงตัดสินใจขอออกจากโรงพยาบาลในขณะที่ร่างกายแย่ที่สุด ได้เหมารถกลับไปอำเภอเทิง

เมื่อถึงวัด ตรงขึ้นไปกราบหลวงปู่ บอกว่าทนไม่ไหวแล้ว ขอมาตายที่วัดหลวงปู่ดีกว่า หลวงปู่ก็เมตตาจัดให้ไปพักที่เดิม ให้แม่ชีมาคอยดูแล

หลวงปู่สอนให้ทำสมาธิภาวนา ดูลมหายใจเข้าออก ตรวจดูกายของตนเป็นที่ตั้ง เพียงแต่ให้คิดว่า คนเราตราบใดที่มีลมหายใจเข้า-ออก ถือว่าชีวิตนั้นยังดำเนินอยู่ ถ้าไม่มีลมเข้า-ออกในกายนี้ก็คือตาย ท่านจึงให้ตามดูลมหายใจไปเรื่อยๆ

ดิฉันเล่ามาถึงตรงนี้ คนทั่วไปคิดว่าง่ายมากแค่หายใจเข้า-ออกทำไมจะทำไม่ได้ แต่ขณะนั้นดิฉันป่วยหนักจวนจะตายก็ว่าได้ มันทำไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

ดิฉันได้สร้างกรรมมามาก เคยฆ่างูใหญ่ตาย เคยทำงานในสถานที่รับทำแท้ง (ถูกกฎหมาย) และทำมามาก วิบากกรรมจึงตามสนองอย่างรุนแรง รวมเวลาป่วยหนักถึง ๘ เดือน

แต่ด้วยอำนาจเมตตาจากหลวงปู่ ท่านเห็นคุณค่าแก่ทุกชีวิตที่มาขอพึ่งบารมี ท่านแผ่พลังแห่งความเมตตาช่วยรักษา ช่วยชุบชีวิตคืนให้แก่ติฉัน ทั้งๆ ที่ดิฉันนอนหมดลมหายใจไปแล้ว ให้ได้มีชีวิตกลับคืนมาอย่างไม่น่าเชื่อ

ธรรมะเพียงสั้นๆ ที่ท่านให้นำไปพิจารณาในสมาธิทำให้เห็นตามความเป็นจริง และรอดพ้นจากความตายได้อย่างน่าอัศจรรย์

หลังจากดิฉันหายจากการเจ็บป่วยแล้ว ดิฉันได้ติดตามหลวงปู่มาตลอด ตามมาอยู่ปฏิบัติภาวนาที่วัดของท่านที่ร้อยเอ็ด จนถึงทุกวันนี้

ธรรมะและเมตตาจากหลวงปู่ นำพาชีวิตของดิฉันและครอบครัวให้หลุดพ้นจากวิบากกรรมมาได้ หลวงปู่สอนให้ “ละชอบ-ละชัง” ทำใจให้เป็นกลาง หมั่นฝึกสมาธิภาวนา ให้รู้จักพิจารณาอารมณ์ของตนเอง ว่าอารมณ์ใดเป็นอารมณ์เจ้าเรือน ก็ให้จี้พิจารณาละออกให้ได้ จนพบความสว่างของดวงจิต ก็จะสามารถก้าวไปสู่มรรค ผล นิพพานตามกำลังของตนเอง

ณ เวลานี้ ไม่มีร่างกายสังขารของหลวงปู่ที่จะคอยสอนคอยเตือน แต่ธรรมะที่หลวงปู่เคยสอนลูกหลานไว้ จะเป็นพลังชีวิตทางดำเนินชีวิตของศิษย์ไปตลอด ขอกราบแทบเท้าระลึกถึงหลวงปู่ตลอดไป

ด้วยความรักและศรัทธาสุดหัวใจ

จากศิษย์-วัฒนา ฉั่วชื่นสุข

เป็นอันว่าประวัติและปฏิปทาของ หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม จบลงในตอนที่ ๘๘ เท่าอายุของหลวงปู่พอดี

หากมีข้อผิดพลาดพลั้งไปประการใด ผู้เขียนกราบเท้าขอขมาต่อหลวงปู่ กราบขอขมาผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน และขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยใจเคารพ

ปฐม นิคมานนท์

๖ มีนาคม ๒๕๔๕

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ https://www.phutthathum.com/