วันศุกร์, 8 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน

วัดกลางบางแก้ว
อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม ยอดพระเกจิอาจารย์เรืองนามเมืองเจดีย์ใหญ่ ศิษย์เอกของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว

◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว นามเดิมชื่อ “เพิ่ม พงษ์อำพร” เกิดวันศุกร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๔๘ ตรงกับวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๙ ที่ ต.ไทยวาส อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม บิดาชื่อ “นายเกิด” และมารดาชื่อ “นางวรรณ พงษ์อำพร

◉ บรรพชาอุปสมบท
บรรพชาเมื่ออายุ ๘ ขวบ สืบต่อมาจนอายุครบบวช จึงเข้าพิธีอุปสมบทวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ณ พัทธสีมาวัดกลางบางแก้ว โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการจอม เจ้าอาวาสวัดตุ๊กตา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูทักษิณานุกิจ (ผัน) วัดสรรเพชญ์ อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปุญญวสโน”

ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดกลางบางแก้วตลอดมา และคอยสั่งสอนกุลบุตรผู้บวชในภายหลังตามสมควร

ถือได้ว่าเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิด หลวงปู่บุญ มากที่สุด เพราะบวชสามเณรตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ อยู่อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว มาตลอด จนกระทั่งมรณภาพ เป็นเวลาถึง ๓๙ ปี

หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

ตลอดระยะเวลานั้นได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ตลอดจนเวทวิทยาคมต่างๆ ไว้มากมาย

เป็นพระสงฆ์ที่งามผุดผ่องด้วยศีล สมาธิ และปัญญาธรรม เปี่ยมล้นไปด้วยเมตตาธรรม พูดจาไพเราะอ่อนหวาน สำเนียงของท่านนั้นมีแววความเมตตา ใครได้ฟังแล้วจะรู้สึกชุ่มชื่นใจ ใครได้สนทนาด้วยแล้วจะรู้สึกเคารพศรัทธาท่านทุกคนไป

หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม
หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม

◉ ลําดับงานปกครองคณะสงฆ์
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสปกครอง วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นเจ้าคณะอำเภอนครชัยศรี

◉ ลำดับสมณศักดิ์
วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูสัญญาบัตร ราชทินนามว่า พระครูพุทธวิถีนายก
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีราชทินนามว่า พระพุทธวิถีนายก
พุทธศักราช พ.ศ.๒๕๒๐ เนื่องจากความชราภาพมาก คณะสงฆ์จึงยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์

◉ ประวัติของวัดกลางบางแก้ว
วัดกลางบางแก้ว แต่เดิมมีชื่อว่า “วัดคงคาราม” เป็นวัดเก่าแก่มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ในอดีต ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อกันเรื่อยมา ในนิราศพระปฐมของสุนทรภู่ยังมีกล่าวไว้ว่า

ถึงบางแก้วมองเขม้นไม่เห็นแก้ว เห็นแต่แนวคงคาพฤกษาสลอน
มีวัดหนึ่งโตใหญ่ใกล้สาคร สง่างอนช่อฟ้าศาลาตะพาน
ดูเบื้องบนอาวาสก็ลาดเลี่ยน ต้นตะเคียนร่มรกปกวิหาร

แสดงว่าวัดกลางบางแก้วนั้นเป็นวัดใหญ่ที่เจริญรุ่งเรือง สะอาดสะอ้านร่มรื่นมาตั้งแต่สมัยนั้น และตั้งอยู่ริมน้ำ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสด็จมาที่วัดคงคารามเห็นว่าเป็นวัดที่อยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรีตรงปากคลองบางแก้ว ตั้งอยู่ระหว่างกลาง ๒ วัด คือวัดตุ๊กตาและวัดใหม่สุประดิษฐ์ ท่านจึงได้ประทานนามวัดให้ใหม่ว่า “วัดกลางบางแก้ว” เมื่อราวๆ พ.ศ.๒๔๖๕ ในสมัยที่หลวงปู่บุญเป็นเจ้าอาวาส

ต่อมา พระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จมาที่วัดคงคาราม เห็นว่าเป็นวัดที่อยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี ตรงปากคลองบางแก้ว ตั้งอยู่ระหว่างกลาง ๒ วัด คือ วัดตุ๊กตาและวัดใหม่สุประดิษฐ์ ท่านจึงได้ประทานนามวัดให้ใหม่ว่า “วัดกลางบางแก้ว” เมื่อราวๆ พ.ศ.๒๔๖๕ ในสมัยที่หลวงปู่บุญเป็นเจ้าอาวาส

ตลอดระยะเวลาการดำรงสมณเพศอย่างเคร่งครัด ด้วยศีลาจารวัตรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่ประชาชนทั่วไป เสียสละตนเพื่อประโยชน์แก่สังคม สร้างคุณอเนกแก่กุลบุตร-กุลธิดา ด้วยการก่อสร้างและทำนุบำรุงการศึกษาให้เจริญงอกงาม

หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

◉ มรณภาพ
พระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่เพิ่ม ปุณณวสโน) วัดกลางบางแก้ว มรณภาพลงด้วยโรคชราด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๖ เวลา ๐๕.๕๐ น. สิริอายุรวมได้ ๙๗ ปี พรรษา ๗๗

◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น พระเครื่อง เหรียญ ผงยาวาสนาจินดามณี ตะกรุดและเบี้ยแก้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีพระเครื่องอีกมากมาย ล้วนแต่ได้รับความนิยม อาทิ เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว สร้างในปี พ.ศ.๒๕๐๔, เหรียญรุ่นสาม พ.ศ.๒๕๑๓ และเหรียญพัดยศ พ.ศ.๒๕๑๗

เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่เพิ่ม เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม ปี ๒๕๐๔
เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่เพิ่ม เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม ปี ๒๕๐๔

ในส่วนของ เบี้ยแก้ หลวงปู่เพิ่ม สร้างตามตำรับของหลวงปู่บุญอย่างเคร่งครัด ผู้ที่จะขอให้สร้างเบี้ยต้องไปหาหอยเบี้ยปรอทแผ่นตะกั่วมาให้พร้อม ซึ่งสมัยนั้นหาซื้อได้ในตลาดนครชัยศรี จัดให้เป็นชุดพร้อมสรรพ

เบี้ยแก้เป็นเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่ง ทำด้วยเบี้ยจั่น ซึ่งเป็นหอยทะเลชนิดหนึ่ง บรรจุปรอทเอาไว้ภายใน แล้วปลุกเสกด้วยอาคม

สร้างมาแต่ครั้งโบราณ เชื่อว่าใช้แก้กันได้สารพัด ใช้ป้องกันคุณไสยต่างๆ ป้องกันภูตผีปีศาจ ป้องกันไข้ป่า ป้องกันยาพิษยาสั่ง ป้องกันและแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้

ในด้านร้ายกลับเป็นดี จะมีคุณสมบัติในเรื่องช่วยให้เรื่องร้ายๆ หรือเรื่องที่ไม่ดีต่างๆ ให้กลับกลายเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเป็นจุดสำคัญของคำว่า “เบี้ยแก้” ที่มีความหมายว่า แก้ในสิ่งที่ไม่ดีให้กลับเป็นดีขึ้นได้

เบี้ยแก้ หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว
เบี้ยแก้ หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว

กรรมวิธีการจัดสร้างเบี้ยแก้ของ หลวงปู่เพิ่ม ต้องไปจัดหาหอยเบี้ย ๑ ตัว ปรอทน้ำหนัก ๑ บาท ชันโรงใต้ดินกลางแจ้ง ๑ ก้อน แผ่นตะกั่วขนาด ๔ x ๕ นิ้ว ๑ แผ่น เอาของทั้งหมดใส่ถาด พร้อมดอกไม้ธูปเทียนไปถวายหลวงปู่ ท่านจะรับสิ่งของเอาไว้ จากนั้นจะเสกปรอทแล้วเทปรอทจากขวดใส่ฝ่ามือเรียกเอาปรอทใส่เบี้ย แล้วอุดด้วยชันโรงที่ปากหอย

จากนั้น เอาแผ่นตะกั่วห่อหุ้มหอยเบี้ยที่กรอกปรอทเอาไว้ ใช้ด้ามมีดเคาะจนแผ่นตะกั่วแนบสนิทกับตัวหอย ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานประมาณ ๓๐ นาที ถึง ๑ ชั่วโมง จนกระทั่งแผ่นตะกั่วเรียบสนิทดี

ฝีมือการเคาะนี้ หากไม่มีความชำนาญ เบี้ยจะออกมาไม่สวย เมื่อหุ้มตะกั่วแล้วเสร็จ หลวงปู่เพิ่มลงจารอักขระบนตะกั่วที่ห่อหุ้มเบี้ยเอาไว้ บางรายเอาผ้าแดงผืนเล็กให้หลวงปู่ลงยันต์ให้ด้วยก็มี พอท่านจารเสร็จก็จะปลุกเสกให้ เป็นอันแล้วเสร็จ ปัจจุบัน เบี้ยแก้หลวงปู่เพิ่มหายากยิ่ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก khaosod.co.th