วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ พระอริยะเจ้าแห่งอันดามัน

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ

วัดมหาธาตุแหลมสัก
อ.อ่าวลึก จ.กระบี่

หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ วัดมหาธาตุแหลมสัก

หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ นามเดิม เนตร พรหมแก้ว เกิดวันอังคารที่ ๙ มีนาคม ๒๔๖๘ บิดา นายเขื่อน พรหมแก้ว มารดา นางหยิน พรหมแก้ว เกิดที่หมู่ ๗ บ้านบางหมัก ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา มีพี่น้องทั้งหมด ๔ คน เป็นชาย ๒ คน หญิง ๒ คน ท่านเป็นบุตรชายคนโต พี่น้องเสียชีวิตไปแล้ว ๒ คน (ชาย ๑ คน หญิง ๑ คน) ปัจจุบันคงเหลือน้องสาวเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่

พื้นเพเดิมของหลวงปู่เนตร ท่านเป็นลูกชาวนา ความทุกข์ยากในหาอยู่หากินเลี้ยงตนเองและครอบครัว ทำให้ท่านเกิดความคิดที่อยากจะออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นับว่าหลวงปู่ท่านเป็นบุคคลที่สมดั่งบาลีซึ่งกล่าวไว้ในมงคลสูตรว่า ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา อันมีความหมายว่า ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำไว้ชอบแล้วในกาลก่อน

ท่านเล่าว่า ขณะไถนาก็คิดพิจารณาอยู่เสมอว่า ชีวิตนี้ลำบากมีทุกข์มาก จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดอยากจะสละเพศฆารวาสออกบวชรื้อถอนภพชาติตัดวัฏฏสงสารอันไม่สุดสิ้น

ในที่สุดท่านก็ขออนุญาตบิดามารดาบวช ขณะนั้นหลวงปู่แต่งงานมีครอบครัวและมีลูกสาว ๒ คน เมื่อตั้งใจสละทางโลก ท่านก็มอบทรัพย์สมบัติที่มีอยู่แก่ภรรยาและลูกๆทั้งหมด จากนั้นก็ออกบวชตามที่ตั้งใจไว้อย่างมุ่งมั่น

หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ อุปสมบทอายุ ๒๗ ปี ณ อุทกุกเขปสีมา (สีมาน้ำ) ในคลองกระโสม (วัดสันติวราราม) ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา โดยมี พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ ปธ ๔) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระราชนิโรธรังสีคัมภีร์ปัญญาวิศิษฎ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) เป็นพระอนุสาวาจารย์

หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ วัดมหาธาตุแหลมสัก

หลังจากอุปสมบทแล้วพรรษา ๑-๓ จำพรรษาที่วัดเจริญสมณกิจ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ในขณะนั้นพระอาจารย์วัน อุตตโม ร่วมจำพรรษาด้วย ซึ่งมี พระราชนิโรธรังสีคัมภีร์ปัญญาวิศิษฎ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) เป็นเจ้าอาวาส

พรรษา ๔-๖ จำพรรษาที่วัดควนกะไหล ต.กะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา โดยมี พระอาจารย์อรุณ อุตตโม เป็นหัวหน้าหมู่ และพระอาจารย์ประสาน สุมโน จำพรรษาอยู่ด้วยกัน

พรรษา ๗-๙ จำพรรษาที่วัดนิโรธรังสี ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ในพรรษานั้นมีพระอาจารย์พูน จิตตธัมโม เป็นหัวหน้าหมู่

พรรษา ๑๐-ปัจจุบัน จำพรรษาที่วัดแหลมสัก ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ (พร้อมกับพระอาจารย์เอียน วัดป่าโคกหม่อน จ.สุรินทร์ มาอยู่ด้วยในพรรษาที่ ๑๐ ปัจจุบันมรณภาพแล้ว)

(ซ้าย) หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ (ขวา) หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

ตลอดระยะเวลาในเพศพรรชิต หลวงปู่ท่านยึดธรรมวินัยของพระพุทธองค์เป็นวิหารธรรมอย่างเคร่งครัด อันจะเห็นได้จากข้อวัตรในปัจจุบันของท่าน ซึ่งจะปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระพุทธองค์และปฏิปทาของครูบาอาจารย์ที่ได้อบรมสั่งสอนมาอย่างไม่ขาดตกบกพร่องแม้แต่ข้อเดียว อันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งหลายที่ได้ท่านเป็นครูบาอาจารย์

หลวงปู่ท่านเคยออกเที่ยววิเวกธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่พรหมมา ในจังหวัดภูเก็ต-พังงา-กระบี่ ถึง ๗ ปี ท่านเล่าว่าทุกแห่งที่ท่านเที่ยวรุกขมูลไปตามที่ต่างๆในสมัยนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกชัฎ

ท่านเคยเร่งทำความเพียรอย่างอุกฤษฎ์และทรมานกิเลสในใจด้วยการอดข้าวและอดนอนเป็นระยะเวลานานๆ เช่นเดียวกับสมณเพศผู้มุ่งตรงต่อมรรคผลอย่างไม่เคยยอมอ่อนข้อให้กับความยากลำบากใดๆทั้งปวง แต่ท่านพบว่ามันไม่ถูกกับจริตของตัวเองในการอดอาหารและอดนอน จึงเปลี่ยนมาเป็นการขบฉันให้น้อยลงและนอนแต่พอสมควร ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ส่งผลทำให้จิตใจของท่านเบาสบายและปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้ากว่าเดิมมาก

ในอดีตหลวงปู่ท่านทำความเพียรอย่างต่อเองไม่เคยสนใจต่อวันเวลา ท่านเล่าว่า หลังจากฉันอาหารเสร็จ ทุกวันท่านจะเดินจงกรมตั้งแต่แปดโมงเช้าไปจนถึงตะวันตกดิน ความเด็ดเดี่ยวในการรื้อถอนภพชาติเช่นนี้ ท่านบอกว่า พอจะล้มตัวลงนอน แข้งขามันอ่อนล้าแสดงอาการถึงขนาดจัดที่นอนแทบจะไม่ทัน

หลังจากตัดสินใจออกจากเรือนมาแสวงหาทางพ้นทุกข์ หลวงปู่แทบจะไม่เคยกลับไปเยี่ยมครอบครัวเลย ท่านบอกว่า ชาวบ้านมักตำหนิพระว่า ออกจากบ้านแล้ว สละแล้ว จะกลับมาทำไม คงจะขนเงินกลับไปให้ที่บ้าน ท่านว่าถ้ากลับไปก็คงถูกชาวบ้านนินทาอย่างนี้แน่นอน ท่านจึงไม่เคยไปเยี่ยมบ้านเยี่ยมโยม เพราะเกรงจะถูกติฉินนินทาดังกล่าว ท่านจะกลับไปเมื่อญาติโยมเสียชีวิตเท่านั้น ท่านไม่เคยให้เงินทองแก่ญาติพี่น้องเลย ท่านบอกว่าญาติโยมเขาทำบุญถวายพระ เขาไม่ได้ให้โยม ถ้าเราเอาเงินทองไปให้ญาติพี่น้อง เขาก็ไม่เจริญรุ่งเรือง มีแต่จะพบความวิบัติตกต่ำ

หลวงปู่ท่านให้ความเมตตาต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือญาติโยม ท่านบอกว่า ท่านรู้ดีว่าญาติโยมคนไหนช่วยเหลือวัด ช่วยดูแลท่านและพระในวัด แต่ท่านก็ไม่เคยแสดงออกให้เห็นว่า ท่านสนิทสนมกับญาติโยมคนไหนเป็นพิเศษ เพราะเกรงว่าญาติโยมคนอื่นอาจจะเสียใจว่าท่านเลือกที่รักมักที่ชัง ท่านปฏิยัติกับทุกคนอย่างเป็นกลาง และทำตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด

ความมักน้อยสันโดษอยู่แบบตามมีตามได้อันเป็นวิถีของเพศบรรพชิตนั้น หลวงปู่ท่านปฏิบัติมาโดยตลอดการบวชของท่าน ท่านบอกว่า เรามีบาตรใบเดียว เที่ยวบิณฑบาตไปวันหนึ่งๆก็พอฉันแล้ว ท่านไม่อยากได้อะไรมากไปกว่านี้ ท่านบวชมาห้าสิบกว่าพรรษาไม่เคยสะสมปัจจัยเกิน ๒ หมื่นบาท ท่านมีปัจจัยเท่าไหร่ก็นำไปทำบุญหมด

ท่านเล่าว่า เวลามีกิจนิมนต์ไปสวดศพ ท่านไม่เคยคิดว่าอยากจะได้ปัจจัยจากเจ้าภาพ ท่านบอกว่า ท่านตั้งใจจะไปช่วยงานเขามากกว่าจะไปรับปัจจัย หลวงปู่ท่านปฏิบัติตนเป็นผู้ให้อยู่เสมอ ท่านไม่เคยประพฤติตนเป็นผู้รับ การประพฤติปฏิบัติเพื่อมุ่งต่อลาภยศสรรเสริญใดๆนั้น เป็นสิ่งที่หลวงปู่ไม่เคยให้ความเกี่ยวข้องผูกพัน ท่านบอกว่า ท่านอยู่อย่างนี้ ท่านมีความสุขแล้ว ท่านไม่อยากดัง ไม่อยากมีชื่อเสียง ท่านบอกว่า

“ถ้าผมอยากดัง อยากมีชื่อเสียง ผมและพระในวัดรับรองไม่มีที่อยู่แน่ ถ้าเป็นแบบนั้นผมและพระในวัดจะมีความสุขไหม ผมคิดว่าชื่อเสียงทำให้เราทุกข์ ผมชอบอยู่เงียบๆแบบนี้ ผมมีความสุขมากกว่า”

แม้ท่านจะเป็นพระเถระผู้ใหญ่มานานปีแล้ว หลวงปู่ท่านก็คงปฏิบัติตนเช่นเดียวกับพระบวชใหม่ ท่านทำงานงานทุกอย่างในวัดแบบไม่ยึดตัวถือตน อีกทั้งยังเป็นคนที่ทำงานรวดเร็วว่องไวและช่วยเหลือตัวเองอยู่เสมอ ท่านเล่าว่า ต่อนท่านพรรษายี่สิบกว่าท่านยังหาบน้ำใช้เองอยู่เลย ท่านบอกว่า ท่านชอบทำอะไรด้วยตัวเองแบบนี้มากกว่า

ข้อวัตรปัจจุบันของหลวงปู่ ท่านมักชอบจะอยู่แบบสันโดษไม่คลุกคลีกับผู้ใดมาก และใช้เวลาเดินจงกรมอยู่เสมอ แม้ว่าสังขารจะไม่เอื้ออำนวยนัก ท่านก็ยังทำความเพียรต่อเนื่องครั้งละครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ท่านบอกว่าเดินนานๆไม่ไหวแล้ว ขามันอ่อน และนั่งภาวนานานก็ไม่สะดวกเช่นแต่ก่อน

ท่านเล่าว่า ทุกวันนี้เวลาท่านภาวนาแล้วจิตสงบ แต่พอออกจากสมาธิ ท่านล้มหงายศรีษะฟาดขอบเตียงเลย ท่านบอกว่าพิจรณาแล้วร่างกายคงจะรับไม่ไหว แต่ท่านก็ยังคงภาวนาในอิริยาบถสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน สลับกันไปตลอด ๒๔ ชั่วโมง ท่านบอกว่าท่านทำความเพียรครั้งละหลายชั่วโมงเหมือนในอดีตไม่ไหวแล้ว

ในฐานะความเป็นครูบาอาจารย์ หลวงปู่ท่านเป็รครพูดน้อย ปฏิบัติมาก ท่านมักจะปฏิบัติให้ดูมากกว่าจะออกคำสั่งให้ทำ และมีความละเอียดละออในทุกเรื่อง

หลวงปู่เป็นครูบาอาจารย์ที่สมควรแก่การเคารพกราบไหว้ ท่านเป็นเนื้อนาบุญที่สมบูรณ์ยิ่ง ท่านปฏิบัติตามมรรคาที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้เป็นแบบอย่าง และดำเนินตามแนวทางที่พ่อแม่ครูอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เป็นพระสุปฏิปันโนโดยแท้จริง

ปฏิปทาของหลวงปู่ที่ทำให้ซาบซึ้งและเคารพในตัวท่านเป็นอย่างยิ่งก็คือ ท่านเป็นผู้รักษาธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้เป็นแนวทางปฏิบัติโดยเคร่งครัด ความสมบูรณ์ในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ยากที่จะบรรยายออกมาเป็นตัวอักษร ต้องมาอยู่ใกล้ชิดกับท่านถึงจะประจักษ์ในสิ่งที่ได้บรรยายอย่างครบถ้วน

หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ วัดมหาธาตุแหลมสัก

◎ ธรรมมะปฏิบัติ โดย หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ

“สติ สมาธิ อารมณ์ เรามีสติ คือ ความระลึกได้ รู้ตัว เรามีสมาธิหรือไม่ เรารู้ มันมีอารมณ์อะไรอยู่ อยู่กับอารมณ์อะไร มันมีสามอย่าง เห็นมั้ย พอมันเป็นแบบนั้นแล้วนั่นนะ มันมีสามอย่าง มันได้สมาธิ ในสมาธิ มันก็ต้องให้มีสติ รู้แหละว่านี่มีสมาธิ สมาธิแบบไหน สามอย่าง สมาธิ แล้วมันอยู่กับอารมณ์อะไร เรามาพิจารณา เราต้องรู้ มันอยู่กับอารมณ์ดีหรืออยู่อารมณ์ชั่ว ถ้าอารมณ์ชั่ว ผิดแหละ ถ้าอารมณ์ดี อยู่ในกายพวกนี้ ในร่างกายเรา ก็ถูกแหละ พิจารณาแยบคาย แล้วจิตมั่นจะตั้งมั่น ตั้งมั่นแล้วมันจะได้นาน ได้นานแล้วความชัดมันก็ชัดแหละ ทีนี้มันมีปีติ อิ่มอกอิ่มใจ มีหลายอย่าง ตัวลอยก็ได้ ตัวหายไป ไม่มี แต่นั่นมันมีสติรู้อยู่ ตัวนี้หายแล้ว แสดงว่านั่น ปีติ แหละ อิ่มอกอิ่มใจ เราต้องการจะให้เป็นอย่างนั้น สมาธิ ใช่มั้ย แล้วมันเป็น พอเป็น พอใจ”

“พอเป็นสมาธิแล้วมันสบาย บางคนตัวลอย บางคนก็ขนลุกขนชัน มันมีหลายอย่างปีติ ขนลุกขนชัน คล้ายๆกับว่าเราจะกลัวอะไรซักอย่าง ขนชันหมด เย็น ไอ้นี่เป็นพวกปีติ ความอิ่มอกอิ่มใจ ที่เราได้ทำมันเป็น เพราะเราปราถนาสิ่งนั้น ก่อนทำเราปราถนา ปราถนาว่าให้เป็น เป็นสมาธิ แล้วถึงมันเป็น พอเป็นแล้วอิ่มอกอิ่มใจ ถ้าเป็นนาน คราวนี้เราพิจารณา มันชัด จิตมันแน่วแน่ แต่ว่านั่นแหละ เราต้องมีสติกำกับ ว่ามันแน่วแน่นั่นมันแน่วแน่ในอารมณ์อะไร ถ้าในอารมณ์ที่ไม่ดี อันนั้นผิดแล้ว เรามีสติระลึกได้ หมด แต่ถ้าอยู่ในกายนี้แล้ว ไม่ผิด ให้รู้ให้หมดนี่เรื่องของกาย พอเป็นสมาธิให้รู้ให้หมดเรื่องของกาย มันมีอะไร เรียกว่าอะไร ธาตุสี่ พอนั่นทีนี้ พอรู้เรื่องของกาย เป็นเรื่องของนาม จิตอันนี้ ให้รู้จิตรู้ใจ ถ้าใจมันสงบ มันถึงที่สงบมันแล้ว นั่นคือที่อยู่มัน มันเข้าถึงใจ พอมันเข้าถึงใจทีนี้ทำอย่างไร ทำอย่างไรให้ใจเป็นกลาง”

“เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น กามคุณ โลกธรรม กำเนิดทั้งสี่ คือการเกิด เราเป็นกลางได้มั้ย โลกธรรม สุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ เราทำใจให้เป็นกลางได้มั้ย ถ้าเราทำใจให้เป็นกลางได้ เราพ้นทุกข์แล้ว เราไม่กังวล เราไม่คิด เราไม่คิดกับโลกธรรม ว่าโลกธรรมมันไปตามนั้น ดีแล้ว คนชอบก็ยกย่องสรรเสริญ คนไม่ชอบก็ตำหนิติเตียน อันนี้เป็นธรรมชาติมัน แต่ถ้าว่าใจเราเป็นกลางไม่ได้ เราเป็นทุกข์ เวลาเขายกย่องเรา เราก้าดีใจ เวลาเขาตำหนิเรา เราเสียใจ โกรธขึ้น นี่ใช้ไม่ได้ เราแพ้โลกธรรม เรียบร้อย วนอยู่ ไม่รู้จักทาง กามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัส กามคุณห้า เมื่อมาสัมผัสแบบนี้ เราทำใจเป็นกลางได้มั้ย ถ้าทำได้แสดงว่าเราต่อสู้กามคุณนี้ได้ จิตมันไม่ติด มันไม่ติดกามคุณ ทำแล้วมันไม่ติดไม่กังวล เมื่อไม่กังวล มันก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเราพิจารณากำเนิดทั้งสี่ เกิดในครรภ์ ในไข่ ในของปฏิกูล เกิดผุบโผล่ เหมือนเทวดาเกิด เขาเรียกว่าเกิดผุบโผล่ เรายินดีมั้ย ถ้าเรายินดี เรากังวลแหละ ถ้าเรากังวลก็แน่นอนแล้ว เราเป็นทุกข์ เราก็ต้องมาเกิด สี่ประเภทนี้แหละ คือถ้ายึดติด มันก็ต้องกังวล เราพยายามทำอย่าให้มันยึดติด ในสามอย่างนี้แหละ ยังไม่ต้องเอาอย่างอื่นก่อน”

“ให้ตรวจเรื่องของกายของเราก่อน พอตรวจกายแล้วรู้เรื่องแหละ นะ มีธาตุสี่ รูปนาม มาผสมกัน ทั้งรูปทั้งนาม แล้วตรวจกาย กาย อย่างเช่นว่า กายเราจะทำดีหรือทำชั่ว อย่างไร นี่แหละ พิจารณา ทำชั่วมันก็ไม่ถูก ทำดีมันก็ไม่ถูก ทำชั่วมันก็ไม่ตกนรก ไปสวรรค์ไปนิพพาน คือใจ ไอ้กายนั่นมันธาตุสี่ มันแตกสลาย มันก็ไป เหมือนกับฟองน้ำ ฟองน้ำมันเกิด เกิดจากน้ำ พอมันดับก็กลายเป็น้ำ ถึงพยับแดด มันเกิดจากความร้อนของแดด พอมันหาย มันก้ากลายเป็นแดดนั้นแหละ อย่างธาตุก็เหมือนกัน มันเกิดจากธาตุสี่ พอมันแตกสลายแล้ว มันก็ไปเป็นธาตุสี่นั่นแหละอีก มันไม่ไปหรอกนรก มันไม่ไปหรอกนิพพาน แต่ที่ไปนั่นคือใจ ปล่อยวางตรงนี้แหละ ทั้งรูปด้วย ทั้งนามด้วย นามคือใจนั่นแหละ นะ แล้วเราก็เข้าใจแหละทีนี้ ถ้ากายเป็นอย่างไร ถ้ารู้จักแล้วก็ ปล่อยธรรมดา คนที่เขาเล่น เขามีกำลัง เขาแยกออก เขาแยกธาตุสี่ แยกออก รูปกับนาม เป็นคนม้าย เดี๋ยวมันรวมอีก เอากำลังจิตนี่ ใช้กำลังจิตแค่เป็นสมาธิ กำลังมันแรง รวมกาย คอยระวัง เวลามีเรื่อง รีบตัดเสีย เช่นว่า เจ็บไข้ ไม่สบายนะ เราแยก เราจะอยู่หรือจะไป ธาตุขันธ์ แยกออก ถ้ามันออกแล้ว ถ้ามันรวมเข้า แสดงว่าไม่ตาย แต่ถ้าไม่เข้า ตาย”

“โลกธรรม กามคุณ อันนี้มันมีประจำ ตั้งแต่เกิดมาทุกคนแหละ นะ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง เกิดมามีเหมือนกัน เกิดตาย เท่าแต่ว่า เกิดแล้วไม่ดับ ดับแล้วไม่เกิด อันนั้นโลกุตตระธรรม เกิดแล้วไม่ดับ ดับแล้วไม่เกิด จริงๆ ท่านผู้ที่ดับแล้วไม่เกิด ดับแล้ว สิ้นทุกข์ จบ แล้วศาสนาจบนั่นแหละ ชาตินี้คือชาติสุดท้าย ถ้าใครได้นั้น ชาตินี้คือชาติสุดท้าย ไม่เกิด ได้ไปเสวยสุข อย่างเดียว สุขนั้น เวลา แสดงว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันถึงโลกุตตระ พวกนี้ทำมาแล้ว ไม่เหมือนกับโลกียะ โลกุตฯนี้ ไม่เปลี่ยนแปลง จึงว่า แต่ก่อนจะได้นั้นเราต้องเข้าใจไอ้นี่ก่อน ให้เข้าใจธรรมมะ พอเราแก่ตัวมันแก้ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจเราก็แก้ไม่ได้ ตรงนี้ คือว่า คนถ้าทำเป็นแล้ว มันนึกถึงหลักความจริงของศาสนา ถ้ายังไม่เป็น เรียกว่า ยังลูบคลำ คันถ้ามันเป็นแล้ว รู้จักความจริงของศาสนาแล้ว ไม่ถอย ศาสนาอื่น ไม่เอา คือเราทำไปสังคมไป เพื่อสังคมเฉยๆ แต่เราหานับถือ เราอยู่แบบนี้ เราอยู่ท่ามกลางแขก เขามาขอ เราให้ แต่เราไม่ได้นับถือเขา สร้างห้องมะหยัง ห้องละหมาด สามสี่พัน เขาจัดงาน ห้องละหมาดของเด็ก เด็กมันบอกว่า กลับบ้านละหมาด แต่มันหนี ถูกจับได้ เวลาให้มันละหมาด ต้องให้มันอยู่แต่ในโรงเรียน เขาจับได้ นี่เราทำเพื่อสังคม ไม่ใช่ทำเพื่อนับถือ สงเคราะห์ เกี่ยวกับโลกนี้ ถ้านับถือ เราไม่ได้นับถือ ไม่ใช่การนับถือ”

“เราเกิดมาก็ถึงโลกธรรม เกิดมาแล้วให้เขารักทุกคน เป็นไปไม่ได้ จะให้เขาเกลียดหมดทุกคน ก็เป็นไปไม่ได้ คนที่ตัดสินแล้วทำใจเป็นกลางแล้วก็มีปัญญาพิจารณา ให้เขารักทุกคนเป็นไปไม่ได้ ให้เขาเกลียดทุกกคนก็เป็นไปไม่ได้ โลกมันเป็นแบบนั้น คนที่อยู่ร่วมกันได้ทำร่วมกัน มันพบกัน คนที่ไม่ร่วมกัน ถึงพบก็มันปล่อยอยู่ดีนั่นแหละ ไม่ได้ร่วมกัน มันกลับไปหาพวก ดูพระพุทธเจ้าท่านดัดนิสัยคน พราหมณ์คนนี้ เจ้านี้ สอนได้ พระองค์สั่งสอน ก่อนจะสั่งสอนนั้น เขาดีแล้ว ไม่ใช่สั่งสอนแล้วเจ้าของเองไม่ฟัง ดีแต่พูดเจ้าของเองหาทำไม่ได้ (หัวเราะ) ไม่ใช่แบบนั้นนั่น ท่านสอนด้วยความสงสาร ด้วยความเมตตา เขารักษาพรหมวิหาร แต่คนสอนไม่ได้ท่านไม่หาสอนหรอก เสียเวลาเปล่าๆ สอนคนที่สอนได้ไม่เสียเวลา”

“ความเพียรนั้น มาหัดดูก่อน ว่าเราฐานะอะไร นักบวชไหม เราเป็นคฤหัสถ์ เราทำให้พอดี อย่าทำมากไป มันเกิน เกิดตัณหา ถ้าว่าตัณหา ไม่ได้ เกิดความอยากมีอยากเป็น เกิดตัณหาเกิดกิเลส ก็เลยไม่เป็น เหมือนพระอานนท์ พระพุทธเจ้าว่าหลังนิพพานแล้วเธอจะได้สำเร็จ เพื่อจะได้สังคายนา อยากจะได้สำเร็จ แต่ไม่ได้สำเร็จ จนเหนื่อย ก็เลยพักผ่อนก่อน พอปล่อยวางพักผ่อน เอนตัว สำเร็จเลย มากเกินไป หวังให้เป็น คนจะสำเร็จได้ มันต้องพอดีของมัน เหมือนผลไม้ มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แตงโม มันโตขึ้นเรื่อยๆ พอถึงขนาดมันหยุดโตเอง ลูกที่แดงมันก็หวาน เราเอาอะไรไปใส่ก็ตามใจแหละ เอาปุ๋ยอะไรไปใส่เผลอๆตาย ปุ๋ยกัดตาย เราใส่นั่นแหละ แต่ว่าพอดี ค่อยเป็นค่อยไป พอจะสุกมันหยุดโตมันจะสุกแล้ว แต่อย่าเร่งเสียก่อน ให้พอดี ให้มันเหมาะกับเพศ เพศเราเพศคฤหัสถ์ ไม่ใช่เพศพระ ไม่เหมือนกัน เพศพระถ้าไปเร่งหนักก็ไม่ได้ เขาสอนให้พอดี เดินสายกลางคือความพอดี แต่ว่าเราทำให้ได้ ให้ได้ทำทุกวันก็แล้วกัน ไม่ใช่ทำๆหยุดบ้าง ขี้เกียจก็หยุด อันนี้แสดงว่าเราไม่ติดต่อ”

ปัจจุบัน หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ เจริญอายุวัฒนะครบ ๙๕ ปี พรรษา ๖๘ (พ.ศ.๒๕๖๓) ปัจจุบันธาตุขันธ์ มีสุขพลานามัยแข็งแรง ปฏิบัติข้อวัตรได้สมบูรณ์ตื่นเช้านำลูกวัดกวาดลานวัด ออกบิณฑบาตทำความสะอาดโรงฉัน ช่วงบ่ายกวาดลานวัดอีกครั้ง เป็นปกติมิได้ขาด สำหรับอาคันตุกะทั้งพระสงฆ์และญาติโยมที่มาสักการะกราบท่าน หลวงปู่มีปฏิสันถารด้วยเมตตาจิตที่อบอุ่น ให้กับทุกคนเสมอเหมือนกันหมด ยังความปิติประทับใจในดวงจิตของผู้ที่ได้พบได้เห็นและได้รู้ หลวงปู่ยังเป็นพระมหาเถระ เป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้พวกเราได้อาศัยพึ่งพิง

พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุแหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุแหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุแหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุแหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.watlamsak.com/