วันจันทร์, 9 กันยายน 2567

หลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม วัดประชานิยม อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม

วัดประชานิยม
อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

พระราชธรรมานุวัตร (หลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม) วัดประชานิยม
พระราชธรรมานุวัตร (หลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม) วัดประชานิยม

พระราชธรรมานุวัตร (หลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม) ท่านเป็นชาวอําเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยกําเนิด ท่านเป็นพระวิปัสสนากรรมฐาน เป็นศิษย์ก้นกุฏิของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต องค์หนึ่ง ซึ่ง ในกาลต่อมา ท่านมีศิษย์มากมายทั่วประเทศ

หลวงปู่อ่อน ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นศิษย์ในสายหลวงปู่มั่น รุ่นเดียวกันกับหลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ , หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
นอกจากพระคณาจารย์ดังกล่าวนี้แล้ว ก็ยังมีพระสหาธรรมิก ที่เป็นลูกศิษย์ ในพระอาจารย์เดียวกันอีกมาก เช่น พระอาจารย์จันทร์ เขมปัตโต , หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี , ท่านพ่อลี ธัมมธโร , ท่านพระอาจารย์วิริยังค์ สิรินธโร เป็นต้น

หลวงปู่อ่อน ได้รับสมณศักดิ์ เป็น พระราชธรรมานุวัตร อันเป็นตําแหน่ง ที่ท่านครองสมณเพศอยู่ อีกด้วย
ชาวบ้านโดยส่วนมาก มักจะ เรียกท่านว่า หลวงปู่อ่อน วัดป่าประชานิยม จ.กาฬสินธุ์

หลวงปู่อ่อน ได้เข้ามาในแนวทางพระบวรพุทธศาสนา ตั้งแต่อายุได้ ๑๓ ปี คือ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ในวัดใกล้บ้าน อ.ยางตลาด
เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้ออกเดินทางรอนแรมมายังกรุงเทพฯ เพื่อเข้าศึกษาพระธรรมวินัย ที่วัดปทุมวนาราม กับท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร

สมัยของหลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม มาศึกษาพระธรรมวินัยและบาลีธรรมนั้น เป็นไปด้วยความยากลําบาก แต่ก็ไม่พ้นเขตความพยายามของท่าน
ในที่สุดท่านก็สามารถสอบ นักธรรมตรี-โท-เอก และเปรียญธรรม ๓ ประโยค ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งขณะนั้น ท่านยังเป็นสามเณรอยู่

ต่อมามหาเณรอ่อนก็ได้เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอน เพราะท่านได้ติดตามครูบาอาจารย์ ไปเพื่อหลบภัยสงคราม ที่ไร้ความสงบสุข

สงครามคือ หมู่อันธพาลนักปราชญ์ราชบัณฑิต ไม่สามารถอยู่ปะปนกับสิ่งชั่วร้าย และอยู่มองเหตุการณ์น่าสลดใจมิได้ ครูบาอาจารย์โดยส่วนมาก จะกลับ ถิ่นในเหตุการณ์นี้มากหลายองค์ ด้วยกัน

เมื่อมาถึงวัดบ้านเกิดได้ไม่นาน พระภิกษุสงฆ์ในแถบอีสาน กําลังแตกตื่นเลื่อมใสในคณะพระธุดงคกรรมฐานของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และท่านพระอาจารย์ สิงห์ ขันตยาคโม กันมาก

มหาเณรอ่อน ก็มีความสนใจเลื่อมใสอยู่แต่เดิมแล้ว เมื่อได้ทราบเป็นแน่ชัดเช่นนั้น ท่านจึงออกเดินทาง ไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ด้วย

ภายหลังจากฝากตัวเป็นศิษย์แล้ว ท่านได้รับอุบายธรรม นํามาปฏิบัติ พร้อมกับได้ติดตาม หลวงปู่มั่น , พระอาจารย์สิงห์ ออกเดินธุดงค์ไปกับหมู่คณะ อยู่ปฏิบัติภาวนาธรรมในป่า ฝึกจิตใจ จนบังเกิดผลในการเจริญสมาธิมาก

จิตใจเข้มแข็งแก่กล้า สามารถรู้ธรรม จิตก้าวหน้าขึ้นโดยลําดับเมื่อจิตแก่กล้าขึ้นบ้างแล้ว หลวงปู่มั่น ได้ให้แยกไปเดินธุดงค์โดยลําพัง
ดังนั้น มหาเณรอ่อน ท่านได้เดินธุดงค์ไปปฏิบัติท่ามกลางหมู่สัตว์ป่า เร่งทําความเพียรอย่างอาจหาญ

มหาเณรอ่อน ท่านมีความเคารพเลื่อมใส หลวงปู่มั่น และ ท่านพระอาจารย์สิงห์ มาก ท่านเจริญตามข้อวัตรปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่พระวินัย การอยู่ การไป การแสดงธรรม ล้วนได้รับการฝึกอบรมมาแล้วเป็นอย่างดียิ่ง

ปฏิปทาของมหาเณรอ่อนนั้น เป็นที่เคารพนอบน้อมแก่ผู้พบเห็น ท่านสํารวมจิตใจมีแต่เมตตา ปรานี เป็นกระแสที่เยือกเย็น แก่ผู้เข้านมัสการ
ขณะเดินธุดงค์มุ่งอรรถธรรมอยู่นั้น ท่านได้มีอายุครบอุปสมบท ท่านจึงเข้าอุปสมบท เป็นพระภิกษุสงฆ์ที่บ้านเกิด แล้วท่านก็ออกเดินธุดงค์ต่อไปอีก

หลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม หรือ ท่านเจ้าคุณพระราชธรรมานุวัตร ท่านได้ใช้ชีวิตในส่วนมาก ท่ามกลางป่าดงพงไพร ท่านมีความชอบใจ ป่าเขามากกว่าอยู่เป็นที่ ท่านจึง ได้รอนแรมไปในป่า

เมื่อพบหมู่บ้าน ก็เข้าไปบิณฑบาต ฉันหนเดียว ฉันในบาตร ถือผ้า ๓ ผืน ไม่สะสมเครื่องผูกมัดอันใด

ท่านเคยรําพึงอยู่เสมอว่า.. “การเรียนรู้เป็นการสะสม เรียนไม่สามารถจบสิ้นได้ แต่การปฏิบัติเป็นการเรียนที่สามารถจบกิจพ้นกิเลสพ้นทุกข์ได้”

การออกเที่ยวรุกขมูล ของหลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม ตลอดเวลาอันยาวนานนี้ ย่อมประจักษ์อย่างดีว่า ท่านมีความปรารถนาในเหตุที่รู้จักทุกข์ แล้วบําเพ็ญธรรมขจัด เพื่อให้พ้นทุกข์ ท่านมิได้ประสงค์ในสิ่งอันใดไปยิ่งกว่าธรรมของ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้นั้นดีแล้ว

ท่านได้อาศัยการบําเพ็ญธรรม ด้วยการสละความเป็นความตาย ท่ามกลางป่าเขา จนอายุมากแล้ว ท่านจึงได้เข้ามาอยู่พํานัก ณ ถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้ง
ในกาลต่อมา หลวงปู่อ่อน ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระราชธรรมานุวัตร ดํารงตําแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฝ่ายพระธรรมยุต ณ วัดป่าประชานิยม อําเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์

ด้วยคุณธรรมความดีงามของ หลวงปู่อ่อนเป็นที่ปรารถนา ของผู้ใคร่ในธรรม เปรียบดังเป็นร่มโพธิ์ทองแผ่กิ่งก้านสาขา ให้ แก่ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ และประชาชนทั่วประเทศ ต่างก็ได้หลั่งไหลเข้ากราบนมัสการขอฝึกจิต ฟังธรรมจากท่านอย่างเสมอ ๆ

พระราชธรรมานุวัตร (หลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม) วัดประชานิยม
(นั่งจากซ้าย) ๑. พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) วัดป่าสุทธาวาส
๒. หลวงปู่ภุมมี ฐิตธมฺโม วัดป่าโนนนิเวศน์
(แถวกลางยืนจากซ้าย) หลวงปู่พิมพ์ พหุชาคโร วัดไชยาราม บ้านหนองสวรรค์
(แถวกลางยืนจากขวา องค์ที่ ๒) หลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม วัดประชานิยม 

ท่านเจ้าคุณพระราชธรรมานุวัตร (หลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม) ท่านสอนทุกคนที่เข้าไปนมัสการว่า..
“ให้ทุกคนรักษาศีล ๕ ศีล ๕ อย่างเคร่งครัด พยายามให้สงบ เท่านี้เป็นพอ ให้ทุกคนท่องบ่น อยู่เป็นประจํา จะได้พบกับความสุขความเจริญ อันตรายไม่เข้าใกล้ ไม่มีการก่อเวรทั้งหลายทั้งปวง”

ท่านเจ้าคุณพระราชธรรมานุวัตร หรือ หลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม ท่านได้ก่อสร้างถาวรวัตถุ ภายในวัดป่าประชานิยม ขึ้นอีกหลายอย่าง จนบังเกิดความเจริญรุ่ง เรื่องขึ้นมาก แม้วัดนี้จะอยู่กลางทุ่งนาที่ล้อมรอบ แต่การไปมานั้นสะดวก เพราะรถเข้าถึงวัดเลยทีเดียว

วัดป่าแห่งนี้ยังทรงสภาพป่าอยู่เสมอ มีต้นไม้สร้างความร่มรื่น สงบเงียบ เหมาะแก่การบําเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นการเจริญรุ่งเรืองภายใน
หลวงปู่อ่อน ท่านไม่มีความประสงค์ให้มนุษย์เจริญเพียงแต่ สิ่งภายนอก แต่ท่านมีความประ สงค์ที่อยากจะเห็นมนุษย์มีความเจริญภายใน ได้แก่ศีลธรรมเท่านั้น

พระราชธรรมานุวัตร (หลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดประชานิยม มรณภาพ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙