วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

หลวงปู่เขี่ยม โสรโย วัดถ้ำขาม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เขี่ยม โสรโย

วัดถ้ำขาม
ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

หลวงปู่เขี่ยม โสรโย วัดถ้ำขาม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

หลวงปู่เขี่ยม โสรโย ท่านเป็นผู้มีศีลาจารวัตรงดงาม กล่าวคือ เป็นผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ เคร่งครัดในธรรมวินัย พากเพียรปฏิบัติภาวนาเพื่อความบริสุทธิ์แห่งจิต ทุ่มเทเผยแผ่พุทธศาสนาและงานด้านสาธารณประโยชน์ ท่านพระอาจารย์เขี่ยม ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ถือว่าเป็นศิษย์เถระผู้รัตตัญญูรูปหนึ่ง

หลวงปู่เขี่ยม โสรโย มีนามเดิมว่า เขี่ยม ค่อนดี เกิดวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๖ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ เป็นบุตรคนแรกจากทั้งหมด ๔ คนของนายกอง และนางเหลี่ยม ค่อนดี เกษตรกร ต.มูลตุ่น อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น

ครอบครัวหลวงปู่เขี่ยม ได้ย้ายจากบ้านโคกกลางมายังบ้านโนนสำนัก และเด็กชายเขี่ยมก็เข้ารับการศึกษาเมื่อวัย ๑๑ ขวบ ที่วัดบ่อแก้ว บ้านนาจาน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นโรงเรียนวัดบ้านนาจานบ่อแก้ววิทยาคาร จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่มีการเปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนในเวลานั้น

“หลังออกจากโรงเรียนแล้ว ท่านก็ช่วยงานทางบ้าน ทำนา ปลูกผัก ใช้ชีวิตแบบเด็กบ้านนอกทั่วไป จนกระทั่งโตเป็นหนุ่มเข้าสู่วัยฉกรรจ์ ด้วยความที่ทางบ้านมีใจบุญสุนทานเป็นพื้นฐานจิตใจ ทั้งโยมบิดาและมารดาของหลวงปู่เป็นผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี โยมทั้งสองปลูกฝังให้รู้จักเข้าวัด สวดมนต์ ไหว้พระ มีการให้ทานทำบุญใส่บาตรเป็นประจำมิได้ขาด ครั้นถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนาก็จะพากันไปสวดมนต์ไหว้พระ รักษาศีล ทำให้หลวงปู่เขี่ยมมีความผูกพันอันดีกับพระสงฆ์ในบวรพระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งวัยเยาว์…”

บุคลิกภาพของหลวงปู่เขี่ยม ตั้งแต่วัยเยาว์จนกระทั่งละขันธ์นั้น ท่านจะเป็นคนพูดน้อยแต่การงานนั้นเอาจริงเอาจังขยันขันแข็ง ในยามที่เป็นฆราวาส ท่านก็เป็นหัวแรงหลักของครอบครัว ทำไร่ทำนา พอมาบวชแล้วครูบาอาจารย์ก็สรรเสริญท่านว่า “พระอาจารย์เขี่ยมพูดน้อยแต่ทำจริง” อาจเพราะแต่ปางก่อนท่านสั่งสมบุญไว้มาก โลกจึงไม่อาจพรากผ้ากาสาวพัสตร์ไปจากท่านได้

ในวัยหนุ่มนั้นหนุ่มเขี่ยมเกิดไปมีใจปฏิพัทธ์หญิงสาวผู้หนึ่ง แต่ธรรมะก็ได้เปิดความจริงให้ท่านเห็นอย่างสว่างจ้าหลายครั้งหลายหน อาทิ วันหนึ่งไปเที่ยวบ้านสาวคนนั้น แต่พอเห็นเท้าของเธอสกปรกดำเหมือนหนังปลาดุก หนุ่มเขี่ยมก็ทนไม่ได้ แค่เห็นหน้าแล้วก็ผละลงเรือนออกมาทันทีทันใดนั้นเลย

แม้เทวทูตจะเผยความจริงเช่นนั้นมาครั้งหนึ่ง แต่ในใจก็ยังถูกกิเลสยื้อยุดอยู่ ทำให้ท่านยังอดใจไม่คิดถึงเธอไม่ได้ เลยต้องไปเที่ยวหาอยู่เช่นเคย
โลกมาพลิกเอาเมื่อ วันหนึ่งหนุ่มเขี่ยมคิดถึงสาว เลยไปหาที่บ้าน แต่เมื่อไปถึงแล้วจึงพบภาพแห่งความจริงตำตาทนโท่

“…ใจที่ห่วงหากลับกลายเป็นความสลดสังเวช เพราะมาเห็นภาพที่เธอนอนหลับไม่รู้ตัวอยู่ น้ำลายไหลย้อย ผมเผ้ากระเซอะกระเซิง มือไม้อยู่ไม่เป็นทิศเป็นทาง เห็นร่างกายของเธอเปรียบเหมือนซากศพที่นอนตายในป่าช้า ไม่น่ารักใคร่ยินดีอีกต่อไป นึกอยู่ในใจว่า ‘เอาจริงๆ หรือหญิงคนนี้’ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหมือนกรรมนิมิตที่มาดลให้ท่านคลายจากความกำหนัดยินดีในหญิงสาวไปได้ จนกระทั่งช่วงเวลาก่อนบวช ท่านรู้สึกว่า เห็นหน้าหญิงสาวเป็นก้อนขี้ในใจของท่าน น่าเกลียด มีแต่ขี้เต็มตัว ทั้งขี้หู ขี้ตา หลังจากนั้นท่านก็ไม่กลับไปหาหญิงสาวผู้นี้อีกเลย…”

“เรื่องนี้หลวงปู่เคยเล่าให้พระเณรฟังว่า ตอนนั้นเห็นหน้าหญิงสาว จิตใจก็ไปจ่อเห็นแต่ขี้ ตรงขี้มันจะออก เห็นขี้ออกตรงลำไส้ใหญ่ ออกจากก้นของเรา เห็นแต่ความน่าเกลียด ความเหม็น ความเน่า ไม่อยากจะเข้าใกล้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ นี้เป็นอาการที่แปลกอย่างหนึ่ง สมัยก่อนออกบวช…”

หลวงปู่เขี่ยม โสรโย วัดถ้ำขาม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

◎ การอุปสมบท
หลวงปู่เขี่ยม ออกบวช เมื่อวันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย หรือตรงกับวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๗ ขณะอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ที่พัทธสีมาวัดศรีบุญเรือง ต.ศรีบุญเรือง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น โดยมีพระมุนีวรญาณเถร (เขียว มหานาโม) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระชม อิสฺสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลวงปู่เขี่ยม โสรโย วัดถ้ำขาม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

ความคิดที่อยากจะบวชสัก ๗ วัน กลายเป็น ๒ พรรษาและเรื่อยมากระทั่งตลอดชีวิตนั้น เป็นเพราะ “คิดไปคิดมา มันก็ไปอยู่เรื่องเดิม เรื่องผู้สาวที่หมายกันไว้ตั้งแต่ก่อนบวช ก็ยังคงมีมาติดพัน ยังคิดถึงหญิงสาวบ้านดอนพันชาดอยู่ แต่ท่านก็ใช้อุบายรักษาความกำหนัดรักใคร่นั้นได้ โดยนึกถึงว่า แม้แต่ผู้หญิงที่เราชอบเรารักสักเพียงใดก็ต้องมีวันพลัดพรากจากกันไม่ช้าก็เร็ว ทั้งเมื่อชราภาพร่างกายก็ต้องเสื่อมโทรม แก่หง่อม ผิวหนังเหี่ยวย่น มีแต่ของเน่าของเหม็น เป็นเหตุให้อยู่เป็นพระภิกษุมาได้กระทั่งพรรษาที่ ๒” พอถึงพรรษาที่ ๒ คนที่บอกให้สึกมิใช่หญิงสาวที่ “หมายกันไว้” หากแต่เป็นโยมมารดา

หลังบวชได้ ๒ พรรษา โยมมารดาก็มาขอให้สึกออกมาช่วยทำนา เพราะทางบ้านไม่มีคนช่วย พระหนุ่มก็เตรียมสึกตามคำขอ แต่พอหอบหิ้วบริขารจะไปขอสึกกับพระอุปัชฌาย์ที่วัดศรีบุญเรือง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น พอมาถึงแม่น้ำชีก็ปลงใจว่า จะไม่สึก คิดได้อย่างนั้นแล้ว ก็ผินหลังกลับคืนวัดโคกกลาง ซึ่งเป็นที่จำพรรษาอยู่ พอโยมแม่รู้เรื่องก็ตามมาเอ่ยปากอีกหน ท่านก็ยอมโอนอ่อนตามคำขอร้องของโยมแม่ แต่ก็อีกนั่นล่ะ หนสองนี้พอหอบหิ้วบริขารจะไปขอสึกกับพระอุปัชฌาย์ที่วัดศรีบุญเรือง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น คราวนี้พอมาถึงป่าทุ่งหนองเมืองชนบท ก็ยืนตรึกอยู่ ตรึกลงใจแล้วหันหลังให้เดินกลับวัดเป็นหนที่ ๒ โยมแม่รู้เรื่องก็ตามมาถามอีกว่า “ไม่สึกจริงๆ หรือ” หน ๓ นี้ ท่านหอบบริขารไปจนถึงประตูวัดศรีบุญเรือง ณ ปากประตูวัดศรีบุญเรืองนั่นเอง ท่านยืนนึกตรึกไปมา เมื่อมองชายผ้าเหลืองของตัวเองแล้วพลันปลงใจเด็ดขาดขึ้นมาว่า

“ผ้าเหลืองนี้เป็นสิ่งที่มีมาได้ยาก ไม่ใช่ใครก็จะบวชกันได้ง่ายๆ การอยู่ในสมณเพศ ดำรงตนอยู่ในหลักศีลธรรม ย่อมเป็นชีวิตที่ประเสริฐ ดีกว่าไปทุกข์ยากทำไร่ ทำนา จนตายหาประโยชน์อันใดมิได้เลย เป็นอะไรก็ช่างเถอะ กลับไปคราวนี้ จะไม่สึกให้ตายคาผ้าเหลืองไปเลย”

วันนั้นท่านไม่ก้าวเท้าล่วงประตูวัดศรีบุญเรืองและตั้งมั่นว่าจะครองเพศบรรพชิตไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เมื่อตั้งใจเช่นว่าแล้ว ท่านก็ออกแสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะชี้นำแสงสว่างในชีวิตให้ได้

◎ ท่านเลือกที่จะมาหาหลวงปู่ฝั้น อาจาโร!
ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ พระเขี่ยม ธุดงค์มาถึงวัดป่าอุดมสมพร ซึ่งขณะนั้นยังเป็นวัดเล็กๆ หาพระจำพรรษาได้ยาก ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั่นก่อน เพราะพระอาจารย์ฝั้น นั้นไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร ท่านก็รับปากชาวบ้าน กระทั่งออกพรรษาจึงตามไปจนพบหลวงปู่ฝั้นเป็นครั้งแรกที่ถ้ำขาม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ท่านอยู่กับหลวงปู่ฝั้น ๕ พรรษา

ต่อเมื่อได้พบกับหลวงปู่เทสก์ ในงานบูรพาจารย์ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ท่านจึงกราบลาหลวงปู่ฝั้นติดตามหลวงปู่เทสก์ลงใต้ ก่อนนั้นหลวงปู่เทสก์ได้ยกคณะพระกัมมัฏฐานออกไปเผยแผ่ศาสนาทางใต้ โดยปักหลักอยู่ที่วัดเจริญสมณกิจ หรือวัดหลังศาล อ.เมือง จ.ภูเก็ต เป็นฐาน เมื่อหลวงปู่เขี่ยมมาพบหลวงปู่เทสก์ ซึ่งขึ้นมาจากภาคใต้ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ท่านก็ตามหลวงปู่เทสก์ไปใต้ แต่หลวงปู่เทสก์อยู่ใต้อีกเพียงปีเดียว พอลุปี พ.ศ.๒๕๐๗ หลวงปู่เทสก์กลับมาจำพรรษาที่วัดถ้ำขาม แต่หลวงปู่เขี่ยมยังอยู่ภาคใต้ต่ออีก ๗ พรรษา

หลวงปู่เขี่ยม อยู่ที่วัดเจริญสมณกิจในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๖-๒๕๐๗ อยู่ที่วัดควนกะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ๒ ปี คือ พ.ศ.๒๕๐๘-๒๕๐๙ หลังจากนั้นไปอยู่ที่ถ้ำเสือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ๑ ปี พอปี พ.ศ.๒๕๑๑ ไปอยู่ อ.ธารโต จ.ยะลา พ.ศ.๒๕๑๒ อยู่วัดสันติวนาราม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

หลังจากนั้นท่านจึงกลับมาอยู่ภาคตะวันออก ๑ พรรษา ก่อนจะกลับไปหาหลวงปู่ฝั้น ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงปู่ฝั้นสั่งให้ท่านไปจำพรรษาที่วัดถ้ำขาม หลังจากนั้นก็ไม่ไปอยู่ที่อื่นอีกเลย

หลวงปู่เขี่ยม อยู่ที่วัดถ้ำขาม มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๔ กระทั่งละขันธ์‌ในเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ท่านได้รับแต่งตั้งจากทางการให้เป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำขาม‌รูปแรกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.๒๕๓๐ แม้ไม่ค่อยจะพูด แต่ครูบาอาจารย์เล็งเห็นชัดจากการ‌ประพฤติปฏิบัติ ส่วนศิษย์ก็เรียนรู้จากการลงมือของครูบา‌อาจารย์เช่นกัน ความนี้ปรากฏชัดในบันทึกหลวงปู่เทสก์ ซึ่งมาจำพรรษาอยู่‌ที่วัดถ้ำขามในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๓๗ ว่า “มาขออยู่ ณ วัดถ้ำ‌ขาม ซึ่งมีพระอาจารย์เขี่ยม โสรโย เป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ดีใจ‌และเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง ท่านก็อำนวยความสะดวกทุกอย่างทุก‌ประการที่ท่านจะทำได้ มิให้เราต้องอนาทรเดือดร้อนเลยแม้แต่‌สักเล็กน้อย เราจึงตัดสินใจอยู่จำพรรษา ณ วัดถ้ำขาม กับพระ‌อาจารย์เขี่ยมเรื่อยมา” ศิษย์เล่าว่า หลวงปู่เขี่ยมมักจะกวาดตาด ถูศาลาราวกับเป็น‌พระน้อย ถามว่า ทำไมต้องทำเช่นนั้น ท่านก็ตอบว่า ถ้าไม่ทำ พระเล็ก เณรน้อยก็จะไม่ทำ เลยทำให้ดู

หลวงปู่เขี่ยม โสรโย วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร

หลวงปู่เขี่ยม เป็นพระที่ไม่ใคร่เทศน์ คำเทศน์ที่พูดอยู่เสมอๆ ‌ก็เป็นความสั้นๆ เช่น สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ ความบริสุทธิ์ และ‌ความไม่บริสุทธิ์ มีเฉพาะตัว นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย ผู้อื่นพึงทำให้ผู้อื่น บริสุทธิ์ไม่ได้ หรือ บวชต้องเอาดีให้ได้ จะได้ไม่เสีย‌ชื่อครูบาอาจารย์ หรือ ใครๆ ก็ต้องตาย ก่อนตายได้สร้างคุณ‌งามความดี บุญกุศลไว้แล้วหรือยัง ส่วนมากคนทางโลกเขาตัก‌ตวงหาเงินทอง สร้างหลักปักฐาน แต่คนมีปัญญาทวนกระแส ‌ตักตวงบุญกุศลเข้าไว้ให้มาก ฯลฯ เมื่อเห็นศิษย์คลุกคลีกันท่านก็‌บอกให้ไปจงกรม ศิษย์มาขอไปสอบปริยัติท่านก็อนุญาต แต่ขณะ‌เดียวกันก็ถามว่า ภาวนาได้วันละ ๕-๖ ชั่วโมงหรือยัง

วัดป่าโสรโย บ้านขุมดิน

◎ เคารพครูบาอาจารย์
ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ หลวงปู่เขี่ยม ได้มาสร้างวัดป่าขุมดิน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เมื่อมีศาลา มีเมรุ กุฏิ และห้องน้ำ สำหรับพระเณรแล้ว ท่านก็มีดำริจะสร้างเจดีย์ ครั้งนั้นมีโยมถามหลวงปู่เขี่ยมว่า ทำไมหลวงปู่มาสร้างเจดีย์ที่นี่ ท่านให้เหตุผลว่า “ที่ถ้ำขามมีเจดีย์ครูบาอาจารย์อยู่แล้ว จะเอากระดูกอาตมามาสาดที่ตีนเขาเหรอ” ท่านย้ำว่า “เอาเราไปเทียบกับครบาอาจารย์ไม่ได้” และ “ที่อำเภอมัญจาคีรีนี้ ก็เป็นบ้านเกิดของเรา ในดินแดนแถบนี้ยังไม่มีเจดีย์ให้ผู้คนได้กราบไหว้” หลวงปู่จึงดำริที่จะสร้างเจดีย์ในแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ไขปริศนาที่มาแห่งการสร้างพระธาตุเจดีย์มัญจาคีรีศรีโสรโย

◎ สู่แดนเกษม
หลวงปู่เขี่ยม โสรโย มีสุขภาพแข็งแรงดีตลอด มิได้ปรากฏว่าท่านอาพาธด้วยโรคใดๆ แม้ว่าท่านจะอายุมากถึง ๗๐ ปีแล้ว ท่านก็ยังคงอุทิศงานเพื่อพระศาสนาอยู่มิขาด จนกระทั้งปลายปี พ.ศ.๒๕๔๗ ท่านได้ทำการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ได้วินิจฉัยว่า ท่านเป็นโรคตับอักเสบ และได้ทำการรักษาจนอาการดีขึ้นมาเป็นลำดับ

ในการอาพาธครั้งสุดท้าย หลวงปู่เขี่ยม โสรโย ท่านมีอาการปวดหลัง จึงได้ใช้ลูกประคบมาประคบที่บริเวณหลัง เมื่ออาการทุเลาลง ท่านจึงว่าให้ต้มยาลูกประคบ เอาน้ำมาฉัน จะได้หายปวด ปรากฏว่าถ่ายท้องตลอดคืน จนกระทั้งถ่ายออกมาเป็นเลือด พระเณรจึงเรียกรถพยาบาล และเข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น แพทย์ลงความเห็นว่ากระเพาะเป็นแผล ซึ่งน่าจะเกิดจากยาลูกประคบเข้าไปกัดเนื้อเยื่อข้างใน จนในที่สุด อาการของหลวงปู่ไม่ดีขึ้น แต่กระนั้นท่านก็มีสติรู้ตัวดีอยู่ตลอดเวลา และกำชับกับพระที่ดูแลว่า

“ให้เอาเรากลับไปที่วัด ถ้าจะตาย ก็เอาเราไปตายที่วัด” และอีกคำพูดนึงท่านได้สั่งไว้ว่า “ไม่ต้องเอาเราไว้นาน สามวันเผาเลย”

แม้ช่วงสุดท้ายของชีวิต หลวงปู่เขี่ยม โสรโย ท่านก็เอาการภาวนาเป็นเครื่องอยู่ทางจิตใจอย่างสมภูมิของพระกัมมัฏฐาน ศิษย์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝั้น อาจาโร คำพูดสุดท้ายที่ท่านได้ฝากไว้ก่อนจะละสังขาร โดยได้พูดกับพระอุปัฏฐากในขณะนั้นว่า

“ตอนนี้ ผมกำลังเจริญมรณานุสติอยู่ ชีวิตนั้นเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง”

หลวงปู่เขี่ยม โสรโย ผู้มีศีลาจารวัตรงดงาม เจริญในธรรมปฏิบัติ สังวรอินทรีย์และมีอาชีวอันบริสุทธิ์ ได้มรณภาพลงด้วยอาการสงบ ในเช้าวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ เวลา ๐๘.๒๙ น.

สิริรวมอายุ ๗๓ ปี ‌๑๑ เดือน ๕ วัน ๕๓ พรรษา เป็นการจากไปอย่างเงียบๆ เยี่ยงพระอริยะบุคคลผู้มีปัญญาทวน‌กระแสทั้งปวงจะพึงดำเนิน

พระธาตุเจดีย์มัญจาคีรีศรีโสรโย หลวงปู่เขี่ยม โสรโย ณ วัดป่าบ้านขุมดิน
รูปเหมือน หลวงปู่เขี่ยม โสรโย ณ พระธาตุเจดีย์มัญจาคีรีศรีโสรโย วัดป่าโสรโย บ้านขุมดิน
อัฐิธาตุ หลวงปู่เขี่ยม โสรโย ณ พระธาตุเจดีย์มัญจาคีรีศรีโสรโย วัดป่าโสรโย บ้านขุมดิน
หลวงปู่เขี่ยม โสรโย ณ พระธาตุเจดีย์มัญจาคีรีศรีโสรโย วัดป่าโสรโย บ้านขุมดิน

ขณะนี้ทางวัดป่าโสรโย (วัดป่าขุมดิน) กำลังจะดำเนินการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมขนาดกว้างยาว 20 x 30 ม. บนพื้นที่ใกล้ๆ กับพระเจดีย์ศรีโสรโย หากท่านผู้ใดมีจิตศรัทธาจะร่วมสร้างศาลานี้เพื่อใช้สืบต่อการปฏิบัติธรรมของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้สืบต่ออายุในพระพุทธศาสนา ท่านสามารถโอนปัจจัยร่วมบุญได้ที่

บัญชี วัดป่าบ้านขุมดิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สาขามัญจาคีรี เลขที่บัญชี 506-2-67752-2 หรือติดต่อสอบถามได้ที่ 087- 227-5507 คุณกิตติ กรรมการวัด

ขออนุโมทนาบุญกับท่านผู้มีกุศลเจตนาในทุกๆท่านนะครับ..สาธุ

โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่เขี่ยม โสรโย

“..ใครๆ ก็ต้องตาย ก่อนตายได้สร้างคุณงามความดี บุญกุศลไว้แล้วหรือยัง ส่วนมากคนทางโลก เขาตักตวงหาเงินทอง สร้างหลักปักฐาน แต่คนมีปัญญาทวนกระแส ตักตวงเอาบุญกุศลเอาไว้ให้มาก..”

“..จะไปไหนมาไหน ก็อย่าลืมพุทโธ..“