วันศุกร์, 13 ธันวาคม 2567

หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เผือก ปัญญาธโร

วัดกิ่งแก้ว
อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ

พระครูกรุณาวิหารี (หลวงปู่เผือก ปัญญาธโร) วัดกิ่งแก้ว พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสมุทรปราการในยุคกึ่งพุทธกาล

นามเดิม เผือก นามสกุล ขุมสุกทอง เป็นบุตรคนที่ ๕ ของนายทองสุข นางไข่ ขุมสุกทอง เกิดที่บ้านคลองสําโรง ตําบลบางพลี อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ชาตะ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๒ ตรงกับวันขึ้น ๕ ค่ํา เดือน ๙ ปีมะเส็งฯ

นามบุตรและธิดา ผู้เกิดร่วม บิดา – มารดาเดียวกัน มี ๘ คน คือ

๑. นางจันทร์

๒. นายหรั่ง ขุมสุกทอง

๓. นางตุ้ม

๔. นายเล็ก ขุมสุกทอง

๕. พระครูกรุณาวิหารี (เผือก)

๖. นายแขก ขุมสุกทอง

๗. นายยวน ขมสุกทอง

๘. นางจีน

ผู้ที่กล่าวนามมานี้ทั้ง ๘ คนได้เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น

การศึกษาเมื่อเยาว์วัย

หลวงพ่อพระครูกรุณาวิหารี เมื่ออายุ ยังเยาว์วัยอยู่นั้น คือเมื่ออายุ ๑๓ ปี บิดา มารดาของท่านได้นําท่านไปฝากไว้กับ พระอาจารย์อิ่ม อินทสโร ณ สํานักวัดกิ่งแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบ้านของท่าน เมื่อมาอยู่วัดกับท่านพระอาจารย์แล้ว ท่านก็พยายาม ศึกษาเล่าเรียนตามสติปัญญา ในสมัยเมื่อยังเยาว์วัยอยู่และก็พอรู้บ้างเล็กๆน้อยๆพอสมควรแล้ว เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ท่านได้ลาพระอาจารย์ ไปอยู่บ้านเพื่อช่วยบิดา มารดาประกอบกสิกรรมตามประเพณีนิยมฯ

ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ได้รับคัดเลือกเข้ารับราชการทหารเรือ (เรียกกันในสมัยนั้นว่าลูกหมู่)

เมื่ออยู่รับราชการทหารตามกําหนด ๒ ปีแล้วก็ได้ออกมาอยู่บ้านช่วยบิดามารดา ประกอบอาชีพตามเดิมต่อมา

อุปสมบท

เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี บิดามารดาของท่าน พร้อมด้วยญาติมิตรสหาย ได้จัดการให้ท่านได้รับการอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดกิ่งแก้ว โดยมีพระอาจารย์ทอง อุทยญาโณ วัดราชโยธา (วัดราชบัวขาว) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อิ่ม อินทสโร วัดกิ่งแก้ว เป็นกรรมวาจาจารย์ พร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นอันดับครบตามพระวินัยอนุญาต ยังอุปสัมปทาเบกขา คือท่าน (เผือก ขุมสุกทอง) ให้ได้เป็นภิกษุภาวะมีสิกขาสาชีพเสมอด้วยภิกษุทั้งปวง ถูกต้องตามพระพุทธานุญาต ในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ พระอุปัชฌาย์ได้ให้นามตามภาษามคธว่า ปัญญาธโร เป็นามตามพระพุทธศาสนา

เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว ปรากฏตามคําบอกเล่าของท่านผู้เฒ่าผู้แก่ในแถบนั้นว่า ท่านได้บวชแล้ว ท่านเป็นผู้เอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียนมาก เพราะเมื่อก่อนอุปสมบทท่านเป็นผู้ได้รับการศึกษามาเพียงเล็กน้อยทางอักษรสมัยภาษา เมื่อท่านอุปสมบทใหม่ๆ จึงต้องศึกษาอักษรสมัยภาษาไทยเพิ่มเติมอีก ท่านได้พยายาม ศึกษาเล่าเรียนจากพระอาจารย์ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในทางนี้ ต่อมาในไม่ช้าด้วยความอุตสาหะพากเพียรอย่างแรงกล้าของท่าน จึงทําให้ท่านมีความรู้ในภาษาไทยอย่างกว้างขวาง ในเวลาผ่านไปไม่กี่เดือน

เมื่อท่านมีความรู้ในทางภาษาไทยพอสมควรแก่สมัยแล้ว ท่านจึงได้ศึกษาอักษร ขอมต่อไป ซึ่งเป็นภาษาที่นิยมศึกษากันอยู่ในสมัยนั้น จนสามารถอ่านออกเขียนได้ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากท่านเป็นผู้มีความอุตสาหะบากบั่น ซึ่งมีเป็นประจํานิสสัยของท่าน และพร้อมกันกับที่ได้ศึกษาภาษาไทย และขอมอยู่นั้น ท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยไปในตัวด้วย จึงทําให้ท่านเป็นผู้มีความรู้ แตกฉานในพระธรรมวินัย โดยลำดับมา เมื่อท่านเป็นผู้รู้ในภาษาไทยและขอมดีแล้ว ท่านก็มิได้นิ่งนอนอยู่เฉย ๆ คือท่านได้หันมาศึกษาพระธรรมวินัยให้มีความรู้ ความเข้าใจลุ่มลึกขึ้นโดยลําดับ และในกาลต่อมา ท่านจึงสามารถสั่งสอนกุลบุตรผู้เข้ามาบวชในภายหลังได้ดีอีกผู้หนึ่ง และในพร้อมกันนี้ ท่านก็เป็นภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีสัมมาจริยาอันดีงาม จึงทําให้ท่านได้รับความเคารพนับถือของพระภิกษุโดยทั่วไป ตลอดถึงอุบาสก อุบาสิกาและสัตบุรุษและชาวบ้านในแถบนั้นทั่วไปที่ ไปหาท่าน

การอุปสมบทของท่าน จึงมีผล ใหญ่ไพศาล มีอานิสงฆ์มากแก่ตัวท่านเอง และญาติพี่น้อง มิตร สหาย ตลอดถึงพระพุทธศาสนาอันเป็นส่วนรวม จึงนับได้ว่าการ อุปสมบทของท่าน ได้ดําเนินตามแบบอย่างอันดีงามของพระเถรานุเถระผู้เป็น อริยวงศ์ ผู้สืบต่ออายุของพระพุทธศาสนากันต่อๆมาโดยแท้ ก็เพราะมีกุลบุตรผู้มี น้ําใจอุตสาหะบากบันอย่างแรงกล้าอย่างนี้แหละ จึงทําให้มวลหมู่พวกเราเหล่าพุทธ ศาสนิกชนทั้งหลาย ผู้ที่เกิดมาในภายหลังได้พบพระพุทธศาสนาอันเป็นหลักธรรมคำสอนอันประเสริฐสําหรับดําเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ชอบ และดื่มรสพระธรรม คือความสุขความเจริญตามสมควรแก่ความประพฤติ ปฏิบัติของตนๆ การอุปสมบทของหลวงพ่อ พระครูกรุณาวิหารีจึงควรเป็นแบบอย่างอันดีงามของปัจฉิมชน คือผู้ที่เกิดมาในกาลภายหลัง จะพึงถือเอาเป็นเนตติ แบบอย่างในการที่พวกเราได้นามว่า บรรพชิตเพศ ผู้มอบตนไว้ภายใต้ร่มแห่งพระธรรมวินัยอันประเสริฐ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจักได้ชื่อว่าผู้ดําเนินตาม อริยวงศ์เป็นทายาทสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว เพื่อเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของผู้ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์น้อยใหญ่ การบรรพชาอุปสมบทดังกล่าวมานี้ จึงได้ชื่อว่ามีผลใหญ่ไพศาลมีอานิสงฆ์มาก ขอพวกเราทั้งหลายผู้ได้นามว่า บรรพชิตบ้าง ภิกษุบ้าง สมณะบ้าง รวมความว่าผู้เห็นภัยใน วัฏฏสงสารแล้วหาทางไปสู่หนทางแห่ง ความสุข สงบสว่าง ในวิถีทางแห่งชีวิต ด้วยดี ด้วยชอบ ตลอดกาลทุกเมื่อ ฯ

การปฏิบัติกิจพระศาสนา และ ได้รับสมณศักดิ์

การล่วงมาเป็นลําดับ และต่อมาท่านพระอาจารย์อิ่ม อินทสโร ผู้รักษาการใน ตําแหน่งเจ้าอาวาส ได้ถึงแก่มรณภาพลง แล้วจึงได้มีการประชุมสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนในตําบลนั้นตําบลใกล้เคียง การประชุมนั้น ต่างก็มีความเห็นพร้องต้องกัน เป็นเอกฉันท์แต่งตั้งให้พระภิกษุเผือก ปัญญาธโร เป็นผู้รักษาการในตําแหน่ง เจ้าอาวาสวัดกิ่งแก้วต่อมา เมื่อท่านได้ดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว ท่านก็เริ่มบูรณะ ปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชํารุดทรุดโทรม ด้วยการชักชวนแนะนําพุทธศาสนิกชนในตําบลนั้น และใกล้เคียงให้ช่วยกันเสียสละทรัพย์และกําลังกาย ตามกําลังความสามารถของตนๆ ที่จะช่วยกันเสียสละได้ ข้าพเจ้าได้สอบท่านผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับท่าน ที่รู้เห็นเหตุการณ์ในสมัยนั้นเล่าว่า เมื่อสมัยโน้นถาวรวัตถุใน วัดกิ่งแก้ว ไม่มีสภาพดีดังที่ได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้

คือเมื่อแรกท่านได้รับตําแหน่งเจ้าอาวาสนั้น มีกุฏิเพียง ๔-๕ หลังเท่านั้น มุงด้วยจาก และถาวรวัตฤก็กําลังทรุดโทรม และสถานที่ตั้งวัดก็เป็นหลุมเป็นบ่อ โดยทั่วไปท่านจึงได้ขอแรงชาวบ้านในแถบนั้นให้ช่วยกันหาดินมาถมให้ได้ตามความต้องการแก่การก่อสร้างถาวรวัตถุขึ้นตามความต้องการโดยลําดับมา เช่นพระอุโบสถ วิหารศาลาการเปรียญ มณฑป วิหาร กุฏิ โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนประชาบาล สําหรับเยาวชนได้อาศัยศึกษาเล่าเรียน และอื่นๆอีกที่เห็นว่าจําเป็น ต่อมาท่านได้ทําพิธีหล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ คือพระประธาน ประจําพระอุโบสถ ซึ่งมีพระนามว่าพระชินราช ซึ่งมีหน้าตักกว้าง ๕ ศอกเศษ ซึ่งประดิษฐานในพระอุโบสถ และได้สร้างกําแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ต่อนั้นท่านก็สร้างพระพุทธรูปบรรจุไว้รอบกําแพงแก้ว เป็นฝีมือของท่านเองทั้งสิ้น ท่านปั้นของท่านเอง โดยมีลูกมือเพียง ๒-๓ คนเท่านั้น

ถ้าหากจะกล่าวกันถึงเรื่องช่างแล้ว ถ้าไม่นับถึงการสถาปัตยกรรมสมัยใหม่แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้สามารถทําได้ทุกอย่างในลวดลายต่างๆ ท่านจึงสามารถ บูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุในวัด ให้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว และในการบั้นปลายของท่านนี้ ท่านได้ทำการยุบพระเจดีย์ ซึ่งมีขนาดกว้าง ๕ วาเศษ สูง ๑๑ วาเศษ นับว่าเป็นเจดีย์ที่ใหญ่พอกองค์หนึ่ง ในเขตอําเภอบางพลี และต่อมาได้ว่าจ้างนายช่าง มาทําการขุดบ่อน้ําบาดาลขึ้นไว้สําหรับใช้ในวัดและประชาชนทั่วไป ได้ใช้อุปโภค นับว่าเป็นการก่อสร้างสิ้นสุดของท่าน ในด้านการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ และในโอกาส เดียวกันนี้ ท่านยังช่วยเหลือพระอารามอื่นอีกหลายวัด ซึ่งไม่สามารถที่จะนํามากล่าวไว้ในที่นี้ได้ จึงนับได้ว่า ท่านเป็นที่สามารถบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุผู้หนึ่งในด้านการส่งเสริมการศึกษา พระปริยัติธรม ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่าท่านเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา และมีความเข้าใจดี ในด้านพระธรรมวินัย ในตอนแรกเป็นผู้ทําการอบรม และสั่งสอนพระ ธรรมวินัยแก่กุลบุตรผู้เข้ามาบวชเรียน ในพระพุทธศาสนาด้วยตัวท่านเองโดยตลอด คือ ท่านมีวิธีการดังนี้ คือ ส่วนมากท่านจะให้ การศึกษาอบรมในเวลากลางคืน เพราะในเวลากลางวัน ท่านใช้เวลาไว้ทําการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุ เมื่อในตอนแรกยังไม่มีการสอบพระปริยัติธรรมใน ชนบท ท่านเป็นผู้ออกปัญหาสอบของท่านเองทั้งสิ้น

ครั้นต่อมา ท่านเป็นมองเห็นการณ์ไกล ของพระพุทธศาสนาว่าพระศาสนา จะเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ได้นั้น จําเป็นที่ภิกษุต้องมีความรู้ความเข้าใจในคําสอนของ พระพุทธศาสนา และประพฤติดีปฏิบัติชอบ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านจึงได้พยายามจะให้การศึกษาพระพุทธศาสนาแก่กุลบุตรดียิ่งขึ้น แต่ไม่สามารถจะทําได้เต็มที่ ท่านจึงได้พยายามหาครูพระปริยัติธรรม ไปจากกรุง เทพฯเพื่อทําการสอนกลบุตรในด้านการ ศึกษาให้เจริญยิ่งขึ้น และเป็นการแบ่งเบาภาระ เพื่อให้การบูรณะปฏิสังขรณ์ได้ผล และเจริญควบคู่กันไป

ในด้านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเป็นพระนักวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด หนักแน่นในการปฏิบัติธรรม เพื่อทําจิต ใจให้ผ่องแผ้ว ท่านได้ปฏิบัติติดต่อกันมาโดยไม่ขาดตราบเท่าวาระสุดท้ายของชีวิต พร้อมกับท่านยังได้พยายามแนะนําอบรม พร่ําสอนอุบาสก-อุบาสิกา ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยตลอดฯ

คุณธรรมอีกประการหนึ่งของท่าน ที่ปรากฏแก่ศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือ คือ เป็นผู้สงบเสงี่ยมตามสมณะวิสัย ไม่ทะเยอทยานในปัจจัยลาภ ในเมื่อมีผู้นํามาถวาย เกี่ยวแก่ปัจจัย ๔ แล้ว ท่านไม่ได้เก็บไว้เป็นส่วนตัวท่านเลย ได้จัดแบ่งเฉลี่ยให้ สงฆ์ที่อยู่ภายในวัด โดยเฉพาะปัจจัย (เงิน) ได้มาเท่าใดท่านก็ได้นํามาก่อสร้างถาวร วัตถุทั้งสิ้น มิได้สะสมไว้ ทั้งนี้ที่เป็นทรัพย์ สมบัติของท่านเองที่ได้จากค่าเช่านาในปีหนึ่งๆ หลายพันบาทเอามาบํารุงปฏิสังขรณ์วัดหมดทั้งสิ้น ในที่สุดท้ายเนื้อที่นาของท่าน ประมาณ ๕๑ ไร่เศษ แทนที่จะให้แก่หลาน เหลน แต่ท่านไม่ได้มอบให้ใครๆ ทั้งสิ้น ท่านได้ถวายไว้เป็นศาสนสมบัติของ พระพุทธศาสนา นับว่าท่านเป็นเสียสละสมกับ สมณะโดยแท้ อีกอย่างหนึ่งท่านแสดงตนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ขึ้นๆลงๆ ตรงไป ตรงมา พูดอย่างไรต้องให้เป็นอย่างนั้นในคุณธรรมข้อนี้ต่างเป็นที่เข้าใจ และท่าน เป็นผู้มีคุณธรรมในข้อ เมตตากรุณา สมชื่อ เป็นต้นว่าในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ไข้ เมื่อพูดกันถึงการรักษาพยาบาลแล้ว นับว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญมากและรักษา นั้นเพียงแต่มีผู้มาเล่าอาการไข้ให้ฟังเท่านั้น ท่านก็ทําการปรุงยาไปให้ ซึ่งคุณธรรมข้อนี้ เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ประชาชนทั่วไปมาหาเมื่อไร ก็ได้ไปเมื่อนั้นโดยไม่คิดมูล ค่าอะไรเลย

สมณศักดิ์

กาลได้ผ่านมาเป็นลําดับ พระอาจารย์อิ่ม อินทสโร ซึ่งเป็นผู้รักษาการในวัดกิ่ง แก้วแล้ว ได้ถึงแก่มรณะภาพลง พระสงฆ์ในวัดและประชาชนในบ้านตําบลนั้นได้ ประชุมกัน ในเรื่องแต่งตั้งผู้รักษาการณ์ดูแลวัด ในที่สุดของการประชุม ได้มีความ เห็นพร้อมกันเป็นเอกฉันท์ ให้พระภิกษุ เผือก ปัญญาธโร เป็นผู้ดูแลวัด ครั้นต่อมาเมื่อ

พ.ศ. ๒๔๔๒ อายุ ๓๑ พรรษา ๙ ได้รับตราตั้งเป็นเจ้าอาวาส วัดกิ่งแก้ว

พ.ศ. ๒๔๔๓ อาย ๓ ๒ พรรษา ๑๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตําบลราชาเทวะ

พ.ศ. ๒๔๔๖ อายุ ๓๕ พรรษา ๑๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมของ พระครูสุนทรสมุทร (จ้อย) เจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ วัดกลางวรวิหาร

พ.ศ. ๒๔๔๖ อาย ๓๕ พรรษา ๑๓ ได้ตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๔๘๐ อายุ ๗๐ พรรษา ๕๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระครูกรุณาวิหารี

พ.ศ. ๒๔๘๗ อาย ๗๗ พรรษา ๕๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสงฆ์ องค์การ สาธารณูปการ ในอําเภอบางพลี จังหวัด สมุทรปราการ

อาพาธ

ครั้นเมื่อถึงปี ๒๔๙๖ ท่านพระครูกรุณาวิหารได้เริ่มอาพาธ โดยอาการปัสสาวะไม่ค่อยสะดวก บางครั้งถึงกับไม่ออก คณะศิษย์ยานุศิษย์ได้ช่วยกันพยาบาลรักษา จนสุดความสามารถ อาการก็ไม่ทุเลา จึงได้นําส่งโรงพยาบาลสงฆ์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๔ ค่ํา ๒๔๙๖ เมื่อมาถึงโรงพยาบาล แพทย์ได้นําตรวจและบอกว่าเป็นโรคมะเร็ง ในกะเพาะปัสสาวะ แพทย์จึงทําการผ่าตัด หลังจากการผ่าตัดแล้ว อาการก็ดีขึ้นเป็น ลำดับ ท่านได้รับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ ๗ เดือนเศษ เมื่ออาการหาย ปกติดีท่านกลับจากโรงพยาบาลสงฆ์มาอยู่วัด ร่างกายสังขารของท่านก็อ่อนแอลงไปตามสภาพของชีวิตที่เกิดมาแล้วก็ต้องชรา ไปตามสภาพของความเปลี่ยนแปลง ถึง ดังนั้นบางครั้งโรคก็กําเริบ ท่านก็อดทนต่อโรคนั้น ไม่แสดงอาการอะไรต่างๆ อันน่าวิตกแก่ศิษยานุศิษย์ และผู้พยาบาล ในขณะที่อาพาธนั้นท่านก็มีความกรุณา เสมอต่อบุคคลทั่วไป ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่มานิมนต์ท่านไปเป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทกลบุตร ท่านก็ไม่ขัดข้องยินดีสงเคราะห์เสมอมา ในขณะที่อาการ ยังไม่หายปกติ ประมาณ ๔-๕ ปี อาการโรคของท่านในระยะนี้ มีแต่ทรงและทรุด ลงเป็นลําดับ บรรดาเหล่าศิษยานุศิษย์ก็ ไม่นิ่งดูดายอยู่ ได้เฝ้ารักษาพยาบาลอยู่ตลอดเวลา ต่างก็เที่ยวสืบเสาะแสวงหาหมอหานายแพทย์มารักษา ไม่เลือกว่าจะเป็นหมอไทย-หมอจีน โบราณหรือสมัยใหม่ตามแต่จะได้ แต่ท่านก็ไม่แสดงอากัปกิริยาให้ปรากฏว่าจะพอใจหรือไม่พอใจด้วยประการใดทั้งสิ้นในเรื่องหมอ เป็นแต่นิ่งสํารวมจิตด้วยวิปัสสนากรรมมัฏฐาน ชอบแต่สาธยายพระพุทธมนต์ ขับไล่ โรคาพาธ ตามที่ท่านถนัด เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๑ อาการของโรคก็กําเริบหนักลง ร่างกายของท่านไม่สามารถจะต้านทานพยาธิ ซึ่งมีกําลังอันมหึมา มรณสัญญาฉายให้ปรากฏชัด ลมอัสสาสะปัสสาสะระบายออก-เข้า ที่ละน้อย ๆ ค่อยหมดไป จนถึงอวสานแห่งการดับ คล้ายกับดวงประทีปที่สิ้นเชื้อและน้ํามัน แสงก็หรี่ลงทีละน้อยๆ ชีวิตของท่านก็สิ้นสุดลงในท่ามกลางของเหล่าศิษยานุศิษย์ที่มาพยาบาลเฝ้ารักษา ไม่สามารถที่จะเอาชนะพญามัจจุราชได้ ด้วยอาการอันสงบ ในเวลา ๒๓.๔๕ น. เป็นอวสานกาลสิ้นสุดแห่งชีวิตของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระบวรพุทธศาสนา คํานวณอายุ ของท่านได้ ๘๔ ปี ๒ เดือน ๑๗ วันพรรษา ๖๕.