วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

หลวงปู่อ่อนตา เขมังกโร วัดโยธานิมิตร อ.เมือง จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่อ่อนตา เขมังกโร

วัดโยธานิมิตร
อ.เมือง จ.อุดรธานี

พระครูศาสนูปกร หลวงปู่อ่อนตา เขมังกโร วัดโยธานิมิตร

พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่อ่อนตา เขมังกโร) หรือ ท่านพระครูปลัดอ่อนตา เขมังกโร เป็นคนบ้านเหล่า ต่อมาบวชพระฝ่ายมหานิกาย ๒๑ พรรษา ภายหลังได้กระทำญัตติกรรมใหม่ในคณะธรรมยุติกนิกาย เมื่ออายุ ๔๐ ปี โดย ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านหลวงปู่อ่อนตา เขมังกโร เป็นลูกศิษย์ของ ท่านพระอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ (เป็นคน พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี ซึ่งเป็นเพื่อนกับ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม)

หลวงปู่อ่อนตา เขมังกโร ท่านชอบพระธุดงค์ และ ตั้งใจปฏิบัติในพระธรรมวินัยและกรรมฐานโดยอาศัยท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ต่อมาท่านมาเป็นสมภาร อยู่วัดโยธานิมิตร

อุปนิสัยของท่านนั้น ชอบการก่อสร้าง ชอบการพัฒนา แต่การปฏิบัติ ก็ไม่ท้อถอย เป็นคนจริง

พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร
หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร วัดประชาชุมพลพัฒนาราม

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน บวชเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ และใน ๑ ปีต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร ได้เข้าถือครองนาคอยู่ที่วัดโยธานิมิตร และอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดโยธานิมิตร เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๘ เวลา ๑๓.๔๗ น.โดยมี พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่อ่อนตา เขมังกโร) อีตเจ้าอาวาสวัดโยธานิมิตร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และหลวงปู่อ่อนตา ถือเป็นอาจารย์คนแรกของหลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร เช่นกันกับองค์หลวงตามหาบัวฯ จึงถือได้ว่าหลวงปู่อ่อนตา ถือ เป็นพระมหาเถระ ที่เป็นอาจารย์ต้นแบบ และ เป็นปฐมบทแห่งพระอรหันต์ของเมืองอุดรธานี ที่ควรค่าแก่การเคารพศรัทธาเลื่อมใสเป็นยิ่งนัก

พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่อ่อนตา เขมังกโร) มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ อายุ ๘๗ ปี องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ตอบแทนคุณพระกรรมวาจาจารย์โดยจัดการศพ ถวายท่านพระครูฯ

ท่านพระครูศาสนูปกร (หลวงปู่อ่อนตา เขมังกโร) วัดโยธานิมิตร อำเภอเมืองอุดรธานี ถือเป็นพระอาจารย์คนแรกของ องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ตั้งแต่องค์หลวงตาฯยังเป็นนาคอยู่ และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดโยธานิมิตร

ย้อนอดีตก่อนที่จะเป็นวัดโยธานิมิตรเดิมทีวัดนี้อาจเคยเป็นวัดที่เก่าแก่ หรืออาจเป็นสถานที่สำคัญทาง พระพุทธศาสานาในอดีตเพราะมีสถูปหรือเจดีย์เก่าแก่และมีพระพุทธรูปศิลาแลงที่ถูกปล่อยให้รกร้างมานานไม่มีชื่อ ไม่ปรากฎ และไม่มีหลักฐานอื่นใดบ่งบอกได้ว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด แต่จากการสันนิษฐานตามความเชื่อของคนโบราณ โดยมีหลักฐาน ที่สำคัญคือ องค์พระพุทธรูปศิลาแลงที่เก่าแก่ ซึ่งมีขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก สูงใหญ่เท่าตัวคนเป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมารหรือชนะมาร ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ท่านผู้รู้คนเก่าแก่เคยเล่าไว้ว่า สถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาหรือวัดวาอารามในสมัยก่อนให้สังเกตดูพระพุทธรูปหรือเทวรูปเป็นสำคัญ ถ้าเห็นว่าพระพุทธรูปหรือเทวรูปนั้นผินพระพักตร์ไปทางด้านทิศเหนือ ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าพระพุทธรูปหรือเทวรูปนั้นสร้างก่อนสมัยสุโขทัย หรือราวๆอยุธยา เพราะคนในยุคนั้นนับถือทิศอุดรเสียเป็นส่วนมาก

เดิมทีชาวบ้านในละแวกนี้เรียกว่า “หลวงพ่อคอขาด” เพราะมีผู้คนมาพบครั้งแรกคอหักตกอยู่กับพื้นดิน ขึ้นที่บ้านหมากแข้ง และในปีเดียวกัน พระเจ้าน้องยาเธอ (พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม) ได้ย้ายกำลังทหารจากหนองนาเกลือเดิม คือ (หนองประจักษ์) เพราะเป็นที่ลุ่มไม่เหมาะสำหรับตั้งกรมกอง จึงได้ย้ายมาตั้งที่ริม (หนองขอนกว้าง) มาปักหลักจัดตั้งเป็นกรมกองจนเป็นค่ายประจักษ์ศิลปาคม มาจนกระทั่งทุกวันนี้ และได้คิดก่อตั้งวัดเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเหล่าทหาร จนกระทั่งเป็นวัดโยธานิมิตรมาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าวัดโยธานิมิตร คือ วัดที่สร้างขึ้นพร้อม ๆ กับการก่อตั้งเมืองอุดรธานี

ในช่วงที่กองทหารเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ได้เข้าไปตัดไม้หาของป่าในบริเวณนั้น เพื่อเอาไปทำประโยชน์มักจะมีเหตุการณ์แปลกๆ แผลงๆ อยู่เป็นประจำ จนทำให้กำลังพลหวาดกลัวและหวาดผวาเสียขวัญเป็นอย่างมาก ข้าราชการผู้ใหญ่อันมี เสด็จในกรมฯ (พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม) คิดจะหาพระมาอยู่เพื่อปฎิสังขรณ์โบราณวัตถุแห่งนี้ เพื่อเป็นการสร้างขัวญและกำลังใจให้กับทหาร พยายามหาอยู่นาน แต่ก็หาไม่ได้ง่ายนัก เพราะพระสุปฎิบัตินั้นหาได้ยากยิ่ง .ต่อมาเสด็จในกรมฯ ได้นิมิต เห็นพระรูปหนึ่งมีรูปร่างลักษณะ และทิศที่อยู่ จึงจัดให้คนไปตามหาอยู่นาน จนกระทั่งไปพบพระภิกษุรูปหนึ่งมีรูปร่าง ลักษณะที่ตรงกับนิมิต พระภิกษุรูปนั้นคือ (ท่านพระครูอ่อนตา เขมังกโร) จึงได้ให้คนไปกราบอาราธนามาอยู่ ครั้งเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๖๑-๒๔๖๒ ท่านพระครูอ่อนตา เขมังกโร ได้มาอยู่ปริวาสกรรมจึงได้ชักชวนญาติโยมชาวบ้านอันมีพ่อใหญ่สิงห์ สิงหสุริยะ และชาวบ้านพร้อมข้าราชการทหาร (โดยมีเสด็จในกรมฯ) ได้นำกำลังทหารเข้ามาช่วยทำการแผ้วถางจัดทำห้างให้เป็นที่อยู่อาศัย เมื่อท่านพระครูอ่อนตา เขมังกโร มาอยู่ก็ได้ปฎิบัติศีลปฎิบัติธรรม จนกระทั่งอยู่จำพรรษา และ ได้ชักชวนข้าราชการทหารทำถนนจากฝั่งกองทหารมายังโบราณวัตถุ และครั้นเมื่อท่านพระครูอ่อนตาฯ มาอยู่ครั้งแรกได้นำ เศียรพระที่หักขึ้นมาต่อให้เหมือนดังเดิม โดยการใช้ปูนมาตกแต่งทำเสียใหม่ และต่อมาจึงเรียกชื่อ พระพุทธรูปนี้ว่า “หลวงพ่อพระงาม”มาจนกระทั่งทุกวันนี้..หลังจากมีพระมาอยู่จำพรรษาและบูรณปฏิสังขรณ์แล้วได้มีประชาชนในเขต หมู่บ้าน ตำบลใกล้เคียง.และประชาชนในเขตอำเภอเมืองต่างก็พากันมากราบไหว้ นมัสการขอพรอยู่มิได้ขาด

จึงอาจกล่าวได้ว่า (ท่านพระครูศาสนูปกรณ์ หรือท่านพระครูอ่อนตา เขมังกโร และเสด็จในกรมฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจกษ์ศิลปาคม) เป็นผู้เริ่มก่อตั้งวัดโยธานิมิตรก็ว่าได้

เหตุที่ได้นามว่า “วัดโยธานิมิตร” แต่ก่อนผู้คนส่วนมากจะเรียก “วัดโยธา” เพราะทหารได้มีส่วนช่วยสร้าง และคำว่า “นิมิตต์” นั้นได้มาจากความฝันโดยเสด็จในกรม (พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม) ทรงนิมิตเห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง จึงให้คนไปตามหา และพระภิกษุรูปนั้นก็คือ (ท่านพระครูอ่อนตา เขมังกโร) จึงได้ชื่อว่า “วัดโยธานิมิตร” เมื่อก่อนเขียนเป็น วัดโยธานิมิตต์ ปีพ.ศ.๒๕๐๕ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ ท่านได้ดำริให้เปลี่ยนจาก “นิมิตต์” เป็น “นิมิตร” จนกระทั่งปัจจุบันนี้