วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

หลวงปู่เก๋ ถาวโร วัดปากน้ำ ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เก๋ ถาวโร

วัดปากน้ำ
ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี

พระมงคลนนทวุฒิ (หลวงปู่เก๋ ถาวโร) วัดปากน้ำ ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี
พระมงคลนนทวุฒิ (หลวงปู่เก๋ ถาวโร) วัดปากน้ำ ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี

พระมงคลนนทวุฒิ (หลวงปู่เก๋ ถาวโร) พระเกจิชื่อดังและพระนักพัฒนาที่ชาวเมืองนนทบุรีและปริมณฑล ต่างเลื่อมใสศรัทธาอย่างดียิ่ง ด้วยความเป็นพระเถระที่มีเมตตาธรรมขั้นสูง เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เข้มขลังในวิทยาคมศักดิ์สิทธิ์ด้านเมตตามหานิยม เป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจแก่ผู้ทุกข์ร้อน

◉ ชาติภูมิ
พระมงคลนนทวุฒิ (หลวงปู่เก๋ ถาวโร) นามเดิมชื่อ “เก๋ โพธิ์จั่น” เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๕ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด ณ บ้านเลขที่ ๑๗/๓ หมู่ที่ ๕ ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.จันทบุรี

◉ การศึกษาเบื้องต้นและการบรรพชา
สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี และเข้าสู่ร่มเงาพระพุทธศาสนาด้วยการบรรพชาเป็นสามเณรอยู่นานหลายปี กระทั่งอายุ ๑๗ ปี ท่านได้ลาสิกขาออกมาอยู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่หาเลี้ยงชีพด้วยการทำนาทำไร่

◉ การอุปสมบท
ครั้น พ.ศ.๒๔๗๕ มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดโตนด ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยมีพระครูชุ่ม เจ้าอาวาสวัดประชารังสรรค์ ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.จันทบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์คำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการเผื่อน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ถาวโร” แปลว่า “ความมั่นคงถาวร

ภายหลังอุปสมบทแล้ว ได้พำนักจำพรรษาที่วัดโตนด และมุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม ควบคู่ไปกับการออกธุดงควัตรปลีกวิเวกไปตามป่าเขาลำเนาไพร พ.ศ.๒๔๘๐ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท

◉ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ
ต่อมา ได้ย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ที่วัดเฉลิมพระเกียรติ แต่ศึกษาบาลี ได้เพียง ๒ ปี ปรากฏว่า พระอาจารย์จุ้ย เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี ได้ถึงแก่มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำว่างลง ไม่มีใครมาดำรงตำแหน่งแทน

ท่านจึงได้รับความไว้วางจากคณะสงฆ์เมืองนนทบุรี ให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๒ ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำอย่างเป็นทางการ ในเวลา ๒ ปีต่อมา กลายเป็นเจ้าอาวาสที่มีอายุพรรษาน้อยที่สุดในสมัยนั้น

◉ ผลงานด้านการศึกษา
พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดปากน้ำ
พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นผู้อุปถัมภ์สร้างโรงเรียนวัดปากน้ำพิบูลย์สงคราม
พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักศาสนศึกษาวัดปากน้ำ
พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรม

หลวงปู่เก๋ ได้ให้ความสนับสนุนส่งเสริมการศึกษา ด้วยการจัดตั้งและมอบทุนการศึกษาทั้งในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแก่เด็กนักเรียนเป็นประจำทุกปี

สำหรับพระภิกษุ-สามเณร ได้มีการจัดรถรับ-ส่งนักเรียนที่สมัครสอบธรรมสนามหลวงเป็นประจำ และถวายปัจจัยแก่ครูสอนพระปริยัติธรรม รวมทั้งมอบเงินอุดหนุนการศึกษาของวัดที่ขาดแคลน

◉ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี
ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี
ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นเจ้าคณะตำบลบางเขน
ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลบางเขน

◉ ลำดับสมณศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นพระธรรมธร ฐานานุกรมพระศรีสมโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ
ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรีที่ พระครูนนทกิจพิบูลย์
ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม
ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม

◉ พระนักปกครอง
หลวงปู่เก๋ มีความสามารถพิเศษหลากหลายด้าน อาทิ สามารถเขียนหนังสือขอมได้ มีความชำนาญการด้านงานก่อสร้าง เป็นต้น ขณะเดียวกัน ท่านยังเป็นพระนักปกครองที่มีความเคร่งครัดยิ่ง ได้มีการกำหนดกฎระเบียบภายในวัดอย่างเข้มงวดเป็นไปตามพระธรรมวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์และกฎมหาเถรสมาคม กติกาของวัด มีการทำวัตรเช้า-เย็นตลอดปี วันพระทุกกึ่งเดือน พระภิกษุต้องลงทำสังฆกรรมสวดปาฏิโมกข์, ห้ามเล่นการพนันทุกชนิดภายในบริเวณวัด รวมไปถึงทุกวันพระในช่วงเข้าพรรษา หากพระรูปใดไม่มีกิจธุระจำเป็น ให้ลงฟังเทศน์บนศาลาทุกรูป

◉ พระนักพัฒนา
หลวงปู่เก๋ วัดปากน้ำ ได้เล่าเรื่องย้อนหลังว่า สมัยก่อนพระอาจารย์ดังๆ ไม่ค่อยมี จะมีดังก็ตามวัด ไม่ค่อยโลดโผนเหมือนสมัยนี้ ในตอนนั้น ได้ศึกษาเล่าเรียนกันธรรมดา ส่วนวิทยาคมต่างๆ ได้เล่าเรียนศึกษากับพระผู้เฒ่าหรือหลวงตาสมัยก่อน ซึ่งพระผู้เฒ่าหรือพระหลวงตาสมัยก่อน พอจะมีความรู้ในเรื่องคาถาอาคม และพิธีปลุกเสกวัตถุมงคล

หลวงพ่อเก๋ บอกอีกว่า เมื่อได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ได้ก้มหน้าก้มตา สร้างวัด สร้างวา ไม่ได้สนใจวิชาอะไรเลย จนกระทั่งเมื่อมีการฉลองสมณศักดิ์ ไม่มีอะไรจะแจก ก็ได้เอาความรู้ที่เคยได้เล่าเรียนมาก็ลองทำดู ก็เป็นลักษณะเหรียญที่ทำพิธีปลุกเสก เป็นเหรียญปัจฉิมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ ก็เริ่มทำมาตั้งแต่นั้น

จนถึงปัจจุบันนี้ อาตมาก็จำไม่ได้แล้วว่ากี่รุ่นแล้ว เพราะอาตมาจะสนใจแต่เรื่องของการก่อสร้างวัดเสียมากว่า สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างกุฏิ ทุกอย่างในวัดนี้อาตมาเป็นคนสร้างทั้งหมด ทุกวันนี้อาตมาก็ทำงานในด้านพระพุทธศาสนา ติดประชาชน ตอนนี้อาตมาก็ได้ซื้อที่ให้วัดไว้จำนวน ๖๑ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอไทรน้อย ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดง

หลวงปู่เก๋ เป็นเจ้าอาวาสวัดที่มีอายุยืนยาวที่สุด และเป็นพระนักพัฒนาองค์หนึ่งของจังหวัดนนทบุรี เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนนทบุรีและชาวชุมชนวัดปากน้ำโดยแท้

◉ มรณภาพ
พระมงคลนนทวุฒิ (หลวงปู่เก๋ ถาวโร) วัดปากน้ำ ต.สวนใหญ่ อ.เมืองนนทบุรี ได้มรณภาพโดยสงบที่โรงพยาบาลเมโย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เวลา ๐๖.๐๐ น. สิริอายุ ๑๐๖ ปี พรรษา ๘๖

◉ วัตถุมงคล
นอกจากนี้ หลวงปู่เก๋ ยังมีชื่อเสียงในฐานะพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมชื่อดังในด้านพุทธคุณเมตตามหานิยม ที่ได้รับการนิมนต์ให้ร่วมพิธีปรกเสก ในงานพุทธาภิเษกวัตถุมงคลชื่อดังแต่ละรุ่นเป็นประจำ แทบมิเคยได้ขาด

วัตถุมงคลชื่อดังของท่านมีหลายรุ่น อาทิ พระสมเด็จเนื้องาแกะ ใต้ฐานตะกรุด ๓ ดอก, เหรียญชุดสร้างศาลาการเปรียญปี ๒๕๑๘, เหรียญข้างกนกปี ๒๕๑๘ เนื้อเงินและนวะโลหะ, พระรูปเหมือนซุ้มระฆัง

นอกจากนี้ ยังมีวัตถุมงคลอีกหลายรุ่น เช่น บาตรน้ำมนต์, พระปิดตา, ตะกรุด, พระรูปหล่อตั้งหน้ารถครึ่งนิ้ว, พระรูปหล่อตั้งหน้ารถ ๑.๕ นิ้ว, พระบูชา ๕ นิ้ว, พระบูชา ๙ นิ้ว, ผ้ายันต์ เป็นต้น

เหรียญกนกข้าง หลวงปู่เก๋ วัดปากน้ำ จ.นนทบุรี ถือได้ว่าเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยม ชาวจังหวัดนนทบุรีรู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยเหรียญของหลวงปู่นั้น เด่นพุทธคุณด้วยเมตตา ค้าขาย และเป็นเหรียญปลอดภัย ปัจจุบัน เหรียญกนกข้างมีราคาขยับขึ้นเรื่อยๆ ด้วยลูกศิษย์จำนวนมากต้องการไว้บูชา

เหรียญกนกข้าง หรียญนักกล้าม หลวงปู่เก๋ วัดปากน้ำ นนทบุรี ปี ๒๕๑๘
เหรียญกนกข้าง หรียญนักกล้าม หลวงปู่เก๋ วัดปากน้ำ นนทบุรี ปี ๒๕๑๘

เหรียญกนกข้าง สร้างขึ้นในวาระเดียวกันกับสมเด็จเนื้อผงหลังตัวหนังสือปี พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมมาช้านาน ด้วยเป็นเหรียญที่ออกแบบได้สวยงาม ของเชิงช่างในยุคนั้น ที่แกะบล๊อคได้สวยงามลงตัว คมชัดลึก และเป็นเหรียญนั่งเต็มองค์รุ่นแรก ในส่วนพิธีและเกจิปลุกเสกก็เข้มขลังเพราะอยู่ในชุดเดียวกันกับสมเด็จเนื้อผงปี ๑๘ ที่ได้กล่าวมาแล้ว เนื้อที่จัดสร้างของเหรียญกนกข้างนั้น มีเนื้อทองคำ (คาดว่าสร้างน้อยมาก) เนื้อเงิน เนื้อนวะ เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง (อยู่ในกล่องชุดกรรมการ)

ลักษณะของเหรียญกนกข้าง
ด้านหน้า- องค์หลวงปู่ คมชัดลึก กนกด้านข้างคมชัด และพื้นเหรียญมีลักษณะเป็นแอ่งกะทะเล็กน้อย
ด้านหลัง- ตัวหนังสือและยันต์ คม ชัดลึก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เพจพระเครื่องหลวงปู่เก๋ วัดปากน้ำ นนทบุรี