วันอังคาร, 10 ธันวาคม 2567

หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง ต.บ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง ต.บ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง

ชีวประวัติและปฏิปทา

หลวงปู่เพียร วิริโย เกิดวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ํา เดือน ๑๑ ปีขาล (๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙) ณ บ้านสีฐาน ตําบลกระจาย อําเภอคําเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นบ้านศรีฐาน ตําบลศรีฐาน อําเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร)

โยมบิดาชื่อพา นามสกุล จันใด

โยมมารดาชื่อ วัน นามสกุล จันใด

นามเดิมหลวงปู่ชื่อ เฟือน จันใด ก่อนบวชโยมแม่ได้พาไปฝากเป็นนาค ที่วัดป่าบ้านสีฐาน และพระอาจารย์ช่วยได้เมตตาเปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น เพียร และ มีชื่อฉายาว่า วิริโย (หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ ได้เมตตาเล่าให้ฟัง เมื่อ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒)

หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง จ.อุดรธานี

หลวงปู่เมตตาเล่าให้ฟัง (๒๑ กันยายน ๒๕๔๖)

โดยโยมแม่เล่าให้หลวงปู่ฟังว่า… ก่อนที่ท่านจะเกิดนั้น โยมแม่ได้ฝันไปว่ามีสายแห่พันคอของลูกที่อยู่ในครรภ์ (สายแห่ หมายถึง ผ้ากาสาวพัสตร์ คือ ผ้าที่ย้อมด้วยน้ําฝาด, หรือ ผ้าเหลืองของพระ)

หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง ต.บ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

เรื่องการบวชนั้น หลวงปู่เคยคิดอยากบวชตั้งแต่เป็นเด็ก ขณะที่คิดนั้นอายุได้ ๕ ปี สาเหตุเพราะมองเห็นว่าการทํานานั้นมันเหนื่อยมาก จึงไม่อยากทํานา เคยนิมิตเห็นความตาย ความรู้สึกตอนนั้นเหนื่อยมากเหมือนใจจะขาด เหมือนกับว่าจะตายจริง ๆ ครั้งหนึ่งไปนั่งอยู่ใต้ถุนเรือนที่เขาทอกี่ทอหูก จิตคิดถึงความตาย โอ่ย…มันสลดสังเวชนะ หลวงปู่บอกว่า นี่ล่ะ….วาสนาของเราเคยทํามาตั้งแต่อดีต มันมีนิสัย อีกวันหนึ่งหลับไป ฝันว่าได้บวชเป็นเณร ดีใจมากในฝันตอนนั้น พอรู้สึกตัวตื่นขึ้น อ้าว ! ไม่ใช่ซะนี่ ในวัยเด็กนั้นรู้สึกสงสารโยมพ่อกับโยมแม่มากที่เหนื่อยจากการทํางานทํานา หลวงปู่จึงไม่ค่อยได้ไปโรงเรียน เหตุนี้จึงทําให้หลวง ปู่อ่าน-เขียนหนังสือไม่ค่อยได้ เมื่อก่อนจะบวชตอนเป็นหนุ่มก็เคยคิดชอบผู้สาวอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยคิดจะมีครอบครัวเพราะเห็นว่ามันไม่สนุก เวลาเห็นคนอื่นเขามีกันแล้วปล่อยเนื้อปล่อยตัว และต้องเหนื่อยมากทําเพื่อลูกเพื่อเมีย เลยคิดว่าถ้าเราจะมีก็เอาไว้โน่นล่ะ ๔๐-๕๐ ปีจึงค่อยมี และคิดว่าถ้าเราบวชมันคงจะเป็นคนละโลกกับการมีลูกมีเมีย

หลวงปู่เล่าให้ฟังถึงความเกี่ยวข้องในอดีตชาติ (๔ ตุลาคม ๒๕๔๗)

ได้เคยเกิดเป็นลูกของหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน โดยหลวงตามหาบัวได้บอกกับท่านเอง และเคยเกิดเป็นลูกของคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ํา โดยทราบจากการบอกเล่าของ คุณแม่ชีแก้ว เมื่อคราวที่เข้าไปที่สํานักบ้านห้วยทราย

(เมื่อ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒) หลวงปู่เมตตาเล่าให้ฟังว่าอดีตชาติเคยเกิดเป็นน้อง ของหลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร) วัดป่าแก้วชุมพล และได้เคยร่วมสร้างบุญบารมีมากับ หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ) หลายภพหลายชาติจนกระทั่งถึงชาติปัจจุบัน และมีอีกหลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในชาติปัจจุบัน แต่จะไม่ขอเอ่ยนามเพื่อความเหมาะสมในธรรมของหลวงปู่

เข้าสู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์

ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ โยมแม่ได้พาไปฝากเป็นนาคที่วัดป่าสีฐาน ตําบลกระจาย อําเภอ คําเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบ้านศรีฐาน ตําบลศรีฐาน อําเภอ ป่าติ้ว จังหวัดยโสธร) ซึ่งเป็นวัดที่บ้านเกิด สังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย และวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลา ๑๐.๒๒ น. หลวงปู่ได้บรรพชา อุปสมบท ณ วัดป่าสีฐาน ตําบลกระจาย อําเภอคําเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระครูพิศาลศีลคุณ เป็นพระอุปัชฌายะ และมี พระมหาแสง เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ช่วงที่โยมแม่นําไปฝากบวชนั้นหลวงปู่ได้อยู่วัด เพื่อเรียนรู้กิจวัตรข้อวัตรต่าง ๆ และซ้อมท่องคําขออุปสมบท โดยให้สามเณรในวัดอ่านและออกเสียงให้ฟังเป็นตัวอย่าง เพราะช่วงนั้น หลวงปู่อ่าน-เขียนไม่ค่อยได้ เนื่องจากวัยเด็กไม่ค่อยได้ไปเรียนหนังสืออยู่บ้านช่วยโยมพ่อโยม แม่ทํางาน แต่หลวงปู่ก็ท่องจําได้ และได้บวชในเวลาต่อมา

ปฏิปทาและจริตนิสัย

หลวงปู่เป็นพระที่ไม่ชอบทํางานภายนอก เช่น งานก่อสร้างต่าง ๆ ไม่ชอบการคลุกคลี พูดคุย เตือนพระลูกศิษย์อยู่เสมอไม่ให้คลุกคลีกัน เน้นให้ทําความเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิ โดยหลวงปู่จะเมตตาทําเป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่ทุกวันในช่วงที่ธาตุขันธ์ของท่านยังแข็งแรงเป็นปกติ สอนให้อยู่อย่างพระเคร่งครัดในธรรมวินัย จะไปตรวจดูตามกุฏิของพระ-เณรอยู่เสมอว่า ทําความเพียรกันหรือไม่ เมตตาและห่วงใยลูกศิษย์เสมอ ในเรื่องของฉันของใช้ หลวงปู่จะคอย ถามอยู่บ่อย ๆ ว่าอาหารพอฉันไหม? ถึงองค์ท้ายหรือเปล่า ? ใครไม่มีนาฬิกาปลุก ไฟฉายบ้าง ? และจะแจกแบ่งให้นําไปใช้ตามความเหมาะสม หลวงปู่เป็นผู้ที่มักน้อยสันโดษ จะเห็นได้จากการไม่ขวนขวายหารถยนต์มาไว้ใช้ เพื่อความสะดวกในการไปการมา หลวงปู่บอกว่า มันไม่ค่อยจําเป็น ไม่อยากเสียเวลาต้องมาคอยดูแลมัน ท่านบอกว่าเราเป็นพระ อย่าไป ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามโลกเขา แข่งกับโลกเขามันไม่ดี

หลวงปู่เป็นพระที่พูดน้อย จะพูดในสิ่งที่ควรพูดเท่านั้น เป็นผู้ที่เคร่งครัดในคําพูด คือ รักษาสัจจะ และมีอุปนิสัยใจร้อน ถ้านัดใครไว้จะต้องไปก่อนอย่างน้อย ๑-๒ ชั่วโมง ไม่ชอบทําอะไรที่ยาก จนหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เคยพูดให้ฟังเมื่อคราวมาเยี่ยมพระ-เณรที่ วัดว่า

“อะไรที่ยากท่านเพียรไม่เอา”

ทําอะไรภายในวัดไม่ว่าจะเป็นงานซ่อมแซม ต่อเติม ก็จะเรียกประชุมพระ-เณรให้มาช่วยกันเพื่อความรวดเร็วและสามัคคี หลวงปู่ไม่ค่อยสนับสนุน ให้พระ-เณรออกไปเที่ยววิเวกตามสถานที่ต่าง ๆ ท่านบอกว่ามันหมดแล้วล่ะป่าไม้ร่มเงาที่เคยมี สู้ภาวนาอยู่วัดไม่ได้ เพราะป่าไม้ก็ดีร่มเงาก็ดี พอดีทุกอย่าง และมรรคผลนิพพานนั้นมันก็ไม่ได้อยู่กับป่าไม้ ภูเขา ถ้ํา เงื้อมผา ดินฟ้าอากาศ แต่มันอยู่กับกายกับใจของเราต่างหาก ถ้าจะทํา ไปที่ไหนมันก็เหมือนเดิม ถ้าเราไม่ทํามันไม่ดูมัน หลวงปู่สอนเน้นย้ําพระ-เณรลูกศิษย์ให้ เอื้อเฟื้อต่อธรรมวินัยของเราให้มาก ๆ เพื่อความเจริญในธรรมของตนเอง

หลวงปู่นั้นมีจิตที่ไวเท่ากับความคิดของผู้ที่เข้าใกล้ท่าน แล้วขาดการสํารวมระวัง หลวงปู่จะพูดเตือนตรงใจผู้ที่กําลังคิดอยู่เสมอ สอนลูกศิษย์พระ-เณรให้อยู่อย่างพระ อยู่ไปตามยถากรรมของเรา คือ ตามมีตามได้ ไม่ให้ขวนขวายในการซื้อหาหรือรบกวนญาติโยม หลวงปู่จะสนับสนุนถ้าใครคิดจะบวช โดยจะไม่ทําให้ยุ่งยาก แต่ถ้าใครบวชแล้วคิดจะสึก ส่วนใหญ่จะถูกดุด้วยอุบายและวิธีแก้ความคิดอยากสึกในรูปแบบต่าง ๆ และท่านจะไม่เชื่อ ใครง่าย ๆ ถ้ามีใครมาพูดให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ นอกจากจะเห็นเองด้วยตาเสียก่อน หลวงปู่มีจริตนิสัยเป็นคนกล้า และดุ มีเหตุมีผล ดุคนที่ทําอะไรไม่พิจารณาหรือทําในสิ่งที่ไม่ควร ไม่ดูกาลเวลาขาดเหตุผล แต่จะเปี่ยมไปด้วยความเมตตาที่ไม่มีประมาณ กับผู้ที่ตั้งใจภาวนาและ เอื้อเฟื้อต่อธรรมวินัย ในส่วนของญาติโยมนั้นหลวงปู่จะเมตตาสงเคราะห์อยู่เสมอมามิได้ขาด

อาหาร ผลไม้ ขนมบางอย่างที่หลวงปู่ชอบเป็นพิเศษ เช่น ข้าวราดน้ําปลาร้า ขนมจีน แกงบอน แกงมะเฟืองใส่ปลา ปลาน้ําจืดทาเกลือย่าง ตั๊กแตนทอด จิ้งหรีดทอด ปลาซิว ปลาสร้อยแดดเดียวทอด-ย่าง อาหารส่วนใหญ่ต้องมีรสเค็ม ไม่ชอบฉันเปรี้ยว ผลไม้จําพวก ทุเรียน กล้วยน้ําว้า มะตูมสุกฉันกับข้าวเหนียว ขนมปังฉีกใส่แช่ในโอวัลตินหรือกาแฟ

ประวัติการจําพรรษาที่ ๑ – ๒๕

ที่หลวงปู่เมตตาเล่าให้ฟัง (๒๑ กันยายน ๒๕๔๖)

พรรษาที่ ๑ – ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๔๑)

มาจําพรรษาที่วัดป่าบ้านนิคม ตําบลกระจาย อําเภอคําเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดยโสธร)

จําพรรษาอยู่กับพระอาจารย์เพ็ง ๒ พรรษา แล้วพบกับท่านอาจารย์บุญมี ปริปุณฺโณ) จึงชวนกันเดินธุดงค์ไปหาครูบาอาจารย์ และได้มีโอกาสเข้าไปกราบหลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ถึง ๒ ครั้ง ได้พักอยู่กับ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน) ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร) ที่บ้านหนองโดก เข้าไปหาหลวงปู่ใหญ่มั่น ครั้งที่ ๒ กับท่านอาจารย์บุญจันทร์ กมโล)

พรรษาที่ ๓ – ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๒ – ๒๔๙๓)

จําพรรษาอยู่กับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่าบ้านหนองโดก อําเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร

พรรษาที่ ๓ นี้จิตรวมครั้งแรก นิมิตเห็นกระดานดําแผ่นใหญ่มีตัวหนังสือขึ้นมา ตั้งแต่นั้นมาจึงอ่านออกเขียนได้ อยู่บ้านหนองโดกนี้นิมิตเห็นโยมแม่ตาย และก็เป็นตามนั้นจริง ๆ)

พรรษาที่ ๕ – ๖ (พ.ศ. ๒๔๙๔ – ๒๔๙๕)

จําพรรษาอยู่กับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่เสนาสนะป่าบ้านดอนเงิน อําเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี พรรษาที่ ๕ ท่านหลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ) ได้พักจําพรรษาด้วยกัน

พรรษาที่ ๗ – ๘ (พ.ศ. ๒๔๙๖ – ๒๔๙๗)

จําพรรษาอยู่กับหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ที่วัดป่าบ้านห้วยทราย (วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ปัจจุบัน) บ้านห้วยทราย อําเภอคําชะอี จังหวัดมุกดาหาร

พรรษาที่ ๙ (พ.ศ. ๒๔๙๘)

จําพรรษาอยู่กับหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ใกล้สถานีทดลองเกษตรกรรม น้ําตกพริ้ว จังหวัดจันทบุรี พรรษานี้ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร) ก็ได้พักอยู่ด้วยกันที่นี่พอออกพรรษาก็กลับมาจังหวัดอุดรธานี มาช่วยกันสร้างวัดป่าบ้านตาดกับพ่อแม่ครูจารย์ (หลวงตา มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)

พรรษาที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๔๙๙)

จําพรรษาอยู่กับหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ที่วัดป่าบ้านตาด อําเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พ่อแม่ครูจารย์ (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ให้ไปช่วยงานศพท่านอาจารย์ช่วย และถ้าพบใครพอที่จะเป็นครูบาอาจารย์ได้ ถ้าจะอยู่ก็ให้อยู่ พอดีได้พบกับหลวงปู่ขาว อนาลโย) จึงไปอยู่กับท่านที่ถ้ํากลองเพล

พรรษาที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๐๐)

จําพรรษาอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดป่าแก้วชุมพล บ้านชุมพล อําเภอ สว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ได้มีโอกาสจําพรรษากับหลวงปู่หลุย จันทสาโร) ด้วย ออกพรรษาแล้วกลับไปที่ถ้ํากลองเพลอีก ไปพบกับท่านทา (หลวงปู่จันทา ถาวโร) ท่านเพ็ง (หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต) ท่านทุย (หลวงปู่ปรีดา ฉันทกาโร) แต่ไม่ได้อยู่จําพรรษาด้วยกัน

พรรษาที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๐๑)

จําพรรษาอยู่กับหลวงปู่บัว สิริปุณโณ) วัดป่าหนองแซง อําเภอหนองวัวซอ จังหวัด อุดรธานี

พรรษาที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๐๒)

จําพรรษาอยู่ที่วัดป่าแก้วชุมพล บ้านชุมพล อําเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

พรรษาที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๐๓)

จําพรรษาอยู่ที่ท่าควาย จังหวัดนครพนม พ่อแม่ครูจารย์ (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) กับ เจ้าคุณธรรมฯ (เจ้าคุณธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี) ทั้ง ๒ รูป ได้เมตตาไปเยี่ยมผมที่นั่น

พรรษาที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๐๔)

จําพรรษาอยู่กับท่านอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร) ที่วัดป่าบ้านห้วยทราย บ้านห้วยทราย อําเภอคําชะอี จังหวัดมุกดาหาร

พรรษาที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๐๕)

จําพรรษาอยู่กับหลวงปู่บัว สิริปุณโณ ที่วัดป่าหนองแซง บ้านหนองแซง อําเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

พรรษาที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๐๖)

จําพรรษาอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ํากลองเพล อําเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับอําเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลําภู) พรรษานี้หลวงปู่หลุย จันทสาโร ก็อยู่ด้วย ผมเองภาวนาจิตเจริญแล้วเสื่อม ๆ แต่ก็ไม่ได้บอกใคร นั่งภาวนาจิตสงบ เห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เหาะมาผมเลยกราบ โอ๊ย…. กราบอ่อนน้อม กราบงามนะ แต่พอจิตถอนกลับไม่ใช่ซะ ออกพรรษาเลยไปพักอยู่กับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่บ้านบะทอง อําเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร อยู่นี่ก็ภาวนาดีจิตสงบจิตรวมถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกจิตสงบ นิมิตเห็นใบไม้แห้งแล้วปลิวขึ้น เณรนั่งหลับสัปหงกตะคลุบกบ ผมเลยจิตถอน นั่งใหม่อีกก็ สงบอีก นิมิตเห็นข้าวสารไหลลงมาลิดๆๆๆ เณรนั่งหลับสัปหงกตะคลุบกบอีก จิตผมถอนอีก นึกรําคาญเณร เบื่อเณร เสียดายนะ เสียดาย แต่ก็นั่งใหม่อีก จิตรวมครั้งที่ ๓ นี่เงียบ หายไปเลย ไม่มีตัวไม่มีตน กายไม่มี เวทนา สัญญา สังขารไม่มี มีแต่ความรู้ มีแต่รู้ว่าไม่มี หลวงปู่ฝั้นท่านก็ทราบดีว่าผมเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ได้อยู่จําพรรษากับท่าน พูดถึงนิมิตนี่ดีหลายแบบอยู่ ตอนอยู่กับหลวงปู่ฝั้นนี่ภาวนาดี

พรรษาที่ ๑๘ – ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๐๘)

มาจําพรรษาอยู่วัดป่าแก้วชุมพล บ้านชุมพล อําเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ชาวบ้านบ้านชุมพลได้ไปกราบนิมนต์ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร) มาเป็นเจ้าอาวาสที่นี่ ผมเลยได้อยู่กับท่านอีก

พรรษาที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๐๙)

จําพรรษาอยู่กับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน อําเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

พรรษาที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๑๐)

จําพรรษาอยู่กับอาจารย์เต็ม บ้านวังเลา อําเภอน้ําโสม จังหวัดอุดรธานี

พรรษาที่ ๒๒ – ๒๓ (พ.ศ. ๒๕๑๑ – ๑๕๑๒)

จําพรรษาอยู่กับหลวงปู่บัว สิริปุณโณ ที่วัดป่าหนองแซง บ้านหนองแซง อําเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

พรรษาที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๑๓)

จําพรรษาอยู่ผาด้วง อําเภอปากชม จังหวัดเลย พอออกพรรษาแล้วก็เลยออกเที่ยววิเวก เดินธุดงค์ลัดเลาะลงมาทางบ้านกลางบ้านนาหลวง บ้านหนองกองนี่ล่ะ

พรรษาที่ ๒๕ – ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๑๔ – ปัจจุบัน)

จําพรรษาและสร้างวัดป่าหนองกอง ที่บ้านหนองกอง ตําบลบ้านค้อ อําเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และอยู่จําพรรษามาจนถึงปัจจุบันนี้แหละ

หลวงปู่เพียร ละสังขารในวัน อังคาร ขึ้น ๑ ค่ํา เดือน ๘ ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๑ นาฬิกา ๒๕ นาที ถึง ๑ นาฬิกา ๒๘ นาที

สิริอายุรวม ๘๒ ปี ๙ เดือน ๖๒ พรรษา

เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่เพียร วิริโย
รูปเหมือน หลวงปู่เพียร ภายใน เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่เพียร วิริโย
อัฐิธาตุหลวงปู่เพียร วิริโย ภายในกุฏิหลวงปู่เพียร วัดป่าหนองกอง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ธรรม…โอปนยิโก

สร้างบารมี

๒๕ มีนาคม ๒๕๔๗

พระทุกวันนี้ว่ายากสอนยาก ไม่ค่อยเอานะเรื่องภาวนา เที่ยวหาทํานั่นสร้างนี่ คิดว่าสร้างบารมีตัวเอง การสร้างบารมีตัวเองมันไม่ใช่ทําอย่างนั้นนะ มันต้องดูใจตัวเอง คือ ทําความเพียร เพียรละเพียรเลิกกิเลสในใจของตัวเองจึงจะถูก เพียรให้มันเห็นให้มันใกล้พระนิพพาน เวลาตัวเองธาตุขันธ์แตกดับ บุญจากการภาวนาจึงจะติดไปกับตัวเอง ไปสร้างต่อเอาในภพหน้าชาติหน้า การสร้างบารมีต้องสร้างอย่างนั้น สร้างบารมีใน ทางความเพียร สร้างให้มันมาก ไม่ใช่สร้างวัตถุอย่างชาวโลกเขา เราเป็นพระเว่ย มันต้องพาสร้างพาทําอย่างนั้นบารมีจึงแก่กล้า ใกล้นิพพานใกล้พระพุทธเจ้า เรื่องสร้างวัตถุนั้นเป็นของ โลกเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา!

ให้ห่วงตัวเอง

๑๐ มกราคม ๒๕๕๗ (ไปสวดมนต์ต่ออายุโยมในหมู่บ้าน)

ดูเขาแล้วก็ดูตัวเองนะ พระพุทธเจ้าท่านก็เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วท่านก็เบื่อท่านเลยไม่ลาใคร ท่านขี่ม้าหนีเข้าป่าออกบวชเลยไม่ลาใคร ท่านทําความเพียรอยู่ ๖ ปี ท่านจึง รู้ “ท่านเห็นทุกข์” พวกเราก็เหมือนกันสวดมนต์แล้วก็พากันเพียรภาวนาเด้อ ดูตัวเอง ไม่ต้อง ฟังเสียงใคร ฟังเสียงตัวเองนั่นแหละดีกว่าเสียงคนอื่น แก่แล้วพากันทําภาวนา ไม่ต้องห่วงใคร ไม่ต้องห่วงลูกห่วงหลาน ให้ห่วงตัวเอง ห่วงลูกก็เอาไปไม่ได้ ห่วงหลานก็เอาไปไม่ได้ แม้กระทั่งสังขารของเราก็เอาไปไม่ได้ เวลาเรามาเกิดเราก็ไม่ได้ชวนใครมากับเรา ลูกหลานเราก็ไม่ได้ชวนเขามานะ เรามาเกิดคนเดียว ถึงเวลาตายเราก็ตายไปคน เดียว ให้พากันทํา !

ดูกาย ดูใจ ให้มันชัด

๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

อย่าไปอยากรู้เรื่องของคนอื่นมันเป็นทุกข์ ให้สนใจเรื่องของตัวเอง คือเรื่องกายกับใจ ดูมันให้ชัด การภาวนาก็อย่าไปมั่นไปหมาย การไปคาดหมายนั้นจะทําให้เราไป ติดในภพในชาติ การภาวนาก็ไม่สําเร็จ เพราะการคาดหมายนั้น มันปรุงมันแต่งไปต่าง ๆ นานา คาดนั่นหมายนี้ ว่าเป็นเราเป็นเขา ดังนั้นการภาวนาท่านจึงให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนังที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ํา ไฟ ลม มีอะไรเป็นของสวยของงาม ให้พิจารณาทีละอย่าง ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังว่าสิ่งใดสวย พอมาประกอบเป็นคนเป็นมนุษย์ ผู้หญิงผู้ชายมีอะไรสวยอะไรงาม ถ้ามันว่าสวยมันไม่ตายเหรอ เอาไปได้ไหมสิ่งที่ว่าสวยว่างาม พิจารณาให้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาให้เป็นอสุภะอสุภัง แล้วถามใจตัวเองว่า ยินดีกับมันอีกไหม ในร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ํา ไฟ ลม เมื่อธาตุขันธ์แตกดับ เน่าเปื่อยผุพัง ย่อยสลายไป เอาอะไรไปได้บ้าง แม้กระทั่งกระดูก !

โอกาสดีแล้วหาภาวนา

๔ กรกฎาคม ๒๕๔๖

โอกาสดีแล้วหาภาวนา ชีวิตนั้นไม่มีอะไรแน่ เกิด แก่ เจ็บ ตายมันไม่เที่ยง น้อยคนนักที่จะได้บวช เป็นเพราะนิสัยวาสนาจึงได้บวช คิดบวชเคยทํามา ให้เร่งภาวนาตัดเรื่องอื่นอย่าไปคิด หาทางตัดมัน เรื่องอดีตที่ไม่ดี เราบวชแล้วสบาย ข้าวปลา ไม่ต้องหุงหา ของใช้ของสอยก็ไม่ต้องซื้อ พออยู่พอใช้ งานการก็ไม่ต้องทํา ไม่มีงานอะไรหรอกหาภาวนาซะ คิดแต่ในกายของเรานี้ล่ะ คิดถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเกิด ความแก่ ความเจ็บความตายมันไม่เที่ยง ให้ภาวนาถึงความตายอยู่ตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืนให้จิตสงบ ถ้าจิตสงบแล้ว มันสบาย อย่าไปคิดอย่างอื่น อย่าคลุกคลีกันมาก ต่างคน ต่างอยู่ ไม่มีงานอะไร ภาวนาไปมันก็จะสงบเองหรอก แต่ถ้าไม่สงบมันก็สบาย อย่าคิดออกไป ข้างนอก คอยหาทางตัดมันไว้ ให้มีขันติ คือความอดทนในการภาวนา มันก็จะเห็นทางสงบ เองหรอก มันก็จะข้ามพ้นไปได้ เมื่อก่อนผมเองก็เหมือนกัน ไม่มีงานอะไรมาก หาแต่ภาวนา

อ้าว! ก็มันสงบนี่เว่ย ดีมากไม่ต้องคิดออกไปที่อื่น มันสบาย อดเอา ทนเอา นึกถึงความไม่เที่ยง ของตัวเอง วันคืนล่วงไป ล่วงไปมาก พากันทําซะ !

เรื่องที่เกี่ยวข้อง