วันพฤหัสบดี, 27 มีนาคม 2568

หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม วัดอุดมรัตนาราม ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม)

วัดอุดมรัตนาราม
ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร

พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม) วัดอุดมรัตนาราม

ท่านพระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม) เดิมชื่อ อุ่น วงศ์วันดี เกิด ณ บ้านอากาศ อำเภอวานรนิวาส (ปัจจุบันอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร) เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๒

โยมบิดาชื่อ นายอุปละ วงศ์วันดี โยมมารดาชื่อ นางบุดดี วงศ์วันดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน เป็นชาย ๒ คน หญิง ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๗ มีชื่อตามลำดับดังนี้
๑. นางทองมี แก้วพาดี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒. นางต่อง ใครบุตร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๓. นางอ่อนจ้อย ใครบุตร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๔. นางไกรษร แง่มสุราช (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๕. ด.ญ.ปุ้ม วงศ์วันดี (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก)
๖. ด.ช.เมือก วงศ์วันดี (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก)
๗. หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม (มรณภาพแล้ว)

๏ ชีวิตในปฐมวัยและการศึกษา
เมื่ออายุได้ ๘ ขวบ มารดาได้นำไปฝากไว้กับพระอธิการทุม (ญาครูทุม) เจ้าอาวาสวัดกลาง ได้ศึกษาอักษรไทย อักษรลาว อักษรธรรม อักษรขอม จนมีความชำนาญ

๏ บรรพชา
จนกระทั่งอายุ ๑๐ ปี พ.ศ.๒๔๖๒ จึงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดกลาง ตำบลอากาศ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยมีพระอธิการทุม เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วได้หัดเรียนอักษรขอม อักษรธรรม พร้อมกับสามเณรแอ่น ครุฑอุทา ตลอดถึงท่องบทสวดมนต์น้อย สวดมนต์กลาง สวดมนต์หลวง หลักคัมภีร์สัททาสังคหะ ตลอดถึงพระปาฏิโมกข์ จนมีความชำนาญ

หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม วัดอุดมรัตนาราม ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร

๏ อุปสมบท
เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดกลางแห่งเดิม จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักของพระอุปัชฌาย์ จนสามารถสอบนักธรรมตรีได้ และต่อมาได้ลาสิกขาแล้วไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่สีลา อิสฺสโร ที่วัดอิสสระธรรม บ้านวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดกลนคร

หลวงปู่สีลา อิสฺสโร
หลวงปู่สีลา อิสฺสโร

๏ อุปสมบทเป็นพระธรรมยุต
หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ท่านได้อุปสมบทอีกครั้ง เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ณ อุทกุกเขปสีมา (สิมน้ำ) ที่ท่าบ้านร้าง กลางลำน้ำยาม บ้านอากาศ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๓ โดยมีพระราชเวที (จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร วัดอิสสระธรรม บ้านวาใหญ่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อุตฺตโม” และได้จำพรรษาอยู่ที่นั่น เพื่อศึกษา แนวทางการปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐาน ตามแบบอย่างของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นเวลา ๔ ปี

พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์

ครั้น พ.ศ.๒๔๗๗ ได้ไปศึกษาธรรมกับท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันเป็นอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม) ขณะอยู่ที่บ้านสามผงนี้ ท่านได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์และแปลธรรมบทด้วย เมื่อถึงฤดูแล้งก็ออกเที่ยวธุดงค์ไปอยู่ที่ภูค้อ เพื่อฝึกหัดอบรมจิตใจตนเองและได้เคยทดลองฉันเจด้วย วันหนึ่งขณะที่ท่านเดินจงกรมอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย นั้น มีงูใหญ่มานอนขดชูคอที่หัวทางเดินจงกรมของท่าน เวลาท่านเดินไปถึงหัวทางเดินจงกรม งูนั้นก็จะโน้มหัวลงคล้ายกับเป็นการเคารพคารวะและเลื้อยหายไปและได้จำพรรษาที่นี่ติดต่อกันเป็นเวลา ๓ ปี

๏ ปฏิปทา
นับตั้งแต่ที่ท่านบวชเข้ามาในคณะกรรมฐานแล้ว ก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม พระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นผู้เด็ดเดี่ยวในการปฏิบัติกำจัดกิเลส เพื่อให้หลุดพ้นอย่างแท้จริง

ท่านเป็นคนพูดน้อย มีคำเทศนาน้อยและเป็นผู้มีนิสัยมักน้อย สันโดษ ไม่ใช้สิ่งของฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะในเรื่องผ้านุ่ง ผ้าห่ม ท่านจะอธิษฐานใช้เฉพาะผ้าที่จำเป็นเท่านั้น ท่านทำความเพียรของท่าน

ถ้าเป็นวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ท่านจะพาญาติโยมทำความเพียรตลอดคืน หากเป็นวันธรรมดา ในตอนหัวค่ำหลังจากทำวัตรเย็น ท่านจะพักผ่อนจำวัดเสียก่อน ครั้นพอถึงเที่ยงคืน หรือ ตีหนึ่ง ท่านจะลุกขึ้นมาทำความเพียรโดยการเดินจงกรม พอถึงตี ๒ จะเปลี่ยนมานั่งสมาธิ ตี ๓ จะพักผ่อนอีก ตี ๔ ลุกขึ้นมานั่งสมาธิจนสว่าง แล้วล้างหน้าแปรงฟันเตรียมตัวออกบิณฑบาต

พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม)

๏ การอาพาธและมรณภาพ
พ.ศ.๒๕๒๓ ท่านเริ่มอาพาธ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร อำเภอพรรณานิคม เมื่ออาการทุเลาจึงได้กลับวัด แต่ก็ยังไม่หายขาด คณะศิษย์จึงนิมนต์ท่านไปรับ การตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร อาการก็พอทรงตัวอยู่ได้บ้าง เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓ อาการของท่านยิ่งทรุดหนักจนไม่รู้สึกตัว

และเมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ก็นำท่านกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสกลนครอีกครั้ง ก่อนจะขึ้นรถท่านได้พูดกับพระเณรและญาติโยมว่า “จะไปให้เขาฉีดยาให้จักหน่อยก็จะได้กับมาแล้ว

ซึ่งทุกคนต่างก็เข้าใจว่าท่านคงไม่เป็นอะไรมาก ไม่นานแพทย์คงจะให้กลับวัด เมื่อถึงโรงพยาบาลสกลนคร หลวงปู่ได้เข้าพักที่ห้องเบอร์ ๘ ตึกสงฆ์อาพาธพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลังจากท่านฉันยาหลังฉันเพลเสร็จ อาการท่านกลับกำเริบ อาเจียน และอาการทรุดหนักลง จนถึงแก่มรณภาพลงในที่สุดเมื่อเวลา ๑๖.๓๐ น. ของวันศุกร์ที่ ๓๐พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓ ด้วยอาการสงบ ท่ามกลางคณะแพทย์และคณะศิษย์หลายคน

สิริอายุรวมได้ ๗๑ ปี พรรษา ๕๐

เหลือไว้เพียงแต่คุโณปการยิ่งที่มีต่อพระศาสนา และคำสอนของหลวงปู่ที่บอกให้ลูกศิษย์ลูกหาทุกคนจงทำความดี ทางคณะศิษย์ได้นำศพของท่านกลับวัดในวันนั้น สมกับคำพูดของท่านที่สั่งไว้ก่อนออกเดินทางว่า “จักหน่อย” ซึ่งแปลว่า “เดี๋ยวเดียว หรือไม่นาน

และได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๕ ภายหลังพระราชทานเพลิงศพแล้ว ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ แม่ชีบุญฮู้ พรมเทพ ที่วัดอุดมรัตนาราม พบว่าอัฐิที่เก็บรักษาไว้บูชาแปรสภาพเป็นพระธาตุ ๒ องค์ มีสัณฐานดังข้าวสารหัก มีสีขาวดุจงาช้าง

และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๗ มีผู้ได้รับผงอังคารของท่านไว้บูชาคนหนึ่ง ก็พบว่าผงอังคารของท่านแปรสภาพเป็นพระธาตุ ๒ องค์ องค์หนึ่งกลมมัน มีสีเทาดำ เหมือนของผงอังคาร อีกองค์หนึ่งสีขาวขุ่น

ต่อมา เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๓ คณะศิษยานุศิษย์ จึงได้ประชุมกันและได้พิจารณา เห็นสมควรจะสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ เพื่อบรรจุอัฐิและเก็บรักษาเครื่องบริขารของท่าน ตลอดจนประดิษฐานรูปเหมือนเพื่อให้ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายได้กราบไหว้สักการะบูชา และได้จัดงานวางศิลาฤกษ์เจดีย์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๓ และดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมาจนแล้วเสร็จ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท และทำการฉลองเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙

พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม) วัดอุดมรัตนาราม
ศาลาการเปรียญหลังเก่า วัดอุดมรัตนาราม
พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม)

๏ พระธรรมเทศนา
เนื่องจากหลวงปู่อุ่น ท่านมีนิสัยพูดน้อย พระธรรมเทศนาก็มีน้อย ประกอบกันในยุคนั้นยังเป็นพื้นที่ที่ห่างไกล ประชาชนค่อนข้างยากจน จึงไม่มีใครมีเทปบันทึกเสียง ทำให้ไม่มีการบันทึกพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ท่านไว้ เว้นแต่โอวาทที่ท่านให้กับพระเณรและคณะศรัทธาญาติโยมในวันวิสาขบูชา ก่อนมรณภาพ ๑ วัน ดังที่บันทึกไว้แล้ว แต่จากการสอบถามจากผู้ที่เคยรับการอบรมจากท่านก็พอจะมีบ้าง ดังต่อไปนี้

หลวงปู่ผ่าน ปญฺญาปทีโป แห่งวัดป่าประทีปปุญญาราม จ.สกลนคร ซึ่งเป็นลูกศิษย์องค์หนึ่งของหลวงปู่อุ่น เล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ท่านสอนให้พิจารณาร่างกาย แยกออกมาเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้หยุดจากความนึกคิดต่างๆ หมายถึง เอาสติควบคุมอย่างเข้มข้นนั่นเอง

คุณครองชัย แง่มสุราช ซึ่งเป็นหลานของหลวงปู่อุ่น เล่าว่า เมื่อครั้งที่บรรพชาเป็นสามเณรอยู่กับหลวงปู่นั้น ท่านมักพาพระเณรไปนั่นสมาธิอยู่ที่ป่าช้าฮ่องเตย โดยให้นั่งห่างๆ กัน ท่านแนะนำให้กำหนดจิตให้สงบนิ่งในร่างกายอันนี้ ตั้งสติ แล้วพยายามให้สติควบคุมอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ให้หมดไป ให้เหลือแต่ความนิ่งความสงบ

คุณแม่ชีจันไต ตุ่ยไชย ซึ่งเป็นหลานสาวของหลวงปู่อุ่น เล่าว่า เมื่อตอนที่หลวงปู่มาสร้างวัดอุดมรัตนารามทีแรก คุณแม่มีอายุ ๒๕ ปี ได้มาช่วยถากถางและอยู่ฝึกหัดจำศีลปฏิบัติธรรม ได้รับการอบรมจากท่านว่า ถ้าหากนั่งสมาธิจิตไม่สงบ ก็ให้ค้นคว้าพิจารณาร่างกาย

เจดีย์หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม

ประวัติวัดอุดมรัตนาราม (วัดป่านอก)
วัดอุดมรัตนาราม ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ซึ่งในปีนั้นหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม มีความประสงค์จะสร้างวัดของฝ่ายพระธรรมยุตขึ้นที่บ้านอากาศ เพราะขณะนั้นวัดฝ่ายธรรมยุตยังไม่มี จึงได้ปรึกษากับญาติโยมและพระเณรอีก ๓ รูป คือ พระคำพอง ญาณกิตติ ,พระคำภา โสภโณ และสามเณรแถว ครุฑอุทา ได้ลงความเห็นให้เลือกเอาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านม่วงริมยาม เพราะเห็นว่าเงียบสงบดี แล้วจึงได้พากันเริ่มสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น โดยหาไม้มาสร้างกุฎิเป็นอันดับแรก ได้กุฏิเก่าจากวัดศรีโพนเมือง ๑ หลัง และต่อมาเมื่อพระภิกษุสามเณรมีมากขึ้น จึงได้สร้างกุฎิเพิ่มขึ้นถึง ๑๐ หลัง สร้างศาลาโรงธรรมขึ้น ๑ หลัง โดยมีนายป้อง วงศ์วันดี เป็นช่างออกแบบแปลนก่อสร้างจนต่อมาก็ได้สร้างวัดที่สมบูรณ์แบบขึ้น

วัดอุดมรัตนาราม
พ.ศ.๒๕๐๒ เริ่มสร้างอุโบสถ มาแล้วเสร็จและผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ.๒๕๑๗
สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท

อมาใน ปี พ.ศ.๒๔๙๖ เนื่องจากหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ท่านมีความสนใจในการศึกษาเล่าเรียนมาก จึงได้ส่งเสริมให้กุลบุตร – กุลธิดาศึกษาเล่าเรียนวินัยทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้นำเอาหลักธรรมไปประพฤติปฏิบัติ จึงได้ขอตั้งสำนักเรียนขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่สอนธรรมะให้แก่ผู้สนใจตลอดจนนักเรียน